ถาม :  ช่วงเวลาที่ปฎิบัติมาก ๆ หรือปฎิบัติอะไร พอจุด ๆ หนึ่งมันจะสงบแต่พอเลยจุดสงบแล้วมันเริ่มกระเพื่อมใหม่แล้วมันแรงกว่าเดิม
      ตอบ :  มันไม่ได้เลย ถ้าหากว่ามันเลยมันจะดีขึ้น เราถอยกลับมาโดยไม่รู้ตัว ที่ว่าเราถอยกลับมาโดยไม่รู้ตัวก็คือว่า แทนที่เราจะสนใจภายในเราไปสนใจภายนอกโดยไม่รู้ตัว ทุกสิ่งที่เข้ามาทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย มันพยายามจะแทรกเข้าไปภายในใจของเรา เพื่อดึงใจเราให้ไปสนใจข้างนอกแทน
              ต้องสังเกตว่าเราส่งใจออกนอกเมื่อไหร่ ถ้าเราสังเกตตรงนี้ไม่ได้ก็เสร็จมัน มันกระเพื่อมทันทีเลย เพราะเราส่งใจออกนอกไปแล้วมันถึงไปรับอารมณ์นั้นได้ หรือไม่ก็ดึงอารมณ์นั้นเข้ามาข้างในโดยที่ไม่ได้ระวังตัวเอาไว้ มันก็เข้ามาโดยตรง ก็เกิดทุกข์เกิดโทษกับเรา สังเกตว่าพอใจเราส่งออกไปคิดเรื่องอื่นเมื่อไหร่พังเมื่อนั้น ต้องอยู่กับลมหายใจเข้าออกอยู่กับอารมณ์เฉพาะหน้า
      ถาม :  แล้วเป็นไปได้ไหมพอถึงวันพระจะมีปัญหาตรงนี้ ?
      ตอบ :  ทุกวันก็มี
      ถาม :  แต่วันพระเป็นเยอะ
      ตอบ :  วันพระเป็นเยอะนั้นมันอาจเป็นเฉพาะตัวของเรา มีโอกาสเหมือนกัน บางคนสำหรับบางวันโดยเฉพาะวันพระ ถ้าหากว่าเป็นมากนี่ ต้องสังเกตว่าเป็นวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำมั้ย ถ้าได้ข้างขึ้นเต็มที่นี่อานุภาพการขึ้นการลงของดวงจันทร์ที่มันทำให้น้ำขึ้นน้ำลงยังได้เลย แล้วทำไมตัวเรามันจะขึ้นลงไม่ได้ละ ร่างกายมนุษย์ประกอบด้วยน้ำตั้ง ๖๐ - ๗๐ %
      ถาม :  แล้วอีกอย่างเรื่องงานค่ะ เรามีความรู้สึกว่าทะลึ่งไปอ่านความคิดชาวบ้านเขาออกว่าเอาเราเป็นตัวหมากเดิน แล้วก็มาทำอะไรให้เราสารพัดจนกระทั่งเราปฎิเสธเขาไม่ได้ แต่ว่าทำตรงจุดนี้ไม่ได้ กลัวว่าถ้าสมมุติว่าไปทำตรงฟิลด์ที่ไม่ตรงกับเรามันจะเป็นผลเสียกับคนอื่น แต่ต้องไปอยู่เวรตรงนั้น ปฎิเสธเขาตรง ๆ ไม่ได้
      ตอบ :  ปฎิเสธตรง ๆ ไม่ได้ก็ทำให้มันเต็มความสามารถของเราเพราะว่าในเมื่อปฎิเสธไม่ได้มันก็ต้องทำหน้าที่นั้นให้ดีที่สุด ให้ดีที่สุดนี้มันไม่ได้มาตรฐานว่าจะต้อง ๑๐๐% เต็มอะไรนี่ มันแค่เต็มสติปัญญา เต็มกำลังความสามารถของเราเท่านั้น ถ้าหากว่าเขาเห็นว่าไม่สมควรเขาก็จับโยกย้ายทีหลังเองแหละ
      ถาม :  แต่อาชีพนี้มันขึ้นอยู่กับชีวิตคน หนูไม่รู้.... ทำเป็นเล่นกับตรงนี้
      ตอบ :  บอกแล้วว่าดีที่สุด ถ้าหากว่าดีที่สุดแล้วคนตายลงไปก็ต้องยอมรับว่ากฏของกรรมมันมีอยู่ เราได้เจตนาให้เขาต้องตายเมื่อไหร่เล่า ?
