ถาม :  ถ้าปรารถนาพุทธภูมิ แล้วนาทีที่กำลังจะตายอารมณ์ทรงตัวมีร่างกายไปนิพพานมันกำลังจะตายอยู่แล้ว ถ้าตายตอนนั้นจะไปนิพพานมั้ยคะ ?
      ตอบ :  ถ้าหากว่าเป็นอารมณ์ของพุทธภูมิจริง ๆ มันจะไม่ตัดอารมณ์ใจของความดีเขาเทียบเท่าพระอริยเจ้าได้แต่ไม่ได้ตัดนะ เพราะฉะนั้นไม่ต้องห่วงหรอก ถ้าคิดว่าจะเป็นพระโพธิสัตว์จริง ๆ ไปยากเต็มที ถีบไปยังไม่อยากจะไปเลย
      ถาม :  อย่างนี้หมายความว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นอีกจะเอาอารมณ์ตั้งไว้ที่ไหน ถ้าไม่ตั้งขึ้นไปนิพพาน ?
      ตอบ :  ก็ตั้งไว้ที่ดุสิตหรือที่พรหมก็ได้ เพราะว่าที่อยู่ของพระโพธิสัตว์นี่ ถ้าไม่ประจำอยู่ดุสิตก็ไปพรหม จริง ๆ แล้วพระโพธิสัตว์ไม่ใช่ว่าไม่เกาะนิพพาน เกาะได้เต็มที่เลยเแต่เพียงแต่ว่าเกาะขนาดไหน อารมณ์ใจมันก็ไม่ตัดทีเดียว
      ถาม :  ถ้างั้นก็คิด ตอนนั้นคิดไปแบบนั้นถ้าตายตอนนั้นมันก็ไม่นิพพาน ?
      ตอบ :  ยกเว้นว่าเราเองเลิกแล้ว
      ถาม :  แต่มันไม่เลิก ?
      ตอบ :  ไม่เลิกก็เป็นต่อสิ กติกาพระโพธิสัตว์เขาเยอะ ถ้าเกิดเป็นคนหรือสัตว์อัตภาพร่างกายจะไม่โตกว่าช้างและไม่เล็กกว่านกกระจาบ ไดโนเสาร์เป็นพระโพธิสัตว์ไม่ได้ ห้ามลงโลกันตนรก ที่เหลืออีก ๔๕๖ ขุมเชิญลงตามสบาย ห้ามเป็นอรูปพรหม บังคับเลยนะต่อให้เป็นสมาบัติแปดคล่องตัวขนาดไหนก็ตามถึงเวลาอารมณ์ใจมันจะเลื่ือนลงมามันจะไม่เกาะตัวอรูปฌาน เพราะว่ามันเป็นกติกาบังคับของพระโพธิสัตว์เขา โลกันตนรกไม่มีอายุนี่ กว่าจะได้โผล่ขึ้นมาอีกทีไม่รู้นานเท่าไหร่ มันเสียเวลาสร้างบารมี อรูปพรหมก็เหมือนกัน อรูปพรหมนี่ก็หนึ่งหมื่นมหากัปสองหมื่นมหากัป สี่หมื่นมหากัป แปดหมื่นมหากัป อยู่ไหวมั้ย ? ยิ่งไปเจอขั้นสุดท้าย แปดหมื่นมหากัปนี่อยู่กันลืมไปเลย เห็นเขาว่าหนึ่งมหากัปมี ๖๔ กัป เจริญมั้ย ? ลูบภูเขาสึกไป ๖๔ ลูก
      ถาม :  ด้วยแพรเบาบาง ?
