๑๓. สีลานุสติ


              มาว่าเรื่องกรรมฐานของเราต่อ จริงๆ แล้วการปฏิบัติกรรมฐานนั้น เราต้องเป็นคนจริงจัง สม่ำเสมอ และต้องมีปัญญาประกอบด้วย การที่เราจริงจังสม่ำเสมอ ผลของการปฏิบัติถึงจะมี
              เพราะว่าการที่เรามาปฏิบัติกรรมฐานกัน เป็นการฝืนกระแสโลก เหมือนกับการว่ายทวนน้ำ ถ้าหากว่าเราไม่พยายามว่ายเข้าไว้ ให้ตลอดเวลาอย่างสม่ำเสมอ มันก็จะลอยตามกระแสไป
              การปล่อยให้ลอยตามกระแสไปนั้น ถ้าเรากำลังยังดีอยู่ ถึงเวลาตะเกียกตะกาย ว่ายขึ้นมาใหม่ มันยังมีกำลังที่จะว่าย แต่ระยะทางอาจจะไม่ได้เพิ่มขึ้น เพราะว่าเราปล่อยลอยไป สมมติว่าหนึ่งวัน แล้วเราก็ตั้งหน้าตั้งตาว่ายกลับมา
              พยายามที่จะทำ พยายามที่จะว่าย เป็นเวลาหนึ่งวัน ระยะห่างอาจจะได้เท่าเดิม แล้วเราปล่อยลอยไปอีก ว่ายใหม่ก็จะได้แค่เดิม หรือถ้าหากว่ามันล้าเสียแล้ว เราเองก็อาจจะได้ระยะทางไม่เท่าเดิม หรือน้อยกว่าเดิม
              ถ้าปล่อยให้มันลอยไปอีก คราวนี้ระยะทางมันก็จะยิ่งไกลมากขึ้น กลายเป็นว่าเราเป็นคนขยัน ทำงานทุกวัน แต่ผลงานไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยแม้แต่นิดเดียว พอทำไป ทำไป หลายท่านก็หมดกำลังใจ ท้อ และก็เลิกทำไปโดยปริยาย
              บรรดากรรมฐานต่าง ๆ นั้น ที่พระพุทธเจ้าท่านสอนเอาไว้ มีถึง ๔๑ แบบ คือสมถกรรมฐาน ๔๐ กอง แล้วก็มีมหาสติปัฏฐาน ๔ อีกแบบหนึ่ง เพื่อให้มีกรรมฐาน ที่เหมาะกับจริต นิสัยของแต่ละคน ซึ่งมันแตกต่างกันไป
              จริต คือ ความเป็นไปของจิต มี ๖ อย่าง ด้วยกัน คือ
              พุทธิจริต ประกอบไปด้วยความฉลาดเป็นปกติ
              ศรัทธาจริต ประกอบไปด้วยน้อมใจเชื่อเป็นปกติ
              โทสะจริต เป็นคนมักโกรธเป็นปกติ
              วิตกจริต เป็นคนที่คิดไม่ได้ตรองไม่ตก ละล้าละลังเป็นปกติ
              โมหะจริต เป็นบุคคลที่มีกำลังใจมืดมนเป็นปกติ
              ราคะจริต เป็นบุคคลที่มีความรักสวยรักงามเป็นปกติ
              ในแต่ละจริตนั้น มันล้วนแล้วแต่มีอยู่ในใจของเรา ครบถ้วนสมบูรณ์ทั้ง ๖ ประการ เพียงแต่ว่า อย่างใดอย่างหนึ่งที่มันจะเด่นขึ้นมา อันนี้ต้องสังเกตเอง เราเป็นคนฉลาด ฟังอะไรครั้งเดียวจำได้ สามารถที่จะทำอะไรได้คล่องตัว มีความเข้าใจแตกฉาน ในสิ่งต่าง ๆ หรือไม่ ?
              ถ้าใช่ เราก็เป็นพุทธิจริต เรามีความรักสวยรักงามเป็นปกติหรือไม่ ? ถ้าหากว่ามีความรักสวยรักงามเป็นปกติ จิตมีความปราณีตละเอียด ทำอะไรทำแล้วทำอีก ถ้าหากว่าไม่ดีไม่เลิก อันนี้แสดงว่า เราประกอบไปด้วยราคะจริต
              ถ้าหากว่าเขาว่าอะไรดี ที่ไหนดี เราก็เชื่อ และต้องการไปยังสถานที่นั้น ไปกระทำสิ่งนั้น ๆ อันนี้เป็นศรัทธาจริต ถ้าเป็นคนมักโกรธ ฟังอะไร กระทบอะไร เห็นอะไรไม่ได้ เกิดโทสะขึ้นมาโดยพลัน อันนี้เป็นโทสะจริต
              ถ้าเราเป็นคนที่คิดไม่ตก ตรองไม่ตก กังวลอยู่เสมอหรือไม่ ? ถ้าเป็น อันนี้ก็จัดเป็นวิตกจริต หรือว่าเป็นคนที่หาปัญญาไม่ได้ คนอื่นเขามองเห็นช่องทางง่าย ๆ ของเราเองทำแล้วทำอีก ควานแล้วควานอีก ไม่ตรงเป้าเสียที อันนี้ก็จัดเป็นโมหะจริต
              ในแต่ละจริตวิสัยนั้น ท่านกำหนดกองกรรมฐานเอาไว้ สำหรับปฏิบัติให้ตรงกับกำลังใจของตน เพื่อจะได้เกิดความคล่องตัว ทำให้ถูกต้องตรงกับจริต เพื่อจะได้ผลเร็ว
              พุทธิจริตนั้น ท่านให้ใช้ กายคตานุสติ มรณานุสติ คือการระลึกถึงความเป็นจริงของร่างกายนี้ ตลอดจนกระทั่งความตาย และอุปสมานุสติ คือการระลึกถึงพระนิพพานอยู่เสมอ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เหมาะแก่ท่านผู้ที่เป็นพุทธิจริต เพราะว่าปัญญาท่านมาก สิ่งที่คนอื่นมองเห็นได้ยาก ท่านก็เห็น
              ศรัทธาจริต ท่านให้ระลึกใน พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ นึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นปกติ ว่ามีคุณความดีอย่างไร ? ในสีลานุสติ จาคานุสติ ให้ระลึกถึงคุณของการรักษาศีล การบริจาคให้ทานเป็นปกติ
              ราคะจริต ท่านให้ใช้ อสุภกรรมฐานทั้ง ๑๐ กอง พิจารณาให้เห็นว่า สภาพร่างกายของเรา ที่แท้จริงมันมีความไม่สวยไม่งามอย่างไร คนอื่นมันมีความไม่สวยไม่งามอย่างไร
              และให้ใช้กายคตานุสติกรรมฐาน คือให้เห็นสภาพความเป็นจริงของร่างกายนี้ ว่ามันไม่สวยไม่งาม มีแต่ความสกปรกเป็นปกติ ประกอบไปด้วยอวัยวะภายนอก ภายใน ใหญ่น้อยทั้งปวง ไม่ดูแล ไม่รักษา ไม่ขัดสีฉวีวรรณมัน แค่วันสองวัน กลิ่นมันก็เหม็นจนทนไม่ได้
              โทสะจริต ท่านให้ใช้ พรหมวิหารทั้ง ๔ ข้อ คือให้มีความรักเขา เสมอตัวเรา ความสงสาร อยากให้เขาพ้นทุกข์ ความยินดี เมื่อเขาได้ดีมีสุข และเมื่อไม่สามารถที่จะทำอะไร ตามกำลังความสามารถได้แล้ว ก็ให้ปล่อยวาง
              หรือใช้วรรณกสิณทั้ง ๔ คือเพ่งสีแดง สีเหลือง สีเขียว สีขาวเป็นปกติ เพื่อที่จะรักษาอารมณ์ทรงตัว ต่อต้านอารมณ์ของโทสะได้
              วิตกจริตกับโมหะจริต ท่านให้ใช้อานาปานสติกรรมฐาน คือ ดูลมหายใจเข้าออกอย่างเดียว เพราะว่าสองจริตนี้ ถ้าให้ทำอย่างอื่น กำลังใจของท่าน จะก้าวไม่ถึงจุดนั้น เราเองก็มาพิจารณาดูว่า ตัวเราเหมาะกับจริตไหน สมควรแก่กรรมฐานกองไหน
              เพราะว่าจริตทั้งหกนี้ มันมีครบถ้วน ขึ้นอยู่กับว่า อันไหนที่มันเด่นออกมา เมื่อพิจารณาเห็นแล้ว ถ้ามีกรรมฐานหลายกอง ที่เหมาะกับจริตของเรา ให้เลือกกองที่เราชอบใจที่สุด รักมากที่สุด แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาทำกองนั้นไป มันก็จะได้ผล
              จากการที่เรากล่าวเอาไว้ข้างต้นว่า ส่วนใหญ่แล้ว พวกเราจะอยู่ในลักษณะ ทำทำ ทิ้งทิ้ง ไม่สม่ำเสมอ เปรียบเหมือนกับ การขุดบ่อเพื่อจะหาน้ำ พอขุดลงไปได้สักสองวาสามวา ยังไม่ถึงน้ำเสียที คนอื่นบอกตรงโน้นดี ก็เปลี่ยนที่ไปขุดตรงโน้น
              ขุดลงไปได้สักวาสองวา คนอื่นบอกว่าตรงโน้นดี ก็เปลี่ยนที่ไปอีก การที่เราขาดความจริงจังสม่ำเสมอ ในทำการกรรมฐาน ทำให้มันไม่เกิดผล ดังนั้น เมื่อมันไม่เกิดผล หรือว่าเกิดผลน้อย เหมือนกับขุดบ่อแล้วไม่ได้น้ำเสียที เราอาจจะท้อ แล้วก็เลิกขุด
              เพราะฉะนั้น เมื่อท่านทรงอารมณ์กรรมฐานได้แล้ว ทรงตัวแล้ว ให้พยายามประคับประคองอารมณ์นั้น ให้อยู่กับเราให้นานที่สุด ให้ยาวที่สุด เพื่อความเคยชินของกำลังใจ มันจะได้ยอมรับอารมณ์นั้น ๆ ต่อไปมันก็จะทรงอารมณ์นั้น ได้ยาวนานยิ่งกว่าเดิม และถ้ามีความคล่องตัวจริง ๆ ก็จะทรงได้ตลอดเวลาที่ต้องการ
              การปฏิบัติกรรมฐานของเรานั้น มีสิ่งที่มาขวาง ก็คือมารทั้งหลาย เขามีความฉลาด จะทำให้เราเกิดอารมณ์กระทบ ไม่พอตา ไม่พอใจก็ดี ชอบอกชอบใจก็ดี แล้วเราก็จะพลาดไปจากจุดที่เราปรารถนา ที่เราต้องการ
              ให้สังเกตว่า เมื่อเราปฏิบัติไปถึงจุดหนึ่ง รู้สึกว่ามันดีเหลือเกิน ทาน ศีล ภาวนาของเรา มีความก้าวหน้ามาก มีความคล่องตัวมาก แล้วอยู่ๆ มันก็พังไปเฉย ๆ
              ถ้าเราสังเกตตรงจุดนี้ หมั่นจับตรงจุดนี้บ่อย ๆ จะเห็นได้ว่า ทันทีที่เราปฏิบัติแล้ว ความดีเริ่มทรงตัว อยู่ ๆ มันก็จะพังไปทุกที มันจะเอาโลภะ โทสะ โมหะ เข้ามาอยู่ในใจแทน ก่อนกรรมฐานนั้น ๆ นี่คือฝีมือของมาร คือผู้ขวาง
              ขอให้ทุกท่านทราบไว้ว่า ขณะที่กำลังใจท่านฟุ้งซ่านที่สุด ความจริงแล้วเป็นเวลาที่ท่านใกล้ความดีที่สุด มารเขารู้ว่าเราจะพ้นจากมือเขาแล้ว เขาก็พยายามที่จะดึงเรา ให้เป๋ไปจากจุดที่เรามุ่งไป
              มันเหมือนกับเรายืนอยู่หน้าประตูแล้ว แค่เอื้อมมือไปเปิดประตู เราก็จะก้าวพ้นไปแล้ว แต่ว่าทุกครั้ง เขาสามารถหลอกให้เราสนใจสิ่งอื่นได้ แล้วก็เลี้ยวตามเขาไป จนกระทั่งพอรู้ตัวขึ้นมา เอ๊ะ..ก่อนหน้านี้ทำไมเราทำแล้วรู้สึกดีเหลือเกิน ? ทำไมตอนนี้กำลังใจมันถึงแย่ขนาดนี้ ? ทำไมมันถึงเลวขนาดนี้ ?
