ถาม :  เอ๊ะ ... หลวงพี่ครับ ไอ้นี่มันเคยถามผมว่า ทำไมหลวงพี่มานอนที่นี่ได้ ไม่ผิดเหรอครับ?
      ตอบ :  ไม่ได้นอนกับผู้หญิงนี่หว่า ตูนอนคนเดียว
      ถาม :  แต่มันไม่ใช่วัดไม่ใช่อะไร?
      ตอบ :  พระเขาไม่ได้บังคับว่าให้ต้องอยู่วัด เขาใช้คำว่าให้อยู่ในที่สงัดนะ ไอ้ที่สงัดนี่มันจำเป็นสำหรับการปฏิบัติขั้นแรก พอเลยจากนั้นไปถ้ากำลังใจมันทรงตัวอยู่ที่ไหนก็ได้ทั้งนั้น
      ถาม :  ไม่มีบทบัญญัติเลยว่าต้องเป็นวัดเท่านั้น?
      ตอบ :  ท่านบอกว่าอยู่ที่ไหนก็ได้ จะอยู่ในป่าช้า อยู่ในป่าชัฏ อยู่ในบ้านร้าง อยู่ในเรือนโรง อยู่ในกองเกวียน ไอ้กองเกวียนนี่มันยุ่งกว่า นี่อีกเยอะ เพราะสมัยก่อนเขาเดินทางกันบางทีมันตั้งครึ่งค่อนปี ไปตามคาราวานเกวียนเขา ให้จำพรรษาในกองเกวียนก็ได้ คราวนี้ก็มีการว่ากำหนดเขตติจีวรวิปปวาส คือเขตที่ภิกษุจะอยู่ได้โดยปราศจากไตรจีวรได้ ไอ้อยู่ในกองเกวียนนี่รู้สึกการกำหนดเขต จะอยู่ประเภทที่เรียกว่าผ่อนผันมากเกินไปคือให้สุดระยะของกองเกวียน แล้วคิดดูว่าถ้าเกวียนสักร้อยเล่มล่ะ แต่ว่าอันนี้ถือเป็นพุทธบัญญัติเลยว่ากันไม่ได้ คือท่านผ่อนผันให้จริง ๆ ว่าคนที่มีความจำเป็นต้องไปกับกองเกวียนขนาดนั้น ต้องได้รับความลำบากเรื่องอื่นพอแล้ว
              เพราะฉะนั้นเรื่องไตรจีวรนี่ก็เลยผ่อนผันให้ว่าไอ้เขตอยู่ปราศจากไตรจีวรก็ต้องขนาดนั้นไม่อย่างนั้น ถ้าเขาเกิดจอดเกวียนลงตัวเองอยู่ท้ายอย่างนี้แล้วจะเดินไปฉันข้างหน้า ต้องแบกของทุกอย่างไปฉันก็แย่เหมือนกันใช่มั้ย? ก็เลยอนุญาตให้
      ถาม :  บางทีมันเหมือนกับ ผมว่าการบวชพระนี่มันเหมือนเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายเหมือนกันนะ
      ตอบ :  จริง ๆ โอ้โห! รายละเอียดลำบากมากเลย สมัยก่อนจึงได้มีการอยู่ติตถิยปริวาสไง คือการอยู่แบบคนนอกก่อนสามเดือน เพื่อศึกษาระเบียบวินัยของพระ ถ้าสามเดือนศึกษาแล้วยังไม่มั่นใจว่าปฏิบัติได้ ให้ศึกษาต่ออีกสามเดือน รวมสามครั้งเก้าเดือนถ้าปฏิบัติไม่ได้ คุณไม่ต้องบวช
      ถาม :  เดี๋ยวนี้ไม่เห็นอะไรเลยครับ สวดไม่ได้ พรุ่งนี้ยังสวดได้
      ตอบ :  ไอ้นี่มันส่วนใหญ่ แต่ว่าส่วนน้อยที่ท่านเข้มจริง ๆ อย่างสาย หลวงปู่มั่นอย่างนี้ คุณต้องเป็นตาผ้าขาว ถือศีลสองร้อยยี่สิบเจ็ดก่อนสองปี แล้วค่อยบวช
      ถาม :  อย่างหลวงตาบัว ใช่มั้ยครับ?
