ถาม :  สอบมันติดขัดน่ะค่ะ ?
      ตอบ :  สอบยังไงล่ะ ? เราทำอะไรติดขัดตรงไหนต้องถาม
      ถาม :  มันไม่ทรงตัวค่ะ ?
      ตอบไม่ทรงตัวต้องขยันทำ แล้วก็ประคับประคองรักษาอารมณ์เอาไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ ส่วนใหญ่แล้วนักปฏิบัติจะมีจุดบกพร่องตรงที่ว่าทำเสร็จลุกแล้วก็เลิกเลย ถ้าเลิกเลยนี่ใช้ไม่ได้ เรารักษาอารมณ์ตอนนั้นได้ดีเท่าไหร่ พอลุกจากตรงนั้นแล้วพยายามประคองไว้ให้อยู่กับเราให้นานที่สุด แรก ๆ ก็อาจจะได้สักครึ่งชั่วโมง ได้สักชั่วโมงหนึ่ง นานไปก็ ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมง ครึ่งวัน วันหนึ่ง สองวัน สามวัน ห้าวัน เจ็ดวัด สิบวัน จะมากขึ้นไปเรื่อย พอจิตเคยชินกับลักษณะนั้นมันจะเกาะจนกระทั่งสภาวะจิตมั่นคง ต่อไปก็จะยาวไปเรื่อย
      ถาม :  ลักษณะจิตที่เราทำน่ะค่ะ เราใ้ช้....?
      ตอบ :  แบ่งความรู้สึก ใช้ความรู้สึกส่วนหนึ่ง แบ่งความรู้สึกสัก ๒๐ หรือ ๓๐เปอร์เซ็นต์ก็ได้ ไม่ต้องมาก นึกถึงภาพพระไว้ตลอดเวลา รักษาอารมณ์ไว้ตลอดเวลา ส่วนที่เหลืออีก ๗๐-๘๐ เปอร์เซ็นต์ บังคับร่างกายให้ทำงานตามหน้าที่ของมันต่อไป ถ้าเรารักษากำลังใจลักษณะนี้ไปเรื่ื่อยมันจะเคยชิน แล้วต่อไปก็สบาย
              แต่ถ้าหากว่าทำ ๆ ทิ้ง เหมือนกับเราว่ายน้ำทวนน้ำ พอว่าย ๆ ไปจนกระทั่งเต็มที่ของเราแล้วก็ปล่อยลอยตามน้ำไป พอถึงเวลาก็มาว่ายน้ำใหม่ พอเสร็จแล้วก็ปล่อยตามน้ำไปเรื่อย จะสนุกมากเพราะได้แต่งาน ผลงานไม่มีเพิ่มขึ้นเลย นึกออกไหม ? มันไปแล้วนี่ พอกลับมาแล้วอย่างดีก็แค่เดิม ขยันจริง ๆ แต่เป็นการขยันในทางที่ผิด เพราะฉะนั้นสำคัญที่สุดคือประคับประคองรักษาอารมณ์นั้นไว้ให้อยู่กับเราให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
      ถาม :  เรื่องขอบารมี ขออภิญญาทั้ง ๖ ช่วยด้วยหรือเปล่าคะ ?
      ตอบ :  ถ้าอภิญญา ๖ ก็ลำบากนิดหนึ่ง เอาแค่ ๕ ก็พอ อภิญญา ๖ เป็นเรื่องของพระอริยเจ้า เพราะว่าตัวอาสวักขยญาณตัวที่ ๖ จะมีอยู่ แต่ถ้าเป็นคนอื่น ๆ นี่แค่ ๕ ก่อนจ้ะ
      ถาม :  .........................
