ถาม : ในฤกษ์พรหมประสิทธิ์ จะมีวันที่มีปัญหา ?
ตอบ : เขาเรียกว่า ดิถีพิฆาต คือมันไม่เหมาะ เหมือนกับว่าเราเป็นมด แบกข้าวได้เม็ดหนึ่ง แต่เขาโยนมาให้กระสอบหนึ่ง แล้วมดแบนไหมล่ะ ? คือมดมันอยากได้ข้าวสารเป็นเรื่องปกติ แต่ว่าอะไรบางอย่างมันเกินกำลังเกินบุญ
ถาม : (ถามเรื่องพระวินัย)...ถ้าเกิดว่ามีพระที่เป็นปาราชิกอยู่แม้แต่องค์เดียวในหมู่สงฆ์....?
ตอบ : มาระยะหลังเขาตีความเอา ถ้าองค์สงฆ์ครบ ต่อให้มีพระที่เป็นปาราชิก หรือสังฆาทิเสส ก็ไม่ถือว่าเสียสังฆกรรม แต่จริง ๆ แล้วมันไม่ได้ คือถ้าอยู่ก็เท่ากับเป็นอนุปสัมบัน (ผู้ที่ศีลน้อยกว่า) อยู่ในนั้นเลย ต่อให้ครบองค์สงฆ์ก็ใช้ไม่ได้ อย่างของเรานี้เป็นปัจจันตประเทศ คือนอกเขตมัธยมประเทศ ถือว่าห้ารูปก็ครบองค์สงฆ์ที่จะบวชพระได้ ถ้าเกิดว่ารูปที่หกเป็นปาราชิก หรือสังฆาทิเสสมา ต่อให้ครบองค์สงฆ์ จริง ๆ แล้วมันก็เสียสังฆกรรม มีอนุปสัมบัน (ผู้ที่ศีลน้อยกว่า) อยู่ในท่ามกลางสังฆกรรมนั้น แต่ระยะหลังเขาพยายามจะตีความว่าให้มันเยอะเข้าไว้เผื่อว่าถ้ามีใครเป็นอาบัติ ที่เป็นครุอาบัติอยู่ด้วย เขาถือว่าไม่เสีย อย่าไปตีความตามจะพาเราเดี้ยงอีก
ถาม : แล้วของทุกอย่างที่จะใช้ต้องประเคนไหมครับ ?
ตอบ : ของที่จะใช้ให้โยมเขาถวายแล้วประเคนทีเดียว แต่ถ้าของที่จะบริโภค เขาเรียกว่ากาลิก มีทั้งยามะกาลิก ยาวะกาลิก สัตตาหะกาลิก ยาวชีวิก ของที่จะใช้ได้ระหว่างอรุณถึงเที่ยง เช่น พวกอาหารต้องประเคนทุกครั้งที่เราจะกินลงไป เพื่อกันไว้ว่าเป็นของขาดประเคน ส่วนสัตตาหะกาลิกนี่เจ็ดวันประเคนที ส่วนยาวะชิวิกนี่ส่วนใหญ่จะเป็นพวกเภสัช เช่น ปัณณเภสัช ใบไม้เป็นยา มูลเภสัช รากไม้เป็นยาก็ถือว่าประเคนครั้งเดียวใช้ได้ตลอดชีวิต
ถาม : (ถามเรื่องคาถา)
ตอบ : ถ้าเขาต้องการความสำเร็จก็ สัมปฏิจฉามิ ,ถ้าต้องการปัดเคราะห์ก็ใช้ ภะสัมสัมวิสะเภทะ ,ถ้าเกี่ยวกับเรื่องเรียนเรื่องศึกษาก็ใช้ อิติปิโส แก้วยอดฟ้า พวกนั้นแหละ มันจะมีเกี่ยวกับพวกปัญญาแล้วแต่สิ่งที่เขาขอ ว่าเขาจะขอเรื่องอะไร มันไม่เหมือนกัน
ถาม : (เรื่องเงินทำบุญ)
ตอบ : ถ้าเขาตั้งใจเป็นสังฆทาน ก็ไว้ในส่วนของสังฆทาน วิหารทาน ธรรมทานก็ได้ ดูถ้ามีตู้หยอดก็หยอดไป ถ้าไม่มีหลวงพ่อท่านว่า อันดับแรกเอาเข้าโรงครัว เป็นค่าอาหารพระ เณร คือว่าเป็นสังฆทานอยู่แล้ว อันดับที่สองก็แบ่งให้ใช้ในวิหารทานคือการก่อสร้างทั่วไป อันดับที่สามก็ค่อยเหลือเอาไว้ใช้ในฐานะของส่วนตัว อย่างเช่นว่าเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นค่ายานพาหนะ เป็นค่าอาหาร
ถาม : .............................
