ช่วงแรกของเล่ม "จารชนในสายฝน"
สนทนากับพระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เดือนมกราคม ๒๕๔๖(ต่อ)
ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ
ถาม: หลวงพ่อครับ อาหารที่ห้ามใส่สุรา ข้าวหมากนี่มีสุรา ?
ตอบ: ข้าวหมาก ถ้าหากว่าไม่ถึงขนาดเป็นแอลกอฮอล์มากก็กินไปเถอะ
ถาม : ตอนนั้นไม่รู้ เคยเอาไปเถวายพระ ไม่รู้ท่านกินหรือเปล่า ?
ตอบ: พระฉันได้ หลวงพ่อท่านบอก ข้าวหมากฉันได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะฉันเอามัน ประเภทฟาดคนเดียวเป็น ๑๐ ห่อ นั่นก็แย่เหมือนกัน แต่สำหรับอาตมาแล้ว ถึงหลวงพ่อท่านบอกว่าฉันได้ แต่ไม่เคยแตะเลย เพราะรังเกียจกลิ่นของมัน กลิ่นมันไม่ถูกใจ กลิ่นมันก็คือ เหล้าดี ๆ นี่เอง ในเมื่อรังเกียจกลิ่นของมัน ก็เลยไม่แตะมันซะเลยหมดเรื่อง
สู้ตานรินทร์กลึงไม่ได้ รู้จักนรินทร์กลึงมั้ย ? ไอ้คนขวางโลก เขามีชีวิอยู่ราว ๆ ช่วงสมัยรัชกาลที่ ๓ ตานรินทร์กลึงนี่ เขาเห็นว่า พระวินัยอนุญาตว่า ถ้าหากว่าไม่มีรส ไม่มีกลิ่น ภิกษุฉันได้ ไม่รู้มันหมักเหล้าอีท่านไหน ไม่มีรส ไม่มีกลิ่นจริง ๆ เหมือนกับน้ำเปล่า แต่กินเข้าไปนี่ ร่วงเลย มันเล่นเอาพระวัดประยูรวงศ์ เมาร่วงไปกว่า ๓๐ รูป ก็ไม่รู้นี่ เขาคิดว่าถวายน้ำ ก็ซดกันไป กลิ่นก็ไม่มี สีก็ไม่มี ไปรู้อีกที ต่างคนต่างคลาน ผมเป็นอะไรวะ ! (หัวเราะ)
นรินทร์กลึงนี่เขาบวช ลูกสาวเป็นภิกษุณี ๒ รูป แล้วก็โดนทางการจับสึก มันเกิดเร็วไปหน่อย ถ้าเกิดช้าหน่อยอย่างสมัยนี้ ก็ถือว่าต่างคนต่างอยู่ สมัยนี้เขาบวชภิกษุณีหลายรูปแล้วนี่ เกิดเร็วไปหน่อย คนเรียกว่า คนขวางโลก
ถาม : พระสมณโคดมพุทธเจ้าเป็นคนไทย ? ตรัสรู้ปรินิพพานที่ประเทศไทย ?
ตอบ: ถ้าหากว่า ใช้คำว่าเป็นคนไทย ใช่ ! เพราะว่าอันนี้ในอรรถกถาที่บอกว่า หมอชีวกโกมารภัจจ์ ท่านมาเที่ยวสุวรรณภูมิ แล้วก็กลับไปทูลเล่าให้พระพุทธเจ้าฟังว่า ชาวสุวรรณภูมิเป็นผู้ที่มีความอ่อนน้อมอ่อนโยน ใช้ภาษาพูดที่เป็นคำโดด ฟังดูเข้าใจง่าย พระพุทธเจ้าท่านก็เลยถามว่า ใช้ภาษาพูดอย่างนี้ใช่มั้ย ? แล้วก็ตรัสเป็นภาษาสุวรรณภูมิให้ฟัง หมอชีวกโกมารภัจจ์ ก็บอกว่า ใช่ พระพุทธเจ้าทรงใช้ปฏิสัมภิทาญาณถึงได้ทราบภาษานี้หรือ ? พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ไม่ใช่ กบิลพัสดุ์ใช้ภาษานี้เป็นปกติอยู่แล้ว
เพราะฉะนั้น ถ้าบอกว่า พระพุทธเจ้าเป็นคนไทยก็ได้ ส่วนที่ว่า ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานที่ประเทศไทย อันนี้ไม่ใช่ เพราะว่า ประเทศไทยตอนนั้น เป็นเขตหนึ่งของชมพูทวีป ถ้าเรียกต้องเรียกว่า ปัจจันตชนบท เขตที่เป็นประเทศไทยจริง ๆ ตอนนั้นก็จะมี สุนาปรันตะปะ คือ เพชรบุรี ตักกสิลา คือ กำแพงเพชร เหล่านี้เป็นต้น
เขตที่พระพุทธเจ้าท่านประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ถ้าหากว่านับแล้วว่าเป็นประเทศไทยก็ได้ แต่ว่าประเทศไทยจะเป็น ปัจจันตประเทศ ส่วนกลางเรียก มัธยมประเทศ ดังนั้น ไม่ว่าเป็นจุดที่ท่านประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ถ้าในปัจจุบันต้องบอกว่าเป็นอินเดียกับเนปาล อันนี้ใช่
ส่วนอันนี้ก็ถือว่าใช้ไม่ได้ เพราะปัจจุบันนี้ กาสีนี่จะอยู่ในพม่า อมรปุระ เวสาลี อยู่ในพม่า โกสัมพีนี่จะกินแดนอยู่ในเขตพม่าด้วย
ถาม : ไม่ใช่ที่กำแพงเพชร ?
