ถาม :  โดยหลักของศาสนาพุทธ สมมติคนที่เป็นโรคถ้าเป็นโรคร้ายแรง...(ไม่ชัด)....?
      ตอบ :  โรคร้ายแรงถ้าไม่ได้เกี่ยวกับที่เขาห้ามเอาไว้บวชได้ อย่างที่ท่านถามอยู่ในอันตรายิกธรรม คือส่วนที่จะเป็นอันตรายต่อพรหมจรรย์ ไม่อนุญาตให้บวชอย่าง กุฏฐัง คันโท กิลาโส โสโส อัปปมาโร อะไรอย่างนี้ พวกโรคเหล่านี้มันเป็นโรคที่สังคมเขารังเกียจ แล้วถ้าอย่างปัจจุบันก็โรคเอดส์อย่างนี้
              จริง ๆ แล้วบวชได้แต่ว่าถ้าบวชเข้าไปนี่ คุณจะลำบากมาก โดยเฉพาะคนรอบข้างเขาจะกลัวเรา มันก็เลยกลายเป็นว่าจริง ๆ แล้วการบวชมันเป็นแค่รูปแบบนั้นเท่านั้น สำคัญอยู่ตรงการปฏิบัติของเรา ถ้าหากว่าเราตั้งใจปฏิบัติในทาน ศีล ภาวนาจริง ๆ ไม่จำเป็นที่จะต้องไปเปลี่ยนรูปแบบก็ได้ ขอให้ใจมันทำดีจริงเท่านั้นเอง เป็นพระหัวดำสบายกว่าเยอะเลยใช่มั้ย ? หิวขึ้นมากินข้าวเย็นก็ได้ ไม่ต้องแอบด้วย เข้าร้านสั่งเลย
      ถาม :  มีปัญหาคือว่าตั้งแต่ช่วงหลังมาลักษณะการกำหนดดวงใจ มันจะมีอาการเปลี่ยนแปลงมาก คือมันเหมือนกับว่า ....(ไม่ชัด)....?
      ตอบ :  มันอยู่ที่เรา ถ้าหากว่าเราส่งใจออกนอกจำไว้เลยนะ อะไรก็ตามที่เป็นปัจจัยให้เราส่งใจออกนอกมันก็จะพยายามฉุด พยายามดึง พยายามรั้งไม่ให้เราเอาใจกลับเข้ามาข้างใน ปล่อยให้เราฟุ้งซ่านหลงทางตามมันไป ถ้าอย่างนั้นโอกาสที่เราจะก้าวหน้ามันก็ไม่มี มันมีวิธีเดียวคือทำอย่างไรจะรักษาใจของเราให้อยู่ภายใน ให้อยู่กับปัจจุบัน อยู่กับตอนนี้ อยู่กับเดี๋ยวนี้
              เพราะว่าสิ่งที่เราฟุ้งซ่านส่วนใหญ่มันก็คิดไปในอนาคตว่าต้องเป็นอย่างนั้นต้องเป็นอย่างนี้ หรือไม่ก็คิดย้อนอดีตไป ตอนนั้นถ้าเป็นอย่างนั้นก็ดี ตอนนี้ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ดี มันไม่ได้อยู่กับปัจจุบันก็เลยพาให้กำลังใจของเราพล่านไปหมด หาจุดที่จะสงบนิ่งอย่างแท้จริงไม่ได้ ในเมื่อหาจุดที่สงบนิ่งอย่างแท้จริงไม่ได้ ก็หาความก้าวหน้าไม่ได้ แล้วก็รู้สึกว่ามันจะโดนดึงออกไปสู่ในทางที่ต่ำได้ง่าย ฉะนั้นหยุดใจให้เป็น ในเมื่อหยุดเป็นอยู่กับปัจจุบันได้แล้วก็ทำอย่างไรให้จิตใจเราเข้มแข็ง ให้สติของเรารู้ทันอำนาจของกิเลสที่เข้ามาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ระมัดระวังอย่างไรจะไม่ให้มันเข้ามาในใจของเราได้ทัน ถ้าทำได้ก็สบายหน่อย ถ้ายังทำไม่ได้ก็เสียท่าให้มันลากไปอยู่เรื่อย
      ถาม :  จริง ๆ ก็คือพยายามควบคุมอารมณ์ใจ อย่างเช่นตอนเช้าก็ตั้งได้ พอไปทำงานปุ๊บก็ไหลแล้ว ?
