สนทนากับพระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๖(ต่อ)
ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ

      ถาม:  ในหมวดบารมี ๑๐ มีธรรมะหมวดใดหมวดหนึ่งที่มีความสำคัญมากกว่าหมวดอื่นหรือไม่ ?
      ตอบบารมี ๑๐ ทั้ง ๑๐ หมวด มีความสำคัญเท่าเทียมเสมอกัน แต่ว่าสำคัญอยู่ที่ว่าขณะที่เรารู้แล้ว เริ่มทำนั้นเป็นปัญญาบารมี เพราะฉะนั้นปัญญาบารมีสัมมาทิฏฐินี่จะมาก่อนเพื่อน ถ้าปัญญาไม่มีก็จะไม่ทำความดีใช่ไหม ? จะเรียกว่าสำคัญ ความสำคัญก็สม่ำเสมอกันทุกอย่าง เพราะว่าแต่ละอย่างนี่ก็จะใช้การปฏิบัติในลักษณะที่เรียกว่าละราคะ โลภะ โทสะ โมหะ จะมีความสำคัญ ก็ต้องบอกว่ามีความสำคัญเสมอกัน แล้วอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าในเรื่องของบารมี ๑๐ ถ้าเราเริ่มตัวใดตัวหนึ่ง อีก ๙ ตัวจะมาด้วย ตัวนี้ผูกขาติดกัน
              สมมติว่าเราให้ทานใช่ไหม ทานบารมีได้แล้ว เรารู้ว่าให้แล้วเป็นการตัดความโลภ เป็นปัญญาบารมีคุณมีปัญญาคุณถึงให้ทาน คนไม่มีปัญญาไม่ให้หรอก คนที่ให้ทานประกอบด้วย ความรัก ความเมตตา เป็นปกติ เมตตาบารมีก็ได้ คนมีความเมตตาบารมีอยู่ศีลก็ทรงตัวปกติอยู่แล้ว ขณะที่เราให้เราต้องตัดกำลังใจเพื่อที่จะสละให้คนอื่นเขา ก็ต้องมีความขันติ ความอดทน วิริยะ ความพากเพียรอยู่ด้วย เสร็จแล้วพอให้ไปก็ไม่ต้องไปเสียดาย ไม่ต้องไปคิดว่าเขาจะใช้หรือไม่ใช้ เขาจะหลอกเราหรือไม่หลอก ก็เป็นอุเบกขาบารมี สรุปแล้วพอได้ตัวเดียวข้ออื่นก็ตามมาหมด พอให้แล้วเราก็ตั้งใจแล้วว่าเราให้เพื่ออะไร ก็เป็นอธิษฐานบารมี เรามีโอกาสเมื่อไรเราจะให้ทันที ก็เป็นสัจจะบารมีได้ครบหมด บุญกับทานจริง ๆ เป็นตัวเดียวกัน คือการให้ การสละออก แต่ส่วนใหญ่ของเรานี่จะคิดว่าเป็นบุญทำกับพระ ทำกับคนและสัตว์ทั่วไปใช่ไหม จริง ๆ แล้วตัวเดียวกัน เอาเถอะให้ได้ทำสักอย่างก็แล้วกัน
      ถาม :  คำว่า ครอบครัวเพอร์เฟคนั้น ภายในบ้านจะต้องมีเกมส์เพลย์สเตชั่นไว้ให้ลูกเล่น มีชุดโฮมวิดีโอไว้สำหรับครอบครัว เอาไว้ดูหนัง ฟังเพลง คาราโอเกะ เท่านี้ก็เพียงพอ ครอบครัวสมบูรณ์ในทัศนคติของพระคุณเจ้าเป็นอย่างไร ?
      ตอบ :  ทัศนคติของอาตมามันห่วยแตก ใช้ไม่ได้ เอาทัศนคติของพระพุทธเจ้าก็แล้วกัน ครอบครัวสมบูรณ์แบบในทัศนคติของพระพุทธเจ้านั้นต้องเป็นครอบครัวที่ มีทาน มีศีล มีภาวนา เป็นปกติจ้ะ พวกนั้นไม่ใช่สมบูรณ์แบบหรอก พวกนั้นเห็นแก่ตัวเสียด้วยซ้ำไป คนอื่นมีกูต้องมี บางทีทำให้ตัวเองลำบากด้วย เพราะว่าในเมื่อยังไม่สมควรจะมีก็พยายามไปเป็นหนี้เป็นสิน มีขึ้นมาอย่างนี้ ลำบากกับตัวเองเสียเปล่า ๆ
      ถาม :  การที่พระสงฆ์หรือคนที่มีจิตผูกพันกับพระพุทธเจ้าพระองค์ต่าง ๆ สิ่งนี้มีสิ่งใดเป็นสาเหตุหรือไม่ครับ ?