              ถ้าท่านรู้จักตรอง โดยการคิดย้อนกลับไป ให้รู้ว่าตัวเองตอนนั้นคิดอย่างไร ? พูดอย่างไร ? ทำอย่างไร ? อยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบไหน ? กำลังใจเราถึงได้ดี ถึงได้ทรงตัว ก็ให้คิดแบบนั้น พูดแบบนั้น ทำแบบนั้น สร้างสิ่งแวดล้อมแบบนั้นขึ้นมา
              เราก็จะก้าวไปสู่จุดที่เคยทำได้อีก แล้วคราวนี้ ให้ใช้สติระมัดระวัง ควบคุมเอาไว้ อย่าให้คล้อยตามกำลังของมาร ที่มาหลอกลวงและดึงเราไปอีก ถ้ารู้จักพินิจพิจารณา ในลักษณะนี้บ่อย ๆ เราก็จะเริ่มชนะเขาได้บ้าง
              หลังจากนั้นก็จะชนะมากขึ้น มาอยู่ในลักษณะก้ำกึ่งกัน ตอนนี้ จะเป็นตอนที่สนุกที่สุดของการปฏิบัติ คือมันจะช่วงชิงไหวชิงพริบกันว่า คะแนนต่อไปจะเป็นของเราหรือของเขา
              ถ้ามาถึงตรงจุดนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดูหนัง ดูละคร จะสิ่งใดก็ตาม ไม่มีความน่าสนใจไปกว่าการดูใจตัวเอง การสร้างกำลังใจตัวเอง ต่อสู้กับกิเลส ถ้าเรายิ่งใช้สติ ใช้ปัญญา ควบคุมมันให้มากขึ้น หมั่นพินิจพิจารณา สร้างกำลังของตนให้ก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้น เราก็จะชนะมากกว่าแพ้ แล้วในที่สุดก็จะก้าวไปสู่จุดที่ไม่แพ้อีก
              สิ่งต่างๆ รอบข้าง มันล่อลวงเราอยู่ตลอดเวลา เรื่องของราคะ มันเห็นรูปสวย มันก็พลอยยินดีด้วย ไปคลุกคลีตีโมง ไปฟุ้งซ่านอยู่ตรงจุดนั้น กำลังใจเราก็เสีย
              มันได้ยินเสียงเพราะ มันก็พลอยยินดีด้วย มันก็ใฝ่ฝันที่อยากจะฟัง พยายามที่จะเสาะหามา หรือไปอยู่ใกล้สิ่งนั้น ก็เสียผลการปฏิบัติ
              มันได้กลิ่นหอม มันก็พลอยยินดีด้วย มันได้รสอร่อย มันก็พลอยยินดีด้วย มันได้สัมผัสที่นุ่มนวลชอบใจ มันก็พลอยยินดีด้วย
              ทำให้เราไปหลง ไปยึด ไปติดอยู่ตรงจุดนั้น สิ่งที่เราปฏิบัติมาตั้งแต่ต้น มันก็พังไป หรือว่าเราเห็น เราได้ยิน เราได้กลิ่น เราได้รส เราสัมผัส ไม่ชอบใจสักอย่างเดียว โทสะมันก็เกิด ในเมื่อความชั่วมันเกิด ความดีก็อยู่ไม่ได้ เพราะว่าความชั่ว มันมาอาศัยอยู่แทนเสียแล้ว เราก็เสียผลการปฏิบัติเช่นกัน
              ดังนั้นการปฏิบัติกรรมฐาน นอกจากจะทำอย่างสม่ำเสมอ จริงจังแล้ว ยังต้องมีสติสัมปชัญญะ ยังต้องมีปัญญา ต้องคอยตามดู ตามรู้ ตามระมัดระวัง อย่าให้กิเลสมันมาชักจูงเราไปได้
              สำหรับวันนี้ เรามาศึกษาเรื่องของสีลานุสติกรรมฐาน เราจะมาดูว่าศีลมีคุณสมบัติอย่างไร ? มีความดีอย่างไร ? ศีลก็คือความเป็นปกติ ปกติของปุถุชนทั่วๆ ไป ต้องมีศีลอย่างน้อย ๕ ข้อ เรียกว่ามนุษยธรรม
              คือจะต้องเว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักขโมย เว้นจากการละเมิดคนที่มีเจ้าของ เว้นจากการพูดปด เว้นจากการดื่มสุราเมรัย หรือสิ่งของที่ทำให้เมามายขาดสติสัมปชัญญะ ถ้าเราละเมิดข้อใดข้อหนึ่งก็ตาม อบายภูมิจะรอเราอยู่ข้างหน้า ตายเมื่อไหร่ได้ไปแน่ ๆ ศีลเป็นเครื่องกั้นเราจากอบายภูมิ กั้นไม่ให้เราเป็นสัตว์นรก ไม่ให้เป็นเปรต ไม่ให้เป็นอสุรกาย ไม่ให้เป็นสัตว์เดรัจฉาน
              นี่คือทุนของศีลขั้นต้น รักษาผู้ปฏิบัติไม่ให้ตกไปสู่ทางที่ชั่ว ถ้าเราตกลงไปในทางที่ชั่ว คือลงสู่อบายภูมิแล้ว เมื่อสิ้นกรรมอันนั้น มาเกิดเป็นคน เศษกรรมอันนั้นก็ยังมาทำอันตรายเราได้อีก
              ถ้าเคยฆ่าคนฆ่าสัตว์ไว้เป็นปกติ ก็จะอายุสั้นพลันตาย หรือถ้าหากว่ายังดำรงชีวิตอยู่ ก็จะมีแต่ความเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่เสมอ ต้องทนทุกข์ทรมานกับอาการต่าง ๆ ที่มันเกิดขึ้นกับตน เพราะเศษของกรรมมันตามมา
              ถ้าหากว่าเคยลักขโมยเขาเอาไว้ เกิดมาทรัพย์สินจะเสียหาย จะโดนไฟไหม้บ้าง โดนทำลายด้วยลมด้วยน้ำบ้าง เกิดแผ่นดินไหวบ้าง ทรัพย์สมบัติทั้งหมด จะสลายตัวไป ทรงตัวอยู่ไม่ได้ เพราะเศษกรรมมันเกิดขึ้น มันตามมาสนอง
              ถ้าหากว่าเคยละเมิดลูกเขาเมียใคร คนที่เขามีคนรักมีคนเขาหวง เกิดมาชาติใหม่ เศษกรรมก็จะทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ บังคับบัญชาคนอื่นไม่ได้ เป็นคนไม่มีอำนาจ ไม่มีใครเชื่อฟัง
              ถ้าโกหกคนอื่นเป็นปกติ เกิดเป็นมนุษย์ เศษกรรมก็จะทำให้เรา ไม่มีโอกาสจะได้ฟังความเป็นจริง พูดอะไรคนก็ไม่เชื่อ ถ้าเราไม่ต้องการให้เศษกรรมข้อนี้ สร้างความลำบากให้กับเรา เราก็อย่าพูดปด
              ถ้าเราดื่มสุราเมรัย หรือว่าเครื่องดองของเมาอะไร ที่ทำให้ขาดสติสัมปชัญญะ ทำแต่น้อย เกิดเป็นมนุษย์ เศษกรรมก็จะทำให้มีโรคปวดศีรษะเป็นปกติ ถ้าหากว่าปานกลาง ก็จะเป็นโรคประสาท สติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์
              ถ้าหากว่าทำมากเป็นปกติ ทุกวัน ๆ เศษกรรมตัวนี้ จะทำให้เมื่อเราเกิดมาเป็นมนุษย์ ก็จะอยู่ในลักษณะไม่มีสติสัมปชัญญะ คือ กลายเป็นคนบ้า
              ถ้าเรารักษาศีลได้บริสุทธิ์สมบูรณ์ อบายภูมิทั้งหลาย ไม่สามารถจะนำเราไปได้ อย่างน้อยเกิดเป็นมนุษย์ ก็มีอวัยวะครบถ้วนสมบูรณ์ มีรูปร่างหน้าตาสวยงาม เป็นที่ชอบใจ และเศษกรรมทั้งหลาย ก็ไม่ปรากฏแก่เรา
              นี่คือคุณของศีลขั้นต้น และกำลังของศีล ยังจะส่งผลให้เรา เกิดเป็นเทวดาได้ เกิดเป็นพรหมได้ ไปสู่พระนิพพานได้ ถ้าเรามีศีลเป็นปกติ ตายจากมนุษย์ ก็จะเป็นเทวดาชั้นใดชั้นหนึ่ง
              ถ้าหากว่าศีลของเรา ทรงตัวอยู่ตลอดเวลา เรียกว่าทรงศีลเป็นฌาน เราก็จะเกิดเป็นพรหมตามกำลังของฌานที่เราทรงอยู่ หรือถ้าเราตั้งใจรักษาศีล เพราะจะไปพระนิพพาน ถ้าจิตไม่ยึดไม่เกาะร่างกายจริง ๆ เราก็จะสามารถเข้าสู่พระนิพพานได้
              ดังนั้น ในแต่ละวัน ให้ทุกคนใคร่ครวญศีล ตามสภาพของตน เป็นฆราวาสก็รักษาศีล ๕ เป็นอุบาสกอุบาสิกาก็ศีล ๘ หรือถ้ารักษากรรมบถ ๑๐ ได้ก็ยิ่งดี เป็นสามเณรก็ศีล ๑๐ เป็นพระก็ศีล ๒๒๗ ข้อพร้อมอภิสมาจาร
              หากว่าเราสร้างสติสัมปชัญญะของเรา ได้สมบูรณ์ เพียงแค่ขยับตัว เราก็รู้แล้วว่าศีลจะขาด จะพร่องหรือไม่ ? ให้เราทบทวนศีลตามสภาพของตนอยู่ทุกวัน อาจจะประเภทว่า ตื่นเช้าขึ้นมาก็เริ่มใคร่ครวญ ทบทวนไปเลย
              มีสิกขาบทไหนที่ยังพร่องไม่สมบูรณ์ ให้ตั้งใจว่า ตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป ศีลทุกสิกขาบทของเราจะสมบูรณ์บริบูรณ์ แล้วตั้งหน้าตั้งตารักษาไป ในขณะที่สติสัมปชัญญะยังไม่สมบูรณ์ การพร่องในศีลย่อมมีเป็นปกติ แต่ว่าอย่าให้พร่องโดยเจตนาของเรา
              เพราะว่าเจตนานั้น เป็นตัวกรรมใหญ่ ที่จะพาเราไปสู่อบายภูมิ หรือไปสู่สุคติ ถ้าเจตนาของเราละเว้น ไม่ละเมิดศีลเป็นปกติ เราก็ไปสู่สุคติแน่นอน แต่ถ้าหากว่าเจตนาของเราตั้งใจละเมิด อบายภูมิก็เป็นที่ไปของเราแน่นอนเช่นกัน
              เมื่อเราใคร่ครวญในศีลเป็นปกติแล้ว มั่นใจแล้วว่า วินาทีนี้เป็นต้นไป ศีลทุกข้อของเราจะสมบูรณ์บริบูรณ์ ก็ให้เราจับลมหายใจเข้าออก ภาวนาต่อไปเลย
              จะเป็นการจับภาพของ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมลมหายใจเข้าออกก็ได้ ใช้คำภาวนาว่าพุทโธ ธัมโม สังโฆก็ได้ แล้วแต่เราถนัด เมื่ออารมณ์ใจของท่านตั้งมั่น ก็แปลว่าท่านทรงฌานในสีลานุสติกรรมฐาน
