ถาม: กับแม่นี่ เกิดมาไม่ค่อยได้อยู่ด้วยกัน แล้วเขาก็แทบไม่เคยได้เลี้ยงดู เวลาอยู่ด้วยกันก็มีแต่เรื่องทุกครั้งเลย เราก็ไม่ได้อยากจะอยู่ใกล้เขา อย่างนี้จะทำอย่างไร ?
ตอบ: ถ้าหากอยู่ใกล้มีเรื่อง ก็ขยับไกลออกมาอีกหน่อย
ถาม : ถ้าไกลไปเขาก็จะไปต่อว่าลูกไม่ดี อย่างนี้จะทำอย่างไรดี ?
ตอบ: ปัจจุบันทำอย่างไร เอาแค่นั้นพอ เพราะว่าถ้าเราอยู่ใกล้ไปจะกลายเป็นว่าสร้างบาปให้กับตัวมากขึ้น กับมีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งกันตลอด ออกไกลมาหน่อย ถ้ามีอะไรที่ไม่เกินวิสัยที่จะช่วยเหลือสงเคราะห์ท่านได้ก็ช่วยไป ถ้าไม่ไหวก็ถอยออกมาใหม่ เข้า ๆ ออก ๆ อยู่อย่างนี้แหละ
ถาม : บางทีเราบ่นเรื่องแม่ให้เพื่อนฟัง บางครั้งเขาก็บ่นให้เราฟัง แต่ว่ามันเป็นเรื่องจริง เราไม่ได้ใส่ความแม่เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อันนี้บาปมั้ยคะ ?
ตอบ: มันจะบาปอย่างไร ? แค่เล่าสู่กันฟัง อย่าไปด่าแม่ให้เพื่อนฟังแล้วกัน ถ้าอย่างนี้บาปแน่ ๆ
ถาม : เริ่มแรกนี่เราหวังอย่างไร ถึงจะไม่โลภ ?
ตอบ: อย่าเอาเกินพันล้าน (หัวเราะ) ขออะไรถ้าได้มาโดยถูกต้องตามศีลธรรม เขาไม่ถือว่าโลภ เรียกว่า เป็นสัมมาอาชีวะ ไม่ใช่ประเภทลักขโมย หยิบฉวย ช่วงชิง ฉ้อโกง อันนั้นโลภแน่ เพราะฉะนั้นจะกี่หมื่นกี่แสนล้านก็เชิญตามสบาย
นางวิสาขาอุบาสิกา ท่านเป็นพระโสดาบันตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ เฉพาะที่เขาเรียกว่าพรหมไทย ของที่ปู่ให้วันแต่งงาน เกวียนขนเป็นพัน ๆ เล่มเลย อย่างละ ๕๐๐ เล่มเกวียน จะเรียกว่าโลภมั้ย ? พระโสดาบันด้วยนะ ได้เท่าไหร่เอาเท่านั้น
ถาม : แม่หนูเขาพอมีสตางค์ จะทำบุญเยอะ เขาบอกว่ามันจะเป็นไปได้อย่างไร เราทำน้อยจะได้มากได้อย่างไร ดูอย่างบิล เกตต์สิ เขาต้องทำมาเยอะ เขาถึงได้รวยขนาดนั้น
ตอบ: อันนั้นเข้าใจผิด ถ้าไปเจอพระที่ไม่ค่อยจะใช่พระ แล้วมันจะหมดเยอะ การทำบุญ ถ้าหากว่าเจตนาบริสุทธิ์ วัตถุทานได้มาโดยบริสุทธิ์ ผู้ให้คือตัวเองมีศีลบริสุทธิ์ ผู้รับเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ อย่างนั้นจะมีผลมหาศาลเลย โดยเฉพาะให้ในลักษณะของการถวายสังฆทาน วิหารทาน ธรรมทาน ยิ่งมีผลมากเข้าไปใหญ่ เพราะฉะนั้นถ้าหากทำเป็น ทำน้อย ก็ได้ผลมาก
ถาม : ตัวเองก็ต้องมีศีลบริสุทธิ์ด้วย ?