      ตอบ :  ก็จะต้องเคยประกอบในนพุทธานุสติในอดีตมาก่อน ถ้าหากว่าไม่เคยทำในเรื่องพุทธานุสติมา จิตที่จะผูกพันกับพระพุทธเจ้าไม่มี จนกว่าที่จะมาประสบพบพานเกิดความเลื่อมใส ได้ฟังธรรม น้อมน้ำไปปฏิบัติแล้วเห็นผลอะไรเหล่านั้น ถึงจะเกิดความผูกพันมั่นคงอีก เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าคนในอดีตไม่เคยปฏิบัติในพุทธานุสติมาจให้ผูกพันแน่นแฟ้นกับพระเป็นไปไม่ได้
      ถาม :  ในชาดก ท่านกล่าวว่าในหนึ่งปีจะมีฤกษ์ขอผลแก้ว ๗ ประการ ไม่ทราบว่าในยุคนี้มีหรือไม่ ?
      ตอบ :  ก็มีอยู่นะ แต่บุญคนไม่ถึงอย่างนั้น บุญคนไม่ถึงสมัยนั้น เพราะฉะนั้นฤกษ์ยามอย่างนั้นก็ยังเป็นของมันอยู่ ยังมีของมันอยู่ ต้องดูหลวงปู่ภู วัดอินทรวิหาร ใครเคยศึกษาประวัติของท่านบ้าง ?
              วันหนึ่งท่านท้องผูกถ่ายไม่ออก หลวงปู่ภูไปเอามะตูมสุกมาลูกหนี่ง ลูกศิษย์เอามาให้ ท่านก็ทุบเอาช้อนบี้ไปเรื่อย ๆ ไม่ฉันเสียที บี้ไป ๆ ลูกศิษย์มองจนรำคาญ หลวงตารออะไรอยู่ ? ท่านบอกรอเวลา รอไปเรื่อย ๆ พอได้เวลาท่านก็ตักฉัน ฉันเสร็จท่านก็วาง พักหนึ่งท่านก็วิ่งไปห้องน้ำถ่ายเรียบร้อยสบายตัวออกมา ลูกศิษย์แปลกใจ หลวงตาฉันแล้วถ่ายเลยหรือครับ ? ท่านบอก เออ! ข้าฉันแล้วถ่าย แต่เอ็งกินแล้วไม่ถ่ายหรอก ลองดูสิ ลูกศิษย์ก็กินเข้าไปท้องผูกเลย เขาก็ถาม หลวงตามันเป็นเพราะอะไรครับ ? ท่านตอบว่ามันอยู่ที่เวลา ต้องพระระดับท่านด้วยนะ ถ้าไม่ใช่พระระดับท่านไม่มียถากัมมุตาญาณไม่รู้หรอก ของอย่างเดียวกัน คนหนึ่งกินมีผล อีกคนไม่มีผล
      ถาม :  พระลกุณฏกภัททิยเถระ ท่านกล่าวว่าแม้แต่มีคนมาดึงหู เล่นหัวท่านก็ไม่แสดงอาการโกรธ พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า ท่านเป็นพระเถระ คำว่า "พระเถระ" มีความหมายอย่างไรบ้างครับ ?
      ตอบ :  "เถระ" แปลว่า พระผู้ใหญ่ "ผู้ใหญ่" ในที่นี้หมายถึง ใหญ่ในธรรม เขาหมายเอาพระอรหันต์เลย พระลกุณฏกภัททิยเถระ ท่านเกิดมาตัวนิดเดียว ห่มจีวรไปคนก็เห็นเป็นเณร พระต่างจังหวัดมา พระบ้านนอกมา มาถึงก็ถามเณร พระศาสดาอยู่ไหม ? พระพุทธเจ้าอยู่ไหม ? เณรก็ตอบอยู่ครับ ๆ เออ! เณรน่ารักดี ลูบหัว ดึงหู เขกกบาล พระพุทธเจ้าเห็นเข้า ตายละหว่า! พวกนี้บาปกินกบาลหมดแล้ว ท่านก็เลยแกล้งเดินออกมาถาม ภิกษุทั้งหลายเห็นมหาเถระที่หน้าวิหารไหม ? บอกว่า ไม่เห็นเจ้าข้า เห็นแต่เณรอยู่ ท่านบอกว่าเณรน้อยนั่นแหละมหาเถระ พระถามว่าเป็นเพราะอะไรเป็นมหาเถระ ? ท่านก็บอกให้ว่านั่นเป็นพระอรหันต์แล้ว นั่นแหละพระทั้งหมดถึงได้ไปกราบขอขมากัน
              ความจริงท่านเองท่านก็จะเกิดมารูปร่างเหมือนกับคนทั่ว ๆ ไป แต่ในอดีตชาติท่านเป็นช่างไม้ พอคนจ้างไปก่อสร้างวิหาร ก่อสร้างมณฑป ท่านชอบต่อรอง เขาจะสร้างสูง ๑ โยชน์ ก็บอกครึ่งโยชน์เถอะ เขาจะทำสูง ๓๐ วา ๑๕ วา ก็พอเถอะ พ่อคุณไปต่อรองเขาเรื่อย เกิดมาชาตินี้เศษกรรมก็เลยทำให้ทานตัวเตี้ยนิดเดียว คงประมาณครึ่งหนึ่งของคนปกติ เขาก็เลยเห็นท่านเป็นเณร
      ถาม :  คนเราเวลาอยู่บนโลกมนุษย์เขาโกรธกันมาก ตายไปแล้วเขาจะตามไปทะเลาะกันในนรกหรือสวรรค์ หรือไม่ครับ ?