      ตอบส่วนใหญ่แล้วของเราคือว่าพอเลิกภาวนาแล้วก็เลิกเลยทีเดียว ซึ่งมันใช้ไม่ได้ อันนั้นขาดทุนย่อยยับเลย เลิกภาวนาแล้วเรา ต้องรักษาอารมณ์ใจสูงสุดที่สุดของเราเท่าที่จะทำได้ให้อยู่กับเราให้นานทีสุด เวลาไปทำงานก็พยายามประคับประคองอารมณ์ใจให้อยู่กับตัวภาวนานั้นให้นานที่สุด
              เรารู้สึกเลยว่าอารมณ์กระทบรอบข้างมันเข้ามา ๆ ๆ แต่ถ้าหากว่าใจเรายังเกาะอารมณ์ได้เท่ากับที่เรานั่งอยู่เราจะกระทบกระเทือนน้อยมาก มันเหมือนยังกับตายด้าน ความรู้สึกช้าไปเลย ถ้าหากว่าเรารักษาอารมณ์ตัวนี้ให้ทรงตัวกับเราได้นานเท่าไร รัก โลภ โกรธ หลง ก็กินใจเราได้น้อยเท่านั้น เมื่อรัก โลภ โกรธ หลง กินใจเราได้น้อยเท่าไรจิตใจเราก็ผ่องใสเท่านัน จิตใจเรายิ่งผ่องใสเท่าไร ปัญญาก็ยิ่งเกิดมากเท่านั้น ปัญญายิ่งเกิดมากเท่าไรก็จะไประมัดระวังควบคุมกาย วาจา ใจของเราให้อยู่ในขอบเขตของ ทาน ศีล ภาวนามากขึ้นเท่านั้น ทาน ศีล ภาวนา ยิ่งเจริญมากขึ้นเท่าไร โอกาสที่สิ่งที่ไม่ดีคือกิเลส ตัณหา อุปาทานและอกุศลกรรมจะมาสอดแทรกมันก็ได้น้อยลงไปเรื่อย ๆ
              เพราะฉะนั้นทำแล้วต้องรักษาอารมณ์ใจให้ต่อเนื่องยาวนานที่สุดเท่าที่เราทำได้ พลาดเมื่อไหร่เริ่มต้นใหม่ พลาดเมื่อไหร่เริ่มต้นใหม่เริ่มต้นใหม่ไม่ต้องไปเสียเวลาอยู่กับมัน ไม่ต้องไปนั่งคร่ำครวญเสียอกเสียใจกับมัน พลาดปุ๊บทำใหม่ได้เลย
      ถาม :  ที่ผมอยากจะถามอีกจุดหนึ่งคือว่าลักษณะการเริ่มต้นของอารมณ์เพื่อที่จะให้ไปถึงจุดสูงสูดของอารมณ์นั้น ๆ ปฏิบัติยังไง แต่ละครั้งที่เริ่มต้นมันจากที่จับแล้วมันก็จะไม่เหมือนกันทุกครั้งและครั้งนี้ผมก็มีปัญหา คือสมมติว่าผมจะเริ่มใหม่ก็จะนึกถึงอารมณ์นั้นทิ้งไปบ้าง แต่พอนึกถึงอารมณ์เดิม ๆ ที่เคยได้ปรากฏว่ามันจะไม่....(ไม่ชัด).....?
      ตอบ :  ปัจจัยรอบข้างมันเปลี่ยนแปลงไป ในเมื่อปัจจัยรอบข้างมันเปลี่ยนแปลงไปมันก็ไม่สามารถที่จะเข้าถึงอารมณ์อย่างที่ปัจจัยต่าง ๆ มันเคยเป็นในตรงรูปแบบนั้นมาก่อน อันนี้สำคัญที่สุดก็คือภาวนาให้อารมณ์ใจของเราทรงตัวให้ได้ ภาษาพระเรียกว่าทรงฌานให้ได้ แล้วฌานนั้นจะต้องคล่องตัวขนาดนึกเมื่อไหร่ได้เมื่อนั้นด้วย ถ้านึกเมื่อไหร่ได้เมื่อนั้นคราวนี้สิ่งแวดล้อมอย่างไรไม่เกี่ยวแล้วเพราะถือว่าใจดีทุกอย่างดีหมด
              ถึงเวลาปุ๊บเราก็เกาะอารมณ์ใจของเรา รอบข้างมันจะตีกันหัวร้างข้างแตกขนาดไหนเราก็นั่งยิ้มของเราได้ เพราะฉะนั้นตรงนี้สำคัญตรงที่ว่าซ้อมมันให้ได้ ซ้อมการภาวนาบ่อย ๆ ให้อารมณ์ใจมันทรงเป็นฌานให้ได้ ถ้าเป็นฌานได้ก็รักษาอารมณ์ฌานนั้นให้คล่องตัวให้มากที่สุด นึกเมื่อไหร่ก็ได้เมื่อนั้น เข้าเมื่อไหร่ก็ได้เมื่อนั้น แล้วถึงเวลานั้นเราก็จะเอาตัวรอดได้ง่ายขึ้น
      ถาม :  ทำไมเวลาตั้งใจทำสมาธิแล้วเห็นอะไรแปลกก็จะตกใจ แบบอย่างเวลาเห็นแสงสว่างเข้าตาก็จะตกใจหรือว่าเห็นภาพพระแล้วก็จะตกใจเป็นอย่างนี้ตลอดเลย แล้วคือเราก็จะกลับมาแล้วก็ทำอย่างนี้อยู่หลายครั้ง แล้วก็จะเป็นอย่างนี้ตลอดเลยค่ะ ไม่ไปไหนเลย ?