              ให้ท่านตั้งใจว่า เรารักษาศีลเพราะเคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เรารักษาศีล เพราะเราต้องการไปพระนิพพาน พอกำลังใจทรงตัว ก็ประคับประคองรักษากำลังนั้นเอาไว้ มีใจจดจ่อแน่วแน่อยู่กับภาพของ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งใจว่าพระพุทธเจ้าไม่อยู่ที่หนึ่งที่ใดเลย นอกจากพระนิพพาน เราเห็นท่านคือเราอยู่กับท่าน เราอยู่กับท่านคือเราอยู่บนพระนิพพาน
              ตั้งใจว่า อานิสงส์ของศีลที่เราตั้งใจพิจารณานี้ ที่เราตั้งใจปฏิบัติด้วยการงดเว้นนี้ ขอให้เป็นปัจจัย ส่งผลให้เราเข้าสู่พระนิพพานแห่งเดียว หายใจเข้า ศีลทุกข้อของเราก็สมบูรณ์บริบูรณ์ หายใจออก ศีลของเราก็สมบูรณ์บริบูรณ์
              ให้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออกของเรา อยู่กับศีล ให้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออกของเรา อยู่กับพระ ให้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออกของเรา อยู่กับนิพพาน พยายามทรงกำลังใจแบบนี้ให้เป็นปกติ จึงจะชื่อว่า ท่านปฏิบัติในสีลานุสติกรรมฐานได้ทรงตัว
              การปฏิบัติกรรมฐาน กองใดกองหนึ่งก็ตาม ถ้าเราทำได้แล้ว ก่อนที่จะขึ้นกรรมฐานกองอื่น ให้เราทวนของเก่าเสียก่อน ถ้าเราทำในพุทธานุสติ ก็จับภาพพระพร้อมกับคำภาวนา ให้ทรงตัว แจ่มใส
              ถ้าเราปฏิบัติในธัมมานุสติ ก็จับภาพของดอกมะลิแก้ว หรือดอกมะลิทองคำ ที่เราใช้แทนธัมมานุสติกรรมฐาน ให้เป็นปกติ ทรงตัว แจ่มใส ถ้าปฏิบัติในสังฆานุสติ ก็จับภาพหลวงปู่หลวงพ่อ องค์ใดองค์หนึ่ง ที่เราเคารพท่าน จนภาพปรากฏชัดเจนแจ่มใส อย่างนี้เป็นต้น
              พอกำลังใจทรงตัวเต็มที่แล้ว ค่อยถอยกำลังใจออกมา เริ่มต้นปฏิบัติกรรมฐานกองใหม่ เราต้องมีการย้อน ทวนหน้าทวนหลัง ซักซ้อมเพื่อความคล่องตัว อย่างนี้อยู่เสมอ เพื่อว่า ถึงวาระถึงเวลา กำลังใจมันมีจริตไหนปรากฏขึ้น จะได้ใช้กรรมฐานกองนั้น ๆ ต่อสู้กับมันได้ทันท่วงที
              ดังนั้น เมื่อทำได้แล้ว ของเก่าห้ามทิ้ง ต้องทบทวนไว้ตลอดเวลา ในขณะเดียวกัน เมื่อกำลังใจทรงตัวแล้ว ก็ทำกองใหม่ต่อไป หรือถ้าเราไม่มีความจำเป็น ต้องศึกษามันให้ครบถ้วนสมบูรณ์ เราชอบใจกองไหน ให้เรายึดมั่นกองนั้นของเราไป
              ให้ทำดังนี้อยู่เป็นปกติทุกวันๆ ถือเป็นภาระเป็นหน้าที่ ที่เราจะต้องทรงกรรมฐานกองใดกองหนึ่ง ให้ได้ในแต่ละวัน อย่าให้จิตของเรา ไปฟุ้งซ่านกับความรัก โลภ โกรธ หลง เพื่อรักษาอารมณ์แจ่มใสของจิตให้เป็นปกติ
              ถ้าทำได้ดังนี้ ถึงเวลาเราตาย เราก็ไปสู่สุคติ ถ้าเราไม่ต้องการการเกิด ไม่มีความปรารถนาในร่างกายนี้ ไม่มีความปรารถนาในโลกนี้ เราก็จะไปสู่พระนิพพานตามความต้องการของตน
              ตอนนี้ ขอให้ทุกคน รักษากำลังใจ ให้ทรงตัวอยู่กับอารมณ์ที่เราทำได้ แล้วแบ่งกำลังใจส่วนหนึ่ง ควบคุมร่างกายไว้ตามปกติ เพื่อจะได้สวดมนต์ทำวัตรของเราต่อไป ?

พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
วันพฤหัสบดีที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๔๗


งานทอดกฐินสามัคคี วันคลิตี้ผลธรรมาราม ๒๒ ต.ค. ๔๙

๑๔. มรณานุสติ


              มาว่ากันถึงเรื่องการปฏิบัติต่อไป สำหรับตอนเช้า ถือว่ามีความสำคัญที่สุด เพราะถือว่าเราได้พักผ่อนมาทั้งคืนแล้ว สภาพร่างกายของเรานั้น ถ้ามันหิวมากๆ เหนื่อยมากๆ เจ็บไข้ได้ป่วย ตัวฌานสมาบัติ มันจะเกิดขึ้นยาก
              ถ้าไม่ใช่คนที่ทำฌานสมาบัติ จนคล่องตัวจริงๆ เมื่ออยู่ในภาวะเหล่านี้ กำลังใจหรือว่ากำลังสมาธิ มันจะถดถอย ไม่ทรงตัว
ขณะที่ร่างกายของเราอ่อนเพลีย ถ้าสติสัมปชัญญะของเราดี ก็ยังสามารถทรงฌานสมาบัติอยู่ได้
              แต่ถ้ามันไม่ไหว ต้องการพักผ่อน บางทีสติมันขาดลงไปเอง บางคนจะหลับไม่รู้ตัวเสียด้วยซ้ำ ไม่รู้ว่ามันหลับไปตอนไหน ดังนั้น ในตอนค่ำ เราเหนื่อยมาทั้งวันแล้ว ถ้าจะปฏิบัติภาวนาอีก บางทีมันจะง่วง มันจะโงก มันเอาดีได้ยาก
              ถึงได้กล่าวว่า การปฏิบัติในตอนเช้านี้สำคัญที่สุด เหมือนกับการทำมาหากิน หาเช้ากินถึงค่ำ เพราะว่ากำลังใจของเรานั้น ถ้าหากว่าสภาพแวดล้อมไม่ดี สภาพร่างกายไม่ดี มันก็ไม่ทรงตัว คราวนี้ในตอนเช้า เราพักผ่อนมาทั้งคืนแล้ว ข้ออ้างไม่มี จะกล่าวว่ามันเหนื่อย จะกล่าวว่ามันง่วงไม่ได้ จำเป็นที่จะต้องลุกขึ้นมาทำความดี ความจริงการทำความดีนั้น จะอยู่ในอิริยาบถไหน ก็ได้ผลเสมอกัน
              จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน ได้ทั้งนั้น แต่เนื่องจากว่า ถ้าเราไม่ได้รับการฝึกมาจนอารมณ์ใจทรงตัว อิริยาบถนอน ถ้าเผลอเมื่อไหร่ สติมันขาด มันจะตัดหลับเมื่อนั้น ยกเว้นว่าถ้าเราสามารถทำได้ จนกระทั่งหลับและตื่น จิตมีสภาพตื่นเสมอกัน
              ถ้าอย่างนั้น เราปฏิบัติอยู่ในอิริยาบถนอน ก็จะมีผลเช่นเดียวกับอิริยาบถอื่นๆ ตอนเช้าที่กล่าวว่า มีความสำคัญมาก เพราะว่ากำลังใจที่เราทำได้นี้ มันจะเป็นเครื่องอาศัยไปได้ทั้งวัน
              แต่ถ้าประคับประคองมันไม่เป็น มันก็อาจจะอาศัยไปได้พักหนึ่ง ดังนั้น ในตอนเช้า การปฏิบัติภาวนาของเรา จึงสำคัญมาก สร้างอารมณ์ใจของเราให้สูงที่สุด เท่าที่จะสูงได้ แล้วพยายามประคับประคอง รักษามันเอาไว้
              พยายามสังเกตกำลังใจตัวเองว่า มันมีนิวรณ์กินใจหรือไม่ ? มันกระทบกับงานรอบข้าง กับคนรอบข้างแล้ว กำลังใจมันตกหรือไม่ ? บางคนไปได้ครู่เดียว กำลังใจก็แย่แล้ว แต่ถ้าเราหมั่นฝึกบ่อยๆ สู้ บ่อยๆ กำลังใจมันจะเคยชินกับการอยู่กับความดี มันก็จะทรงตัวได้นานขึ้น
              ถ้าเรารู้สึกว่ามันไม่ไหวแล้ว สมมุติว่า ตอนเช้า เราตั้งกำลังใจสูงสุด เวลาออกบิณฑบาต เราก็ทรงอารมณ์ภาวนาเป็นปกติ กำลังใจมันดี มันก็จะไปเผลอตอนกำลังฉัน เมื่อฉันอาหาร ถ้าสติมันเคลื่อน กำลังใจมันไม่ทรงตัว ก็จะหลุดตอนนั้น
              ถ้าไม่ไปหลุดตอนนั้น ก็จะไปหลุดตอนทำการทำงาน มันเผลอ สติ สมาธิมันอาจจะขาดช่วงลง ถอยลงมาอยู่แค่อุปจารสมาธิเท่านั้น ทำให้รัก โลภ โกรธ หลง กินใจเราได้ง่าย ก็ให้หาเวลา เพื่อที่จะภาวนา ให้กำลังใจมันทรงตัวใหม่
              ถ้าเราทำการทำงาน คนรอบข้างวุ่นวายอยู่ ให้หาโอกาสเข้าห้องน้ำสักหน่อยหนึ่ง แต่เข้าลักษณะแบบคนท้องผูก นั่งนานนิดหนึ่ง แต่เป็นการนั่งภาวนา พออารมณ์ใจทรงตัวก็ประคับประคอง รักษามันเอาไว้ แล้วออกมาทำหน้าที่ของเราต่อ
              กำลังใจมันก็จะทรงตัวได้เหมือนเดิม แล้วก็คอยระมัดระวัง ประคับประคองมันอยู่เสมอ พอสักบ่ายแก่ๆ จะรู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว มันหนักเหมือนกับแบกช้างทั้งตัว ก็หาทางทำใหม่ ภาวนาใหม่
              การที่เราปฏิบัติภาวนา พยายามอย่าให้คนเห็น เพราะว่าถ้าไม่ได้ไปในทางเดียวกัน คือ กำลังใจไม่ได้ไปในทางเดียวกันทั้งหมด บุคคลแค่เอ่ยปากปรามาส โทษหนักจะเกิดกับเขา ถึงได้กล่าวว่า อย่าพยายามให้คนเห็น แอบๆ ทำเอา
              พอทำตอนบ่าย กำลังมันก็จะต่อช่วงไปถึงเย็น เมื่อเลิกงานกลับบ้าน กลับที่พักของเรา คราวนี้ร่างกายมันไม่ไหวแล้ว เหนื่อยมาทั้งวัน เพลียมาทั้งวัน ก็ให้ตั้งใจว่า ...