ตอบ: จ้ะ มันต้องประกอบด้วย ๔ ส่วนพร้อมกัน ไม่ใช่ว่าทำมาก ๆ แล้วจะได้มาก ถ้าวัตถุทานได้มาโดยไม่บริสุทธิ์ ฉ้อโกงเขามา ลักขโมยเขามา ช่วงชิงเขามา เจตนาไม่บริสุทธิ์ ไม่ได้คิดทำเพื่อเป็นการตัดความโลภ หรือว่าเพื่อสงเคราะห์คนอื่นเขา ตัวเองเป็นผู้ไม่มีศีลบริสุทธิ์ ขณะเดียวกันผู้รับไม่มีศีลด้วย ทำเยอะก็ได้ผลกะจึ๋งเดียว
อังกุรเทพบุตร ตั้งโรงทาน ๘๐ โรง เลี้ยงคนทั้งกลางวันกลางคืน ๒๐,๐๐๐ ปี ด้วยกัน ปรากฏว่าไปเป็นเทวดาที่มีอานุภาพน้อยที่สุดของดาวดึงส์ เพราะว่าโลกยุคนั้นว่างจากศาสนา คนไม่มีศีลไม่มีธรรมเลย
ถาม : เขาบอกว่าทำทานก็ต้องทำอย่างบิล เกตต์ ถึงจะรวยขนาดนี้
ตอบ: นี่ถ้าเขารู้ว่า เมณฑกเศรษฐีใส่บาตรตั้งหนึ่งทัพพี แล้วรวยขนาดนั้น คงช็อคไปแล้ว หรือไม่ก็ปิดทองด้วยแผ่นทองกว้างปีกริ้น ก็ทองคำเปลวอย่างนั้นนิดเดียวเอง เพียงแต่ว่าเจตนาท่านทำเป็นพุทธบูชา การใส่ไปถึงยอดสูงสุดผ่านหมดทุกอย่าง บอกเอาแค่พอจะเป็นไปได้เอามันสุด สุดยอดไปเลย (หัวเราะ)
จำไว้ว่าเรื่องของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ใช้คำว่าอัปมาโณ ประมาณไม่ได้ ในเมื่อประมาณไม่ได้นี่หวังอะไรก็ไม่เกินวิสัยทั้งนั้นแหละ เพียงแต่ว่าสิ่งที่เราทำมามันเพียงพอมั้ย ? เรื่องของศาสนาเรานี่พระพุทธเจ้าท่านบอกความจริงให้รู้ เป็นเรื่องของเหตุกับผล ถ้าเราสร้างเหตุไม่พอผลมันไม่เกิด เพราะฉะนั้นเราต้องทำเหตุไปเรื่อย ถ้าพอเมื่อไหร่ผลเกิดทันที
ถาม : ฟังเพื่อนบอกต้องทำใจให้สบาย ไม่ต้องคิดอะไร
ตอบ: ทำได้แหละดี แต่ทำแล้วตั้งเจตนาไว้ว่าเราทำแล้วต้องการอะไรว่าไปเลย เพราะต้องการไม่ต้องการผลนั้นเกิดแน่ เพราะฉะนั้นจำกัดไปเลยว่าให้เกิดอย่างไร ให้เกิดเมื่อไหร่จะดีกว่า เพราะว่าเป็นการประกันความเสี่ยงไว้ ไม่ใช่อยากจะกิน ตอนนี้อีก ๓ วันถึงจะมีกินก็หิวแย่
ถาม : คำว่า บันลือสีหนาท...?
ตอบ: กล้าพูด ชัดมั้ย ?
ถาม : อย่างหลวงตามหาบัว ?
