ถาม :  อุปติสสะ นี้หมายถึงพระพุทธเจ้าหรือเปล่า ?
      ตอบอุปติสสะ คือ พระสารีบุตร ตระกูลนี้เป็นตระกูลพระอรหันต์ พี่ชายใหญ่คือ อุปติสสะ น้องชายรองคือ อุปเสนะ น้องสาวถัดไป คือท่านจาลา อุปจาลา สีสุปจาลา เป็นผู้หญิงสามคนติดกัน แล้วก็ไปท่านจุนทะ กับท่านเรวตะ เป็นผู้ชายอีกสอง เจ็ดคนเป็นพระอรหันต์หมดเลย โดยเฉพาะท่านเรวตะ เป็นพระอรหันต์ตั้งแต่เจ็ดขวบ ตระกูลพระอรหันต์ แต่แม่เป็นมิจฉาทิฐิ วาระสุดท้ายก่อนที่จะนิพพาน ท่านกลับไปโปรดแม่ท่านเอง คือท่านสารีบุตรท่านรู้ว่าตัวเองอายุมากแล้ว คือท่านนั่งพิจารณาย้อนหลังไปว่า ในอดีตที่ผ่านมาพระอัครสาวกนิพพานก่อนหรือว่าพระพุทธเจ้านิพพานก่อน เสร็จแล้วท่านก็ทราบว่าพระอัครสาวกทั้งหมดจะนิพพานก่อนพระพุทธเจ้า
              ในเมื่อดังนั้น ท่านก็กำหนดดูต่อไปว่าสมควรจะนิพพานที่ไหน ก็เห็นว่าแม่ตัวเองยังเป็นมิจฉาทิฐิอยู่ ทั้ง ๆ ที่ลูกตัวเองเป็นพระอรหันต์ตั้งเจ็ดองค์ ควรจะกลับไปโปรดแม่ก่อน ถ้าโปรดแม่แล้ว เราจะนิพพาน ก็เลยตั้งใจว่ากลับไปนิพพานในห้องที่ท่านเกิด คือ แม่คลอดท่านห้องไหนก็จะนิพพานในห้องนั้น เสร็จแล้วก็กลับบ้าน
              พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าให้แสดงธรรมโปรดพระเป็นครั้งสุดท้ายก่อน เพราะขึ้นชื่อว่าธรรมเสนาบดีสารีบุตรจะแสดงธรรมสงเคราะห์ผู้อื่นนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก คำว่าปรากฏขึ้นได้ยาก เพราะพระอัครสาวกเบื้องขวามีองค์เดียว ก็พอ ๆ กับพระพุทธเจ้าใช่ไหม ก็เท่ากับว่ามีพระพุทธเจ้าองค์เดียวก็มีพระอัครสาวกเบื้องขวาองค์หนึ่ง พระอัครสาวกเบื้องซ้ายองค์หนึ่ง
              ส่วนพระอรหันต์อื่น ๆ เยอะแยะไปหมด ท่านก็เลยต้องแสดงธรรมโปรด เสร็จแล้วท่านก็พาภิกษุของท่านที่เป็นพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ พร้อมกับพวกน้อง ๆ พอไปถึงก็ให้หลานชื่อ อุปวาณ ไปเจอเข้าก่อน ก็บอกไปแจ้งข่าวให้แม่ทราบด้วยว่า ตอนนี้จะกลับมาหา แม่ก็ดีใจว่าลูกแก่ขนาดนั้นแล้ว แม่แก่ขนาดไหนก็นึกเอา ตั้งแต่ไปบวชมานี้ไม่ได้เจอหน้าเลย มีแต่น้อง ๆ หนีหายไปทีละคน ๆ ตัวเองก็คอยดูแลทรัพย์สมบัติอยู่ ก็นึกว่าสงสัยลูกเราทนความลำบากไม่ไหว จะสึกกลับบ้านแล้วแน่นอนเลย ก็เลยดีใจ ให้คนใช้จัดแต่งห้องหับอะไรกันใหญ่โต