      ตอบ :  สมาธิมันยังไม่ทรงตัว ตอนที่เราเริ่มเห็นภาพเป็นอารมณ์ของอุปจารสมาธิเท่านั้น อารมณ์ของอุปจารสมาธินี่พอถึงเวลาแล้วเราดึงมันกลับมาเพื่อรับรู้ว่าอะไรเกิดขึ้นกับเรา คราวนี้ถ้าหากว่ามันกลับมาเร็วเกินไปมันไม่สามารถประคองอารมณ์นั้นไว้ได้ อาการที่แสดงออกเขาเรียกว่าอาการตกใจ คือมันจะหลุดจากอารมณ์นั้นไป
              ทำอย่างไรที่จะทำใจให้ได้ว่าเรามีหน้าที่ภาวนา อะไรเกิดขึ้นกับเราก็ช่างมัน ถ้าเราไม่ไปใส่ใจรับรู้มันตรงนั้น สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นจะปรากฏอยู่นาน มีเวลาพิจารณาได้สบายเลยแต่ถ้าหากว่าเราไปให้ความสนใจมันกำหนดใจนึกถึงตามมัน ถึงเวลาเกิดขึ้นปุ๊บรีบดึงใจกลับมาเพื่อจะรู้มัน อาการที่ใจมันกลับมาเร็วเกินไปมันก็หลุดออกจากสมาธิตรงช่วงนั้น กลายเป็นตกใจแทนไป ทำเมื่อไหร่มันก็อยู่แค่นี้ เพราะฉะนั้นก็อย่าไปสนใจมัน อะไรเกิดขึ้นถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาไป ถ้าทำอย่างนั้นได้จะก้าวหน้า ตอนนี้ของเรามันเสียท่าไปสนใจมันบ่อยเกินไป
      ถาม :  แล้วทำไมคือว่าทำแล้วนอนหลับไปเลย เวลาที่ไม่รู้สึกตัวช่วงที่แบบไม่รู้สึกตัวอย่างนี้ก็ไปได้อะไรอย่างนี้ ?
      ตอบ :  ตอนนั้นไม่ได้ตั้งใจ เรื่องของกับความตั้งใจ ถ้าตั้งใจมากเกินไปมันจะเป็นตัวอุธัจจะกุกกุจจะ คือฟุ้งซ่าน มันก็จะทำให้กำลัใจของเราทรงตัวได้ยาก แต่ถ้าไม่ตั้งใจเรามีหน้าที่ทำ จะเกิดยังไงก็ช่างมัน แบบตอนนอนนั่นผลมันจะเกิดง่าย
              เรื่องของธรรมะเป็นเรื่องแปลก ต้องการไม่ค่อยได้หรอกหมดอยากเมื่อไหร่มาเมื่อนั้น ตั้ง ๑๐ ชาติมาแล้ว ชาติเดียวยังไม่สนใจเลย การดูอดีตชาติอย่าไปเอาจริงเอาจังอะไรกับมันมากนัก ถ้าหากว่ามันดีจริงเราไม่มานั่งอยู่ตรงนี้หรอก มันไปนิพพานซะนานแล้ว
              อะไรก็ตามที่ย้อนอดีตหรือไปในอนาคตมีแต่จะพาใจของเราส่งออกทำให้เราต้องเดือดร้อนและทุกข์อยู่เสมอ รับรู้ไว้ด้วยความเคารพแล้วก็กองไว้ตรงนั้นแหละ ส่วนชาตินี้ของเรา ๆ มีหน้าที่ อดีตมันแก้ไขอะไรไม่ได้เพราะมันผ่านมาแล้วเอาไว้แค่เป็นบทเรียนก็พอ เดี๋ยวช่วยซ้ำให้ตายอีกชาติหนึ่งดีมั้ย ?