      ตอบ :  ผ้าเนื้ออ่อนเหมือนสำลีลูบภูเขากว้าง ๑ โยชน์ ยาว ๑ โยชน์ สูง ๑ โยชน์ ร้อยปีลูบครั้งหนึ่ง สึกเสมอพื้นเมื่อไหร่ก็ ๑ กัป ลูบไปได้ ๖๔ ลูก เพิ่งได้ ๑ มหากัป
      ถาม :  แล้วกติกาของพระโพธิสัตว์นี่จะเริ่มตั้งแต่อธิษฐานชาติแรกเลยหรือเปล่า ?
      ตอบ :  ตั้งใจเลยก็เป็นเอาว่าตามนั้นเลย แต่ว่าส่วนใหญ่แล้วชาติแรก ๆ มักจะลงนรกด้วยความที่ว่ากำลังใจของตัวเองเพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่นแล้วลำบากแค่ไหนก็ยอม เพราะฉะนั้นบางอย่างที่ต้องละเมิดศีลละเมิดธรรมเพื่อความสุขของผู้อื่นเขาก็ยอมทำก็ลงเท่านั้นเอง
      ถาม :  เราได้กลิ่นน้ำมันจันทน์หอมนี่หมายถึงอะไร ?
      ตอบ :  หมายถึงว่าเราได้กลิ่นจ้ะ
      ถาม :  ไม่ได้มีนิมิตว่า ?
      ตอบฆานะสัมผัสสะชา เวทะนา บางทีก็เป็นนิมิตให้รู้เหมือนกัน พวกกลิ่นน้ำมันจันทน์ส่วนใหญ่จะเป็นพรหมที่ท่านมา ลองกำหนดดูด้วยทิพจักขุญาณดูซิว่าใคร ใครเป็นเจ้าของกลิ่น ขอรู้เห็นตามสภาพความเป็นจริงด้วยก็แค่นั้นเอง
      ถาม :  เพียงแต่สงสัยว่าก่อนที่เราได้กลิ่น เราก็ไม่ได้ทำความดีอะไรมากมาย ?
      ตอบ :  บางทีท่านก็มาเตือนว่าตอนนี้ชั่วแล้วจ้ะ รีบตั้งหน้าตั้งตาทำความดีได้แล้ว
      ถาม :  ตัด...คือเราไม่มีร่างกายมันรู้สึกเราปรารถนานิพพาน ตรงนั้นที่กำลังจะตายคิดอย่างนี้สรปุแล้วคือคิดผิดรึเปล่าคะ ?
      ตอบ :  ยังผิดอยู่
      ถาม :  ก็คือต้องตั้งอารมณ์ ?
      ตอบพอถึงระยะสุดท้ายแล้วมันจะปล่อยทุกอย่างหมด กระทั่้งนิพพานก็ไม่ต้องเกาะ มันจะเต็มอยู่ในใจของเราเอง ตอนนั้นไม่ต้องคิดไม่ต้องทำไม่ต้องอะไรหรอก อยู่เฉย ๆ มันก็ไปเอง
      ถาม :  แต่การปรารถนาพุทธภูมิตั้งอารมณ์ไม่ถูก ?