ตอบ: ไม่ใช่ โกสัมพี นี่จะกินแดนของเขตพม่า กำแพงเพชรนี่จะมีเขตของตักกสิลา
ถาม : ก็แสดงว่า กุสินารา ที่พระแท่นดงรัง ที่กาญจนบุรี ?
ตอบ: ไม่ใช่ ๆ อันนั้นเป็นการสมมุติขึ้นมา ถือเป็นอนุสติอย่างหนึ่ง ที่บอกว่า พระพุทธเจ้าปรินิพพานที่พระแท่นดงรัง ไม่ใช่ สถานที่นั้น ครั้งแรกที่ไปไหว้ ยังเป็นป่าอยู่ ก็ไปถึงก็สงสัยว่า เป็นอะไร ? ท่านบอกว่าเป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าท่านเคยผ่านมา แล้วก็พักอยู่ที่นั่น พระแท่นนั้น เป็นที่บรรทม ไม่ใช่ที่ที่ท่านปรินิพพาน แต่ส่วนที่เขาบอกว่า มีเผาถวายพระเพลิง ไม่ใช่อันนี้ยืนยันว่าไม่ใช่
ส่วนอันนี้ เรื่องของการระลึกชาติ มันจะจริงหรือไม่จริง ไม่ต้องการให้มาติดอยู่ตรงจุดนี้ ที่ต้องการจริง ๆ ก็คือว่า แต่ละชาติเราเกิดมา เราทุกข์มั้ย ? ใหญ่ที่สุดเราเคยใหญ่แล้ว เล็กที่สุด เราเคยเล็กแล้ว รวยที่สุด เราเคยรวยแล้ว จนที่สุดเราเคยจนแล้ว แล้วถามว่า มาจนถึงปัจจุบันนี้ มันยังทุกข์อยู่หรือไม่ ? ถ้าหากว่ามันยังทุกข์อยู่ เราเกิดอีกมันก็จะทุกข์อีก ถามตัวเราเองดีกว่าว่า จะเกิดมาอีกมั้ย ?
ถาม : ตอนแรกผมก็ตั้งใจว่า จะอธิษฐานลาให้ขาด ก็เหมือนจะลาไม่ขาดซะที ก็เลยสงสัยว่า เรามีหน้าที่อะไร ที่เรายังต้องทำ คือยังไงก็ต้องทำลาไม่ขาดแน่
ตอบ: ถ้าหากว่าเป็นตัวจุดนี้ ก็แสดงว่างานของเรายังมีอยู่ ถ้าหากว่างานของเรามีอยู่ก็จริง แต่ว่าเราจำเป็นต้องศึกษาเรื่องทุกข์ เรื่องนิพพาน ให้ละเอียดลึกซึ้งยิ่งกว่าผู้ใด เพราะว่าถ้างานในลักษณะนั้น มันงานเพื่อไปเป็นครูเขา งานของการเป็นครูเขา ถ้าเรารู้ไม่ละเอียด เราเป็นครูเขาไม่ได้ คนอื่นขึ้นบันไดมาที่นี่ มันแค่รู้ว่าบันไดมีกี่ขั้นนั้น เก่งมากแล้ว แต่คนที่จะเป็นครูเขานี่ นอกจากรู้ว่าบันไดมีกี่ขั้นแล้ว ยังต้องรู้ว่ากว้างเท่าไหร่ ยาวเท่าไหร่ ใช้วัสดุอะไรสร้างมันขึ้นมาด้วยวิธีใด
เพราะฉะนั้นเราต้องรู้ละเอียดกว่าเขาหลายเท่า ดังนั้นเรื่องของการศึกษา เรื่องทุกข์ในอริยสัจก็ดี เรื่องของพระนิพพานก็ดี เราต้องศึกษาให้ละเอียดกว่าคนอื่นอีก เป็นจำนวนมากด้วยกัน อันนี้ก็ขอแนะนำไว้ลักษณะอย่างนี้แล้วกัน ส่วนแต่ละชาติเป็นอันว่าเป็นที่รู้กันก็พอ
