ถาม:  ทำไมโลกนี้ไม่มีศาสนาเดียว ?
      ตอบ:   เพราะว่าความเชื่อของเคนต่างกัน พอมีคนประกาศจุดยืนขึ้นมาใครคล้อยตามอันไหน ก็ไปข้างนั้น แค่นี้เองจ้ะ
      ถาม :  ลูกมีมานะเยอะ
      ตอบ:   ไม่เป็นไรจ้ะ ปล่อยเขา เราช่วยแค่ที่ช่วยได้ ถือว่าทำหน้าที่ของแม่แล้ว ที่เหลือก็แล้วแต่เขา
      ถาม :  ผีเข้าเพื่อนจะช่วยได้อย่างไร ?
      ตอบ:   ถ้าเขาไม่ศรัทธา หรือไม่อาราธนาให้ช่วย บางทีก็ช่วยอะไรไม่ได้
      ถาม :  (ไม่ชัด)
      ตอบ:   จริง ๆ เขาไม่ได้เข้าจ้ะ เขาใช้อำนาจจิตบังคับอยู่ภายนอก เพียงแต่ว่าส่วนใหญ่จะใช้คำว่า “ผีเข้า” ฟังง่ายดี
      ถาม :  เป็นไปได้หรือ ?
      ตอบ:   เป็นไปได้ เยอะด้วย แต่ว่าคน ๆ นั้นต้องมีกรรมอันเนื่องกันมา ถึงวาระถึงเวลาที่เขาจะเล่นงานคน ๆ นั้นได้ ก็คือจังหวะของกุศลกรรมขาดลง อกุศลกรรมเข้ามาพอดี หมายความว่าความดีขาดช่วย ช่วงความชั่วที่เคยทำเข้ามา ก็เลยโดนเขาเล่นงานได้ง่าย
      ถาม :  วิญญาณที่มาเล่นงานไม่บาปหรือ ?
      ตอบ:   จริง ๆ ถ้าหากว่ามีกรรมเนื่องกันมา เป็นสิทธิของเขาจ้ะ ส่วนจะบาปหรือไม่บาป เขาไว้คิดกันทีหลัง ขอให้ได้เฉ่งไว้ก่อน
      ถาม :  ถ้าทำบุญให้เขา ?
      ตอบ:   ก็ถ้าหากว่าเป็นวาระของเขาก็ต้องใช้ความพยายามหน่อยจ้ะ เพราะว่าเขาไม่ค่อยที่จะยอมอะไรง่าย ๆ ต้องตกลงกันหลายยกเลยหรือไม่ ก็ต้องทำบุญให้เขาบ่อย ๆ จนกว่าเขาจะใจอ่อน
      ถาม :  ปลวกขึ้นบ้าน
      ตอบ:   ปลวกขึ้นบ้านไม่อยากฆ่ามัน มีเชลล์ไดร์ฟไหม มันขึ้นเป็นจอมใหญ่หรือเป็นสาย ถ้าหากว่าเป็นสาย เวลากลางวันเราเขี่ยมันออก เพราะปลวกจะหากินกลางคืน พอใกล้สว่างมันจะกลับรู เรารื้อทางเดินของมันออก เสร็จแล้วก็ฉีดยากันไว้ ฉีดพวกเชลล์ไดร์ฟใส่ไว้ได้ มันจะไม่ขึ้นไปอีก แต่ถ้าหากว่าเป็นจอมปลวกใหญ่ ๆ เลยนะ ก็อย่าไปทำลายรังมัน ให้เป็นจอมอยู่อย่างนั้น แต่เราเอาราด ราดใส่มัน มีแบบราด มันจะย้ายหนีไปเอง
              มันบาป แต่ว่าคุณรื้อตอนกลางวันนั่น มันยังไม่มีตัว ไอ้ทางเดินนั่นน่ะ เสร็จแล้วฉีดยาใส่ไป แล้วตอนที่ราดใส่รังนั่นน่ะ พอกลิ่นลงไปมันก็อพยพหนี
      ถาม :  เรื่องพระธุดงค์
      ตอบ:   พระที่ธุดงค์ไม่มีอะไรเป็นที่พึ่ง นอกจากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พอกลัวขึ้นมาก็จะยึดที่พึ่งจริง ๆ ถ้าไม่กลัวเมื่อไรก็ไปเรื่อย อาตมาเคยธุดงค์ ไปสถานที่หนึ่ง เป็นป่าดงดิบลึกมาก พวกสัตว์ยังมีมาก เคยไปโดนพวกควายปละ คือ ควายที่หลุดจากชาวบ้านกลายเป็นควายป่าไป มันล้อมอยู่ทั้งฝูงเลย นึกเอาแล้วกัน ป่ามันใหญ่แค่ไหน
              คราวนี้อยู่ในนั้นเป็นอาทิตย์ จิตตรงเปรี๊ยะ ไม่ต้องภาวนา เพราะมันกลัวว่าจะต้องตาย อันตรายเยอะ พอวันที่ออกมาเดินเรื่อย ๆ จนในที่สุดจำภูมิประเทศได้ว่า จากตรงนี้อีกประมาณ ๑ ชั่วโมง เราจะถึงบ้านคน พอรู้สึกว่าใกล้บ้านคน ความรู้สึกว่าอันตรายก็ลดน้อยลง ใจมันคลายออกมาเอง ตอนนั้นสาย ๆ ซักประมาณ ๙-๑๐ โมง แดดสายเริ่มจัดก็ส่องลอดยอดไม้ลงมาได้ ในป่าดงดิบก็มีหลุดมาได้ไม่เท่าไร ก็เป็นเส้น ๆ เป็นลำออกมาแล้ว ไอหมอกมันพันกันอยู่ มันดูสวย ใจไหลตาม กลายเป็นนึกถึงเนื้อเพลง “ดวงตะวันลับทิวเมฆไม้ ใจพี่ก็หาย หายลับไปกับตะวัน” เลิกภาวนาไปเลย แล้วก็ไม่รู้ใครเมตตา ถีบตูมให้กระเด็นลงน้ำไปทั้งตัว โอ้โห แล้วฤดูหนาว เปียกตั้งแต่หัวถึงเท้า สั่นแหง็ก ๆ ไปตลอดทางเลย สมน้ำหน้า นั่นแหละ พอไม่มีที่ให้กลัว มันเริ่มรู้ว่าใกล้บ้านคน เออ...ปลอดภัย ใจหลุดออกจากภาวนาเอง เสร็จแล้วมันก็ไหลไปเป็นเพลง โดนไปเต็ม ๆ เปียกม่อล่อม่อแลก