      ถาม :  แล้วที่เขาว่าวิญญาณจะแทรกเข้ามาที่ดวงจิตนี่คือเขาจะยังไงคะ ?
      ตอบ :  อันนี้ไม่ทราบความหมายของเขา เพราะว่าวิญญาณ ตามภาษาบาลีคือประสาทความรู้สึก จิตก็คือตัวรู้ คราวนี้วิญญาณของเขามันหมายถึงอะไรล่ะ ? ทั่ว ๆ ไปถ้าหากสำหรับคนอื่น ๆ วิญญาณนี่ก็คือผีที่จะมาหลอก มันคนละความหมายกับบาลีเขา
      ถาม :  มีอยู่วันอาทิตย์ที่แล้วคือนอนอยู่ที่บ้านแล้วก็เหมือนกับว่าตัวจะลอยออกไปได้ เราก็เลยแบบ เออ....ออกไปเที่ยวแถวนั้นดีกว่าอะไรแบบนี้เสร็จแล้วพออกไปสักพักหนึ่งก็เหมือนกับว่ามีเงาหรืออะไรอย่างนี้กระโดดเข้าใส่ร่าง ก็เลยวิ่งกลับเข้าไปในร่าง ?
      ตอบ :  กลัวมันจะแย่งไป ลักษณะนี้มันมีอยู่ เวลาฝึกมโนมยิทธิแบบเต็มกำลังจะเห็นว่าทางหลวงพ่อท่านจะให้ทำน้ำมนต์พรหมเอาไว้ก่อน คือกันพวกนี้เขาจะมาแทรก ตอนนั้นมันเหมือนกับปล่อยบ้านทิ้งว่างไว้ เพราะว่าจิตมันจะออกไปเลย ในเมื่อปล่อยบ้านทิ้งว่างไว้บางคนมันเกเรมาถึงมันก็ยืมบ้านใช้ ไม่ยืมเปล่ามันจะยึดซะด้วย
      ถาม :  มีจริง ๆ ด้วยเหรอคะ ?
      ตอบ :  ทำไมล่ะ ? เราเองยังไปได้จริง ๆ ทำไมเขาจะมีจริง ๆ ไม่ได้
      ถาม :  แล้วถ้าเกิดเขาเข้าไปได้แล้วเขา.....?
      ตอบ :  ก็เตะมันออกมาสิ (หัวเราะ) ก่อนทำเพื่อความแน่ใจก็อาบน้ำมนต์ซะเลย อธิษฐานขอบารมีพระสงเคราะห์หรือไม่ก็ง่ายที่สุดก็คือว่า ตั้งใจขอท้าวมหาราชท่านสงเคราะห์ ส่งเทวดามารักษาในขณะที่เราทำกรรมฐานด้วย ถ้าอย่างนั้นเทวดาท่านจะช่วยกันให้ อันนี้ไม่ต้องเกรงใจว่ารบกวนท่าน มันเป็นภาระเป็นหน้าที่ ๆ ท่านเต็มใจทำเลย บุคคลที่ตั้งใจเจริญกรรมฐานถ้าทรงตั้งแต่อุปจารสมาธิขึ้นไป ท้าวมหาราชจะส่งบริวารมาช่วยรักษาอยู่แล้ว เราก็แค่ตั้งใจนึกถึงท่านขอให้ท่านช่วยสงเคราะห์ป้องกันเรื่องเหล่านี้ให้เราด้วย ต่อไปพวกนั้นถ้าโดดเข้าใส่เมื่อไหร่ก็เจอกระบองกระเด็นกลับเท่านั้น
      ถาม :  แล้วที่เขาบอกว่าคนที่จิตอ่อน วิญญาณจะเข้ามาแทรกในดวงจิต ?
      ตอบ :  ลักษณะนั้นก็เหมือนกับที่เราคิดนั้นแหละ ที่เรียกว่าผีเข้าไง แต่จริง ๆ เขาได้เข้าหรอก เขาอยู่ข้างนอก แต่ใช้อำนาจจิตที่สูงกว่ากดบังคับให้เรามีการแสดงออกตามแบบที่เขาต้องการ บางทีคำพูดคำจาลักษณะท่าทางของเรามันก็กลายเป็นเขาไปเลย เขาไมได้มามุดเข้าอยู่ในตัวเราหรอก อยู่ภายนอกแต่ใช้กำลังจิตที่สูงกว่ากดบังคับให้เราทำตามที่เขาต้องการ
      ถาม :  แล้วมันจะมีอยู่ ๒ อย่างค่ะ คือไม่นอนอยู่แล้วก็ยกแขนยกขาแล้วก็เดินออกไปเฉย ๆ กับพุ่งตัวออกไปเหมือนกับเครื่องบินจรวดนี่มันต่างกันยังไงคะ ?
