ถาม : บางทีหนูรู้สึกว่าหนูไม่สามารถพิจารณาตัวเองได้ค่ะ หนูอยากรู้ขั้นตอนว่าหนูจะพิจารณาตัวเองอย่างไร ?
ตอบ: พยายามดูให้ตลอดว่า ตั้งแต่ลืมตาตื่นจนหลับตานอนมีอะไร ที่เราไม่ต้องทนบ้าง ทุกอย่างที่เราต้องทนเป็นทุกข์ทั้งนั้น ไม่ล้างหน้าได้ไหม ไม่แปรงฟันไหวไหม ไม่อาบน้ำได้ไหม ไม่กินข้าวได้ไหม ไม่อึไม่ฉี่ได้ไหม ทุกอย่างมันล้วนแต่เป็นสิ่งที่เราต้องทนและต้องทำอยู่ตลอด แม้กระทั่งทำงานทำการก็เพื่อเลี้ยงร่างกาย มันเหนื่อยไหม สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นทุกข์ทั้งสิ้น ตั้งแต่ตื่นและหลับมีความทุกข์อย่างไรดูให้มันเห็นให้หมด แม้กระทั่งกินข้าวทุกข์ไหม ลองเอามือยื่นเข้ายื่นออกสักหมื่นครั้งดูสิเมื่อยขนาดไหน แล้วกินมา ๑๐ กว่าปีนี่มันกี่ครั้ง
สมเด็จพระเทพฯ ท่านยื่นปริญญาบัตรใช่ไหม ลองไปยื่นขนาดนั้นบ้างยกแขนไม่ขึ้นหรอก ทุกข์ขนาดไหน เราตักข้าวเข้าปากก็เหมือนกันมันก็ต้องอีท่านี้ มีอะไรที่มันไม่ทุกข์บ้างไม่มีหรอก ดูให้เห็นมันให้ตลอด พอเห็นเสร็จถามตัวเองว่าในเมื่อร่างกายที่มีความทุกข์ขนาดนี้ โลกที่มีความทุกข์ขนาดนี้เรายังอยากเกิดอีกไหม ถ้าอยากเกิดก็เกิดให้พอ ถ้าไม่อยากเกิด พอแล้วเข็ดแล้วถามมันดูสิว่าคนที่เรารักมีไหม โอเค มี มีแต่ว่าถึงเวลาแล้ว ต่างคนต่างเกิด ต่างคนต่างตาย ต่างคนต่างทุกข์ใช่ไหม ใช่ ของที่เรารักมีไหม มี ถึงเวลามันต้องพลัดพรากจากกันไป มันไม่พังก่อนเราก็ตายก่อน ทรัพย์สมบัติต่าง ๆ มีไหม มี แต่ว่ามันอาศัยในโลกหน้าไหม มันก็ใช้ได้เฉพาะตอนเรามีชีวิตอยู่เท่านั้น
ในเมื่อทุกสิ่งล้วนแล้วแต่ไม่มีแก่นสาร เกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงในท่ามกลาง ตายไปในที่สุด แม้กระทั่งร่างกายก็เป็นดังนี้ เอาเถอะในเมื่อเราต้องทุกข์กับมันก็ชาตินี้ชาติเดียว เราอยากโง่เกิดมาแล้ว ขึ้นชื่อว่าการเกิดจะไม่มีสำหรับเราอีกต่อไป ตายเมื่อไหร่เราขอไปนิพพานที่เดียว พอพิจารณาอย่างนี้เสร็จ เอากำลังการพิจารณาเกาะพระนิพพาน ตั้งใจว่าเราจะอยู่หน้าพระนี้ให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ ถ้ามันถึงเวลาที่จะทำงานทำการลุกไปทำงานทำการได้ ไม่ว่าจะกินข้าว จะอาบน้ำ จะไปทำงานท่าไหนก็ตาม ให้แบ่งความรู้สึกส่วนหนึ่งเกาะพระนิพพานไว้อย่างนี้เสมอ ๆ ทุกวัน กำลังใจที่เราเห็นทุกข์เห็นโทษในร่างกาย เห็นทุกข์เห็นโทษในโลกนี้แล้ว ไปเกาะพระนิพพานมันจะมั่นคง ยิ่งทำไปจะยิ่งอยู่นาน ยิ่งมั่นคงไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวนิพพานก็เป็นของเราเองโดยอัตโนมัติ
ถาม: ทำไมอารมณ์ของคนเรามันหวั่นไหวเยอะคะ ?
