สนทนากับพระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เดือนมิถุนายน ๒๕๔๔
ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ

      ถาม :  ......
      ตอบ :  ลักษณะนี้ที่ไหนมันก็มี โบราณเขาถึงได้บอกว่า
              อันที่จริงคนเขาอยากเห็นเราดี        แต่ถ้าเด่นขึ้นทุกทีเขาหมั่นไส้
              จงทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย       ไม่มีใครเขาอยากเห็นเราเด่นเกิน (หัวเราะ)
      ถาม :  ทำไมเราพูดแล้วเขาหาว่าเราแต่งเรื่องแต่เขาพูด (ฟังไม่ชัด).....?
      ตอบ :  หน้าฉากของคน กับไอ้การกระทำมันส่วนใหญ่คนละอย่างกัน เขาว่าปากหวานแล้วก็ก้นเปรี้ยว ธรรมดาของมันเป็นอย่างนี้ บางทีเขาเห็นเรารายได้ดีอะไรดี เขาก็อิจฉาเอา เป็นเรื่องปกติ
      ถาม :  เขาทำของเรามั้ยครับ?
      ตอบ :  ถ้าเรื่องนั้นกลัว หาสมเด็จองค์ปฐมให้ได้แล้วตั้งใจบูชาทุกวัน ผู้ใดบูชาสมเด็จองค์ปฐม ใครคิดร้ายจะแพ้ภัยตัวเอง นั่งเฉย ๆ ไม่ต้องทำอะไรหรอก วัน ๆ เราสวดมนต์ไหว้พระเสร็จก็ยืนยิ้มขายของได้ ใครมันกลั่นมันแกล้งอีท่าไหน มันจะรับเละคืนไปหลายเท่าเลย
      ถาม :  หนูอ่านหนังสือไม่ได้ ไม่ได้เรียนมา
      ตอบ :  อ่านหนังสือไม่ได้ก็ไม่ว่า ไม่ได้เรียนก็ไม่เป็นไรนี่ ตั้งใจบูชาสวดมนต์ได้แค่ไหนเอาแค่นั้นไม่ได้อะไร นะโม ตัสสะ ก็พอ
      ถาม :  แล้วมีวิธีไหนที่ให้เขาเลิกทำ?
      ตอบ :  เวรกรรม ก็บอกวิธีแก้อยู่นี่ไง ก็แหม ... ไม่คิดจะฟังเหรอ?
      ถาม :  คือเขากัดไม่ปล่อย
      ตอบ :  ก็เรื่องของเขา มันยิ่งกัดเราแรง ถ้าทำตามวิธีที่ว่า โดนเองหนัก เราไม่ทำอะไรเขา ไม่ได้คิดร้ายต่อเขา เขาทำแล้วผลการกระทำของเขาเกิดแก่เขาเอง
      ถาม :  แล้วอย่างเขาใช้เดียรัจฉานวิชามาทำเรานี่?
      ตอบ :  ถ้าทำอย่างอาตมาว่า ให้เดียรัจฉานอีกแปดขาก็ทำอะไรไม่ได้หรอก อย่างว่าแต่สี่ขาเลย ถ้าทำอย่างที่ว่านี่มีแต่ว่าจะอยู่เท่าไหร่ ถ้าเขาต้องการให้เราไปเขาก็ไปเอง ถ้าเขาต้องการให้เราเจ๊งเขาก็เจ๊งเอง ง่ายดีมั้ย? เราอยู่เฉย ๆ ไม่ต้องทำอะไรเอาอย่างหลวงพ่อซิ หลวงพ่อท่านบอกว่าถ้าท่านยิ้มให้สองครั้งแล้ว ไม่เอาด้วยนี่ ครั้งที่สามไม่ตอบเป็นว่าเลิกกัน มันก็แค่นั้นแหละ อยู่ด้วยความดี อยู่ตามระเบียบวินัย ตามแบบแผน ถ้าเราไม่ผิด เขาทำอะไรไม่ได้หรอก
      ถาม :  เดี๋ยวเป็นตรงนั้น เดี๋ยวเป็นตรงนี้
      ตอบธรรมดา คนเราทุกคนเจ็บไข้ได้ป่วย เกิดจากกรรมเก่าของการฆ่าคน ฆ่าสัตว์ ในอดีตเคยทำไว้ ต้นทุนใช้หนี้เขาแล้ว เหลือแต่เศษกรรม เศษกรรมนี่ทำให้ป่วยบ่อย ถ้าไม่ต้องการให้ป่วยบ่อย หมั่นปล่อยชีวิตสัตว์ที่จะถูกฆ่า จะเป็นกุ้ง หอย ปู ปลา อะไรก็ได้ ที่เขาขายให้เป็นอาหารนั่นน่ะ ซื้อปล่อยมันซะทุกเดือน เดือนละตัวสองตัวก็ได้ เรื่องพวกนี้จะเบาลง
      ถาม :  เรื่องงานที่จะมีปัญหา ต้องอยู่กันไปตลอด หรือจะเรียบร้อย?