ตอบ: ลักษณะคล้าย ๆ อย่างนั้น กล้าพูด ภาษาบาลีเขาใช้คำลักษณะอย่างนั้น เหมือนกับราชสีห์คำราม คืออยู่ในลักษณะกล้าพูด อย่างในสมัยพุทธกลางก็มี พระปิณโฑลภารทวาชะ เมื่อท่านบรรลุมรรคผลแล้วท่านประกาศอยู่เสมอว่า ใครสงสัยข้องใจข้อธรรมข้อไหนให้มาถามเรา พระที่เป็นปุถุชนไม่เข้าใจ ไปฟ้องพระพุทธเจ้าว่าท่านอวดอุตตริมนุสธรรม พระพุทธเจ้าท่านก็เลยต้องเล่าบุรพกรรม ให้ฟังว่าในอดีตท่านเคยเป็นราชสีห์มาก่อน แล้วท่านเฝ้าปรนนิบัติพระปัจเจกพุทะเจ้า ทำที่ให้พระปัจเจกพุทธเจ้าพักอยู่ในถ้ำของท่าน ก่อนจะออกไปหากินก็คำรามขู่ไว้ก่อนกันสัตว์อื่นจะมารบกวน พอมาชาตินี้ท่านก็ยังมีนิสัยเดิมมาก็คือกลายเป็นคนกล้าพูด กล้าทำ แบบนั้น เขาเลยใช้คำว่า บันลือสีหนาท ทำเหมือนยังกับราชสีห์คำราม กล้าพูด กล้าทำ
ถาม : มีกล่องมูลนิธิแล้วเราไปใส่ถือว่า ....?
ตอบ: เท่ากับเรามีส่วนร่วมในงานบุญนั้น ๆ
ถาม : แต่เราก็ไม่รู้ว่าคนรับมีศีล....?
ตอบ: อันนั้นเราต้องเจตนาของเราให้สูงสุดไปเลย เพราะมูลนิธิเป็นงานเพื่อส่วนรวมอยู่แล้ว ถ้าหากว่าเหมือนของพระ ก็ถือว่าเป็นสังฆทานไปเลย เพราะฉะนั้นลักษณะของทานไม่จำกัดเขตแบบนั้น ไม่ต้องไปสนใจว่าคนรับจะดีเท่าไหร่หรอก ผลมันมหาศาลอยู่แล้ว ถ้าเพื่อส่วนรวมทำไปเถอะ
ถาม : สมัยหลวงพ่อ มีที่เป็นฆราวาสหลายรายที่เป็นพระอรหันต์ ณ ขณะนั้นรู้ตัวมั้ยว่าจะต้องตาย ?
ตอบ: ถ้าหากว่าทั่วถึงจริง ๆ ส่วนใหญ่จะรู้ เพราะว่าญานคือเครื่องรู้จะเกิด ไม่ต้องถึงขนาดพระอรหันต์หรอก แค่พระโสดาบันก็รู้แล้ว ถ้าไม่ใช่พระพุทธเจ้าเสด็จมาพยากรณ์ ก็จะมีญานคือเครื่องรู้เกิดขึ้น แต่ว่าพระอริยเจ้าตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป ท่านเป็นผู้มีความไม่ประมาทเป็นปกติ เพราะฉะนั้นถึงท่านรู้ว่าตัวเองเป็นพระอริยเจ้าแล้วแต่ก็ตั้งหน้าตั้งตาทำต่อไปเรื่อย ไม่ใช่สุกขวิปัสโก แล้วถึงจะเป็น ต่อให้เป็นพระวิชชาสาม อภิญญาหก สมาบัติแปด อะไรก็ตาม ถ้าหากว่าการบรรลุมรรคผลจะมาพิจารณาในลักษณะสุกขวิปัสโกหมด เพียงแต่ว่าพระที่ท่านเป็นวิชชาสาม อภิญญาห้า สมาบัติแปด ท่านมีกำลังฌานเป็นเครื่องช่วย ช่วยได้เยอะมาก
ถาม : .........................................
ตอบ: ถ้าหากว่าเป็นพระอรหันต์ถ้าไม่บวชก็ตายภายในวันนั้นแหละ ถ้าเป็นตอนเช้า ก็ไม่เห็นตะวันตก ถ้าเป็นตอนกลางคืนก็ไม่ได้เห็นตะวันขึ้น
ถาม : แล้วตรงไหนจะเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าเราควรจะไปทางไหน เป็นฆราวาสก็ตายไปเลย หรือว่า.............?
ตอบ: ตอนนั้นตัวปัญญา หรือความเป็นทิพย์จะมีอยู่ อย่างคุณจันทนา วีระผล พอทำไปถึงระดับหนึ่งก็นั่งพิจารณาตัวเอง มีญาณคือเครื่องรู้บอกว่า ถ้ารักษากำลังใจไว้ระดับนี้จะอยู่ต่อไปได้อีก ๑๒ ปี แต่ถ้าหากว่าปล่อยยาว ก็จะตายภายในวันนี้เลย ตกลงท่านก็ทิ้งยาวไปเลย คือ ๑๒ ปีจะอยู่ต่อไปทำไม มันก็ลำบากอีก ๑๒ ปี
ถาม : อย่างนี้จัดเป็นกรณีพิเศษหรือเปล่า ?
