๑๐. สังฆานุสติ


              ความจริงการที่วัดมีงาน มันเป็นการทดสอบอารมณ์ปฏิบัติของเราได้ดีที่สุด ว่าสิ่งทั้งหมดที่เราทำมา มันใช้ประโยชน์ได้จริงแค่ไหน ? สมัยหลวงพ่อ เครื่องเสียงหายาก มันมีแต่เครื่องเล่นแผ่นเสียง ที่เป็นแผ่นครั่ง
              หลวงพ่อถึงขนาดลงทุนซื้อเครื่องเสียง แล้วยกให้ห้องข้าง ๆ ไป ในเมื่อมีเครื่องมีแผ่น มันก็เปิดกันดังสนั่น แล้วหลวงพ่อก็นั่งภาวนา ท่านอยากรู้ว่า สามารถที่จะสู้กับเสียงได้จริงๆ หรือเปล่า
              พอภาวนาอารมณ์ใจเริ่มทรงตัวเป็นปฐมฌาน จิตกับประสาทมันเริ่มแยกจากกัน สิ่งต่าง ๆ ที่กระทบทางตา ทางหู ทางจมูก มันเริ่มไม่สนใจ จิตมันจดจ่ออยู่กับลมหายใจ ถ้าทรงฌานสูงขึ้นไปกว่านั้น ตั้งแต่ฌานสอง ฌานสาม ขึ้นไป เสียงมันเบาลงแทบจะไม่ได้ยินเลย
              ถ้าถึงฌานสี่นี่เสียงมันดับสนิท ไม่รับรู้อาการภายนอก เมื่อซื้อให้มันเครื่องหนึ่ง สามารถสู้ได้แน่ ก็ซื้อให้อีกเครื่องหนึ่ง ให้ห้องข้าง ๆ ตอนแรกซื้อให้ห้องทางซ้าย แล้วก็ซื้อให้ห้องทางขวา ให้มันเปิดแข่งกันแล้วท่านก็ภาวนา ปรากฏว่าสู้ได้สบายมาก
              สมัยผมเข้าเวรอยู่หน้าห้องหลวงพ่อที่วัดท่าซุง ผมก็ซื้อเทปมาเปิดฟัง เทปเพลงโดยเฉพาะเพลงเพราะ ๆ ที่ผมชอบ ในชีวิตผมชอบเสียงผู้หญิงไม่กี่คน อย่างของวงจันทร์ ไพโรจน์ ผ่องศรี วรนุช ลัดดาวัลย์ ประวัติวงศ์ หรือสุนทรี เวชานนท์
              ตอนสมัยเป็นฆราวาส เสียงพวกนี้นี่มันจะติดใจผมมาก พอบวชเข้ามาก็รู้ว่าการที่เราจะละ จะตัดอะไรบางอย่าง มันไม่ใช่หนีมัน แต่ต้องวิ่งไปชนกับมัน ผมก็ซื้อเทปมา แล้วก็เปิดฟังหน้าห้องหลวงพ่อนั่นแหละ เป็นคนอื่นเปิดเทปในนั้น โดนตีกบาลแยก
              แต่ผมเปิดฟังหลวงพ่อไม่ว่าสักคำ เพราะท่านรู้ว่าเรากำลังสู้กับตัวเอง เพลงที่เราชอบ เสียงที่เราชอบ ถึงเวลาเราสามารถรักษาอารมณ์ให้ทรงตัวอยู่ได้มั้ย ? ใหม่ ๆ มันก็ไหลตามไป เผลอหน่อยเดียวไปตั้งครึ่งค่อนเพลง
              ก็ตั้งหน้าจับอารมณ์ภาวนากันใหม่ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสที่เราชอบ จิตมันจะเคลื่อน จะคล้อยตามไปได้ง่าย สติ สมาธิต้องทรงตัวจริง ๆ ต้องจดจ่ออยู่แต่เฉพาะหน้าจริง ๆ พอสู้กันตรงนั้น
              จนกระทั่งผมมั่นใจว่า ยังไงก็จะไม่แพ้เสียงนี้แล้ว ก็ปรากฏว่า พอดีออกไปธุดงค์ ได้ลองของ จุดที่ไปก็คือบ้านกะเหรี่ยงตะเพินคี่ มันสูงจากระดับน้ำทะเล พันสองร้อยกว่าเมตร อากาศเดือนเมษามันหนาวพอ ๆ กับดอยอินทนนท์เลย
              ผมไปพักที่นั่น ปรากฏว่ามันเป็นงานประจำปีของเขา ความที่ชาวบ้านเขาหวังดีกลัวเราจะหนาว เขาก็นิมนต์ผมเข้าไปพักในห้องเครื่องไฟ เพราะว่ามันเป็นรั้วรอบขอบชิด เขาต้องทำแข็งแรง กันคนขโมย มันก็เลยพลอยกันลมหนาวลมร้อนได้สบายด้วย
              คราวนี้มันเป็นงานประจำปี คนทั้งหมู่บ้านเขาต้องใช้ไฟฟ้า มันนิมนต์พระอยู่กับเครื่องไฟ แล้วมันก็ติดเครื่องด้วย ปรากฏว่าผมหลับสบายไม่รู้เรื่อง ไม่ถึงเวลามันไม่ตื่น เพราะว่าพอภาวนาไป ภาวนาไป หูมันดับ มันไม่รับรู้อาการภายนอก ก็เลยเป็นการทดสอบที่ดีที่สุด
              เมื่อคืนนี้พวกคุณทั้งหมด ส่วนใหญ่แล้วที่รักษากำลังใจไม่ได้ เพราะว่าคุณไปใส่ใจในเสียง การที่คุณไปใส่ใจในเสียง ก็คือคุณไปสนใจในมัน ฟังแล้วก็คิดตาม คล้อยตาม เราชอบ เราไม่ชอบ หรือเนื้อหามันจะเป็นอย่างไร
              ใจคุณส่งออก พอไปสนใจกับมัน เสียงมันก็มีอิทธิพล คุณเลยนอนไม่หลับ ถ้าหากว่ากำลังใจทั้งหมด ความรู้สึกทั้งหมดของคุณ อยู่เฉพาะหน้า อยู่กับลมหายใจเข้า อยู่กับลมหายใจออก หายใจเข้า ผ่านจมูก ตามดูลงไป ผ่านกึ่งกลางอก ตามดูลงไป ลงไปสุดที่ท้อง หายใจออก จากท้อง ผ่านกึ่งกลางอก ไปสุดที่ปลายจมูก
              ถ้ากำลังใจของเราอยู่อย่างนี้ หรืออยู่กับภาพพระ หายใจเข้า ให้ภาพพระไหลตามลมหายใจเข้าไป ภาพพระองค์เล็กๆ ไหลลงไปสุดที่ท้อง หายใจออก ภาพพระไหลตามลมหายใจออกมา ขึ้นไปอยู่บนศีรษะ เป็นองค์ใหญ่
              ถ้าคุณสนใจอยู่แค่นี้ เสียงจะทำอะไรคุณไม่ได้ แต่คราวนี้เราไปสนใจกับข้างนอกมันมากกว่า เสร็จแล้วก็ยังไปปรุงไปแต่ง ด้วยการที่เอาตัวกูของกูเป็นที่ตั้ง คือมานะถือตัวถือตนว่ากูปฏิบัติดี ไอ้พวกนั้นมันระยำ
              ถ้าเราคิดอย่างนี้มันใช้ไม่ได้ คนเราทุกคน สรรพสัตว์ทั้งหมด ไม่มีใครดี ไม่มีใครเลว มีแต่คนกำลังเป็นไปตามกรรมเท่านั้น การสมมติคำว่าดี คำว่าเลวขึ้นมา เพื่อที่เราจะแยกแยะได้สะดวกเท่านั้น ไม่ใช่สมมติขึ้นมาแล้ว ให้เราไปแบกมัน
              บุคคลที่ทำดีตามคำสอน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การกระทำของเขาทำให้เขาตกอยู่ในกระแสสีขาว มันจะไหลทวนกระแสโลก ขึ้นไปสู่ข้างบนอยู่เสมอ ไปสู่ภพภูมิที่สูงยิ่ง ๆ ขึ้นไป
              บุคคลที่กระทำสิ่งที่คัดค้านคำสอน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เขาตกอยู่ในกระแสสีดำ พาไหลลงอยู่ตลอดเวลา ลงไปสู่ความเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน มีแต่ความทุกข์อยู่ตลอดเวลา
              สิ่งที่เขาทั้งหลายเหล่านั้นทำ เขาคิดว่าดี เขาจึงทำ ในเมื่อเขาคิดว่าดี เราเองเห็นว่ามันไม่ดี ก็แสดงว่าเราต้องคุ้นเคยกับความไม่ดีนั้นมาก่อน เราต้องเคยกระทำความไม่ดีนั้นมาก่อน
              เมื่อเราทำมาแล้ว เราก้าวพ้นมาแล้ว เราเห็นทุกข์เห็นโทษของมันแล้ว บุคคลอื่นมากระทำสิ่งนั้น มารับช่วงสิ่งนั้นจากเรา ก็แปลว่าเขาคือทายาท คือผู้รับมรดก เท่ากับเป็นลูกเราหลานเรานั่นเอง
              ในเมื่อลูกหลานเราตกอยู่ในความทุกข์ความลำบาก เราจะไปโกรธลูก โกรธหลาน ไม่พอใจในลูก ในหลาน หรือว่าควรจะเมตตาสงสารเขา เราควรจะแผ่เมตตาต่อเขาดี
              ตั้งใจว่าเมื่อใดก็ตาม ที่เขารู้ว่าสิ่งใดดี สิ่งใดชั่วอย่างชัดเจน ถ้าเขาต้องการความช่วยเหลือ เราจะยื่นมือไปช่วยเขา แต่ถ้าขณะจิตที่เขายังมืดยังบอดอยู่ เราไม่สามารถจะช่วยเหลือเขาได้ ไม่สามารถจะแนะนำเขาได้ เราก็ควรจะเกิดความเวทนาสงสารเขา ปรารถนาจะให้เขาพ้นทุกข์
              สิ่งที่เขาทำ เขาเห็นว่าดี เขาจึงทำ เมื่อเขาเห็นว่าดี เขาจึงทำ โดยที่ไม่รู้ว่าความดีที่แท้จริงเป็นอย่างไร เขาน่าสงสารเพียงไหน ถ้าเรารู้จักคิด รู้จักพิจารณา รู้จักนำเอาพรหมวิหาร ๔ มาประกอบ รู้จักการให้อภัย เราก็ไม่ต้องเก็บเอาอารมณ์รัก โลภ โกรธ หลง มาอยู่ในใจของเรา
              เขาทั้งหลายเหล่านั้น ยังเป็นผู้ที่อ่อนด้วยกำลังของความดี ไม่รู้ว่าความดีที่แท้จริงเป็นอย่างไร เขายังต้องอาศัยสิ่งภายนอกมากระตุ้น สิ่งภายนอกที่กระตุ้นทางตา ได้เห็นแสงเห็นสีต่าง ๆ ที่สวยงามพออกพอใจของเขา