เรื่องลานี่ ต้องกล่าวถึงเพื่อนรุ่นน้องผมคนหนึ่ง ตอนนั้นบวชอยู่วัดท่าซุงด้วยกัน ชื่อ นันทชัย อาตมาเห็นปั๊บก็รู้เลยว่าพระโพธิสัตว์ เพราะพวกเดียวกัน ดูกันออก วันนั้นได้ไปทำวัตถุมงคลอยู่ด้วยกัน ตรวจสอบวัตถุมงคลหลวงพ่ออยู่ด้วยกัน ก็คุยกันสารพัดเรื่องในระหว่างที่ทำงาน พอถึงตอนหนึ่งก็บอกกับท่านว่า ผมทราบว่าคุณเป็นพระโพธิสัตว์ ผมเองน่ะลาแล้ว คุณจะลามั้ย ? คุณนันทชัยเขาบอกว่า มันเหมือนกับผมทำงานชิ้นหนึ่งมา จวนจะเสร็จแล้ว อยู่ ๆ ให้ทิ้งไปเฉย ๆ โดยงานนั้นมันไม่เสร็จลง ใจมันไม่ยอมครับ อาการที่ว่ามานี้ ก็คงเหมือนกับของคุณ ก็เลยเหมือนว่าลาไม่ขาดซะที มันมาถึงขนาดนี้แล้ว ถ้าหากว่าเป็นไปได้ ก็มุ่งหน้าต่อไปเถอะ เพื่อประโยชน์ของคนหมู่มากเขา
ถาม : ไปพบเอกสารที่ เขียนบอกว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านแสดงไว้ ไม่ทราบว่าข้อความนี้เป็นจริงหรือเปล่าเจ้าคะ ? คนบางคน ให้ทานด้วยตนเอง แต่ไม่ชักชวนผู้อื่น ไม่ว่าจะเกิดภพชาติใด จะได้แต่โภคทรัพย์ ไม่ได้บริวารทรัพย์ คนบางคน ไม่ให้ทานด้วยตนเอง แต่ชักชวนผู้อื่น ไม่ว่าเกิดภพชาติใด จะไม่ได้โภคทรัพย์ แต่จะได้บริวารทรัพย์ คนบางคน ไม่ให้ทานด้วยตนเอง และไม่ชักชวนผู้อื่น ไม่ว่าเกิดภพชาติใด ไม่ได้ทั้งโภคทรัพย์ และบริวารทรัพย์
ตอบ: ถ้าอันนี้ใช่จ้ะ ท่านบอกเอาไว้ว่า ใครทำบุญถ้าไม่ชวนคนอื่นเขา เกิดชาติใหม่ รวยแต่เพื่อนไม่มี ใครชวนคนอื่นทำบุญแต่ตัวเองไม่ทำ เกิดชีวิตใหม่ เพื่อนมากแต่สตางค์ไม่มี ดังนั้นถ้าหากว่า ใครทั้งไม่ทำบุญด้วย ไม่ชวนคนอื่นทำด้วย เกิดชาติใหม่นอกจากไม่รวยแล้ว ยังหาเพื่อนพึ่งพาไม่ได้
ดังนั้นเราเองก็ควรจะทำบุญเองด้วย และชักชวนคนอื่นเขาทำด้วย ถ้าเผลอเกิดใหม่ จะได้มีเยอะหน่อย แต่ที่ท่านใช้คำว่า เกิดชาติใดหมายถึงว่า เขาไม่ทำอะไรอีกเลยนะ นอกจากแค่นั้น ถ้าหากว่ามีการเปลี่ยนแปลงในชาติต่อ ๆ ไป เขาก็จะมีการเปลี่ยนแปลงไปอีกทีจ้ะ
ถาม : บางครั้งเราไปทำบุญแล้วชวนคนอื่น แต่พวกเขาไม่อยากจะทำ เราก็เลยไม่กล้าชวน ไม่ทราบว่าจะมีเทคนิคในการชวนอย่างไรคะ ให้เขามาทำบุญกับเรา ?