ตอบ: ก็ธรรมดา เพราะขาดการฝึกฝนมา ต้องอาศัยการฝึกฝน ยิ่งทำบทเรียนมากเท่าไรก็ยิ่งมีความคล่องในการเรียนมากเท่านั้น สภาพของเราก็เหมือนกันถ้าหากว่ามีการฝึกฝน พยายามดิ้นรนในลักษณะที่เรียกว่า ฝืน ๆ ในสิ่งที่เป็นกระแสโลก พูดง่าย ๆ ก็คือ ฝืนในเรื่องของกิเลส มันจะรักเราก็อย่ารักมัน มันจะโลภเราก็อย่าโลภกับมัน มันจะโกรธเราก็อย่าโกรธกับมัน มันจะหลงเราก็อย่าหลงกับมัน พอเราฝืนไปนาน ๆ จะกลายเป็นความเคยชิน กำลังมันเพียงพอ เรื่องที่เคยหนักก็เบา แล้วหลังจากนั้นเราก็ไม่ต้องฝืน เพราะเห็นแล้วทุกสิ่งทุกอย่าง สภาพแท้จริงเป็นอย่างไร จากที่แบกก็เริ่มปล่อย ปล่อยเมื่อไหร่มันก็หนักน้อยลง
ถาม: เริ่มจากอาการเบื่อใช่ไหมคะ ?
ตอบ: ตัวเบื่อไม่ใช่ตัวเริ่ม ตัวเบื่อเป็นปลาย ถ้าถึงตรงเบื่อเมื่อไหร่ แสดงว่าเข้าถึงความดีแล้ว พยายามรักษาความดีนั้นเอาไว้ เบื่อสุด ๆ ก็ให้มันเบื่อไป พิจารณาให้เห็นว่าแม้แต่ตัวเราที่ตั้งใจปฏิบัติที่จะไปนิพพานยังต้องการทุกข์ทนขนาดนั้น เพราะว่า เกิดเป็นทุกข์ แก่เป็นทุกข์ เจ็บเป็นทุกข์ ตายเป็นทุกข์ เศร้าเป็นทุกข์ เสียใจเป็นทุกข์ ร่ำไห้คร่ำครวญเป็นทุกข์ ปรารถนาไม่สมหวังเป็นทุกข์ กระทบกระทั่งอารมณ์ที่ไม่ชอบใจเป็นทุกข์ ได้ของที่ไม่รักเป็นทุกข์ จากของที่รักเป็นทุกข์
ทุกอย่างมีแต่ทุกข์ทั้งหมด กระทั่งอารมณ์ใจที่เบื่อโลกอยู่ตอนนี้มันก็ทุกข์ ขึ้นชื่อว่าการเกิดมามีทุกข์ อย่างนี้ต้องการอีกไหม รวบท้ายเข้ามา ในเมื่อเราไม่ต้องการ ไปนิพพานดีกว่า ทนอยู่กับมันชาตินี้ชาติเดียว การที่เราอยู่กับมันชาตินี้ชาติเดียว เปรียบกับการเวียนตายเวียนเกิดนับกัปไม่ถ้วน มันแป๊บเดียวเอง ในเมื่อมันแป๊บเดียวจะอยู่กับมันอย่างมีความสุขไม่ได้ ให้เห็นว่าธรรมดาของการเกิดเป็นอย่างนี้เอง จะเป็นอย่างไรก็เรื่องของเอ็ง ข้าจะไปนิพพานก็แล้วกัน
วันก่อนสอนพระ ตอนพระพุทธเจ้าตรัสรู้ ยามต้น-ท่านได้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ (ระลึกชาติได้) พอยามสอง-ท่านก็ได้จุตูปปาตญาณ (รู้ว่าคนและสัตว์มาจากไหน ตายแล้วไปไหน) ยามสุดท้าย-ท่านได้อาสวักขยญาณ (ทำกิเลสให้สิ้นไป) ตกลงพระพุทธเจ้าบรรลุด้วยวิชชาสามแต่กำลังของท่านคลุมทั้งอภิญญา ๖ และปฏิสัมภิทาญาณหมด
