ถาม :  คำว่าอวดอุตริมนุสธรรมนี้หมายถึงอย่างไรคะ ?
      ตอบ :  ก็คือว่า กล่าวถึงธรรมอันยิ่งของมนุษย์ทั่ว ๆ ไป คือว่าคนทั่วไปไม่สามารถจะมีได้ ว่าตัวเองมีตัวเองได้ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้จริงเรียกว่าอวดอุตริมนุสธรรม ถ้าหากว่าเป็นพระเขาปรับอาบัติปาราชิก คือขาดความเป็นพระไปเลย ธรรมอันยิ่งนั้นเขากล่าวเอาไว้ชัดเลยว่าเรื่องของฌานสมาบัติ เรื่องของวิมุติ เรื่องของวิโมกข์ เหล่านี้เป็นต้น ถ้าหากว่าตัวเองไม่ทรงฌานจริงไม่หลุดพ้นจริง แล้วกล่าวว่าตัวเองเป็นผู้ทรงฌาน เป็นผู้หลุดพ้นแล้วอะไรอย่างนี้เขาจะปรับขาดจากความเป็นพระไปเลย ถ้าหากว่ามี ปรับแค่อาบัติปาจิตตีย์ เพราะว่าไปบอกอุตริมนุสธรรมที่ตัวเองมีกับผู้อื่นเขา
      ถาม :  คำว่าบอกนี่ขอบเขตแค่ไหนคะ ถึงเรียกว่าบอก ?
      ตอบตั้งใจอวดเขาเพื่อให้คนเลื่อมใส แล้วลาภผลและชื่อเสียงทั้งหมดจะเกิดแก่ตัว ถ้าหากว่าในการสอนธรรมกัน อย่างเช่นว่ากล่าวถึงนรกสวรรค์โดยใช้มโนมยิทธิไปอะไรก็ดี เหล่านี้ไม่ถือว่าอวดเพราะว่าเป็นการสอนเป็นการบอกต่อ แต่ถ้าหากว่าตั้งใจจะอวดเขาเพราะว่าฉันทำได้เพื่อให้คนเขาเลื่อมใส อย่างนั้นเสร็จแหง ๆ เลย อุตริสมนุสธรรมก็คือธรรมอันยิ่งที่คนทั่ว ๆ ไปไม่สามารถจะเข้าถึงไม่สามารถจะมีได้
      ถาม :  ..........................
      ตอบ :  แสดงว่าพวกเราไม่เข้าใจเลย พระกริ่งจริง ๆ ที่สร้างขึ้นมานั้น หมายถึงพระไภษัชยคุรุ ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ จะเห็นว่าในมือของท่านจะถือหม้อน้ำมนต์หรือหม้อยาอยู่ พระไภษัชยคุรุนี่คนจีนเรียกว่าตี่จั๊งผู้สัก ท่านจะเป็นเลิศในการรักษาคน พระโพธิสัตว์นี่บางสิ่งบางอย่างที่พระอรหันต์ก็ดี พระพุทธเจ้าก็ดี ท่านปล่อยวางเพราะยอมรับกฎของกรม พระโพธิสัตว์นี่เพราะความปรารถนาจะช่วยผู้อื่นให้พ้นทุกข์เีพียงประการเดียวอาจฝืนกฎของกรรมบางอย่าง ตัวเองจะรับผลอย่างไรก็ยอมเพื่อให้คนอื่นมีความสุข
              คราวนี้พระชัยวัฒน์ สมัยโบราณเขาจะหล่อพระหล่ออะไร เขาจะมีการทดลองเบ้าทดลองเนื้อโลหะดูว่ามันได้ที่หรือยัง พร้อมหรือยัง เขาจะหล่อเป็นองค์เล็กขึ้นมาก่อนเป็นการทดสอบ แล้วถ้าหากว่าเสร็จสมบูรณ์ขึ้นมาก็ถือว่าตัวเองประสบความสำเร็จในอันนั้นแล้ว เลยใช้คำว่าชัยวัฒน์ คือถึงพร้อมแล้วทุกอย่าง ถ้าหากว่าแปลตามเนื้อหาก็คือว่า เจริญด้วยชัยชนะ เพราะฉะนั้นพระกริ่งกับพระชัยวัฒน์ต่างกันตรงไหน อาจเหมือนกันเปี๊ยบเลยก็ได้ ต่างกันที่องค์ใหญ่องค์เล็กแค่นั้นเอง พระชัยวัฒน์จะเป็นองค์เล็กที่เขาหล่อนำขึ้นมาก่อนเพื่อดูว่าทุกอย่างพร้อมหรือยัง ถ้าพร้อมสมบูรณ์แล้วถึงจะลององค์ใหญ่ ไม่เช่นั้นถ้าองค์ใหญ่เสียจะลำบากเพราะหมดเยอะ
      ถาม :  เมื่อวานดูทีวีเขาบอกว่าพระพุทธเจ้าตรัสว่าสังขารมี ๒ ประเภท ประเภทมีใจครองกับไม่มีใจครอง ถ้ามีใจครองมันก็ต้องเสื่อม แล้วจิตล่ะคะ ?