              ตอนนี้เรานอนลงแล้ว ร่างกายที่เหยียดยาวออก มันก็เหมือนกับคนตายนั่นเอง มันจะได้ลุกขึ้นมาใหม่ ได้เห็นพระอาทิตย์ขึ้นวันใหม่หรือเปล่าก็ช่างมัน ถ้ามันตายตอนนี้ เราขอไปพระนิพพาน แล้วจับลมหายใจให้หลับไป
              ให้พยายามทำอย่างนี้ ถึงกล่าวได้ว่า เป็นการปฏิบัติที่ต่อเนื่อง เหมือนกับเราอยู่ในสถานที่นี้ เปิดไฟตรงหน้าพระประธาน แสงไฟอาจจะไปได้ไม่ตลอด เราต้องเปิดไฟตรงกลางอีกหนึ่งดวง แสงไฟก็ยังไปได้ไม่ทั่ว ต้องเปิดไฟหน้าอาคารอีกหนึ่งดวง
              นี่คือลักษณะของการที่เรา ใช้ความพยายามในการปฏิบัติภาวนา ตอนเช้า ภาวนาให้อารมณ์ใจทรงตัว เหมือนเปิดไฟหน้าพระประธาน พอรู้สึกว่ามันไม่ไหว แสงมันจะส่องไม่ถึง ตอนกลางวัน ก็ภาวนาต่ออีกสักครู่หนึ่ง จะตอนเวลาพักเที่ยง หรือเวลาอะไรก็ได้
              พอรู้สึกว่า ไฟมันส่องไม่ถึงตอนบ่าย ก็เปิดไฟหน้าอาคาร คือ ภาวนามันอีกสักครู่หนึ่ง อาจจะตอนเวลากาแฟก็ได้ แล้วหลังจากนั้น ตอนค่ำ เรานอนลงตั้งใจว่า ถ้ามันตายขอไปพระนิพพาน ภาวนาให้หลับไป
              ตอนที่หลับ กำลังใจอย่างน้อย ต้องเป็นปฐมฌานอย่างหยาบ ไม่อย่างนั้นมันจะฟุ้งซ่านอยู่ หลับไม่ได้ แปลว่า คืนนั้นทั้งคืนจนกว่าจะตื่น เราอยู่ในฌาน ระดับปฐมฌานหยาบ เป็นอย่างน้อย
              กำลังใจของเรา ก็จะทรงอยู่ในด้านดี เมื่อตื่นขึ้นมา รู้สึกตัวเมื่อไร ภารกิจแรกของเราคือ จับลมหายใจเข้าออก ถ้าจิตทรงเป็นปฐมฌานอย่างหยาบ ตื่นขึ้นมา จะงงอยู่พักหนึ่ง แล้วในที่สุดจะคิดได้ว่า เราต้องภาวนา แล้วก็จะเริ่มจับลมภาวนา
              ถ้าเป็นปฐมฌานอย่างกลาง ตื่นขึ้นมารู้สึกตัว มันจะภาวนาต่อทันที ถ้าเป็นปฐมฌานอย่างละเอียด หลับอยู่มันก็รู้ว่าหลับ อะไรเกิดขึ้นในระหว่างที่หลับ จะรู้ทั้งหมด เพียงแต่จะใส่ใจกับมันหรือไม่เท่านั้น
              ดังนั้น คำภาวนาก็ดี การพิจารณาก็ดี มันจะต้องเนื่องกันไป ตลอดระยะเวลาที่หลับ เมื่อจะตื่น รู้ตัวว่าจะตื่น กำหนดใจว่า เราพร้อมที่จะตื่นแล้ว กำลังใจมันจะคลายตัวออก ความรู้สึกจะกระจายออกไป จนถึงปลายมือปลายเท้า
              ต่อเมื่อประสาทร่างกายสมบูรณ์แล้ว มันก็จะบอกว่า เอาละ..ลุกได้ มันก็จะลุก ลืมตา มันก็จะลืมตา ลุกขึ้น มันก็จะลุกขึ้น ลักษณะของจิตมันเร็วมาก แจ่มใสมาก มันจะสั่งการ เหมือนกับร่างกายนี้เป็นหุ่นยนต์
              แต่ว่ามันสั่งการเร็ว คนภายนอกจะดูไม่ออก จะเหมือนกับว่า เราลืมตาแล้วลุกขึ้นเลย แต่เนื่องจากว่า จิตมันละเอียด มันเห็นชัดเจนทุกขั้นตอน มันเหมือนกับภาพรีเพลย์ช้าๆ เหมือนกับดูโทรทัศน์ เราจะสามารถควบคุมร่างกายได้ มีสติอยู่กับทุกอิริยาบถของมัน
              ถ้าเราสามารถรักษากำลังใจทรงตัวได้ จิตใจจะสงบ จะเยือกเย็น สติสมาธิก็จะทรงตัว ระหว่างที่ทำการทำงานต่างๆ งานการจะมีประสิทธิภาพมาก เพราะว่าสติมันอยู่เฉพาะหน้า โอกาสที่จะผิดพลาดทางการงานมันก็น้อย
              เมื่อกำลังใจมันเริ่มตก เริ่มลดลง อันนี้ต้องขยันสังเกต คือ ความเครียดมันจะเริ่มปรากฏขึ้น บางคนคุยกับเจ้านายหรือผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่รู้ตัวว่าเสียงตัวเองดังขึ้นๆ
              ให้รู้ตัวไว้เลยว่า ถ้าเสียงเราดังเกินระดับปกติเมื่อไร ถ้าไม่ใช่ รัก โลภ โกรธ หลง มาครองใจของเราเต็มๆ แล้ว ก็แปลว่า กำลังสมาธิของเรามันถอยแล้ว ความเหนื่อยความเครียดกับงาน มันเข้ามาแทนที่แล้ว
              เมื่อรู้ตัว ให้รีบหาเวลา ที่จะขับไล่สิ่งที่ไม่ดี ให้ออกจากใจเรา เพื่อที่จะรักษากำลังใจของเราให้ทรงตัว อารมณ์ใจในตอนเช้า ถ้าหากว่ามันฟุ้งซ่าน มันจะพาเราฟุ้งซ่านไปทั้งวัน และอาจจะหลายๆ วัน
              แต่ถ้าอารมณ์ใจตอนเช้ามันทรงตัว เกาะความดีได้ ราคะ โลภะ โทสะ โมหะ มันจะถอยของมันไป เพราะสภาพจิตของเรา เสวยอารมณ์ได้เพียงอย่างเดียว ถ้าตอนนี้ อารมณ์ของความดี มันอยู่กับเรา อารมณ์ของความชั่ว มันก็เข้าไม่ได้
              แต่ถ้าเผลอสติ ให้อารมณ์ของความดีหลุดไป อารมณ์ของความชั่วมันเข้ามาแทน คราวนี้จะยุ่งแล้ว เพราะว่าพวกเราทุกคน เคยชินกับการทำความชั่วมา นับชาติไม่ถ้วน ในเมื่อมันเคยชิน ถึงวาระ ถึงเวลา กำลังใจมันจะไหลไปหาความชั่วเอง
              ดังนั้น เมื่อรู้ตัว ต้องรีบดึงกำลังใจคืนมา ให้มาอยู่กับลมหายใจเข้าออก ให้มาอยู่เฉพาะหน้า อย่าให้มันไหลไปกับ รัก โลภ โกรธ หลงได้ การปฏิบัติ ถ้าเรามีสติควบคุมตัวเอง ลักษณะนี้อยู่ทุกวัน เราจะมีความก้าวหน้าขึ้นไปทุกวัน
              ขณะที่ก้าวหน้า ก็อย่าไปยินดีกับมัน อย่าไปพอง อย่าไปฟูกับมัน เพราะว่าถ้าเราพองกับมัน ฟูกับมัน ก็แปลว่า เราปล่อยให้กำลังใจของเรา ถูกรัก โลภ โกรธ หลง แซงได้แล้ว แต่ขณะเดียวกัน กำลังใจมันถดถอย ก็อย่าไปฟุบอยู่กับมัน อย่าไปเสียใจอยู่กับมัน
              เรายังไม่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์แบบพระอรหันต์ จะให้กำลังใจมันทรงตัวมั่น คงไปทีเดียว มันเป็นไปไม่ได้ ในแต่ละวัน พยายามให้กำลังใจของเรา เกาะด้านดีมากกว่าด้านชั่ว ๒๔ ชั่วโมงพยายามให้กำลังใจมันอยู่กับด้านดีให้ได้ ๑๒ ชม. หรือเกิน ๑๒ ชม.ไป ไม่อย่างนั้น เราจะขาดทุน
