ถาม :  ............................
      ตอบมีชีวิตอยู่มันก็ต้องทุกข์ก็ธรรมดาของมัน เราผ่อนทุกข์เท่าที่จะผ่อนได้ มันหนาวก็หาเสื้อผ้าให้มัน มันร้อนก็หาน้ำให้มันอาบหรือไม่ก็เข้าห้องแอร์ มันหิวหาให้มันกิน มันเจ็บไข้ได้ป่วยรักษาพยาบาลมัน ยอมรับว่าสภาพปกติธรรมดาของมันมีเช่นนั้นอยู่แล้ว แต่ขึ้นชื่อว่าสภาพร่างกายที่เต็มไปด้วยความทุกข์ โลกเราที่เต็มไปด้วยความทุกข์อย่างนี้เราไม่ขอมาเกิดอีก ใจมันจะปลดออกห่างออกมา ออกไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งในที่สุดพอไม่เกาะก็เป็นอันว่าพ้นไป
      ถาม :  แล้วถ้าธรรมดาคนอื่นมาทำให้เรารู้สึกว่าเราเหนื่อยหน่าย....(ไม่ชัด).....?
      ตอบธรรมดาของแต่ละระดับขั้นมันไม่เท่ากัน ให้เพิ่มปัญญาลงไปอีกนิดหนึ่งว่าตัวเขาเองยังไม่รู้ว่าสิ่งที่ดีที่แท้จริงเป็นอย่างไร ? แล้วเราเองก็เคยเป็นอย่างเขามาก่อน ในเมื่อเราเคยเป็นอย่างเขามาก่อน สิ่งที่เขาทำก็คือสิ่งที่เราทำมาแล้วนั่นเอง เขามาย้ำรอยเดิมคือรับมรดกธรรมที่เราทิ้งเอาไว้ให้ ในเมื่อเขาเป็นผู้รับมรดกเขาก็คือทายาทของเรา ในเมื่อเป็นทายาท เป็นญาติโยมกันเองแท้ ๆ ทำไมต้องไปท้อแท้ ต้องไปเบื่อหน่าย ต้องไปรังเกียจอะไรเขา ? ทำไมเราสงเคราะห์เขาอย่างญาติของเราไม่ได้ ?
      ถาม :  จริง ๆ มันก็ต่อหน้าก็สงเคราะห์ได้อยู่ แต่พอลับหลังเขามีความรู้สึกกะฟัดกะเฟียดในจิตใจขุ่นมัว
      ตอบ :  ถ้างั้นก็มองอีกนิดหนึ่งว่า ตัวเราเองที่เป็นผู้ปฏิบัติธรรมก็ยังประกอบด้วยความทุกข์เข็นปานนี้ ขึ้นชื่อว่าผู้อื่นที่จะไม่ทุกข์นั้นไม่มี ในเมื่อมันทุกข์ขนาดนี้แล้วอยากเกิดอีกมั้ยล่ะ ? ถามตัวเองด้วย
      ถาม :  แต่ยังมีข้อสงสัยอีกอย่างหนึ่ง สมมติว่าเราเจอคน ๆ นี้ แล้วเราควรที่จะบอกกล่าวมั้ยว่าสิ่งที่เขาเข้าใจมันผิด หรือว่าเราควร....?