      ตอบ :  จิตกับใจนี่จริง ๆ มันตัวเดียวกัน คราวนี้บางคนเขาเรียกว่า จิต บางคนเขาเรียกว่า ใจ บางคนก็เอาอาการเคลื่อนไป เอาตัวปรุงแต่งไปเป็นจิต เอาตัวรู้เป็นใจ บางคนเอาตัวเคลื่อนไปนั้นเป็นใจ เอาตัวรู้เป็นจิต เรียกกันให้มั่วไปหมด บางตำราอย่างในอภิธรรมเขาแยกออกว่าจิตมีตั้งกี่ดวง ๆ ล่อไปเหอะ อ่านเสียจนประสาทจะกลับ
      ถาม :  แล้วเรียกว่าอย่างไร ?
      ตอบ :  จิตนะเหรอ เรียกจิตเป็นจิตซิง่ายดี จิตเป็นผู้รู้ ในเมื่อเป็นผู้รู้ ถ้าหากว่าปรุงแต่งก็จะเป็นตัวสังขาร ถ้าหากว่าหยุดการปรุงแต่งจิตก็คือจิต
      ถาม :  อย่างนี้สังขารก็มีความหมายมากกว่าตัวปรุงแต่งใช่ไหมคะ ?
      ตอบในความหมายของเรา เราจะหมายถึงตัวตนร่างกายนี้เสียด้วย แต่ในความหมายทางธรรมจริง ๆ ก็คือความนึกคิดปรุงแต่ง อวิชชา ปัจจะยา สังขารา ความไม่รู้หรือรู้ไม่ครบ ก็เลยทำให้นึกคิดปรุงแต่ง ถ้ารู้ครบรู้จบแล้วสมบูรณ์แล้่วอย่างที่เราสรุปอยู่ข้างในอธิศีลนี่มันก็ไม่ต้อง
      ถาม :  อ่านแล้วเหรอ ?
      ตอบ :  ก็จับอยู่ตั้งนาน (หัวเราะ) มีอยู่วันหนึ่งไปนั่งเฝ้าหลวงพ่ออยู่ ท่านหยิบหนังสือพิมพ์มาดูต้นฉบับแล้วก็วาง ดูพาดหัวแล้วก็วาง เราก็รับมา ท่านก็ว่าไปเรื่่อย ๆ ตามเนื้อหาข่าว ละเอียดกว่าที่เขาเขียนอีก บางเรื่องนี่เราดูพาดหัวอยู่ข้างในกว่าจะหาเจออยู่ในซุบซิบนิดเดียว หลวงพ่อไม่ได้เปิดดูหรอก ท่านหยิบแล้วก็โยนหยิบแล้วก็โยน มาตอนหลังท่านบอกว่าถ้าหากว่าใช้คาถามงกุฎพระพุทธเจ้าทำจนเป็นฌานแล้ว อยากรู้เรื่องอะไรอยากรู้หนังสือเล่มนั้นว่าอะไรแค่นึกก็รู้ได้ แต่อาตมาทำไม่ได้หรอก เมื่อกี้นี่เปิดดูจ้ะ (หัวเราะ)
      ถาม :  คาถาหลวงพ่อว่ายังไงบ้างคะ ?