      ตอบ :  ไม่ต่างกันหรอกมันก็ออกได้เหมือนกัน คือวันไหนใจเย็นหน่อยก็ค่อย ๆ ไป (หัวเราะ) วันไหนใจร้อนหน่อยก็ติดเทอร์โบ อาการออกไปมันแล้วแต่เราตอนนั้นว่าต้องการแบบไหน จะออกไปจากส่วนไหนของร่างกายก็ได้
      ถาม :  แล้วเวลาออกไปแล้วนี่จิตเราจะปรุงแต่งได้มั้ยคะ อย่างออกไปแล้วจะเห็น สมมติว่าออกไปแล้วเห็นพระท่านแล้วก็กลายเป็นพ่อเราอะไรอย่างนี้ ?
      ตอบ :  ตอนนั้นก็ถ้าไม่มั่นใจก็อธิษฐานขอบารมีพระพุทธเจ้าท่านช่วยสงเคราะห์ให้รู้เห็นตามความเป็นจริงด้วย ถ้าหากว่าขอแบบนี้จะเห็นตามความเป็นจริงตลอด ถ้าหากว่าท่านบอกเคยเป็นพ่อเราก็คือใช่ ตอนนั้นฟุ้งซ่านยากแล้ว ตอนออกไปอย่างน้อย ๆ มันต้องทรงฌาน ๔ ได้ ถ้าทรงฌาน ๔ ไม่ได้มันออกไปไหนไม่ได้หรอก เห็นมันเป็นแค่อุปจารสมาธิเท่านั้นเอง
      ถาม :  คือพอเห็นท่านเป็นพ่อแล้วท่านบอกว่าให้มองข้างหลัง แล้วก็เลยนึกถึงพ่อตัวเองขึ้นมาอย่างนี้ค่ะ เป็นห่วงก็เลยกลับไป ?
      ตอบ :  เสียท่าเขาแล้ว (หัวเราะ) เอ้า....ไม่เป็นไรคราวหน้าแก้ตัวใหม่ คือถ้าท่านบอกก็ขออนุญาตหน่อยไม่ได้สงสัยหรอกแต่เพื่อความแน่นอน ขอรู้เห็นตามความเป็นจริงด้วย ถ้าเป็นไปจริงตามนั้นก็รับรู้ไว้ด้วยความเคารพ ไม่ต้องไปตื่นเต้นหรอก เพราะชาติโน้นย่อมไม่ใช่ชาตินี้ ถ้าดีจริงเราไม่มานั่งอยู่นี่หรอกไปนานแล้ว
      ถาม :  เรื่องของกรรมนี่คือ.....?
      ตอบ :  เรื่องของกรรมคือการกระทำ คราวนี้จะทำอะไรดีล่ะ ?
      ถาม :  ถ้าเกิดสมมติว่าถูกตีกรอบมาก ๆ แล้วก็เคยไปปล่อย ๆ ปลาหรืออะไรอย่างนี้ แต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไรขึ้นมาเลยค่ะ ?
      ตอบ :  ค่อย ๆ ทำไป เราต้องทำสม่ำเสมอต่อนเองกันไประยะหนึ่ง ถ้าหากว่าเราทำทีหนึ่งแล้วตั้งใจว่าจะให้มันเป็นไปตามนั้นเลยเป็นไปไม่ได้ ปัจจัยคือสิ่งที่เราทำต้องพอ ไม่ใช่ปัจจัยที่แปลว่าต้องสะตุ้งสตางค์อะไรในความหมายของเขานะ ปัจจัยตัวนี้ก็คือเหตุที่เราทำมันต้องพอ เพราะฉะนั้นให้มันต่อเนื่องยาวนานไปซักระยะหนึ่งแล้วกุศลตัวนั้นก็จะส่งให้ อาตมาทำมาจนป่านนี้จะ ๒๐ ปีแล้ว ของเราปล่อยปลาครั้งหนึ่งจะให้มันหนีเขาได้ทุกเที่ยวเลยเหรอ ?