      ถาม :  (ไม่ชัด)
      ตอบ:   ไม่ทราบเหมือนกัน เพราะว่าไปไหนก็ขอบารมีครูบาอาจารย์ เทวดาพรหมท่านช่วยอยู่ คราวนี้ตอนเผลอน่ะสิ ท่านก็เลยเมตตาช่วยส่งให้ไปเร็วหน่อย กำลังเดินลงเนินพอดี ทางเดินในป่าส่วนใหญ่ เราจะเดินไปกับลำห้วยลำธาร มันเดินง่ายเพราะว่าในป่าจริง ๆ มันทึบแหวกไม่ไป
              คราวนี้กำลังเดินลงเนินอยู่ ใครยันมือกางเท้ากางร่อนลงไปในแอ่งน้ำข้างล่างพอดี เปียกไม่มีเหลือ เปียกหมดทุกชิ้นที่มีเลย เผลอจ้ะ คือว่าช่วงนั้น มันแน่นเกินไปก็ว่าได้ เพราะว่า ๗-๘ วัน มันทรงเปรี๊ยะไม่กระดิกเลย ไอ้ผีก็คอยจะหลอกจะแกล้ง พวกสัตว์ต่าง ๆ บางทีมันหากินห่างนิดเดียว ใจต้องคอยระวัง ก็คอยแผ่เมตตาคอยภาวนา มันทรงตัวของมันเอง ไม่ต้องขยับเลย พอทรงตัวนาน ๆ มันก็คงเหนื่อยมั่ง ถึงเวลารู้สึกตัวปลอดภัย แหม มันหลุดพรืด คลายของมันโดยอัตโนมัติ ภาวนาก็ไม่ต้องภาวนา หลุดออกมาก็ไม่ต้องตั้งท่า มันหลุดของมันเอง
      ถาม :  (ไม่ชัด)
      ตอบ:   จำเอาไว้ว่าคนเราสำคัญตรงจิตแรกที่ยึด แม่ตั้งใจทำบุญปีใหม่ ตอนที่กำลังทำบุญใจเกาะบุญอยู่ ถึงหลังจากนั้นช่วงหนึ่งตีว่าครี่งวัน-วันหนึ่งก็ตาม ใจเขาจะฟุ้งซ่านเรื่องอื่น แต่ถ้าเสียชีวิตตรงนั้น จิตแรกที่เกาะบุญอยู่จะส่งผลให้ก่อน เพราะฉะนั้นเขาจะสบายไปเลย ไม่ต้องเสียเวลาไปกังวลหรอก แบบเดียวกับที่หลวงพ่อเคยสอนพวกเราว่า แต่ละวันตื่นนอนให้ตั้งใจว่า มันจะตายด้วยอุบัติเหตุอะไรก็ดี เราขอไปพระนิพพาน แล้วท่านบอกว่าวันนั้นทั้งวันจะฟุ้งซ่านเรื่องอะไรก็ตาม แต่จิตแรกมันมีสภาพจำ เราตั้งใจไว้อย่างนั้น มันเหมือนกับเราเซตคอมพิวเตอร์ไว้ หรือไม่ก็ซื้อตั๋วรถนั่งรออยู่ ถึงเวลารถมันไปของมันเอง จริง ๆ ต้องถือว่าโชคดีปีใหม่ แม่ไปสบาย แต่คราวนี้สายตาของพระมองคนละอย่างกับชาวโลก สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นความทุกข์ของชาวโลก ถ้าสายตาของพระจริง ๆ จะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะว่ามันสอนใจให้รู้ว่าโลกนี้ทุกข์จริง ๆ ร่างกายนี้ทุกข์จริง ๆ เราทุ่มเทเงินกี่หมื่นกี่พันล้าน ก็ไม่สามารถที่จะซื้อพระนิพพานได้ แต่ถ้าเราเห็นทุกข์แล้ว เราเบื่อมัน เราต้องการไปนิพพาน เราไปได้
              เพราะฉะนั้นความทุกข์ทุกอย่างมีคุณค่ามหาศาล เพียงแต่เรามองมันให้เป็นรึเปล่า ? เท่านั้นเอง แล้วเราก็จะไปเก็บมันเอาไว้ จริง ๆ ทุกข์เก็บไม่ได้ เรากำหนดรู้ แล้วก็ปล่อยให้มันเป็นธรรมดาของมันอยู่อย่างนั้น อย่าเก็บมันมาใส่ใจ ถ้าใส่ใจเราแบกทุกข์หาบทุกข์อยู่ มันจะหนัก เขาให้กำหนดรู้เฉย ๆ รู้แล้ววาง รู้เท่าทันมันว่าเราไม่ต้องการเกิดมาทุกข์อย่างนี้อีก รู้เท่าทันมันว่าโลกที่เต็มไปด้วยความทุกข์เช่นนี้ เราไม่ปรารถนามันอีก ไปนิพพานดีกว่า จำไว้นะ รู้แล้ววาง อย่าไปรู้แล้วแบก ไม่เป็นไรจ้ะ เดี๋ยวแบกเหนื่อย ๆ เข้าก็เลิกไปเอง
      ถาม :  ศาสนาเสื่อม ?