ตอบ: ไม่ต้องเทคนิคหรอกจ้ะ เพราะว่าบุคคลถ้าหากว่ายังอยู่ในบารมีต้นขั้นหยาบอยู่ ชวนให้ทำบุญ แคะยังไงก็แคะไม่ออกหรอก ถ้าเป็นบารมีต้นขั้นกลาง ประเภทควักเข้ามา ก็ยัดกลับคืนไป อย่างน้อย ต้องเป็นบารมีขั้นปลาย เขาถึงจะมีกำลังใจที่จะให้ทานได้ แต่รักษาศีลไม่เป็น คนจะรักษาศีลเป็น จะต้องเป็นอุปบารมี คือบารมีขั้นกลาง อุปบารมีขั้นต้น ให้ทานได้ บอกให้รักษาศีล บอกไม่มีอารมณ์จะรักษา อุปบารมีขั้นกลาง ให้ทานได้ รักษาศีลขาดบ้าง แหว่งบ้าง อุปบารมีขั้นปลาย ให้ทานได้ รักษาศีลได้ แต่บอกว่าเจริญภาวนา ก็ไม่เอา บุคคลที่จะเจริญภาวนาได้ ต้องเป็นปรมัตถบารมี ดังนั้นถ้าหากว่าจะทำ ถ้าได้พวกปรมัตถบารมีก็ง่ายจ้ะ ถ้าหากได้บารมีอื่นก็ลำบากหน่อย แคะเท่าไหร่ก็แคะไม่ออกหรอก
ดังนั้นถ้าหากว่า บอกเขาแล้วเขาไม่สนใจ ก็ไม่ต้องไปตื๊อเขาให้เสียเวลา เพราะว่าสิ่งที่เราทำ มันเป็นประโยชน์แก่เขา ถ้าเขาไม่เห็นประโยชน์อันนั้น ก็ช่วยไม่ได้
ธงเขียวนี่เป็นธงท่านปู่พระอินทร์นะจ๊ะ สมัยก่อนหลวงพ่อท่านทำเอาไว้ ท่านบอกว่าเอาไว้สำหรับกันคอมมิวนิสต์ คาถากำกับธงว่า สุ-ปะ-ติ ๓ คำ เท่านั้น สุปะติ แปลว่า ทำดีจ้ะ สมัยก่อนตอนคอมมิวนิสต์เฟื่องฟูน่ะ หลวงพ่อท่านทะงหลวงปู่พระอินทร์ขึ้นมา เพื่อป้องกันอันตรายเรื่องนี้ บอกว่าต่อให้เขายกทัพมา ถ้าเราเห็นว่าไม่ไหวจริง ๆ โบกธงไปทางไหน มันจะไปทางนั้น
ถาม : อย่างนี้ไล่พวกอันธพาล ได้มั้ยเจ้าคะ ?
ตอบ: อ๋อ อันธพาลมันแย่น้อยกว่าคอมมิวนิสต์ตั้งเยอะ คอมมิวนิสต์ยังไล่ได้ อันธพาลเรื่องเล็ก
สรุปว่า ถ้าหากว่าท่านที่ยังไม่ถึงอุปบารมี ไปเคี่ยวเข็ญให้เขาทำทาน เขาทำไม่เป็นหรอกจ้ะ
ถาม : หลวงพ่อครับ ทำทานด้วยแรง (ไม่ชัด)
ตอบ: ในเรื่องของการทำบุญ ส่วนใหญ่แล้ว อานิสงส์จะเป็นเรื่องของกามาวจรสวรรค์ ถ้าหากว่ามีวัตถุเป็นอามิสบูชา ก็จะอยู่ลักษณะที่ว่า เกิดมาชาติใหม่ก็จะร่ำรวยมาก ถ้าหากว่าอาศัยลงแรงอย่างเดียว เราทำอะไรไป เราอาจจะได้อย่างนั้น อย่างเช่น เอราวัณเทพบุตร เอราวัณเทพบุตรนี่ท่านเป็นช้าง เขาเอาท่านไปใช้แรงงานในลักษณะที่ว่า สร้างศาลาเพื่อสาธารณะ ท่านก็เลยได้ขึ้นไปเป็นเทพบุตรบนสวรรค์ นั่นก็ออกแต่แรงเหมือนกัน
ถาม : มีเพื่อนถามว่า เขาเป็นคนที่ใช้ของขลัง ของดีไม่เป็นเจ้าค่ะ ได้มาก็เก็บเอาไว้เฉย ๆ บุญบารมีของศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ จะเกิดพลังส่งเสริมช่วยปกป้องคุ้มครองได้มั้ยเจ้าคะ ถ้าไม่ได้อาราธนาใช้ค่ะ ?
ตอบ: ถ้าหากว่า ไม่ใช่เรื่องของกรรมใหญ่จริง ๆ ก็ได้ แต่อย่าลืมว่า วัตถุมงคลทุกอย่าง ถ้าทำถูกต้อง จะมีเทวดาหรือพรหมรักษา เทวดา พรหม ท่านยอมรับกฎของกรรมมากกว่าเราเยอะ เพราะฉะนั้น อะไรก็ตาม ถ้าหากว่าไม่ได้เรียกใช้ไหว้วาน บางทีท่านก็มองเฉย ๆ ก็มันไม่ได้เรียกให้ช่วย ก็ให้มันดิ้นเอง (หัวเราะ) ระวังจะเจอแบบนั้น แต่อาตมาเจอมาด้วยตัวเอง ผีมันโดดทับอก แล้วบีบคอแทบตาย เราก็เอ๊ะ! วัตถุมงคลใส่อยู่ในกระเป๋าอังสะเต็มอกเลย ทำไมมันนั่งทับเลยหว่า ? พอดิ้นหลุดออกมาได้ รุ่งขึ้นไปถามหลวงพ่อ หลวงพ่อถามว่า แกอาราธนาให้ช่วยหรือเปล่า ? บอกว่า ไม่เลยครับ ท่านบอกว่า สมน้ำหน้าเอ็ง (หัวเราะ)
ถาม : เคยฟังรายการวิทยุ เขาบอกว่า ผู้ที่ทำบุญทานโดยไม่มีการสร้างวิหารทาน ผู้ที่ทำบุญในลักษณะแค่ตักบาตร เมื่อตายไปจะไม่มีวิมาน ?