              สำหรับตอนนี้ เราก็มาศึกษากันต่อ ในด้านของกรรมฐานกองต่อไป วันนี้จะกล่าวถึง มรณานุสติกรรมฐาน คือการนึกถึงความตาย การนึกถึงความตาย เป็นเรื่องของคนฉลาด ที่เป็นพุทธิจริต
              สำหรับจริตอื่นๆ ยังนึกได้ยาก บางทีพอกล่าวถึงความตาย ก็รู้สึกหดหู่ รู้สึกเศร้าหมอง รู้สึกหวาดกลัวแล้ว ความตายเป็นธรรมดาของสัตว์โลกทั้งหมด พระพุทธเจ้าตรัสว่า สัตว์โลกเกิดมาเท่าไร ตายหมดเท่านั้น
              คือ ทุกคนเกิดมาแล้ว ต้องตายแน่นอน สัตว์ทุกตัวเกิดมาแล้ว ต้องตายแน่นอน แต่ที่เห็นคนเห็นสัตว์ มันมากขึ้นทุกวัน เพราะว่า การเกิดขึ้นมา มันยังต้องดำรงชีวิตอยู่ระยะหนึ่ง อาจจะไม่กี่ปี หรือว่าหลายสิบปี
              ดังนั้น คนเก่ายังไม่ทันจะตาย สัตว์เก่ายังไม่ทันจะตาย คนใหม่ สัตว์ใหม่ มันก็เกิดขึ้น เราถึงได้รู้สึกว่า มันมากขึ้นๆ แต่จริงๆ แล้วมันเกิดมาเท่าไหร่ มันตายหมดเท่านั้น การระลึกถึงความตาย ทำให้เราไม่ประมาท
              เป็นการสรุปยอดคำสอน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ลงเหลือแต่คำว่า ไม่ประมาท คำเดียว คนเราถ้ารู้ตัวอยู่ว่าจะตาย ตายแล้วไม่แน่ว่าจะไปสุคติหรือทุกคติ
              ถ้าคนนั้นมีความฉลาด ก็จะรีบขวนขวาย ปฏิบัติเพื่อตนเอง อย่างน้อยๆ ให้พ้นจากอบายภูมิ ไม่ต้องไปเกิดเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ให้ได้เกิดเป็นเทวดาเป็นพรหมเป็นอย่างน้อย หรือถ้าปฏิบัติต่อ เข้าสู่พระนิพพานได้เลยก็ยิ่งดี
              ความตายนั้น มาถึงเราได้ทุกเวลา หายใจเข้า ไม่หายใจออก มันก็ตาย หายใจออก ไม่หายใจเข้าไปใหม่ มันก็ตายแล้ว ความตายอยู่กับเรา ทุกลมหายใจเข้า ทุกลมหายใจออก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสถามพระอานนท์ว่า
              “อานันนทะ..ดูก่อน อานนท์ เธอนึกถึงความตายประมาณวันละกี่ครั้ง ?” พระอานนท์ (ตอนนั้นเป็นพระโสดาบันแล้ว) ตอบว่า “ประมาณ ๗ ครั้ง พระพุทธเจ้าข้า” พระพุทธองค์ทรงตรัสตอบไปว่า
              “อานันทะ..ดูก่อน อานนท์ นั่นยังห่างไกลนัก ตถาคตนึกถึงความตาย ทุกลมหายใจเข้าออก” นั่นคือ บุคคลที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ รู้ตัวอยู่เสมอว่าจะตาย หายใจเข้า ไม่หายใจออกก็ตาย หายใจออก ไม่หายใจเข้าก็ตายเช่นกัน
              ดังนั้น ทุกลมหายใจเข้า ทุกลมหายใจออก เราอยู่กับความตายตลอดเวลา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงทรงตรัสว่า พระองค์ท่านนึกถึงความตาย ทุกลมหายใจเข้าออก ถ้าเราไม่สามารถจะนึกถึงขนาดนั้นได้ ก็ให้กำหนดใจ นึกไปถึงในเวลาที่เรามีสตินึกได้ ดูซิว่า คนที่ตายไปแล้วมีไหม ? สัตว์ที่ตายไปแล้วมีไหม ? เอาแค่คนที่เรารู้จัก เอาแค่ญาติมิตรสนิทสนมกับเรา
              คนที่แก่กว่าอย่าง พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ตายไปแล้วเท่าไร ? พี่ ป้า น้า อา ตายไปแล้วเท่าไร ? เพื่อนรุ่นเดียวกับเรา ตายไปแล้วเท่าไร ? รุ่นน้องๆ ตายไปแล้ว เท่าไร ? เด็กเล็กๆ ตายไปแล้วเท่าไร?
              ความตายอยู่กับเราตลอดเวลา ไม่มีนิมิตไม่มีเครื่องหมายว่า จะมาถึงเวลานั้นเวลานี้ ทันทีทันใด ก็อาจจะเข้ามาถึงได้ เด็กเล็กๆ ก็ตาย คนหนุ่มคนสาวก็ตาย คนวัยกลางคนก็ตาย คนแก่ก็ตาย
              เด็กบางคน ยังอยู่ในท้องแม่ ได้แค่เดือนสองเดือน สภาพร่างกาย ยังพัฒนาเป็นคนได้ไม่สมบูรณ์ ยังมีอวัยวะภายในภายนอกไม่ครบถ้วน ๓๒ ก็ตายแล้ว แท้งออกมาตาย บางคนก็ตายในวันที่คลอด บางคนก็อยู่ได้ในระยะหนึ่งก็ตาย
              บางคนวิ่งได้ เดินได้เก่งแล้ว ค่อยตาย บางคนเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้ว ค่อยตาย เป็นวัยกลางคนแล้วตาย เป็นคนแก่แล้วตาย ความตายมาได้ตลอดเวลา ถ้าหากว่าตายแล้วเราเกาะความดีไม่ได้ ตกสู่อบายภูมิ ก็ขึ้นชื่อว่าขาดทุนย่อยยับ
              ถ้าเกาะความดีได้บางส่วน ได้เกิดเป็นมนุษย์ก็ยังพอทน เกิดเป็นเทวดาพอได้มีความสุขชั่วคราว แต่ยังต้องเวียนว่ายเวียนเกิดอีก ลงมาพบกับความตายอีก ดังนั้น ถ้าจะให้พ้นการเวียนว่ายตายเกิดได้ มีอยู่สถานที่เดียวคือพระนิพพาน
              พระนิพพานนั้น จะเรียกว่าเกิดก็ไม่ได้ เพราะว่าเกิดแล้วต้องมีตาย เป็นสถานที่ที่บุคคลทำความดีถึงที่สุด หลุดพ้นจากวัฏสงสาร จะไปอยู่กันที่สถานที่นั้น บุคคลที่อยู่ในนิพพานคือ พระอรหันต์ทั้งหมด พระปัจเจกพระพุทธเจ้าทั้งหมด พระพุทธเจ้าทั้งหมด
              เราเกิดมาในชาติหนึ่งๆ ที่ผ่านมา มีชาติไหนที่เราไม่ตายบ้าง ? ในแต่ละชาตินั้นๆ เราอาจโชคดี ได้พบพระอรหันต์ ได้ทำบุญกับท่าน บางทีได้พบหลายๆ องค์ ถือว่าเป็นโชคดีมหาศาล ได้ต่อกำลังบุญ กำลังความดีของเรามา
              ส่งผลให้เราเป็นสัมมาทิฐิ มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง บางชาติเกิดมา ได้พบพระปัจเจกพระพุทธเจ้าเป็นแสนๆ องค์ พระปัจเจกพระพุทธเจ้า จะเกิดในช่วงที่โลกว่างจากพระพุทธเจ้า ว่างจากพระศาสนา บางทีได้พบท่านเป็นแสนๆ องค์
              บางชาติ บางวาระ เราได้พบกระทั่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บางทีก็ได้กราบทำบุญ กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมด้วยพระอรหันตเจ้าบริวารเป็นแสนๆ องค์ แต่ว่าในชาตินั้นๆ เราพ้นความตายไหม ?