      ตอบ :  ถ้าสามารถ และมีโอกาส แต่อย่าลืมว่าทุกคนมีทิฐิคือความเห็นของตัว เขาย่อมเห็นว่าเขาทำดีแล้วถูกแล้วเขาถึงได้ทำสิ่งนั้น แต่ว่าสิ่งที่เขาทำมันยังไม่ดีไม่หมดยังถูกไม่หมดเราก็พยายามชี้แจงในสิ่งที่ดีกว่าถูกกว่าให้เขาเพื่อที่จะได้ปรับทิฐิคือความเห็นของเขามาให้เห็นถูก
              แต่เรามั่นใจมั้ยว่าสิ่งที่รู้เห็นมันถูกกว่า ถ้ามั่นใจก็ประกาศอย่างกล้าหาญแบบพระพุทธเจ้าประกาศพระพุทธเจ้าท่านไม่เคยล้างทิฐิของคนอื่นเลย สังเกตว่าการประกาศธรรมของท่าน เช่นว่า ชฎิล ๓ พี่น้อง อุรุเวละกัสสปะ นทีกัสสปะ คยากัสสปะ เขาบูชาไฟพระพุทธเจ้าท่านก็บอกว่าการบูชาไฟดี แต่การบูชาไฟภายนอกยังดีไม่พอ ต้องบูชาไฟภายในด้วย แล้วเสร็จแล้วก็ท่านถามว่าไฟภายในคืออะไร ท่านก็ไล่ให้ฟัง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจล้วนแล้วแต่เป็นไฟ ถ้าหากว่าตาสัมผัสรูปภายนอก ถ้าหากว่ารับเอามาข้างในมันก็พาให้ร้อนใจ ท่านก็ไล่ไปเรื่อย อทิตตปริยายะสูตร เสร็จแล้วจนกระทั่งเขาหันกลับมาพิจารณาธรรมตามที่ท่านสอนก็กลายเป็นพระอรหันต์กันหมด
              อย่างสิงคาลมานพ ที่ไหว้ทิศทั้ง ๑๐ ไปไหว้เหอะทั้งวัน ๆ ก็ได้แต่เอาน้ำชโลมตัวเองจนโชกไปทั้งตัว แล้วก็ไหว้ผงก ๆ อยู่คนเดียว พระพุทธเจ้าถามว่า ทำอะไรท่านก็บอกให้ฟัง บอกว่าทางด้านบิดาที่เป็นพรามหณ์สอนต่อ ๆ มาว่าให้ไหว้ทิศทั้ง ๑๐ พระพุทธเจ้าท่านก็เลยบอกว่า ที่พ่อสอนมาถูกแล้ว แต่ว่าสิ่งที่ถูกกว่าดีกว่ายังมี ตถาคตจะชี้แจงให้ฟังแล้วก็ไล่ให้ฟังทีละอัน อย่างเช่นว่าทิศเบื้องบนก็คือสมณะชีพราหมณ์ ทิศเบื้องซ้ายเบื้องขวาคือใครครูบาอาจารย์บิดามารดาไล่ไปเรื่อย จนกระทั่งถึงทิศเบื้องต่ำคือผู้รับใช้สอยอะไรเป็นบริวารของเรา แล้วก็บอกแต่ละวิธีว่าควรจะทำอย่างไร ควรจะปฏิบ้ติอย่างไรแก่บุคคลอย่างนั้น ๆ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านไม่เคยล้มล้างทิฐิของใคร แต่แนะนำในสิ่งที่ดีกว่าเพื่อให้เขาพิจารณา ถ้าคนมีปัญญาจะเห็นว่าสิ่งทีพระพุทธเจ้าแนะนำดีกว่าปฏิบัติตามก็จะได้ผลอันนั้น
              คราวนี้การประกาศศาสนาของพระพุทธเจ้าท่านทำเพื่อการสงเคราะห์ไม่ได้หวังชื่อเสียงหรือว่าลาภยศใด ๆ ทั้งสิ้น ในเมื่อทำเพื่อเป็นการสงเคราะห์ เขาจะตามหรือไม่ตามพระองค์ท่านถือว่าท่านได้ทำหน้าที่ของท่านสมบูรณ์แล้ว เราเองสามารถทำอย่างนั้นได้ไหม ? ไปบอกเขาถ้าเขาไม่ทำตาม ไปโกรธเขาอีก
      ถาม :  ไม่โกรธหรอกค่ะ ถ้าไม่มีเอฟเฟ็กมาถึงเรา ?
      ตอบ :  (หัวเราะ) ต้องมีถ้าด้วย ถ้าไม่มีถ้านี่ไม่สนุก
      ถาม :  ขอถามปัญหาเรื่องเดียวกัน การที่เคยได้ยินว่าบางนิกายเขามีผู้มีบารมีสูง ๆ สามารถที่จะแบ่งภาคอมตะมันเป็นยังไงครับ ในการที่จะแบ่งจิต ?