      ตอบ :  คนที่ปรารถนาพุึทธภูมินี่ถ้าไม่เลิกไม่ต้องคุยเรื่องนี้เลย (หัวเราะ) ยังคลำกันอีกนานยกเว้นว่าจะเป็นพุทธภูมิประเภทปรมัตถ์อารมณ์เทียบเท่าพระอรหันต์อย่างนั้นแล้วคุยได้แน่ เพราะท่านรู้ละเอียดกว่า คือขอยืนยันว่าถึงวาระสุดท้ายแล้วมันไม่ต้องเกาะอะไรเลย อารมณ์นิพพานมันจะเต็มอยู่ในใจเอง
              แรก ๆ เกาะขึ้นบันไดมาเกาะราวบันไดใช่มั้ย ? เดินเข้ามาถึงห้องแล้วราวบันไดแบกมาด้วยหรือเปล่า ? เปล่า....มันถึงเวลาไม่ต้องเกาะไม่ต้องแบกแล้ว เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับความดีนั่นเสียแล้วก็เลยไม่ต้องไปไขว่คว้า ไม่ต้องไปยึด ไม่ต้องไปเกาะอีก...ท่านเปรียบเหมือนยังกับว่า ตอนแรกสองแม่ลูกไปงมปลาด้วยกัน ลูกคว้างูมาได้ก็ดึงมันขึ้นมา แม่..ได้ปลาตัวเบ้อเร่อเลย ไม่รู้จักงู แม่เออ...ดีลูกกำให้แน่น ๆ นะ ระวังมันจะหลุดไป ลูกก็กำซะแน่นเชียว เสร็จแล้วพอแม่เขาเห็นว่าปลอดภัยจากงูแล้วก็บอกให้รู้ บอกว่าไอ้หนูอย่าตกใจนะลูก ไอ้นั่นมันงูไม่ใช่ปลา กำมันแน่น ๆ แล้วก็ดึงมันออกมา เสร็จแล้วก็เหวี่ยงมันไปไกล ๆ นะ ตอนแรกต้องเกาะก่อนเพื่อความปลอดภัย กำแน่น ๆ แล้ว หลังจากนั้นก็ทิ้งมันไป พอทิ้งมันแล้ว ปลอดภัยมั้ยล่ะ ? งูมันไม่กัดเราแล้วนี่ใช่มั้ย ? เออ....มันก็ปลอดภัยเหมือนกัน
      ถาม :  ก็คือทำอย่างนี้ ถ้าเป็นพุทธภูมิทำอย่างนี้ก็ได้ใช่มั้ยคะ ?
      ตอบ :  เหมือนกัน พุทธภูมินี่ต้องยิ่งต้องทำมากกว่านี้หลายเท่าเพราะว่าอย่างน้อย ๆ นี่ต้องรู้กว่าคนปกติ ๔ เท่า หรือจะรู้ ๑๖ เท่าก็เอา
      ถาม :  ก็กลัวว่าจะตั้งอารมณ์ยังไง เวลาตาย ?
      ตอบ :  นั่นแหละเกาะนิพพานให้แน่นไปเลย
      ถาม :  ทำแบบนั้นก็ได้ ?
      ตอบ :  เอาไว้ก่อน คือตราบใดที่ยังเกาะยังไม่ไปถึงหรอก ถ้าเลิกเกาะเมื่อไหร่ไปได้แน่
      ถาม :  เวลาคนเราภาวนาอย่างนี้ในระหว่างภาวนาแบบที่ทรงญานกับภาวนาแบบที่ทรงฌานได้ ๒ อย่างนี้มารมาดลใจได้มั้ยคะ ?
      ตอบ :  ได้ มันหลอกทั้ง ๆ ที่ทรงสมาบัติ ๘ นั่นแหละ
      ถาม :  ทรงสมาบัติ ๘ นี่เกาะพระอยู่ไม่ใช่เหรอคะ ?
      ตอบ :  อยู่จ้ะอยู่
      ถาม :  แล้วยังหลอกได้อีกเหรอ ?
      ตอบ :  สบาย มันเป็นพระมาเลยให้เกาะด้วย (หัวเราะ) ยังไม่รู้ฝีมือเขาซะแล้ว
      ถาม :  ปานนั้นเชียว ?
      ตอบ :  ถ้าตราบใดทีคุณยังไม่เข้าพระนิพพาน มันหลอกสะบั้นหั่นแหลก มันหลอกกระทั่งพระอรหันต์น่ะ
      ถาม :  พระอรหันต์ก็หลอกได้ ?
      ตอบ :  มันได้หลอก ได้หลอกคือไม่ยอมเชื่อไง มันก็จะพยายามหลอก มันได้หลอก
      ถาม :  บางทีที่เรารู้สึกว่ามีอะไรมาดลใจ นี่มันก็ต้องพิจารณาก่อนทุกครั้งใช่มั้ย ?