      ตอบ:   เหตุผลก็ต่าง ๆ กัน แต่ว่าเหตุที่ศาสนาไม่สามารถจะดำรงอยู่ได้นานนั้น เกิดจากภายในทั้งสิ้น ไม่มีภายนอก ภายในคือ บริษัท ๔ ได้แก่ ภิกษุ พระสงฆ์ทั้งหมด ภิกษุณี ก็คือพระสงฆ์ที่เป็นหญิงทั้งหมด อุบาสก คือผู้ชายที่ปวารณาคนเข้าถึงพระรัตนตรัย อุบาสิกา คือผู้หญิงที่ปวารณาตนเข้าถึงพระรัตนตรัย ทั้ง ๔ เหล่านี้ไม่สามัคคีกัน ไม่ช่วยเหลือกัน รักษาและจรรโลงพระศาสนาก็จะเสื่อมหมด สาเหตุเกิดจากภายในทั้งนั้น ภายนอกใครตีเท่าไรก็ไม่มีผล เพราะว่าพุทธศาสนาเป็นของแท้พิสูจน์ได้ ก็เลยสำคัญอยู่ที่พวกเราเอง
      ถาม :  ถ้าเผื่อบริษัท ๔ ไม่สามัคคี โอกาสที่พุทธศาสนาจะไม่ถึง ๕,๐๐๐ ปี?
      ตอบ:   จริง ๆ แล้วมันต้องลากถูไปจนถึง เพราะว่าคนดีก็มีอยู่ สิ่งที่พระพุทธเจ้าทำนายถูกต้องแน่นอนไม่มีพลาด เพียงแต่ท้าย ๆ ของศาสนาในอันตรธานปริวรรตของปฐมสมโพธิถกาจะกล่าวถึง การเสื่อมสูญหมดสิ้นทั้ง ๔ อย่าง อันประกอบด้วย ปริยัติอันตรธาน ปฏิเวธอันตรธาน ปริยัติอันตรธาน คือการศึกษาเล่าเรียนธรรมะไม่มี ปริเวธอันตรธาน ก็คือผลของการศึกษา เล่าเรียนก็พลอยไม่มีไปด้วย ลิงคอันตรธาน เพศของภิกษุก็เสื่อมไป ธาตุอันตรธาน พระบรมสารีริกธาตุก็สูญสิ้นไป
              ท่านกล่าวเอาไว้ว่า ถึงวาระปลายศาสนาอย่างนั้น มันจะเกิดเป็นมิคสัญญี คำว่า มิคสัญญี คือ สำคัญว่าเป็นเนื้อเป็นปลา เจอหน้าฆ่ากันแหลกเลย ถึงวาระนั้นถึงเวลานั้นก็บอกว่าพระอินทร์จะปลอมเป็นชายแก่ เอารถเข็ญทองคำเท่าลูกฟัก ไปเที่ยวประกาศว่าใครรู้ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้พระสูตรใดพระสูตรหนึ่งให้ท่องบ่นมาให้ฟัง จะมอบทองคำนี้ให้ ก็ไม่มีใครรู้ ประกาศว่าใครรู้แม้แต่หัวข้อใดหัวข้อหนึ่ง กล่าวมา จะมอบทองคำนั้นให้ก็ไม่รู้ จนกระทั่งรู้ว่าแม้แต่คำหนึ่งบอกให้ก็ไม่รู้ ถ้าอย่างนั้นแล้วจึงถือว่าศาสนาเสื่อมสิ้นลง พอถึงวาระถึงเวลาอย่างนั้น ท่านจะปล่อยให้ไฟบรรลัยกัลป์ล้างโลก
      ถาม :  ศาสนาของพระพุทธเจ้าบางพระองค์ไม่ได้รวบรวมพระไตรปิฎกไว้ ?