ตอบ: ไม่มีจ้ะ จะไปเป็นบริวารของเทวดาที่เขามีวิมานอยู่ หากว่ามีส่วนของวิหารทาน จะมากน้อยเพียงใดก็ตาม สร้างเอง ร่วมสร้าง มีอานิสงส์วิหารทานด้วยกันทั้งหมด อย่างเช่นว่า เขาสร้างโบสถ์ สร้างศาลา สร้างกระทั่งห้องน้ำ ห้องส้วม ก็ได้นะจ๊ะ ก็เป็นวิหารทาน แล้วแถมมีอานิสงส์พิเศษด้วย เพราะว่าเป็นที่ดับทุกข์ของชาวบ้านเขา ดังนั้น หากต้องการอานิสงส์วิหารทาน ก็เขาทำที่ไหนก็ร่วมกับเขาไป จะเล็กน้อยแค่ไหนก็ได้เหมือนกันจ้ะ
ถาม : แล้วการสร้างเมรุละเจ้าคะ ?
ตอบ: สร้างเมรุเป็นด้วยจ้ะ แล้วจะได้ตัวปัญญาด้วย เพราะว่าเป็นมรณานุสสติอยู่ ตัวปัญญาที่เห็น จะเป็นธรรมทานด้วย
ถาม : แล้วเขาก็บอกอีกว่า ผู้ที่ไปบอกบุญคนอื่น จะมีบริวารเป็นสมบัติ แล้วก็จะได้รับบุญก่อนคนอื่น แล้วผู้ที่ทำบุญตามจะมาเป็นบริวารจริงมั้ยเจ้าคะ ?
ตอบ: ก็ไม่แน่เหมือนกันจ้ะ ถ้าตัวเองดีแต่บอก แต่ตัวเองไม่ทำขึ้นมาไปเจอบริวารเก่งกว่า ก็ยุ่งเหมือนกัน ถ้าถามว่าจริงมั้ย ? มันจริงของเขา แต่ว่าขณะเดียวกัน เราไม่ได้เกิดชาติเดียวนี่ มันเกิดไปเรื่อย เราอาจจะเปลี่ยนการกระทำเมื่อไหร่ก็ได้ อันที่เขาว่ามาหมายถึงว่า หลังจากนั้นแล้ว เราไม่ได้ทำอะไรเลย ถ้าอย่างนั้นจะเป็นไปตามที่เขาบอก
ถาม : การทำบุญที่ถือว่า เป็นการทำบุญที่สมบูรณ์แบบครบถ้วน เป็นการทำบุญในลักษณะแบบไหนคะ ?
ตอบ: ก็คงต้องเอาบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ อย่างจ้ะ ถ้าเอาแบบสมบูรณ์แบบจริง ๆ บุญกิริยาวัตถุ การกระทำของเราที่เป็นบุญ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า มี ๑๐ อย่าง ด้วยกันนะจ๊ะ คือ
๑. ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการให้ทาน
๒. สีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล
๓. ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการภาวนา
๔. อปจายนมัย บุญสำเร็จด้วยการนอบน้อมถ่อมตนต่อคนอื่น คนอื่นเขาเห็น ก็เย็นตาเย็นใจ เกิดความรักใคร่เมตตา เราทำให้เกิดความเมตตาในใจคนอื่นเขา ตัวเราก็เลยมีส่วนในบุญนั้นด้วย
๕. เวยยาวัจจมัย บุญสำเร็จด้วยการช่วยเหลืองานบุญคนอื่นเขา
๖. ปัตติทานมัย บุญสำเร็จด้วยการอุทิศส่วนกุศลให้คนอื่นเขา
๗. ปัตตานุโมทนามัย บุญสำเร็จด้วยการยินดีในผลบุญที่คนอื่นเขากระทำ
๘. ธัมมัสสวนมัย บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม แล้วนำไปปฏิบัติ
๙. ธัมมเทสนามัย หลังจากที่ปฏิบัติได้แล้ว นำไปสอนเขาต่อก็เป็นบุญ
๑๐. ทิฏฐุชุกัมม์ เป็นตัวกำไรแท้ ๆ มีความเห็นเป็นสัมมาทิฐิ พระพุทธเจ้าสอนสิ่งใด เราจะทำสิ่งนั้น
ถ้าหากว่าจะเอาสมบูรณ์แบบ ก็เอาให้ครบทุกข้ออย่างที่ว่ามา ในแต่ละวันนี่ เราทำได้แล้ว อย่งน้อยก็ข้อใดข้อหนึ่ง
ถาม : ในเรื่องของศีล ถ้าเรารักษาศีล ๕ แล้วเราจะรู้อย่างไรว่า เรารักษาศีล ๕ ได้ครบหรือเปล่า ?