      ตอบ :  คำอธิษฐานของหลวงพ่อสมัยก่อนก็มี พวกเราทันกันไหมล่ะ ? ขอได้โปรดยกจิตของข้าพเจ้าขึ้นสู่ภาวะแห่งเมฆจิต แล้วพอตอนท้าย ๆ ก็จะมี ญาณอันใดที่เป็นผลของสมถภาวนา ญาณเหล่านั้นซึ่งมี.....ไล่ไปเลย อตีตังสญาณ อนาคตังสญาณ ปัจจุปปันนังสญาณ จุตูปปาตญาณ ยถากัมมุตาญาณ ปุพเพนิวาสนุสสติญาณ เจโตปริยญาณ อธิษฐานขอหมดแหละ มาตอนหลัง ๆ มันยุ่ง ยาวไป ก็เลยตัดลงเหลือหน่อยหนึ่ง
      ถาม :  ถ้าทำทุกอิริยบถนี่แล้วกลับมานั่งเฉย ๆ ได้ไหมคะ ถือว่าผิดไหมคะ ?
      ตอบ :  ไม่ผิด เพราะว่ายืน เดิน นั่ง นอน ทำอิริยาบถไหนก็ได้ ยิ่งสามารถทำตามอิริยาบถปกติ ก็คือเคลื่อนไหวทำอะไรก็ได้ แต่กำลังใจทรงตัวอยู่ อันนี้ต้องคอยพิจารณาอารมณ์ใจของตัวเราให้ดี ลักษณะจะเหมือนกับน้ำในบ่อ เวลาลมพัดมาน้ำปากบ่อมันจะเคลื่อนไหวกระเพื่อมไป แต่ว่าข้างล่างมันจะนิ่งสนิท ลักษณะของจิตก็จะนิ่งในลักษณะอย่างนั้น แต่ว่ากายอาการภายนอกก็จะปฏิบัติหน้าที่ไปตามปกติ ถ้าทำอย่างนี้ได้เก่งกว่า นั่งเฉย ๆ น่ะ ยังไม่แน่ เพราะนั่งเฉย ๆ แล้วพอลุก สมาธิอาจจะเคลื่อนหลุดได้ แต่ถ้าเราทำในลักษณะเคลื่อนไหวจนชินมันจะหลุดยาก
      ถาม :  กลับไปนั่งสมาธิไม่ได้เลยค่ะ ?
      ตอบ :  เราไปชินกับอริยาบถอื่นแล้ว ถ้าหากว่าต้องการจะให้ได้ลักษณะนั้นใหม่ ต้องกลับไปนั่งแล้วจับลมหายใจเข้า - ออกอย่างจริง ๆ จัง ๆ ใหม่ เอาสติกำหนดจดจ่ออยู่กับลมหายใจเข้า-ออกคือเอาอานาปานสติอย่างเดียว ถ้าหากไม่ทำอย่างนั้นก็นั่งยากเพราะว่ามันชินกับอันอื่นซะแล้ว คนเคยวิ่งแล้วไม่อยากจะนั่งหรอก
      ถาม :  แล้วการเดินจงกรมนี่ได้มากกว่า ......?
      ตอบ :  ลักษณะเดียวกัน อานิสงส์ของการเดินจงกรมมีอยู่ข้อหนึ่งบอกชัดเลยว่า ธรรมะที่ได้ในระหว่างที่เดินจงกรมจะเสื่อมยาก เพราะว่าได้ในลักษณะที่ร่างกายเคลื่อนไหวอยู่ ทำให้เป็นผู้เดินได้ทนเดินได้นาน ทำให้เป็นผู้มีโรคน้อยทำให้อาหารย่อยได้สะดวก พระพุทธเจ้าท่านกล่าวถึงอานิสงส์ไว้เยอะ
      ถาม :  อย่างนี้ถ้าได้แล้วจะไม่มีเสื่อมเลยเหรอคะ ?