      ตอบ :  ถ้าหากว่าอยู่ในนรกไม่มีโอกาสได้ทะเลาะกัน ถ้าอยู่บนสวรรค์ก็ไม่มีโอกาสทะเลาะกัน เพราะเป็นเขตของความดี เรื่องของสวรรค์เขามีตัวที่เรียกว่า โกรธาพลขัย-หมดอายุด้วยแรงโกรธ โกรธเมื่อไรไฟจะเผาให้กายทิพย์พังไปเลย ไฟโทสะ เพราะฉะนั้นเขารู้ตัวดีห้ามโกรธ ในนรกก็มัวแต่โดนลงโทษอยู่ ไม่ไหวหรอก มาเป็นสัตว์เดรัจฉานหรือมาเป็นคนเมื่อไรค่อยมาคิดบัญชีกัน มีอาหารขัย-ตายเพราะหมดอาหาร โกรธาพลขัย-ตายเพราะว่าความโกรธ แล้วก็มีอายุขัย-ตายเพราะหมดอายุ เทวดาจริง ๆ ใช้คำว่า "ตาย" ไม่ถูกหรอก เขาใช้คำว่า "จุติ" แปลว่า เคลื่อนไป ๆ ภพอื่น
      ถาม :  เวลาเราไปทำบุญตามวัด เราควรติดชื่อ-นามสกุล ไว้ที่หน้าผนังโบสถ์ หน้าบัน หรือสิ่งของเพื่อจารึกไว้ในพระศาสนาพุทธหรือไม่ และถ้าติดมีประโยชน์อย่างไรบ้าง ?
      ตอบ :  จะมีประโยชน์คือว่าพอคนเขาเห็นว่าเราได้ทำบุญอันนั้น เขาตั้งใจโมทนากับเราเขาได้มีส่วนในกุศลนั้นด้วย เพราะฉะนั้นถ้าทำก็ติดเสียหน่อยหนี่ง แต่อาตมาตั้งแต่ทำมานี่โอกาสจะติดยากเต็มที ติดให้แต่คนอื่นของตัวเองก็ช่างมันเถอะ เขาติดให้ก็ติด ไม่ติดให้ก็เรื่องของเขา
              สมัยก่อนอยู่วัดท่าซุง ทำบุญบ่อยมาก ทำบุญเยอะมาก แต่ไม่เคยส่งรายชื่อไปทางธัมมวิโมกข์ เขาก็ไม่ได้ลงให้ แต่จริง ๆ แล้วบางทีทำมากกว่าคนอื่นเยอะเลย
      ถาม :  วัตถุประสงค์ของการประเคนของถวายพระสงฆ์ ที่พระพุทธองค์ได้บัญญัติไว้คืออะไร ?
      ตอบ :  จริง ๆ แล้วการประเคนของเป็นการแสดงออกถึงการให้ สมัยก่อนพระที่ท่านไปปฏิบัติธรรมอยู่ในป่าช้ามาก พอญาติโยมเขาเอาอาหารมาเซ่นไหว้ผู้ตาย พระเห็นก็ เออ! เขาไม่ต้องการแล้ว ก็เลยเอามากินเสียเอง ปรากฏว่าไปเจอบางคนที่หวง เขาจะเอากลับไปกิน พระฉันไปเสียแล้ว เขาก็เลยตำหนิเอา พอเขาตำหนิเอาก็เท่ากับเป็นโทษกับเขา พระพุทธเจ้าท่านก็เลยบัญญัติขึ้นมาว่า ถ้าหากว่าเป็นของ ๆ คนอื่นต้องให้เขาประเคนเป็นการแสดงออกซึ่งการให้ก่อน ถ้าหากว่าฉันอาหารไม่รับประเคนท่านปรับอาบัติปาจิตตีย์
              ลักษณะของการประเคน
              อันดับแรก       ให้อยู่ในหัตถบาส คืออยู่ในช่วงที่เอื้อมมือถึง
              อันดับที่สอง     ต้องเป็นของที่ไม่มีน้ำหนักมากจนเกินไป พูดง่าย ๆ ว่าคนเดียวยกได้สะดวก
              อันดับที่สาม     ท่านบอกว่ายกขึ้นเพื่อแสดงการให้ ในอุปกรณ์วินัยมุข ท่านบอกว่าประมาณมือลอดได้
              อันดับสุดท้าย   ต้องแสดงออกซึ่งการเคารพ อันนี้สำคัญที่สุด ประเคนต้องแสดงออกซึ่งอาการให้ด้วยความเคารพ
      ถาม :  ถ้าเราฝากประเคนล่ะคะ ?