      ตอบ :  พิจารณาก่อน อาจจะเป็นความขี้เกียจมาดลใจก็ได้
      ถาม :  หรือไม่ขณะนั้นเราจะภาวนาแบบเกาะพระ....?
      ตอบ :  บอกแล้วยังเกาะอยู่ มันยังไปไม่ได้ ในเมื่อมันยังเกาะอยู่นี่ มันก็ยังอยู่ให้เขาหลอกนั่นแหละ และก็ไม่ต้องไปเลิกเกาะนะ เลิกเกาะยิ่งลงนรกใหญ่เลย มันต้องเกาะไปก่อนจนกว่าเขาจะเลิกของเขาเองโดยอัตโนมัติเพราะรู้ว่าพอแล้วเต็มแล้ว พูดยากมันเลยไปไกล อาตมาเองยังคลำไม่ค่อยจะถูกเลย เดี๋ยวมันจะเบลอกันใหญ่เอาแค่นี้ ฟังแล้วง่วงมั้ย ?
              เราต้องดูว่าอารมณ์ใจตัวนั้นมันประกอบด้วยอารมณ์เบื่อหรือเปล่า ? ถ้าหากว่ามันเบื่อมันจะเป็นนิพพิทาญาณ แต่ถ้าหากว่ามันรู้สึกว่าุสิ่งทุกอย่างมันจืดชืดไม่อยากได้ใคร่ดีอะไรนี่มันเป็นสังขารุเบกขาญาณ
      ถาม :  ถ้าตัวสังขารุเบกขาญาณจะต้องมีตัวนิพพิทาเกิดก่อนเสมอ ?
      ตอบ :  นิพพิทามันจะมาก่อน ถ้าหากว่าก้าวข้ามนิพพิทาไม่ได้มันก็จะไม่เป็นสังขารุเบกขาญาณ
      ถาม :  เข้าใจล่ะ
      ตอบ :  ฉะนั้นคุณต้องเบื่อก่อน เบื่อให้เยอะ ๆ ไว้
      ถาม :  เพราะฉะนั้นเราเบื่ออะไรมาก ๆ นี่เราอาจจะรีบพิจารณาใช่มั้ย ?
      ตอบ :  ใช่.....ส่วนใหญ่มันเบื่อแล้วมันก็ไปหมองอยู่อย่างนั้น ตายลงไปละขาดทุนยับเยินเลย
      ถาม :  แล้วถ้าเกิดเป็นเพราะ...(ไม่ชัด)...ขึ้เกียจ ?
      ตอบ :  ก็ถือว่าขี้เกียจแล้วได้ดี คือมันไม่ได้อยากได้อะไรมันเลยขี้เกียจไม่ทำ ไม่รู้จะดิ้นรนไปทำไม จริง ๆ แล้วน่าจะเป็นคนมีความสุข เพราะรู้จักพอตั้งแต่แรก โบราณเขาว่าขี้ตรงร่อง ไอ้ขี้ตรงร่องก็คือโบราณเขาจะประเภทที่เรียกว่าปลูกเรือนใต้ถุนสูง แล้วมันจะมีร่องกระดานอยู่ข้างล่างก็จะมีโอ่งรองเอาไว้ เพราะว่าถ้าหากลงจากบ้านเวลาค่ำคืนก็อาจจะมีอันตรายจากพวกสัตว์ร้าย ก็ใช้วิธีขึ้จากบนเรือนลงไป บังเอิญขี้ตรงร่องไม่ได้เจตนา เพราะฉะนั้นพอรู้แล้วว่าร่องอยู่ตรงนั้นก็รีบ ๆ ขี้ซะ
      ถาม :  มันจะไปแน่ขนาดนั้นเชียวเหรอ ?