              ได้ยินเสียงบรรดาดนตรีต่าง ๆ ที่เป็นที่พออกพอใจของเขา ได้กลิ่นที่มันหอมชื่นใจตามที่เขาปรารถนา ได้รสที่มันอร่อยตามที่เขาต้องการ ได้สัมผัสที่มันอ่อนนุ่มตามที่เขาปรารถนา
              แล้วเขาก็เก็บทุกสิ่งทุกอย่างเข้ามาในใจ เมื่อเก็บเข้ามาในใจ กำลังใจมันยินดีกับสิ่งนั้น ก็เกิดความปลาบปลื้ม เกิดความปีติขึ้นชั่วครั้งชั่วคราว โดยที่ไม่รู้เสียด้วยว่าความปีตินั้นเกิดจากอะไร
              ในเมื่อเกิดความปีติความยินดีขึ้นมา รู้สึกว่าตัวเองมีความสุข เมื่อห่างสิ่งนั้นมาไม่มีการกระตุ้น ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเหมือนเดิม ก็รู้สึกว่าตัวเองขาดความสุข หงุดหงิด กลัดกลุ้ม กระวนกระวายใจ
              เขาก็จำเป็นต้องเดินไปหาสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นอีก เพื่อที่จะกระตุ้นตัวเองขึ้นมา สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ก็เลยมารุมล้อมรอบข้างของเราอยู่ กลายเป็นกระแสการทดสอบเรา ว่าเราเองที่ตั้งใจจะละ เราละมันได้เท่าไหร่
              เราเองมาตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติความดี เมื่อก้าวถึงความสุข ความเยือกเย็นใจ ก็รู้ว่า นี่เป็นความสุข ความเยือกเย็นใจจริง ๆ ต้องสร้างมันขึ้นมาในใจของเรา ไม่สามารถที่จะไปกระตุ้นด้วยสิ่งภายนอกได้
              เพราะการกระตุ้นเร้าจากสิ่งภายนอกนั้น มันเป็นแค่ชั่วครั้งชั่วคราว แต่ถ้าเราสร้างให้มันมีอยู่ในจิตในใจของเรา มันจะเป็นความสุข ความปีติ ความสงบเยือกเย็นที่ยั่งยืนแท้จริง เรารู้ว่าสิ่งนี้ดีแน่ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ดี หลวงปู่ หลวงพ่อก็ดี สั่งสอนเรามา เราทำแล้ว เราเห็นผลแล้วว่าดี เราก็ทำสิ่งนี้
              ส่วนคนทั้งหลายทั้งปวง ที่เขามาสนุกกับสิ่งต่าง ๆ ที่ต้องกระตุ้น ทางหู ทางตา ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย โดยที่ไม่ใช่เสริมสร้างขึ้นภายในใจอย่างพวกเรา เขาก็เห็นว่าดี ต่างคนต่างทำในสิ่งที่ตัวเองเห็นว่าดี ดังนั้นจึงไม่มีใครผิด ไม่มีใครถูก มีแต่คนที่กำลังเป็นไปตามกรรม
              เรารู้อยู่ว่าเขาอยู่ในสถานะที่กำลังไหลลงต่ำ กำลังไหลลงไปหาความทุกข์ที่มากขึ้น มากขึ้น ทับถมพูนทวีขึ้นทุกที สร้างความทุกข์ยากลำบาก ทำให้ต้องเวียนตายเวียนเกิดนับชาติไม่ได้ เราควรจะโกรธหรือควรจะให้อภัยเขา ?
              ตัวเราเองทำความดี ก็ไม่ได้หมายความว่า เราทำดีเพราะอยากดี แต่ที่เราทำดีเพราะรู้ว่าสิ่งนี้ดีเราจึงทำ ก็อย่าเอาตัวมานะ ถือตัวถือตน ไปคิดว่าเราดี เขาเลว พยายามมองให้เห็นว่า ทุกคนล้วนแล้วแต่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เช่นเดียวกับเราทั้งหมด
              ตราบใดที่เขายังไม่รู้ทุกข์ที่แท้จริง ยังไม่ดิ้นรนให้พ้นทุกข์ เขาก็ยังจ่อมจมอยู่กับความทุกข์เช่นนั้น เขาทั้งหลายเหล่านั้นน่าสงสารอย่างยิ่ง ดังนั้นจึงสมควรให้อภัยเขา
              ดึงกำลังใจของเราอยู่เฉพาะหน้า อยู่กับลมหายใจเข้าออก อยู่กับเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อยู่กับความรู้สึกที่หวังดี ปรารถนาดี รักเขาเสมอตัวเรา สงสารปรารถนาให้เขาพ้นทุกข์ ถ้าหากว่าเขาทำความดีได้ เราก็พลอยยินดีเมื่อเขาอยู่ดีมีสุข
              แต่ถ้าไม่สามารถช่วยเหลือสิ่งใดได้ เพราะกระแสโลกมันแรงเกินไป เราก็ต้องปล่อยวาง รักษาใจให้เป็นอุเบกขา ไม่หวั่นไหวกับสิ่งกระทบต่าง ๆ ถึงจะเรียกได้ว่าเราเป็นพระโยคาวจร คือเป็นผู้สอนตน เป็นผู้ปฏิบัติตน ตามคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อก้าวไปสู่การพ้นทุกข์
              โอกาสที่เราจะมีเครื่องทดสอบแบบนี้ไม่ใช่จะหาได้ง่าย ๆ เราอยู่ปีหนึ่งเต็ม ๆ เราถึงจะเจอครั้งหนึ่ง เมื่อมีเครื่องทดสอบที่ดีแบบนี้ ถ้าเราไปยินร้าย คือไปโกรธ ไปขุ่นเคืองมัน ก็แปลว่าเราสอบตก กำลังใจของเรายังใช้ไม่ได้
              พยายามดึงกำลังใจของเรา ให้รวมตัวอยู่กับอารมณ์เฉพาะหน้า ให้อยู่กับลมหายใจเข้าออก ให้อยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้อยู่กับพระนิพพาน ที่พึ่งอื่นใดของเราไม่มีนอกจากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
              สิ่งที่จะเป็นเครื่องยึด เครื่องเกาะ ให้เราพ้นจากวัฏฏะสงสารอันน่ากลัวนี้ ไม่มีอะไรดีไปกว่าพระนิพพาน
ดังนั้นให้กำลังใจของเราอยู่กับพระพุทธเจ้า ให้กำลังใจของเราอยู่กับพระธรรม ให้กำลังใจของเราอยู่กับหลวงปู่ หลวงพ่อ
              ครั้งก่อนๆ เราเรียนเรื่องพุทธานุสติ ธัมมานุสติมาแล้ว คราวนี้ก็มาถึงเรื่องของสังฆานุสติ การระลึกถึงพระสงฆ์ ไม่ใช่แค่นึกว่าเป็นหลวงปู่องค์นั้น เป็นหลวงพ่อองค์นี้ แต่ให้ดูปฏิปทาการปฏิบัติของท่าน
              ว่าหลวงปู่องค์นั้น ท่านปฏิบัติของท่านอย่างไร สร้างกาย วาจา ใจ ของท่านอย่างไร ท่านถึงได้ยกตนขึ้นเป็นกัลยาณชน เป็นพระอริยะชน จนกระทั่งเป็นพระอรหันต์เข้าสู่พระนิพพาน หรือเป็นพระโพธิสัตว์ ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าได้
              พิจารณาดูตามประวัติ ของพระเถระสมัยพุทธกาลก็ได้ อย่างพระสารีบุตร เป็นผู้ที่เลิศด้วยปัญญา ไม่มีผู้ใดปัญญาเหนือกว่า นอกจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น พระสารีบุตรนอกจากเลิศด้วยปัญญาแล้ว ยังเป็นผู้กอปรด้วยความกตัญญูอย่างยิ่ง
              ถ้าท่านทราบว่าพระอัสสชิ พระอรหันต์หนึ่งในปัญจวัคคีย์ อยู่ในทางทิศไหน ท่านจะนอนหันศีรษะไปทางทิศนั้น คือแสดงความเคารพผู้เป็นบูรพาจารย์คนแรก ที่นำธรรมะมาให้ท่าน ว่าไม่ว่าอาจารย์อยู่ทางด้านไหน ท่านจะไม่หันเท้าไปทางนั้น ท่านก็จะนอนหันศีรษะไปทางที่พระอัสชิอยู่ตลอดเวลา
              เมื่อราธพราหมณ์ ซึ่งเป็นพราหมณ์แก่ยากจน ปรารถนาการบวช ไม่มีใครรับรองให้ เพราะว่าคิดว่าหลวงตาแก่ ๆ บวชเข้ามาก็เอาดีไม่ได้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ใครรู้คุณของพราหมณ์นี้บ้าง พระสารีบุตรกล่าวว่า ท่านรู้คุณของพราหมณ์นี้
              ท่านเคยบิณฑบาต แล้วราธพราหมณ์ ใส่ข้าวให้หนึ่งทัพพี พระพุทธเจ้าจึงกล่าวว่า ดีแล้ว..สารีบุตร เธอจงให้การอุปสมบทแก่ราธพราหมณ์นี้เถิด พระสารีบุตรอุปสมบท คือบวชให้ราธพราหมณ์ ด้วยจิตกตัญญูต่อข้าวหนึ่งทัพพี
              แล้วเราก็ได้พระอรหันต์ขีณาสพ คือพระราธเถระ ที่เป็นหลวงตาที่ว่านอนสอนง่ายที่สุดในโลก แม้กระทั่งพระใหม่ที่เพิ่งบวช กล่าวตักเตือนท่านก็น้อมรับ กลายเป็นพระผู้เลิศในทางอ่อนน้อมถ่อมตน กลายเป็นพระผู้เลิศในทางว่านอนสอนง่ายขึ้นมา
              วาระสุดท้ายของชีวิต พระสารีบุตรท่านเป็นโรคกระเพาะทะลุ ถ่ายเป็นโลหิตเป็นกระโถน ๆ รู้ว่าตัวเองถึงเวลานิพพานแล้ว ไปกราบทูลลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ลาแล้วไปไหน ?