      ตอบอิติปิโส วิเสเสอิ อิเสเส พุทธนาเมอิ อิเมนา พุทธตังโสอิ อิโสตัง พุทธปิติอิ เคยใช้ทีหนึ่งตอนสอบนักธรรมเอก เพราะว่าตอนนั้นอ่านหนังสือไม่ทันเป็นไวรัสลงตับเลยใช้วิธีจับหนังสือแทน นักธรรมเอกนี่เขาตกกันแล้วตกกันอีก ถ้าไม่ช่วยกันจริง ๆ กองหนังสือเป็นตั้งเลย ตอนสมัยนั้นเขาออกเจ็ดข้อ ถ้าไม่อ่านมันอาจออก แต่อ่านมันอาจไม่ออก เจอมหาสติปัฏฐานสูตรไปเล่มเดียวเราก็จะเพี้ยนแล้ว ท่องเกือบตายมันไม่ออกสักข้อเดียว มันไปออกเรื่องอื่นแทน แล้วมหาสติปัฏฐานสูตรมันเล่มเดียวเท่านั้นในธรรมวิจารณ์จะมีวิสุทธิ ๗ มีอะไรไล่ไปเรื่อยให้เราอ่านไป ท่องกันจนตาเหล่ แล้วคิดดูหนังสือตั้งแค่นี้มันออกเจ็ดข้อ มันไม่ใช้วิธีนั้นมันอ่านไม่ทันหรอกคนป่วย
      ถาม :  นักธรรมสอบเป็นบาลีด้วยเหรอคะ ?
      ตอบ :  มันจะมีบาลีด้วยแปลไทยด้วย บางทีก็ให้ตอบเป็นภาษาไทย บางทีก็ให้ตอบเป็นบาลี เสร็จแล้วความที่เราไม่มั่นใจ ความที่ไม่ได้อ่านมันเคยผ่าน ๆ ตามาบ้างว่าน่าจะเป็นอย่างนี้ก็เลยไปนั่งเถียงกับเขา ตอบผิดไปนิดเีดียว จะมีว่า นะหิ รุณเนนะ โสเกนะ สันติง ปัปโปติ เจตะโสของเราว่าท้ายมันไม่ใช่อย่างนี้ ก็เลยไปแก้ท้ายเขาเสีย แก้สามคำ ผิด อยากทะลึ่งไม่เชื่อดีนัก ข้างหน้าถูกหมด ผิดท้ายนิดเดียว
      ถาม :  อย่างนี้ถ้าจะสอบได้ก็ต้องมาเรียนแต่งเป็นบาลีได้ถึงจะสอบได้ ?
      ตอบ :  มันจะมีบาลีเสริมอยู่ ไม่ต้องเรียนก็ได้ แต่ว่านักธรรมเอกนี้เป็นหลักสูตรที่ว่า ถ้าคุณสอบนักธรรมเอกได้คุณถึงจะสิทธิสอบเปรียญเอก คือเปรียญเจ็ด,แปด,เก้า ถ้าไม่ได้ก็ไม่ได้สอบสักที ถ้าจบแค่นักธรรมตรีนี่มีสิทธิเรียนแค่เปรียญตรีคือแค่หนึ่ง, สอง, สาม จบนักธรรมโทเขาให้สิทธิเรียนเปรียญเอก ติดเหง็กอยู่แค่นั้นแหละ หลวงปู่มหาอำพันท่านจะเรียนเปรียญเจ็ดต่อ ท่านสอบนักธรรมเอกอยู่สิบสองปีเต็ม ๆ หลวงปู่รู้คาถาช้าไปหน่อย (หัวเราะ) ถ้าหลวงปู่รู้คาถาก่อนหน้านั้นป่านนี้สอบเปรียญไหนแล้วก็ไม่รู้
      ถาม :  เคยได้ยินว่าคาถานี้ทำให้ทิพจักขุญาณแจ่มใสมาก ทั้งที่มืืดที่สว่างรู้หมด ?
      ตอบ :  ก็เพราะแจ่มใสนะซิ พอจับเลยรู้หมดว่าเขามีอะไรบ้าง รู้หมดรู้จริง ๆ เชื่อแน่ ๆ ว่ารู้จริง ๆ เพราะว่านั่งเฝ้าหลวงพ่ออยู่ ท่านเองท่านหยิบขึ้นมาดูพาดหัวแล้วก็โยนมา แล้วท่านพูดเนื้อหาของมันทั้งหมดให้เราฟัง
      ถาม :  พระโพธิสัตว์ค่ะ .............(ไม่ชัด).............อย่างนี้ตอนเรียนท่านต้องเก่งกว่าคนอื่น ?