      ตอบไม่ใช่ไม่มี โอกาสเสื่อมน่ะมี แต่ยากหน่อย แล้วถ้าหากว่าเราเผลอสติหรือทิ้งไปนานจริง ๆ ก็พังเหมือนกัน แต่เพียงว่าเราได้ในขณะที่เคลื่อนไหว พอเราเคลื่อนไหวในลักษณะอื่นในอิริยาบถอื่น ๆ จิตจะไม่เคลื่อนออกจากการภาวนา เพราะว่าทรงตัวได้ มันเดินจนชินซะแล้ว (มีคนถวายรูปหลวงปู่ดูลย์)
              ..........โอ้โฮ .......งามจัง สาธุ....อยากได้มานานแล้ว ไม่ใช่ว่าไม่มี ที่มีโดนเขาจิ๊กไปหมด (หัวเราะ) นี่ยอดพระเลย จำไว้ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล สมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ลูกศิษย์สายหลวงปู่มั่นแทบทั้งหมด จะต้องเคยฝากฝังตัวเป็นศิษย์หลวงปู่ดูลย์มาแล้วทั้งนั้น คำว่าอตุโล แปลว่าไม่มีใครเปรียบได้
              ...........ลักษณะของพระที่เข้าถึงตรงจุดนั้นแล้วจะอยู่ก็เฉพาะมีงานเท่านั้น ถ้าไม่มีงานก็ไปเลย สมัยที่หลวงพ่อวัดท่าซุงยังอยู่ ก่อนมรณภาพสักปีหรือสองปี มีพระหนุ่ม ๆ องค์หนึ่งจากราชบุรี อายุแค่ ๓๗ ปี ไปกราบลาหลวงพ่อขออนุญาตไปพระนิพพาน เพราะว่าพิจารณาแล้วว่าตัวเองเกิดมาหน้าที่ ๆ สำคัญที่สุดก็คือทำตัวเองให้หมดกิเลส หมดแล้วหมดเลยไม่มีงานอื่นแล้วไปเลย โห....น่าอิจฉามากอายุแค่ ๓๗ เอง ถ้าหากพระที่ท่านหมดกิเลสแล้วท่านไม่มีงานประจำ ไม่มีใครอยากอยู่กันหรอก ถ้ายังมีงานต้องทำก็ทนต่อไป ทนจนกระทั่งร่างกายมันไม่ไหวก็พังไปด้วยกัน
      ถาม :  ถ้าอารมณ์จิตจะชอบตรงสวดมนต์ภาวนาจะพอไหมคะ ?
      ตอบ :  เหลือเฟือเลย สวดมนต์ภาวนาถ้าสวดเป็น ไปนิพพานง่ายที่สุดเลยตั้งใจยกจิตขึ้นไปกราบพระบนพระนิพพาน อธิษฐานสวดมนต์ถวายเป็นพุทธบูชา ถ้ายังไม่จบเราจะไม่ลง ถ้ามีงานให้ทำใจจะเกาะอยู่ตรงนั้นนาน
              พวกที่ได้มโนมยิทธิลองสังเกตดูว่าอารมณ์พระนิพพานจริง ๆ มันยังไม่ใช่อารมณ์ใจที่แท้จริงของเรา เพราะฉะนั้นเรายังเกาะได้น้อย เกาะได้ไม่นาน ป๊อบแป๊บ ๆ บางทีไม่ทันรู้ตัว ลงมาแล้วตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ แล้วก็ขึ้นไปใหม่