              มันก็ตายจนได้ ตายแล้วก็เกิด เกิดแล้วก็ตายอยู่เป็นปกติ ต้องพบกับความทุกข์ยาก เร่าร้อนเป็นปกติ จิตประกอบไปด้วยราคะ โลภะ โทสะ โมหะ เป็นปกติ
              แล้วบุคคลที่ประเสริฐสุด อย่างพระอรหันตเจ้าทุกรูปก็ดี พระปัจเจกพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ก็ดี พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ ก็ดี ก็ไม่อาจจะหนีพ้นจากความตายไปได้ วาระสุดท้าย ทุกๆ พระองค์ก็ทิ้งขันธ์ เข้าสู่พระนิพพานเช่นเดียวกัน
              บุคคลที่เลิศที่สุด ประเสริฐที่สุด ก็ยังไม่สามารถจะพ้นความตายได้ เทวดา พรหม ที่บางศัพท์เรียกว่า อมร (อะมะระ แปลว่า ผู้ไม่ตาย) ก็ยังคงตายเช่นกัน ถึงวาระหมดบุญ ก็จุติ คือ เคลื่อนจากภพนั้นๆ เพื่อไปกำเนิดในภพอื่นได้
              การจุติหรือเคลื่อนไป ก็คือความตายนั่นเอง ในเมื่อผู้ที่ทรงความดีสูงสุด คือพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพระพุทธเจ้า พระอรหันตเจ้าทุกรูปทุกนาม ไม่สามารถจะรอดพ้นความตายไปได้
              พรหมทั้งหลาย เทวดาทั้งหลาย ไม่สามารถจะรอดพ้นความตายไปได้ แล้วตัวเรามันจะพ้นความตายไปได้อย่างไร ? ในเมื่อเรามีความตาย อยู่ทุกลมหายใจเข้า ทุกลมหายใจออก เราไม่ทราบว่ามันจะตายเมื่อไร
              เราต้องเร่งขวนขวาย ปฏิบัติความดีให้มากที่สุด สั่งสมเสบียงไว้ให้มากที่สุด เพื่อการเดินทาง อันยาวไกลในเบื้องหน้า ถ้ายังมีการเดินทางอยู่ เราจะได้มีเสบียงอาหาร ที่พร้อมบริบูรณ์ ไม่ต้องยากลำบาก กับการเดินทางมากนัก
              แต่ถ้าเราตายแล้ว สามารถหลุดพ้นเข้านิพพานได้ นั่นเป็นสิ่งที่วิเศษที่สุด ดีที่สุด แต่เราก็ประมาทไม่ได้ ดังนั้น ต่อให้เรารู้ว่า ถ้าตายแล้ว เราจะเข้าพระนิพพานแน่ๆ เราก็ยังคงต้องสร้างสมความดี ละเว้นความชั่ว ให้เป็นปกติ
              ทุกๆ ขณะจิต ให้มีพระพุทธเจ้า ให้มีพระธรรม ให้มีพระสงฆ์อยู่ในใจ ทุกๆ ขณะจิต ให้มีพระนิพพานอยู่ในใจ รู้ตัวอยู่เสมอว่ามันจะต้องตาย ถ้าตายแล้วเราขอไปพระนิพพานแห่งเดียว

              เมื่อพิจารณาดังนี้แล้ว จนกระทั่งอารมณ์ใจทรงตัว ก็ให้จับการภาวนาต่อไป อารมณ์ใจของเรา ให้อยู่กับลมหายใจเข้า ลมหายใจออก อยู่กับความรู้สึกทั้งมวล ที่ไหลตามลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
              ระลึกอยู่เสมอว่าเราต้องตาย ถ้าตายเราขอไปพระนิพพานเท่านั้น ในแต่ละวัน ให้รักษาอารมณ์ใจ ในลักษณะนี้ให้มากที่สุด ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถไหนก็ตาม ให้ระลึกอยู่เสมอว่าเราต้องตาย ตายอย่างแน่นอน
              ถ้าตายแล้ว เราขอไปพระนิพพาน ถ้าตายแล้ว ขอไปอยู่กับพระพุทธเจ้า ถ้าตายแล้ว ขอไปอยู่กับหลวงปู่ หลวงพ่อของเรา ถ้าสามารถทำอย่างนี้ได้ ก็ชื่อว่าท่านทรงมรณานุสติกรรมฐานได้ อย่างที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องการ
              ไม่ว่าจะประกอบกิจการงานใดๆก็ตาม ให้มีสติระลึกอยู่เสมอว่า เราต้องตาย ถ้าจะตาย ก็ขอตายภายใต้การทำความดี ทำตามที่องค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนไว้ ทำให้ได้มากที่สุด ให้ดีที่สุด เมื่อถึงวาระถึงเวลา จะได้จากไปอย่างสง่างามที่สุด
              สำหรับตอนนี้ ให้ทุกคนประคับประคองอารมณ์ใจไว้ พอเราเปลี่ยนอิริยาบถ อย่าให้จิตเคลื่อนตามไป ให้กำลังส่วนหนึ่งเกาะความดี เกาะพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เกาะพระนิพพานเอาไว้ตามปกติของเรา ?

พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
วันศุกร์ที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๔๗


งานตักบาตรเทโว วัดท่าขนุน ๘ ตุลาคม ๒๕๔๙

๑๕. กายคตานุสติ


              สำหรับวันนี้ ในเบื้องต้นขอกล่าวถึง ความมีสติสัมปชัญญะของเรา สติ คือความระลึกนึกได้ สัมปชัญญะ คือ ความรู้ตัว
              เราบวชเข้ามา เป็นพระภิกษุ ในพระพุทธศาสนา เรามีความรู้ตัวบ้างหรือไม่ ว่า ตอนนี้ เราเป็นปูชนียบุคคลแล้ว เป็นบุคคลที่ชาวบ้านเขากราบไหว้ เขาให้การเคารพบูชา เขาให้การเลี้ยงดูเป็นปกติ
              ถ้าหากว่าเรามีสติระลึกได้ ก็นับว่าเข้าถึง แต่ถ้าเราไม่มีสติ ระลึกได้ตรงนี้ เราจะขาดทุนมาก เพราะว่า ถ้าเราระลึกได้เฉยๆ ว่าเป็นปูชนียบุคคล มันจะประกอบไปด้วยตัวมานะ ถือตัวถือตนอีกต่างหาก
              เราต้องนึกไปถึง ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บัญญัติศัพท์ขึ้นมาเรียกพวกเรา ท่านใช้คำว่าภิกขุ คือ ผู้ขอ หรือ ผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร การเป็นผู้ขอ เพราะว่า เรามีปกติบิณฑบาตเลี้ยงชีพ ท่านใช้คำว่าสัมมาอาชีวะ อาชีพที่ถูกต้อง
              พระของเรามีงานประจำ เกี่ยวกับการเลี้ยงชีพ เพียงอย่างเดียว คือ ขอเขากิน เราเป็นขอทาน งานอื่นไม่ใช่งานของพระ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการหาเงินหาทอง แบบไหนก็ตาม ไม่ใช่งานของพระทั้งหมด
              งานประจำมีอย่างเดียวคือ เช้าขึ้นมาออกบิณฑบาต ถ้าเราไม่มีความระลึกได้ตรงนี้ เราก็อาจจะไปในลักษณะ ทำตัวเป็นเจ้านายเขา ไปให้โยมเขาสงเคราะห์ เหมือนกับว่าเป็นหน้าที่โยมที่จะต้องเลี้ยงเรา
              ถ้าเป็นดังนี้ เราจะขาดทุนมาก เพราะว่าโบราณท่านใช้คำว่า โปรดสัตว์ คือ เราต้องรักษากาย วาจา ใจของเราให้ดีที่สุด ให้สะอาดบริสุทธิ์ที่สุด เท่าที่จะทำได้ เมื่อถึงวาระ ถึงเวลาแล้ว การที่ญาติโยมเขาสงเคราะห์เรา เขาจะได้อานิสงส์สูงสุดเท่าที่เขาจะพึงได้
              การทำบุญของญาติโยมส่วนใหญ่ คือ หวังผลเพื่อความสุขสบายในเบื้องหน้า ถ้าหากว่าศีล สมาธิ ปัญญาของเราดี มีความแจ่มใส มีความผ่องใส บริสุทธิ์เป็นปกติ ญาติโยมที่ทำบุญ ท่านก็จะได้บุญใหญ่ สมกับความตั้งใจของเขา
              สมกับที่โบราณท่านบัญญัติ ใช้คำว่าโปรดสัตว์ แต่ถ้ากำลังใจของเราไม่ดี ศีล สมาธิ ปัญญาของเราบกพร่อง เราออกไปในแต่ละวัน มันจะไม่ใช่การโปรดสัตว์ มันเป็นการไปให้สัตว์เขาโปรด โทษใหญ่ก็จะเกิดขึ้นกับเรา
              ทุกวันตัวเราขวนขวายหาความดีใส่ตัว แล้วในตอนเช้าๆ ญาติโยมก็จะมาเอาความดีไปจากเรา ถ้าเราไม่สามารถรักษาความดีให้ทรงตัวได้ มีความดีเพียงเล็กน้อย ญาติโยมจำนวนมากด้วยกัน ต่างคนต่างเอาไป ต่างคนต่างคว้าไป เราก็จะไม่มีอะไรเหลือ
              ไม่เหลือยังไม่ว่า อาจจะขาดทุน ติดลบอีกต่างหาก ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของเรา ที่จะต้องทรงสติสัมปชัญญะ ให้สมบูรณ์อยู่เสมอ เหลือบเห็นผ้าเหลืองเมื่อไร ให้รู้ตัวว่า ตอนนี้ เราเป็นพระแล้ว คลำศีรษะไม่มีผมหรือผมสั้น เราต้องรู้ตัวว่า เราเป็นพระแล้ว
              ท่านว่า บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว กริยาอาการใดๆ ที่เป็นของสมณะ เราต้องทำกริยาอาการนั้นๆ คือ ต้องมีความสำรวมในตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นปกติ
              ในขณะที่บิณฑบาต ต้องมีสติระมัดระวังอยู่เสมอ กำลังใจให้ทรงตัวอยู่กับภาพพระให้เป็นปกติ กำลังใจให้ทรงตัวอยู่กับการภาวนาให้เป็นปกติ เมื่อโยมเขาสงเคราะห์ ก็ใช้เสขิยวัตรในการบิณฑบาตของเรา คือ สายตาลดต่ำ เหลือบดูอยู่แต่ในบาตร
              เมื่อถึงวาระของการเดิน ให้มองไปข้างหน้าแค่ชั่วแอก คือ ถ้าหากว่าเราอยู่บนเกวียน ก็มองไปสุดปลายแอก คือ แค่คอวัวเท่านั้น ถ้าในปัจจุบันนี้ก็คือ ทอดสายตาต่ำลงมองไปข้างหน้า ระยะประมาณสองเมตร
              ไม่ใช่สอดส่ายสายตาไปทั่ว ขาดการสำรวมระวัง ญาติโยมที่เป็นผู้หญิงเขาใส่บาตร แทนที่ใจของเราจะอยู่กับพระ แทนที่ใจของเราจะนึกอวยพรให้เขา ว่าขอให้เขาทั้งหลายมีความสุข มีความปรารถนาที่สมหวังทุกประการ