เคยมีคนถามหลวงพ่อว่า ทำไมเป็นอย่างนั้น หลวงพ่อบอก วิชชา ๓ ของช้างต้องต่างกับอภิญญาของมด กำลังห่างกันขนาดนั้น คราวนี้โบราณเขาแบ่งคืนหนึ่งมี ๔ ยาม ได้แก่ ยามต้น-ปฐมยาม(หกโมงเย็นถึงสามทุ่ม) ยามสอง (สามทุ่มถึงเที่ยงคืน) ยามสาม (เที่ยงคืนถึงตีสาม) ยามสุดท้าย (ตีสามถึงหกโมงเช้า) ๔ ชั่วยาม
ยามต้น (หกโมงถึงสามทุ่ม) บรรลุปุพเพนิวาสานุสสติญาณ (ระลึกชาติไปเป็นแสนกัลป์) ยามสอง (สามทุ่มถึงเที่ยงคืน) บรรลุจตูปปาตญาณ (สามชั่วโมง) ยามสุดท้าย (หกชั่วโมงเต็ม ๆ) บรรลุอาสวักขยญาณ
ถาม: ......................................
ตอบ: เรื่องสุข เรื่องทุกข์ เราสัมผัสได้อยู่แล้ว เพราะความรู้สึกของเรามี แต่ว่ารับรู้ไว้เฉย ๆ อย่าไปยินดียินร้ายกับมัน หลวงพ่อท่านสรุปสั้น ๆ ว่า อย่าติดในสุขและอย่ากังวลในทุกข์ วางเฉยในร่างกายนี้ให้ได้ ถ้าวางเฉยในร่างกายนี้ยังไม่ได้ ก็ให้เบื่อร่างกายนี้ให้ได้ ปล่อยวางภาระทั้งปวง เรื่องอะไรที่จะขวนขวายแบกเพิ่มไม่ต้องหาแล้ว ทำเฉพาะหน้าให้ดีที่สุด แล้วก็ยอมรับกฎของกรรม
ถ้าบอกว่าเป็นพระอรหันต์ก็เอากันแค่นี้แหละ ไม่เอาเยอะหรอก การยอมรับกฎของกรรมทำยากที่สุด ถ้าคนปัญญาไม่ถึงจะยอมรับแบบโง่ ๆ ลูกศิษย์หลวงพ่อชา ซึ่งเป็นพระด้วย พายุฝนมันตีหลังคากุฏิเปิงไป ท่านก็ปล่อยให้ฝนมันรั่ว ให้แดดมันเผาอยู่อย่างนั้นแหละ จนหลวงพ่อชาทนไม่ได้ ไปถึงบอกว่าคุณซ่อมหลังคาหน่อย พระท่านบอกว่าผมปล่อยวางแล้วครับหลวงพ่อ หลวงพ่อชาท่านบอกว่าปล่อยวางแบบควายนะสิ ควายมันทนแดดทนฝนกว่าคุณอีก อะไรก็ตามถ้ายังสามารถแก้ไขด้วยกำลังกาย กำลังสติปัญญา กำลังคน กำลังทรัพย์ แม้มีช่องทางเพียงหนึ่งเปอร์เซนต์ก็ต้องแก้ไขก่อน ถ้าดิ้นรนจนครบทุกวิถีทางและไม่สามารถแก้ไขได้แล้ว ค่อยยอมรับว่าสิ่งนั้นมันเป็นกฎของกรรม เกินกำลังที่เราจะแก้ไข ฟังง่ายไม่ยากเกินความสามารถ ถ้าหากว่ายากท่านไม่ไปนิพพานกันเยอะแยะ ต้องทบทวนตัวเองอยู่เสมอ ๆ