ตอบ : หลวงปู่เดิม วัดหนองโพธิ์ เป็นอาจารย์ที่ร่วมสมัยกับหลวงปู่ปาน สมัยนั้นเขาใช้คำว่าวิชามันยันกัน คือว่าต่างคนต่างมีดี ไม่ด้อยกว่ากัน หลวงพ่อเดิมท่านเก่งยันต์มหากาฬ ใครไปก็สักติดกระหม่อมให้ แต่หลวงปู่ปานท่านเก่งยันต์เกราะเพชร ถึงเวลาท่านเป่าทีก็ยกศาลาเลย ถ้าเป่ายันต์เกราะเพชรแล้วไปสักยันต์มหากาฬ หลวงปู่เดิมท่านบอกว่าไม่ต้องแล้ว ที่เอ็งได้แต่ก็เหลือดีแล้ว ส่วนใครที่สักยันต์มหากาฬ ถ้าไปร่วมเป่ายันต์เกราะเพชร หลวงปู่ปานท่านก็บอกว่าไม่ต้อง
ท่านเป็นอาจารย์รุ่นไล่ ๆ กัน แต่ว่าหลวงปู่ปาน ถ้านับแล้ว ถือว่าอายุน้อย เพราะว่าหกสิบเอ็ดย่างหกสิบสองก็มรณภาพแล้ว หลวงปู่เดิมนี่พอ ๆ กับหลวงปู่จง อยู่กันลืม หลวงปู่เดิมนี่เขาเรียกหลวงพ่อสี่ศอก ท่านสูงสองเมตรพอดีเป๊ะเลย โยมไปสร้างกุฏิให้ท่านกว่าสองเมตร ท่านนอนหัวยันตีนยันพอดีเลย
หลวงปู่เดิมนี่แหละที่ท่านเอามีดหมอ มีดหมอสมัยก่อนใช้ในการรักษาโรค คราวนี้มาถึงยุคหลวงปู่เดิมนี่ ท่านทำเพื่อให้เขาติดตัวไว้ได้ ก็เลยกลายเป็นว่าติดตัวก็เป็นมหาอำนาจ ใช้ในการรักษาโรคก็ได้ ใช้ในการขับไล่พวกไสยศาสตร์ก็ได้ พวกเสือสางสมัยก่อนมันหนังเหนียว แต่มันกลัวลูกศิษย์หลวงพ่อเดิม ถ้าหากว่าพกมีดหมอนี่ เสียบเมื่อไรก็ยุ่ยเมื่อนั้นแหละ ทำอยู่ตั้งหลายขนาด ตั้งแต่ใบเก้านิ้ว ลงมาเจ็ดนิ้ว ห้านิ้วมีหมด จนกระทั่งเล็ก ๆ เหมือนปากกา
แล้วลูกศิษย์ท่านที่เป็นควาญช้างสมัยก่อนเยอะ ถือมีดหมอแทนที่จะเอาขอสับ ก็เอาสันมีดหมอตีกบาล มันก็ยอมแล้ว คราวนี้เรื่องของรอยเท้านี่ รอยเท้าที่ให้เขาบูชา ท่านก็พิมพ์ให้เขา ๆ จนกระทั่งมันมีงานหนึ่ง ซึ่งรู้สึกว่าเขาต้องใช้มากเป็นพิเศษ ถ้าขืนปั๊มก็ลมใส่พอดี ท่านก็บอกว่ายกมาทั้งถาดนั้นแหละ ยกมาแล้วท่านก็เอาเท้าจุ่มครามแล้วก็วาง แล้วเอามือตบหัวเข่า มันติดทะลุจนถึงผืนสุดท้ายนั่นแหละ ยิ่งกว่าซีร็อกอีก วิชานี้เรียกว่า นะ ปัด ตลอด
หลวงพ่อท่านบอกว่า เคยเห็นหลวงปู่ปานทำอยู่ครั้งเดียว ช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพาที่ไทยรบกับฝรั่งเศส หลวงประธานถ่องวิจัย มากับกำนันเถา เอาผ้ามาเป็นถาดเหมือนกัน บอกว่าจะออกรบจะขอยันต์ คราวนี้มันเป็นเรื่องรีบด่วน ปกติแล้วผ้ายันต์วัดบางนมโค หลวงปู่ปานท่านให้พระอาจารย์เจิม เป็นคนเขียน พออาจารย์เจิมเขียนเสร็จ หลวงปู่ปานถึงเอาไปปลุกเสกอีกที