      ถาม :  คือไปปล่อยปลาคะ ก็คิดว่าจะปล่อยบ่อย ๆ แต่ว่าปล่อยใช้ตังค์ทีละนิดทีละนิดพอค่ะ แต่ว่าพอไปทีไรก็แบบเพิ่มปลาอยู่เรื่อยเลย ?
      ตอบ :  พวกเดียวกัน พอเห็นแล้วอดไม่ได้มันตาปริบ ๆ อยู่ก็เหมามันหมดนั้นแหละ
      ถาม :  ก็เลยแบบต้องนาน ๆ ทีค่ะ ?
      ตอบ :  เอาเดือนละนิดหนึ่งสิ ตรงนี้ก็ทำทุกเดือน วันนี้เขาก็เพิ่งไปปล่อยมา ร่วมกับเขาทีหนึ่ง ๒๐ บาท, ๓๐ บาทก็ได้ จะได้ไม่ต้องผอมมากน่าเห็นใจ มันได้แปลว่าเราต้องปล่อยเองนี่ ฝากเขาก็ได้ ร่วมกับคนอื่นเขาก็ได้
      ถาม :  มันโกรธไว มันมีอารมณ์ที่มันรู้สึกฉุนเฉียวมันเพราะอะไร ?
      ตอบ :  ลักษณะนั้นเป็นลักษณะของการเก็บกด คืออารมณ์ใจของเราจริง ๆ ตอนแรกเรารับมา ๆ แต่เราไม่รู้ว่าตัวที่มันถึงที่สุดของเราอยู่ตรงไหน คราวนี้พอคนมาสะกิดนิดเดียวอาการมันจะออกเลย
              ถ้าหากว่าเรารู้จักคิดรู้จักพิจารณาปล่อยอารมณ์คลายอารมณ์ตัวนั้นได้มันก็จะไม่อยู่ในลักษณะสะสมตัว คราวนี้การปล่อยวางคลายอารมณ์นั้นต้องพิจารณาเป็น ต้องให้เห็นว่าเราโกรธเขาหรือไม่โกรธเขา เขาก็เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ตัวเองก็เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป มีความเป็นอนิจจังไม่เที่ยงเหมือนกัน ในขณะดำรงชีวิตอยู่ก็เต็มไปด้วยความทุกข์พออยู่แล้ว เราจะโกรธเขาไม่โกรธเขา ๆ ก็ทุกข์พออยู่แล้ว แล้วในที่สุดก็เสื่อมสลายตายกันไปคนละข้าง เราจะโกรธเขาหรือไม่โกรธเขา ๆ ก็ตาย เราจะโกรธเขาหรือไม่โกรธเขาเราก็ตาย ถ้าเราพิจารณาเป็นใจมันจะปล่อยวางอารมณ์มันจะไม่สะสมอยู่
              แต่ส่วนใหญ่แล้วที่ปัจจุบันที่พบส่วนมากก็คือไปสะสมมันไว้มาก คือประเภทรู้ว่าถ้าหากว่าโกรธแล้วจะผิดก็พยายามที่จะไม่โกรธ คราวนี้พอรับอารมณ์นั้นไว้รับอารมณ์นั้นไว้เยอะ ๆ เข้ามันเหมือนอย่างกับลูกโป่ง พอพองตัวเต็มที่คนสะกิดคนท้ายซวยมากเลย มันไประเบิดตูมใส่เขาโดยที่เขาก็ไม่รู้ว่าเขาทำนิดเดียวทำไมต้องโกรธเขาเยอะขนาดนั้น
              นั่นแหละต้องหัดพิจารณาให้เป็นแล้วปล่อยวางมันให้ได้ ให้เห็นว่าธรรมดาของเขาเป็นอย่างนั้น เขาไม่รู้ว่าสิ่งที่เขาทำมันน่าเกลียด น่าชังขนาดไหน มันเป็นทุกข์เป็นโทษต่อผู้อื่นและตัวเขาเองอย่างไร ในเมื่อคนที่เขาไม่รู้ถึงขนาดนั้นแล้วคนเหล่านี้จริง ๆ แล้วน่าสงสารไม่น่าโกรธหรอกก็จะอภัยให้เขาได้ คิดให้เป็น คิดไม่เป็นแล้วเดี๋ยวสะสมเยอะ ๆ แล้วลำบาก
      ถาม :  โดยปกติช้างทรง ม้าทรงต้องมีชื่อ ? (ใช่) ช้างทรงพระนเรศวรมีชื่อ ? (มี) แต่ม้าทรงไม่มี ?