              พอถึงเวลากลับมา พระสารีบุตรท่านก็มาขอเข้าไปอยู่ห้องเดิมของตัวเอง ก็มีพระจุนทะท่านเฝ้าไข้อยู่ เพราะพระสารีบุตรท่านถ่ายเป็นเลือด คงประเภทกระเพาะทะลุ ส่วนพระสงฆ์อื่น ๆ ก็อยู่ในห้องโถง พอยามต้นท้าวมหาราชทั้งสี่มาเยี่ยม แสงสว่างก็ประกระทบตาท่านแม่ที่กำลังสวดมนต์อยู่ เขาจะสวดมนต์ถวายพระพรหมของเขาเป็นปกติ พอแสงสว่างทะลุไปถึงก็ถามท่านจุนทะว่า จุนท์เอ๊ย...ใครมาหาพี่แกน่ะ ท่านจุนทะก็บอกว่า ท้าวมหาราชทั้งสี่น่ะแม่ แม่ก็ เอ๊ะ ลูกเราเก่งขนาดนี้เชียวหรือ ? ขนาดท้าวมหาราชยังต้องมาหา ท่านก็เลยขอเข้าไปดูเอง พอเข้าไปก็เห็นเข้า พอเห็นท่านก็ถามว่า พ่อเอ๊ย เรียกท่านสารีบุตร นี่พ่อยังใหญ่กว่าท้าวมหาราชอีกหรือ ? พระสารีบุตรท่านก็ไม่ได้ตอบตรง ท่านบอกว่า นี่แน่ะแม่ท้าวมหาราชทั้งสี่น่ะ เหมือนกับเด็กวัดของพระพุทธเจ้า ตั้งแต่พระโพธิสัตว์จุติมาสู่ครรภ์ ท้าวมหาราชทั้งสี่ก็ถือพระขรรค์แวดล้อมดูแลอยู่ แม้กระทั่งเวลาที่ท่านอยู่วัด ก็เฝ้าประตูวัดในทิศทั้งสี่ให้ ท่านก็เลยเปรียบว่า ถ้าเปรียบกับพระพุทธเจ้าแล้ว ท้าวมหาราชก็คือเด็กวัด ท่านไม่ได้เปรียบกับตัวเองนะ
              คราวนี้ก็ เอ้อ...เจ้าใหญ่กว่าท้าวมหาราชก็จริง แต่ก็คงไม่ใหญ่ไปกว่าพรหมหรอก ก็ไปสวดมนต์ของแกต่อ พอยามสอง พระอินทร์มาเยี่ยม แสงก็ไปที่ห้องแกอีก ก็ถามว่าจุนท์เอ๊ย ใครมาเยี่ยมพี่แกอีก ก็บอกว่าพระอินทร์น่ะแม่ แกก็รีบออกมาดู ถามว่า นี่พ่อยังใหญ่กว่าพระอินทร์อีกหรือ ? พระสารีบุตรท่านก็บอกว่า พระอินทร์ก็เปรียบเสมือนสามเณรน้อยที่คอยถือบาตรถือจีวรพระพุทธเจ้า ตอนพระพุทธเจ้าท่านเสด็จลงจากดาวดึงส์ พระอินทร์ท่านก็ถือบาตรตามพระพุทธเจ้าลงมา ท่านก็ เออ... แต่คงไม่ใหญ่ไปกว่าพรหมหรอก แกก็ไปสวดมนต์ของแกต่อ
              พอยามสามท้าวสหัมสบดีพรหมมาเอง เจ้าพ่อของพรหมเลย ท่านก็เลยถามอีก ว่าใครมาหาพี่แกน่ะลูก ก็บอกว่าท้าวสหัมสบดีพรหมผู้เป็นอธิบดีของพรหมทั้งหลายน่ะแม่ คราวนี้แม่อยู่ไม่ได้ล่ะซิ ตัวเองนับถือพรหมเป็นใหญ่ แต่ท้าวสหัมสบดีพรหมอธิบดีของพรหมทั้งหมดมาเองอย่างนี้ เมื่อเป็นอย่างนั้น ก็ถาม พ่อเอ๊ย...นี่พ่อยังใหญ่กว่าท้าวสหัมสบดีพรหมอีกหรือลูก ? พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ถ้าหากว่าท้าวมหาพรหมทั่วๆ ไป เปรียบแล้วก็เหมือนกับพี่เลี้ยงเด็ก เพราะว่าตอนพระพุทธเจ้าคลอดใหม่ ๆ ท้าวมหาพรหมทั้งสี่เอาข่ายทองมารองรับ แต่ถ้าท้าวสหัมสบดีพรหมก็เปรียบเสมือนมัคทายกวัด เพราะว่าเป็นผู้อาราธนาพระพุทธเจ้าให้อยู่แสดงธรรมโปรดสัตว์โลกเสียก่อน
              ตอนที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ใหม่ ๆ ท่านคิดว่าจะไม่แสดงธรรมสงเคราะห์ เพราะว่าธรรมะลึกซึ้งเกินไป ท้าวสหัมสบดีพรหม ท่านทราบความคิด ท่านก็เสด็จลงมา ท่านว่าสัตว์โลกที่ธุลีในดวงตามีน้อยนั้นมีอยู่ ขอพระองค์โปรดแสดงธรรมสงเคราะห์เขาเถิด