      ถาม :  อย่างสมมุติว่าเมื่อก่อนนี้นะ เวลาที่เราโกรธใครหลาย ๆ ครั้ง เวลาทำอะไรให้เขานิด ๆ หน่อย ๆ บ้างมันสะใจเรา เดี๋ยวนี้มันสะใจด้วยมันเสียใจด้วย
      ตอบ :  ไอ้นี่เริ่มรู้ตัวนิด ๆ (หัวเราะ) ที่เสียใจความจริงมันเสียดายความดีที่เรารักษาไว้แล้วมันมาพังลงลงไป มันก็เรื่องปกติธรรมดา ให้เริ่มต้นใหม่ทันทีที่รู้สึกตัว เหมือนกับว่าเราเดินทางมาแล้วสะดุดล้มลงคนที่สะดุดล้มลง ๒ คนพร้อมกัน คนหนึ่งลุกขึ้นแล้วเดินต่อเลยขณะที่อีกคนล้มลงแล้วก็ไปนั่งคร่ำครวญว่า โอ้ย..ไม่น่าเลย ทำไมมันถึงล้ม เราล้มได้ยังไง เจ็บเหลือเกิน ปวดเหลือเกิน โดยที่ไม่ยอมเดินต่อ ๒ คนนี้ใครจะก้าวหน้ากว่ากัน ?
              คนที่ลุกเลยจะก้าวหน้ากว่า เราไม่ได้ตั้งใจผิดหรอก ขณะที่สติสัมปชัญญะเราสมบูรณ์ ขณะที่ปัญญาของเราพร้อมอยู่เราไม่คิดจะทำในสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ แต่ว่าเราทำเพราะเหตุของกิเลส ตัญหา อุปาทาน และอกุศลกรรม มันชักนำให้เราทำไม่ใช่ตัวเราทำ ถ้ามันติดใจให้กราบขอขมาพระรัตนตรัยแล้วตั้งใจทำความดีใหม่ ตั้งแต่วินาทีนั้นเป็นต้นไปเลย
              เราก็คือคนที่ทำดีทำถูกต่อไป ถ้ามัวแต่ไปคร่ำครวญไปเสียดายเวลา ไปเสียใจอยู่กับสิ่งที่เลยมาแล้วมันก็คือการไปทวนอดีตอยู่ ไม่ว่าจะอดีตหรืออนาคตสร้างทุกข์ให้เราทั้งนั้น เราต้องเอาปัจจุบันนี้ให้ดีที่สุดเท่านั้น หยุด เลิก แล้วทำใหม่เดี๋ยวนั้นเลย ล้มอีกก็ลุกอีกทำใหม่อีก ไอ้พวกนี้มันกลัวลูกตื้อกลัวคนหน้าด้าน อีกไม่นานมันก็เลิก เพราะมันรู้ว่าเราไม่แพ้มันตรงนี้แล้ว
              สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เขามาสังเกตว่า ถ้าเราก้าวผ่านได้นี่มันจะไม่สามารถสร้างความกระเทือนใจให้เราได้อีกเลย แต่ถ้าเราก้าวผ่านไม่ได้มันจะมาซ้ำแล้วซ้ำอีกอยู่ข้อสอบเดิมนั่นแหละเพียงแต่เปลี่ยนแง่เปลี่ยนมุมไปเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นทันทีที่รู้ตัวก็เลิกตั้งใจทำดีใหม่ รัก โลภ โกรธ หลง มันมาแค่ ๔ หัวข้อ แต่มาเป็นหมื่นเป็นแสน
      ถาม :  เป็นนักบวชยากไหมครับ ?