      ตอบ :  ไม่เป็นไรจ้ะ พูดถึงการฝากประเคน คืออนุญาตให้เขาให้แทนเราได้
      ถาม :  แล้วฝากทำบุญแทนล่ะคะ ?
      ตอบ :  เหมือนกันจ้ะ ดีด้วย เขาจะได้เวยยาวัจจมัยด้วย ได้ปัตตานุโมทนามัยด้วย เวยยาวัจจมัย คือทำให้บุญของเราสำเร็จลง ปัตตานุโมทนามัย คือเขายินดีกับของเราด้วย ฝากไปเถอะรายนี้รวย โมทนานี่ได้ไป ๘๐ แล้ว เวยยาวัจจมัยนี่เล่นไปอีกเยอะ ดีไม่ดีเราทำหนึ่งร้อย เขาได้เกินหนึ่งร้อยบาทอีก
      ถาม :  ความงมงายกับความศรัทธา ต่างกันอย่างไร ?
      ตอบ :  ต่างกันชัดเลย ศรัทธานี่จริง ๆ งมงายก็มีเหมือนกัน เขาเรียกอธิโมกข์ศรัทธา-เชื่อโดยที่ไม่มีปัญญาประกอบ แต่คราวนี้เราใช้คำว่า "งมงาย" กับ "ศรัทธา" ก็ตีเสียว่าเป็นศรัทธาที่มีปัญญาประกอบก็แล้วกัน ก็ต่างกันตรงที่ว่างมงายนี่ไม่ได้ใช้ปัญญาเลย เชื่อเอาตะบันราดโดยไม่ได้คิด ไม่ได้ยั้ง แต่ถ้าหากว่าศรัทธาที่มีปัญญาประกอบ เขาจะยั้งคิด เขาจะรู้จักพิจารณาก่อน ไม่ใช่ถือมงคลตื่นข่าวไปวัน ๆ
      ถาม :  เอ็กเซ็กคิวทีฟ โปรดิวเซอร์ โฆษณาบะหมี่ยี่ห้อหนึ่ง เขาพูดว่าพอดีนึกถึงพระพุทธเจ้าว่าสอนเรื่องทางสายกลาง พอนึกถึงได้ตรงนี้จึงอยากเอาคำนี้มาเล่น ผู้ที่ดูโฆษณานี้โดยไม่ได้คิด จะมีผลอย่างไรบ้าง ?
      ตอบ :  ก็ต้องดูว่าคำพูดของเขาเป็นพุทธภาษิตหรือเปล่า ? ถ้าหากว่าเป็นโอวาท เป็นพุทธภาษิตจริง ๆ คนฟังแล้วสะกิดใจนี่ได้อนุสติ ได้ทั้งพุทธานุสติ ธรรมาสนุสติ บุญใหญ่มาก แต่คราวนี้อยู่ที่ว่าคนฟังแล้วจะสะดุดหูไหม
      ถาม :  ดูแล้วฮา ?
      ตอบ :  อ๋อ! ถ้าดูแล้วฮานี่ตัวใครตัวมัน อย่าลืมว่าอันนั้นเป็นคำพูดของพระพุทธเจ้า เป็นมัชฌิมาปฏิปทา ถ้าคนฟังที่ปฏิบัติธรรมอยู่ ฟังปุ๊บก็จะรู้เลย สำคัญอยู่ที่ว่าฟังแล้วคิดอย่างไร ? ถ้าไปตลกเสียแทนที่จะได้ดีก็ได้ไม่ดีไป แต่ถ้าหากคิดถึงในเรื่องของธรรมะ อย่าลืมว่านางปฏาจาราเถรี ตักน้ำราดล้างเท้า พอขันแรกก็ซึมลงบริเวณนั้น ขันที่สองก็ขยายไปอีกหน่อยหนึ่ง แล้วก็ตักราดอีกขันก็กว้างไปอีกหน่อย จนหมด ท่านก็นึกขึ้นมาได้ เออ! ชีวิตเราไม่เที่ยงอย่างนี้เองหนอ ท่านพิจารณาไปกลายเป็นพระอรหันต์ไปเลย เพราะฉะนั้นอันโน้นก็ดูน้ำมากน้ำน้อยไปสิ แล้วก็เปรียบเทียบเอา
      ถาม :  เป็นที่ทราบกันดีว่า หลวงพ่อได้เข้าสู่พระนิพพานแล้ว ศพขององค์หลวงพ่อท่านก็อยู่ที่วัด บรรดาความดีต่าง ๆ ที่ลูก ๆ หลาน ๆ ที่สมัยครั้งหลวงพ่ออยู่ก็ดี หรือไม่เคยพบท่านก็ดี ความดีต่าง ๆ ที่บุคคลกระทำไว้ในพระพุทธศาสนานี้ พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านทราบได้หรือไม่ด้วยญาณวิถีธรรมใด ?