พอเรื่องด่วน หลวงปู่ปานก็เลยบอกหลวงพ่อว่าไปเอาไม้เท้ามา หลวงปู่ปานเคาะเปรี้ยงเดียว ยันต์ติดหมดทุกแผ่นเหมือนกัน ไม่รู้ว่ายันต์มาจากไหน เราเห็นผ้าขาว ๆ นี่แหละ แต่ตีทีเดียวติดหมด วิชานี่เรียกว่า นะ ปัด ตลอด
เมื่อท่านมรณภาพ หลวงพ่อไม่ทันได้เรียนเอาไว้ ก็ได้ข่าวว่ามีลูกศิษย์หลวงปู่อีกคนหนึ่ง เป็นลิเก ได้วิชานะ ปัด ตลอด ตัวนี้ไว้ ปรากฏว่าต่างคนต่างตาย เลยไม่ได้เรียนวิชาอีกตามเคย คือลิเกนี่เขาหยุดหน้าฝน ช่วงนั้นพระเข้าพรรษา แล้วการที่จะไปไหนในพรรษา พระท่านให้ในกรณีจำเป็น เรียกว่า สัตตาหะกรณียะ แล้วไปได้ไม่เกินเจ็ดวัน กำหนดไว้เลยว่าต้องเป็น พ่อป่วย แม่ป่วย ครูบาอาจารย์ป่วย ไปเพื่อรักษาพยาบาล เพื่อนสหธรรมิกที่อยู่ต่างวัดจะสึก ไปเพื่อห้าม วัดพังไปหาสัมภาระมาซ่อมวัด แล้วก็ได้รับกิจนิมนต์ไปเพ่อเจริญศรัทธา เรียนไม่ทัน
สมัยนี้เอะอะ ก็สัตตาหะกรณียะ ไม่รู้ขาดพรรษากันมั่งหรือเปล่า คราวนี้ในเมื่อลิเกเขาหยุด หลวงพ่อก็ไม่ได้เรียน พอออกพรรษาเขาก็ตระเวณรับงานต่อไปเรื่อย ต่างคนต่างตายไป หลวงพ่อท่านบอกว่าเจ้าของโรง ที่เล่นเป็นตัวเอก ก็คือนายโรงใช่ไหม ถึงเวลาจะทำแป้งขึ้นมา แล้วว่าคาถาตามวิธีครูบาอาจารย์บอกแล้วก็เป่าไป มันก็วิ่งไปเรื่อย จนกว่าจะมีอะไรขวางหน้ามันก็จะไปติดอยู่ตรงนั้น ถ้ามีสามกิโลอยู่ข้างหน้า มันก็ไปยันสามกิโลนั่นแหละถึงได้ติดอยู่ด้านโน้น อย่างนั้นแล้วแป้งไปอยู่ทิศไหน คนก็จะมาทิศนั้นมากที่สุด
สมัยก่อนเขามีการเสกธง ถ้าเห็นธงต้องมา เสกกลอง ถ้าได้ยินเสียงกลองต้องมา ก็ตัวนี้แหละ นะ ปัด ตลอด ก็จะมาทางด้านนั้น คราวนี้หลวงพ่อท่านก็ไม่ได้เรียนไว้ อาตมาก็ไม่ได้เรียนไว้ วิชานี้ไม่สามารถที่จะทำได้ แต่ว่าเคยรู้มาว่าถ้าจะเรียน นะ ปัด ตลอด เขาจะเข้าไปในป่าช้า เขียนตัว น เอาไว้บนฝาโลง ว่า คาถา ภาวนาตามแบบแล้วตบ ไปติดที่กะโหลกศีรษะของผีตายในโลง ถ้าสำเร็จนี่ ต้องเอาผ้าขาววางไว้ใต้โลงแล้วตบทะลุลงไปที่ผ้าขาวแทน