      ตอบ :  บางคนนี่ง่ายขนาดนั้นจริง ๆ เป็นเราอ่าน ๆ ดูในพระไตรปิฎก บางทีอิจฉาพระอรหันต์หลายองค์เหลือเกิน ท่านไปของท่านง๊ายง่าย ดูอย่างพระพาหิยทารุจีริยะ ถึงเวลาพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าพาหิยะ เธอจงอย่าสนใจในรูป แค่นั้นเอง..บรรลุแล้ว
              แต่คราวนี้กว่าจะง่ายขนาดนั้นนี่ต้องดูด้วยว่าท่านเกิดมาเท่าไหร่ ? ถ้าเห็นชาตินั้นชาติเดียวก็ขาดทุน เกิดมาตั้งเท่าไหร่ เดินทางด้วยเท้าเปล่า ๑๒๐ โยชน์มันเท่าไหร่ โยชน์หนึ่ง ๑๖ กิโล ๑๐ โยชน์ ๑๖๐ กิโล ๑๐๐ โยชน์นี่ ๑,๖๐๐ กิโล เขาล่อไปซะตั้งเท่าไหร่เดินทางพันกว่ากิโลรวดเดียวเพื่อไปหาพระพุทธเจ้า เจอเสร็จกอดพระบาทไว้ไม่ยอมให้ไปไหนขอฟังธรรมเถอะ ถามว่าทำไม ? ท่านไม่ยอมประมาท ท่านกลัวว่าท่านจะตายซะก่อน รอพระพุทธเจ้าบิณฑบาตเสร็จอาจจะตายก็ได้อย่างนี้
      ถาม :  เพราะท่านเดินมาไม่หยุด ?
      ตอบ :  เสร็จแล้วก็ตายจริง ๆ ฟังธรรมเสร็จบรรลุเป็นพระอรหันต์ แต่ว่าท่านไม่เคยถวายผ้าไตรจีวรไว้ในพระศาสนาเลย จีวรที่สำเร็จด้วยฤทธิ์ไม่มี พระพุทธเจ้าก็เลยให้ไปหาบาตรหาจีวรก่อน ไปโดนวัวขวิดตาย
      ถาม :  แล้วอย่างนี้พ่อแม่ท่านได้บุญมั้ยคะ บุญจากการบวช ?
      ตอบ :  ได้อยู่แล้ว
      ถาม :  เป็นพระอรหันต์ก็ได้เลยใช่มั้ยคะ ?
      ตอบ :  ไม่ต้องเสียเวลาไปบวชแล้ว เพียงแต่ว่ารอให้รูปแบบมันถูกต้องก็เลยให้ไปหาบาตรหาจีวรก่อน
      ถาม :  ถ้าเรื่องการพิจารณานี่ก็คือว่า เวลาดำรงชีวิตประจำวันนี่ บางครั้งพอเจอเหตุการณ์เจอเรื่องราวอะไรแล้วทำให้ฉุกคิดขึ้นมาได้ แบบว่าพอคิดแล้วก็จะรู้สึกว่าคิดได้อยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่งแต่พอไปทำอย่างอื่นพอผ่านเวลาผ่านไปวันต่อ ๆ มาก็เละ ?