      ตอบ :  ไม่ยากหรอก แต่จะรักษาความดีนั้นมันยาก (หัวเราะ) เป็นไม่ยากหรอกบวชแป๊บเดียว
      ถาม :  ถ้าตั้งใจบวชไม่สึก ?
      ตอบ :  ถ้าตั้งใจบวชไม่สึกจะเจอข้อสอบที่สาหัสมาก เพราะเราปิดทางถอยของเราเอง
      ถาม :  ต้องอธิษฐานใหม่ ?
      ตอบ :  ไม่ใช่อธิษฐานใหม่ ตั้งใจว่าเราจะทำให้ดีที่สุด มันได้แค่ไหนเอาแค่นั้น บวชได้.... ไม่แปลก สึกก็ไม่เห็นจะเป็นไร ถ้าคิดอย่างนั้นจะอยู่ได้ง่าย แต่ถ้าเราตั้งใจเลยว่าเราจะบวชไม่สึกตลอดชีวิตตายแน่ ๆ เลย ... มันตีมาทุกทางเลย เปลี่ยนความตั้งใจใหม่ ตัวความตั้งใจเป็นอธิษฐานบารมี รู้ว่ามันไม่ตรง รู้ว่ามันไม่ถูก เราก็เปลี่ยนแปลงได้
      ถาม :  ไม่ถือว่าผิดคำพูด ?
      ตอบ :  ไม่ผิด อธิษฐานแปลว่า ตั้งใจ ตั้งใจใหม่เมื่อไหร่มันก็ได้เมื่อนั้น ไม่อย่างงั้นเดี๋ยวตาย (กำลังจะตายเพราะคำอธิษฐานตัวเอง) ตัวนี้แหละ เราไปปิดทางถอยของเราเอง ฉลาดไหมล่ะ ? เปิด ๓๖๐ องศาถึงเวลามุดมันออกได้ทุกรู อย่างนั้นสบาย อย่างอาตมาคนเขาถามว่าจะสึกมั้ย ? คิดสึกบ้างมั้ย ? บอกเขาว่าไม่สามารถจะรับปากได้ ถ้ากำลังใจมันอยู่อย่างนี้ มันอยู่ได้สบายอยู่เย็นเป็นสุข แต่ถ้าหากว่าเมื่อไหร่กำลังใจมันลดลงจะสึกเมื่อไหร่ก็พร้อมที่จะสึก
              ในเมื่อความรู้สึกของเราเป็นอย่างนี้โอกาสที่จะบีบเรามันไม่มี ก็เราพร้อมจะไป มาเมื่อไหร่ไปเมื่อนั้นมันเปิดช่องไว้รอบทิศทาง ทางหนีมันเยอะ (เบื่อโลกแล้วจะลาซะที คิดอะไรไม่ค่อยเป็น) พวกนี้มันเกิดจากประสบการณ์ แรก ๆ ก็เหมือนกันประเภทหน้าดำคร่ำเครียดมาทั้งนั้น คือ ทำแล้วอยากให้มันดีให้มันเด็ดขาดไปเลย แต่ลืมไปว่ากำลังของเราถ้ายังไม่พอมันตีตายจริง ๆ นะ
      ถาม :  ทำบุญ ทำแล้วให้เราคิดถึงบุญบ่อย ๆ อย่างนี้ แล้วก็มันไม่ใช่ว่าเป็นการเหมือนลำเลิกบุญคุณเหมือนทวงบุญทวงคุณ ?