              เมื่อเป็นอย่างนั้น ท่านก็เลยรับแสดงธรรม ท่านสารีบุตรก็เลยเปรียบว่า ท้าวสหัมสบดีพรหม ก็เหมือนมัคทายกนั่นและ เพราะถึงเวลาก็ต้องอาราธนาศีลอาราธนาธรรม พอแม่ได้ยินดังนั้น ก็เลยบอกว่าไม่รู้เลยว่าพ่อมีความดีถึงปานนี้ พระสารีบุตรก็บอก หยุดเถิดแม่ ขึ้นชื่อว่าความดีของลูกนั้นไม่มีหรอก ความดีทั้งหมดเกิดจากพระพุทธเจ้าท่านสงเคราะห์ ขอให้แม่ตั้งใจฟังนะ แล้วท่านก็เทศน์ถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ขึ้นอิติปิโส ภควา อรหัง สัมมา สัมพุทโธ ดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราเป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้โดยชอบ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้และความประพฤติทั้งปวง เสด็จไปดีแล้วในทุกที่ เป็นผู้ฝึกที่ไม่มีใครเหนือกว่า เป็นครูสอนของมนุษย์และเทวดา เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกแจกธรรม แม่ได้ฟังแล้วก็เกิดปิดติ กลายเป็นพระโสดาบันไป แกก็ดีอกดีใจ พระสารีบุตรหมดลมแล้ว เทศน์จบแกก็ดีอกดีใจ พ่อเอ๊ย...แม่ไม่เคยได้ฟังภาษิตดี ๆ อย่างนี้มาก่อนเลยในชีวิต ทำไมไม่มาโปรดแม่แต่เนิ่น ๆ พอพูดไปเห็นลูกเงียบ แกก็ไปจับขาดู ปรากฏว่าเย็นเฉียบ ลูกชายไปเสียแล้ว นั่งร้องอยู่ตรงนั้นแหละ เสร็จแล้วพวกน้อง ๆ ก็มาช่วยปลอบให้ท่านคลายโศก ท่านก็เลยเปิดคลังตัวเอง บอกให้เรียกช่างมา บอกว่ามีเท่าไร เอามาให้หมดเมืองนาลกะเลย ท่านเกิดที่นาละกะ ขนทองออกจากคลังไปเลย ให้สร้างที่พักสงฆ์ ๕๐๐ หลัง ท่านใช้คำว่าปราสาท ก็คือบ้านหลาย ๆ ชั้น แล้วก็สร้างที่พักอาคันตุกะ ๕๐๐ หลัง เอาให้เสร็จทันจัดงานศพลูกชายตัวเอง
              ทางด้านพระก็ส่งข่าวไปยังพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ส่งพระมาช่วยกันจัดงานศพ เทวดา พรหม พระอินทร์ก็มาช่วยกันเต็มไปหมด พระอินทร์ก็ขอให้ท้าววิษณุกรรมช่วยสงเคราะห์ เขาสร้างหลังหนึ่ง ก็ขอให้เป็นสองหลังเสีย ก็เลยกลายเป็นว่าอย่างละพันหลัง คนมาเท่าไรก็รับได้ เสร็จแล้วชาวบ้านก็ช่วยกันหาไม้หอม ฟืนหอม ใครมาก็ก่อ จิตกาธาน สูงขึ้นไป ท้าววิษณุกรรมก็เนรมิตให้กลายเป็นมณฑปสวยงามสมเกียรติ ประดับด้วยแก้วกี่ประการก็แล้วแต่แกว่า พอถึงเวลาเผาเสร็จสรรพเรียบร้อย พระอนุรุทธ ดับด้วยน้ำหอมเสร็จ พระจุนทะเถระก็รวบรวมอัฐิ เหลือเพียงห่อเล็ก ๆ เท่านั้นเอง ไปถวายพระพุทธเจ้า
              พระพุทธเจ้าก็บอกว่า พระสารีบุตรผู้เป็นสาวกของเรา ผู้เลิศที่สุดในทางธรรม เป็นผู้ที่เปรียบเหมือนกับแม่เลี้ยงหรือนางนม คือว่าพระในธรรมวินัยนี้ เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ผ่านการสงเคราะห์จากท่าน จนกระทั่งบัดนี้ท่านได้ทำหน้าที่ของตัวเองสมบูรณ์แล้ว พระผู้ที่บริสุทธิ์เห็นปานนี้ ถึงวาระนั้นก็ไม่อาจดำรงขันธ์อยู่ได้ ขอเธอจงอย่าตั้งอยู่ในความประมาทของขันธ์ห้าเลย