              ท่านไปชวนน้อง ๆ ของท่าน คือ ท่านอุปเสนะ ท่านจาลา ท่านอุปจาลา ท่านสีสุปจาลา ท่านจุนทะ ท่านเรวัตตะ กลับไปบ้าน ไปสงเคราะห์แม่ ถ้าหากว่าท่านไม่มีจิตกตัญญู คิดว่าตัวเราพ้นแล้ว คนอื่นเป็นอย่างไรก็ช่าง แม่ของท่าน ซึ่งมีลูกเจ็ดคน เป็นพระอรหันต์ทั้งหมด แต่ตนเองเป็นมิจฉาทิฐิ ก็จะตกอบายภูมิ อย่างที่ไม่สามารถจะแก้ไขได้
              ท่านป่วยหนัก จนกระทั่งใกล้จะนิพพานแล้ว ก็ยังกลับไปเทศน์สงเคราะห์แม่ จนกระทั่งแม่ของท่านเป็นพระโสดาบัน เมื่อแม่เป็นพระโสดาบัน รู้ว่าลูกคือพระสงฆ์ มีคุณความดีขนาดไหน ลูกก็หมดลมหายใจพอดี
              นี่คือพระสารีบุตรมหาเถระเจ้า ผู้เป็นอัครสาวกเบื้องขวา ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ที่ประกอบด้วยปัญญา ในบรรดาสาวกทั้งปวง ไม่มีปัญญาผู้ใดยิ่งไปกว่าท่านอีก
              ในความกตัญญูกตเวที ต่อครูบาอาจารย์ กตัญญูกตเวที ต่อผู้ที่เลี้ยงดูตนมา กตัญญูกตเวที ต่อบิดามารดา คิดว่าท่านก็ไม่เป็นรองใคร เราคิดถึงตรงจุดนี้ คุณของพระสงฆ์ตรงจุดนี้ แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาทำตาม ทำให้ได้
              เราจะได้เป็นสุปฏิปันโน ภควโต สาวกสังโฆ เป็นสงฆ์สาวกขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาค ที่ปฏิบัติดีแล้ว อุชุปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติตรง ตามคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
              ญายปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติถูกต้องตามธรรม ยังธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เจริญรุ่งเรืองแผ่ไพศาลออกไป
              สามีจิปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติโดยชอบแล้ว คือปฏิบัติดี ปฏิบัติตรงต่อพระนิพพาน ปฏิบัติสมควรแก่การเป็นปูชนียบุคคล
              ปฏิบัติสมควรต่อการที่ผู้อื่นเคารพกราบไหว้ ปฏิบัติสมควรแก่การที่ผู้อื่นให้การอนุเคราะห์สงเคราะห์ด้วยปัจจัยสี่
              หรือเราจะนึกถึงพระเถระรูปอื่น ๆ อย่างพระมหาโมคคัลลานะเถระเจ้า เป็นพระอัครสาวกเบื้องซ้าย ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้เลิศด้วยฤทธิ์ สามารถเผยแผ่พระศาสนา ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้กว้างไกลไปในชมพูทวีป
              เป็นผู้ที่มีปกติ ไปนรก ไปสวรรค์ ไปพรหม ไปนิพพาน พบผู้ใดทำความดีอย่างไร ได้เป็นเทวดาอย่างไร เป็นนางฟ้าอย่างไร เป็นพรหมอย่างไร ก็นำมาประกาศต่อมหาชน เพื่อให้คนเหล่านั้นได้ทำตาม
              เห็นคนลงนรกเพราะทำความชั่วอย่างไร ก็นำมาประกาศต่อมหาชน เพื่อให้เขาเหล่านั้น จะได้ไม่กระทำความชั่วนั้น ๆ
              หรือว่าอย่างพระอัญญาโกณฑัญญะเถระ พระอรหันต์องค์แรกของโลก ที่เป็นสาวกอรหันต์ หลังจากที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว เสด็จไปโปรดสงเคราะห์ ท่านและคณะ
              ท่านมีดวงตาเห็นธรรม กลายเป็นพระภิกษุสงฆ์องค์แรก ในพระพุทธศาสนา เป็นผู้เลิศทางรัตตัญญู คือมีประสบการณ์มาก เพราะว่าบวชเป็นพราหมณ์มา ตั้งแต่หนุ่มจนแก่ ท่านมีความดีอย่างไร เราดูตรงจุดนั้น ทำตามตรงจุดนั้น
              หรือว่าพระมหากัจจายนะเถระเจ้า เป็นผู้เลิศในปฏิสัมภิทาญาณ เทศน์สั่งสอนผู้อื่นได้ เหมือนกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์เอง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรับรองไว้ จึงได้มีภัทเทกรัตตสูตร ที่เป็นคำเทศน์ของท่าน อยู่ในพระไตรปิฎกด้วย
              หรืออย่างพระอานนท์เถระเจ้า ผู้เป็นเอตทัคคะถึง ๕ ประการ ท่านเป็นพระอนุชา ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อุปัฏฐากพระพุทธเจ้า ตั้งแต่วันที่เข้ารับตำแหน่ง จนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เข้าสู่พระปรินิพพาน
              เป็นผู้ที่รู้รอบ รู้ว่ากาลไหนควร กาลไหนไม่ควร ที่จะนำคนเข้าหาพระพุทธเจ้า เป็นผู้ที่รอบคอบ พระพุทธเจ้าไปเทศน์ที่ใดก็ตาม ท่านได้ขอพรเอาไว้ว่า ขอให้กลับมาเทศน์ให้ท่านฟังอีกรอบหนึ่ง ท่านจึงเป็นผู้ที่จดจำพระไตรปิฎกได้ทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
              ท่านเป็นกำลังที่สำคัญที่สุด ในการสังคายนาพระไตรปิฎก รวบรวมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาสู่เรา สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เราคิดให้ถึง มองให้เห็น หรือไม่ก็มาดูพระเถระในยุคหลัง ๆ อย่างหลวงปู่ทวด มรณภาพไปเป็นร้อย ๆ ปีแล้ว เกียรติคุณของท่านก็ยังคงขจรขจาย เอ่ยถึงหลวงปู่ทวด คนต้องรู้ว่าวัดช้างให้
              หรืออย่างหลวงปู่ครูบาศรีวิชัย มรณภาพไปเนิ่นนานแล้ว แต่คุณความดีก็ยังครอบคลุม ทั่วแคว้นล้านนาไทย ตลอดจนกระทั่งทั่วประเทศ
              หรืออย่างหลวงปู่มั่น ท่านสร้างพระให้เป็นพระ ได้มากมายมหาศาลเหลือเกิน แม้กระทั่งครูบาอาจารย์ ที่มีโอกาสแค่เห็นท่านแค่ทางหน้าต่างรถไฟ เพียงแค่แวบเดียว คำสอนที่ได้รับก็คือ “...ตั้งใจทำให้ดีนะ ตั้งใจภาวนานะ...” ปรากฏว่าลูกศิษย์ของท่าน สามารถเป็นหลักชัยของหมู่ชนจำนวนมาก
              หรือหลวงพ่อสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) วัดระฆัง ต้นตำหรับสมเด็จวัดระฆัง อันลือลั่นสนั่นเมือง ท่านมีปฏิปทาอย่างไร หลวงพ่อสมเด็จท่านมีปกติอ่อนน้อมถ่อมตนอยู่เสมอ กล่าววาจาดี กล่าววาจาไพเราะ ไม่เคยขึ้งโกรธใคร ไม่เคยตำหนิใคร กระทั่งสุนัขนอนขวางทางอยู่ หลวงพ่อสมเด็จท่านยังเดินเลี่ยงไป เพื่อที่จะได้ไม่ไปรบกวนสุนัขนั้น แต่ละท่านแต่ละองค์มีปฏิปทาอย่างไร ให้ดูเอาไว้
              หรือหลวงปู่ปานก็ดี หลวงพ่อฤๅษีลิงดำก็ดี มีปฏิปทาความดีอย่างไร เรานึกถึง ระลึกถึง น้อมเอาคุณนั้นเข้ามาอยู่ในจิตในใจของเรา นึกถึงรูปของท่านก็ได้ นึกถึงความดีของท่านก็ได้ แล้วตั้งใจทำตาม
              ถ้าเราจับสังฆานุสติดังนี้ กำหนดเป็นภาพพระสงฆ์ องค์ใดองค์หนึ่ง ที่เรารัก เราชอบ พร้อมกับลมหายใจเข้าออก กำหนดว่า ท้ายสุดทุกท่านก็ไปพระนิพพาน เราก็เอาใจจับพระนิพพานไว้
              หรือกำหนดภาพขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีภาพพระสงฆ์ที่เรารัก เราชอบ เราเคารพ ซ้อนอยู่ในกายของท่าน นึกว่า ตอนนี้เราอยู่กับพระพุทธจ้า อยู่กับหลวงพ่อ อยู่บนพระนิพพาน
              กำหนดใจไว้อยู่อย่างนี้ทุกวัน ๆ ประกอบกับลมหายใจเข้าออก เพื่อให้กรรมฐานทรงตัว อย่าลืมว่า หลวงปู่ หลวงพ่อ ทุกรูปทุกนาม ท้ายสุดก็มรณภาพ ท้ายสุดก็ไปพระนิพพาน
              พระผู้ทรงความดีขนาดนั้น ก็ไม่มีใครอยู่ยงดำรงขันธ์ ล้วนแล้วแต่ตายหมดทั้งสิ้น เราเองก็ต้องตาย ตายแล้วถ้าเราเกิดก็ทุกข์อีก

              ดังนั้น เราไปนิพพานดีกว่า ก็เอาจิตเกาะพระนิพพานไว้ดังนี้ แล้วพยายามรักษาอารมณ์ที่สุข ที่เยือกเย็นนี้ ไว้อยู่กับเราให้นานที่สุด ในอนาคตเราก็จะเข้าถึงความพ้นทุกข์เช่นเดียวกับท่านเช่นกัน
              คราวนี้ ให้ทุกคนคลายกำลังใจออกมาช้า ๆ อย่างระมัดระวัง รักษาประคับ ประคองกำลังใจเอาไว้ เพื่อเราจะได้ทำหน้าที่ของเราต่อไป ?

พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
วันเสาร์ที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๗


งานบวงสรวงหล่อสมเด็จองค์ปฐม วัดพระธาตุดอยกวางคำ

๑๑. เทวตานุสติ


              ขอให้ทุกคนจับภาพพระ พร้อมกับลมหายใจเข้าออกเป็นปกติ เรื่องของภาพพระ จัดเป็นพุทธานุสติกรรมฐาน โดยเฉพาะถ้าเรานึกอยู่เสมอว่า พระพุทธเจ้าอยู่บนพระนิพพาน ก็เป็นวิปัสสนานุสติกรรมฐานไปด้วย
              ส่วนเรื่องของลมหายใจเข้าออก เป็นพื้นฐานของกรรมฐานทั้งหมด เป็นเครื่องสร้างสติของเราให้สมบูรณ์ เพราะฉะนั้น ทุกครั้งเราจะทิ้งลมหายใจเข้าออกไม่ได้ ทิ้งเมื่อไร กรรมฐานทุกกองมันจะไม่ทรงตัว
              เรื่องของภาพพระ กับลมหายใจเข้าออก ให้ถือเป็นพระวินัยประจำตัวไปเลย คือเป็นเรื่องที่เราจำเป็นต้องทำ จะมากจะน้อยก็ตาม ในแต่ละวันต้องนึกถึงให้ได้ ต้องการภาพพระแบบไหน ลักษณะไหน แล้วแต่เราชอบ
              ส่วนลมหายใจเข้าออก ถ้าเรามีความคล่องตัว มันจะกระโดดข้ามขั้น พอนึกปั๊บ มันจะวิ่งไปสู่จุดที่เราเคยชิน คืออารมณ์ฌานระดับต่างๆ ไปเลย ถ้าไม่สามารถจะทำอย่างนั้นได้ ก็ให้เริ่มต้นจับลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
              ใช้ความรู้สึกตามดูลม ว่ามันผ่านจมูก ผ่านกึ่งกลางอก ลงไปสุดที่ท้อง ออกจากท้อง ผ่านกึ่งกลางอก มาสุดที่ปลายจมูก ตามความรู้สึกของเราอยู่เช่นนี้ ถ้าจิตมันละเอียดจริงๆ มันจะรู้ลมได้ตลอด โดยไม่ต้องไปกำหนดฐานเลย
              ลมหายใจไหลเข้า รู้ไปตลอดสาย ลมหายใจไหลออก รู้ไปตลอดสาย ถ้าหากว่ารู้แบบนี้ ก็แปลว่า จิตของเราทรงเป็นฌานอัตโนมัติแล้ว ถ้ากำลังมันสูงมากขึ้น มากขึ้น ลมหายใจเข้าออกของเรา บางทีมันจะสว่างตลอดไปถึงข้างใน
              มันสว่างตลอดเส้นทางที่ลมเข้าไป สว่างตลอดเส้นทางที่ลมออกมา ดังนั้น ให้กำหนดความรู้สึกอยู่เฉพาะหน้า ตั้งใจดูตามลมพร้อมกับภาพพระ หายใจเข้า ภาพพระไหลตามลมเข้าไปสุดที่ท้อง หายใจออก ภาพพระไหลตามลมออกมา ให้ท่านไปอยู่บนศีรษะก็ได้
              หายใจเข้า ภาพพระเล็กลง ไปอยู่ที่ท้อง หายใจออก ภาพพระใหญ่ขึ้น ไปอยู่เหนือหัวของเรา เมื่อภาพพระชัดเจนแจ่มใส สมบูรณ์แล้ว อย่าลืมแผ่เมตตา ไปสู่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ให้เป็นปกติ
              เมตตาพรหมวิหาร จะหล่อเลี้ยงจิตใจของเราให้เยือกเย็น ทำให้กรรมฐานทรงตัว ไม่เสื่อมสลายไปง่าย กรรมฐานทั้ง ๔๐ กอง ความจริงกองใดกองหนึ่ง ถ้าเราตั้งใจทำ ก็ไปนิพพานได้ทั้งนั้น
              แต่ว่าการปฏิบัติของเรา ส่วนใหญ่มีพื้นฐานในอดีตมาแล้ว มีความถนัดในกรรมฐานหลายๆ กองมาแล้ว เราต้องเลือกสิ่งที่มันเหมาะ สิ่งที่มันดี สำหรับตัวเราเอง
              จากประสบการณ์ของผมที่ผ่านมา ผมกล้าพูดได้เต็มปากว่า ถ้าเรามีพรหมวิหาร ๔ อยู่ในใจ กรรมฐานทุกกองจะทรงตัวได้ง่าย เพราะอารมณ์มีความเยือกเย็นเป็นปกติ การแผ่เมตตา พยายามทำให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
              อันดับแรกคือ สรรพสัตว์ทั้งหลาย เมื่อสัมผัสกระแสเมตตาแล้ว กำลังใจที่เร่าร้อนก็จะชื่นเย็น ทำให้เขาไม่คิดจะเป็นศัตรูกับเรา อยู่ในป่า อยู่ในสถานที่รกชัฎ ก็ไม่จำเป็นต้องไปหวาดกลัวว่า สัตว์ชนิดไหนจะทำร้าย
              เมื่อเราไม่ต้องหวาดกลัว ไม่ต้องหวาดระแวง กำลังใจที่ทรงตัวอยู่เฉพาะหน้า ไม่ส่งส่ายไปอารมณ์อื่น มันก็เป็นสมาธิได้ง่าย เมื่อแผ่เมตตาออกไป จนกำลังใจของเราทรงตัวแล้ว มั่นคงแล้ว ก็ให้พิจารณาร่างกายของเราต่อ
              ดูให้เห็นว่า ร่างกายของเรามันไม่เที่ยง มีการเกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยน แปลงไปเรื่อยๆ ในท่ามกลาง และสลาย ตาย พัง ไปในที่สุด ดูให้เห็นว่าขณะดำรงชีวิตอยู่ มีแต่ความทุกข์
              ขณะเวียนว่ายตายเกิดตามภพ ตามภูมิต่างๆ มีแต่ความทุกข์ ทุกข์ของการเกิด การแก่ การตาย การพลัดพรากจากของรักของชอบใจ การได้สิ่งที่ไม่ชอบใจ การมีความปรารถนาไม่สมหวัง การกระทบกระทั่งอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ
              แม้เป็นเทวดา พรหม มีความสุข แต่ก็ยังมีทุกข์อยู่
คือว่ายังกลัวว่าจะต้องตกสู่อบายภูมิ ยังมีกิจที่จะต้องขวนขวาย ทำเพื่อความหลุดพ้น ดังนั้น แม้เทวดา พรหม ก็ยังเป็นทุกข์ ท้ายสุดก็คือ ไม่มีอะไรเป็นเรา เป็นของเรา
              ร่างกายเป็นธาตุ ๔ คือดิน คือน้ำ คือลม คือไฟ ประกอบขึ้นมาเป็นเรือนร่างชั่วคราว ให้เราได้อาศัยอยู่ ถึงเวลามันก็เสื่อมสลายตายพังไป ไม่สามารถจะทรงตัวอยู่ได้ กายของเทวดา ของพรหมที่เป็นทิพย์ ถ้าหากว่าหมดบุญ ก็ต้องสลายไปเช่นกัน

              ต้องจุติไปสู่ภพอื่น ภูมิอื่น ไปได้กายที่หยาบบ้าง ละเอียดบ้าง ตามบุญตามบาปของตน ตกอยู่ในกฎของไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ไม่เที่ยง เช่นกัน ถ้าไปยึดถือมั่นหมาย ก็เป็นทุกข์ เพราะว่าจริงๆ แล้ว มันไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเรา
              มันเป็นแค่เปลือกให้เราอาศัยอยู่ เป็นเหมือนรถยนต์ที่เราขับมัน ถึงเวลารถพัง เราก็ไปหารถคันใหม่ ตามบุญตามกรรมที่เราทำมา ทำกรรมดีเอาไว้มาก ก็ได้รถสวยๆ ราคาสูงๆ ทำกรรมดีเอาไว้น้อย ก็ได้รถเก่าๆ พังๆ ไม่มีราคา
              แต่ไม่ว่าจะเป็นรถเก่า รถใหม่ เราก็ต้องแบกภาระ ในการดูแลมันอยู่เสมอ การที่เราต้องดูในร่างกายนี้ หิวต้องหาให้มันกิน กระหายต้องหาให้มันดื่ม ร้อนต้องหาน้ำให้มันอาบ ต้องหาเครื่องบรรเทาความร้อนให้กับมัน
              หนาวต้องหาผ้าให้กับมัน เจ็บไข้ได้ป่วยต้องรักษาพยาบาล แล้วตลอดเวลามันยังมีแต่ความสกปรก ต้องคอยดูแล อาบน้ำชำระมัน ตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า มีแต่ความสกปรก ไม่ทำความสะอาดมันวันเดียว กลิ่นก็เริ่มออกมาแล้ว
              สภาพร่างกายของเรา มีความเป็นจริงอย่างนี้ ของคนอื่น สัตว์อื่น ก็เป็นอย่างนี้ เรายังจะไปยินดีมันหรือไม่ ในเมื่อถึงวาระ ถึงเวลา มันก็เปลี่ยนภพ เปลี่ยนภูมิ เปลี่ยนขันธ์ ไปตามบุญตามบาปของเรา
              สำหรับวันนี้ จะขอพูดถึงเรื่องของภพภูมิที่สูงกว่า ดีกว่าภพภูมิของเรา คือเรื่องของเทวดา คือเทวตานุสติกรรมฐาน เราเรียนเรื่องของพุทธานุสติ ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า ธัมมานุสติ ระลึกถึงคุณของพระธรรม สังฆานุสติ ระลึกถึงคุณของพระสงฆ์มาแล้ว
              พระพุทธเจ้าท่านเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ สั่งสอนสัตว์โลกทั้งหลายให้รู้ตาม พระธรรมของพระองค์ท่าน ป้องกันผู้ปฏิบัติตามไม่ให้ตกสู่อบายภูมิ ให้ก้าวสู่ภพภูมิที่ดียิ่งๆ ขึ้นไปตราบจนหลุดพ้นเข้าสู่พระนิพพาน
              พระสงฆ์สาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปฏิบัติดี ปฏิบัติควร ปฏิบัติชอบแล้ว รู้ตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอน และนำธรรมะนั้นไปเผยแผ่ เพื่อให้ศาสนาของเรา กว้างไกลออกไป เป็นประโยชน์แก่สรรพสัตว์ทั้งหลายโดยถ้วนหน้า