      ตอบ:   ก็จริง ๆ เขาใช้มุขปาฐะ คือจำจดบอกเล่ากันปากต่อปากมาเรื่อย ๆ อย่าลืมว่าคนสมัยก่อนปัญญาดีกว่าเรามาก เอาแค่พุทธกาล อย่างพระอานนท์ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ท่านท่องได้หมด จำได้หมด บอกได้หมด รู้ด้วยตั้งแต่ต้นยันปลาย เทศน์ที่ไหน เทศน์กับใคร เมื่อไร เนื้อหาว่าอย่างไร บอกได้ทุกคำ ระยะแรก ๆ ก็จะเป็นมุขปาฐะสืบทอดกันมาเรื่อย ๆ เหมือนกัน เสร็จแล้วพอมาหลังพุทธปรินิพพาน จึงมีการสังคายนาพระไตรปิฎก เพราะว่าถ้าไม่รวบรวมไว้เป็นหลักฐาน เดี๋ยวเขาจะคัดค้านคำสอนว่าไม่ทราบว่าออกจากพระโอษฐ์พระพุทธเจ้าจริงหรือเปล่า
              เพราะเกิดจากพระสุภัททะวุฒบรรพชิตที่ท่านกล่าวจาบจ้วงพระพุทธเจ้า พระมหากัสสปเห็นว่าอันตรายจะเกิดกับธรรมวินัยถึงได้รวบรวมขึ้นมาไว้ พูดง่าย ๆ ก็คือถ้ามีเป็นหลักฐาน อย่างปัจจุบันนี้ ฝรั่งเอะอะก็ต้องมีเอกสารยืนยัน คราวนี้เอกสารยืนยันนี้มัน ๒,๐๐๐ กว่าปี มันก็พยายามที่จะมายืนยันว่า อันนี้เป็นการแต่งเติมขึ้นมา อันนี้สรรเสริญคุณพระพุทธเจ้าเกินจริง ก็ว่าของมันไปไปเรื่อย
              ศาสนาของพระพุทธเจ้านามว่า ปทุมมุตระ ศาสนาของท่านอายุ ๓๐,๐๐๐ กัป ไม่ใช่ ๓๐,๐๐๐ ปีโปรดทราบ อายุพระศาสนา ๓๐,๐๐๐ กัป อายุของคนประมาณ ๘๐,๐๐๐ หรือ ๑๐๐,๐๐๐ ปี แสดงว่ากำลังของท่านตั้งใจจะกวาดให้ไม่เหลือ
      ถาม :  (ไม่ชัด)
      ตอบ:   อันนี้จริง ๆ บางทีก็ขึ้นอยู่กับสิ่งที่ท่านสร้างมา แล้วก็บริษัทบริวารทั้งหมดของท่านที่จะต้องสงเคราะห์ คราวนี้ถ้าบริษัทบริวารที่ท่านจะสงเคราะห์เพื่อเข้าถึงมรรคผลถ้ามันยังมาไม่หมด อายุของศาสนาก็ต้องยาวหน่อย เพื่อที่จะรอ
      ถาม :  (ไม่ชัด)
      ตอบ:   จ้ะ ถ้าอยากมันจะไม่ผ่าน อาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกายให้กำหนดรู้ไว้ว่ามันเกิด อย่าไปสนใจมัน ถ้ามันมีลมหายใจอยู่ ให้สนใจอยู่กับลมหายใจ ถ้ามันมีคำภาวนาอยู่ ให้สนใจคำภาวนา ถ้าทำลักษณะนี้ จะก้าวผ่านไปได้ แต่ถ้าเราไปสนใจมัน ดิ้นรนอยากพ้นจากมัน อยากให้มันมา อะไรก็ตาม มันจะก้าวพ้นไม่ได้
      ถาม :  เหมือนมีพลังบางอย่าง
      ตอบ:   ขณะที่เราภาวนา กำลังสมาธิพอมันทรงตัว มันจะสะสมเป็นพลังงาน คราวนี้ถ้าหากว่าพลังงานนี้ไม่ได้ใช้ออก บางทีมันก็กระทบกระทั่งเรารู้สึกได้ว่าตอนนี้ของมันกำลังเต็มที่ กำลังมีอยู่ เขาให้ใช้กำลังนั้นในการพิจารณาตัดกิเลส คือพยายามดูว่าร่างกายของเราให้มันไม่เที่ยง ให้มันเป็นทุกข์ ให้มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราให้ได้ หรือไม่ก็ดูทุกข์ สาเหตุของการเกิดทุกข์ รู้สาเหตุแล้วก็ดับเหตุนั้นเสีย ทุกข์ก็จะดับ หรือไม่ก็ดูว่ามันเกิดดับอยู่เสมอ มันเป็นทุกข์เป็นภัย มันเป็นของน่ากลัว มันเป็นของน่าเบื่อหน่าย มันควรจะไปเสียให้พ้น พอเราหันมาคิดพิจารณาอย่างนี้ กำลังของมันก็จะใช้ไปตามนั้น แล้วถึงเวลาพอพิจารณาไปจนเต็มที่แล้ว มันจะกลับมาภาวนาโดยอัตโนมัติ เพื่อเพราะสร้างกำลังนั้นใหม่ เราก็จับตัวภาวนาใหม่ พอภาวนาไปจนตันเต็มที่ไปไม่เป็น เหมือนกับอัดอั้นตีบตันไปไม่ถูก เราก็ถอยออกมาพิจารณาใหม่ มันต้องสลับไปสลับมาถึงจะก้าวหน้า ไม่อย่างนั้นทำเมื่อไรก็จะติดแหง็กอยู่แค่นี้
      ถาม :  คิดพิจารณาว่าตอนนี้ทำอะไรอยู่
      ตอบ:   จ้ะ ให้รู้ว่าทุกอย่างไม่เที่ยง ให้รู้ว่าทุกอย่างเป็นทุกข์ โดยเฉพาะร่างกายเราเป็นทุกข์ โลกนี้เป็นทุกข์ เสร็จแล้วอยากจะพ้นทุกข์นี้ไหม ? อยากจะไปให้พ้นโลกนี้ไหม ? พยายามดูให้เห็นว่าร่างกายเป็นแค่เครื่องอาศัยเท่านั้นไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา
              ย้ำแล้วย้ำอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีก จนกระทั่งมันไม่เถียงเรา พอบอกว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา มันไม่เถียงเลยถึงจะใช้ได้ แต่ถึงใช้ได้แล้วยังต้องทำบ่อย ๆ เพื่อความอยู่สุขของเรา พิจารณาไปเรื่อย ย้ำแล้วย้ำอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีก ห้ามเบื่อ
      ถาม :  ไม่ได้หลับ แต่ผงกหัวหลับ ?