วันก่อนด่าหลวงตากอล์ฟไป บอกว่าขึ้นอยู่ที่สูงต้องหมั่นเหลียวมองหลังไว้เสมอ การจะไปนิพพานคือเราค่อย ๆ ไต่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ใช่ไหม ต้องเหลียวมองหลังไว้เสมอ เพราะจะได้ทบทวนตัวเอง สิ่งที่ผ่านมามันผิดถูกอย่างไร เอามาเป็นบทเรียนเพื่อแก้ไขปัจจุบันให้ดี แล้วในปัจจุบันนี้เรายืนอยู่จุดไหน ห่างไกลจากเป้าหมายเท่าไหร่ เราต้องรีบเร่งขวนขวายอีกเท่าไหร่ หรือสบายใจนอนทอดหุ่ยได้แล้ว หลวงพ่อท่านบอกว่า ขนาดพระอรหันต์ท่านยังไม่คิดเลยว่าท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านตั้งหน้าตั้งตาทำไปเรื่อยด้วยความไม่ประมาท
เพราะฉะนั้นที่คิดจะนอนทอดหุ่ยจริง ๆ ส่วนใหญ่ไม่ใช่พระอรหันต์หรอก ยิ่งเป็นพระอริยเจ้าแล้วยิ่งขยันเพราะท่านไม่ประมาท เช่น หลวงปู่มหาอำพันใส่บาตรทุกวัน เวลาช่วยท่านเตรียมของมันก็เหนื่อย ถามว่าหลวงปู่ครับจะทำไปอะไรนักหนา บุญของหลวงปู่ก็กินไม่ไหวใช้ไม่หมดอยู่แล้ว ท่านบอกว่ามันจะไปประมาทได้อย่างไรล่ะ คนเราเมื่อไต่ถึงปากเหวแล้วมีแต่ตะกายให้มันพ้น ๆ ขืนเอ้อระเหยมันกลิ้งตุ๊บลงไปใหม่แล้วจะทำอย่างไร ท่านเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดเท่าที่เคยเห็นมาเลย เพราะว่าอายุมาก พรรษามาก ตำแหน่งสูง อยู่วัดใหญ่ แต่ท่านไม่เคยเอาอะไรทั้งหลายเหล่านี้มาอยู่ในจิตในใจของท่านเลย ยศช้างขุนนางพระอย่างไรก็อย่างนั้น คำว่า ยศช้างขุนนางพระเป็นการสรรเสริญความดียศช้าง ช้างศึกเมื่อพระเจ้าแผ่นดินออกทำศึกทำสงคราม ชนะขึ้นมาก็ปูนบำเหน็จแม้กระทั่งช้าง ช้างเป็นเจ้าพระยา เจ้าพระยาไชยานุภาพ เจ้าพระยาปราบไตรจักร ตำแหน่งเจ้าพระยานี้เจ้าคุณใหญ่เบ้อเริ่มเทิ่มเลย แค่พระยาก็เจ้าคุณแล้ว เจ้าพระยาสูงกว่านั้น มีอีกชั้นเดียวสมเด็จเจ้าพระยา นอกนั้นก็จะเป็นวังหลัง วังหน้า พระมหากษัตริย์
เพราะฉะนั้นตำแหน่งผู้ที่ไม่ใช่ราชวงศ์สูงสุดก็คือ สมเด็จเจ้าพระยา นี่แค่ช้างเป็นเจ้าพระยาแล้ว เขาเรียกเจ้าคุณใหญ่ พระยาก็เรียกเจ้าคุณเล็ก พระยาถือเป็นเจ้าคุณลำดับแรก ถ้าเป็นพระเฉย ๆ เขายังไม่เรียกเจ้าคุณ เขาเรียกคุณพระ คุณหลวง ท่านขุน ปรากฎว่ายศช้างขุนนางพระก็คือเขาตั้งยศให้ช้าง ช้างมันเคยยินดียินร้ายไหมล่ะ ตูก็กินหญ้ากินกล้วยของตูไปเรื่อยอยากตั้งก็ตั้งไป ขุนนางพระก็เหมือนกัน ท่านทำความดีสงเคราะห์คนหมู่มาก เท่ากับเป็นการแบ่งเบาภาระพระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าแผ่นดินเห็นความดี ก็แต่งตั้งยศให้เป็นพระครู เป็นเจ้าคุณ เป็นสมเด็จ