      ตอบงานทุกอย่างมีปัญหาทั้งนั้น เพียงแต่ว่าเราจะมีสติแก้ไขปัญหานั้นหรือเปล่า ไม่มีปัญหามันก็ไม่ใช่งานซิ แล้วมีใครมีงานไม่มีปัญหามั่ง ถ้าใครมีจะไปช่วยทำ
      ถาม :  อยู่กันมาสามปีกว่าสี่ปีไม่เคยมีปัญหาเลย เริ่มต้นตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เรื่อย ๆ มาจนถึงทุกวันนี้ ทีนี้จะรบกวนให้ดู บุคคลสองคนนี้จะพึ่งใครได้มั้ย?
      ตอบ :  เอากลับไปเลย ไอ้เรื่องนี้ไม่ดูให้ใคร ดูไปมันก็จะประเภทไปรักคนหนึ่ง เกลียดคนหนึ่ง ไม่มีประโยชน์สำหรับพระที่จะทำ ถ้ายิ่งลูกถามว่าพึ่งใครได้ ไม่พึ่งใครได้นี่ไล่เลยนะ ลูกเรา พึ่งได้หรือไม่ได้ ก็ต้องเลี้ยงเขา ต้องดูแลเขา ต้องให้การศึกษาเขาให้เต็มที่ บางคนลูกเกิดมาปุ๊บไปถามหมอดู หมอดูบอกพึ่งไม่ได้ก็เลยเกลียดลูกมาตั้งแต่เล็กโดยที่ไม่ใช่ความผิดของลูกเลยก็มี เพราะฉะนั้นเรื่องพรรค์นี้ไม่ต้องถามพระ พระบอกไม่ได้ บอกได้ก็ไม่บอก
      ถาม :  อยากจะทราบว่า มีอะไรที่เราทำไม่ถูก อยากจะแก้ไขอะไรอย่างนี้?
      ตอบ :  เราอยู่ที่ไหนก็ตาม ในแต่ละสถานที่จะมีสิ่งไม่มีตัวตนที่เป็นเจ้าของสถานที่อยู่ ถ้าเราให้ความเคารพ ให้ความเกรงใจเขาอยู่ที่ไหนก็อยู่ได้ จำเอาไว้ให้แม่น ๆ ยกเว้นว่าเราไม่ให้ความเคารพกี่ปี ๆ ก็ข้ามหัวเขา อย่างนั้นล่ะจะมีเรื่องบ้าง
      ถาม :  ..........