      ตอบ :  ไม่ใช่ เราเรียกว่า จาคานุสสติ ระลึกถึงการสละออก จิตใจก็ประกอบด้วยทานบารมี คือ พร้อมที่จะให้อยู่เสมอ เป็นการคิดในด้านดี เป็นการตีวงให้ความคิดของเราไม่ไป รัก โลภ โกรธ หลง เพราะว่าการสละออกเป็นการตัดตัวโลภ
              ในเมื่อเราคิดถึงความดีอยู่เสมอ เกาะความดี ความดีนี่ใครสอนมา.... หลวงปู่หลวงพ่อสอนมา หลวงปู่หลวงพ่อรับคำสอนมาจากใคร... รับคำสอนจากพระพุทธเจ้ามา หลวงปู่หลวงพ่อเป็นพระสงฆ์ คำสอนเป็นพระธรรม พระพุทธเจ้าเป็นพระพุทธ ครบพระรัตนตรัยเลย ใจเราเกาะพระรัตนตรัยอยู่ตลอดเวลา ในเมื่อใจเราเกาะพระรัตนตรัยตลอดเวลาก็คือเกาะความดี ใจที่เกาะความดีในขณะนั้นถึงตายตอนนั้นมันก็ไปดี ไม่ได้ลำเลิกบุญคุณใครหรอก หากแต่ว่ากำลังย้อนทวนความดีของตัวเองเพื่อให้คงหนักแน่นอยู่ในใจขอเงเรา
      ถาม :  แล้วถ้าจิตตกทำยังไงครับ ?
      ตอบ :  ปล่อยมันตกไป อาการเดียวกัน รู้ตัวเมื่อไหร่ก็ตั้งต้นนับหนึ่งใหม่ ไม่ต้องไปคร่ำครวญกับมันเสียเวลา โอ้ย... ไม่น่าเลย ทำมาตั้งนานเนพังอีกแล้ว (หัวเราะ) ไม่เห็นมีพระโยชน์อะไรเลย ทันทีที่เรารู้นี่เราเลิกเลยเดี๋ยวนั้นเลย เขาต้องการให้เราคิดอย่างนั้น ให้เราอยู่อย่างนั้น เราจะได้ไม่ก้าวหน้า จำไว้ว่าขณะที่เราแย่ที่สุดนั้นก็คือเวลาที่เราใกล้ความดีที่สุด
              อันนี้กล้ายืนยันจากประสบการณ์ที่ทำมารวมเวลา ๒๕ ปี กว่าขึ้นปีที่ ๒๖ แล้ว เวลาที่เราคิดมันเหมือนกับเรากำลังจะก้าวเข้าประตูแล้ว เขาพยายามดึงเราให้ออกจากประตูนั้นด้วยการสร้างอารมณ์ต่าง ๆ ที่มัน รัก โลภ โกรธ หลง ขึ้นมา เพื่อให้เรามาหลงยึดตัวนี้แทน โดยที่ไม่มุ่งหน้าไปจุดเดิม เพราะฉะนั้นแย่มากที่สุดเมื่อไหร่จงดีเถิด ใกล้ประตูมากที่สุดแล้ว ลุกขึ้นแล้วเดินเดี๋ยวนั้นเลย มันอาจจะก้าวข้ามไปเลย
      ถาม :  .........(ฟังไม่ชัด)..........
      ตอบ :  ถ้ายังไม่เป็นพระอรหันต์เมื่อไหร่มันก็ยังสัมมาทิฏฐิไม่เต็มที่หรอก
      ถาม :  มีสักหน่อยก็ยังดีขอสัก ๕๐ %
      ตอบ :  โอ้โห... เอาเยอะจัง (หัวเราะ) ในมรรคแปดจะขึ้นต้นด้วยสัมมาทิฏฐิเลย เพราะสัมมาทิฏฐินี่ตัวปัญญา เป็นตัวปัญญามีปัญญาขึ้นก็จะเริ่มทำในสิ่งที่ดี ๆ ทั้งหมดสัมมาอีก ๗ ตัวจะตามมาเอง เพราะฉะนั้นในขณะจิตใดที่เรายังไม่ก้าวถึงความเป็นพระอริยเจ้าตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปตัวสัมมาทิฏฐิสมบูรณ์ได้ยากมันบกพร่องบ้าง...