              คราวนี้เรามาดูเรื่องของ เทวตานุสติกรรมฐาน คือ การระลึกถึงความดีของเทวดา เทวดานั้นท่านกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกว่า มี ๓ จำพวก ด้วยกัน คือ สมมติเทพ เป็นเทวดาโดยสมมติ คือ การแต่งตั้งขึ้นมา อย่างเจ้าพระยามหากษัตริย์ พระเจ้าจักรพรรดิ เป็นต้น
              อุปัตติเทพ เป็นเทวดาโดยการกำเนิดขึ้น อย่างภุมเทวดา รุกขเทวดา อากาศเทวดาทั้ง ๖ ชั้น พรหมทั้ง๑๖ ชั้น อรูปพรหมทั้ง ๔ ชั้น จัดอยู่ในพวกอุปัตติเทพทั้งหมด
              วิสุทธิเทพ เทวดาผู้บริสุทธิ์แล้วโดยสิ้นเชิง ได้แก่พระอรหันต์ทั้งหมด พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหมด พระพุทธเจ้าทั้งหมด ซึ่งท่านทั้งหลายอยู่บนพระนิพพาน
              การระลึกถึงความดีของเทวดาแต่ละลำดับชั้น ไม่ใช่ระลึกถึงในลักษณะเอาท่านเป็นที่พึ่ง ไม่ใช่ระลึกถึงในลักษณะของการอ้อนวอนขอให้ท่านช่วยเหลือ แต่พระพุทธเจ้าสอนให้เรา ศึกษาคุณสมบัติของท่าน แล้วปฏิบัติตามนั้น เราก็จะได้อย่างท่าน จะเป็นอย่างท่าน
              การจะเกิดมาเป็นเจ้าพระยามหากษัตริย์ เป็นพระเจ้าจักรพรรดิทั้งหลาย กุศลข้อแรก ที่ต้องมีเป็นปกติ คือ ศีล อย่างน้อยศีล ๕ ข้อ ต้องบริสุทธิ์สมบูรณ์ ถ้าศีลไม่ครบถ้วน ก็ไม่มีโอกาสได้เกิดเป็นคน
              จะต้องมีทาน เพราะว่า เจ้าพระยามหากษัตริย์ก็ดี พระเจ้าจักรพรรดิก็ดี จะต้องมีการสงเคราะห์ บุคคลผู้อยู่ใต้การปกครองของท่านอยู่เสมอ ตลอดเวลา ถ้าไม่มีกำลังของทาน ย่อมไม่ส่งผลให้ท่านมีทรัพย์สินมากมาย ก็ไม่สามารถที่จะแจกจ่าย สงเคราะห์แก่บุคคลที่ท่านปกครองได้
              มีทาน มีศีลแล้ว ก็ยังต้องมีภาวนาเป็นปกติ โดยเฉพาะพระเจ้าจักรพรรดิราชทุกท่าน จัดเป็นธรรมิกราช เป็นพระราชาผู้ทรงธรรมเป็นปกติ จะสั่งสอนบุคคลที่ท่านปกครองทุกคนให้ปฏิบัติในธรรมะต่างๆ เพื่อความอยู่สุขในปัจจุบัน ถ้าเกิดใหม่ก็จะได้รับความสุขความเจริญอีก
              พระเจ้าจักรพรรดิราช จัดเป็นถูปารหาบุคคล คือบุคคลที่สมควรจะสร้างพระสถูปเจดีย์ บรรจุอัฐิเอาไว้ ให้คนรุ่นหลังได้กราบไหว้บูชา การได้กราบไหว้บูชา แม้แค่ระลึกถึงความดีของท่าน อย่างน้อยๆ ก็พาให้เราเกิดเป็นเทวดาได้
              คุณความดีของท่าน คือ มีทาน มีศีล มีภาวนา เราควรปฏิบัติตามในสิ่งใดบ้าง ถ้าทำได้ ให้ตัดสินใจว่าเราจะทำสิ่งนั้น
              อุปัตติเทพต่างๆ คือเทวดาทั้งหลาย พรหมทั้งหลาย อย่างน้อยๆ ท่านต้องมี หิริ คือรู้จักละอายชั่ว ไม่กล้าทำความชั่ว ต้องมีโอตตัปปะ คือเกรงกลัวผลของความชั่วนั้น จะให้ผล จะทำให้ตนเองตกสู่อบายภูมิ
              หิริ โอตตัปปะ เรียกว่า เทวธรรม คือ ธรรมะของเทวดาทั้งหลาย แล้วยังต้องมีศีลบริสุทธิ์ทุกสิกขาบท การเป็นเทวดาเป็นพรหม โอกาสที่จะละเมิดศีลนั้นแทบจะไม่มี ดังนั้น ต่อให้ท่านตั้งใจรักษาศีล ๒๒๗ ข้อของพระภิกษุ ท่านก็รักษาได้โดยง่าย
              ส่วนการปฏิบัติภาวนาต่างๆ ถ้าอารมณ์ใจทรงตัว ก็จะไปเกิดเป็นพรหมตามลำดับชั้นต่างๆ ทรงปฐมฌานอย่างหยาบได้ เกิดเป็นพรหมชั้นที่ ๑ อย่างกลางเป็นพรหมชั้นที่ ๒ อย่างละเอียดเป็นพรหมชั้นที่ ๓
              ทรงฌานที่ ๒ ได้ อย่างหยาบ จะเกิดเป็นพรหมชั้นที่ ๔ อย่างกลางเป็นพรหมชั้นที่ ๕ อย่างละเอียดเป็นพรหมชั้นที่ ๖
              ทรงฌานที่ ๓ ได้อย่างหยาบ เกิดเป็นพรหมชั้นที่ ๗ อย่างกลางเกิดเป็นพรหมชั้นที่ ๘ อย่างละเอียดเป็นพรหมชั้นที่ ๙
              ทรงฌานที่ ๔ ได้ ฌาน ๔ มีแค่สองระดับ คือหยาบกับละเอียด ทรงฌาน ๔ อย่างหยาบได้เกิดเป็นพรหมชั้นที่ ๑๐ ทรงฌาน ๔ อย่างละเอียดได้เกิดเป็นพรหมชั้นที่ ๑๑ ถือว่าเป็นชั้นสูงสุดของรูปพรหม ในโลกีย์พรหมทั้งหลาย
              ถ้าสร้างกำลังใจเป็นพระอนาคามีได้ จะเกิดเป็นพรหมชั้นที่ ๑๒ ถึงชั้นที่ ๑๖ ถ้าทรงอรูปฌานได้ ก็จะเกิดเป็นอรูปพรหม แล้วแต่ว่าเราทรงฌานไหนได้
              ทรงอากาสานัญจายตนฌานได้ จะได้เกิดเป็นอรูปพรหมชั้นที่ ๑ ทรงวิญญาณัญจายตนฌานได้ จะเกิดเป็นอรูปพรหมชั้นที่ ๒ ทรงอากิณจัญญายตนฌาน ได้ จะเกิดเป็นอรูปพรหมชั้นที่ ๓ ทรงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน จะเกิดเป็นอรูปพรหมชั้นที่ ๔
              แดนของอรูปพรหม จะอยู่ระหว่างพรหมชั้นที่ ๑๑ กับพรหมชั้นที่ ๑๒ เป็นเขตแดนต่างหากออกไป อยู่ในสภาพที่มีแต่ดวงจิต ไม่มีอายตนะรับรู้อย่างอื่น เสวยความ สุขตามกำลังฌานของตน
              เป็นอากาสานัญจายตนพรหม ก็เสวยความสุขอยู่ ๒๐,๐๐๐ มหากัลป์ เป็น วิญญาณัญจายตพรหม เสวยความสุขอยู่ ๔๐,๐๐๐ มหากัลป์ เป็นอากิณจัญญายตนพรหม เสวยความสุขอยู่ ๖๐,๐๐๐ มหากัลป์
              เป็นเนวสัญญานาสัญญายตนพรหม เสวยความสุขอยู่ ๘๐,๐๐๐ มหากัลป์ แต่ว่าเป็นการกินบุญเก่าล้วนๆ ถ้าหากว่าบุญใหญ่จากอรูปฌานหมด ไม่เคยทำบุญอื่นไว้ อาจจะตกสู่อบายภูมิไปเลย
              การเป็นเทวดาจึงต้องมีเทวธรรม คือ หิริ โอตตัปปะ จะต้องมีศีลบริสุทธิ์ จะต้องมีฌานสมาบัติ แต่ว่ามีเทวดาที่เป็นพระอริยเจ้าทั้งหลาย อยู่ในสถานที่ของภุมเทวดา รุกขเทวดา อากาศเทวดาทั้ง ๖ ชั้นเป็นจำนวนมาก
              เพราะว่าท่านทั้งหลายเหล่านั้น ยินดีในสถานที่เพียงแค่นั้น หรือว่ามีกิจต่างๆ ที่จะต้องรับผิดชอบ ตามลำดับชั้นภูมินั้นๆ แม้ว่ากำลังใจก้าวล่วงไปแล้ว ก็ยังต้องทำหน้าที่นั้นจนกว่าจะหมดวาระ ถึงจะไปสู่ภพภูมิของตนตามกำลังของความดี ตามกำลังของความเป็นพระอริยเจ้าของท่านทั้งหลายเหล่านั้น
              ส่วนอันดับสุดท้าย คือ วิสุทธิเทพ ได้แก่ พระอรหันต์ทั้งหลาย พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ล้วนแล้วแต่เป็นวิสุทธิเทพ เป็นผู้ชำระใจของตนให้หมดความรัก โลภ โกรธ หลง ได้อย่างสะอาดบริสุทธิ์ การจะชำระใจของตนให้สะอาดบริสุทธิ์ได้ สติ สมาธิ ปัญญา จะต้องสมบูรณ์พร้อม
              เมื่อครู่ได้กล่าวแล้วว่า ถ้าทิ้งลมหายใจเข้าออก จิตไม่สามารถจะทรงตัวตั้งมั่นได้ ตัวสมาธิไม่เจริญ ตัวสติก็จะบกพร่อง ดังนั้น ลมหายใจเข้าออกสำคัญที่สุด
              ถ้าสติ สมาธิ สมบูรณ์พร้อม ได้เห็นทุกอย่างที่มากระทบ ได้ยินทุกอย่างที่มากระทบ ได้กลิ่นทุกอย่างที่มากระทบ ได้รสทุกอย่างที่มากระทบ รับสัมผัสทุกอย่างที่มากระทบ ก็จะหยุดอยู่แค่นั้น
              เมื่อหยุดอยู่แค่นั้น ไม่มีการปรุงแต่งต่อ กิเลสทุกอย่าง ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้
การที่สติ สมาธิ ปัญญา จะทรงตัวแหลมคม อยู่ที่ความขวนขวายของเราเอง อยู่ที่ความพยายามของเราเอง ไม่มีใครช่วยเหลือเราได้
              ต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างได้ การช่วยเหลือก็คือการแนะนำ เหมือนกับการบอกทาง เมื่อบอกแล้ว ถ้าเราตั้งหน้าตั้งตาเดินไปตามทางนั้น ก็จะใกล้ จุดหมายปลายทางไปเรื่อยๆ แต่ถ้าบอกแล้วเราไม่เชื่อ เราไม่เดินตามทางนั้น โอกาสจะถึงจุดหมายก็ไม่มี ถ้าเราประมาท เดินบ้าง หยุดบ้าง โอกาสจะถึงจุดหมายก็น้อยลง เพราะว่าชีวิตนี้เป็นของน้อย อาจจะตายลงไปเมื่อไรก็ได้