      ตอบพระโพธิสัตว์อยู่ที่ไหนส่วนใหญ่ก็เป็นผู้นำเขาอยู่แล้ว ไม่เก่งกว่าจะเป็นได้ยังไงล่ะ ? ไม่ต้องห่วงหรอก ยิ่งถ้าหากว่าเป็นชาติที่เป็นปัญญาบารมีด้วยแล้วรับประกันซ่อมฟรี รับรองต้องหาเกรดห้าให้ท่านแน่ ๆ เลย เกรดสี่ไม่พอหรอก นึกถึงนายกิ๊น เวลาอาจารย์เขาอธิบายวิทยาศาสตร์ใช่ไหม ? นักเรียนต้องพิสูจน์ด้วยวิธีนี้ ถอดสมการด้วยวิธีนี้นะ อาจารย์อธิบายถอดเสร็จเรียบร้อยแล้ว นายกิ๊นยกมือผมว่ามีอีกวิธีหนึ่งครับ ว่าแล้วพี่ท่านก็อธิบายไปแล้วอาจารย์ก็ต้องยอมรับด้วย เพราะวิธีทำของเขาอกมาคำตอบเท่ากัน แล้วเพื่อนจะชอบมากเพราะมันคนเดียวล่อเสียหมดชั่วโมง (หัวเราะ) คนเดียวจบปริญญาและประกาศนียบัตรมาสิบเจ็ดวิชา เขาบอกว่าเขายังรู้สึกว่ายังไม่รู้เรื่องอะไรเลย แค่เพื่อนบ่นว่าร้องเพลงสวดภาษาละตินไม่เอาอ่าว มันก็ไปเรียนภาษาละตินเสียอีกหนึ่ง เสร็จแล้วเขาบอกว่าไม่มีเซ้นท์ทางดนตรีเลยร้องเพลงก็คร่อมจังหวะ มันก็ไปเรียนดนตรีเสียอีกหนึ่ง...........อย่างสุนทรภู่เขาว่า
              จะเรียนร่ำทำอะไรไม่ลำบาก       มียอดยากอยู่อย่างเดียวเกี้ยวผู้หญิง
              ถ้าพระโพธิสัตว์มากปัญญาบารมีก็ไม่ลำบากสำหรับท่านหรอก
      ถาม :  ....................
      ตอบ :  เพราะว่าเราเคยชินที่จะอยู่กับมัน สภาพของจิตนี่มันคล้าย ๆ กับน้ำ คือมันไหลลงต่ำได้ง่าย คราวนี้เรานี่มันไหลลงต่ำมาตลอด มันต่ำเสียจนบอกไม่ถูกว่าระยะทางนี้มันยืดยาวแค่ไหน จะตะกายคืนมันก็ลำบาก ไม่ค่อยมีกำลังใจ ทำชั่วมาเป็นแสน ๆ กัป กว่าจะหันมาดีได้
      ถาม :  (ถามเรื่องเด็ก) ?
      ตอบ :  เด็กดื้อก็คือธรรมชาติเขาเป็นอย่างนั้น ถ้าเราเข้าใจเขาว่าธรรมชาติของเด็กมันต้องดื้อต้องซนเป็นธรรมดา อย่าลืมว่าธรรมชาติก็คือธรรมดา ธรรมดาก็คือธรรมะ ธรรมะคือความเป็นจริง ที่ปรากฎอยู่ในโลกนี้ ถ้ารู้ว่าเด็กเขามีธรรมชาิติคือต้องดื้อและซนเป็นธรรมดาใจเราต้องปล่อยวางและให้อภัยเขาได้
      ถาม :  (ถามเรื่องผลการปฏิบัติ) ?