              แต่ถ้าหากว่ามีงานทำอยู่ พอจิตมีงานทำมีอะไรให้เกาะก็ทรงตัวอยู่ตรงนั้น เพราะเราไปตั้งใจว่าถ้ายังสวดมนต์ไม่จบเราจะไม่ลง ทำลักษณะนั้นบ่อย ๆ แล้วขยายเวลายาวขึ้นไปเรื่อย ๆ หาเรื่องสวดให้มาก ๆ บทหน่อย พออยู่นานเข้ามันจะชินอารมณ์พระนิพพาน พอชิน ๆ นานไปก็เกาะได้นาน ไม่ใช่พอขึ้นไปวินาทีหนึ่งยังไม่ทันได้มองหน้าพระเลยหล่นแปะลงมาแล้ว พอไหมสวดมนต์อย่างเดียว ? ทำเป็นน่ะพอ ถ้าอยากจะทำลักษณะทิพจักขุญาณ เวลาสวดมนต์นึกถึงตัวหนังสือไปด้วย อิติปิโส ภควา ให้เห็นเป็นคำ ๆ ไปเลย ถ้าหากเห็นได้ชัดเจนเท่าไหร่เวลาเราดูผีดูเทวดาเราก็เห็นได้เท่านั้น เลยกลายเป็นว่าทำเป็นไหม ? ทำเป็นได้ทุกคน ได้ทุกอย่าง
              อย่าลืมกรรมฐาน ๔๐ อารมณ์ทรงตัวจริง ๆ มีอยู่ก็คืออานาปานสติ กสิณ ๑๐ อารมณ์อื่นจะเป็นอารมณ์พิจารณาบ้าง อารมณ์แค่อุปจารสมาธิบ้าง อารมณ์แค่ปฐมฌานบ้าง แต่ว่าหลวงพ่อสอนพวกเรานี่ ท่านจับยัดเป็นฌาน ๔ หมด ออกสมาบัติ ๘ ไปเลยซะด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นมันอยู่ที่ทำเป็นไหม ? ถ้าทำเป็นสามารถดัดแปลงใช้งานได้ทั้งหมด
      ถาม :  ..................................
      ตอบ :  ตัวไหนก็ได้ ใช้ได้ทั้งนั้นแหละ ถ้าหากว่าเราจับตัวเดียว แล้วทำให้ถึงสมาบัติ ๘ ไปเลย สมาบัติ ๘ จริง ๆ กำลังแค่ฌาน ๔ เพราะฉะนั้นมันจะมี ๔ ที่ห้า ๔ ที่หก ๔ ที่เจ็ด ๔ ที่แปด (หัวเราะ) กำลังของมันเท่ากัน ถ้าทำได้อันหนึ่งแล้วอันอื่นมันไม่ยาก
      ถาม :  ที่เราปฏิบัติอยู่มันยังพร่องอยู่ใช่ไหมคะ ?
      ตอบ :  พร่องแหง ๆ ถ้าไม่พร่องไปกันหมดแล้ว หลวงพ่อท่านสอนอยู่เสมอ ๆว่าให้พิจารณาในสังโยชน์ ๑๐ ต้องละให้ได้ บารมี ๑๐ ต้องทำให้เต็ม ท่านเขียนสังโยชน์ ๑๐ กับบารมี ๑๐ ติดหัวนอนไว้เลย ตื่นนอนขึ้นมาพิจารณาดูเลย สังโยชน์ ๑๐ ของเรา ๆ ตัดข้อไหนได้บ้าง เราละข้อไหนได้บ้าง ถ้ายังไม่ได้ก็ตั้งหน้าตั้งตาละไป บารมี ๑๐ ของเราตัวไหนยังพร่องบ้าง ถ้าพร่องก็เน้นตัวนั้นให้หนักเข้าไว้ ตัวอื่น ๆ ก็อย่าลืมซะ ถ้าทำอย่างนั้นทุกวัน ๆ แล้วมันจะชิน จะเข้าถึงได้เร็วที่สุด เพราะว่าสนามรบสนามสุดท้ายนี่มันเป็นสนามของสังโยชน์ ๑๐ กับบารมี ๑๐ เท่านั้นแหละ อย่างอื่นไม่มีอะไร
      ถาม :  .................................
      ตอบ :  จะเอาอะไรนักหนาล่ะ ทุกวันนี้ที่เรื่องมากที่สุดก็เพราะมันผูกไม่ยอมปล่อย ถ้าปล่อยซะอย่างมันก็ปล่อยหมดแหละ ไม่ต้องไปตามเขา ของเขาถนัดอย่างนั้นเขาก็ตัดตัวนั้น
      ถาม :  เห็นเคสใกล้กันก็เลยปรึกษากัน ?