      ตอบ :  อันนั้นเป็นการเชื่อของเขา จริง ๆ แล้วจิตเดียวกายเดียว ถ้าหากว่าคุณจะลงมาเกิด คุณก็ต้องเอาจิตของคุณลงเมื่อเพื่อหากายใหม่ ไม่สามารถที่จะแบ่งออกมาหลายอย่าง หลาย ๆ สถานที่ พร้อม ๆ กันได้ แต่ว่าถ้าหากในลักษณะที่ว่าอยู่ในกายทิพย์อย่างเช่น เทวดา พรหม หรือพระบนนิพพานนี่ท่านสามารถที่จะแบ่งจิตเพื่อรับรู้เรื่องต่าง ๆ ได้หลายเรื่องพร้อมกัน เพราะฉะนั้นประเภทลงมาเกิดเป็นหลาย ๆ คนเป็นไปไม่ได้
              แต่คราวนี้เขาเชื่ออย่างนั้น ในเมื่อเป็นความเชื่อคือทิฐิของเขาอย่างนั้น เราก็ค้านเขาไม่ได้ซะด้วย เพราะเขาไม่เชื่อเราหรอก แล้วมาตอนหลังก็พยายามล้มล้างซะด้วย บอกว่าพระพุทธเจ้าก็คือปางหนึ่งของพระนารายณ์ เป็นพุทธาวตาร แหม ! ร้ายมากเลย มันกลืนสนิทเลย นารายณ์ ๑๐ ปางมีอะไรบ้างเคยศึกษามั้ย ? นั่นแหละเขาเล่นเอาพระพุทธเจ้าเป็นปางหนึ่งคือพุทธาวตาร เขาจะมีกูรมาวตารแปลงเป็นเต่าอวตารลงมาเป็นเต่าเพื่อที่จะรองเขาพระสุเมรุตอนที่เทวดากวนเกษียรสมุทรไม่อย่างนั้นเดี๋ยวมันจะทิ่มจักรวาลทะลุ วราหาวตารเป็นหมู หมูป่าตัวใหญ่ขึ้นไปปราบยักษ์ นรสิงหาวตารเป็นมนุษย์ครึ่งสิงห์กับยักษ์เหมือนกันรามาวตารนี่มันมากเลยรบกับทศกัณฑ์....ยักษ์อีกเหมือนกัน ตกลงว่ายักษ์ในฮินดูนี่หาดียาก ยักษ์ในฮินดูที่มีดีรู้สึกว่าจะมีท่านพิเภกอยู่องค์เดียวมั้ง ? นารายณ์ ๑๐ ปางเขาจัดพุทธาวตารยัดเข้าไปด้วยอวตารเป็นพระพุทธเจ้า
              วันก่อนฟังหลวงตาบัว ท่านว่าศาสนาอื่น ๆ ไม่ใช่ของแท้ ไม่ใช่ของจริงสามารถจับผิดโกหกกันได้ แต่ศาสนาพุทธนี่เขาเอหิปัสสิโก ท้าให้มาดูเลย (หัวเราะ) ถ้าหากว่าทำก็จะได้ผลตามนั้น เอหิปัสสิโกเรียกร้องให้สัตว์ทั้งหลายมาดู ก็คือท้าพิสูจน์ ท้าพิสูจน์อยากจะจับผิดอะไรก็เชิญ สิ่งที่ฉันว่าไป ถ้าหากว่าเธอทำได้แล้วยังผิดอยู่ก็ยอมรับว่าผิด แต่คราวนี้ว่าถ้าคนทำได้ไม่มีใครว่าผิดนี่
      ถาม :  บอกว่าเทวดาท่านอยากจะรู้ไปที่ต่าง ๆ ท่านจะส่งจิตออกไป ?
      ตอบ :  สามารถแยกจิตเป็นกายทิพย์หลาย ๆ กายออกไปพร้อม ๆ กันได้ สามารถรู้ได้สมบูรณ์แล้วทำหน้าที่จำเพาะตรงจุดนั้น ๆ ได้สมบูรณ์ทุกอย่างด้วย
      ถาม :  ในเวลาเดียวกัน ?
      ตอบ :  ในเวลาเดียวกัน
      ถาม :  อย่างเช่นเทวดาที่วัดพระแก้ว ?
      ตอบ :  ทำไมล่ะ
      ถาม :  รับเรื่องเยอะ ?