              พอเทศน์ถึงตอนนี้ท่านบอกว่ามหาชนอันมากก็บรรลุมรรคผล คราวนี้ท่านก็สั่งให้สร้างเจดีย์อยู่ในมหาเชตวันวิหารนั่นแหละ บรรจุอัฐิพระสารีบุตร เป็นที่สักการะบูชาของคนต่อไป
              พระสารีบุตรนิพพานวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ ถัดจากนั้นอีก ๑๕ วัน พระโมคคัลลาน์ ก็ตามไป พระพุทธเจ้าเท่ากับว่าพรรษาสุดท้าย ท่านขาดแขนซ้ายขวาไปเลย มรณภาพก่อนพระพุทธเจ้าปีหนึ่ง ๔๔ พรรษาของพระพุทธเจ้า
              มีอยู่ตอนหนึ่งสอนพระท่านว่า พระนางประชาบดีโคตมี ท่านเป็นภิกษุณีองค์แรกของพระพุทธศาสนา เป็นผู้ทำหน้าที่พระพุทธมารดาตั้งแต่พระพุทธเจ้าอายุได้ ๗ วัน แล้วบวชเป็นพระภิกษุณีอรหันต์ นิพพานเมื่ออายุ ๑๒๐ ปี นิพพานก่อนพระพุทธเจ้า
              คราวนี้พวกเราลองไล่ดูว่า พระพุทธเจ้าอายุ ๘๐ ปี แม่น้าอายุ ๑๒๐ ปี ต่างกันกี่ปี ๔๐ แล้วแม่น้าคงอายุห่างจากแม่ไม่กี่ปีใช่ไหม ? ตีว่าสัก ๓ ปี ๕ ปี แล้วกัน แล้วอย่างนั้นพระนางสิริมหามายา คลอดลูกตอนอายุเท่าไร ? ตอนแรกเราก็ เอ้ย! จะแก่ขนาดนั้นเชียวเหรอ ? แต่ปรากฏว่าไปเปิดพระไตรปิฎกดู จริง ๆ ท่านว่าธรรมดาพุทธมารดาจะประสูติพระโพธิสัตว์เมื่ออายุ ๕๐ – ๖๐ ปี เพราะอะไร... เพราะว่าถ้าหากว่ามีแล้ว ท่านจะอยู่ได้เพียง ๗ วัน ในเมื่ออายุสั้นขนาดนั้น ก็เลยให้อยู่นาน ๆ ก่อน แล้วค่อยมี เราก็เลยแปลกใจว่า ทำไมแม่ก็ดี น้าก็ดี พ่อก็ดีตายหมดเลย ปรากฏว่ากว่าจะมีขนาดนั้นก็ชราเต็มทีแล้ว พระพุทธเจ้าไปสงเคราะห์ไม่นานก็ไปกันเป็นแถว
              นี้ถ้าไม่เจอตรงนั้นก็ยังคงข้องใจถึงขณะนี้แหละ เพราะไปเทียบอายุแล้วคนหนึ่งตายอายุ ๑๒๐ ปี อีกคนหนึ่งตายอายุ ๘๐ ปี อายุอย่างต่ำ ๆ ก็ห่างกัน ๔๐ ปี แล้ว ๔๐ กว่าด้วยเพราะว่าแม่น้าท่านไปก่อน เทียบไปเทียบมาเปิดตำราหาจนเจอ เขาบอกว่าธรรมดาของพุทธมารดา ท่านใช้คำว่าพุทธมารดา จะเห็นพระโพธิสัตว์ที่อยู่ในครรภ์อยู่ตลอด จะมีท้าวมหาราชทั้ง ๔ คอยดูแล แวดล้อมรักษาอยู่ตลอด จะเป็นผู้ที่ยืนในการประสูติพระโพธิสัตว์ คือไม่ได้นอนคลอดเหมือนคนอื่น ๆ ร่างกายไม่ได้เปื้อนด้วยมลทินในระหว่างที่คลอดนั้น จะเป็นผู้ที่อยู่ได้ไม่เกิน ๗ วัน หลังจากที่พระพุทธเจ้าคลอดแล้ว
              คราวนี้จะมีอยู่ข้อหนึ่งที่ว่า จะมีปกติประสูติกาลในระหว่างอายุ ๕๐ – ๖๐ ปี ข้อนี้ชัดเลย แสดงว่าต้องมีระหว่างนั้นจริง ๆ ของเราสมัยนี้ห้าหกสิบหมดน้ำยาแล้วใช่ไหม ? แสดงว่าคนสมัยโบราณเขาแข็งแรงกว่าเยอะเลย ห้าหกสิบยังมีลูก
      ถาม :  เขาคงไม่ใช่อายุขัย ๑๐๐ ปี เหมือนตอนนี้ ?