              บอกแล้วว่าถ้ารู้ตัวเริ่มต้นใหม่ จำไว้ว่าเราใช้ศีลเป็นกรอบของเรา ถ้าหากว่าเราจำเป็นต้องไปกับโลก ไปแค่กรอบของศีลห้า ถ้าไม่พ้นจากกรอบของศีลเรายังอยู่ในสัมมาทิฏฐิ ถึงมันจะเป็นอุปาทาน คือการยึดมั่นถือมั่น แต่มันก็เป็นการยึดในสิ่งที่ถูก เพราะว่าทุกคนจำเป็นต้องมีสิ่งที่ยึดก่อนเหมือนกับเด็ก ๆ หัดเดินต้องมีสิ่งยึดเกาะก่อน
              ถ้าไม่มีสิ่งที่ยึดเกาะจะเอาอะไรไปปล่อยวางล่ะ เพราะฉะนั้นแรก ๆ ให้ยึดศีลเป็นหลัก ยึดพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นหลัก ถ้ายังอยู่ในกรอบของศีลนี้โอกาสจะหลุดจากสัมมาทิฏฐินี่ไม่มีเลย แต่ตัวธรรมะอื่น ๆ อาจจะบกพร่อง เช่นว่า เป็นสีลัพพัตตุปาทาน คือ ยึดมั่นในการปฎิบัติของตัวเอง คิดว่าศีลพรตของเราดีกว่าของคนอื่นเขา นั่นค่อยไปแกะมันทีหลัง แต่ว่าอย่าให้หลุดจากกรอบนี้แล้วกัน สัมมาทิฏฐิอยู่กับเราแน่ ๆ ไม่ใช่ ๕๐ % หรอก อาจจะ ๑๐๐ % เลย ไม่มีอะไรยากสักนิดหนึ่งอ่านตำราก็เยอะฟังก็เยอะ จับจุดไม่ค่อยจะถูก (หัวเราะ)
      ถาม :  การที่เรานับถือหลวงพ่อและพระพุทธเจ้านี่เป็นกิเลสมั้ย ?
      ตอบ :  เป็น... เราเรียก ธรรมฉันทะ ความพอใจในสิ่งที่ถูกต้องสมควร มันไม่ใช่กิเลส มันไม่ใช่ตัญหามันเป็นจุดเกาะจุดยึดอย่างหนึ่งของกำลังใจ แต่ว่ายึดในขั้นแรกเท่านั้น พอนาน ๆ ไปกำลังใจมั่นคงขึ้นก็จะเหลือจุดอัตตาหิ อัตตโนนาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน มันก็จะเริ่มปล่อย คราวนี้พอปล่อยลงจนกระทั่งหมดนะ พอถึงท้าย ๆ แล้วกระทั่งคำว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือคำว่า นิพพาน ก็ไม่มี แต่มันทรงของมันเองอยู่ในใจโดยอัตโนมัติ เราไม่ต้องเสียเวลาไปเกาะ ไม่ใช่ว่าเราทิ้งแล้วหายไปเลยนะ หากแต่ท่านอยู่ของท่านอย่างทรงตัวอยู่แล้ว มันเหมือนอย่างกับว่าสมมุติว่าเราเลี้ยง... เด็กสักคนหนึ่ง ตอนแรก ๆ ก็ต้องคอยระวังใช่มั้ย มันดื้อมั่งมันซนมั่งวิ่งไปนู่นวิ่งไปนี่ ต้องไปจับ ไปรั้ง ไปดึงมันพอเด็กคนนั้นโตขึ้นมารู้ภาษาเข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร คราวนี้เราก็ไม่ต้องไปเสียเวลาไปฉุดไปดึงมัน ปล่อยยังไงเขาก็อยู่กับเรา แรก ๆ ก็เกาะก่อนพอนานไปก็ปล่อยได้ สำคัญตรงที่ว่าส่วนใหญ่มันปล่อยไม่ออก
      ถาม :  ปล่อยไม่ออกเป็นอะไรมั้ยค่ะ
      ตอบ :  มันก็ไม่เป็นอะไรเพราะมันปล่อยไม่ออก มันก็ติดแต่ติดดี มันดีกว่าติดชั่วใช่ไหม ?