      ตอบ :  อ๋อ ! ไม่เยอะก็ไม่ได้ ก็แหม ....มันอธิษฐานกันเพียบเลย เป็นเทวดาที่วัดพระแก้ว ก็ยุ่งมาก มันคนทั้งประเทศและต่างประเทศเลย ก็อย่างว่า....หน้าที่ของท่านนี่
      ถาม :  การทำงานหนักนี่ก็เป็นการใช้กรรมอย่างหนึ่ง ?
      ตอบการทำงานหนัก เป็นการสร้างกรรมอย่างหนึ่ง ใช้กรรมนี่ไม่แน่ การทำงานหนักเป็นการสร้างกรรมอย่างหนึ่ง แต่ว่าการกระทำของเราที่ผ่านมาอาจจะมีบางสิ่งบางอย่างที่เราทำไม่ดีแล้วมันจะมาสนองมาเกิด มาเป็นกับเราในช่วงนั้น ถ้าเรารอให้เขาเกิดเองให้เขาเป็นเองเราเลือกไม่ได้ บางทีรับไม่ไหวรับไม่ทัน
              เพราะฉะนั้นบางทีเราก็เลือกด้วยการกระโดดเข้าใส่งานอะไรที่มันลำบาก ๆ ซะอย่างหนึ่ง ซึ่งพอสมน้ำสมเนื้อกันไปสิ่งที่ควรจะเกิดก็กลายเป็นว่า แทนที่เราจะให้เขาเกิดเองเราก็เลือกที่จะให้เขาเกิดแทน สิ่งที่เราเลือกเรารับได้แน่นอนมันจะเหนื่อยหน่อยลำบากหน่อยแต่ว่าเรามั่นใจว่าเราสามารถที่จะควบคุมให้อยู่ในแวดวงที่เราต้องการได้ แต่ขณะเดียวกันถ้าให้เขามาเองบางทีรับไม่ไหว ก็เลยใช้วิธีกระโดดเข้าใส่งานเยอะ ๆ แทนมันก็ดีแล้ว จะรู้สึกว่าอย่างอื่นมันผ่อนคลายไปเยอะเลย ลองดูบ้างก็ได้นะวิธีนี้ไม่ว่า
      ถาม :  นอกจากทำงานหนักแล้วก็มี......?
      ตอบ :  มันต้องดูกำลังตัวเองด้วย ไม่ไหวจริง ๆ อาตมาก็หงายแผ่.....หลับ
      ถาม :  จ่ายเงินทำบุญเยอะ จ่ายเงินทำบุญเยอะ ๆ แล้ว......?
      ตอบ :  จ่ายเงินทำบุญเยอะ ถ้างั้นดีกับพระ แต่ไม่ค่อยดีกับโยม ทำบุญเขาให้ทำแต่น้อย แต่ทำบ่อย ๆ เพราะให้ใจมันชินแก่การสละออกไม่ใช่ทำเยอะ ๆ
      ถาม :  เผื่อช่วงนั้นเรารู้ว่าเราดวงตกไงคะ แล้วแทนที่เราจะถวายพระองค์เล็ก ๆ เราก็ถวายพระประธานอะไรอย่างนี้ฟาดเคราะห์ เผื่อจะแบบหนักเป็นเบา ?
      ตอบ :  เป็นไง รอดมาได้นี่รู้สึกว่าได้ขึ้นสวรรค์เลยมั้ย ? พยายามให้อารมณ์ใจมันอยู่ลักษณะนี้ คืองานแต่ละอย่างพอมันจบลง เรารู้สึกว่ามันปลดได้มันปล่อยได้ มันวางได้ อารมณ์ใจตัวที่วางนี่พยายามศึกษามันไว้ พวกเราส่วนใหญ่ปล่อยให้บทเรียนดี ๆ มันล่วงเลยไปโดยที่ไม่ได้ดึงมาใช้ประโยชน์ ตอนที่เรายกภูเขาออกจากอกสบายแค่ไหน ? ปัญหาต่าง ๆ ถึงเวลาที่เขาบอกอย่าไปแบก ไปแบกก็คืออาการเดียวกันนั่นแหละ นึกออกหรือยัง ? เลยมาหลายวันนึกไม่ค่อยออกแล้ว
      ถาม :  นึกออกว่าช่วงที่จบ ยังโลดแล่นอยู่เลยค่ะ ช่วงนั้นฟู ?
      ตอบ :  ยังดีใจอยู่
      ถาม :  ช่วงนี้มันมาหมกมุ่นอยู่กับความคิดตัวเอง ?