      ตอบ :  ใกล้กันที่ไหน อ้วนกว่ากันตั้งเยอะ (หัวเราะ)
      ตอบ :  น่ายินดีแทนเขา อย่าลืมนะ ๑๗๕,๓๐๐ คนใช่ไหม ? หายไปแล้ว ๑ ตำแหน่งเป็นอย่างน้อย ถ้าขืนช้าอยู่เดี๋ยวแสนกว่าตำแหน่งคนอื่นเขาแย่งหมด (หัวเราะ) เคยได้ยินคำพยากรณ์หลวงพ่อใช่ไหม ? บุคคลที่นำธรรมะของท่านไปปฏิบัติอย่างจริง ๆ จัง ๆ จะเข้านิพพานในชาตินี้ ๑๗๕,๓๐๐ คน ที่เหลือหลังจากปี ๓๔ เป็นต้นมา ส่วนใหญ่แล้วอภิญญาเยอะ จะไปเพลินอยู่ตรงจุดนั้น เลยจะเหลือแค่พระอนาคามี ๓๖ องค์ พระสกิทาคามี ๑๔๗ องค์ พระโสดาบันประมาณ ๓,๐๐๐ มากี่ล้านก็ได้แค่นั้นแหละ เพราะฉะนั้นตอนนี้อย่างน้อย ๆ หายไปตำแหน่งหนึ่ง ๆ แล้ว จริง ๆ แล้วพี่ ป้า น้า อา นี่เขาหายกันไปเยอะแล้วนะ
      ถาม :  ที่พยากรณ์นี่รวมพระภิกษุสงฆ์ด้วยหรือเปล่าครับ ?
      ตอบ :  รวมด้วยสิ ลูกศิษย์ท่านน่ะ จะไปเสียท่าพระหรือเปล่า ? พระเสียท่าโยม ถนนของพระหลุมมันเยอะ ๒๒๗ หลุม ของโยมแค่ ๕ หลุม หลบไปหลบมาพ้นมั้ย ?
              เราอยู่ตรงจุดนี้จริง ๆ มันสบายใจแล้วใช่ไหม ? ประคับประคองตัวสบายใจให้อยู่กับเราให้นานที่สุด เสร็จแล้วถ้าหากว่าพ้นจากตรงจุดนี้ไป เราก็ลองมานั่งนึกดูว่าที่เราสบายใจเพราะอะไร ? หนึ่งเราได้เห็นพระสงฆ์ สองเราได้ฟังสิ่งที่ท่านพูด สามขณะที่ท่านพูดเราคิดตามไป คิดตามแต่ในด้านที่ดี พูดถึงนิพพานคิดถึงนิพพาน พูดถึงพรหม คิดถึงพรหม พูดถึงเทวดา คิดถึงเทวดา ต่อไปเราก็สร้างสิ่งแวดล้อมทางใจของเราให้อยู่ในลักษณะอย่างนี้ เราตั้งใจกราบพระบูชาพระรัตนตรัยเสร็จนึกถึงตรงจุดนี้ก็ได้ มันจะเป็นอตีตังสญาณคือการย้อนอดีตสร้างความคล่องตัวให้กับใจเราด้วย ขณะเดียวกันใจก็จะมีงานทำจะไม่ฟุ้งซ่านไปอารมณ์อื่น
              เราจะสามารถรักษาอารมณ์ที่สงบเย็นใจอย่างนี้ได้อีก ถ้าหากว่าหมั่นทำบ่อย ๆ ก็จะรักษาได้ยาวนานขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนใหญ่พวกเรามันดีแต่กินผล ไม่รู้ว่าเหตุมันเป็นยังไง ในเมื่อไม่รู้ว่าเหตุมันเป็นยังไงมั่วไปถูกเข้า บังเอิญได้ผลขึ้นมากินจนเกลี้้ยงแล้วก็ไปเดือดเนื้อร้อนใจอีก ทำเหตุที่ตัวเองสบายใจต่อไปไม่เป็น ก็เชิญกลุ้มต่อไปเลยจ้ะ มาอยู่ตรงนี้ดีอยู่อย่างหนึ่ง .... ไม่หวงวิชา พ่อไม่เคยสอนให้หวงวิชา