              เรื่องของพระอริยเจ้า เรื่องของครูบาอาจารย์ เรื่องของพระปัจเจกพุทธเจ้า เรื่องของพระพุทธเจ้า การที่เราดู เราศึกษาปฏิปทาของท่าน เหมือนกับเราไปดูสมบัติของมหาเศรษฐี ดูว่าท่านรวยอย่างนั้น ท่านรวยอย่างนี้ นั่นก็ยังเป็นสมบัติของท่านเป็นปกติ
              มันต้องดูว่า ท่านทำอย่างไรถึงรวยแบบนั้น แล้วเราทำตามนั้น ปฏิบัติตามนั้น เราก็จะรวยอย่างท่านบ้าง ดังนั้น การศึกษาในเทวตานุสติกรรมฐาน ไม่ว่าจะเป็นสมมติเทพ อุปัตติเทพ วิสุทธิเทพ ก็คือ ให้เราศึกษาปฏิปทา คือ การปฏิบัติตนของท่าน แล้วไปทำตาม เพื่อให้เข้าถึงตามลำดับเหมือนท่านเหล่านั้น
              เมื่อท้ายสุด กำลังใจของเราเกาะอยู่จุดสุดท้าย คือพระนิพพาน ซึ่งเป็นที่อยู่ของพระวิสุทธิเทพทั้งปวง ให้ตั้งใจว่า ถ้าเราตายลงไปเมื่อไร เราขอมาอยู่ที่นี่เท่านั้น ถ้ากำลังใจของเรา ทรงตัวตั้งมั่นจริงๆ ถึงเวลาพอตาย มันจะมาเอง
              เพราะว่าจิตมีสภาพจำ ถ้าเราตั้งใจให้มันจดจำความดี จนกระทั่งเคยชินกับความดี ถึงวาระ ถึงเวลา มันก็เกาะดีโดยอัตโนมัติ ถ้าเราไม่ทำความเคยชินในด้านดีให้กับมัน ถึงวาระ ถึงเวลา มันเกาะในด้านไม่ดี ก็พาเราไปสู่ภพภูมิที่ไม่ดี ไม่งาม
              ดังนั้น การจับภาพขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ พร้อมกับลมหายใจเข้าออก ก็จัดเป็นการปฏิบัติในเทวตานุสติกรรมฐานอย่างหนึ่ง หรือจับภาพพระวิสุทธิเทพไปเลย หายใจเข้า ภาพของท่าน สว่างสดใสอยู่ตรงหน้า หรือ อยู่บนศีรษะ หายใจออก ภาพของท่านสว่างสดใสอยู่ตรงหน้า หรือ อยู่บนศีรษะ ให้ตั้งใจว่า ถ้าตายลงไป เราจะไปอยู่กับท่านบนพระนิพพานเพียงที่เดียว
              แล้วทรงอารมณ์ภาวนาต่อ จนกระทั่งเต็ม คือ เต็มที่ที่เราทำได้ จากนั้นพยายามประคับประคองอารมณ์นั้นไว้ พยายามจับภาพนั้นไว้ให้เป็นปกติ ทำให้มากทุกวัน กรรมฐานทุกกองพาเราไปสู่พระนิพพานได้ เทวตานุสติกรรมฐานย่อมพาเราไปนิพพานได้
              เพียงแต่ว่าเราทำถูกต้องหรือไม่เท่านั้นเอง ขอให้ทุกคนประคับประคองภาพนั้นไว้ รักษาภาพนั้นไว้ให้ดี ถึงเวลาเราจะทำวัตร ก็แบ่งกำลังใจส่วนหนึ่ง จดจ่ออยู่กับภาพนั้น ๆ เอาไว้ อย่าให้เคลื่อนไปไหน
              ขณะที่ปากเราพูด อย่าให้เคลื่อนไป ขณะที่ใจของเรานึกถึง อย่าให้เคลื่อนไป ขณะที่ร่างกายเคลื่อนไหว อย่าให้ภาพพระเคลื่อนไป
              พยายามสร้างความเคยชิน ในการทำความดีขณะที่ร่างกายเคลื่อนไหว ขณะที่ร่างกายทำกิจอื่นๆ ไว้ เมื่อถึงวาระ ถึงเวลา กำลังใจจะได้ทรงตัวอยู่แบบนั้นได้ง่าย ?

พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
วันอังคารที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๔๗


เทศน์วันออกพรรษา วัดท่าขนุน ๖ ตุลาคม ๒๕๔๙

๑๒. จาคานุสติ


              การปฏิบัติของเราทุกวันนั้น พื้นฐานอย่าง ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ต้องใช้คำว่า จำเป็นต้องรู้ไว้ การที่เราทรงลมหายใจเข้า ลมหายใจออกอยู่ ถ้ายังต้องกำหนดใจไปรู้มัน แปลว่า กำลังมันยังอ่อนมาก
              ต้องให้มันรู้ลมอัตโนมัติ คือ ความรู้สึกอยู่กับลมหายใจ และคำภาวนา โดยอัตโนมัติ ถ้าอย่างนั้น ถึงจะพอมีกำลัง จะตัดกิเลสหยาบขั้นต้นได้ การที่เราจะรู้ลมโดยอัตโนมัติก็หมายความว่า สมาธิต้องทรงตัว อย่างต่ำๆ ก็ต้องเป็นปฐมฌานละเอียด
              กำลังของปฐมฌาน มีอานุภาพสามารถตัดกิเลสขั้นต้นได้ คือ สามารถที่จะตัดสังโยชน์เบื้องต้น ให้เราเข้าถึงความเป็นพระโสดาบัน และความเป็นพระสกิทาคามี การรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก บางคนกล่าวว่า เป็นการติดในสมาธิ ขอบอกว่า ถ้าสมาธิของเรากำลังไม่ทรงตัว โอกาสจะก้าวถึงความเป็นพระอริยะเจ้านั้นจะไม่มี
              ดังนั้น ทุกวันต้องประคับประคอง รักษาอารมณ์ภาวนาของเรา ให้ทรงตัว คอยดูมันอยู่เสมอๆ ถ้าสติมันพลาดไป รู้ตัวเมื่อไร ให้ดึงใจกลับเข้ามา อยู่ที่ลมหายใจเข้าออก จะได้ไม่ฟุ้งซ่าน อย่างไรเรียกว่าฟุ้งซ่าน ?
              ก็ให้สังเกตใจตนเองว่า มันอยู่กับลมหายใจเข้า ลมหายใจออก มันอยู่กับคำภาวนา หรือว่ามันวิ่งไปอารมณ์อื่น ตัววัดที่ง่ายที่สุดก็คือ นิวรณ์ทั้ง ๕ อย่าง ได้แก่
              กามฉันทะ จิตมันพอใจอยู่กับรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ หรือไม่ ?
              พยาบาท จิตมันนึก โกรธ เกลียด อาฆาต แค้น คนนั้นคนนี้อยู่หรือไม่ ?
              ถีนมิทธะ มีความง่วงเหงาหาวนอน และขี้เกียจเป็นปกติ หรือไม่ ?
              อุทธัจจะ คือ อารมณ์ไม่ได้ตั้งมั่นอยู่เฉพาะหน้า ฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ หรือไม่ ?
              วิจิกิจฉา คือ ลังเลว่า ผลการปฏิบัติมันจะมีผลจริงหรือไม่ ?
              ถ้าอารมณ์ทั้ง ๕ อย่างนี้ ตัวใดตัวหนึ่งเท่านั้นอยู่ในใจของเรา ฌานสมาบัติก็สลายตัวไปแล้ว ทันทีที่เห็นนิวรณ์ตัวใดตัวหนึ่งอยู่ในใจของเรา รีบขับไล่มันออกไป วิธีไล่ที่ง่ายที่สุดก็คือ ดึงความรู้สึกทั้งหมด กลับมาอยู่กับลมหายใจเข้าออกของเรา
              ให้มันอยู่ตรงนี้ อยู่กับเดี๋ยวนี้ อยู่เฉพาะหน้าของเรา ทันทีที่กำลังใจของท่าน สามารถตามลมหายใจเข้าไป ผ่านจมูกรู้ตัวอยู่ ผ่านกึ่งกลางอกรู้ตัวอยู่ ลงไปสุดที่ท้องรู้ตัวอยู่ ลมหายใจออกจากท้องรู้ตัวอยู่ ผ่านกึ่งกลางอกรู้ตัวอยู่ มาสุดที่ปลายจมูกรู้ตัวอยู่
              ขอบอกว่า อันนี้เป็นอาการของปฐมฌานขั้นต้น ปฐมฌานมี ๓ ระดับ คือ หยาบ กลาง ละเอียด แค่ความรู้สึกของปฐมฌานเบื้องต้น ทันทีที่ท่านเข้าถึง กำลังของมันเพียงพอที่จะกดไฟใหญ่ ๔ กอง ที่เผาเราอยู่ตลอดเวลา ทุกวี่ทุกวัน ให้ดับลงชั่วคราว ได้แก่
              ราคัคคิ ไฟคือราคะ โลภัคคิ ไฟคือโลภะ โทสัคคิ ไฟคือโทสะ โมหัคคิ ไฟคือ โมหะ ไฟของ รัก โลภ โกรธ หลง ๔ กองนี้ เผาเราอยู่ตลอดเวลา ทันทีที่กำลังใจเข้าถึงปฐมฌาน ถึงแม้จะเป็นขั้นต้น ขั้นหยาบ แต่กำลังมันเพียงพอ มันจะกดให้ไฟ ๔ กองนี้ให้ดับลงชั่วคราว
              เราจะพบกับความสุข ความเยือกเย็นใจ อย่างไม่เคยพบมาก่อน คนที่ถูกไฟเผาอยู่ตลอดเวลา อยู่ๆ ไฟดับลง มันสบายแบบไหน พูดเป็นคำพูดไม่ได้ คำพูดของคนก็ดี ตัวหนังสือก็ดี มันหยาบเกินไป ที่จะอธิบายอารมณ์ที่เกิดจากการปฏิบัติ พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสว่า มันเป็นปัจจัตตัง คือ คนที่ทำนั่นแหละ ถึงจะรู้ได้ด้วยตนเอง
              เมื่อไฟทั้ง ๔ กองดับลง เราเข้าถึงความสุขเยือกเย็นอย่างบอกไม่ถูกนั้น ถ้าเรารู้จักใช้ปัญญาคิดต่อไปอีกนิดเดียว คือว่า นี่ยังเป็นโลกียฌาน ยังเป็นกำลังสมาธิ ที่ผูกพันอยู่กับโลก โลกียะ คือยังคลุกอยู่กับโลก มันยังมีความสุข ความเยือกเย็นใจขนาดนี้
              แล้วบุคคลที่ได้ฌานที่ ๒ จะมีความสุข ความเยือกเย็นใจขนาดไหน? ฌานที่ ๓ ที่ทรงตัวกว่า ยิ่งมีความเยือกเย็นใจขนาดไหน ? แล้ว ฌานที่ ๔ ที่มั่นคงมากกว่ากำลัง ฌาน ๑ ๒ ๓ นั้นจะมีความสุขเยือกเย็นขนาดไหน ?