      ตอบ :  ก็เริ่มทุกข์ต่อ
      ถาม :  เริ่มทุกข์ต่อ เริ่มเปลี่ยนเป็นมิจฉาทิฐิ ?
      ตอบ :  ไม่เป็นไรหรอก ถ้ารู้ตัวเป็นมิจฉาทิฐิ ยังพอดึงกลับทัน
      ถาม :  เวลาเคราะห์กรรมเข้ามาเยอะ ๆ ต้องวางจิตยังไงถึงจะดี ?
      ตอบให้เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราทั้งหมด คือเราทำเองในเมื่อเราทำเองทำไมเราจะยอมรับมันไม่ได้
      ถาม :  ถ้ามันมาแรงเกิน ?
      ตอบก็เราทำไว้แรงเอง ที่มันมามันไม่ใช่เงินต้นนะ มันแค่ดอกเบี้ยเท่านั้น เพราะฉะนั้นก่อนหน้านี้เราร้ายกาจ น่าเกลียดน่าชังมากเลย ทำเอาไว้เยอะขนาดนั้น (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำเองมันถึงเกิดกับเราในปัจจุบนันนี้ นั้นเราทำเองเราต้องรับได้
      ถาม :  มีวิธีหนีมั้ยคะ ?
      ตอบ :  มีเหมือนกัน แต่เป็นพระอรหันต์รับรองหนีได้แน่
      ถาม :  ถ้ายังไม่เป็นล่ะคะ ?
      ตอบ :  ถ้าหากว่ายังไม่เป็น พยายามทำทาน ศีล ภาวนา ให้มันเข้มข้นเข้าไว้ เคราะห์กรรมจะตามได้ไม่เกินยี่สิบห้าเปอร์เซ็นต์ให้ต่อเนื่องแล้วก็หนักแน่น เข้มข้น จริงจัง ตัวบุญใหญ่นี่จะทำให้เคราะห์กรรมต่าง ๆ มันเพลาลงคือตามไม่ทัน ที่ตามได้คือพวกที่หนักจริง ๆ ก็ได้ไม่เกินยี่สิบห้าเปอร์เซ็นต์หรอก ตัวภาวนาสำคัญต้องทำให้พอดี ๆ เกินพอดีเดี๋ยวเคราะห์กรรมมันจะช่วยซ้ำเอง เกินพอดีมันเครียดเกินไป เครียดเกินไปเดี๋ยวกันก็ติงต๊อง
      ถาม :  แล้วอย่างคนที่เขาไม่สามารถนอนหลับ เขาบอกว่าต้องพึ่งยานอนหลับไม่งั้นนอนไม่หลับ ?
      ตอบที่เขานอนไม่หลับส่วนใหญ่เพราะเขาคิด พอคิดแล้วจิตใจมันฟุ้งซ่าน คนเราถ้าตั้งใจภาวนาจริง ๆ จับลมหายใจเข้าออกให้ครบ ๓ ฐาน ลองดูเหอะไม่เกิน ๓ นาทีหรอกหลับทุกคน ที่ไม่หลับเพราะมันคิดแล้วส่วนใหญ่คิดแล้วควบคุมความคิดตัวเองไม่เป็น ในเมื่อควบคุมมันไม่อยู่คิดไปเรื่อย ๆ ก็จะฟุ้งซ่านมันอยู่ตรงนั้นแหละ จะเริ่มจาก ๐ ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘ ๙ พอครบ ๐ เสร็จมันก็เริ่มต้นใหม่อีก ถ้าตามจับความคิดตัวเองจะเห็นเลยว่ามันเริ่มอยู่ในลักษณะอย่างนั้น วนไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวเราก็ทำงานนะ ปีนี้ได้สองขั้น เงินเดือนจะได้เท่านั้น (หัวเราะ) มันจะไล่ของมันไปเรื่อยถึงเวลาผลตอบแทนเป็นอย่างนี้ มีแฟนกี่คน มีลูกกี่คน มีครอบครัวอย่างนั้น ๆ เอาจบ เสร็จแล้วก็เริ่มต้นใหม่ ถ้าอีกมันถ้าอยู่นั่นแหละไม่รู้จักเลิกซะที