ตอบ: ไม่เรียกว่ากรณีพิเศษ คือใครถ้าทำถึงตรงนี้ ก็ต้องเป็นอย่างนี้กันเกือบทั้งนั้น
ถาม : ถ้าเป็นพระอนาคามีแล้ว ถ้าจะก้าวเข้าสู่พระอรหันต์ ที่เหลือในสังโยชน์คือ รูปราคะ อรูปราคะ ตรงนี้เราอ่อน แค่เรายังไม่รู้ตัวว่าเราอ่อน หรือเราไม่ได้สนใจมัน แต่เราอาจจะไม่รู้ตัวว่าเราอ่อนหรือเปล่า ตรงนี้เราจะใช้อะไรพิจารณา
ตอบ: เขาจัดตัวสุดท้ายคือ อวิชชาไปเลย พยายามอย่าให้ใจยึดเกาะอะไรทั้งนั้น สิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่ายินดีกับมัน และอย่ายินร้ายกับมัน ประเภทเห็นชอบใจก็เสร็จแล้ว คือฉันทะ พอใจอยู่แล้ว ก็จะเกิดราคะ ยินดี อยากมี อยากได้ ก็เสร็จอยู่ตรงนั้นเองไม่ต้องไปไหนหรอก เพราะฉันทะ กับราคะ คืออวิชชา
ถาม : แล้วตัวอุทธัจจะ นี่จะกำจัดอย่างไร ?
ตอบ: ถ้าถึงระดับนั้น สบายมากอยู่แล้ว กำลังใจของผู้จะเป็นพระอริยเจ้าตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป อย่างน้อยต้องมีกำลังของปฐมฌานเป็นเครื่องค้ำ ถ้าเป็นพระอนาคามีต่ำสุดต้องมีฌาน ๔ ไม่อย่างนั้นจะกำจัดโทสะไม่ได้ กำจัดราคะไม่ได้ กำลังที่ทรงฌานได้ขนาดนั้น ตัวอุทธัจจะ ฟุ้งซ่านนี่ถ้าจับฌานอยู่มันไม่ไปไหนหรอก จะไปฟุ้งอะไรได้ เพียงแต่ว่า รูปราคะ อรูปราคะ คือการติดในรูปและสิ่งที่ไม่ใช่รูป ส่วนที่ละเอียดที่สุดก็คือ รูปฌาน อรูปฌาน ...(ไม่ชัด)... เพราะฉะนั้นยิ่งเป็นพุทธานุสสติยิ่งง่ายใหญ่เลย เพราะพระพุทธเจ้าไม่อยู่ที่ไหน นอกจากพระนิพพาน
ถาม : มันเป็นส่วนดีของเรามั้ย ไม่ค่อยได้สนใจ หรือเรียกว่าไม่เห็นพรหม เห็นเทวดา?
ตอบ: ยิ่งง่ายใหญ่ เพราะถ้าเห็นเดี๋ยวก็ไปติดแหง็กอยู่แค่นั้นเอง เกาะนิพพานอย่างเดียว ได้เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ถ้าสามารถเกาะได้ โดยที่ไม่ให้ความสนใจเรื่องของพรหมเทวดาไปเลย ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เรื่องของพรหม เทวดา เราเคารพท่านเป็นปกติ แต่ว่าเทวโลก พรหมโลกเราไม่เอาด้วย
ถาม : อย่างนี้พอจะมีสิทธิ์ใช่มั้ยครับ ชาตินี้?