      ตอบ :  อือ สายโน้นเขาเอายังงั้น
      ถาม :  พอพูดถึงเลยนึกถึงเรื่องนี้เลย ที่เลี้ยงเสือ
      ตอบ :  นั่นวัดป่าหลวงตาบัว
      ถาม :  ใช่ครับ อย่างนี้ไม่ถือว่าผิด ใช่มั้ยครับ?
      ตอบ :  ผิดตรงไหนล่ะ
      ถาม :  ก็คือให้เมตตาเลี้ยง?
      ตอบ :  ตามปกติ พระมีหน้าที่ต้องสงเคราะห์อยู่แล้วสรรพสัตว์ทั่วหน้า
      ถาม :  นักข่าว มันเกิดไปเอาข่าวมา
      ตอบ :  ยังไงล่ะ มันเห็นก็คงทึ่งล่ะใช่มั้ย? ไอ้เสือตัวโตเท่าบ้านเท่าตึกมากอยู่กันเป็นฝูงเลย แล้วก็คลุกคลีอยู่กับพระด้วยกัน แล้วพอเรื่องมันไปถึงปุ๊บ มันก็จะมีคนอยากดังออกมาแสดงความเห็น เรื่องมันยุ่งอีตรงนั้นแหละ คือถ้าไม่มีคนอยากดังออกมาแสดงความเห็น เรื่องมันก็จบแค่นั้นแหละ
      ถาม :  แล้วอย่างล่าสุดนี่ มีพระอยู่วัดหนึ่งเลี้ยงเสือ อีกวัดหนึ่งเลี้ยงหมาฝรั่ง
      ตอบ :  ก็แล้วแต่ท่าน ที่สะสมรถเบนซ์ก็ยังมีเลยใช่มั้ย? เห็นว่าท่านสะสมรถเบนซ์เก่าไว้ตั้งสามสิบกว่าคันเลย
      ถาม :  อย่างนี้ก็ถือว่าเอาเงินสงฆ์มาใช้ผิดด้วยซิครับ?
      ตอบ :  ก็ถ้าใช้ผิดโทษเป็นของเขาเอง ดูว่าโยมเขาเจตนาให้มาเพื่ออะไร ถ้าเขาเจตนาให้มาเพื่อซื้อหมาก็ซื้อไปเถอะแบบเดียวกับ วัดท่าซุงมันมีบัญชีหนึ่งเป็นบัญชีเงินหมาโดยเฉพาะ ดูแล้วน่าอิจฉา นั่นโยมเขาถวาย เขาระบุโดยเฉพาะเลยว่าเป็นค่าอาหารหมาพระไม่มีสิทธิไปแย่งมันกินด้วย อันนั้นเขาระบุไว้ชัดเลยว่าไว้เลี้ยงหมาก็เฉพาะตึกหลวงพ่อตึกเดียวก็สองร้อยกว่าตัวเข้าไปแล้ว ลูกของพ่อนิลแม่นาคนั่นแหละ
      ถาม :  คู่เดียวเองเหรอครับ?
      ตอบ :  คู่เดียวเอง สองร้อยกว่าตัว
      ถาม :  ยังอยู่หรือเปล่าครับ?