ตอบ: ก็ทวนทุกวันจ้ะ ทวนทุกวันอย่างหยาบ ๆ ก็คือ รักษาได้ด้วยตนเอง อย่างกลางก็คือ รักษาได้ด้วยตนเอง และไม่ยุให้คนอื่นเขาทำด้วย อย่างละเอียดก็คือ รักษาด้วยตนเองด้วย ไม่ยุคนอื่นทำด้วย เห็นคนอื่นทำก็ไม่ยินดีด้วย
ถาม : เคยมีปรากฎการณ์ของความฝัน จะได้เห็นเหตุการณ์จริงล่วงหน้าก่อน เป็นระยะ ๆ ความฝันในลักษณะนี้ เกิดขึ้นได้อย่างไรคะ ?
ตอบ: เกิดขึ้นจาก ที่เราเคยได้ทิพยจักษุญาณมาในชาติก่อน เมื่อถึงวาระถึงเวลา สภาพจิตที่มันพักผ่อน พอดีพอเหมาะพอควรของมันแล้ว มันก็จะสามารถที่จะรับภาพต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นอดีต ปัจจุบันหรืออนาคตก็ตาม ภาพต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เนื่องจากทิพยจักษุญาณ มันอ่อนหน่อย มันจะอยู่สภาพเหมือนกับฝันเห็น โบราณเรียกว่านิมิต ฉะนั้นคนที่ฝันในลักษณะนี้ อย่างน้อยอดีตต้องเคยทำทิพยจักษุญาณ มาคล่องตัวทีเดียวแหละ
ถาม : แล้วมีการฝันต่อ ?
ตอบ: มีจ้ะ อาตมาก็เคยฝันต่อ แล้วเป็นฝันที่จี้มากด้วย ตอนนั้นห้างไดมารูราชประสงค์ยังมีอยู่ ฝันว่าไปเจอสาวคนหนึ่งตรงนั้น แล้วคุยกันถูกคอมากเลย เพราะว่าคุยกันเรื่องปฏิบัติเหมือนกัน
แล้วหลังจากนั้น อีกตั้งหลายเดือน ไปเจอเขาใหม่ มันก็เหมือนกับว่า เราเพิ่งไปเจอเขา แต่จำเรื่องเก่าได้ มีการท้าวความหลังกัน แล้วคุยต่ออีกต่างหาก ลักษณะนี้นิมิตแน่ ๆ เลยไม่ใช่ฝัน
ถาม : แล้วความฝันที่เราจะรู้ว่า อันนี้เป็นความฝันที่แท้จริง กับเป็นความฝันที่หลอก
ตอบ: หลอกและแท้จริงนี่ไม่ได้คือว่าฝันมี ๔ อย่าง คือ ธาตุวิปริต กรรมนิมิต จิตนิวรณ์ เทพสังหรณ์ นะจ๊ะ ธาตุวิปริตนี่ประเภท กินมาก ท้องไส้ไม่ดี ก็เลยฝันมั่วไปด้วย กรรมนิมิต กรรมดีกรรมชั่ว ที่เราทำมาแสดงให้รู้ จิตนิวรณ์ เก็บความฟุ้งซ่านตอนกลางวัน ไปฝันตอนกลางคืน เทพสังหรณ์ เทวดาท่านสงเคราะห์ให้
แล้วคราวนี้ฝันจริง ๆ ของเราที่ว่า ส่วนใหญ่จะเป็นกรรมนิมิต หรือเทพสังหรณ์ ดังนั้น ฝันจริงหรือฝันหลอก ให้สังเกตให้ได้ว่า ถ้าหากว่าหลังเที่ยงคืนไปแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นพวกกรรมนิมิต หรือเทพสังหรณ์ เพราะจิตของเราที่ฟุ้งซ่านมาทั้งวัน ผ่านการพักผ่อนมาครึ่งค่อนคืน มันเกิดความสงบขึ้น เหมือนกับน้ำขุ่น พอมันนิ่งพอที่จะใสขึ้น จนกระทั่งมองเห็นเงาได้ มันก็เริ่มสะท้อนภาพให้เห็น ดังนั้น ถ้าหากว่าฝันหลังเที่ยงคืนไปแล้ว หรือหลังตีสองไปแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นตามนั้นจ้ะ
ถาม : ขอทราบเทคนิคการรักษาอารมณ์ไม่ให้โกรธ ไม่ให้ตกใจง่าย เสียใจง่าย สามารถรักษาสภาวะจิตให้คงสภาพ และปล่อยวางได้ตลอดเวลา
ตอบ: ไม่ต้องเทคนิคเลยจ้ะ อย่าหลุดจากลมหายใจเข้าออกก็พอ ที่ว่ามาทั้งหมดเข้าไม่ได้เลย และสภาพของจิตก็จะทรงตัวด้วย
ถาม : ทำสมาธิอยู่ รักษาจิตอยู่ตลอด
ตอบ: ใช่ เท่ากับว่าเราทรงฌานอยู่ตลอด ไม่ต้องมากหรอกจ้ะ แค่ปฐมฌานก็ได้ อาการมันจะรู้ลมอยู่ตลอดเป็นอัตโนมัติ ถ้าหากว่าลักษณะนั้นเราสามารถสังเกตได้เลยว่า พวกนิวรณ์ต่าง ๆ เข้ามาไม่ได้ นิวรณ์ก็ไม่มีอะไร ก็รัก โลภ โกรธ หลง ๔ อย่าง ใช่มั้ย ? แถมขี้เกียจอีกต่างหาก
เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าเราทรงฌาน โดยที่จับลมหายใจเข้าออกอยู่เป็นปกติ จิตมันไม่เคลื่อนไปไหน พวกนี้จะแทรกเข้ามายาก เพราะจิตมันมีงานทำอยู่แล้ว มีที่เกาะ ที่ยึดอยู่แล้ว
ถาม : แล้วถ้าเราใช้ในลักษณะพิจารณาร่างกาย มรณานุสติเป็นอารมณ์ล่ะเจ้าคะ ?