พยายามบอกให้ครบทุกอย่าง คนยิ่งรู้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งแบ่งเบาภาระของท่านได้มากเท่านั้น ของเรามาถึงตรงจุดนี้ก็เหมือนกัน เมื่อมาถึงตรงจุดนี้แล้ว รู้อะไรต้องรีบบอกให้หมด พอเขาทำได้เองแล้วเราเองก็ไม่เหนื่อยมาก ไม่งั้นอาศัยเกาะอย่างเดียว เกาะไม่เกาะเปล่าดูดอีกต่างหาก ถึงเวลาเขาจะไปชาร์จพลัง เล่นเอาเราเดี้ยงไปเลย แหม...ชาร์จอย่างเดียวเดี๋ยวเราดูดคืนมั่ง พอจะเอาคืนก็ไม่มีให้ซะด้วย (หัวเราะ)
              สมัยบวชใหม่ ๆ หลวงพ่อท่านตั้งฉายาว่า สุธมฺมปญฺโญ ท่านบอกว่าพระตั้งให้โดยตรงเลยนะชุดนี้...ใครมีลักษณะจริตนิสัยการปฏิบัติอย่างไรท่านบอกหมด แล้วท่านแปลให้ฟังว่า เป็นผู้มีปัญญาในการปฏิบัติธรรม เราก็ เอ๊...มันจะมียังไงว้า....มันเฮงซวยอยู่ทุกวัน แต่พอก้าวเข้ามาถึงตรงนี้เสร็จเรียบร้อยแล้วว่า สิ่งที่เราคิดว่าเราทำได้น้อยไม่มีวันที่จะเทียบพ่อได้แม้แต่หนึ่งในล้าน กลายเป็นพวกเราไล่ไม่ทันเหมือนกันว่า เออ...ยอมรับว่ามีปัญญาเหมือนกัน เป็นหัวหมาจ้ะ หางราชสีห์ไม่ได้เป็นหรอก ไล่พ่อไม่ทัน เลยมาเป็นหัวหมาอยู่ตรงเนี้ย (หัวเราะ)
              การปฏิบัติจริง ๆ ไม่ใช่นั่งภาวนาอย่างเดียวนะ ลักษณะอย่างนี้คือการปฏิบัติ นั่งอยู่ต่อหน้าพระเห็นพระสงฆ์ พระพูดถึงธรรมะเป็นธรรมานุสติ เห็นพระพุทธรูปเป็นพุทธานุสติ พูดถึงนิพพานเป็นอุสมานุสติ ตอนนี้เรากำลังปฏิบัติในอนุสติเหล่านี้ อยู่ในลักษณะที่เรียกว่าเต็มกำลังด้วย เป็นฌานก็เป็นฌานใช้งานด้วยที่เป็นฌานใช้งานคือไม่ได้นั่งภาวนาเฉย ๆ หากแต่ว่าในขณะที่เราทรงอารมณ์ปกติ
              อย่างเช่นว่า ตอนนี้เราสามารถนึกถึงได้อย่างชัดเจนทุกขั้นตอน ลองดูสิว่าเรามานั่งอยู่ตรงนี้ประมาณครึ่งชั่วโมง ให้เราภาวนาเอง ครึ่งชั่วโมง มันเกาะความดีได้อย่างนี้มั้ยล่ะ ? หายไปยันไหนแล้วก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้น คราวหน้าก็หาเรื่องหลอกพระให้คุยไปเรื่อย ๆ เราเองก็ เกาะตาม (หัวเราะ) ภาวนาแปลว่าทำให้เจริญ วิธีไหนก็ได้ที่ให้ใจของเราอยู่กับความดีถือเป็นการภาวนาทั้งหมด
      ถาม :  ถ้ามีคนมาถามเราว่าการปฏิบัติที่นี่มีจุดเด่นอย่างไร เราบอกว่านิพพานโดยตรงเลยจะได้ไหมคะ ?