      ถาม :  บางทีเรายังเกาะไม่ได้แต่ติดนาน
      ตอบ :  ถ้าอย่างนั้นแย่มากแล้วล่ะ ยังไง ๆ ก็ให้มันเกาะให้ได้ซะอย่างหนึ่ง คือ เกาะดีให้ได้ มันต้องเกาะดีก่อน หลวงปู่ดู่วัดสะแกไง หลวงปู่ดู่วัดสะแกที่อยู่อยุธยาคนไปต่อว่าท่านสร้างวัตถุมงคลทำให้คนติดวัตถุมงคล หลวงปู่ดู่ท่านว่า ติดวัตถุมงคลดีกว่าไปติดวัตถุอัปมงคล ต้องเจอพระอรหันต์ตอบอย่างนั้น รักไปเถอะยิ่งรักเยอะยิ่งดี รักมากจนอยากไปอยู่กับท่านยิ่งดีใหญ่เลย
      ถาม :  การที่เรารักมากจนอยากไปอยู่กับท่านมันจะตัดร่างกายโดยอัตโนมัติหรือเปล่าคะ ?
      ตอบ :  ก็ไม่แน่ ถ้ามันยังอยากอยู่ เพราะว่าถ้าหากตัวอยากยังมีอยู่มันก็ต้องติดอยู่กับตัวอยากนั่นก่อน ถ้าหากว่าเราอยากจะไปแล้วเราลืมความอยากได้มันก็โอเค ตัวนี้จะเป็นตัวที่ทำได้ยากนิดหนึ่ง มันเป็นตัวอุเบกขาในอารมณ์เขาเรียกว่า สังขารุเปกขาญาณ คือ การปล่อยวางในสังขาร คือ ความยึดถือปรุงแต่งทั้งปวงลงได้ ถ้าปล่อยตรงจุดนี้ลงได้อะไรก็เป็นของเราไม่ต้องขวนขวายมันก็มีเองไม่ต้องดิ้นรนมันก็มาเอง แต่ถ้าเรายังไม่ถึงตรงสังขารุเปกขาญาณนี่ยังลำบากอยู่ สังขารุเปกขาญาณแต่ละระดับมันไม่เท่ากัน พระโสดาบันแค่นี้ พระสกิทาคามีแค่นี้ พระอนาคามีแค่นี้ พระอรหันต์แค่นั้น ไม่เท่ากัน มีทุกระดับแต่กำลังสูงไม่เท่ากัน
      ถาม :  แล้วอามณ์เราสบาย ๆ ใช่สังขารุเปกขาญาณหรือเปล่า ?
      ตอบ :  ดูสิว่ามันเบาสบายเพราะอะไร มันเบาสบายเพราะเราปล่อยวางได้มันก็เป็นสังขารุเปกขาญาณ แต่ว่ามันเบาสบายเพราะเราไม่ยอมรับรู้อะไรบางทีมันก็เป็นอรูปฌาน
      ถาม :  แล้วเบาสบายแบบไม่รับรู้อะไรนี่มันเป็นยังไง มันเหมือนทื่อ ๆ อย่างนี้หรือเปล่า ?
      ตอบ :  ถ้าเปรียบแล้วเป็นอย่างนั้นจริง ๆ แต่คราวนี้อธิบายยากเพราะมันเป็นอารมณ์ละเอียดข้างใน อารมณ์ละเอียดข้างในถ้าเราทำไม่ถึงเราเปรียบเทียบไปยังไงก็ไม่ตรงกับความเป็นจริง อารมณ์ภายในพูดเป็นคำพูดได้ยาก เขียนเป็นตัวหนังสือได้ยาก เพราะว่าตัวหนังสือกับคำพูดหยาบเกินไป หยาบเกินไปจนอธิบายไม่ได้ เราพูดยังไงก็เป็นแค่ผิว ๆ เท่านั้น เนื้อหาที่แท้จริงต้องทำให้ถึงเวลาแล้วจะรู้เอง