ตอบ: ถ้ายังถามอย่างนี้ไม่มีสิทธิ์ (หัวเราะ) คนเราทำอะไรมันต้องมั่นใจ
ถาม : ถ้าเกิดมั่นใจไปแล้ว บางทีมันประมาท
ตอบ: เขามั่นใจแล้วตั้งหน้าตั้งตาทำ ตัวนี้เป็นตัวลังเลสงสัยวิจิกิจฉา เข้าใจหรือยังว่าสงสัยแบบไหน ? มันสงสัยอย่างนี้ คือขาดความมั่นใจในผลการกระทำของตน
ถาม : (น้องชายบวชพระ) แม่ไปเยี่ยมจะบังคับให้ท่านเรียนหนังสือ จะถามว่าถ้าท่านไม่เรียนจะเป็นอะไรมั้ย ?
ตอบ: ถ้าหากตามกฎมหาเถรสมาคม ภายใน ๕ พรรษาต้องสอบให้ได้อย่างน้อยนักธรรมตรี เพราะว่าบังคับให้พระมีความรู้ เนื่องจากว่าประเภทบวชมาอาศัยวัดกินอย่างเดียวก็มี ถึงเวลาไม่มีความรู้ นักธรรมตรีเป็นเรื่องของศีลพระ วินัยพระ เท่ากับบังคับให้รู้ว่าเป็นพระแล้วต้องทำอย่างไรถึงจะถูก ทำอย่างไรถึงผิด จะได้รู้ตรงจุดนี้ไว้ เขาเลยบังคับ ภายใน ๕ พรรษา ต้องสอบให้ได้อย่างน้อยนักธรรมตรี หลังจากได้แล้วจะเรียนต่อไม่เรียนต่อไม่ว่า
ถาม : ฆราวาสอายุเยอะ ไปบวชก็....?
ตอบ: ตอนนี้เขาห้าม เกิน ๖๐ ไม่รับ เป็นระเบียบมหาเถรสมาคมระบุไว้เลย เพราะฉะนั้นใครที่เกษียณแล้วจะไปบวชไม่ต้องหวัง เพราะเขากลัวว่าบรรดาหลวงตาแก่ ๆ พอไม่มีใครทำมาหากิน ลูกหลานทิ้งขว้างก็บวชเข้าไป แล้วบวชเข้าไปก็ไม่ยอมศึกษาหาความรู้ว่าเป็นพระต้องปฏิบัติอย่างไร ไปทำเละเทะให้คนเสื่อมศรัทธา นั่นก็เลยห้ามไว้เลย เป็นระเบียบเลยว่าตั้งแต่นี้ไปถ้าหากเกินกว่า ๖๐ แล้วไม่รับ
ถาม : พระอรหันต์ที่ไม่มีชีวิตแล้ว ขึ้นไปบนนิพพาน มีประเภทไม่มีความรู้มีมั้ย ?
ตอบ: ถ้าไม่มีความรู้เป็นพระอรหันต์ไม่ได้ พระอรหันต์ต้องฉลาดที่สุดแล้ว ถ้าไม่ใช่พระอรหันต์ปฏิสัมภิทาญาณไม่จำเป็นต้องรู้หมด เอาเฉพาะกรรมฐานกองใดกองหนึ่งทำถึงที่สุด ไปนิพพานได้แล้ว
ถาม : อยู่บนโน้นแล้วความรู้มาเองหรือ ?
ตอบ: มันมาตั้งแต่ก่อนจะไปแล้ว ถ้ารอให้ไปแล้วค่อยมาก็ไปไม่ได้เท่านั้นสิ
ถาม : ฌานกับญาณต่างกันตรงไหน ?
ตอบ: ฌาน เป็นกำลังที่เกิดจากการฝึก ญาณเป็นผลของการใช้ฌาน ญาณเป็นเครื่องรับรู้โดยอาศัยกำลังของฌานช่วย
ถาม : ก็คือ ฌานต้องมาก่อนญาณ ?