      ตอบ :  โอ้โห! ไม่ต้องเลย รู้มากกว่าตอนมีชีวิตอีก มีอยู่วันหนึ่งเจอหลวงพ่อนุ่งสบงกับอังสะเท่านั้นแหละ ถือไม้เท้ายืนเหงื่อซกเลย เห็นว่าท่านถึงเวลานั้นเอาไม้เท้าไปเคาะบ้านทีละบ้าน ๆ เราก็ไปกราบเรียนถามหลวงพ่อครับ ตายแล้วยังเหนื่อยอีกหรือครับ ? คือท่านทำท่าโทรมเต็มที่ ท่านบอก โห! ตายแล้วเหนื่อยกว่าตอนมีชีวิตหลายเท่า สมัยยังมีชีวิตอยู่เขาเรียกให้ช่วยนี่ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ก็ได้ ตอนตายใครเรียกมันได้ยินไปหมดเลย ลักษณะที่ท่านแสดงออกแสดงว่าท่านจะต้องสามารถทำให้เขารู้ในทางใดทางหนึ่งว่าท่านตั้งใจสงเคราะห์เขา อาจจะฝันเห็น หรือกำลังทำกรรมฐานนิมิตเห็น หรือมาทั้งตัวเลย อะไรอย่างนั้น แต่ท่านสงเคราะห์อยู่จริง ๆ ทำเต็มที่ยิ่งกว่าตอนสมัยมีชีวิตอยู่อีก ตอนมีชีวิตอยู่อย่างที่ว่าติดขัดด้วยขันธ์ ๕ ใช่ไหม ? ตอนนี้ไม่มีแล้วนี่ เพราะฉะนั้นคุณทำอะไรท่านรู้หมด รู้มากด้วย
      ถาม :  สมัยหนึ่งท่านขงเบ้งไปร้องไห้หน้าศพท่านจิวยี่ ถ้าเราจะเอาวิธีนี้มาใช้บ้างจะได้หรือไม่ ถึงแม้ว่าเราจะต้องฝืนความรู้สึก ?
      ตอบ :  บางอย่างถ้าทำแล้วดีแก่ส่วนรวมก็ทำเถอะ อันนั้นจริง ๆ แล้วเขาทำแล้วดีกับส่วนรวม แต่เป็นส่วนรวมที่เป็นพวกของขงเบ้งเขาเอง คือเขาไปร้องไห้ร้องห่มในลัษณะที่วาจิวยี่นี่เป็นเพื่อนประเภทที่เขารักที่สุด เคารพที่สุด เก่งที่สุด ยกยอปอปั้นของเขาไปเรื่อย ไม่น่าจะต้องรีบตายเลย อะไรอย่างนั้นแหละ
              คนที่คิดจะไปถล่มก๊กของเล่าปี่เขาหมดกำลังใจไปเยอะ อ๋อ! ที่แท้เขาไม่ได้เจตนาใช่ไหม ? เพียงแต่จิวยี่รู้ไม่ทัน ดันตายเสียเองอย่างนี้ ความคิดที่จะไปเล่นเขาก็ลดน้อยลง เพราะฉะนั้นอะไรบางอย่างถ้าหากว่าทำแล้วดีกับส่วนรวม ถึงจะฝืนใจอยู่ก็ทำไปเถอะ อย่างน้อย ๆ มันดีกับคนอื่น
      ถาม :  นักวิชาการท่านหนึ่งเขาเปรียบเทียบว่า คนต่างกับเดรัจฉานตรงที่เดรัจฉานมีกระดูกสันหลังขนานกับพื้นโลก พูดไปพูดมาประหนึ่งว่าใครที่ยังนอนมากยิ่งใกล้ความเป็นเดรัจฉานมาก เรื่องของการนอนนี้เป็นที่น่ารังเกียจมากน้อยเพียงใด หรือไม่ อย่างไร ?
      ตอบ :  เรื่องของการนอน ถ้านอนปฏิบัติภาวนานี่ว่าเขาไม่ได้นะ ลงอวเจีไม่รู้ตัวเลย ก็ต้องดูสักแต่ว่าประเภทนอนจนตัวเป็นขน ถึงเวลาลุกขึ้นมาสูงกว่าเดิมตั้งเยอะ อันนั้นใช้ไม่ได้ เห็นแก่กินแก่นอนมากเกินไป นักปฏิบัติที่ดีพระพุทธเจ้าท่านใช้คำว่า "ปันตัญจะ สะยะนาสะนัง" นั่งนอนหรืออาศัยอยู่ในที่สงัด ไม่อยู่ในที่ ๆ คนมาก จะได้ไม่รบกวนการปฏิบัติของตนเอง แล้วประเภทที่เรียกว่ากินแต่น้อย นอนแต่น้อย ปฏิบัติให้มากไว้ อาตมานี่อยู่ในข่ายขี้เกียจ ถนัดนอนภาวนา แต่ตอนฝึกใหม่ ๆ นี่จะไม่ให้หลับนี่ยากจริง ๆ เผลอเมื่อไรก็วูบหลับ ๆ กว่าจะฝึกให้หลับกับตื่นความรู้สึกมันเท่ากัน โอ้โห! ล่อกันเหงื่อหยดเลย
      ถาม :  คำถามนี้ไม่ได้ตั้งใจจะว่าใคร แต่ถามเพื่อความรู้ที่ถูกต้องว่า การที่ท่านพระพุทธโฆษาจารย์ที่ได้ชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ เมื่อประมาณ ๑,๕๐๐ ปีที่ผ่านมา และเป็นผู้รจนาคัมภีร์วิสุทธิมรรค ได้อธิบายความว่าปฏิจจสมุปปบาทองค์หนึ่งจะเกิดขึ้นได้จะต้องกินเวลาถึง ๓ ชาติ ชนิดเกิดจากท้องแม่ คำถามคือความหมายของท่านคืออะไร และจริง ๆ ท่านกล่าวไว้อย่างนั้นหรือไม่ ?