      ตอบ :  สมัยนั้นอายุขัย ๑๐๐ ปี ถ้าอายุ ๖๐ ก็เหมือนกับ ๔๐ สมัยนี้ก็ยังไม่นับว่าแก่มาก โดยเฉพาะพวกสาววิทยาศาสตร์ มันดูไม่แก่เลย
      ถาม :  (พระหลวงตาถามปัญหา)
      ตอบ :  หลวงตาครับ... อะไรบางอย่างที่มันเกิดขึ้นจริง ๆ มันไม่ใช่เรื่องของเรานะ ถ้าหากว่าเรารับเข้ามา มันทำให้เราวุ่นวายเสียเปล่า ๆ สำคัญที่สุด ต้องรักษาใจของเราให้ดี ทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่มีใครผิด ไม่มีใครถูกหรอกครับ มันเป็นสมมติทั้งนั้น ทุกคนต่างเห็นว่าสิ่งที่ตนเองทำดีแล้วทั้งนั้น ถึงได้ทำ แต่จริง ๆ แล้ว อาจดีแค่นั้น ถูกแค่นั้น ส่วนที่ดีกว่านั้น ถูกกว่านั้นยังมี เราต้องหาให้เจอ ที่อะไรล่ะ ?
              สิ่งที่บรรพชิตต้องพิจารณาเนือง ๆ หลวงตาคงศึกษามา ที่บอกว่า กายวาจาใจ ที่ดีกว่าอย่างนี้ยังมีอยู่ เราต้องทำกาย วาจา ใจนั้น เราตัวติตัวเราเองโดยศีลได้หรือไม่ ? ผู้รู้ใคร่ครวญแล้วติเราโดยศีลได้หรือไม่ ? สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราสมควรจะต้องทำ เรื่องอื่นมันจะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน ถ้าตราบใดที่เรายังหวังพึ่งพิงคนอื่นอยู่ ตราบนั้นเราก็ยังเดินเองไม่ได้ ยืนเองไม่ได้ คนอื่นจะเป็นแบบอย่าง จะเป็นบทเรียน จะเป็นสิ่งที่เราอาศัยเพื่อก้าวไปสู่จุดหมายสิ่งที่เราต้องการ ต่อให้เป็นกัลยาณมิตรที่เป็นครูบาอาจารย์ก็ตาม เพื่อนสหธรรมมิกก็ตาม สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เราอาศัยได้ระดับนี้เท่านั้น สุดท้ายก็ต้องอัตตาหิ อัตตาโน นาโ ถ ตนเป็นที่พึ่งของตนเอง
              เพราะฉะนั้นสิ่งต่าง ๆ ที่มันเกิดขึ้น บอกตรง ๆ ว่าเรื่องของคนอื่นทั้งนั้น ไม่ใช่ของเรา ใครเขาจะมีความคิดอย่างไร ใครเขาจะมีความเห็นอย่างไร ก็ไม่ต้องไปฟุ้งซ่านตามเขา รักษาใจเราให้ดีก็พอ มันปกติของเราบางทีมันก็อดไม่ได้ใช่ไหม ? ถึงเวลามันก็ต้องคิดบ้างใช่ไหม ?
      ถาม :  เข้าใจแล้วครับ ?
      ตอบ :  ของเราเองก็ไม่ต้องไปใส่ใจมันหรอก ใครจะว่าอย่างไรก็ช่าง เรามีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งก็พอ เรื่องพรรค์นี้ต่างคนต่างความเห็น ต่างคนต่างความคิด ประเภทความเห็นไม่ตรงกัน สำหรับฆราวาสการพนันมันเลยเกิดใช่ไหม ? ของพระความเห็นไม่ตรงกันขัดคอกันมันก็มี อยู่สุขอยู่สบายเกินไป มันก็ไม่ใช่โลกสินะ คำว่าโลกนี้เป็นทุกข์ครับ อนิจจังไม่เที่ยง ทุกขังเป็นทุกข์ ไม่มีอะไรยึดถือมั่นหมายได้ ผมเองนอนป่วยอยู่โรงพยาบาล พอได้ข่าวก็เออ...มันชักจะไปกันใหญ่แล้วล่ะ
      ถาม :  .....................................