สมัยหลังมีหลวงพ่อวงศ์ วัดบ้านค่าย ที่ระยอง ก็คงสมัยใกล้เคียงกันนี่แหละ แต่ว่าเป็นรุ่นหลังมานิดหนึ่ง อันนั้นเอาขมิ้นชันจารหัวให้แม่ ถ้าลูกอยู่ในท้องติดหัวลูกด้วย ไม่อย่างนั้นไม่มีทางที่จะทำได้ แต่ถ้าดูยันต์เกราะเพชรน่าจะเป็นส่วนหนึ่งเหมือนกัน เพราะว่าถ้าเป่าแม่ก็ติดลูกด้วยใช่ไหม เพียงแต่ว่าที่จะโชว์ออกมาให้เห็นต้องเป็นลูกชายคนแรก หลวงพ่อเดิม พุทฺธสโร เกิดมามีแต่ให้จริง ๆ มีแต่คนมาให้ท่านปั๊มรอยเท้าทั้งวัน ปั๊มจนกระทั่งไม่มีเรี่ยวแรงจะปั๊ม นั่งแปะอยู่กับพื้นมันก็ยังจะเอาอีก ไม่มีก็ให้เป่าหัวให้ ให้เขกหัวให้ ให้ถ่มน้ำลายใส่หัว คนเขาถามว่าหลวงพ่อครับ ถึงขนาดนี้แล้วยังจะทำให้เขาอีกเหรอครับ ท่านบอกว่าใช้หนี้มัน ก่อนนี้ท่านเคยเกิดเป็นคนเลี้ยงช้าง ไปตกปลอกช้าง ก็คือว่ามัดขาช้างเอาไว้ คราวนี้ต้องไปใช้หนี้ให้เขาจับขาปั๊มอยู่ทั้งวัน
หลวงพ่อเดิมท่านทำประโยชน์ตั้งแต่แรกจนถึงวินาทีสุดท้าย ท่านรู้เวลาตายของตัวเอง แต่ว่าท่านก็ไม่บอกใคร ท่านเตรียมทุกอย่างไว้เรียบร้อย พอเวลาใกล้จะสิ้นลมท่านถามครั้งสุดท้ายว่าน้ำในสระเต็มไหม ? ลุกศิษย์ก็บอกว่าปีนี้เป็นหน้าแล้ง เหลือไม่ถึงครึ่ง ท่านถามใช้จนถึงหน้าฝนไหม ? ก็บอกว่าไม่ พอเสร็จแล้วท่านก็หลับตาเข้าสมาธิ เมฆมา ฝนตกหนักจนกระทั่งน้ำเต็มสระ ฝนหยุดท่านก็หมดลม สงเคราะห์จนถึงวินาทีสุดท้ายจริง ๆ ฝนตกขนาดน้ำเต็มสระนี่ไม่ใช่เรื่องเล็กเลย ว่ากันเป็นชั่วโมง ๆ หลวงพ่อเดิม พุทธสโร ถัดมาก็มีหลวงพ่อกัน วัดเขาแก้ว หลวงพ่อน้อย วัดหนองโพธิ์ รุ่นหลัง ๆ ถัดจากหลวงพ่อกัน หลวงพ่อน้อยนี่ไม่รู้ว่ามีใครบ้าง หลวงพ่อกัน มรณภาพไปแล้ว หลวงพ่อน้อยไม่รู้ยังอยู่หรือเปล่า ?
ถาม : การที่เราฟังเทปธรรมครับ ถ้าเกิดเราทำอะไรไปด้วยได้ไหม ?
ตอบ : จริง ๆ คือว่าให้ตั้งใจฟังด้วยความเคารพ ถ้าไม่ใช้สมาธิจริง มันจะฟังได้ไม่ตลอด การที่ทำงานไปอะไรไป บางทีมันไม่ได้สนใจเสียด้วยซ้ำไป จะกลายเป็นปรามาสพระรัตนตรัยไป
ถาม : แล้วอิริยาบถในการฟังจะฟังอย่างไร ?
ตอบ : ไม่มีปัญหา จะหกคะเมนตีลังกาอย่างไรก็ได้
ถาม : แล้วประเภทอยู่ในโบสถ์แล้วใส่หมวก ?
ตอบ : ถ้าหากว่าเป็นพวกคริสต์ หรือ ฮินดู ไม่เป็นไร มันเป็นระเบียบการถือของศาสนาเขา แต่ถ้าหากว่าบุคคลอื่น ๆ เขาใส่หมวกให้เขาถอดหมวกเสีย ถ้ามีผ้าคลุมหัวให้เอาผ้าลงเสีย ถ้าหากว่าเขายังทำอยู่ก็อย่าไปสนทนาธรรมด้วย เพราะมันเป็นการไม่เคารพ ยิ่งประเภทขัดสมาธิคุยกับพระนี้ อยากจะเตะให้หงายท้องไปเลยเชียว
ถาม : แล้วลักษณะเดินกระโย่ง โคลงกาย สั่นศีรษะเป็นอย่างไร ?