              เราก็จะไปยินดียินร้ายกับเขาอีก เห็นโยมผู้หญิงแก่หน่อยก็ อ้าว...ทำไมแก่จัง ? เห็นโยมผู้หญิงอ้วนหน่อยก็ อ้าว...ทำไมอ้วนจัง ? ไม่พอใจ เห็นโยมผู้หญิงหน้าตาดีหน่อย ใจก็ไปคิด เออ...หน้าตาดีนะ น่ารัก น่าปรารถนา น่าจะเป็นแฟนของเรา
              ถ้าในลักษณะนี้ เราจะขาดทุนมาก เพราะว่าราคะกับโทสะ จะกินใจเราอยู่ตลอดเวลา มันกินลึก มันซึมลึก กว่าเราจะรู้ตัว มันพาเราลงนรกไปนานแล้ว เราไปให้ญาติโยมเขาสงเคราะห์ ได้ข้าว ได้กับ ได้น้ำมา เพื่อที่จะเป็นเครื่องอาศัย
              คือฉันลงไปแล้ว ให้อัตภาพร่างกายนี้มันคงอยู่ได้ ไม่เกิดอาการกระวนกระวายมากนัก เราจะได้ปฏิบัติธรรมของเรา ให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป ได้ข้าว ได้กับ ได้น้ำ ได้ขนมแล้ว ยังคิดจะไปเอาตัวของเขาอีก มันก็เกินไป
              เพราะฉะนั้น ต้องมีความสำรวมระวังให้เป็นปกติ ตลอดระยะทาง ควรจะทำอย่างไร ควรจะปฏิบัติอย่างไร เรารู้อยู่ ถ้ากำลังใจของเราทรงตัวอยู่ในด้านดี สามารถรักษาความแจ่มใสของจิต ไม่ให้กิเลสมันเข้ามาแทรกได้ ญาติโยมที่ทำบุญกับเราก็จะมีบุญมาก
              ในแต่ละวัน เราฉันข้าวที่ญาติโยมเขาเลี้ยง ใช้สอยปัจจัย ๔ ที่ญาติโยมเขาสงเคราะห์ เท่ากับว่าชีวิตนี้ไม่ใช่ของเรา มันกลายเป็นของโยมไปแล้ว ในเมื่อชีวิตของเราก็เป็นของโยมเขาไปแล้ว จะเรียกง่ายๆ ว่า เป็นทาสของเขาไปแล้ว
              ลักษณะของทาส หรือว่าลูกจ้าง หรือคนที่เขาเลี้ยง คนที่เขาสงเคราะห์ ก็ต้องทำตัวให้ดีที่สุด เพื่อให้นายทาส หรือว่านายจ้าง หรือบุคคลผู้ให้การสงเคราะห์ เขาจะได้เมตตาสงเคราะห์เราไปเรื่อย
              ไม่ใช่ว่าออกไปในลักษณะที่ กำลังใจมันใช้ไม่ได้ เราเป็นพระ เป็นปูชนียบุคคล กำลังใจอย่างน้อยๆ ก็ต้องเป็นเทวดา เป็นพรหม หรือกำลังใจเป็นพระได้ยิ่งดี
              ไม่ใช่กำลังใจของเรา เป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน แล้วไปให้มนุษย์เขาสงเคราะห์

              ถ้าลักษณะนั้น เขาสงเคราะห์เรา อานิสงส์เขาก็น้อย ขาดทุน เราก็จะไม่ใช่เนื้อนาบุญที่ดี ตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งความปรารถนาไว้
              เราเป็นพระภิกษุสงฆ์ หน้าที่ของเราคือ อันดับแรก ชำระจิตใจของเราให้ผ่องใส ให้มีกิเลสอยู่ในใจให้น้อยที่สุด ถึงหมดไปได้เลยยิ่งดี อันดับที่สองก็คือ สงเคราะห์ญาติโยมเขา ตามกำลังตามความสามารถของตน
              ไม่ว่าจะเป็นการสงเคราะห์ ในลักษณะเนื้อนาบุญก็ดี สงเคราะห์ในการ สอนญาติโยมให้รู้ธรรมก็ดี การสงเคราะห์ข้อหลังนี้ จัดเป็นการเผยแผ่พระศาสนา ให้กว้างไกลออกไปด้วย
              ถ้าเรายังทำไม่ได้ เรายังปฏิบัติไม่ได้ เราจะเอาอะไรไปสอนญาติโยมเขา สอนตัวเองยังไม่สำเร็จ สอนคนอื่นมันจะสำเร็จได้อย่างไร ? ตราบใดที่เรายังทำไม่ได้ ยังไม่รู้จริง ตราบนั้นสิ่งที่เราพูด ก็ไม่แน่ว่าจะถูกต้อง สิ่งที่เราสอน ก็ไม่แน่ว่า จะเป็นไปตามพระสัทธรรม ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
              ปัจจุบันนี้ นักบวชต่างๆ ตลอดจนกระทั่งฆราวาส ทำให้พระธรรมคำสั่งสอน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตกต่ำเหลือเกิน แต่ละคนอ้างสิทธิ อ้างเสรีภาพ ในการที่จะวิเคราะห์ วิจัย วิจารณ์ คำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
              มันเป็นการใช้การวิเคราะห์ วิจารณ์ วิจัย ด้วยโลกียปัญญาในลักษณะของปริยัติ คือศึกษา วิเคราะห์ ข้อมูลเท่านั้น ไม่ใช่การปฏิบัติ จนตีราคาคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตกต่ำลงไปทุกวัน ไร้ค่าลงไปทุกวัน
              หน้าที่ของเราคือ ต้องทำให้ได้ เมื่อถึงวาระ ถึงเวลา เราจะได้ยืนยันกับเขา เราจะได้มีหลักฐานบอกเขาว่า ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่แท้จริงเป็นอย่างนี้
              ถ้าเราทำอย่างนี้ได้ เราถึงจะเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส คือเป็นลูกที่พระพุทธ เจ้าท่านรักมาก แต่ถ้าเราทำไม่ได้ สักแต่ว่าอาศัยผ้าเหลือง ให้โยมเขาสงเคราะห์ไปวันหนึ่งวันหนึ่ง สักแต่ว่าอาศัยพระศาสนาเป็นที่อาศัย เป็นที่อยู่ที่กินไปวันหนึ่งวันหนึ่ง
              เราตายเมื่อไร เรามีหวังลงอเวจีมหานรก อบายภูมิเปิดรอเราอยู่ ดังนั้น ในแต่ละวัน เราต้องทบทวนศีลของเรา ให้บริสุทธิ์ เราต้องรักษาสมาธิของเรา ให้ตั้งมั่นทรงตัว เราต้องมีปัญญา รู้แจ้งเห็นจริงสภาพร่างกายนี้ และสภาพของโลกนี้
              จงถอนความยินดี อยากได้ใคร่มี ในร่างกายนี้ ในโลกนี้เสีย เพื่อจะได้หลุดพ้น ไปพระนิพพานให้ได้
เพื่อที่เราจะได้เป็นบุคคล ที่ญาติโยมเขาสงเคราะห์แล้ว ได้อานิสงส์มาก เพื่อที่เราจะได้เผยแผ่ พระธรรมคำสอน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้ขจรขจายออกไป เพื่อที่ญาติโยมทั้งหลายจะได้รู้ว่า นักบวชที่ดีจริงๆ ยังมีอยู่
              แม้มันจะดีถึงที่สุดไม่ได้ ก็ให้มันดีในลักษณะของพระโยคาวจร คือ ผู้ตั้งใจปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น แม้จะไม่ได้เป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี หรือพระอรหันต์ ขึ้นชื่อว่าพระโยคาวจร ก็ยังไม่ขาดทุนมาก
              คราวนี้ การที่เราจะรู้เท่าทันร่างกาย รู้เท่าทันในโลกนี้ เราต้องรู้จักคิด รู้จักพิจารณา ศึกษาตามคำสอน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วนำมาปฏิบัติให้เห็นผล
              สำหรับวันนี้ จะกล่าวถึงกายคตานุสติกรรมฐาน คือการระลึกถึงสภาพความเป็นจริงของร่างกายนี้ กายคตานุสติกรรมฐาน เป็นกรรมฐานที่สำคัญมาก ผู้ที่จะเป็นพระอริยเจ้าทุกท่าน ต้องผ่านกรรมฐานกองนี้
              ถ้าไม่เคยปฏิบัติ ในกายคตานุสติกรรมฐาน เราจะเป็นพระอริยเจ้าไม่ได้ กายคตานุสติ การตามระลึกถึงกาย คือ ดูให้รู้ ให้เห็น ในสภาพความเป็นจริงของร่างกาย ดูว่าสภาพที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร ?
              ร่างกายของเรา มันปกปิดเอาไว้ด้วยหนัง เราดูเมื่อไร ก็ไปติดอยู่ที่หนัง เราก็จะยินดีกับมัน พอใจกับมัน เราลองนึกถึงสภาพร่างกายของเราก็ดี ของคนอื่นก็ดี ของสัตว์อื่นก็ดี ว่าสภาพความเป็นจริงของมันเป็นอย่างไร
              ลองค่อยๆ นึกไปว่า ถ้าเราลอกหนังออกไปชั้นหนึ่ง สภาพข้างในมันมีอะไร พอเราถลกหนังมันออก พวกเลือด น้ำเหลืองก็ไหลโทรมไป ผ่านใต้หนังกำพร้า ต่อไปก็เป็นหนังแท้ มีความหนามากกว่าหนังกำพร้า เป็นสีขาว
              ใต้หนังแท้ลงไป เป็นเนื้อเยื่อของร่างกาย ซึ่งประกอบไปด้วยเลือด น้ำเหลือง ลักษณะเป็นมัดกล้าม แทรกเอาไว้ด้วยไขมัน ลักษณะของมัดกล้ามก็จะยาวเรียว ไปตามลักษณะของร่างกายส่วนนั้นๆ
              มีชั้นของไขมันแทรกอยู่ มีเส้นเลือดแทรกอยู่ มีเส้นประสาทแทรกอยู่ ถ้าหากว่า ยกเอาเนื้อออกไป เอาเส้นเลือดออกไป เอาเส้นประสาทออกไป มันก็จะไปถึงกระดูก ที่มีเส้นเอ็นรัดอยู่ มัดอยู่
              ถ้าหากว่า ยกเส้นเอ็นออก กระดูกมันก็หลุดสลายไป ไม่สามารถจะคุมเป็นรูปเป็นร่างอยู่ได้ คราวนี้เรามาดูว่า ตรงกลางของร่างกาย มันประกอบไปด้วยอวัยวะภายในใหญ่น้อย ลักษณะเป็นเครื่องจักรกล ทำงานของมันอยู่ตลอดเวลา
              มีหัวใจ มีปอด มีตับ มีม้าม มีไต มีถุงน้ำดี มีกระเพาะอาหาร มีกระเพาะปัสสาวะ มีลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก มีหลอดอาหาร มีหลอดลม ถ้าหากว่าในลักษณะนี้ อยู่ๆ เราเดินไปเจอตอนกลางคืน มีใครมีรูปร่างลักษณะนี้เดินมา เรามั่นใจได้เลยว่าผีหลอก