      ตอบ :  นี่จิตของเรามันไม่ได้มุ่งอยู่เฉพาะเรื่องเดียว ฉะนั้นปกติของมันจะเป็นอย่างนั้น ยกเว้นว่าเราตั้งหน้าตั้งตาจะทำจริง ๆ อันนั้นจิตของเราต้องมุ่งอยู่เฉพาะเรื่องเดียวแล้วก็พิจารณามันให้ต่อเนื่องไปเลย ถ้าไม่อย่างนั้นทุกคนจะประสบปัญหาเหมือนกันก็คืออยู่ได้พักหนึ่ง พอกระทบเข้ารู้สึกตัวแล้วก็นึกขึ้นมาได้ พิจารณาได้พอพ้นจากเหตุการณ์เฉพาะหน้าไม่มีปัจจัยมากระตุ้นก็ลืม
              เพราะฉะนั้นจริง ๆ แล้วการดำนินชีวิตของฆราวาสมันอยู่ในลักษณะนี้ได้ถือว่าดีแล้ว คืออย่างน้อย ๆ มีเวลาคิดได้บ้าง ถ้าหากว่าต้องการเอาผลการปฏิบัติจริง ๆ ต้องพยายามรักษาอารมณ์ใจให้มันต่อเนื่องยาวนานออกไปอย่าทำ ๆ ทิ้ง ๆ
      ถาม :  เรื่องสมาธิก็คือเวลาเข้าสมาธิก็จับสามฐาน สามจุดก็คือปลายจมูกที่อกแล้วก็อยู่ในท้อง ทีนี้ตรงปลายจมูกนี่จะรับ....(ไม่ชัด)....รู้สึกแค่ลมกระทบจมูกแล้วก็ตรงนี่มันไม่มี ?
      ตอบ :  ไล่ตามดูไปเฉย ๆ ก่อน ตามนึกรู้ตามไปว่ามันหายใจเข้าไปทางไหน แรก ๆ ถ้าจิตยังหยาบอยู่ ข้างในที่มันตกกระทบแถวอกแถวท้องนี่มันยังไม่ค่อยรู้สึก พอจิตมันละเอียดขึ้นมันจะจับความรู้สึกนั้นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ต้องใช้ความพยายามอยู่ระยะหนึ่งทำต่อไปเถอะ ถ้าหากว่า่มันไม่เอาจริง ๆ เอาแค่ปลายจมูกอย่างเดียวก็ได้
              ถ้าหากว่าในวิสุทธิมรรค เขาบอกว่าเหมือนกับคนเลี้ยงวัวไปถึงก็เฝ้าปากประตูไว้ตอนเช้า ๆ ก่อนจะปล่อยวัวออกไปหากิน เฝ้าปากประตูไว้แล้วไล่นับ ๑,๒,๓,๔,๕ วัวเรามีกี่ตัวเรารู้อยู่่ตลอด เอาจุดเดียวก็ได้ คือลักษณะบอกว่าใช้จับสัมผัสมัน มันจะมีแบบไม่เอาจุดเลย รู้ตลอดไปเลยก็ได้ เขาเรียกแบบไม่เอาสัมผัส เสร็จแล้วจะรู้ฐานเดียว สามฐาน เจ็ดฐานอะไรแล้วแต่เรา
      ถาม :  คือที่ทำสามฐานก็ทำตามคำแนะนำ เพื่อที่จะได้ได้ความรู้พิเศษเพื่อจะเอามาใช้เป็นประโยชน์ในการที่จะพิจารณาหรือเอาไว้ช่วยเหลือคนที่จะให้เขาคิดได้ ?
      ตอบ :  นั่นมันจุดมุ่งหมายของเรา คือเราตั้งใจไว้ว่าเราจะเอาผลไปทำอะไรอันนั้นเป็นเรื่องเฉพาะตน แต่ว่าวิธีการทำที่ดีที่สุดก็คือ พยายามทำให้มันต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ถ้าหากว่ามีการขาดช่วงขึ้นมา มันถึงเวลาเท่ากับเราเปิดช่องให้กิเลสมันตีกลับ ถ้ากิเลสมันตีกลับนี่บางทีมันรุนแรงกว่าปกติทั่ว ๆ ไป แล้วเอาคืนได้ยาก
      ถาม :  รู้สึกคนที่ไม่ได้ปฏิบัตินี่เหมือนกับว่า ...(ไม่ชัด)...ถ้าสมมติว่าคนที่พยายามตั้งใจทำแล้วปล่อยให้กิเลสมันตีกลับ มันจะตีกลับ ?