              เพราะฉะนั้น ส่วนใหญ่คิดเป็นแล้วหยุดคิดไม่เป็น ต้องหยุดให้เป็น หยุดความคิดที่ดีที่สุดก็คืออยู่กับลมหายใจเข้าออกอยู่กับปัจจุบัน ไม่ว่าความคิดในลักษณะใดก็ตามมมันมีอยู่ ๒ อย่างเท่านั้น คือไม่ไปอดีต มันก็มุ่งไปอนาคต ซึ่งใช้ไม่ได้ทั้งคู่ อดีตผ่านมาแล้ว เราไปนิพพานไม่ได้หรอก ถ้าไปได้มันไม่มานั่งอยู่อย่างนี้ อนาคตก็ยังมาไม่ถึง เรื่องที่ยังมาไม่ถึงให้ไปได้ก็เป็นไปไม่ได้อีกเหมือนกัน มันต้องเดี๋ยวนี้เท่านั้นปัจจุบันนี้เท่านั้น
      ถาม :  ไปเจอคนหนึ่งเขาบอกว่า เขาเครียดมากนอนไม่หลับคือเคยไปนวดน่ะครับ ประมาณว่าผมได้ยินเสียงเขากรนครับ แต่เขาก็บอกว่าเขานอนไม่หลับเขาก็รู้ตัวด้วยว่าเขากรน ?
      ตอบจริง ๆ ก็คือร่างกายมันหลับ แต่ว่าจิตใจมันยังฟุ้งซ่านอยู่ ความจริงนักปฏิบัติอยากได้อารมณ์ตรงนั้นมากเลย เพราะว่ามันจะเป็นอารมณ์ในลักษณะที่ว่าตื่นกับหลับความรู้สึกมันเท่ากัน ในเมื่อความรู้สึกมันเท่ากันบางคน เวลากลางวันสามารถกดข่มอารมณ์ความรู้สึกของ ราคะ โลภะ โทสะ โมหะไว้ได้ แต่ถ้าพอกลางคืนหลับแล้ว จิตมันคลายออกมันเผลอ ก็จะอาละวาดตอนหลับแทน ฝันบ้าง ละเมอบ้างให้ยุ่งไปหมด
              เคยเจอน้องอยู่คนหนึ่ง เล่นตะกายรอบห้องเลย แล้วใครบอกว่าละเมอแกจะไม่เชื่อเพราะว่าประมาณตีสี่กว่าใกล้ตีห้าแกจะคลานกลับไปที่เดิม แล้วนอนท่าเดิมที่ตอนเริ่มนอนเป๊ะเลย ให้ขีดเส้นมันก็นอนตรงนั้นแหละ พอดีเป๊ะเลย บอกให้ตายมันก็ไม่เชื่อว่ามันละเมอ คราวนี้วันหนึ่งก็คงจะได้เวลาที่เขาจะรู้ตัวซะที ก็กำลังคลานของเขาอยู่พอดีฝนมันสาดเข้ามาทางหน้าต่างเลยตื่น เขาก็เลยเพิ่งจะรู้ตัวว่าตัวเขาเองออกจากที่นอนมาตั้งหลายวา (หัวเราะ) ตอนแรก ๆ มีปัญหามากเพราะเราไม่เคยเจอ ไล่ตะครุบไล่จับไล่ปล้ำกันไปทั้งคืนกลัวเขาจะปีนลงหน้าต่างไง พอรู้แล้วเราก็นอนของเราไปเรื่อย ปล่อยมันคลานไปเหอะมันเหนื่อยมันก็เลิกเอง (หัวเราะ)
      ถาม :  อย่างที่เวลาเราภาวนาก่อนนอนแล้วมันเครียด มันเครียดจนนอนไม่หลับ ?
      ตอบ :  จริง ๆ มันไม่น่าจะเครียดนะ คาดว่ามันจะถึงตัวปีติขึ้นไปแล้ว พอถึงตัวปีติแล้วจิตมันจะโพลงอยู่ มันจะไม่หลับ ความรู้สึกง่วงไม่มี ถ้าหากว่าอยู่ในลักษณะนั้นทำใจสบาย ๆ เลย เอ็งไม่หลับล่ะดีข้าจะภาวนาให้ทั้งคืนเลย เชื่อเหอะ จับลมหายใจได้ไม่ถึงสามคู่หรอกไปแน่บ ถ้าตั้งใจทำดีมันไม่ให้ทำหรอก
      ถาม :  มันมีความรู้สึกเหมือนว่าเราตั้งใจมากพอตั้งใจมากแล้วแบบจะว่ามันฟุ้งซ่านก็ไม่เชิง แต่มันรู้สึกเหมือน...?