      ตอบ :  ไม่แน่ใจเหมือนกันว่ายังอยู่หรือเปล่า แต่ว่าตอนที่ออกจากวัดมาคู่นี้ยังอยู่คู่เดียวแตกหน่อออกมาภายในไม่กี่ปีเอง คือพอไอ้ครอกหนึ่งผ่านไป มันก็เริ่มกระจายครอกได้แล้ว เยอะขึ้น เยอะขึ้น
      ถาม :  เมื่อซักสามอาทิตย์พอดีเลย ผมนอนดูทีวีอยู่ แล้วมีโฆษณามีนักร้องใหม่ไปเอาเพลงเก่ามาร้อง ผมนอนฟังเสร็จก็เอ้ย! คนนี้มันร้องเพลงเพราะว่ะ แล้วผมก็เปิดแอร์นอน ลูกก็เล่นข้าง ๆ พอคิดอย่างนี้แล้ว พอมันเย็นปั๊บ ข้างในมันวิ่งเลย แล้วมันเหมือนทรงอารมณ์ฌานทันทีเลย แล้วผมก็ยังลืมตาดูทีวีอยู่ ผมก็สงสัยว่า เอ๊อ! อยู่ ๆ มันเข้าอารมณ์นี้ได้ยังไงในเมื่อเราก็ไม่ได้ตั้งใจ แล้วก็เราไม่ได้คิดอะไรเลย?
      ตอบไอ้ตัวไม่ได้ตั้งใจ บางทีอารมณ์ใจมันชิน มันลงร่องของมันได้เหมือนกัน แต่ว่าอย่างนั้นมันมีปัจจัยจากภายนอกเกื้อหนุนอยู่ หน่อยหนึ่ง คือว่ามันเป็นสิ่งที่ตาเห็นสิ่งที่หูได้ยินแล้วมันพอใจ พอมันพอใจในอารมณ์นั้นมันก็ดึงใจเข้าหาอารมณ์นั้น แต่บังเอิญว่าไอ้อารมณ์นั้นมันเท่ากับการปฏิบัติของเราพอดี เลยลงล็อกแป๊ะเลย
      ถาม :  เมื่อวานผมก็ได้ยินโฆษณานี้เหมือนเดิมนะ แล้วอาการก็ใกล้ ๆ เดิม แต่ไม่เป็น
      ตอบ :  ต่อไปได้ยินอีกทีก็ไม่ได้แล้ว เพราะว่าความเคยชินมันเกิดซะแล้ว
      ถาม :  ผมก็ยังสงสัยตัวเองว่า เอ๊ะ! ทำไมมันแว็บเร็วมากเลยแต่ก็เป็นได้ไม่นาน แล้วซักพักหนึ่งมันก็หาย
      ตอบเราไม่ได้รักษาอารมณ์ต่อเนื่อง ถึงเวลาเราคลายสติจากตรงจุดนั้น ไม่ให้ความสนใจ มันไปสนใจเรื่องอื่นมันก็คลายตัวไปหมด สติหลุดจากจุดนั้นเมื่อไหร่ผลงานมันก็หายไปด้วย
      ถาม :  แล้วอย่างนี้เวลาผมนั่งสมาธินะครับ ผมก็จะรู้สึกว่า พอได้ถึงจุดหนึ่งเราก็จะคิดตามถึงมันอีกจุดหนึ่งก็เหมือนกับรบกันอยู่อย่างนี้เหมือนมันตามกันทันตลอด แล้วบางทีมันเหมือนกับหลอกตัวเองว่า เอ๊ะ! เราเก่งแล้วเราตามทันตรงนี้แล้ว แล้วอีกทีก็เอ๊ะ! คิดผิดอีกแล้ว คิดว่าเก่งมันถึงได้มาตามทันอย่างนี้ แล้วมันก็วิ่งไปวิ่งมาอย่างนี้ มันจะก้าวหน้ามั้ยครับ?