      ตอบ :  เราต้องย้อนกลับไปดูสิ่งแวดล้อมว่า ตอนที่เราทำได้อย่างนั้น สิ่งแวดล้อมรอบข้างเราเป็่นอย่างไร เราคิดอย่างไรพูดอย่างไรทำอย่างไร อยู่ในลักษณะสิ่งแวดล้อมแบบไหน ในวงสังคมแบบไหน เพื่อนฝูงแบบไหน ครอบครัวแบบไหน ถ้าสามารถสร้างสิ่งแวดล้อมเก่าขึ้นมาได้เราก็กลับมาแบบเดิมอีก
              คือพระพุทธเจ้าบอกแล้วว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเกิดจากเหตุ ถ้าเหตุดับสิ่งนั้นก็ดับ ถ้าเรามีอารมณ์ใจไม่ว่าดีหรือไม่ดีอย่างไรอยู่ในใจของเรา เราต้องรู้จักแยกแยะว่าเกิดจากเหตุอะไร ถ้ามันมีส่วนที่ดีก็สร้างเหตุนั้นขึ้นมาผลดีก็จะเกิดขึ้นแก่เราอีก ถ้ามันเป็นสิ่งที่ไม่ดีก็ตัดเหตุที่ไม่ดีนั้นเสียสิ่งที่ไม่ดีก็จะไม่เกิดขึ้น มันต้องแก้ตั้งแต่ต้นเหตุ เพราะฉะนั้นคุณต้องนึกย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น คุณทำอย่างไรมา แล้วก็ทำอย่างนั้นอีก เพราะว่าอารมณ์ใจของเราแต่ละวันมันจะไม่เท่ากัน เนื่องจากสิ่งแวดล้อมมันเปลี่ยนไป กำลังใจมันเปลี่ยนไป สถานการณ์มันเปลี่ยนไป
      ถาม :  (ถามเรื่องผลการปฏิบัติ) ?
      ตอบถ้าหากว่าตอนนั้นกำลังใจของเรามันทรงอยู่ในฌานตัวรักโลภ โกรธ หลง ต่าง ๆ มันโดนอำนาจของฌานมันกดอยู่ มันจะไม่ถือสาหาความกับใครมากนัก เห็นก็สักแต่ว่าเห็น ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน อารมณ์รัก โลภ โกรธ หลง ไม่สามารถจะกินใจเราได้ ถ้าหากว่าสมาธิของเราเคลื่อนออกจาฌานลงมาเมื่อไร รัก โลภ โกรธ หลง จะกินเราทันที เพราะฉะนั้นต้องคอยระวังอยู่เสมอว่าอย่าให้ใจของเราหลุดออกจากจุดนั้น
              แต่ว่ามันมีข้อสังเกตอยู่อย่างหนึ่้งว่ามันเป็นอำนาจของจิตแท้เรา หรือว่ามันเป็นอำนาจของฌาน ก็คือดูว่าเราต้องใช้กำลังใจข่มอารมณ์ไว้หรือเปล่า ?
ถ้าหากว่าเราไม่ต้องใช้อารมณ์ใจข่มอารมณ์ไว้ เห็นทุกคนมีสภาพเสมอกัน เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น เป็นผู้ที่สมควรแก่ความรักความเมตตาสมควรแก่การสงเคราะห์ของเราโดยไม่ต้องไปบังคับใจของเราให้คิดไปทำอย่างนั้นเลย อันนั้นอารมณ์จากใจแท้ของเรา แต่ถ้าหากว่าเรายังต้องบังคับใจของเราคือต้องอย่างน้อย ๆ มีฌานกดเอาไว้แล้วก็ปฏิบัติไปตามแนวนั้น ก็ถือว่าตอนนี้ยังจำเป็นจะต้องทำเพื่อความก้าวหน้าไปอีกระยะหนึ่งถึงจะใช้ได้
      ถาม :  (ถามเรื่องผลการปฏิบัติ) ?
      ตอบ :  อย่าลืมว่าพรหมวิหารสี่ มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ไม่ใช่ว่าเมตตาเขาดะไป ดูว่าใครสมควร ใครไม่สมควร รู้จักเอ่ยคำว่าไม่ให้เป็นมั่ง เพราะว่าตัวอุเบกขา คือการยอมรับกฎของกรรมเราช่วยเขา แค่ว่าตัวเราไม่เดือดร้อน ถ้าตัวเราต้องเดือดร้อนเราก็ระงับการช่วยอันนั้นได้ไม่มีใครเขาตำหนิเราไม่มีใครเขาด่าว่าเรา ยกเว้นคนพาลเท่านั้นที่จะทำเช่นนั้น ถ้าหากว่าเรายกอุเบกขาขึ้นมาใช้ใครที่ไหนเขาจะมาเบียดเบียนเราได้ล่ะ
      ถาม :  แล้วมันมีจุดหนึ่งครับในการทำสมาธิ อาการใจมันไม่เคลื่อนเลย มันไม่ต่ำลงไปแล้วก็ไม่สูงขึ้น ?