      ตอบมารเขาจะพยายามดึงเราออกจากความดี ทีละนิด ๆ โดยเฉพาะเขาจะให้ความสามารถจนเรานึกไม่ถึง แต่มันไม่ใช่ความสามารถจริง ๆ ของเรา มันเป็นความสามารถที่เขาให้ แล้วเขาจะดึงเราให้เป๋ไปจากพระธรรมวินัยไปทีละน้อย ๆ โดยที่เราไม่รู้ตัว กว่าจะรู้ตัวก็เสร็จเขาไปแล้ว
              แล้วส่วนอื่นทั้งหมดจะเป็นลักษณะที่ว่า ทำเพื่อคนอื่น ทำเพื่อสงเคราะห์เขา ซึ่งเป็นจริตนิสัยของตัวเอง แต่ว่าลักษณะของการทำไปทำมาเขาจะชักให้เป๋ไปได้เอง
              คนเรามีวิสัยทางด้านไหน เขาก็จะเอาตัวนั้นแหละมาหลอก ส่วนนี้ต้องระวังให้มาก ๆ เชื่อตัวเองไม่ได้เด็ดขาด รู้สึกว่าตัวเองดีเมื่อไร ให้รู้ว่าตัวเองใกล้พังเต็มทีแล้ว
              สมัยก่อนผมเคยเตือนท่านทีหนึ่ง จนท่านไม่อยากดูหน้าคน หนีเข้าป่าไปเลย แล้วลูกศิษย์ไปตามออกมาใหม่ ตามออกมาใหม่ก็ตั้งท่าได้อยู่ระยะหนึ่ง ระวังไว้แล้วก็เผลอเสร็จไปอีก แต่แหม... พระเขาก็ทำรุนแรงกัน แล้วผมมารู้ทีหลัง ว่าเขามาอ้างชื่อผมด้วย ไปกันใหญ่ เรานอนป่วยอยู่โรงพยาบาลแท้ ๆ กลายเป็นหัวหน้าทีมไปได้อย่างไรก็ไม่รู้ เอาเถอะ เราทำมาขนาดนี้แล้ว ถ้าบางอย่างมากระทบแล้วเราท้อถอย มันจะเสียประโยชน์ไปเปล่า ๆ ฉะนั้นก็ทำตัวเหมือนบ้านว่าง ๆ ไม่มีหลังคา ไม่มีข้างฝา ขว้างมามันก็เลยไปหมด ถ้ามีข้างฝา มีหลังคา เสียงมันปึงปัง เราก็รู้สึกไปกระทบ
              สมัยก่อนผมทำ นั่งกำหนดใจเหมือนกับอยู่ในห้องว่าง ๆ ไม่ว่ารูป รส กลิ่น เสียง ไม่ว่าอะไร ไม่รับทั้งนั้นแหละ ทำเหมือนบ้านว่าง ไม่มีให้ขว้างหรอกครับ หลังคาก็ไม่มี ข้างฝาก็ไม่มี มันเลยไปหมด พอทำ ๆ แล้วก็ เออ... ดีเหมือนกันแฮะ มันไม่ต้องไปรับแรงกระทบของใคร
      ถาม :  แล้วถ้ามีใครมาถาม ?
      ตอบ :  ไม่ควรยุ่งเลยครับ คือในระหว่างนั้นนี้ ต่างคนต่างทำ ถ้าเราไปเข้าข้างใครก็จะกลายเป็คนผิดในสายตาของอีกคนหนึ่ง นิ่งไว้เสียดีกว่า นาน ๆ ไปอะไรจะชัดเจนขึ้น ในช่วงนั้นถ้าเราไปใส่อารมณ์ตามใคร มันจะขาดทุนทั้งขึ้นทั้งล่อง โอกาสที่ถูกมันน้อย เรื่องของทิฐิความเห็นนี่พูดยาก ดูที่ตัวแก้ที่ตัว ดูแค่นั้น ดูผิดที่เมื่อไรก็ลำบาก จำไว้ว่าเรื่องของคนอื่นเป็นเรื่องของโลกทั้งหมด เราแก้ไขโลกไม่ได้ เราต้องดูที่ตัวแก้ที่ตัว แก้ไขโลกมันเกินกำลังไป ดีชั่ว ใครทำ คนนั้นรับ ถ้าหากว่าเขาไม่ละอายชั่วกลัวบาป เขาสามารถทำของเขาได้ เราเองก็ถอยห่างออกมา แต่ขณะเดียวให้ดูว่าตัวของเราเองเป็นอย่างไร มีความดีส่วนไหนที่ควรจะเร่งทำ มีความชั่วส่วนใหญ่ที่เราจะละให้หมดไป ให้ตั้งหน้าตั้งตาแก้ไขตรงจุดนั้น ดูที่ตัวเอง แก้ที่ตัวเอง อัตตา โจทะยัตตานัง กล่าวโทษโจทย์ตัวเองอยู่เสมอ ๆ อย่าเข้าข้างตัวเอง ให้เห็นอยู่เสมอว่าจริงแล้ว ๆ ที่เกิดขึ้นนั้น เราเป็นคนผิด ถ้ามันหาจุดผิดไม่ได้ก็ ผิดตั้งแต่เกิดมาแล้ว อยากเกิดมาเอง รับยากเหมือนกัน ถ้าไม่เกิดมามันไม่เจอหรอก ไม่รู้จะโทษใคร โทษตัวเองสบายใจที่สุด
      ถาม :  ช่วงหลวงพ่อมรณภาพ หลวงพี่ได้อยู่กับหลวงพ่อไหมครับ ?