ตอบ : ก็เหมือนกับย่องเบานึกออกไหม โคลงกายก็โยกตัวไปโยกตัวมา สั่นศีรษะก็รู้อยู่แล้ว พูดไปอย่าไปสั่นหัว ลักษณะนั้นถ้าเด็กพูดกับผู้ใหญ่ก็ถือว่าไร้มารยาท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พูดกับพระก็ยิ่งแย่เข้าไปใหญ่
ถาม : แล้วอนามาสคืออะไร ?
ตอบ : คือ เงิน ทอง สิ่งที่ใช้แทนเงิน ทอง รัตนชาติทุกอย่าง อนามาส คือ ไม่ควรจับ ผู้หญิง วัตถุที่เนื่องด้วยกายหญิง เช่น เส้นผม เสื้อผ้า รูปที่ทำเป็นรูปผู้หญิง เครื่องประโคมทุกอย่าง หรือเครื่องดนตรีทุกชนิด ศาสตราอาวุธทุกชนิด เครื่องมือจับสัตว์ทุกชนิด แล้วก็ผลไม้และข้าวเปลือกทึ่เกิดอยู่กับต้น กลัวจะไปขโมยเขา ถึงไม่ให้จับ
ถาม : แล้วถ้าไปจับเข้า ?
ตอบ : จริง ๆ มันดูเจตนาของเรา ที่ท่านห้าม ห้ามเพราะว่ากันการสะสม กันการมีจิตกำหนัด
ถาม : ...........................
ตอบ : การลาพุทธภูมิใช้ธูปห้าดอก เทียนขาวห้าดอก บัวขาวห้าดอก ตั้งใจลาหน้าหิ้งพระ
ถาม : การอยู่ด้วยกันสองต่อสอง แม้กลางแจ้งก็ไม่ได้ ?
ตอบ : ไม่ได้ คือว่าการอยู่ด้วยกันสองต่อสอง ถ้าคนอื่นไม่ได้ยินว่าเรา คุยเรื่องอะไรกัน ถึงอยู่กลางแจ้ง เรียกว่าที่ ลับหู ถ้าหากว่าอยู่ในที่มุงที่บังพร้อมไม่เห็น เรียกว่าที่ลับตา ก็ปรับอาบัติทั้งคู่ ถ้าหากว่าเขาโจทย์ขึ้นมาด้วย อาบัติอะไรก็ปรับตามนั้นเลย บอกปาราชิกก็ปาราชิก สังฆาทิเสสก็ สังฆาทิเสส ปาจิตตีย์ก็ปาจิตตีย์ หรือว่ารับว่าต้องอาบัติอะไรก็ปรับตามนั้น อันนี้มันเกิดจากพระอุทายีนั่นแหละ อันนี้นางวิสาขาท่านโจทย์ขึ้นมา ก็ท่านเป็นพระโสดาบันเรื่องที่ท่านโจทย์ขึ้นมาเชื่อถือได้
ถาม : ถ้าเกิดเอ่ยชื่ออาหารนี้ ท่านจะไม่รับ ?
ตอบ : ยกเว้นได้รับอานิสงส์กฐินให้ฉันคณะโภชนาคือสิ่งที่เจ้าภาพเขาประกาศบอกชื่ออาหารแล้วร่วมฉันเกินสี่รูปได้ แต่ถ้าไม่ได้อานิสงส์กฐินฉันได้แค่สามองค์เป็นอย่างมาก เกินนั้นแล้วต้องอาบัติทุกคำที่กลืน
จริง ๆ แล้วเกิดจากสมัยก่อนเวลาพระมหากษัตริย์หรือมหาเศรษฐีนิมนต์ก็ดี อย่างเช่นบอกว่าจะเลี้ยงข้าวมธุปายาส ได้ยินอยากกินขึ้นมา ก็ตะบี้ตะบันแย่งกันไป อย่าลืมว่าพระสมัยก่อนไปกันทีสามร้อย ห้าร้อย เจ้าภาพเลี้ยงไหวไหมล่ะ ? ท่านก็เลยต้องกำหนดห้ามเอาไว้ ไม่ฉะนั้นออกชื่อโภชนะ หรือว่าบ้านนี้เลี้ยงอาหารดี ก็แย่งกันไปอีก ถ้าไม่ถึงคิวของตัวเอง ถ้าไม่กิจนิมนต์ให้ก็ไปด่าเขาอีก ไปโกรธเขาอีก หาเรื่องลงนรก
ถาม : ถ้าเกิดว่าพระวิดพื้น ออกกำลังกาย ?