      ตอบ :  ตรงจุดนั้นจะเป็นจุดที่สนุกที่สุดของการปฏิบัติ เพราะว่ามันจะต้องลุ้นว่าแต้มต่อไป มันหรือเราจะได้ ถ้าเราปักใจมั่นอยู่ตรงอารมณ์นั้นในระหว่างที่สติกับปัญญากำลังต่อต้านอำนาจกิเลส น่ะมันสนุกยิ่งกว่าดูหนังดูละครอีก เพราะฉะนั้น จะสังเกตว่าพระปฏิบัติพอถึงตรงจุดนั้น ส่วนใหญ่ไม่อยากพูดกับใครหรอกหลีกไปอยู่ตัวคนเดียว ท่านกลัวว่าพอเปลี่ยนความสนใจไปทางอื่นแล้วกิเลสมันจะชนะ ท่านก็เลยจะต้องทำต่อเนื่องไปเรื่อย ก็เหมือนกับหลวงตาบัว ท่านบอกนะ มัวแต่สนใจอยู่ข้างใน ข้างนอกก็เลยเลยชนต้นไม้โครมเข้าให้ แต่ก็จะเอาความสนใจไปข้างนอกก็ไม่ได้ เพราะว่าข้างในมันกำลังฟัดติดพัน มั่วกันอยู่ก็ต้องสนใจข้างในต่อไป แล้วก็ชนเข้าให้อีกโครมหนึ่ง (หัวเราะ)
      ถาม :  แล้วผมก็คิดต่อด้วยว่า การที่ผมเล่าให้ฟัง ก็เหมือนกับมันเหมือนอวดตัวแน่หน่อย ๆ ด้วยเหมือนกัน เอ้ย! อะไรอย่างนี้ อยากที่จะไปเล่ามันเป็นกิเลสอีกแล้ว แล้วมันก็คือ...?
      ตอบ :  คือเสียท่ามันแล้ว
      ถาม :  อ๋อ (หัวเราะ)
      ตอบ :  คือสิ่งที่เขาจะพยายามชักเราไง พอเขาชักเราปุ๊บ เราคลายความสนใจ คือเราแบ่งกำลังไปส่วนอื่น ไอ้กำลังที่จะสู้กับมันก็ไม่ทัน ฝีมือมันเยอะ ลูกเล่นมันเยอะ
      ถาม :  แต่นี่เป็นครั้งแรกนะครับที่ผมรู้สึกว่ามัน....มันส์
      ตอบ :  พอทำถึงตรงนี้จะรู้สึกสนุกมาก แรก ๆ นี่จะแพ้มันตลอดหลังจากนั้นเริ่มมีชนะบ้าง ไอ้ตอนที่แพ้กับชนะก้ำกึ่งกันเป็นตอนที่มันส์ที่สุด
      ถาม :  เอ๊ะ ! แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรครับว่าเมื่อไหร่แพ้ เมื่อไหร่เราจะชนะ?
      ตอบ :  ตอนที่มันสามารถดึงเราเบนความสนใจจากอันนั้นไปสนใจโลกภายนอก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เบี่ยงออกไปเมื่อไหร่ก็แสดงว่าเสร็จมันแล้ว หรือไม่ก็สังเกตได้ว่านิวรณ์ห้า มันกินใจเราได้แล้ว รัก โลภ โกรธ หลง มันกินใจเราได้แล้ว แต่ว่าขณะใดที่เราสามารถทำให้นิวรณ์ห้ามันสงบอยู่ไม่สามารถกำเริบขึ้นมาได้ มีสติรู้อยู่ว่าสิ่งต่าง ๆ เข้ามาทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย เราต้องสกัด มันไว้ไม่ให้มันเข้าใจได้ ถ้าเราชนะ แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่ชนะ เราแค่เสมอ แต่ถ้าเผลอเราแพ้
      ถาม :  แล้วมีอีกที มันเหมือนกับรู้สึกตัวกลางดึกน่ะครับ แต่พอรู้สึกตัวขึ้นมาแล้วมันก็ ก็เหมือนกำลังทรง เต็มที่เลย แล้วรู้สึกเลยว่าจะออกไม่ออก จะออกไม่ออก พอรู้สึกอย่างนี้ปั๊บก็มาตื่นเต้นเลย เฮ้ย!มันจะออกแล้วเว้ย (หัวเราะ)
      ตอบพออารมณ์ไปใส่ร่วมกับมันเข้า พวกนี้เป็นตัวฟุ้งซ่านน่ะ ตัววิจิกิจฉา มันมาตัดเข้า กำลังฌานมันก็ลดลงก็เข้าไม่ถึงฌาน พอกำลังมันเข้าไม่ถึงจุด มันก็ไม่พอที่จะหลุดออกไปข้างนอก
      ถาม :  แล้วอย่างนี้ทำยังไงให้มันรู้ตัวได้ครับหรือต้องรบกับมันไปบ่อย ๆ?