ตอบ: ได้จ้ะ แต่ว่าการพิจารณาก็ควรจะอาศัยกำลังของฌานป้องกันตัวก่อน ลักษณะการใช้กำลังของฌานป้องกันตัวไว้ก่อน ก็คือว่า เราควรจะภาวนาให้อารมณ์ใจทรงตัว เมื่อภาวนากำลังใจทรงตัวแล้ว ค่อยถอยกำลังเอามาพิจารณา มันจะหนักแน่นมากกว่า จะทำให้กิเลสแทรกได้ยาก ถ้าเราตั้งหน้าตั้งตาพิจารณาเลย บางทีพวกอารมณ์นิวรณ์ต่าง ๆ แทรกเข้ามา ทำให้เสียผลเหมือนกัน ดังนั้นถ้าหากว่า เราเคยภาวนาอารมณ์ใจสูงสุดได้แค่ไหน ว่าให้มันเต็มที่ไปก่อน แล้วค่อยถอยใจเอามาพิจารณา มันจะป้องกันได้ดีกว่าจ้ะ
ถาม : เมื่อคืนนั่งสมาธิ ตอนนั่งอยู่ก็ เอาวะ! ตายเป็นตาย หลวงพ่ออยู่ข้างหน้า เปิดเทปวีซีดีของหลวงพ่อไปด้วย พอเริ่มเคลิ้มเข้าอารมณ์ปั๊บ มาตกข้างตัวตึง ๆ มันหายไปเลยครับ เออว่ะ! กลัวตายจริง ๆ แค่รู้สึกว่ามาแล้ว ตกอยู่ข้าง ๆ ตัว ซึ่งตอนนั้นก็ทรงอารมณ์นะครับ แต่มันวูบ แบบหนาวทันทีเลยว่า เฮ้ย! ผีมาแล้ว (หัวเราะ) มันสู้ไม่ไหวซักที
ตอบ: ไม่เป็นไร เดี๋ยวคราวหน้าค่อยเอาใหม่ แบบเดียวกับเณรน้อย ไปธุดงค์กับหลวงตา เจอกระทิงก็วิ่งกระจายทั้งหลวงตาทั้งเณรนั่นแหละ พอวิ่งไปเสร็จเรียบร้อยแล้ว พอพ้นอันตรายก็หอบแฮ่ก ๆ เณรก็ต่อว่า หลวงตา! ไหนเรามอบกายถวายชีวิตแล้วไงล่ะ ? หลวงตาบอก กูมอบกายถวายชีวิตให้พระพุทธเจ้า ไม่ได้มอบให้กระทิงนี่หว่า (หัวเราะ)
ถาม : ทำไมร่างกายของเรา มีการเจ็บป่วยแบบไร้สาเหตุเจ้าคะ ? อย่างวันนี้บอกน้องเอมว่า จะไม่มาเจ้าค่ะ จะมีอาการไข้ขึ้นทันที แล้วก็หูอื้อตาลาย ขณะเดียวกันก็เจ็บหน้าอก แล้วก็เริ่มอาการแย่ลงเรื่อย ๆ เจ้าค่ะ แล้วก็บอกน้องเอมว่า มาแล้วจ้า (ไม่ชัด) อาการหายทันที เป็นปลิดทิ้งเลยเจ้าค่ะ ยาก็ไม่ต้องทานเจ้าค่ะ
ตอบ: สงสัยนี่ยังดีนะ เป็นยายเจี๊ยบ ถ้าเป็นคนอื่น มันต้องโทษอาตมาแน่เลย (หัวเราะ) จริง ๆ แล้วสาเหตุมันมีนะจ้ะ คือ การมาของเราอาจจะเป็นประโยชน์ต่อคนหมู่มากเขา ก็เลยโดนบังคังให้มา เพราะฉะนั้นจะบอกว่าสาเหตุไม่มีก็ไม่ได้ มันมีอยู่ มันเหมือนกับว่า งานของเราแล้วเราไม่ทำนะ จะหนีงานก็ต้องโดนซะหน่อย
ถาม : ทำไมถึงถูกบังคับได้เจ้าคะ ?