ตอบ : ได้ แต่อย่าให้โยมเห็น ทำในกุฏิ อย่าให้เขาเห็น ออกกำลังกายออกได้อยู่หรอก แต่จริง ๆ แล้วถ้าหากว่าพระเดินจงกรม ภาวนาอยู่มันหนักกว่าออกกลังกายเสียอีก เพราะเขาเล่นกันเป็นวัน แล้วจะเอาเรี่ยวแรงที่ไหนไปวิดพื้นล่ะ ?
ถาม : แล้วเวลาบิณฑบาต ต้องวางอารมณ์อย่างไรครับ ?
ตอบ : จริงแล้ว ต้องจับภาพพระหรือทรงอารมณ์ภาวนาไว้ได้ตลอดยิ่งดี แต่มันยาก อาตมาเองปล้ำอยู่เป็นพรรษา กว่าจะทำได้ตลอด ส่วนใหญ่มันจะเผลอแว๊บหลุด พอเผลอก็เกาะใหม่
ถาม : แล้วเวลาที่โยมใส่บาตรจะอวยพร ?
ตอบ : ตั้งใจอธิษฐานว่า ขอให้โยมที่สงเคราะห์เรา เป็นผู้มีความเป็นอยู่คล่องตัว มีปรารถนาที่สมหวังทุกอย่าง
ถาม : พระโพธิสัตว์ที่รอตรัสรู้กำลังใจท่านเทียบเท่าพระอรหันต์หรือเปล่า ?
ตอบ : ถ้าหากท่านที่บารมีเต็ม รอตรัสรู้จริง ๆ ส่วนใหญ่อารมณ์ใจจะเทียบเท่าพระอรหันต์ แต่ละเอียดกว่ากันเยอะนะ เพียงแต่ว่ารู้เท่าทันกิเลส สามารถป้องกันไม่ให้กิเลสเกิดขึ้นในใจได้ของท่านเท่ากับพระอรหันต์เพียงแต่ไม่ได้ตัดขาดทีเดียว
ถาม : แล้วเวลาบวชครับ จะรู้ได้อย่างไรว่าองค์ไหนเป็นพระกรรมวาจาจารย์ องค์ไหนเป็นพระอนุสาวนาจารย์ ?
ตอบ : องค์ไหนอาวุโสน้อยกว่าเป็นพระอนุสาวนาจารย์ องค์ที่อาวุโสมากกว่าเป็นพระกรรมวาจาจารย์ ถ้าหากว่านั่งหันหน้าตามอุปัชฌาจารย์ องค์ที่อยู่ขวามือจะเป็นพระกรรมวาจาจารย์ องค์ที่อยู่ซ้ายมือ จะเป็นพระอนุสาวนาจารย์ แล้วส่วนใหญ่อนุสาวนาจารย์จะเป็นคนให้อนุศาสน์ มี ๘ อย่าง แบ่งเป็นนิสสัย คือเครื่องที่พระต้องอาศัย ๔ อย่างคือ นุ่งห่มผ้าบังสุกุล ถือบิณฑบาตเป็นวัตร อยู่โคนต้นไม้ ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า และอกรณียกิจ ๔ อย่างที่พระทำไม่ได้เด็ดขาดเลยก็คือ เสพเมถุน ลักของเขา ฆ่ามนุษย์ให้ตาย อวดอุตริมนุษยธรรมที่ไม่มีในตน องค์นั้นจะเป็นผู้ให้อนุศาสน์ เรียกอนุสาวนาจารย์ อีกองค์ก็เป็นพระกรรมวาจาจารย์
ถาม : (ถามเรื่องสร้างธงท่านปู่)
ตอบ : สร้างก่อนได้ แต่ตอนเสกต้องทำให้ถูกพิธีกรรม โดยเฉพาะธงท่านปู่นี้มีเครื่องบวงสรวงที่ไม่เหมือนใคร คือ ต้องมีผ้าขาวคู่หนึ่ง ถ้าจะเอามาเข้าพิธีก็เอาผ้าขาวมา ๒ ผืน ใส่พานมา ซ้ายผืน ขวาผืน ทางเดียวกันก็ไม่ได้ด้วย
ถาม : แล้วเวลาพระให้พร จะเลือกบทไหนดี ?