      ตอบ :  มันเป็นตัวฟุ้งเหมือนกัน อย่าลืมว่าตัวตั้งใจหรือว่าตัวอยากมันเป็นอุธัจจกุกกุจจะ คืออารมณ์ฟุ้งเหมือนกัน ถึงได้ว่าของเราเองเรารู้ว่าเราทำอะไรเพื่ออะไร ถึงเวลาก็จดจ่ออยู่กับการกระทำของเรา อยู่กับเฉพาะหน้าอย่าไปคิดมาก คิดมากเมื่อไหร่มันจะฟุ้ง ไปคิดไม่พอบังคับอีกต่างหาก ?
      ถาม :  ตัวปฏิบัติคิดกับตัววางอารมณ์ ตัวคิด ....(ไม่ชัด).....เหมือนกันมั้ย ?
      ตอบ :  ไม่เหมือน ตัวหยุดนี่เราจะต้องบังคับมัน ตัววางนี่มันเป็นโดยธรรมชาติ ไม่ต้องบังคับแล้ว
      ถาม :  หยุดนี่ไม่ถูกใช่มั้ยคะ มันจะทำให้เครียดใช่มั้ย ?
      ตอบ :  มันไม่ถูกตั้งแต่แรกแล้ว ต้องใช้คำว่ามันไม่ถูกตั้งแต่เกิดมาแล้ว (หัวเราะ) ไปถึงต้นเหตุเกินไปหรือเปล่า
      ถาม :  ถ้าเกิดว่า อย่างก่อนอนจะมัวนั่งนับจบ สมมติว่าให้ได้ ๑๐๘ จบแล้วค่อยนอน กับภาวนาให้สบายใจแล้วให้หลับไปเลย อันไหนจะมีผล....?
      ตอบ :  อันที่ไม่ต้องไปผูกพันมากมันจะดีกว่า ภาวนาให้หลับ ๆ ไปเลย เอ็งไม่หลับได้ละดี ข้าจะเอาให้เยอะเลย อาจจะเกิน ๑๐๘ ก็ได้ ดีไม่ดี ๘ ยังไม่ได้เลยไปซะแล้ว แต่ถ้าไปคิดจะให้มันหลับ จะบังคับให้มันหลับมันยิ่งเครียดหนักเข้าไปอีก เสร็จแล้วก็หงุดหงิดฟุ้งซ่าน ประเภทที่ว่ารู้สึกว่าตัวเองไม่ได้นอนเลย แต่ความจริงตัวมันนอนอยู่มันได้พักแล้ว ถ้าเขาสังเกตุอีกนิดหนึ่งก็คือว่า เขาเองเขาจะเครียดกับความรู้สึกนั้นอย่างเดียว แต่ว่าจริง ๆ แล้วเขาไม่ง่วงเลย มันจะง่วงได้ยังไงมันกรนแล้ว (หัวเราะ)
      ถาม :  เขาบอกเขาได้ยินเสียงกรน ?
      ตอบ :  แล้วมันกรนเองด้วย แล้วมันก็รู้ว่ามันกรนด้วยแต่มันบอกว่ามันไม่หลับบ้ามั้ยล่ะ
      ถาม :  แล้วถ้าหากเขาวางกำลังใจ ?
      ตอบ :  ถ้าวางกำลังใจถูกนี่ใช้ได้เลย ตรงระดับนั่น กำลังใจหลับกับตื่นต้องให้ได้เท่ากันนักปฏิบัติถ้าทำถึงตรงนั้นพอจะมีที่พึ่งได้ ถ้ายังไม่ถึงตรงนั้นนี่กลางคืนมันยังฟัดเราอยู่
      ถาม :  เวลาไปอยู่วัดแล้วคอยจะไม่หลับ มันเป็นเพราะอะไร ถ้ามันอยู่บ้านหลับ ๆ ไม่ยอมตื่น ?