      ตอบ :  ก็....ในประวัติศาสตร์ไม่ได้บันทึกไว้มั้ง ? เหตุที่ช้างทรงได้รับการบันทึกไว้ว่าเป็นเจ้าพญาปราบหงสาวดี ก็เพราะว่าตอนที่ชนะ ถ้าหากว่าไม่ชนะก็คงใช้ชื่อเดิม ๆ
      ถาม :  ไปที่อยุธยาเขาก็มีพระบรมราชานุสาวรีย์ที่ทรงม้า ?
      ตอบ :  พระนเรศวรความคุ้นเคยของเราก็ทรงช้าง โดยเฉพาะตอนจะทำยุทธหัตถีพอไปเจอภาพปั้นทรงม้าบางทีก็นึกไม่ออกว่าใคร
      ถาม :  องค์นั้นก็ถนัดขวา ?
      ตอบ :  ไม่ทราบเหมือนกันของกองทัพภาคสามนี่ดาบเขาสะพายอยู่ด้านซ้าย ซึ่งยังไงก็ต้องถนัดซ้ายแน่ ถ้าคนถนัดขวานี่ชักดาบท่านั้นได้หูเป็นของแถมข้างหนึ่ง
      ถาม :  ด้านซ้ายต้องถือทวนด้านซ้ายด้วยสิครับ ?
      ตอบ :  ท่านบอกว่ามันอยู่ในลักษณะกำลังเลียบค่ายสบาย ๆ เขาว่างั้นก็เลยมือหนึ่งจับบังเหียนอีกมือเท้าเอวเล่นเลยประเภทเขาทำออกมาอย่างนั้น กำลังเลียบค่ายตรวจพลอยู่ก็เลยสบาย ๆ อยู่ แต่จังหวะนี้เป็นไปไม่ได้หรอกนักรบนี่ความเคยชิน ยังไง ๆ อาวุธก็ต้องอยู่ในมุมที่ตัวเองถนัดที่สุด
      ถาม :  .......(ไม่ชัด)......ที่ว่าตอนนั้นปะทะกับมอญ ?
      ตอบ :  มันมีอยู่ครั้งหนึ่งที่ใช้พระแสงดาบแล้วก็ขึ้นปล้นค่ายเขากลางคืนเห็นชัด ๆ ว่าจริง ๆ แล้วท่านถนัดดาบมากกว่า แต่ว่าอยู่ในลักษณะที่ว่ายัง ๆ อาวุธสั้นยาวทุกอย่างต้องศึกษาจนครบอยู่แล้ว
      ถาม :  อยู่อย่างคนฆราวาสที่ปฏิบัติอย่างนี้เข้าสมาบัติได้มั้ย ?
      ตอบ :  ได้.....แต่ว่าถ้าจะเป็นนิโรธสมาบัติ ต้องเป็นอนาคามีขึ้นไป
      ถาม :  สมาบัตินี่คือการเข้า ....?
      ตอบ :  การเข้าฌานใดฌานหนึ่งก็ได้เรียกว่าเข้าสมาบัติ ทั้งนั้น แต่ถว่าถ้าหากว่ามันยังไม่ใช่พระอนาคามีขึ้นไปจะไม่เป็นนิโรธสมาบัติ
      ถาม :  ก็เป็นสมาบัติธรรมดา ?
      ตอบ :  เป็นธรรมดาไป
      ถาม :  ไม่ใช่พระก็คือคว่าเรียกเข้าสมาบัติได้ ?
      ตอบ :  เรียกว่าเข้าสมาบัติได้
      ถาม :  แล้วอันนี้จะมีผลยังไง ?
      ตอบ :  แต่ถ้าเป็นพระอริยเจ้าขึ้นไป เขาจะเรียกผลสมาบัติ มันต่างกันไปนิดหนึ่ง จะมีผลอย่างไร ? อันดับแรกก็ความอยู่สุขของตัวเอง ทรงอารมณ์สูงได้มากเท่าไรใจก็จะไกลจากกิเลสมากเท่านั้น อันดับทีสองถ้าหากมีผู้ใดให้การสงเคราะห์อะไรก็ตามผลบุญของผู้นั้นก็จะมากกว่าปกติ ทำบุญกับบุคคลที่มีศีลสักร้อยครั้งไม่เท่ากับทำบุญกับบุคคลที่ทรงฌานสักครังหนึ่งอย่างนี้
      ถาม :  การเข้าสมาบัติเพื่อ....?
      ตอบ :  เพื่อสงเคาะห์เขาก็ได้
      ถาม :  แล้วไปแก้กรรมเขาได้มั้ยค่ะ ?