      ตอบ :  ถ้าอย่างนั้นก็สรุปว่าเชื่อท่านเถอะ รูปนั้นพระอรหันต์ปฏิสัมภิทาญาณว่าท่านไม่ได้หรอก ปฏิจจสมุปบาทนี่เขาหมายถึงว่า ความสืบเนื่องกัน ท่านสามารถค้นย้อนหลังไปจนกระทั่งว่า จริง ๆ ทั้งหมดที่เราทุกข์อยู่นี่เพราะ "อวิชชา" คือความรู้ไม่ถ้วน รู้ไม่ทั่ว ท่านแยกศัพท์อวิชชามี ๒ อย่างคือ ฉันทะกับราคะ ถ้าเราเห็นอะไรแล้วเกิดฉันทะกับราคะ ถ้าเราเห็นอะไรแล้วเกิดฉันทะคือยินดี ก็จะต่อด้วยราคะ คืออยากมี อยากได้ เพราะฉะนั้นเห็นแล้วยินดี ได้ยินแล้วยินดี ได้กลิ่นแล้วยินดี ได้รสแล้วยินดี สัมผัสแล้วยินดี นี่บรรลัยหมดเลย ท่านบอกว่า อะวิชชาปัจจะยา สังขารา "อวิชชา" คือความรู้ไม่ถ้วน เกิดจากการปรุงแต่ง เห็นว่าผู้หญิง เห็นว่าผู้ชาย จบ แต่ถ้าปรุง เอ๊ะ! สวย เอ๊ะ! หล่อ บรรลัยเลย ไม่สวย ไม่หล่อ ก็ไม่ได้อีก สวยหรือหล่อเป็นตัวพอใจ เป็นราคะ ไม่สวย ไม่หล่อ ไม่พอใจ เป็นโทสะ มันกินเราทั้งขึ้นทั้งล่องเลย
              เพราะฉะนั้นท่านก็เลยบอกว่า "อวิชชา" ความไม่รู้ เป็นปัจจัยของสังขาร คือการปรุงแต่ง สังขาระปัจจะยา วิญญาณัง เมื่อมีการนึกคิดปรุงแต่งขึ้นมา ก็เลยเกิดวิญญาณคือความรู้สึกขึ้น วิญญาณะปัจจะยา นามะรูปัง เมื่อมีวิญญาณก็จะมีเครื่องอาศัยได้ ก็ต้องมีนามรูปก็คือร่างกาย วิญญาณนั้นประสาทความรู้สึกถ้าไม่มีนามรูปมันไม่มีที่อาศัยนะ นามะรูปะปัจจะยา สาฬายะตะนัง ในเมื่อมีนามรูปก็เลยมีอายตนะ ก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะมันอยู่กับตัวอยู่แล้วใช่ไหม ? สาฬายะตะนะปัจจะยา ผัสโสส อายตนะทำให้เกิดสัมผัส ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายสัมผัส ผัสสะปัจจะยา เวทะนา ในเมื่อมีความสัมผัสก็เลยมีความรู้สึกเกิดขึ้น ความรู้สึกตัวนี้ก็คือ เย็น-ร้อน อ่อน-แข็ง ชอบ-ไม่ชอบ เสร็จแล้วก็เวทะนายะปัจจะยา ตัณหา ในเมื่อมีความรู้สึกก็เลยเกิดมีความอยาก อยากที่ตัวเองชอบ ไม่อยากที่ตัวเองไม่ชอบ เป็นตัณหาทั้งนั้น ตัณหาปัจจะยา อุปาทานัง ในเมื่อมีความชอบ ไม่ชอบ ชัง ไม่ชัง อะไรขึ้นมาก็เลยเกิดการยึดมั่นถือมั่น อุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น อุปาทานะปัจจะยา ภะโว ในเมื่อยึดปั๊บจะมีภพคือที่เกิดทันที ภะวะปัจจะยา ชาติ ในเมื่อมีภพมีที่เกิดก็ต้องมีการเกิด ชาติปัจจะยา ชะรามะระณัง โสกะปะริเทวะ ทุกขะโทมะนัสสุปายาสา สัมภะวันติ ในเมื่อเกิดก็ต้อง มีแก่ มีเจ็บ มีตาย มีทุกข์โศกร่ำไร มีความเศร้าเสียใจ มีความเหือดแห้งใจ มีความปรารถนาไม่สมหวัง มีการกระทบกระทั่งที่ไม่ชอบใจ บรรลัยเลย มาจากอวิชชาตัวเดียว ก็แปลว่าเกิดไม่รู้จบ