สมัยก่อนพระเจ้าแผ่นดินท่านตั้งให้เองจริง ๆ จะเห็นว่าในสมัยหลวงปู่ปานเป็นพระครู ใหญ่เบ้อเร่อยืดได้ทั่วประเทศ มาสมัยนี้ขนาดเป็นเจ้าคุณราช เจ้าคุณเทพ คนยังไม่ค่อยเห็นหัวเท่าไหร่ เพราะระยะหลังนี้มันเป็นการเสนอจากหน่วยงานขึ้นไป คนเส้นดีก็ได้ คนเงินดีก็ได้ ไม่ต้องมีความดีอะไรมากมายหรอก แล้วมาตอนหลังยิ่งเละหนักเข้าไปใหญ่ ทำความดีคิดเป็นจำนวนเท่าไหร่ขอชั้นยศไหนได้ อาตมาถ้าจะเอาเป็นเจ้าคุณไปนานแล้ว ก่อสร้างไม่รู้หมดไปกี่สิบล้าน แต่ว่าพระที่รับชั้นยศท่านก็ไม่ได้ติดในยศนั้น เพราะท่านเป็นผู้เสียสละอย่างไรก็ยังสละอย่างนั้น ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เป็นเรื่องของโลก พระเจ้าแผ่นดินถวายมาก็รับไว้ด้วยความเคารพในฐานะไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินผู้หนึ่ง รับมาเสร็จก็เก็บไว้ในตู้
ไปหาหลวงพ่อสมเด็จวัดอนงค์สมัยก่อนดูสิ ไปถึงถามหลวงพ่อสมเด็จอยู่ไหมครับหลวงตา หลวงตาบอกอยู่ตรงบันไดโน่นแน่ะ อยู่ข้างในห้องนั่นแหละ เข้าไปในห้องไม่เจอใครเลย ออกมาต่อว่าหลวงตาไหนว่าหลวงพ่อสมเด็จอยู่ในห้อง เป็นพระโกหกได้อย่างไร ท่านบอกอยู่ในนั้นจริง ๆ ไปดูสิเก็บใส่ตู้ไว้ดิบดีเลยทั้งตราตั้ง ทั้งพัดยศ มันมาหาหลวงพ่อสมเด็จ แต่ถ้ามาหาหลวงตามันเจอตั้งแต่ตีนบันไดแล้ว นั่นแหละยศช้างขุนนางพระ คือสักแต่ว่ารับเอาไว้และก็ไม่ได้ไปยึดไปติดอะไร แต่สมัยนี้แหม มันแข่งกันเป็น แข่งกันเป็นไม่พอ ใครจะอยู่กุฏิหลังใหญ่กว่ากัน ใครจะขี่รถยี่ห้อแพงกว่ากัน ไปกันเตลิดเปิดเปิงเลย อันนี้เป็นตัวอย่างของโลกธรรม ญาติโยมจำนวนมากโชคดีปฏิบัติไปถึงระดับพยายามลด ละ เลิก ในสิ่งต่าง ๆ ที่จะผูกพันทำให้เรายึดติดอยู่กับโลก แต่ว่าบรรดานักบวชที่ควรจะลด ละ เลิก กลับพยายามจะสะสมให้มันมากขึ้น ๆ
ถาม: ตามที่เล่ามานี้มีเงินหรือสิ่งตอบแทนมาเกี่ยวข้อง พิจารณากำหนดด้วยหรือคะ ?