      ตอบ :  อันนั้นเป็นการทรงฌาน ถ้าหากว่าทรงฌานตอนแรก ๆ มันไม่เคยชิน มันเหมือนกับเราได้อะไรมหาศาลน่าตื่นเต้นมาก แต่หลังจากที่เราทำไป ๆ สิ่งที่เราคิดว่าได้มากมหาศาลแท้จริงมันมีนิดเดียว มันก็เลยกลายเป็นว่ามันชักเฉย ๆ เหมือนกับตายด้านกับมัน
              เพียงแต่ว่า ลักษณะนั้นจริง ๆ แล้วก็มีประโยชน์ สามารถรักษาใจของเราไม่ให้ฟุ้งซ่านไปกับรัก โลภ โกรธ หลงได้ นิวรณ์จะกินใจของเราไม่ได้ แต่ว่าให้มีสติอยู่เสมอว่า เราแค่อาศัยมันเท่านั้น มันไม่ใช่ที่พึ่งที่แท้จริงของเรา มันเพียงเพียงเครื่องมือที่จะส่งเราให้ไปถึงจุดหมายเท่านั้นเอง ถ้าหากว่าเราไม่มีสติไปยึดไปเกาะว่ามันเป็นิส่งที่ดีวิเศษเลิศแล้ว ถ้าอย่างนั้นก็ยังก็ยึดติดอยู่ในรูปราคะอรูปราคะ เป็นสังโยชน์ใหญ่ที่ดึงให้เราอยู่กับวัฏฏะต่อไป
      ถาม :  .......................
      ตอบ :  จริงแล้วถ้าคิดว่าเราก็ตายเขาก็ตายมันก็จบแล้ว เราเองจะดีกว่าเขา จะเสมอเขา หรือจะเลวกว่าเขา เราก็ตาย เขาเองจะดีกว่าเรา จะเสมอเรา หรือจะเลวกว่าเรา เขาก็ตาย ต่างคนต่างเกิดขึ้นในเบื้องต้นเปลี่ยนแปลงไปในท่ามกลางและสลายไปในที่สุด ไม่ว่าเราจะยกตัวของเราสูงกว่าหรือกดตัวของเราต่ำกว่าหรือดึงตัวของเราเสมอเขา ในที่สุดต่างก็มีวาระสุดท้ายอย่างนี้ ในเมื่อพิจารณาอย่างนี้ไปใจมันก็ค่อย ๆ คลายอารมณ์นั้นลงเอง
      ถาม :  ...........................
      ตอบ :  ถ้าหากว่าตอนพิจารณาตัวกามฉันทะมันเกิดยาก ยกเว้นว่าเราจะไปฟุ้งซ่านปรุงแต่งอยู่เฉพาะเรื่องของมันมันถึงจะเกิดได้ อย่าลืมว่ากรรมฐานทุกกอง กรรมฐานทั้งสี่สิบกองบวกสติปัฏฐานสูตรด้วย พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเจนเลยว่ากองใดกองหนึ่งก็ไปนิพพานได้ ถ้ามันไม่สามารถตัดราคะ ตัดโทสะได้ไปนิพพานไม่ได้หรอก มันสำคัญอยู่ที่ว่าเราทำถูกไหม จำเป็นต้องทำให้เคยชิน เพาะบ่มให้มันอยู่กับเราตลอดเวลาเพื่อให้จิตใจของเราอยู่กับความดีตลอดไป พอใจมันชินกับความดีถึงเวลาตายมันก็ไปที่ดี
      ถาม :  เกี่ยวกับอารมณ์อนุสสติของใจที่มันเกิดขึ้นมีอารมณ์พิจารณาด้วย ทีนี้พอเกิดได้สองวันมันก็หายไป จะทำอย่างไรถึงจะเอามันอยู่ ?
      ตอบ :  น่าเสียดายมากเลย คืออารมณ์ใจของเรามันดำเนินไม่ต่อเนื่องเพียงนิดเีดียวเท่านั้นเอง พอสติเผลอตัวนิวรณ์ก็เข้าแทรกแทน ทำให้อารมณ์ใจตรงนั้นมันขาดช่วงลง จริง ๆ แล้วก็คือพยายามรักษาสติให้มันต่อเนื่องตามกันไปตลอด ถ้าหากว่าทำไปถึงระดับหนึ่ง จนหลับกับตื่นอารมณ์ใจเราจะเสมอกัน หลับอยู่้ก็รู้ตลอด ตื่นอยู่ก็รู้ตลอด ถ้าอย่างนั้นการพิจารณาของจิตมันจะดำเนินไปเองเรื่อย ๆ โดยเรามีเพียงหน้าที่รับรู้และกำหนดตามไปเท่านั้น เพียงแต่ว่าอย่าเผลอให้สติมันไปสนใจเรื่องอื่น สิ่งที่เข้ามาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย อย่าให้มันเข้าสู่ใจ ปล่อยให้ใจทำหน้าที่เฉพาะของมันไป กลับไปทำให้ได้ใหม่ จวนจะดีแล้วนิดเดียวแค่นั้นเอง
      ถาม :  แต่ว่าอารมณ์ใจมันเกิดขึ้นเอง ?