      ตอบ :  ก็ยังอยู่ จัดงานครบ ๑๐๐ วัน เสร็จถึงไป วันสุดท้ายไปกราบหลวงพ่อกัน ท่านเห็นพระเยอะท่านเลยถามว่ามาทำไม ? บอกว่ามากราบหลวงพ่อครับ ท่านว่า เออ... ขอบใจนะ มีงานอะไรก็ไปทำกัน พวกเราเองทั้ง ๆ ที่เห็นว่าท่านจะไปแหล่มิไปแหล่แล้ว ก็ต้องถอยออกมา เพราะว่าของท่านนี่ คำว่างานสำคัญกว่าชีวิต จำไว้ให้แม่น ๆ ยังไง ๆ ก็ตาย ขอทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ก็บอกกับพระเขาว่า ของเราเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่ ก็ยังสวดมนต์บิณฑบาต เจริญกรรมฐานอยู่เป็นปกติ ไม่ได้ทำเพื่อจะอวดใคร ไม่ได้ทำเพราะอยากได้รับคำชมจากใคร แต่ที่ผมทำเพราะผมรู้ว่าความดีของผมยังไม่พอที่จะหนีนรก ผมบวชมาจนป่านนี้ ผมขาดสวดมนต์ทำวัตรแค่ ๔ ครั้ง เพราะว่ามันป่วยจนลุกไม่ไหวจริง แต่เวลาพวกคุณสวดมนต์ทำวัตรอยู่ ผมก็พนมมือนึกตามไป เพราะไปนั่งร่วมกับพวกคุณไม่ไหว แล้วคุณคิดดู ผมทำขนาดนี้ ผมยังไม่มั่นใจว่า ผมจะพ้นนรกได้ แล้วคุณคิดหรือว่าคุณจะพ้น ?
              คือส่วนใหญ่ของเขา พอง่วงหน่อยเขาก็ไม่เอาแล้วอย่างนี้ ก็บอกกับเขาไปอย่างนั้นว่า ขนาดทำมาอย่างนี้แล้ว เราเองยังไมมั่นใจว่าจะพ้นนรกได้ แล้วของพวกคุณล่ะ เจ็บนิด ป่วยหน่อย ง่วงหน่อย แล้วมันจะรอดได้อย่างไร บอกว่าไม่ได้ตั้งใจจะมาอวดว่า เราทำความดี มีวัตรปฏิบัติที่เข้มข้นกว่า ไม่ได้จะมาเกทับกันว่าอยู่ใกล้ครูบาอาจารย์ที่ดีกว่า มันสำคัญอยู่ตรงจุดที่ว่า ผมสงสารคุณว่ามันจะไม่รอดนรกมากกว่า บางทีของเราเองก็ต้องว่าเขาหนัก ๆ เขาจะได้สติรู้ตัวบ้าง จริงก็ไม่อยากจะยุ่งกับใคร ปล่อยเขา ประเภทที่เรียกว่าสวรรค์มีทาง เจ้าไม่ไป นรกไร้ประตู ดันตะกายมา ก็ปล่อยเสียให้เข็ด
              แต่คราวนี้ขึ้นไปอยู่ในฐานะของครูบาอาจารย์เขา มันจำเป็นที่จะต้องอบรมดูแลเขา ปล่อยทิ้งไว้เฉย ๆ ไม่ได้ ก็ต้องปากเสียด่ามันไปเรื่อย ๆ หลวงตาลองดูไหมครับ ๑๗ ปี ขาด ๔ ครั้ง จดสถิติได้ครับ ยืนยัน เขาสังเกตอยู่อย่างเดียวว่าผมธุระจะใกล้ไกลยังไงก็ตาม ผมพยายามจะเร่งกลับให้ทันทำวัตร เพราะว่าจะเห็นว่าบางที เราไปถึงก็เกือบทุ่มหนึ่งแล้ว ขาดนาทีหนี่งสองนาที ไปถึงบอกคนขับเขาจอดหน้าศาลาเลย ลงได้ห่มผ้าพาดสังฆาฏิก็ขึ้นไปทำวัตรร่วมกับเขา