      ตอบ :  ก็แรงกว่าปกติ ลักษณะมันเหมือนกับว่าเราโดนขังคุกอยู่ เรายอมอยู่ภายในโดยสงบเสงี่ยมเจียมตนไม่มีการดิ้นรนไม่มีการต่อสู้มันก็รู้สึกสบายๆ แต่ถ้าเราคิดจะดิ้นรนหาทางออกมันก็เหมือนกับว่าผู้คุมเขาคอยระวังเราอยู่ ถ้าเรายังดื้อมากเขาเฆี่ยนเอาตีเอานี่มันจะเป็นมากเลยช่วงต่อสู้
      ถาม :  สุดท้ายแล้วจะขอคำแนะนำครับ คือตอนนี้ก็พยายามรักษาศีลเป็นประการแรก แล้วก็สมาธินี่ทำยังน้อยอยู่ แล้วก็คิดว่าต้องทำเป็นประการที่สอง แล้วก็เวลาดำรงชีวิตประจำวันบางทีมีเหตุการณ์อะไรก็จะคิดจะพิจารณา ทำอยู่ ๓ อย่างมีสิ่งที่จะต้องเพิ่มเติม ...?
      ตอบ :  ถ้าจะให้เพิ่มเติมคือเพิ่มเติมตัวพิจารณา พยายามให้เห็นว่าทุกสิ่งที่เราพบที่เราเห็นมันมีความสุขหรือมีความทุกข์ พยายามดูให้เห็นว่ามันมีแต่ความทุกข์ทั้งสิ้น ที่เราว่าสุขก็คือมันทุกข์น้อย ไม่ต้องเอาอะไรมากหรอก แค่ไปดูคนที่ป้ายรถเมล์ก็พอแล้ว แต่ละคนดูมันทำหน้าเข้าสิมีใครทำหน้ามีความสุขบ้าง บางคนนี่ดูนาฬิกาแล้วดูนาฬิกาอีก ชะโงกแล้วชะโงกอีก เมื่อไหร่มันจะมาซะทีหนึ่ง มันมาแต่คันที่เราไม่ได้รอ คันที่เรารอมันไม่มาซะทีจะเป็นอย่างนั้น ดูเขาดูสีหน้าเขาก็รู้แล้วเขาแบกทุกข์ไว้เต็มที่เลย เต็มไปด้วยความเร่าร้อนกระวนกระวาย
              ฉะนั้นพยายามให้เห็นมันตลอด อยู่บนรถเมล์ก็เหมือนกันทุกคนต้องตะเกียกตะกายไปทำงานเพื่อที่จะได้เงินมาเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตัวเองและครอบครัว คนที่จะต้องรีบไปตั้งแต่เช้าตรู่ขณะนั้นถึงเวลาเหนื่อยทั้งวัน กลับมาพักผ่อนได้ไม่ทันจะเต็มที่ก็ถึงเวลาที่จะไปใหม่อีกแล้ว แต่ละคนนี่เขามีสุขหรือมีทุกข์ พยายามดูให้เห็นความจริงตรงนี้ ให้ใจมันยอมรับให้ได้ ถ้าใจมันยอมรับแล้วต่อไปสบาย ถ้ามันไม่ยอมรับก็พยายามหน่อย แรก ๆ มันก็เป็นแค่สัญญาคือความจำ พอนาน ๆ ไปมันยอมรับได้ก็เป็นปัญญา พยายามเพิ่มตรงจุดนี้แหละจุดการพิจารณา
              ตัวสมาธิถ้าหากว่าไม่มีเวลาจริง ๆ อาศัยว่าพอเราทำในช่วงระยะที่เรามีเวลานั่ง พออารมณ์ใจมันทรงตัวได้ในระดับไหนถึงเวลาเลิกไปลุกไปจากที่นั้น รักษาอารมณ์นั้นให้อยู่กับเราให้นานที่สุด ประคับประคองให้อยู่กับเราให้นานที่สุดเพื่อที่เราจะได้มีความสุขอยู่เย็นได้อย่างที่เราต้องการ ถ้าสมาธิมันคลายตัวเดี๋ยวพวกรัก โลภ โกรธ หลงมันเข้ามาพาาเราฟุ้งซ่าน
      ถาม :  ................