      ตอบ บอกอะไรแล้วฟัง ฉันเป็นคนพูดน้อย แต่มักตีตรงเป้า เพราะฉะนั้นมันจะแรง เหมือนยังกับถูกด่า แล้วตั้งใจฟังให้ดี ๆ ถ้าบอกแล้วไม่ฟัง ฉันก็เลิกพูดด้วย แค่นั้นเอง วันนี้วันเสาร์ ไม่ใช่หรือ คุณตุ๋ย วันเสาร์ต้องใส่สีดำสิ เพราะว่า
              เสาร์วโรรุจิล้วน       ดำดี
              ทรงสรรพาวุธลี       ลาศเต้า
              ออกแย้งยุทธไพรี       รณภาพ
              เทเวศร์อวยชัยเช้า       ค่ำให้สถาพร

สีแดงต้องวันอาทิตย์ (หัวเราะ)
              ระวิสิทธิด้วย       อาภรณ์
              แดงพิจิตร อลงกรณ์       ก่องแก้ว
              ทรงแสงธนูศร       ลีลาศ
              เสด็จสู่สงครามแผ้ว       ผ่องพัน ไพรี

วันอาทิตย์เขาใส่สีแดง ตำราพิชัยสงคราม
              จันทรวารภูษณพื้น       โขมภัสตร์
              กรกลึงดาบขัด       เพริศแพร้ว
              เสด็จจรกำจัดดัส       กรราช
              ตามพิชัยฤกษ์แล้ว       ล่มล้าง ศัตรู
              ภุมวารพิเศษด้วย       ชมพู
              ทรงพระแสงกรชู       ดาบดั้ง
              เฉกองค์มฤตยู       ยุรยาตร
              มวลอรินทร์ ต่อตั้ง       แตกด้วย เดชา

              เขาจะบอกให้ทุกวัน ระวิ ก็วันอาทิตย์ ภุมมะ ก็วันอังคาร เป็นคนสมัยใหม่รู้เรื่องเก่าไว้หน่อยก็ดี แต่วันนี้มันแปลก ๆ เด็กสมัยนี้เขาเรียน กับของเราเรียนมันคนละตำรากัน สมัยเด็ก ๆ ที่เรียนจำได้ว่า พฤหัสสีน้ำเงิน วันศุกร์สีม่วง วันเสาร์สีดำ สมัยนี้เขาเปลี่ยนหมด เปลี่ยนเป็นพฤหัสสีส้ม ศุกร์สีอะไรไม่รู้กลายเป็นคนละตำรากัน
              สมัยก่อนกว่าจะโตขึ้นมาเป็นผู้เป็นคนได้ต้องเรียนสารพัดวิชา ฤกษ์ล่าง ฤกษ์บน ตำราอาวุธ ตำราพิชัยสงคราม ปลุกเสก เลขยันต์ อะไรสารพัดสารเพ ต้องแม่นตำรา ต้องคล่องตำรา แค่การรบใช่มั้ยมันต้องเริ่มต้นมาจากโน่นยกทัพแล้วต้องใช้ฤกษ์อะไร มีกระทั่งการฤกษ์ล่าง ฤกษ์บน ดูดาว ดูลม

      ถาม :  .........
      ตอบอยากเก่งไม่ใช่เรื่องผิดโยม แต่ว่าในขณะที่ปฏิบัติ เราต้องลืมคำว่าอยากให้ได้ ถ้าตราบใดที่เรายังอยากอยู่จิตใจจะวอกแวก เขาเรียกว่า อุทธัจจะกุกุจจะ คือ ฟุ้งซ่าน ในเมื่อฟุ้งซ่านก็แสดงว่า ตัวนิวรณ์คือเครื่องกั้นความดี นั้นยังทำหน้าที่ของมันอยู่ เราก็ไม่สามารถเข้าถึงที่สุดของอารมณ์ได้ คราวนี้การที่เราอยากเป็นเรื่องปกติ ถ้าไม่อยากก็ไม่มาปฏิบัติ แต่เราตั้งความหวังว่าเราทำอย่างนี้เพื่ออะไรแล้วให้ลืมความคิดนั้นเสียตั้งหน้าตั้งตาภาวนาอย่างเดียว มันจะเป็นอย่างไรช่างมัน มันจะได้อย่างไรช่างมัน ถ้าทำอย่างนี้ได้จะเกิดผลเร็วมาก แต่ถ้าเรายังทำไปอยากไปอยู่ ผลมันจะช้า หรือไม่ก็ไม่ได้สักที
      ถาม :  แล้วถ้าหากจะไม่ให้โกรธล่ะเจ้าคะ?