ตอบ: ยิ่งมีเยอะเท่าไหร่ได้เร็วเท่านั้น
ถาม: ไม่ใช่ความดีความชอบหรือคะ ?
ตอบ: ความดีเก็บไว้ทีหลัง กินไม่ได้
ถาม: เห็นชัดเจนในพระพุทธศาสนา ?
ตอบ: เป็นอย่างนี้ไปเกิน ๘๐% แล้ว เหลือเชื่อไหม ฟังแล้วห่อเหี่ยวใช่ไหม ช่วยกันแก้ไขหน่อย เห็นอะไรไม่ชอบมาพากลก็อย่าไปสนับสนุน ต่อปีกต่อหางกลายเป็นเหี้ยติดปีก มันก็ยิ่งสร้างความเหี้ยใหญ่โตเข้าไปอีก จะทำอะไรต้องพิจารณาให้ดี บางทีไปเติมขนปีกให้เหี้ยมันเรื่อย เดี๋ยวปีกมันใหญ่มันก็บินได้เอง
ถาม: ผลตอบแทนจะตกอยู่กับใครหรือคะ ?
ตอบ: ส่วนใหญ่ก็ตัวท่าน ญาติพี่น้องของท่าน บริวารที่ประจบรับใช้ท่านแค่นั้นแหละ ไม่ใช่ตกอยู่กับสงฆ์ คนอื่นเขาต้องการยศต้องการตำแหน่งเจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด เพราะว่าปัจจุบันมีรายได้ที่พึงมีพึงได้ตามระดับชั้น
สมมุติว่าคุณจะเอาผ้าป่า ญาติโยมมาจะถวายผ้าป่าในตำบลนั้นคุณก็ต้องรายงานเจ้าคณะตำบล ๆ จะอนุญาตไหม ถ้าคุณจะเรี่ยไรในอำเภอคุณต้องรายงานเจ้าคณะอำเภอ ๆ จะอนุญาตไหม ถ้าคุณเรี่ยไรในจังหวัดต้องรายงานเจ้าคณะจังหวัด ๆ จะอนุญาตไหม ทั้งนี้การอนุญาตจะให้ง่ายก็บอกไปเลยว่ากี่เปอร์เซ็นต์เขาทำกันอย่างนี้
ถาม: เพิ่งทราบ คิดว่าต้องทำความดี ความชอบ ช่วยงานสังคม งานศาสนา แล้วจึงได้ ?
ตอบ: แบบนี้มีน้อยราย ประเภทท่านดีจนเขากันไม่อยู่นั่นแหละ ถึงจะได้ ไม่อย่างนั้นท่านจะกันให้พวกของท่านก่อน คือจริง ๆ แล้วพอเข้าไปสัมผัสในจุดนี้แล้วรู้สึกสลดใจ ในวงสังคมของผู้ที่ได้ชื่อว่าละแล้วซึ่งกิเลส แล้วกิเลสมันท่วมหัว ยิ่งระเบียบการหลัง ๆ ที่ออกมามันเห็นชัดเลยว่าออกมาเพื่อสนองตัณหาตัวเองและพรรคพวกอย่างเช่น กำหนดว่าทำความดีเป็นจำนวนเท่าไหร่จะขอชั้นยศไหนได้
ถาม: ความดีเป็นจำนวนเงินนี้หมายถึง... ?