      ตอบ :  เรื่องแก้กรรมนี้ขอทีเถอะ มันยากเต็มทียกเว้นผู้ที่รู้กฎของกรรมละเอียดจริง ๆ ในชีวิตที่ผ่านมาก็เจอหลวงปู่ธรรมชัยองค์เดียว หลวงปู่ธรรมชัยนี่ท่านจะรู้รายละเอียดเลยว่าในแต่ละชาติที่ผ่านมาคน ๆ นั้นได้ทำอะไรไว้ เจ้ากรรมนายเวรเขาต้องการอะไรแล้วก็แก้ไขตามนั้น แล้วก็จะมีผลเลย ถ้าหากว่าการแก้กรรมนี้ต้องดูผลด้วยถ้าหากว่ามีผลตามนั้นก็แปลว่าเขาทำได้ แต่เรื่องหนัก ๆ บางทีเจ้ากรรมนายเวรเขาไม่ยอมเหมือนกัน
      ถาม :  คืออย่างนี้ค่ะ เหมือนกลัวจะปรามาส พอดีได้เทปมาเพื่อนเขาเอามาฝากของคุณป้าคนหนึ่งที่รู้จัก ทีนี้ก็ฟังแล้วมีความรู้สึกว่าใจเรามันค้าน ?
      ตอบ :  ฟังดูแล้วทำอารมณ์สบาย ๆ ตามไป จะรู้เลยว่าตรงไหนที่เขาพูดเป็นความจริง ตรงไหนที่เขาพูดเป็นการอวดอ้าง ตรงไหนที่พุดเพื่อต้องการจะแสดงตัวเพื่อดึงศรัทธาคน อะไรก็ตามถ้าหากว่าเราปล่อยใจสบาย ๆ ไปแล้วจะรู้เลยว่าตรงนี้มันยังไม่ดีจริงหรือว่าตรงนี้ดีจริง กำลังใจระดับพวกเรานี่ทำได้ทั้งนั้น
      ถาม :  แต่เราเองก็ยังแบบติดอยู่ในใจแล้วมันจะบาปมั้ย เลยเดี๋ยวถามดีกว่า ?
      ตอบ :  ถึงได้บอกว่าทำใจสบาย ๆ แล้วก็ฟัง ถ้าหากว่ามันมีอะไรที่มันไม่ถูกต้องมันจะรู้เลยหลวงพ่อท่านสอนเราไง เวลาได้มโนมยิทธินี่เขาเล่าเรื่องอะไรเราก็จับภาพพระทำใจสบาย ๆ ไปรู้เลยว่าจริงหรือโกหก
      ถาม :  แล้วอย่างนี้วิชาไม่เสื่อม ?
      ตอบ :  มันไม่หรอกเพราะว่าบางทีเขาอาจจะเข้าใจผิดก็ได้ ลักษณะของฌานสมาบัติโดยเฉพาะฌานสี่นี้คุณจะเข้าสัก ๓ ปี ๕ ปีก็ได้ไม่มีใครเขาว่า แต่พระพุทธเจ้าท่านไม่สรรเสริญเพราะมันทรมานตัวเองมากเกินไป
      ถาม :  แก้ในส่วนที่เป็นแบบว่า .....?
      ตอบ :  ลักษณะอย่างนั้นถ้าหากว่าแก้ได้จริง ๆ ต่อไปตัวเองจะแย่มาก เพราะว่าผลกรรมมันจะต้องมีการสนองเป็นปกติเขาอยู่แล้ว ในเมื่อเขายิงกันแล้วคุณไปยืนขวาง คนโดนเองก็คือคุณนั้นล่ะ ถ้าหากว่าเขาทำได้จริง ๆ ต่อไปเขาจะลำบาก
      ถาม :  จะทำได้มั้ย ?
      ตอบ :  มันทำได้แต่ว่ากำลังใจระดับนั้นส่วนใหญ่ต้องเป็นพระโพธิสัตว์ เพราะว่าพระอริยเจ้าหรือว่าพระพุทธเจ้าท่านจะยอมรับกฎของกรรมอยู่แล้ว อะไรที่เกินวิสัยท่านก็ไม่แตะต้อง แต่าพระโพธิสัตว์นี่เพื่อความสุขของคนอื่นบางทีก็ทุ่มเทตัวเองลงไป ตัวเองลำบากอย่างไร เพื่อความสุขคนอื่นก็ยอมทนอย่างนี้ ถ้าอย่างนั้นทำได้แต่ว่าก็อย่างว่าถึงเวลาก็รับไป