ตอบ: เรียกว่าอย่างนั้นได้เลยจ้ะ ญาณแปลว่าเครื่องรู้ รู้อดีต รู้ปัจจุบัน รู้อนาคต รู้กรรมของคนและสัตว์ ระลึกชาติได้รู้ใจคนอื่นอย่างนี้เรียกว่าญาณ แต่ ฌาน ก็คือกำลังสมาธิที่เราฝึกมา ใช้สมาธิอันนั้นเพื่อเรียนรู้ในสิ่งไหน เข้าใจในสิ่งไหน ในลักษณะรู้อดีตเขาเรียกว่า อตีตังสญาณ รู้อนาคตก็เป็นอนาคตังสญาณ
ถาม : นั่งสมาธิ ไม่เห็นจะได้อะไรเลย
ตอบ: แล้วจะเอาอะไร ? เรื่องนั่งสมาธิสำคัญอันดับแรก คือ ใจเราสงบ ถ้าหากว่าใจสงบ จะเริ่มมีปัญญารู้เห็นความเป็นจริงของโลกนี้ เรื่องของการที่ได้โน่นได้นี่ ได้ทิพจักขุญาณ รู้เห็นเรื่องผี เรื่องเทวดา ไปเที่ยวนรก เที่ยวสวรรค์ได้ อันนั้นถือว่าเป็นของแถม ถ้าหากว่าใครทำถึงระดับหนึ่ง ถ้าของเก่ามีของแถมนี่จะโผล่มาแล้วส่วนใหญ่จะพาให้คนติดอยู่แค่นั้นด้วย จะไม่ก้าวหน้าในการปฏิบัติ จะไปเพลินอยู่กับเรื่องที่... มันน่าสนใจ แต่จริง ๆ แล้วมันหลอกให้เราสนใจ
ถาม : เวลาไปนั่งที่วัด หลวงพี่ท่านช่วยแนะให้ บางทีเราไม่ได้คิดหรือไม่ได้เห็น ไม่ได้นึก ถ้านึกขึ้นมาแวบหนึ่ง หลวงพี่ท่านก็จะทักจะเหมือนกับที่เราคิด เดาเอาหรือว่าท่านรู้จริง ๆ?
ตอบ: จะมีอยู่ตัวหนึ่ง ท่านเรียกว่า เจโตปริยญาณ คือรู้ใจคนอื่น โดยเฉพาะบรรดาครูฝึก จะได้เปรียบตรงนี้มาก เพราะว่าตัวเจโตปริยญาณจะคล่อง เพราะว่าปล้ำกับลูกศิษย์มาอยู่ตลอด เพราะฉะนั้นในเมื่อของเราเกิดความรู้สึกอะไรขึ้น ท่านจะรู้ แล้วก็พูดตรงตามนั้น
ถาม : แล้วอย่างนี้ ถ้าคิดอะไรท่านก็จะรู้หมดสิ ?
ตอบ: ถ้าสนใจจะรู้ แต่ว่าส่วนใหญ่แล้วเขาจะดูแต่ใจตัวเอง คือว่าบุคคลที่ได้เจโตปริยญาณ รู้ใจคนอื่นประโยชน์มันน้อย ต้องดูใจตัวเองว่า ใจเรามีกิเลสอะไรอยู่บ้าง ? มีความดีอยู่มั้ย ? ถ้าไม่มีความดีสร้างความดีขึ้นมา ถ้ามีความดีแล้ว สร้างความดีให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป มีความชั่วอยู่มั้ย ? ถ้ามีความชั่วอยู่ไล่มันออกไป ระมัดระวังไว้อย่าให้มันเข้ามา เขาจะดูตัวเอง เขาไม่เสียเวลาไปดูคนอื่นหรอก แต่ว่าถ้าอยากรู้ อยากลองอะไรนี่ บางทีท่านก็ทิ่มให้ตรง ๆ เหมือนกัน แล้วเราก็ร้องจ๊าก บางทีไม่อยากไปหาพระอีก
ถาม : นั่งสมาธิทุกวัน เขาบอกว่านั่งสมาธิแล้วจะรู้สึกเป็นสุข แต่บางทีนั่งสมาธิแล้วทรมาน ทำไมมันนานจัง ?