      ตอบ:   อันนั้นจริง ๆ สติมันขาดจ้ะ สติมันขาด มันหยาบไปหน่อยก็เลยตามลมหายใจเข้าออกไม่ได้ พอถึงเวลามันเผลอมันก็โงก แล้วถึงเวลาพอเรามีสติรู้ตัว ก็มาคว้าลมหายใจใหม่ พยายามทำบ่อย ๆ เดี๋ยวมันละเอียดขึ้นมันก็จะไม่เป็น
      ถาม :  นั่งแล้วรู้ตัวกะทันหัน ?
      ตอบ:   อาการนั้นแหละที่บอกว่ามันหยาบไปหน่อย มันตามลมไม่ทัน พอมันตามลมไม่ทัน ถึงเวลามันก็เหมือนกับตัดหลับไปเฉย ๆ แต่จริง ๆ มันไม่หลับ มันมารู้ตัวบางทีก็ตอนวูบ ตกใจก็ลืมตาขึ้นมาคว้าลมหายใจเข้า-ออกใหม่
      ถาม :  นั่งแล้วเหมือนจะลอยออกไป แต่เราเรียกกลับ ?
      ตอบ:   จริง ๆ ถ้าหากว่าในอดีตเราเคยสร้างพวกฤทธิ์พวกอภิญญาอยู่ ถ้ากำลังมันพอ จะหลุดออกไปเลย นั่นคือกายในที่แท้จริงของเรา เราก็แค่กำหนดให้มันไปกราบพระพุทธเจ้า ให้มันไปพระนิพพาน ให้ไปรับรู้อะไรพวกนั้นต่าง ๆ ได้จ้ะ แต่ว่าบังเอิญกลัว ก็เลยดึงมันกลับ
      ถาม :  นั่นคือ...?
      ตอบ:   ลักษณะของจิตที่มันจะออก ออกไปแบบที่ถอดภายในไป ที่เรียกว่ามโนมยิทธิ
      ถาม :  เขาชวนทำบุญ ควรปฏิบัติตนอย่างไร
      ตอบ:   ถ้ามีพร้อมที่จะทำได้ ทำไปเลย ถ้าไม่มีพร้อมที่จะทำหรือว่าทำแล้วตัวเราลำบาก ก็ปฏิเสธไป ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำเป็นบุญเป็นกุศลทั้งนั้น นี่หมายถึงว่าสิ่งที่เขาชวนไปทำ มันเป็นบุญเป็นกุศลทั้งนั้น คราวนี้ถ้าเราทำแล้ว เราต้องมีตัวอุเบกขาตามหลังไปด้วย คือทำไปแล้วอย่าไปเสียเวลา อย่าไปสงสัย ให้รู้อยู่อย่างเดียวว่าเราทำ เราได้แล้ว อันดับแรกที่ได้คือ ได้สละออก เป็นการตัดความโลภ อันดับที่สองเป็นการสร้างเสริมทานบารมีของเราให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น เพื่อการเข้าสู่พระนิพพานของเรา ส่วนที่เหลือไปทำอะไร ไปทำที่ไหน ถ้าหากว่าเราไม่มีความมั่นใจ หรือว่าอะไรก็ตาม ให้ถือว่าเมื่อมีผู้ต้องการ เราสามารถสละออกได้ เราพอใจแล้ว เอาแค่นั้นพอ ถ้าไม่อย่างนั้น เราจะกลุ้มเอง
              เพราะถ้าขาดตัวอุเบกขาบารมี ไปคอยคิดอยู่เสมอ ๆ บางทีบุญมากมันจะกลายเป็นบุญน้อย ที่บุญมากหลายเป็นบุญน้อย ก็คือว่ามัวแต่ไปห่วงไปกังวลอยู่ พอไปห่วงไปกังวลจิตมันหมองแล้ว เอาเป็นว่าถ้าสละออกได้ ได้สละออกแล้ว ก็เอาให้จบแค่นั้น
      ถาม :  ควรจะห่วงเขาหรือตัวเรา ?