      ตอบ :  เขาถามมีจุดเด่นยังไง บอกว่า ...จุดเด่นก็คือนั่งรับสตางค์อย่างเดียว (หัวเราะ) มันอธิบายยาก บอกเขาแล้วกัน บอกว่าท่านสอนในเรื่องของทาน ศีล ภาวนา เราทำได้แค่ไหนก็แค่นั้นล่ะ ง่ายดี ยังไงก็เอามวยหลักไว้ก่อน
              ส่วนใหญ่ไปเจอบางทีตอบไม่ถูก เขาถามอะไรล่ะ .......ปฏิบัติสายไหน ? ฟังดูแล้วมึน ๆ สายไหนก็มาจากพระพุทธเจ้าทั้งนั้น ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ อย่างน้อย ๆ ต้องมีผู้คน ๘๔,๐๐๐ แบบ เพราะว่าแต่ละคนจะรักจะชอบไม่เหมือนกัน ในเมื่อ ๘๔,๐๐๐ แบบ ครูบาอาจารย์ท่านถนัดตรงจุดไหน หรือว่าได้รับการสอนสั่งมาอย่างไร ท่านก็ถือเอาแบบแผนนั้น ๆ สอนสั่งต่อ ๆ กันมา เขาเลยไปแยกออกเป็นสายโน้นมั่ง เป็นสายนี้มั่ง จริง ๆ แล้วก็คือศากยบุตรพุทธชิโนรส ลูกพระพุทธเจ้าเหมือน ๆ กัน คิดธรรมะเองได้เสียเมื่อไหร่เล่า พระพุทธเจ้ารู้มาแล้วทั้งนั้นแหละ
      ถาม :  สมัยอดีตกาลตอนพระพุทธเจ้าออกบวช ในโลกนี้มีศาสนาเดียวหรือหลายศาสนาครับ ?
      ตอบ :  มีหลายศาสนาเหมือนกัน มีการยึดถือกันไปต่าง ๆ เหมือนกัน แต่ว่าท้ายที่สุด ศาสนาพุทธที่ประกาศอริยสัจ คือความจริงอันเจริญ จะมีลักษณะที่ว่าสามารถครองใจคนได้จนกระทั่งเจริญรุ่งเรืองขึ้นมา เพราะว่าเป็นของจริงของแท้พิสูจน์ได้ทุกเวลา จำไว้นะว่า ศาสนาพุทธเป็นอริยสัจ คือความจริงอันเจริญทำตามอย่างเดียว ไม่ต้องไปเสีียเวลาวิเคราะห์วิจัย
              สมัยนี้พวกเรียนหนังสือมันเรียนมากไป เล่นเอาปรัชญาจากพุทธศาสนา ปรัชญามันเป็นการเทียบเคียง มันไม่ใช่ความจริง พุทธศาสนาเป็นอริยสัจ ไม่ต้องเสียเวลาไปค้นคว้า พระพุทธเจ้าท่านค้นคว้าแทนเราแล้ว เรามีหน้าที่อย่างเดียวคือทำตามแล้วผลจะเกิดเอง
              ท่านกล่าวเอาไว้ในคำสรรเสริญว่า เกวลปริปุณณัง ปริสุทธัง บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยสิ้นเชิงแล้ว ตัดออกก็ขาด เติมเข้าก็เกิน ไม่ต้องไปยุ่งหรอก ทำตามอย่างเดียวพอ สมัยนี้คนเก่งมันเยอะ วิเคราะห์พระไตรปิฎกกัน (หัวเราะ) แค่นี้เราสู้เขาไม่ได้แล้ว ลักษณะนี้นอกจากจะเป็นวิจิกิจฉาแล้ว ยังเป็นปรามาสพระรัตนตรัยด้วยไปวิเคราะห์พระไตรปิฎก อันนี้คนทุกคนทำได้....เชื่อ อันนี้ทำได้บ้าง ทำไม่ได้บ้าง...ละไว้ก่อน ถ้าหากว่าอันนี้คนโดยทั่วไปไม่สามารถจะทำได้...มันไม่เชื่อเอาเลย บอกว่าพระไตรปิฎกเขียนขึ้นสมัยหลัง วิสัยของศิษย์ย่อมสรรเสริญครูบาอาจารย์จนเกินจริงเป็นธรรมดา น่าทุบไหม ? คนเก่งมันมากขึ้นทุกที ๆ
      ถาม :  อย่างพระเยซูนี่ถือว่าเป็นพระโพธิสัตว์หรือเปล่าครับ ?