              แล้วกำลังของสมาธิ คือ ฌานสมาบัติทั้งหมดนี้ ยังสามารถที่จะพลาดลงสู่อบายภูมิได้ ถ้าอย่างนั้นบุคคลที่เป็นพระโสดาบัน ท่านจะมีความสุขเยือกเย็นใจขนาดไหน ? ที่ได้รู้ว่า อบายภูมิปิดสนิทสำหรับท่านแล้ว โอกาสจะตกต่ำไปกว่านี้ไม่มีแล้ว
              เกิดเป็นคน กับเทวดาสลับกัน มากที่สุดก็ไม่เกิน ๗ ครั้ง ก็จะเข้าสู่พระนิพพานได้ ท่านจะมีความสุขเยือกเย็นใจขนาดไหน ?
              แล้วพระสกทาคามี ที่ รัก โลภ โกรธ หลง เบาบางมาก อย่างเก่งเกิดอีกครั้งเดียว ก็เข้าสู่พระนิพพาน นั่นจะมีความสุข ความสบายขนาดไหน ?
              พระอนาคามีที่ดับไฟราคะ ไฟโทสะ ได้อย่างแน่นอนแล้ว ราคะ กับ โลภะ เป็นตัวเดียวกัน เท่ากับว่าไฟใหญ่ ๔ กอง โดนดับไป ๓ กองแล้ว นั่นจะมีความสุขเยือกเย็นขนาดไหน ?
              แล้วพระอรหันต์ ที่ดับไฟกิเลสทั้งหมดได้โดยสิ้นเชิง นั่นจะมีความสุขขนาดไหน? ความสุขทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ จะเทียบได้กับความสุขของ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณหรือไม่ ?
              เมื่อเราคิดแบบนี้ ตรองแบบนี้ ความเคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คือพระรัตนตรัย จะเต็มอยู่ในจิตในใจของเราเอง กติกาข้อแรกของความเป็นพระโสดาบัน ก็อยู่ในกำมือของเรา คือเราต้องเคารพ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จริงๆ ไม่ล่วงเกินด้วยกาย ด้วยวาจา หรือด้วยใจ
              กติกาอีก ๒ ข้อก็คือว่าเราต้องรักษาศีลให้บริสุทธิ์ ถ้าสมาธิของเราทรงตัวเป็นฌาน สติมันจะรู้รอบ ขยับตัวก็รู้แล้ว ว่าศีลจะขาดหรือไม่ ? ดังนั้น การรักษาศีลให้บริสุทธิ์ก็เป็นเรื่องง่าย
              นอกจากจะไม่ละเมิดศีลด้วยตัวเองแล้ว ยังไม่ยุยงส่งเสริมให้คนอื่นเขาทำ เมื่อเห็นคนอื่นเขาละเมิดศีล ก็ไม่พลอยยินดีด้วย ดังนั้น ศีลทุกสิกขาบทของเราก็บริสุทธิ์ บริบูรณ์โดยสิ้นเชิง กติกาข้อที่ ๒ ของการเป็นพระโสดาบัน ก็อยู่ในกำมือของเราเช่นกัน
              กติกาข้อสุดท้าย คือตั้งใจไว้ว่า ถ้าตายเมื่อไร เราขอไปพระนิพพานเพียงแห่งเดียว ถ้ากำลังสมาธิมันทรงตัว สติ สมาธิ มันจะจดจ่อตั้งมั่น เราอาจจะจับภาพพระเป็นปกติ หรือว่าเอาจิตเกาะพระนิพพานเป็นปกติ ถ้าอย่างนั้น กติกาความเป็นพระโสดาบันของเราก็สมบูรณ์บริบูรณ์โดยสิ้นเชิง
              โบราณาจารย์ถึงได้กล่าวไว้ว่า กำลังแค่ปฐมฌานก็สามารถเป็น พระโสดาบัน และพระสกิทาคามีได้แล้ว เหตุที่เป็นได้นั้น เพราะว่ากำลังของฌาน กดกิเลสให้สงบลงชั่วคราว ทำให้เราเห็นคุณของพระรัตนตรัยอย่างแท้จริง
              ทำให้เรารู้ว่าพระนิพพานนั้นดีจริงๆ ถ้าคิดว่ากติกาหลายข้อ มันมากเกินไป ก็ให้ดูที่ศีลอย่างเดียว สติ สมาธิของเราทั้งหมดประคับประคองอยู่ที่ศีล ตั้งใจว่าเรารักษาศีลเพราะเคารพใน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เรารักษาศีล เพราะว่าเราต้องการจะไปนิพพาน
              ถ้าสติมันทรงตัวอยู่เฉพาะหน้า กำลังของมันทรงเป็นปฐมฌานได้ กติกาความเป็นพระโสดาบันก็ง่ายอย่างนี้ แล้วถ้าจะก้าวขึ้นความเป็นพระสกิทาคามี ก็ทำปฐมฌานนี้ให้ละเอียด มันจะรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก โดยอัตโนมัติ
              คนที่สติสมาธิทั้งหมด อยู่กับลมหายใจเข้าออกเฉพาะหน้า ตัวรัก โลภ โกรธ หลง มันจะเบาบางมาก จริงๆ แล้วมันโดนกดดับไปซะด้วยซ้ำไป แต่ว่ากำลังมันยังไม่มั่นคง ดังนั้น ถ้าเราสามารถทรงสมาธิได้ ในระดับปฐมฌานละเอียด กติกาของความเป็นพระสกิทาคามี ก็อยู่ในกำมือของเราเช่นกัน
              ถ้าถึงตอนนั้น ให้เราทบทวนดูตามกรรมบถ ๑๐ เพราะว่าศีล ๕ น้อยเกินไปสำหรับพระสกิทาคามี ก็ดูว่าเรายังทำร้ายสัตว์ให้ลำบากโดยเจตนาหรือไม่ ? เราหยิบฉวยสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ หรือว่าเรายังลักขโมย ช่วงชิง สิ่งของของคนอื่นเขาหรือไม่ ?
              คนที่เขารัก ถ้ามีโอกาส เรายังล่วงละเมิดหรือไม่ ? ไม่ว่าจะด้วยกาย ด้วยวาจา หรือด้วยใจก็ตาม ใจมันอาจจะคิด แต่ว่าถ้าสติสมาธิมันอยู่ตรงหน้า มันจะรู้เท่าทัน แล้วก็ไล่ความคิดนั้นออกไปทัน มันก็สามารถที่จะระงับ ไม่ให้ออกไปทางวาจาที่จะพูด ไม่ให้ออกทางกายที่จะทำได้
              คราวนี้ ก็มาดูกรรมอันเกิดจากคำพูดทั้ง ๔ อย่าง คือ ผรุสวาทา พูดคำหยาบ ยังด่าคนอื่นอยู่ ถ้าสติสมาธิ มันอยู่กับฌานสมาบัติตรงหน้า มันไม่มีเวลาไปด่าใคร มันไม่สามารถที่จะโกรธจนไปด่าใครได้ แล้วมันยังพูดในปิสุณาวาทา ส่อเสียด ยุยงให้คนอื่นเขาแตกร้าวกันหรือไม่ ?
              ถ้าสติสมาธิมันอยู่ตรงหน้า จิตทรงเป็นฌาน ปัญญามันจะแหลมคม มันจะเห็นว่า การทำดังนั้น สร้างแต่ความทุกข์ให้กับทั้งตนเองและผู้อื่น มันก็จะหยุดการกล่าววาจาส่อเสียด ยุแยงตะแคงแซะ ให้คนอื่นเขาแตกร้าวกัน
              ไม่ว่าจะเป็นการเลียบเคียง ในลักษณะใดก็ตาม ถ้ากำลังใจมันทรงฌานจริงๆ ตัววิหิงสาวิตก คือการคิดพยาบาท การคิดร้ายต่อคนอื่นมันจะไม่มี ดังนั้น คำพูดส่อเสียดมันก็จะไม่มี การพูดวาจาเพ้อเจ้อ คือ สัมผัปปลาปวาทา ก็ไม่มี
              เหตุที่ไม่มี เพราะว่าถ้ากำลังของสมาธิมันทรงตัวอยู่ สติมันจะรู้รอบ รู้ว่าคำพูดประเภทไหนมีประโยชน์ ไม่มีประโยชน์ ก็จะละคำพูดที่ไม่มีประโยชน์ หันมาพูดแต่คำพูดที่มีประโยชน์เพียงอย่างเดียว
              ส่วนข้อสุดท้ายคือ มุสาวาทา การโกหกเขา ถ้าสติ สมาธิทรงตัว การโกหกก็จะไม่มี ดังนั้นกายกรรมทั้ง ๓ คือการฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม จะไม่มี สำหรับผู้ที่ทรงฌานได้ วจีกรรม ๔ คือการพูดคำหยาบ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ พูดโกหก ก็จะไม่มีสำหรับผู้ที่ทรงฌานได้
              มันก็เหลือแค่ว่า อย่าโลภอยากได้ของของเขาจนเกินพอดี การโลภ คือการที่ไม่ได้มาถูกต้องตามศีลตามธรรมแล้ว ก็ยังคิดลักขโมย ช่วงชิง ฉ้อโกง หลอกลวงเขา เพื่อให้ได้มาซึ่งของนั้น
              ถ้าหากว่าใจมันทรงเป็นสมาธิอยู่ ตัวโลภตัวนี้ก็จะไม่มี ก็จะเหลือตัวพยาบาทคือโกรธ เกลียด อาฆาตแค้นคนอื่น ในเมื่อไฟราคะ โลภะ โทสะ โมหะ โดนกำลังของฌานสมาบัติมันกดดับไป ตัวโกรธ เกลียด อาฆาตแค้นคนอื่น มุ่งร้ายคนอื่นมันก็จะไม่มี
              ส่วนกติกาข้อสุดท้ายของกรรมบถ ๑๐ นั้น เป็นส่วนกำไรแท้ๆ คือตัวทิฏฐุชุกัมม์ นั้นเป็นสัมมาทิฐิ เห็นว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนนั้นดีแล้ว ถูกต้องแล้ว เราตั้งใจจะปฏิบัติตามนั้น จะเห็นได้ว่า ถ้าสมาธิมันทรงตัวแค่ปฐมฌานเท่านั้น การจะเป็นพระโสดาบันก็ดี เป็นพระสกิทาคามีก็ดี ไม่ใช่ของยาก
              สำหรับเรา ดังนั้น ในการปฏิบัติขั้นต้นของทุกๆ คน เราจำเป็นต้องยึดหัวหาด คือปฐมฌานเป็นอย่างน้อย เพื่อก้าวถึงความเป็นพระอริยเจ้า คือ ความเป็นพระโสดาบัน และพระสกิทาคามี เป็นลำดับแรก สำหรับอารมณ์ของพระอริยเจ้า ก็จะกล่าวถึงแต่เพียงนี้
              วันนี้ เรามาศึกษากันต่อ ในเรื่องของจาคานุสติกรรมฐาน เราระลึกถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์กันมาแล้ว ระลึกถึงคุณความดีของเทวดากันมาแล้ว วันนี้ เราจะมาดูว่า จาคานุสติ คือ การระลึกถึงความเสียสละออก มีคุณความดีในลักษณะไหน ? สมควรปฏิบัติตามอย่างไร ?