      ตอบ:   จิรง ๆ ที่น่าห่วงที่สุด คือตัวเรา เพราะถ้าตัวเราไม่รอด เราก็ช่วยใครไม่ได้ แต่ขณะเดียวกันว่าถ้าเราเอาตัวของเราไม่รอด เราเองแย่แน่ ๆ ส่วนตัวของเขาเอง เขาอาจจะรอดก็ได้
      ถาม :  เพราะฉะนั้นก็ทำไป
      ตอบ:   ทำไป เหมือนกับอย่างกับว่า รู้ว่าเขาต้องการเราก็ให้ เอาแค่นั้น เห็นคนมันลำบาก ประเภทมาถึงแบมือมา เราก็ส่งให้ไปเลย ไม่ต้องไปสนใจ มันจะเอาไปกินเหล้า มันจะหลอกลวงเรา มันจะมาต้มตุ๋นเรา ไม่ต้องไปสนใจ รู้ว่าเราได้สละออกก็พอ
      ถาม :  (ไม่ชัด)
      ตอบ:   ก็ดูว่าเรื่องของการปฏิบัติ มันต้องโลกไม่ช้ำ ธรรมไม่เสีย แต่ขณะเดียวกัน ถ้าไปถึงจุด ๆ หนึ่งแล้ว สิ่งที่เราทำถ้ามันเป็นบุญกุศลแท้แน่นอน เรารู้ว่าทำอันนี้ดีต่อตัวเราและคนรอบข้างแล้ว ต่อให้มันเสียสักคนสองคนก็ต้องยอมสละ
              อย่างเช่นว่า ถ้าหากว่าเราปฏิบัติในส่วนของศีล ๘ ศีล ๘ นี่เรียกว่าที่นินทาของชาวบ้านดีนักแล อาตมาสมัยก่อนไปนั่งมองเขากินไม่พอต้องควักกระเป๋าจ่ายให้เขาด้วย ถ้าเรารู้ว่าเราทำแล้ว ตัวนี้หลักการปฏิบัติจะก้าวหน้าขึ้น ถ้าการปฏิบัติของเราก้าวหน้าขึ้น เราสามารถช่วยคนได้อีกมาก หรือว่าเป็นพื้นฐานสำคัญของการเตรียมบวชของเรา เราทำแล้วดีแน่ แต่พ่อแม่หรือเพื่อนฝูงบอกว่าอย่าไปทำมันเลย อะไรอย่างนั้น ประเภทที่เรียกว่าเอ็งจะบ้าไปทำไมวะ ? อยู่คนเดียว ถ้าอย่างนั้นไม่ต้องไปฟังหรอก เราทำของเราไปเหอะ เคยโดนเขาว่าบ้ามั้ย ? ถ้ายังไม่เคย ยังใช้ไม่ได้นะ นักปฏิบัติต้องให้คนสรรเสริญว่าบ้าได้ ถึงจะพอเอาตัวรอด
      ถาม :  วัดท่าซุงปิดกี่โมง ?
      ตอบ:   ถ้าเป็นสมัยหลวงพ่อปิด ๖ โมงเย็น ถ้าหากว่าจะไปไหว้พระไม่เกิน ๔ โมงหรอก แวะเข้าไปก็ได้ ไม่ทันก็กราบข้างนอก แบบอาตมาคุกเข่ากราบกลางลานนั้นเลย ไม่เห็นมีปัญหาเลย ก็เราจะกราบ
      ถาม :  สังฆทานไม่เกี่ยวกับอานิสงส์
      ตอบ:   ไม่ได้เกี่ยวกันเลย มันเต็มที่กำลังใจ คือกำลังใจพร้อมสละออกอยู่ตลอดเวลา แม้แต่ชีวิตถ้าเขาจะเอา เราก็ให้ได้ มันเป็นเรื่องของบารมีคือ กำลังใจล้วน ๆ อานิสงส์ก็คือสิ่งที่เราทำแล้วมันตอบแทนมาให้ ถึงต้องการหรือไม่ต้องการมันก็ให้ แต่จะว่าไม่เกี่ยวเลยก็ไม่ได้ เพราะว่าอานิสงส์นี่แหละที่ทำให้เราเข้มแข็งขึ้นไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงขนาดที่ปล่อยวางได้แม้แต่ชีวิตตัวเอง
              การปล่อยวางไม่ยึดมั่นถือมั่น นั่นเลยการสร้างบารมี ถ้าหากว่าเราไปปล้ำ ๑๐ ตัวน่ะ มันเหนื่อย จริง ๆ แล้วทำตัวใดตัวหนึ่งให้มันจริง ๆ อีก ๙ ตัวพลอยได้ไปด้วย สมมติว่าอย่างพวกเราชอบถวายสังฆทานจัดเป็นทานบารมี ถือว่าเราเริ่มด้วยทานบารมี คนจะทำทานบารมีได้ต้องมีความรู้ว่าทานบารมีนี้ดี เราจึงทำ ก็ต้องมีปัญญาบารมีใช่ไหม แล้วบุคคลที่ให้ทานคนอื่นได้ ต้องมีความเมตตา ความสงสารเขาจึงจะให้ได้ มันก็ต้องมีเมตตาบารมีด้วย ในเมื่อมีเมตตาบารมี
              ศีลบารมีจะคุมเป็นปกติอยู่แล้ว เพราะศีลเป็นการเบียดเบียนคนอื่น ในเมื่อเรารักเขาเมตตาเขามันก็เบียดเบียนเขาไม่ได้ การที่เราจะสร้างบารมีมันก็ต้องประกอบไปด้วยความเหนื่อยยาก อาจจะต้องแสวงหาทรัพย์สินมาด้วยความลำบาก ต้องใช้ความอดทน อดกลั้น ขันติบารมีเราก็มีอยู่ ตั้งหน้าตั้งตาจะทำบารมีให้เต็มจริง ๆ ความพากเพียรมันต้องมี วิริยบารมีของเราก็มี เราตั้งใจว่าเราจะต้องทำให้ได้ ไม่ถึงพระนิพพานไม่เลิก อันนี้ก็เป็นสัจจบารมี ตั้งใจว่าทำความดีของเราทั้งหมดเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา จิตเรามุ่งตรงต่อพระนิพพาน อันนี้เป็นอฐิษฐานบารมี เสร็จแล้วก็อย่างที่ว่านั่นแหละ พอถึงเวลาเรามีหน้าที่ทำ เรามีหน้าที่ให้ เราได้ทำแล้ว เราได้ให้แล้ว ส่วนเขาจะเอาไปทำอย่างไรเรื่องของเขา ไม่เกี่ยวกับเรา เป็นอุเบกขาบารมี
              ขณะเดียวกันในขณะที่เราสร้างบารมีเหล่านั้น เราเจตนาให้ เพื่อเป็นการละความโลภ ตัดความโลภจริง ๆ ไม่ได้คิดว่า เออ...ให้เขาแล้ว เขาต้องมารักเรา ชอบเรา ถ้าเป็นเพศตรงข้ามต้องมาเป็นผัวเราเมียเรา ตัวเนกขัมมบารมีมันก็มีอยู่ สรุปแล้วตัวเดียวได้ครบไหมล่ะ ? เพราะฉะนั้นคุณเริ่มตัวไหน อีก ๙ ตัวมันมาด้วย เพราะถ้ามันเต็มซักตัว ตัวอื่นก็เหมือนกัน
      ถาม :  จะอธิบายอย่างไรว่าการทำตามพระพุทธเจ้าจะมีผล ?