ตอบ: เปลี่ยนอิริยาบถมั่งสิ เขาไม่ได้ให้นั่งอย่างเดียว พระพุทธเจ้าท่านบอกยืน เดิน นั่ง นอน ทำได้ทุกอิริยาบถ ถ้ารู้สึกว่าทรมานมากก็เปลี่ยนซะ เปลี่ยนจากนั่งไปเป็นยืนบ้าง ไปเป็นเดินบ้าง ขอให้ทำให้จริง ๆ เท่านั้นแหละ
ถาม : แล้วเวลานั่งสมาธิไปสักนาน ๆ นิดหนึ่ง เหมือนจะหลับแต่ว่ามันก็ไม่หลับ แล้วเวลาสะดุ้ง หัวใจเต้นแรง ๆ
ตอบ: อันนั้นเขาเรียกว่า พลัดจากฌาน คือกำลังใจจะเริ่มเป็นปฐมฌานแล้ว คำว่าฌาน คือความเคยชินของคำภาวนา จะมีอยู่ ๔ ระดับ ๘ ขั้น เขาเรียกว่าปฐมฌาน ความเคยชินขั้นที่หนึ่ง ไล่ไปจนถึงความเคยชินขั้นที่ ๘ โน่น แต่จริง ๆ แล้ว ๔,๕,๖,๗,๘ กำลังมันเท่ากัน เพียงแต่ว่า ๕,๖,๗,๘ เปลี่ยนวิธีคิดเท่านั้น
คราวนี้ขั้นที่ ๑ ที่เรียกว่า ปฐมฌาน ถ้ากำลังใจหยาบนิดหนึ่ง สติจะตามไม่ทัน พอสติตามไม่ทันมันเริ่มเกาะติดได้ก็หลุด จะวูบเหมือนเราสะดุ้ง ลักษณะนั้นเขาเรียกว่าพลัดจากฌาน พอสะดุ้งเสร็จหัวใจจะเต้นแรง บางทีก็เหมือนกับตกใจ เหมือนกับตกจากที่สูง อันนั้นเป็นอาการที่พลัดจากฌาน ถึงเวลาให้เราเอาใจจดจ่ออยู่กับลมหายใจเข้า-ออกให้มั่นคงกว่านั้น ตามรู้มันให้มันมั่นคงกว่านั้น ถึงเวลาก้าวข้ามไปได้ต่อไปก็จะไม่เป็นอีก ถ้ายังก้าวข้ามไม่ได้เดี๋ยวก็พลัดอยู่เรื่อย ๆ เดี๋ยวก็วูบอยู่เรื่อย ๆ
ถาม : แต่มันเหมือนคล้าย ๆ จะหลับ
ตอบ: ก็คล้าย ๆ อย่างนั้น เพราะสติจะเริ่มขาด ตามไม่ทันพอสติขาดพลัดจากฌาน วูบมาเราก็เลยสะดุ้ง หรือไม่บางทีก็หวิว เหมือนยังกับตกจากที่สูง
ถาม : แล้วทำอย่างไร เพราะว่ามันแค่นี้ แล้วก็เป็นอย่างนี้เรื่อย ๆ ?
ตอบ: บอกแล้วว่า ให้สติอยู่กับลมหายใจเข้า-ออกให้มั่นคงกว่านั้น ให้มันจดจ่ออยู่แค่นั้น แค่ลมหายใจเข้า-ออกเฉพาะหน้า สังเกตว่าตอนนั้นถ้าเราเผลอเมื่อไหร่จะเป็นทุกที เพราะฉะนั้นห้ามเผลอ ถ้าข้ามไปได้แล้วมันจะไม่เป็นอีก ข้ามไปปุ๊บเหมือนคนเคยเข้าประตูไปทางด้านนั้น รู้ว่าประตูนั้นเข้าได้ถึงเวลาก็ตรงไปเลย พยายามหน่อย เริ่มดีแล้ว พอได้ปฐมฌานตียาวเลย
ตั้งใจดูในเรื่องของความเคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ให้จริงจังไม่ล่วงเกินด้วยกาย วาจา ใจ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ตั้งใจดูเรื่องศีลให้บริสุทธิ์ อย่าทำให้ศีลขาดด้วยตัวเอง อย่ายุให้คนอื่นเขาทำ อย่ายินดีเมื่อคนอื่นเขาทำ แล้วก็ตั้งใจว่าถ้าตายจะไปนิพพาน กำลังของปฐมฌานเพียงพอที่จะตัดกิเลสหยาบขั้นต้น เพื่อความเป็นพระโสดาบัน หรือสกิทาคามีได้ ถ้าได้ปฐมฌานนี่สบายยึดหัวหาดได้ส่วนหนึ่งแล้ว ตั้งหน้าตั้งตาลุยตรงอารมณ์พระโสดาบันสกิทาคามีไปเลย
|