              รากเหง้าของกิเลสใหญ่ทั้ง ๓ ประการ คือ ราคะ โทสะ โมหะ ดึงให้เราเวียนตายเวียนเกิด ทุกข์ทรมานไม่รู้จบ ราคะกับโลภะ รักกับโลภ เป็นตัวเดียวกัน เพราะรัก ถึงอยากมีอยากได้ ท่านถึงได้กล่าวไว้แค่ราคะ โทสะ โมหะ
              คราวนี้ตัว รัก ก็ดี ตัวโลภ ก็ดี ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนี้ มันทำให้จิตใจของเราถูกหน่วงเหนียวแน่น อยู่กับทรัพย์สินสิ่งของต่างๆ ตลอดจนร่างกายของเรา ไม่รู้จักสละออก ก็ทำให้เรายึด เราเกาะ เราติดอยู่ในโลกนี้ ติดอยู่ในร่างกายนี้ เวียนตายเวียนเกิดไม่รู้จบ
              ราคะ โทสะ โมหะ เหมือนกับเก้าอี้ ๓ ขา ถ้าตราบใดที่ขาทั้ง ๓ ของมันยังมั่นคงอยู่ ตราบนั้น เราไม่สามารถที่จะล้มมันได้ เพราะเก้าอี้ตัวนี้ใหญ่มาก ใหญ่เหลือเกิน แต่ถ้าเราตัดขาใด ขาหนึ่งของมันออก เก้าอี้มันทรงตัวอยู่ไม่ได้ อย่างน้อยๆ มันต้องพลิกตะแคงไป
              ดังนั้น การที่เราจะตัดรากเหง้ากิเลสใหญ่ ตัวรัก กับโลภ หรือว่าตัวราคะนี้ ถ้ามีการเสียสละ คือการสละออกซึ่งทรัพย์สิน สิ่งของ อารมณ์ยึด อารมณ์เกาะ หรือว่าตัว รัก โลภ โกรธ หลง อันใดก็ตาม
              มันก็จะต้องอาศัยจาคานุสติ คือระลึกอยู่เสมอว่า ถ้ามีโอกาส เราจะให้ ถ้ามีโอกาส เราจะเสียสละ ไม่ว่าจะเห็นคน เห็นสัตว์ก็ตาม ถ้ารู้ว่า เขาต้องการความช่วยเหลือในด้านใด ถ้าหากเรามีความสามารถ เราจะช่วย
              ความรู้สึกนี้ มันจะทรงอยู่ในใจเสมอ คราวนี้ การที่สละออก ส่วนใหญ่ก็ต้องเสียทรัพย์สินสิ่งของ แรกๆ ก็อาจจะรู้สึกว่ายากมาก ลำบากมาก ที่จะต้องเสียสละ สิ่งที่เราหามาโดยยาก ก็ให้สละจากของน้อยๆ ก่อน
              การที่เราจะสละออก จะทำบุญ จะสร้างในทานบารมี ถ้าหากว่าเราสละของใหญ่ จิตใจมันยึดมันหวง สละของแพงจิตใจมันยึดมันหวง ก็เริ่มสละจากของเล็กๆ น้อยๆ การสละออก ให้มีสติรู้ว่าเราทำเพื่อตัด ราคะ ตัด โลภะ
              ดังนั้น มันยิ่งหน่วงยิ่งเหนี่ยวเรามากเท่าไหร่ ให้เราสละออกได้ยากเท่าไหร่ ถ้าเราสามารถสละได้ มันจะเกิดปีติ คือปลื้มใจ อิ่มใจมากเท่านั้น กำลังการสละออก ถ้าหากว่าเราทำมาก สละได้ยาก
              ให้สละแต่น้อยๆ เพียงแต่ว่าทำบ่อยๆ ถ้าเราทำบ่อยๆ จิตใจเคยชินกับการสละออก ต่อไปก็สละของใหญ่ ของแพงได้ ของที่เรารัก เราหวง ก็สละได้
              การสละออกนั้น ท่านบอกว่า ถ้าหากว่าเจตนาบริสุทธิ์ ตั้งใจละ เพื่อเป็นการตัดตัวรัก ตัวโลภ จริงๆ ไม่ใช่สละออกเพื่อให้คนอื่นเขาเห็นว่าเราดี วัตถุที่เราจะสละออกไป คือสิ่งที่เราได้มาโดยถูกต้องตามศีล ตามธรรม
              เมื่อเจตนาบริสุทธิ์ วัตถุทานบริสุทธิ์ ตัวเราผู้สละออกขณะนั้น มีศีลทุกสิกขาบทบริสุทธิ์หรือไม่ ? ต้องใช้คำว่าขณะนั้น คือตอนนั้น เดี๋ยวนั้น ไม่ใช่เมื่อนาทีก่อน หรือเมื่อชั่วโมงก่อนที่เราละเมิดในศีล
              ดังนั้น ตัวเราตอนนั้นให้ตั้งใจว่า ศีลทุกสิกขาบทของเรา มีความบริสุทธิ์บริบูรณ์ เราก็จะเป็นผู้ให้ที่บริสุทธิ์ ก็เหลือแต่ปฏิคาหก คือผู้รับ ว่าจะบริสุทธิ์บริบูรณ์ขนาดไหน ?
              ถ้าหากว่าเจตนาบริสุทธิ์ วัตถุทาน บริสุทธิ์ ผู้ให้บริสุทธิ์ ผู้รับบริสุทธิ์ การสละออกของเรา จะมีอานิสงส์เต็มร้อยส่วน เพียงแต่ว่าให้ใช้ปัญญาประกอบ การสละออกของเรา อย่าให้ตัวเองต้องเดือดร้อน อย่าให้คนรอบข้างต้องเดือดร้อน
              ถ้ามันยังจำเป็นที่จะต้องใช้ ก็ให้คิดอยู่เสมอว่า ถ้าหมดความจำเป็นเมื่อไร เราพร้อมที่จะสละออก อย่างนี้ก็ถือว่าเป็นจาคานุสติ อย่าลืมว่า อนุสติคือการระลึกถึงเท่านั้น แค่คิดว่าเราจะสละ ถ้าหากว่าได้สละออกไป ได้ให้แล้ว อันนั้นเป็นทานบารมี
              ในเมื่อเราสละวัตถุ สละสิ่งของได้ เราก็สละอารมณ์ไม่ดีในใจของเราได้ ค่อยๆ สละมันออกไป ด้วยกำลังของสมาธิ ในเมื่อตัว ราคะ โลภะ มันออกไปได้ ตัวโทสะ กับโมหะ มันก็ไม่มีกำลัง
              เพราะว่าเก้าอี้ ๓ ขา มันโดนตัดขาไปเสียข้างหนึ่งแล้ว การที่เราจะตัดกิเลสให้เป็นสมุทเฉทปหาน เพื่อเข้าสู่พระนิพพานของเรา ก็เข้าไปแล้วอย่างน้อยหนึ่งในสาม แต่ถ้าเราสละถึงที่สุด แม้แต่ชีวิตนี้ก็สละได้ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา เพราะเรารู้ว่าเราทำความดีแบบนี้ เราตายเราก็ไปพระนิพพาน
              ถ้าสามารถสละถึงขนาดนี้ได้ ยอมมอบกายถวายชีวิตต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ความดีจุดใดที่เราทำไม่ได้ เรายอมตายเสียดีกว่า ถ้าอย่างนั้นตัวจาคานุสติคือการสละออกของเรา จะมีผลเต็มที่ คือท้ายสุดก็เข้าสู่พระนิพพานเช่นกัน
              สำหรับเวลาทั่วๆ ไปเมื่อใคร่ครวญดูว่า มีสิ่งใดที่เราสละได้ มีสิ่งใดที่เราสามารถให้ เพื่อเป็นการสงเคราะห์ผู้อื่นได้ เรามีโอกาสที่จะให้ แล้วเราไม่ให้มีไหม ?
              ถ้าหากว่าเราสามารถให้ได้ทุกเวลา ก็ให้ทรงอารมณ์ใจภาวนา รักษาอารมณ์ตัวสละในใจของเรานั้น ให้ทรงตัวไว้ สมาธิทรงตัวสูงมากเท่าไร กำลังการสละออกของเราก็ยิ่งสูงมากเท่านั้น สามารถที่จะให้ได้ตลอดเวลา แม้แต่ชีวิต เลือดเนื้อ ร่างกาย ถ้ามีคนต้องการมันก็สละให้ได้
              เพราะเรารู้ว่าเราตาย เราก็ไปพระนิพพาน ก็ให้เอาใจเกาะพระนิพพานเป็นจุดสุดท้าย จับอารมณ์ภาวนาให้ทรงตัว ให้กำลังมันสูงที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ จาคานุสติกรรมฐาน ก็จะสามารถทรงตัวอยู่ ตราบใดก็ตามที่เรายังคิดจะสละออก ตราบนั้นตัวอนุสติตัวนี้ก็ตั้งมั่นอยู่กับเราตลอดไป
              สำหรับตอนนี้ ก็อย่าลืมเรื่องภาพพระ คือพุทธานุสติของเรา ให้อยู่ควบกับลมหายใจเข้าออก กำหนดใจเบาๆ สบาย ๆ แบ่งความรู้สึกส่วนหนึ่ง จับภาพพระให้เป็นปกติ
              เมื่อสวดมนต์ทำวัตร ให้ตั้งใจว่า เราทำเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา อานิสงส์ทั้งหมด เราต้องการไปพระนิพพานแห่งเดียว เอาความรู้สึกของเรา จับภาพพระเอาไว้ ปากเราก็สวดมนต์ทำหน้าที่ของเราไป
              ถึงเวลาทำการทำงานอื่นๆ ให้จับภาพพระอยู่กับเราตลอดเวลา การงานต่างๆ ก็จะทรงตัว ทำแล้วได้ผลละเอียดละออดี ตอนนี้ให้ค่อยๆ ถอนจิตออกมา และประคับประคองให้อยู่กับภาพพระเอาไว้ เพื่อจะได้ทำวัตรเช้าต่อไป ?

พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
วันพุธที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๔๗