เสร็จแล้วค่อยไปอาบน้ำอาบท่าอีกทีเลย ที่ชัดที่สุดก็คือ หลวงปู่มั่น ท่านบอกว่ามีวัตร ถึงจะมีศีล วัตรปฏิบัติของพระนะครับ ถ้าหากว่าเป็นส่วนหยาบ ๆ แค่นี้เรายังทำไม่ได้ เรื่องศีลที่มันจะควบคุมกาย วาจา ใจ ให้เรียบร้อยเราก็ทำไม่ได้ แล้วถ้าหากว่าเรื่องวัตรทำไม่ได้ เรื่องศีลทำไม่ได้ เรื่องความเข้าถึงความสงบทางใจ มันยิ่งยากกว่าหลายเท่า ถ้าส่วนหยาบทำไม่ได้ ส่วนละเอียดทำไม่ได้หรอก
              คนไหนที่ประเภทรูปแบบที่เป็นอริยะประเพณี สวดมนต์ ทำวัตร บิณฑบาตไม่เอานะครับ ประเภทที่ถ้าหากคิดจะตำหนิ เขาชี้หน้าบอกได้เลยว่า พวกนี้เอาดีได้ยาก แค่เปลือกยังทำไม่ได้ จะเข้าถึงแก่นได้อย่างไร
      ถาม :  แล้วพระแก่ละครับ ?
      ตอบ :  ก็ทั้งหมดล่ะครับ จะหนุ่มจะแก่อย่างไรก็ตาม ถ้าหากไม่เอาตรงจุดนี้แล้ว จะเอาดียาก หลวงพ่อท่านบอกเลยว่า สวดมนต์ ทำวัตร บิณฑบาต กรรมฐาน เป็นงานของพระ ไม่ว่าแกจะติดธุระสำคัญแค่ไหนก็ตาม ถึงเวลาวางธุระนั้นก่อน เพราะนอกนั้นไม่ใช่งานของพระ งานของพระอยู่ตรงนี้
              แต่ปรากฏว่าสมัยที่ผมอยู่วัดท่าซุงก็มีเหมือนกัน มีหลายองค์ที่ถึงเวลาก็อ้างทำงานโน้น ทำงานนี่ แล้วก็ไม่ไป เราก็ไปขออนุญาตนะครับ เราทำงานร่วมกับท่านอยู่ ขออนุญาตนะครับ ผมขอไปทำวัตรก่อน ท่านก็บอกว่านี่แหละวัตร ก็คือไอ้งานที่ท่านทำอยู่ตรงนั้น ก็บอกว่านี่มันวัตรของท่านครับ แต่ว่าวัตรของหลวงพ่ออยู่ที่โน่นครับ ว่าแล้วเราก็ไปเลย ไม่กลัวท่านโกรธด้วย
      ถาม :  ถ้าพระอาพาธล่ะครับ ?
      ตอบ :  คือถ้ามันไม่ไหว ก็สวดมนต์ทำวัตรที่กุฏิ ก็แจ้งให้ท่านทราบเสียก่อน คือมันคล้าย ๆ กับว่า ถ้าเราไม่ได้บอกไป บางทีท่านอาจจะรอ ของผม ผมถือเป็นระเบียบเลย ถ้าผมไม่ไหวจริง ๆ ก็ฝากพระไปบอกเจ้าอาวาสเขาว่าไปไม่ไหว ขออนุญาตทำวัตรที่กุฏิ


              ผู้มีปัญญา มักไม่ประมาท เมื่อคนส่วนมากพากันประมาท
              และตื่น เมื่อคนส่วนมากพากันหลับอยู่
              เขาจึงละทิ้งคนเหล่านั้นไปไกล
              เหมือนม้าฝีเท้าเร็ว วิ่งเลยม้าแกลบฉะนั้น
              Heedful among the deedless,
              Wide awake among those asleep,
              The wise man advances
              As a swift horse leaving a weak nag behind.