      ตอบ :  อันนี้ต้องมีสติรู้ให้ทัน ความโกรธจะเข้ามาหาเราง่ายที่สุด ทางตากับทางหู ตาเห็นรับเข้าไปสู่ใจ ไม่พอใจ หูได้ยินรับเข้าไปสู่ใจ ไม่พอใจ ในเมื่อไม่พอใจ มันก็จะเริ่มกรุ่นขึ้นมาลักษณะเหมือนกับควันขึ้นแล้ว พอควันขึ้นถ้าเราปล่อยโดยการที่ไปนึกคิดปรุงแต่งต่อ มันก็จะเป็นเปลวไฟไหม้ล่ะ คราวนี้กลายเป็นโทสะ
              พอทำเขาไม่ได้ ด่าเขาไม่ได้อย่างใจ ทำร้ายเขาไม่ได้อย่างใจ คราวนี้ พยาบาท จ้ะ มันก็มีแต่เผาเราอยู่คนเดียว เพราะฉะนั้นสติต้องรู้เท่าทัน พอตาเห็นปุ๊บสักแต่ว่าให้มันเห็นเท่านั้น หูได้ยินปุ๊บสักแต่ว่าให้มัน ได้ยินแค่นั้น ให้คิดว่าธรรมดาของเขาเป็นอย่างนั้น
              บุคคลที่ยังไม่เห็นทุกข์เห็นโทษว่าสิ่งที่เขาทำนั้นเป็นโทษ แก่คนอื่นอย่างไร เป็นโทษแก่ตัวเองอย่างไร เขาก็ยังทำสิ่งนั้นอยู่ด้วยความยินดีและเต็มใจ แต่ว่าสิ่งนั้นจะเป็น โทษสาหัสกับเขาในภายภาคหน้า เขาไม่สามารถจะมองเห็นได้ คนที่มองไม่เห็นโทษของตัวเองจริง ๆ แล้ว ไม่ใช่คนที่น่าโกรธ หากแต่เป็นคนที่น่าสงสารที่สุด ถ้าเรารู้จักคิดอย่างนี้มันก็จะไม่โกรธ หรือไม่ก็โกรธน้อยลง อย่าลืมว่าสติต้องทันนะ ถ้าสติไม่ทันนี่มันพาเราไปหลายกิโลเลย กว่าจะดึงมันกลับได้
      ถาม :  เคยบอกว่าถ้าทำพรหมวิหารสี่ แล้วจะมองเห็นเหมือน....(ฟังไม่ชัด)
      ตอบ :  ก็คือว่าให้อารมณ์ของพรหมวิหารสี่นี้ทรงอยู่ในใจตลอดเวลา สมมติว่าโยมเริ่มในช่วงเช้า โยมพิจารณา ว่าสรรพสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้มีปกติก็คือว่า เกิดแก่ เจ็บ ตาย เหมือนกับเรา เกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงไปในท่ามกลางสลายไปในที่สุด ไม่มีตัวตน เราเขาผู้ใดผู้หนึ่งที่จะทรงอยู่ได้นะ ทุกคนล้วนแล้วแต่เวียนว่ายอยู่ในทุกข์ทั้งสิ้น เราจะเบียดเบียนเขาหรือไม่เบียดเบียนเขา เขาก็ทุกข์ เขาจะไม่เบียดเบียนเรา เราก็ทุกข์ ต่างคนต่างทุกข์อยู่แล้ว เราอย่าไปเพิ่มเติมความทุกข์อันนั้นให้แก่ผู้อื่นและตัวเราเลย ขอให้เขาทั้งหลาย เหล่านั้นจงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวรมีกรรมและเบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย ตั้งใจแผ่เมตตา ออกไปในทิศทั้งสี่ จนกระทั่งกำลังใจของเราเยือกเย็นทรงตัวแล้ว