      ตอบ :  สำหรับพระแล้วปกติถ้าตามแบบโบราณจริง ๆ ไม่ถึงห้าพรรษาครูบาอาจารย์ไม่ปล่อยไปไหนหรอก กลัวจะไปทำผิดพลาดอื้อฉาวอย่างที่เป็นข่าวเป็นคราวกันทางหนังสือพิมพ์บ้างโทรทัศน์บ้าง
              แต่ว่าสมัยนี้ส่วนใหญ่แล้วครูบาอาจารย์พอบวชแล้วก็ทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ ไม่ได้อบรบ เลยทำถูกบ้างผิดบ้าง ที่ถูกก็ถือว่าเสมอตัว ที่ผิดก็พาให้เสียหายกันหมดทั้งระบบเลย รอซักระยะหนึ่งประเดี๋ยวพอเคยชินกับระเบียบของวัด เคยชินกับความเป็นพระแล้ว รู้อะไรควรอะไรไม่ควรเดี๋ยวจะให้พวกเรานิมนต์มาเอง ตอนนี้ก็ต้องให้ท่านปรับตัวระยะหนึ่ง โดยเฉพาะพระบวชใหม่ ๆ เรื่องระเบียบของวัดก็ดี การสวดมนต์ไหว้พระอะไรก็ดีมันเยอะ ต้องท่องหนังสือกันเป็นเล่ม ๆ แล้วในช่วงพรรษาก็มีเรียนอีก แรก ๆ ต้องเอาให้อยู่ตัวก่อน พออยู่ตัวแล้วก็ปล่อยออกมาได้
      ถาม :  ร่างกายเรากับการเจ็บป่วยหรืออะไรอย่างนี้นะคะ เราจะมีการปวดขาหรือขาเรากางออกไม่ได้นี่ เราก็มีความรู้สึกคิดขึ้นมาว่าเราดึงขามดในสมัยเด็ก ๆ อันนี้นี่คือมันเป็นความรู้สึกที่ออกมา..........?
      ตอบ :  ถ้าหากว่าความรู็สึกนั้นเกิดขึ้นเองโโยที่เราไม่ได้นึกคิดปรุงแต่งไว้ก่อน อันนั้นถือว่าถูกต้องเลยจริง ๆ แล้วมันเป็นแค่เศษกรรมที่เข้ามาทวงเท่านั้น เงินต้นส่วนใหญ่มันจะไปใช้เขาในนรกแล้ว จากนรกก็มาเป็นเปรต อสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉานกว่าจะมาถึงคน ของคนนี่มันเศษ ๆ ดอกเบี้ยเท่านั้น นี่ขนาดเศษนะเล่นเอาซะแย่เลยใช่มั้ย ?
      ถาม :  ค่ะ.........ขาค่อนข้างจะกางไม่ค่อยได้ เดี๋ยวนี้ก็เลยมีวิธีไหนที่จะช่วยอนุโมทนาบุญมั้ยค่ะ ?
      ตอบเวลาที่เราทำความดีทุกครั้งไม่ว่าจะเป็นทาน ศีล ภาวนา ให้ตั้งใจอุทิศส่วนกุศลให้กับเจ้ากรรมนายเวรทั้งหมดที่เคยล่วงเกินมา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ขอให้เขาอโหสิกรรมให้ด้วย ทำบ่อย เดี๋ยวเขาใจอ่อนไปเอง แรก ๆ ก็ไม่ยอมกันหรอกแต่ว่านาน ๆ ไปเดี๋ยวเขาใจอ่อนไปเองมันสู้ลูกตี๊อไม่ได้จะตื้อให้ไปเรื่อย