              เพราะฉะนั้นแต่ละอย่างมันจะเกิดขึ้นกับเรา จนกระทั่งมันผูกเราติดตายแหงแก๋ไป ท่านเปรียบเอาไว้ว่า เหมือนกับว่าคนเราต้องเกิดประมาณสัก ๓ ชาติ คราวนี้ ๓ ชาติ เป็นการตอกย้ำแน่นอนว่า กูเอาแน่ล่ะ ถ้าหากว่าชาติเดียวบางทีมันอาจจะผิวเผินเกินไปใช่ไหม ? เพราะฉะนั้นรูปนั้นพูดว่าอะไร เชื่อท่านเถอะ เขียนคัมภีร์วิสุทธิมรรค ๓ ฉบับ ไม่ต่างกันแม้แต่คำเดียวนี่ยอมแพ้ท่าน เคยอ่านวิสุทธิมรรคไหมล่ะ ? ศีลนิเทศ สมาธินิเทศ ปัญญานิเทศ แต่ละฉบับหนามาก คนที่เขียน ๓ ทีแล้ว ไม่ผิดเลยแม้แต่คำเดียว ไม่เก่งก็ไม่ได้ใช่ไหม ? รูปนั้นท่านจบไตรเพทตั้งแต่ ๗ ขวบ เสร็จแล้วไปบวชพระเป็นพระอรหันต์
      ถาม :  เรื่องของพระหัตถ์ซ้ายของพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ?
      ตอบ :  อ้าว เอามาจากที่ไหน ที่ไหนเขาพิมพ์มา
      ถาม :  ที่วัดแถวบ้านผมครับ
      ตอบ :  อ๋อ! เรื่องจริงหรือไม่จริง สำคัญอยู่ที่ว่าใจเรายึดหรือไม่ยึด ถ้ายึดก็เป็นจริงเพราะว่าตัวอนุสตินี่ถ้าใจเรานึกถึง พระท่านพร้อมสงเคราะห์ เพราะฉะนั้นบางคนพระธาตุจริงหรือไม่จริง อะไรอย่างนี้ ต้องดูตัวอย่างจากพระธาตุเขี้ยวหมา พระสารีบุตรนี่ พ่อค้าชาวพม่า เขาจะไปค้าขายที่อินเดีย เขาถามแม่ แม่จ๋าต้องการอะไรที่อินเดียบ้าง แม่ก็ตอบ เอาพระธาตุเขี้ยวแก้วพระสารีบุตรก็แล้วกันลูก ทำอย่างกับตลาดมีขาย ลูกก็ไม่กล้าบอกแม่ หวานอมขมกลืนไปค้าขาย จนกระทั่งข้าวของหมดเดินทางกลับ ตูจะหาให้แม่อย่างไร แม่เขาไม่รู้หรือว่าหายากหาเย็นขนาดไหน นั่นแหละพอดีว่ากลางทางเจอหมาตายอยู่ เห็นเข้าก็เลยทุบเอาเขี้ยวมาขัดล้างเสียอย่างดี ขาวจ๋องกลับมา ใส่ผอบมาให้แม่ แม่ก็ดีอกดีใจใช่ไหม บูชาด้วยน้ำอบ น้ำหอม จุดธูป จุดเทียน นั่งสวดมนต์ ปลื้มใจ ลูกจะอกแตกตายจะบอกก็ไม่กล้า เอาเขี้ยวหมามาให้แม่ ๆ ก็ภูมิใจ ปรากฏว่าแม่สวดมนต์ไปสวดมนต์มามีรัศมีสว่างไปทั้งกระท่อม เป็นอย่างไรของปลอมกลายเป็นของจริงไปเลย คือพอเวลาจิตของเรายึดเกาะเป็นอนุสติจริง ๆ ด้วยความเคารพจริง ๆ พระท่านสงเคราะห์ให้ เพราะฉะนั้นไม่ต้องถามหรอกว่าจริงหรือปลอม ขอให้ใจยึดเท่านั้นเอง
      ถาม :  เวลาคนเขาคุยกัน เขามักจะบอกว่าฉันเป็นคนตรงไปตรงมา ไม่พูดอ้อมค้อม คิดอย่างไรก็พูดอย่างนั้น ฟังแล้วก็จะรู้สึกดี แต่จริง ๆ แล้วคนเราควรศึกษาหรือต้องมีศิลปะในการพูดหรือไม่ ?