              ให้โยมจับตัวอานาปานุสสติ คือลมหายใจเข้าออกของเรานี่ภาวนาต่อไปเลย พอภาวนาอารมณ์ทรงตัวแล้วรักษาอารมณ์นั้นเอาไว้ ตัวอารมณ์พรหมวิหารสี่ก็จะทรงอยู่กับเราตลอดเวลาที่เรามีสติรู้ลมหายใจเข้าออกอยู่ ถ้าหลุดจากลมหายใจเข้าออกเมื่อไรมันจะค่อย ๆ สลายตัวไป เพราะฉะนั้นถ้าโยมจะทรงให้ได้ทั้งวันอย่างที่ว่า โยมต้องเกาะอารมณ์ภาวนาอยู่ตลอดคือหลังจากที่แผ่เมตตาจนอารมณ์ใจเยือกเย็นทรงตัว แล้วเกาะอารมณ์ภาวนาต่อไปเลย มันก็จะเข้าถึงอารมณ์สูงสุดของตัวนั้นได้ ถ้าเราเข้าถึงอารมณ์ของฌานสี่ยิ่งได้สมาบัติแปดยิ่งดี เราก็เกาะ ตรงจุดนั้นเอาไว้ เราก็จะทรงพรหมวิหารสี่ได้ตลอด
              ถ้าตัวนี้อยู่กับเราตลอด เราก็จะไม่โกรธใคร เพราะว่าเรารักเขาเหมือนกับตัวเรา ไม่คิดอยากจะเบียดเบียนใครสงสารเขาอยากให้เขาพ้นทุกข์เหมือนกัน ถ้าเขาทำอะไรดีก็พลอยยินดีเมื่อเขาอยู่ดีมีสุข ถ้าเขาตกอยู่ในความทุกข์ช่วยเหลือเขาจนสุดความสามารถแล้ว ไม่สามารถช่วยเหลือได้ จึงปล่อยวางอยู่ในอุเบกขา อารมณ์เหล่านี้จะทรงอยู่กับเราตลอด
              ถ้าอารมณ์อุเบกขาทรงตัวศีลก็จะบริสุทธิ์โดยอัตโนมัติ แล้วขณะเดียวกันว่าอารมณ์ตัวโกรธมันก็ลดลง ค่อย ๆ ลดลงไปเรื่อย ถ้าหากว่าจิตใจเรายิ่งเยือกเย็นในพรหมวิหารสี่ตลอดไป ตัวไฟโทสะมันก็ดับมอดไปเรื่อยจนกระทั่งมันสิ้นเชื้อไปเอง จริง ๆ แล้วพวกเราเวลาแผ่เมตตาอะไรเสร็จแล้ว เราไม่ได้ ภาวนาต่อให้อารมณ์มันทรงตัว หรือว่าถึงภาวนาต่อจนอารมณ์ทรงตัว แต่ว่าเราลุกขึ้นแล้วเราไม่รักษาอารมณ์นั้นไว้ เราไปปล่อยเลย
              ตัวรักษาอารมณ์ให้ต่อเนื่องนั้นสำคัญที่สุดสำหรับนักปฏิบัติทุกคน ถ้าเราไม่รักษาอารมณ์นั้นให้ต่อเนื่อง มันเหมือนว่ายทวนน้ำมาระยะหนึ่งแล้วพอ เลิกปุ๊บเราก็ปล่อยมันลอยตามน้ำไปเลย แทนที่จะพยายามตะเกียกตะกายว่ายให้มันคงอยู่ในระดับนั้น ในเมื่อเราลอยตามน้ำไปไกลแล้ว พอถึงเวลาว่ายกลับมาใหม่ มันก็จะได้อย่างเก่งก็ได้กว่าเดิมหน่อยหรือน้อยกว่าเดิมซะด้วยซ้ำ มันก็กลายเป็นว่าได้แต่งาน แต่ผลงานไม่ได้ เพิ่มขึ้น ก็ขาดทุนไปเรื่อยเพราะว่ามันก็เหนื่อยฟรี พอทำไปหลาย ๆ ปีเข้าชักท้อ มันไม่ก้าวหน้าสักที ความจริงเราเองทำผิดวิธีจ้ะ ขยันน่ะยังขยันอยู่ แต่พอขยันผิดวิธีคราวนี้หมดกำลังใจ
      ถาม :  เวลาทำได้แล้ว ไม่ทราบว่าทำอย่างไหนมาก ขั้นต้น ขั้นกลาง ขั้นปลาย?