ตอบ : แล้วแต่ มันจะมีจำกัดเหมือนกัน อย่างเช่นว่าอันไหนที่เป็นงานศพก็จะให้บท อะทาสิเม อะกาสิเม ญาติมิตตาฯ บางทีเขาตัดเอาครึ่งเดียว ขึ้น อะยัญจะโข ทักขิณาทินนาฯ มันก็เป็นครึ่งหลังของบทอาทาสิเม ถ้าหากเป็นงานมงคลทั่ว ๆ ไป ส่วนใหญ่ก็ใช้มงคลจักรวาฬน้อย ถ้าหากเป็นเรื่องการถวายสังฆทานใช้บท อัคะโต เว ปะสันนานัง
ถ้าหากว่าเป็นของที่ถวายตามกาลอย่างเช่นว่า ถวายกฐิน ถวายผ้าอาบน้ำฝน ใช้บท กาเล ทะทันติ สะปัญญา ถ้าหากว่าให้พรคนป่วย มารดน้ำมนต์ ต้องการให้หายก็ขึ้นบท โส อัตถะลัทโธ เขาจะมีเฉพาะของเขาเหมือนกัน ถ้าหากว่าเขาถวายอาหารก็ กุตตา โภคาฯ แต่ละบทจะใช้ในโอกาสและวาระ เราจะมั่วก็ได้ เพราะโยมเขาไม่รู้ แต่ถ้าเจอโยมที่เขารู้เดี๋ยวเขาท้วงมาจะขายหน้าเขา
ถาม : แล้วเวลาที่เราให้พรจะทำอารมณ์อย่างไร ?
ตอบ : ก็ตั้งใจนึกถึงพระเลย นึกว่าพระท่านว่าเองเลย นึกถึงภาพพระท่านสวดเองเลย ง่ายดี
ถาม : สำหรับโยมอุปัฏฐากนี้สามารถขอทุกอย่างได้ ?
ตอบ : จริง ๆ แล้วก็ เอาแค่สมควร ขอแค่ที่จำเป็นของพระ ไม่ใช่ว่าโยมอุปัฏฐากปวารณาแล้ว ก็ขอสะบั้นหั่นแหลกเลย อย่างนั้นจะไม่ใช่พระ ขอในสิ่งที่สมควรแก่สมณะวิสัย จริง ๆ ก็ไม่มีอะไรให้ขอมากไปกว่าจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานะเภสัช เท่านั้นแหละ
จีวรชุดหนึ่งก็ใช้กันจนลืมไปเลย บิณฑบาตก็บิณเองอยู่ทุกวันใช่ไหม เสนาสนะก็ที่อยู่อาศัย ให้อย่างไรก็อยู่อย่างนั้น คิลานะเภสัช ยารักษาโรค ถ้าหากว่าป่วยไข้เป็นโรคเฉพาะก็ขอโยมได้ หรือไม่ก็ไปหาหมอ หมอก็จัดให้อยู่แล้ว
ถาม : แล้วเรื่องการสอนธรรมะ จะเป็นการอวดอุตริมนุสธรรมไหม ?
ตอบ : ถ้าหากว่าเป็นเรื่องของการสอนกัน ที่เขาว่าอุตริมนุสธรรม อย่างเช่นว่า ฌาน วิโมกข์ วิมุติ สมาธิ สมาบัติ ห้ามบอกกล่าวกัน มิฉะนั้นจะเป็นการอวดอุตริมนุสธรรม ถ้าหากว่าเรามีจริงกล่าวถึงได้ ถ้าเป็นการสอนธรรมกัน ถ้าไม่ใช่การสอนธรรมกัน กล่าวเพื่ออวดไม่ได้
ถาม : (เรื่องทำน้ำอสุจิให้เคลื่อน)
ตอบ : ถ้าหากว่าฝันไม่เป็นไร แต่หากว่าเสียดสีกับผ้าหรือกระทบกับผ้าแล้วเป็นเองไม่เป็นไร ยกเว้นตั้งใจจะทำ ถ้ามันหลุดออกมาจากปัสสาวะเองก็เรื่องของมัน ยกเว้นแต่ตั้งใจ เรื่องของธรรมะเขาตรงไปตรงมา คำว่าแกล้งทำ ก็คือตั้งใจทำ แกล้งฆ่าสัตว์ให้ตาย ก็ตั้งใจให้ตาย แกล้งทำน้ำอสุจิให้เคลื่อน คือตั้งใจให้มันเคลื่อน
ถาม : แล้วถ้าเกิดเรื่องการกล่าวเตือนพระภิกษุ ?