      ตอบ :  ความไม่คุ้นที่ มันไม่เคยชิน
      ถาม :  วันที่ ๓ ที่ ๔ ก็ยังไม่หลับอีก คือไม่คุ้นต้องอยู่เป็นเดือนบวชชีไปเลย (หัวเราะ) ตอนช่วงที่ไปธุดงค์อะไรอย่างนี้ มันจะแบบเขานอนกันหมดแล้ว แล้วเราไม่หลับ ?
      ตอบ :  เกิดใหม่ เกิดอีกสักหลาย ๆ แสนกัป เดี๋ยวมันก็จะชินเองในโลกนี้มันจะไม่มีที่ ๆ ไม่เคยเกิดมันก็หลับได้ทุกที่ ตัวนี้บางทียังภูมิใจตัวเองอยู่ว่า เออ...เราเองไปนอนที่ไหนไม่เคยแปลกที่เลยนะ ตรงไหนก็หลับ มันขยันเกิดเกินไป ตรงไหนก็บ้านเราหลับมันได้เรื่อย ในป่าในดงยังไงก็หลับ นอนในรอยเท้าช้างมันจะเหยียบหรือเปล่าก็ไม่รู้ก็หลับ
      ถาม :  ยืนบนรถเมล์หลับ ?
      ตอบ :  อันนี้ความสามารถสูงส่ง สมัยที่อยู่บ้านสายลมกว่าจะเลิกจากสายลมประมาณ ๔ ทุ่ม แล้วมันเหนื่อยมาทั้งวัน รับใช้หลวงพ่ออยู่ใกล้ ๆ กลางวันก็สอนกรรมฐานด้วยอะไรด้วย มันก็เพลีย รถเมล์สาย ๓๘ มันจะวิ่งไปโน่นสุขุมวิท เราจะลงซอยอ่อนนุช พอขึ้นสะพานพระโขนงปุ๊บจะถึงแล้ว ป้ายต่อไปเราได้ลงแน่ แสบตาเต็มทีกระพริบตาทีเหอะ พอกระพริบตาทีลืมขึ้นมาโน่นกรมอุตุบางนา (หัวเราะ) กระพริบตาทีเดียวจริง ๆ นะ ทำไมมันกระพริบนานแท้ก็ไม่รู้ ๆ ต้องนั่งรถย้อนกลับมาอีกเสียเวลานอนเป็นบ้า
      ถาม :  คราวนี้เลยไม่ยอมกระพริบตา (หัวเราะ) บางทีทำไมทำบุญแล้วมันเกิดความรู้สึกเหมือนกับว่าโดนบังคับล่ะค่ะ ที่ทำงานนี่ตั้งแต่ย้ายไปตึกใหม่แล้วจะอยู่ใกล้ศาลพระภูมิ ศาลเจ้าที่กับพระพรหม มีความรู้สึกว่าอยากซื้อดอกไม้ พอวันจันทร์ก็จะซื้อดอกไม้ไหว้ท่าน พออีกจันทร์ถัดไปไม่ซื้อนี่รู้สึกผิดมากเลยเจอปุ๊บก็ต้องซื้อไปไหว้ท่าน อาทิตย์ถัดมาก็ยิ่งหนัก ๆ ขึ้น ความรู้สึกว่าทำไมเราไม่เก็บไว้หยอดกระปุก แล้วก็ทำบุญให้ท่านจะดูดีกว่าเยอะ แต่มันก็อดไม่ได้ถึงเวลาจะมีความรู้สึกผิดมาก ทำไมมันต้องมีความรู้สึกผิดอย่างนั้น ?
      ตอบ :  ก็อยากรู้สึกเองนี่ อะไรที่มันเคยทำก็ทำไปสิ
      ถาม :  มันไม่เคยทำ แต่ว่าอยู่ ๆ มันก็ทำไปหนหนึ่ง ก็รู้ตัวเลยว่าพอทำไปแล้วหนหนึ่งแล้วจะรู้เลย แบบว่าตายแล้วอาทิตย์หน้าต้องเป็นอีกแน่ ๆ เลย ?
      ตอบ :  เสร็จแน่ ๆ ต่อไปก็บอกท่านว่าเดือนละครั้งนะ เอาเฉพาะวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ ถ้าลืมแล้วเตือนด้วย