      ตอบ :  เอาอย่างหลวงพ่อว่านั่นแหละ ถ้าได้มโนมยิทธินี่ง่ายเลยโดดขึ้นไปกราบพระบนนิพพาน ตั้งใจขออยู่กับท่านไม่ไปไหนแล้วล่ะ ทำอย่างไรก็ได้ สวดมนต์ภาวนาอะไรก็ได้ รักษาอารมณ์ใจจดจ่ออยู่ตรงนั้น รัก โลภ โกรธ หลง จะกินเราไม่ได้เป็นวิธีตัดกิเลสที่ง่ายที่สุด ถ้าไม่ได้มโนมยิทธิให้ตั้งใจภาวนา หลวงพ่อท่านสอนว่าให้จับภาพพระพร้อมกับลมหายใจเข้าออก
              ถ้าหากว่าพระเป็นสีเขียว สีเหลือง สีขาว ให้ตั้งใจจับสีนั้นด้วยภาวนาไปนึกถึงภาพพระไป ใช้คำว่าง่าย ๆ ว่า พุทโธ การภาวนานึกถึงลมหายใจเข้าออกเป็นอานาปานุสสติ การใช้คำว่าพุทโธ และเพ่งภาพพระเป็นพุทธานุสสติ การกำหนดภาพพระหรือเห็นภาพพระอยู่เป็นกสิณ เราจะได้สามอย่างพร้อมกัน ในเมื่อเราทำไป ๆ จนให้อารมณ์ใจมันทรงตัวไปต่อไม่เป็นแล้วก็คลายอารมณ์ใจถอยลงมาให้พิจารณาดูว่า โลกนี้ไม่เที่ยงทุกอย่างในโลกนี้เป็นทุกข์ ทุกอย่างในโลกนี้ไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเรา ถึงเวลาทุกอย่างก็ตาย ก็พังหมด คนสัตว์ วัตถุธาตุสิ่งของ มีสภาพเดียวกันหมด
              ในเมื่ออารมณ์ใจมันทรงตัวดีแล้ว มันจะภาวนาของมันต่อโดยอัตโนมัติ พอมันภาวนาโดยอัตโนมัติ จนถึงจุดตันแล้วประคองมันไว้ให้มันค่อย ๆ ถอยออกมาอย่างระมัดระวัง แล้วมาคิดพิจารณาใหม่ จะพิจารณาในแบบไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ได้ จะพิจารณาแบบอริยสัจสี่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรคก็ได้ แต่ว่าอริยสัจสี่นี่จับแค่สองตัวหรือจะจับแค่ตัวเดียวก็ได้ จับแค่สองตัวก็คือสมุทัยเหตุของทุกข์ แล้วพอเราไม่สร้างเหตุนั้นทุกข์ก็ดับ หรือไม่ก็จับตัวทุกข์ตัวเดียวว่ามันทุกข์อย่างนี้แหละเราไม่เอามันอีก
              แล้วถ้าหากเราไม่คล่องตัวจะถนัดทางวิปัสสนาญาณเก้าอย่าง ก็หันมาจับวิปัสสนาญาณเก้าอย่างแทน คือพิจารณาเห็นความเกิดและดับอย่างหนึ่ง พิจารณาแต่ความดับบ้าง พิจารณาเห็นเป็นของน่าเบื่อหน่าย พิจารณาเห็นมันเป็นโทษเป็นภัย พิจารณาเห็นมันเป็นของน่ากลัว เหล่านี้เป็นต้น ค่อย ๆ ดูไป เรื่อย ๆ การพิจารณามันจะได้เปรียบตรงว่า อารมณ์ใจมันจะทรงตัวแล้วมันจะกลายเป็นภาวนาเองโดยอัตโนมัติ แต่ว่าการภาวนา ถ้าหากว่าเราไม่ประคองมันให้ดี พอมันไปถึงจุดสุดของมันแล้ว มันถอยกลับมา ถ้าเราไม่ประคับประคองให้มันคิดในด้านดีด้านถูก มันจะเริ่มฟุ้งซ่านไปกับ รัก โลภ โกรธ หลง ใหม่ โยมทำอย่างนี้ ภาวนาแล้ว พิจารณาสลับไปเรื่อย ๆ ยิ่งพิจารณาได้ตลอดยิ่งดี