              แต่ว่าเจ้าผีนี่อยู่กับเราตลอดเวลา ไม่ว่าผู้หญิง ไม่ว่าผู้ชาย ไม่ว่าสัตว์ทั้งหลาย เจ้าพวกผีนี่มันอยู่ด้วยตลอดเวลา มันหลอกเราอยู่ตลอดเวลา มันเอาหนังมาคลุมเข้าไป ไม่ให้เราเห็นเลือด ไม่ให้เราเห็นเนื้อ ไม่ให้เราเห็นน้ำเหลือง
              ไม่ให้เราเห็นอวัยวะภายใน ที่กำลังเต้นอยู่ กำลังทำงานของมันอยู่ เราก็หลงไปยึด ไปติดอยู่กับมัน ติดอยู่แค่หนัง หนังมันประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ก็ประกอบไปด้วยเส้นขน มีต่อมเหงื่อ มีต่อมไขมัน
              ถึงวาระ ถึงเวลา ร่างกายมันก็จะหลั่งไขมัน ออกมาหล่อเลี้ยงผิวกาย หลั่งเหงื่อออกมา เพื่อที่จะหล่อร่างกายให้มันเย็น ไม่ให้มันร้อนจนเกินไป ความสกปรกต่างๆ นี้ จับอยู่ที่ร่างกายเป็นปกติ
              ตั้งแต่ศีรษะจรดไปถึงปลายเท้า ตั้งแต่ปลายเท้าขึ้นมาถึงศีรษะ มีแต่ส่วนของความสกปรกทั้งนั้น
มีแต่ขี้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะ ขี้หัว ขี้หู ขี้ตา ขี้ไคล ขี้ฟัน กระทั่งขี้เล็บ มากมายเต็มไปหมด
              ไม่อาบน้ำสักวันหนึ่ง ตัวเราเองก็จะทนไม่ได้แล้ว อย่าว่าแต่คนอื่นเลย สภาพร่างกายของเรา ไม่ว่าจะหญิงหรือชายก็มีสภาพดังนี้ ถ้าไม่อาบน้ำสักสองวันสามวัน ก็เหม็นจนทนไม่ได้
              ส่วนใหญ่ที่เราเห็น ที่เราพบคือ เขาทำการขัดสีฉวีวรรณมาดีแล้ว เราก็คิดว่าสะอาด เขาเอาน้ำอบ น้ำหอม มากลบกลิ่นเหม็นของร่างกาย เราก็ไปชอบกลิ่นนั้น เอาเสื้อผ้ามาปิดมาบังในร่างกาย เราก็ไปชอบความสวยของเสื้อผ้านั้นๆ
              ถ้าเราลองเอาเสื้อผ้าออก เอาหนังออก ถลกไปถึงเนื้อ อวัยวะภายใน มันจะไม่มีอะไรเป็นสาระ เป็นแก่นสาร มีแต่เลือด น้ำเหลือง ไขมัน เนื้อ เส้นเอ็น กระดูก เส้นเลือด เส้นประสาท
              สภาพความเป็นจริงของร่างกาย มันเป็นอย่างนี้ ตัวเราก็เป็นอย่างนี้ คนอื่นก็เป็นอย่างนี้ ผู้หญิงก็เป็นอย่างนี้ ผู้ชายก็เป็นอย่างนี้ สัตว์ทั้งหลายก็เป็นอย่างนี้ มีแต่ความสกปรกเป็นปกติ
              แล้วร่างกายก็ยังมีกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งบรรจุเต็มไปด้วยน้ำปัสสาวะ มีลำไส้ใหญ่ที่ประกอบไปด้วยกากอาหารคืออุจจาระ ทั้งหมดที่เรากินลงไปดีๆ แท้ๆ แต่พอผ่านการย่อยสลายเหลือกากออกมาแล้ว บางทีถ่ายออกมาเหม็นไปสามบ้านแปดบ้าน
              เราเองเคยนึกถึงตรงนี้ไหม ? เออ ถ้าเป็นเพศตรงข้าม หน้าตาสวยๆ หล่อๆ แต่เวลาเข้าส้วมทีเหม็นไปสามบ้านแปดบ้าน มันมีอะไรให้น่าใคร่ น่ายึดถือ สภาพความเป็นจริงของมันเห็นๆ อยู่ แต่ว่าทุกคนก็พยายามปิดบังมัน
              สภาพร่างกายของเรานี้ มันเหมือนกับถุง ที่บรรจุเอาไว้ด้วยของสกปรก
พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า เหมือนกับถุงที่บรรจุไปด้วยเมล็ดพันธุ์พืชต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าว เป็นถั่ว เป็นงา ถึงวาระมัดปากถุงเอาไว้ ก็เห็นว่าถุงมันสวยงาม
              แต่พอเปิดถุงเทออกมา ให้เห็นความจริงว่า ข้างในเป็นข้าว ข้างในเป็นถั่ว ข้างในเป็นงา สิ่งที่ไปยึดไปถือว่าถุงนั้นสวยก็ไม่มี คราวนี้นั่นมันเป็นเพียงพืช เป็นข้าว เป็นถั่ว เป็นงา แล้วถุงที่เราอาศัยมันอยู่นี้ มันไม่ใช่ธัญพืช
              มันประกอบไปด้วยเลือด ด้วยเนื้อ ด้วยน้ำเหลือง น้ำหนองต่างๆ ด้วยอุจจาระ ด้วยปัสสาวะ มีแต่ความเหม็นเน่า มีแต่ความสกปรกเป็นปกติ ถ้าหากว่าเราเปิดถุงไถ้นี้ออกมา เราก็จะวิ่งหนี เพราะทนความโสโครกของมันไม่ได้
              ยังไม่ทันจะตายเลย มันก็เน่าแล้ว
มันก็เหม็นแล้ว ร่างกายที่ประกอบไปด้วยทวารทั้ง ๙ มีแต่ความสกปรก หลั่งไหลออกมาทุกวัน ถ้าไม่ดูแล ไม่อาบน้ำ ไม่ขัดสีฉวีวรรณ ไม่ล้าง ไม่ชำระมัน แม้กระทั่งเราเองก็ทนไม่ได้
              สิ่งสกปรกทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นอุจจาระ ปัสสาวะ ก็ดี ขี้หัว ขี้หู ขี้ตา ขี้ฟัน ขี้ไคล อะไรก็ตาม ถึงเวลาถ้ามันกองอยู่ตรงหน้า เราก็รังเกียจ ทนมันไม่ได้ หนีมันไปเสีย หลีกมันไปเสีย แล้วลองนึกดูว่า ในร่างกายของเรา ก็มีสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ แล้วเรายังจะไปยินดี อยากมีอยากได้ในมันอยู่อีกหรือ ?
              ร่างกายของคนอื่น ของสัตว์อื่นก็เป็นอย่างนี้
ไม่ว่าหญิง ไม่ว่าชาย ก็เป็นอย่างนี้ เรายังจะไปยินดีมันอีกหรือ ? ยังไปอยากได้มันมา ประคับประคองเอาไว้อยู่หรือ ?
              ลักษณะของมัน ก็คือถุงที่บรรจุเอาไว้ด้วยขี้และเยี่ยว คืออุจจาระปัสสาวะนั่นเอง แล้วมันก็ซึมออกมานอกถุงอยู่ตลอดเวลา ส่งความเหม็นอยู่ตลอดเวลา เรายังอยากได้มันอยู่อีกหรือไม่ ? ยังต้องการมันอยู่หรือไม่ ?
              เกิดมาเมื่อไร ก็มีแต่ร่างกาย ที่สกปรกโสโครกอย่างนี้ เกิดมาเมื่อไร ก็จะพบคนพบสัตว์ ที่มีแต่ความสกปรกโสโครกอย่างนี้ ถ้าหากว่าเราไม่ต้องการมัน ก็จงเลิกความปรารถนาในมัน
              ไม่ว่าจะเป็นร่างกายของตนเอง ร่างกายของคนอื่น ร่างกายของสัตว์อื่น เมื่อไม่ปรารถนาในตัวตนของเรา ไม่ปรารถนาในตัวตนของผู้อื่น ก็ต้องไม่ปรารถนาในการเกิด เพราะว่าเกิดเมื่อไร เราก็ต้องพบกับมันอย่างนี้อีก
              มีแต่ร่างกายที่สกปรกโสโครก หาความดีไม่ได้ อยู่ไปก็มีแต่ความทุกข์ เพราะว่าร่างกายคือรังของโรค มีความทุกข์เป็นปกติ มีความสกปรกเป็นปกติ เป็นสมบัติของโลกนี้ ในเมื่อมันเป็นสมบัติของโลก ถึงวาระถึงเวลาก็ต้องคืนให้กับโลกไป
              มันพยายามที่จะทวง ที่จะดึง ที่จะเอาคืนอยู่ตลอดเวลา คือมันทรุดโทรมไปตลอดเวลา หมดสภาพลงไปตลอดเวลา นี่คือความไม่เที่ยงของมัน ถ้าเราไปยึดถือมั่นหมาย หวังจะให้มันดี หวังจะให้มันทรงตัว มันไม่เป็นไปตามนั้น เราก็มีแต่ความทุกข์
              ในเมื่อเราเห็น สภาพความเป็นจริงแล้ว ว่าร่างกายนี้มันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ ไม่มีอะไรยึดถือมั่นหมายได้ ท้ายสุดสภาพร่างกาย ที่สกปรกโสโครกนี้ มันก็ยังตาย ยังพัง ยังเน่าเปื่อย ผุพังเป็นดินไป
              ไม่เหลืออะไรไว้เลย กลายเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ คืนให้กับโลกไป สภาพของเราก็ดี ของเขาก็ดี ของคนหรือสัตว์ก็ตาม เกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงไปในท่ามกลาง สลายไปในที่สุดดังนี้ ไม่มีอะไรยึดถือมั่นหมายได้
              เกิดใหม่เมื่อไร ก็เป็นอย่างนี้เมื่อนั้น ดังนั้น ขึ้นชื่อว่าการเกิดใหม่ ไม่ควรจะมีสำหรับเราอีก เราก็เอาใจเกาะพระนิพพานเข้าไว้ ตั้งใจว่า เราตายเมื่อไร ขอไปพระนิพพานแห่งเดียว ตายเมื่อไร ขึ้นชื่อว่าการเกิดมา มีร่างกายแบบนี้ จะไม่มีสำหรับเราอีก การเกิดมาในโลก ที่ทุกข์ยากเร่าร้อนนี้ ไม่มีสำหรับเราอีก ตั้งใจว่า ตายแล้วเราขออยู่พระนิพพานแห่งเดียว
              เอาใจเกาะพระนิพพานให้มั่นคง ภาวนาให้อารมณ์ทรงตัว ก็ขึ้นชื่อว่าเราปฏิบัติในกายคตานุสติกรรมฐาน ตามที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า สอนเรามา
              ถ้าเรารู้แจ้งเห็นจริง สภาพจิตของเรายอมรับว่า ร่างกายนี้ ไม่มีอะไรเป็นเรา เป็นของเรา ขึ้นชื่อว่าการเกิด เราไม่พึงปรารถนา ขึ้นชื่อว่าร่างกายนี้ โลกนี้ เราไม่พึงปรารถนา เราก็จะได้อยู่ในพระนิพพานจริงๆ
              ให้รักษาอารมณ์ใจอย่างนี้ไว้ ให้อยู่กับเราให้ได้ ทุกวัน ทุกเวลา
เมื่อถึงวาระ ถึงเวลา เราจะได้ก้าวพ้นความเกิด ไปอย่างที่เราต้องการ เราจะได้อยู่ในพระนิพพานอย่างที่เราต้องการ ?

พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
วันเสาร์ที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๔๗