      ตอบ :  จำเป็นต้องมี เพราะว่าพระพุทธเจ้าท่านบอกแล้วว่า มีพาหุสัจจัญจะ สิปปัญจะ เอตัมมังคะละมุตตะมัง คำว่า "สิปปัญจะ" การมีศิลปะในการดำรงชีพ ไม่ต้องดูตัวอย่างคนอื่นหรอก อาตมาขออนุญาตหลวงพ่อทีไรได้ไปธุดงค์ทุกที แต่คนอื่นขอไม่เคยได้ไปสักทีเพราะขาดศิลปะในการพูด เรามอบความไว้วางใจให้กับพระเดชพระคุณหลวงพ่อท่าน เราคิดอย่างไรท่านรู้อยู่แล้ว เราทำอะไรท่านรู้อยู่แล้ว
              เพราะฉะนั้นก็หลวงพ่อครับ กระผมขออนุญาตไปเมืองกาญจน์ ๑๐ วันครับ ท่านก็ เออ! ไปเถอะ เราก็แบกกลดแบกบาตรได้ก็ไป คนอื่นไปถึง หลวงพ่อครับผมขออนุญาตไปธุดงค์ครับ "มึงแน่ใจแล้วหรือ ?" แล้วใครจะกล้าตอบว่าแน่ใจล่ะ ก็เสร็จ มาตอนหลังหลวงพ่อท่านถึงได้บอกว่า พวกเอ็งอยากธุดงค์กันทุกคนแหละ ถ้าข้าอนุญาตเสียคนก็ไม่เหลือติดวัดไว้ให้ข้าใช้ ก็เลยสำคัญตรงที่ว่า ใครมีศิลปะในการพูดมากกว่ากัน คนอื่นก็เลยว่าพระเล็กเด็กเส้น ขอเมื่อไรได้เมื่อนั้น แต่จริง ๆ ไม่ใช่ สำคัญว่าพูดเป็นไหม เพราะฉะนั้นศิลปะในการพูดสำคัญที่สุด พูดให้คนรักก็ได้ พูดให้คนเกลียดก็ได้
      ถาม :  พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านได้สอนเสมอว่า เราทำความดีไม่หวังรางวัล ไม่หวังผลตอบแทน เราทำความดีเพื่อพระนิพพาน มีความสงสัยต่อเนื่องว่าอธิษฐานจากบุญเพื่อพระนิพพานจุดเดียว จะไม่ได้ผลจากทานที่ทำแล้วว่าต้องเป็นเศรษฐี อันนี้เท็จจริงประการใดครับ ?
      ตอบ :  พระนิพพานเหมือนกับยอดเขา การที่เราจะขึ้นไปสู่จุดสูงสุดนั้น ตลอดทางมีอะไรที่จะต้องพบจะต้องเจออยู่ตลอด เพราะฉะนั้นก็อธิษฐานพระนิพพานเอาไว้ เรื่องเป็นเศรษฐีมันเรื่องเล็ก ถ้าหากว่าเผื่อเหนียวก็อธิษฐานเผื่อไว้หน่อย คราวนี้ถ้าหากว่าเผื่อเหนียวแบบบางคนก็ไม่ไหว เขาอธิษฐานยาวเหลือเกิน อย่างกับจะเกิดใหม่ มันไม่ใช่เผื่อไปนิพพาน
      ถาม :  เรื่องของเนื้อนาบุญ เราทำบุญเป็นสังฆทานไป ๒ วัด วัดหนึ่งเป็นสมมติสงฆ์เป็นผู้รับ อีกวัดหนึ่งเป็นพระอรหันต์เป็นผู้รับ ผลของทานจะต่างกันหรือไม่ ?
      ตอบ :  ต่างกันมาก เพราะว่าเรื่องของทานนั้น ๑) ถ้าวัตถุทานบริสุทธิ์ ๒) เจตนาในการทำบริสุทธิ์ ๓) ผู้ให้คือตัวเราบริสุทธิ์ ๔) ผู้รับบริสุทธิ์ ถ้าเป็นอย่างนั้นผลของทานจะได้เต็ม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ถ้าหากว่าส่วนใดส่วนหนึ่งบกพร่องไป ผลก็ลดน้อยไปตามส่วน เพราะฉะนั้นท่านที่เป็นพระอรหันต์ ถ้าหากว่ารับก็เป็นอันว่ามากกว่ามหาศาลเลย
      ถาม :  หายากมากเลยค่ะ ?
      ตอบ :  รู้จริงหรือเปล่า ? ถ้ารู้จริงหาไม่ยากหรอกจ้ะ ถ้าอยู่ในลักษณะที่ไม่รู้ให้ถวายเป็นสังฆทานจ้ะ ถ้าถวายเป็นสังฆทานนี่อานิสงส์เหมือนกัน เพราะคำว่า "สังฆทาน" นี่หมายเอาหมู่สงฆ์ที่มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันทั้งหมด