      ตอบ :  นั่นแหละ คือถ้าหากว่าเราไม่ค่อยภาวนา สติตามรู้มันอยู่ตลอด ก็ต้องรบกับมันไปเรื่อย จนกว่าจะประเภทเข็ดกันไปข้างหนึ่งน่ะ พอมันเริ่มเข็ดแล้ว คราวนี้มันก็เริ่มจ้องแล้ว คราวที่แล้วพลาดยังไง หัดไประวัง แล้วหลังจากนั้นมันก็จะชนะตรงจุดนั้น จุดนี้ พอทำได้ทีแล้ว มันก็จะได้ตลอด ขยับเมื่อไหร่มันจะรู้ว่ามันพอดีตรงไหน
      ถาม :  มันจะจำได้เองเหรอครับ?
      ตอบ :  มันจะจำได้เอง แต่ว่าก่อนที่จะถึงไอ้ตรงจุดนั้นนี่แหละปล้ำกันนานเลย
      ถาม :  อย่างนี้แหละครับ ผมจำได้ว่าตอนทรงอารมณ์ตอนนั้นน่ะผมรู้สึกยังไง แต่ทำไมตอนผมนั่งคุยตอนขณะนี้ผมกลับไปทรงอารมณ์อย่างนั้นไม่ได้ทั้งที่ผมว่าผมจำได้ว่าตอนทรงอารมณ์อย่างนั้นเป็นยังไง?
      ตอบ :  กำลังมันไม่เท่ากัน มันสูงกว่านี้นิด ต่ำกว่านี้หน่อย เราต้องช่างสังเกตอารมณ์ใจตัวเอง
      ถาม :  อย่างนี้เหมือนกับเราต้องเตือนสติตัวเองอยู่ตลอดเวลา
      ตอบต้องรู้อยู่ตลอดเวลา รู้เฉพาะหน้าตลอดเวลา
      ถาม :  แล้วอย่างหลวงพ่อท่านสอนว่า ฌานหนึ่ง ฌานสอง ฌานสาม ฌานสี่ มันต้องรู้ตลอดว่าใครทำถึงไหนต้อง รู้จุดนั้น?
      ตอบ :  มันศึกษาอาการจากตำรา แต่ว่าตำรา มันพูดเป็นของหยาบ พอเราทำถึงปุ๊บเราจะรู้ว่าตำราหมายถึงอะไร อย่าง เช่นสุข หมายถึงสุขเยือกเย็นใจอย่างบอกไม่ถูก เราก็รู้แค่นี้แหละ พอทำถึงปุ๊บมัน อ๋อ เลย
      ถาม :  ไอ้นี่คือ ฌานอะไรครับ?
      ตอบ :  มันยังจะไม่ทันจะฌานซะด้วยซ้ำ ฌานมันต้องเลยสุขไปนิดหนึ่ง มันต้องเป็นเอกัคตารมณ์
      ถาม :  เพราะผมรู้สึกแค่ว่า อย่างผมเข้ามานั่งกุฏินี้ ผมก็รู้สึกอย่างนี้แล้ว ไม่ต้องทำอะไรเลย
      ตอบ :  มันมาอาศัยรับประทานของคนอื่นเขา