      ตอบ :  เป็น พระเยซูนี่พระโพธิสัตว์แท้เลย เพียงแต่ว่าในระหว่างที่บำเพ็ญบารมีไป สิ่งที่ท่านบัญญัติขึ้นมาเพื่อความดีของคนนี่ พอระยะหลัง ๆ ก็เพี้ยน เพี้ยนตรงที่ว่าจุดที่ล้างบาปได้ จริง ๆ แล้วท่านสอนให้สารภาพบาปแบบเดียวกับพระปลงอาบัติ ถึงเวลาพระทำผิดก็จะไปปลงอาบัติว่าข้าพเจ้าทำผิดอย่างนั้น ทำผิดอย่างนี้ ต่อไปนี้จะไม่คิดอย่างนี้อีก จะไม่พูดอย่างนี้อีก จะไม่ทำอย่างนี้อีก ท่านสอนให้สารภาพบาปแบบนั้น
              คราวนี้การสารภาพบาปแบบนั้นคนมันอายกัน มาระยะหลังบรรดาพวกผู้นำของเขา ก็เลยใช้ปรับเปลี่ยนไปว่าล้างบาปได้ ในเมื่อล้างบาปได้ใครทำอะไรมาก็ตาม มาทำพิธีรับศีลจุ่มทีหนึ่ง ก็เป็นอันว่าจบกันไปเลย ก็สบายน่ะสิ ศาสนาไหนคล้อยตามกิเลสคน ศาสนานั้นคนก็ถือเยอะหน่อย อย่างของศาสนาอิสลาม เขาว่าการฆ่าคือการปลดปล่อยเขาไปสวรรค์ โดยเฉพาะสัตว์ต้องฆ่าเองถึงจะกินได้ ถ้าให้คนอื่นฆ่าให้ ศาสนาอื่นฆ่าให้กินไม่ได้ เอะอะก็จะปลดปล่อยเขาไปสวรรค์ พอเขาจะปลดปล่อยมันไปสวรรค์มั่งดันหนีซะนี่ ก็เป็นซะอย่างนี้ ไม่ได้ดูความเป็นจริง
              สมัยก่อนที่ได้มโนมยิทธิใหม่ ๆ ชอบมากเลยตะลุยนรก ตะลุยสวรรค์ โดยเฉพาะโลกันต์นี่ชอบที่สุด เพราะไม่เคยไป ขุมอื่น ๆ ไปมาซะชินแล้ว ...ลงบ่อย จำได้ ไม่สงสัย สงสัยว่าโลกันต์มันเป็นยังไง ลงโทษด้วยความเย็นเลยไปดูบ่อย แล้วก็ขึ้นสวรรค์ไปดูว่าศาสนาโน้นมีใครบ้าง ศาสนานี้มีใครบ้าง ปรากฎว่าอิสลามนี่หายากหาเย็นจริง ๆ อิสลามที่ได้ขึ้นสวรรค์ เหมือนกับเราเทข้าวสารมากระสอบหนึ่ง แล้วหาข้างเปลือกให้เจอ ส่วนใหญ่ที่ไปนี่ไม่ได้ไปเพราะหลักการปฏิบัติตามศาสนาของเขานะ กลายเป็นว่าพวกที่ไป คือพวกที่ตายก่อนหมดอายุขัย แล้วมีโอกาสไปโมทนาบุญที่ศาสนาอื่นเขาทำความดีกัน หายากหาเย็นดีแท้