      ตอบ:   ก็...จริง ๆ ก็คืออธิบายของหลักการทำก็แล้วกันว่า หลักการทำบุญคือว่าอันดับแรก ถ้าเจตนาบริสุทธิ์ คือให้เพื่อเป็นการตัดความโลภ ละความโลภจริง ๆ ไม่ได้แอบแฝงว่าเราจะให้เพื่อให้คนอื่นชมเรา เราจะให้เพื่อให้เขาถ่ายรูปไปลงหนังสือพิมพ์ เพื่อให้เขาออกโทรทัศน์ เจตนาบริสุทธิ์
              อันดับที่สอง วัตถุทานบริสุทธิ์ ได้มาด้วยน้ำพักน้ำแรงของเราเอง ไม่ได้ลักขโมย หยิบฉวย ช่วงชิงหลอกลวงใครมา อันดับสาม ผู้ให้คือตัวเรามีศีลบริสุทธิ์ อันดับสี่ผู้รับคือพระสงฆ์หรือฆราวาสก็ตามมีความบริสุทธิ์ ถ้าหากว่าบริสุทธิ์โดย ๔ ส่วนนี้ อานิสงส์จะเต็ม ส่วนใดส่วนหนึ่งบกพร่องก็คือว่าบกพร่องไปตามส่วน
              บอกเขาว่าเหมือนอย่างกับเราจะผสมของชิ้นหนึ่ง ที่มันประกอบไปด้วยของ ๔ อย่างด้วยกัน ถ้าอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ผ่านการสกัดมาจนกระทั่งบริสุทธิ์เต็มที่ของมันของนั้นคุณภาพก็จะไม่ดี ถามเขาว่าหลักการอย่างนี้พอฟังได้ไหม ? จะได้เห็นง่ายหน่อย เพราะว่าตัวอย่างที่จะเอาชัด ๆ เลย อย่างทำบุญกับพระออกนิโรธสมาบัติรวยวันนั้นเลย โอกาสที่พวกเรากันเองจะทำมันยังยาก แล้วเขาจะไปหาที่ไหน ?
      ถาม :  ทำบุญ...ไม่คาดหวัง
      ตอบ:   จริง ๆ แล้วมันน่าจะดี เพราะว่าเป็นอัปมัญญา ลักษณะคล้าย ๆ กับสังฆทาน คือถ้าคนหมู่มาก ไม่ว่าคนใดคนหนึ่งก็ตาม ถ้ามีความต้องการเราพร้อมจะให้ แต่จริง ๆ แล้ว ถ้าเราเลือกคุณภาพหน่อยมันจะดี
              คราวนี้ตัวอย่างอย่างนี้มีในพระไตรปิฎกอยู่ แต่เรายกไปเขาก็ไม่รู้เรื่อง เหมือนกับว่าเขายกตัวอย่างในคัมภีร์ไบเบิลมา ถ้าเราไม่ศึกษา เราก็ไม่รู้เรื่องเหมือนกัน ดังนั้นถ้าเรายกตัวอย่างไปจะกลายเป็นเชียร์กันเอง ให้เขาสังเกตอย่างนี้สิ บอกเขาว่ามันมีการพิสูจน์ได้เหมือนกัน แต่คุณต้องเสียเวลาระยะหนึ่ง คือให้คน ๒ คน เป็นอาสาสมัครในการให้ทาน คนหนึ่งเราให้ทานกับผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มีทาน มีศีล มีภาวนาเป็นปกติ อีกคนหนึ่งเราให้ทานกับพวกลักเล็กขโมยน้อย เร่ร่อน จรจัด ขนาดไหนก็ตาม ให้มันไปเสร็จแล้วบอกว่าลองวัดผลดูว่า ในระยะ ๑ ปี สมมติว่า ๑ ปี แต่ละคนมีประสบการณ์อะไรดีหรือไม่ดี ให้เขาบันทึกเอาไว้ ถึงเวลาเอามาประเมินผลก็ได้ เพียงแต่ว่ามันต้องเสียเวลาเป็นระยะยาวหน่อย
      ถาม :  วัดแจกวัตถุมงคล ไม่ใช่...