      ตอบ :  มันเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดขึ้นเอง เมื่อครู่บอกแล้วว่าเราทำสิ่งแวดล้อมแบบไหนมันถึงเกิดขึ้น ก็ให้ทำแบบนั้นอีก มันไม่มีอะไรที่มาเองไปเองหรอก ทุกอย่างเกิดจากเหตุทั้งนั้น เพียงแต่ว่าเราเองเผลอไปหน่อยหนึ่ง ไม่รู้ว่าตัวเองทำดีอีท่าไหน โบราณเขาเรียกว่าขี้ตรงร่อง (หัวเราะ)
              สมัยโบราณเขาเจาะร่องกระดานไว้ เพราะเป็นใต้ถุนสูงใช่ไหม ? ถ้าลงจากบ้านกลางคืนบรรดาสัตว์ร้ายหรือคนร้ายอาจทำร้ายเอา ก็ใช้เวลาถ่ายลงร่องไป ของเราบังเอิญตรงร่อง เสียดายว่าไม่ได้ทำต่อไปเอาใหม่นะ อีกนิดเดียวเท่านั้นเอง
      ถาม :  เวลาช่วงที่นั่งสมาธิ เวลาตัวชาเกิดขึ้น สามารถใช้ตรงนั้นให้เป็นประโยชน์ได้ไหมคะ ?
      ตอบ :  ได้ คือเรากำหนดรู้ไปเลยว่าสภาพที่แท้จริงของร่างกายของเราเป็นอย่างไร ? ถ้ามันถึงตรงจุดนั้นแสดงว่าประสาทร่างกายกับจิตใจคนละส่วนกันแล้ว อาการมันเหมือนยังกับว่าชาจากปลายมือปลายเท้าเข้ามา หรือไม่ก็เริ่มจากบริเวณปากหรือจมูกของเราออกไป อาการอย่างนั้นแสดงว่าประสาทร่างกายของเราเริ่มจะไม่รับรู้อาการภายนอก อาการที่จิตใจดำเนินอยู่ มันทำให้จิตกับประสาทแยกส่วนกันไม่สามารถรับรู้ถึงกันได้
              บางคนรู้สึกแข็งเป็นหินทั้งตัวก็มี เหมือนโดนปูมัดอยู่ตึงเป๋งเลยก็มี ถ้าหากว่าเราจับจุดนั้นขึ้นมาเป็นตัวพิจารณาว่า สภาพร่างกายนี้แท้่จริงแล้วไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราเลย เราอาศัยมันอยู่ชั่วคราวเท่านั้น ร่างกายนี้มันเหมือนรถยนต์คันหนึ่ง เราคือผู้ที่ขับเคลื่อนรถคันนั้นไป ตอนนี้เราเพียงแค่หยุดไม่ทำการขับเคลื่อนต่อเพียงแค่นี้ รถมันก็ทำท่าจะพังเสียแล้ว มันไม่ยอมไปกับเราเสียแล้ว ในเมื่อสภาพที่แท้จริงของมันเป็นอย่างนี้ เราเองยังต้องการมันอยู่อีกไหม ? ถ้าหากว่าเราจับจุดนี้ขึ้นมาพิจารณามันก็จะมีประโยชน์มาก ก็จะเห็นความจริงของร่างกายของเรา ตั้งใจทำต่อ ระวัง ๆ เอาไว้นิดหนึ่ง สมาธิมากเกินไปมันก็เครียด แต่ขณะเดียวกันพิจารณามากเกินไปบางทีมันเผลอมันก็หลุดออกไปฟุ้งซ่านได้เหมือนกัน จริง ๆ แล้วถ้าสติของเราสมบูรณ์ โอกาสพลาดมันน้อย แต่ส่วนใหญ่แล้วของพวกเราสติมันน้อยอยู่ ถึงเวลามันพลาดแล้วมันพลาดยาวเลย