ตอบ : ไม่ต้องเสือกยุ่งเลย โดยเฉพาะพระใหม่ มันทะเลาะกันมาเยอะต่อเยอะแล้ว เพราะว่าต่างคนต่างรู้ดีนั่นแหละ เป็นหน้าที่ของครูบาอาจารย์เขาจะตักเตือนเอง
ถาม : ของอะไรที่เราสามารถใช้เป็นส่วนตัวได้บ้าง ?
ตอบ : ถ้าเป็นของที่ใช้ตอนเป็นฆราวาสนั้น เป็นของเราถึงเวลาสึกแล้วเอากลับมาได้ แต่ถ้าเป็นของที่เขาตั้งใจใช้ในการบวชอย่างเช่นว่า จีวรก็ดี ผ้าห่ม หมอน อะไรพวกนี้ ของทุกอย่างที่เป็นของสงฆ์ไปของทุกอย่างที่ออกจากโบสถ์มา รับจากโยมมาก็ดี เป็นของสงฆ์ทั้งหมด ถ้าต้องการต้องชำระหนี้ทำราคาปัจจุบัน
ถาม : (ถามเรื่องการฉันเภสัชในเวลาวิกาล)
ตอบ : ไม่ใช่อิ่มนะ เนยใส เนยข้น....น้ำอ้อย ไม่ใช่ฟาดกันพุงกาง ถ้าสมัยหลวงพ่อน้ำร้อนหนึ่งแก้ว น้ำตาลหนึ่งช้อนชาแค่นั้นแหละ ท่านให้เอาอย่างนั้นจริง ๆ ถามว่าทำไมต้องน้ำร้อนครับ ท่านบอกว่าน้ำร้อนทำให้กระเพาะมันขยายตัว มันจะไม่บีบเข้ามาทำให้ไม่รู้สึกหิว น้ำตาลก็เพิ่มสารอาหารที่มันอยากได้เข้าไปหน่อยหนึ่ง
ถาม : เมื่อไรห่มดองกับห่มคลุม ?
ตอบ : ห่มดองใช้กับวาระที่สำคัญ เช่นว่า สวดมนต์ ทำวัตร กรรมฐาน แล้วก็เข้าหาพระผู้ใหญ่อย่างนี้ ถ้าผ้าคลุมนี้ใช้เวลาออกนอกวัด ถ้าหากว่าออกนอกวัดห่มดองไปก็ใช้ได้ แต่เป็นทางการจนเกินไป เหมือนกับให้เกียรติเขาเต็มที่ ห่มเสียครบชุด เต็มยศ แต่จริง ๆ แล้วออกข้างนอกให้ห่มคลุม อยู่ในวัดให้ห่มเฉวียงบ่า คือ ปล่อยแขนข้างหนึ่ง ถ้าหากว่างานสำคัญของวัดก็ห่มดองพาดสังฆาฏิเข้าไป แต่ถ้าพระธรรมยุตติ เวลาออกข้างนอกท่านก็เอาสังฆาฏิซ้อนกับจีวรแล้วห่มไป แต่บางองค์ท่านห่มคลุมแล้วเอาสังฆาฏิพาดไหล่ไปด้วย
ถาม : ถ้าจะไปข้างนอกต้องบอก ?
ตอบ : จำเป็นต้องบอก นี่เป็นศีลพระเลย ต้องบอกผู้ปกครองเอาไว้ ถ้าเจ้าอาวาสไม่อยู่ก็ต้องบอกผู้ที่ทำการแทน ไม่อย่างนั้นก็โดนอาบัติศีลขาดเลย
ถาม : คำว่าไม่เอื้อเฟื้อหมายถึง ?
ตอบ : คือไม่เคารพ คำว่าเอื้อเฟื้อความหมายก็คือเคารพและปฏิบัติตาม ไม่เอื้อเฟื้อตามพระวินัยก็คือไม่เคารพ ไม่ปฏิบัติตามคือประเภทผิดแล้ว ผิดอีก
|