ตอบ: อย่าลืม หน้าที่ของแต่ละคนเป็นอย่างไร เทวดาที่รักษาตัวเราก็ดี เทวดาที่รับรองการเกิดของเราก็ดี ท่านต้องคอยควบคุมให้ เมื่อถึงวาระถึงเวลา ประเภทวัวไม่เดินตามทางที่สัญญา ก็ต้องเฆี่ยนกันหน่อย
ถาม : อย่างนี้ก็แย่ซิเจ้าคะ ?
ตอบ: ก็อีตอนรับปาก มันว่าแย่เท่าไหร่ก็ยอมไม่ใช่หรือ (หัวเราะ)
ถาม : ยังไม่เกิดเจ้าค่ะ ไม่คิดว่ามันจะทุกข์ขนาดนี้เจ้าค่ะ
ตอบ: ช่วยไม่ได้ มาแล้ว
ถาม : ยังมีอีกเจ้าค่ะ โดนอีกเจ้าค่ะ มีคนป่วยค่ะ อาการเขาก็ย่ำแย่ แล้วพอเขานึกถึงเรา อาการเขาก็มาอยู่ที่เราด้วยเจ้าค่ะ มันมาได้ยังไงเจ้าคะ ?
ตอบ: อ๋อ นั่นเครื่องรับของเราดีเกินไปนะจ้ะ จริง ๆ ก็คืออยู่ในลักษณะที่ว่า เขาต้องการให้เรารู้ว่า อาการนี้เป็นอย่างไร คำว่า เขา นี่ไม่ใช่คนป่วยนะ ท่านที่ดูแลรักษาเราอยู่ ต้องการให้รู้ว่าอาการเป็นอย่างไร ถึงเวลาเราจะได้แก้ไขตามสมมุติฐานของโรคได้ ถ้าหากเราไม่รู้อาการ เราจะไปรักษาได้อย่างไรล่ะ เขายึดเราเป็นที่พึ่งแล้วนี่ บอกมันว่า ถ้าโดนสิบล้อเหยียบ เอ็งอย่านึกถึงข้านะ (หัวเราะ)
ถาม : เดี๋ยวเจ้าค่ะ มีวิญญาณถูกรถสิบล้อทับมาเจ้าค่ะ มาหาจริง ๆ เจ้าค่ะ (หัวเราะ) อาการร่อแร่ ๆ มา หน้าก็ไม่เหมือนเดิมนะเจ้าคะ มาจริง ๆ เจ้าค่ะ
ตอบ: เราไม่เละขนาดเขาหรอกจ้ะ แต่จะได้ความรู้สึกนั้น แค่นั้นเอง
ถาม : แล้วป้องกันอย่างไรคะ ?
ตอบ: ไม่ต้องกันจ้ะ ทำหน้าที่ของเราต่อไปจ้ะ
ถาม : ตอนนี้ก็สอบเข้าเรียนแพทย์แผนไทยได้แล้วค่ะ กำลังจะเริ่มเรียนค่ะ
ตอบ: จ้า เขาเรียก Bom To Be ยังไงก็ต้องโดนบังคับ ให้เป็นอย่างนั้น ทำไปเถอะ หน้าที่ใครหน้าที่มันจ้ะ
ถาม : กลัวเจ้าค่ะ ว่าเราไปช่วยรักษาเขา แล้วกรรมจะเข้าเรามั้ยเจ้าคะ ?
ตอบ: ถ้าหากว่าเป็นงานของเราถึงวาระถึงเวลาที่สมควร อย่างเช่นว่า ปีละครั้งอย่างนี้ เรามีการบวงสรวงบูชาครูเป็นปกติ ครูบาอาจารย์ พรหม เทวดา ตลอดถึงพระ ท่านจะช่วยรักษาให้ แต่ถ้าหากว่าปีไหนขาด ระวังไว้ ทำเมื่อไหร่มันจะเข้าตัวเรา ดังนั้น ควรจะทำทุกปีจ้ะ โดยเฉพาะสายกรรมฐานอย่างของเรานี่ หลวงพ่อ หลวงปู่ ท่านใช้วันเสาร์ ๕ คือวันเสาร์ขึ้น ๕ ค่ำ เดือนไหนก็ได้ เป็นวันบูชาครู ไหว้ครู ถ้าวันเสาร์ ๕ ติดภารกิจไม่ว่างจริง ๆ ให้ใช้วันวิสาขบูชาของปีนั้น ถ้าหากว่า ทั้งเสาร์ ๕ และวิสาขบูชาไม่ว่าง ให้ใช้วันมาฆบูชา วันใดวันหนึ่งในสามวนนี้ เอาเป็นวันบูชาครูประจำปีของเรา
ถาม : จะต้องมีพิธีอย่างไรบ้างคะ ?
ตอบ: จัดเครื่องบวงสรวงชุดใหญ่จ้ะ ก็จะมีบายศรีต้น บายศรีสี่ทิศ หัวหมู ไก่ ว่ากันให้ครบชุดเลย พอถึงเวลาจะทำมาถามรายละเอียดได้
ถาม : แล้วทำร่วม ๆ กันหลายคนได้มั้ยคะ ?
ตอบ: ได้จ้ะ ยิ่งเยอะ ยิ่งดี
|