      ตอบ:   ถ้าเขาว่าเด็กที่เพิ่งตั้งไข่ให้มันวิ่งเลยได้ไหม ? คุณพูดอย่างผู้ใหญ่ว่าของนั้นไม่สำคัญ เราไม่จำเป็นที่จะต้องไปนั่งเก้าอี้ ๓ ขา หรือเก้าอี้กลมมีล้อ เพื่อหัดยืนหัดถีบ เพราะว่าเราวิ่งได้แล้ว แต่ไอ้นั่นสำคัญที่สุด สำหรับเด็กที่เพิ่งหัดยืนหัดเดิน กำลังใจของคนแต่ละคนไม่เท่ากัน กำลังใจที่ต่ำต้องมีที่เกาะที่อาศัยก่อน เพื่อให้เป็นหลักยึดเหนี่ยวของจิตใจได้ จะได้สร้างกำลังใจตัวเองให้สูงขึ้น แต่ถ้าไปอยู่ในจุดที่เป็นพื้นฐานมั่นคงแล้ว เขาไม่ต้องอาศัยสิ่งยึดเหนี่ยว เขาก็ไปได้
              ดังนั้นถ้าหากว่าเขาพูดมาน่ะ...ใช่ แต่ว่ามันพูดถึงยอดเจดีย์ โน่น...ฉัตรอยู่บนยอดเจดีย์ เราจะเอาฉัตรแล้วไม่เอาตัวเจดีย์ ยอดเจดีย์ลอยอยู่ได้ไหม ? ทุกอย่างต้องมีการเริ่มต้น ต้องค่อยเป็นค่อยไป ระดับกำลังใจของแต่ละคนไม่เท่ากัน คุณจะเอาธรรมบริสุทธิ์โดยส่วนเดียว ทั่วประเทศไทยมีรับได้ไม่ถึง ๑,๐๐๐ คน
      ถาม :  หมายความว่า คนที่ทำระดับนี้...
      ตอบ:   มันอวดรู้มากไป ยังรู้ไม่จริง ถ้ารู้จริงจะไม่ตำหนิใคร เพราะว่าทุกระดับมีความสำคัญทั้งนั้น หลวงปู่ดู่ท่านบอกว่า คนดีเขาไม่ตีใคร เลือกพูดแต่ส่วนที่ดีของคนอื่นเขา เพราะท่านดีหมด ในเมื่อท่านดีหมด สิ่งทีท่านเห็น มันก็ดีทั้งหมด แต่ขณะเดียวกัน คนมองโลกในแง่ร้ายเห็นอะไร ก็คิดว่าไม่ดีไปหมด เชื่อเหอะ
              เคยอ่านเรื่องไผ่แดงของคึกฤทธิ์ไหมล่ะ ? น่าจะอ่านซักหน่อย ไผ่แดงของคึกฤทธิ์จะมีสมภารกร่างเป็นตัวเอก เป็นเจ้าอาวาสวัดไผ่ตัน มีคู่ปรับก็คือนายแกว่น นายแกว่นเป็นผู้มีอิทธิพล แล้วแกก็ปลุกระดมชาวบ้านว่า ศาสนาเป็นยาเสพติด ส่วนใหญ่เข้ไปพักหนึ่งก็ติดหนุบติดหนับเลย ศาสนาเป็นยาเสพติด ทำให้ประชาชนประเภทที่เรียกว่าขี้เกียจ เอะอะก็จะถือแต่สันโดษ ไม่มีความดีอะไรพอที่จะยึดถือ แล้วเสร็จแล้ววันนั้นได้ข่าวคอมมิวนิสต์จะบุก ชาวบ้านก็ไปหาสมภารกร่าง ไปขอผ้ายันต์ ไปขอพระ เพื่อเป็นเครื่องป้องกันตัว จะได้สู้กับคอมมิวนิสต์ พอมีกลุ่มคนโผล่พ้นชายทุ่งมา ตาแกว่นวิ่งพรวดพราดไปถึง สมภารขอผม ๑ องค์ นั้นแหละไอ้คนที่บอกว่า ศาสนาเป็นยาเสพติด ทุกสิ่งทุกอย่างทำให้ยึดติด มันเอาซะเอง กลัวตายขึ้นมา ขอมั่ง
              เราจะเอาธรรมะบริสุทธิ์โดยส่วนเดียว บุคคลที่รับได้มันน้อยเต็มที การสงเคราะห์คนก็ดูเบา คนที่ไม่ต้องการเลยก็มี ที่ไม่ต้องการเลย ถึงเวลาให้ไปแล้วส่งคืนมา จริง ๆ จะว่าดีหรือมันดีแค่นั้น การมั่นใจในตัวเองน่ะดี การสละออกน่ะดี แต่มันเหมือนกับเดินไปอยู่กลางดงที่เขาตีรันฟันแทงกัน ไม่มีเกราะป้องกันตัว ถึงเวลาส่งเกราะให้ ถอดคืน ผมไม่จำเป็นต้องใช้หรอกมีสิทธิ์เดี้ยงน่ะสิ
              แต่ขณะเดียวกันคนที่ฉลาด มีปัญญายังไงเขามีเอาไว้ อาราธนาเอาไว้ทุกวัน ถึงเวลามีอะไร ถ้ามันหนักก็เป็นเบา ถ้ามันเบาก็เป็นหาย อย่างน้อยบรรเทากฎของกรรมไปได้ช่วงหนึ่ง ก็เลือกเอาว่าเราจะเอาแบบไหน ? ไม่ประมาทให้ถึงพร้อมอย่างพระพุทธเจ้าท่านว่า หรือว่าจะประมาทด้วยความมั่นใจตัวเองเกินไปดี เท่าที่เจอมา ส่วนใหญ่คนประเภทนั้น ดีแต่ตำหนิคนอื่นเขา ตัวเองไม่ค่อยได้ทำหรอก ไปเที่ยวมองหาจุดอ่อนแล้วก็มาว่า บางอย่างรู้ไม่จริงก็ว่าไปเรื่อย