ตอบ: คือในลักษณะที่ว่าสร้างถาวรวัตถุในพระศาสนา อาจจะบริจาคเงินช่วยกิจการของสงฆ์ ให้ทุนการศึกษา สนับสนุนในสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์ เสร็จแล้วก็ไปด่าอาจารย์จันทร์ วัดป่าชัยรังษี อาจารย์จันทร์ ๓ ปี ๔ ปี ชั้นยศจากหลวงตาแก่ ๆ โดดพรวดเดียวเป็นพระเทพสิทธิญาณรังษีว่าท่านไม่ได้ ก็คุณกำหนดมาเองว่า ทำความดีเป็นจำนวนเท่าไหร่ขอชั้นยศไหนก็ได้ ลูกศิษย์ท่านบริจาคให้ท่านทีละ ๖๐ ล้านบาท ท่านก็เอาไปทุ่มสาธารณประโยชน์หมด ทำให้เห็น ๆ ตัวเงินมีแน่ ๆ บัญชีรับ-จ่ายมีพร้อมมาเถียงท่านไม่ได้ พอท่านขอยศตำแหน่งขึ้นมา ก็ไปโวยวายท่านว่าโตเร็วเกินไป โทษท่านได้ยังไง คนอย่างหลวงตาจันทร์จริง ๆ น่าสรรเสริญมากท่านไม่ติดยศจริง ๆ เป็นคนอื่นมีหรือเป็นเจ้าคุณเทพแล้วจะประเภทลาออก
อันนั้นท่านรู้ว่าถ้าท่านอยู่จะทำให้เสียหาย เพราะว่ากิเลสมีอำนาจสูงกว่า ท่านไม่สามารถรักษาความดีในผ้าเหลืองได้ ท่านก็สละออกไปเลย ยังไง ๆ ก็ไม่ยอมเลวในผ้าเหลือง เพราะโทษมันหนัก คนอื่นมีหรือไม่มีหรอก ยังไม่เห็นตัวอย่างเลยเขาถึงได้โวยวายกัน นี่เป็นครั้งแรกในพระศาสนาที่พระผู้ใหญ่ระดับนั้นแล้วลาออก ลาออกไม่ลาเปล่าสึกด้วย
อีกคนหนึ่งที่ชื่นชมเขาแต่คนอื่นจะด่าเราหรือเปล่าไม่รู้ คือเณรแอ เณรแอจะบวม ๆ เล่นไสยศาสตร์เป็นพ่อมดหมอผีก็จริง แต่เขารู้ว่าถ้าเป็นพระก็ถือศีลพระไม่ได้ก็เลยยอมเป็นแค่เณร บวชเณรเพราะหวังกุศล กุศลของการบวชเณรดูถูกไม่ได้ ตัวคนบวชเองถ้าเป็นเทวดาอยู่ได้ ๓๐ กัป เขาหวังตรงจุดนั้นมาเสริมบารมีตัวเอง เมื่ออยู่ในผ้าเหลืองใช่ไหม
อันดับแรกก็คือธงชัย อันดับสองก็คือมีศีลคุ้ม กำลังของศีลจะส่งผลให้สิ่งที่เขาทำมีอานุภาพมากขึ้น ลงทุนบวชแต่ไม่บวชพระ ระดับเขาจะบวชพระเมื่อไหร่ก็บวชได้ แต่ไม่บวช อายุก็เกินแล้วเกินอีก เขาบวชแค่เณร คนที่เขามีกำลังใจมากขนาดนี้จริง ๆ ไม่น่าตำหนิที่เขาไปปิ้งเด็กย่างเด็ก เขาก็ขอกับพ่อแม่เด็กแล้ว รายนั้นถ้าไปปิ้งเสร็จเรียบร้อยโดยที่ใครไม่รู้ไม่เห็นก็เงียบไป บังเอิญหนังสือพิมพ์ไปถ่ายรูปมาเท่านั้นเอง พวกบรรดาศีลธรรมจัดก็เลยโวยวายซะ
ถาม: ถ้าสมมุติว่าบวชแล้ว จิตใจมุ่งไปอยู่กับเรื่องแบบนั้นจะขัดกันกับคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไหม ?
ตอบ: มันขัดตั้งแต่แรกแล้ว แต่ที่พูดนี่พูดตรงจุดที่ว่าเขารู้คิด ในเมื่อเขารู้คิดเขารู้ว่าถ้าเป็นพระเขาจะสร้างความเสียหายกับพระพุทธศาสนา ตัวเองไม่สามารถรักษาศีลได้ เพราะอยากทำในสิ่งนี้ก็ยอมลดลงเป็นแค่เณร แต่ถ้าเป็นคนอื่นมีโอกาสที่จะยืดขึ้นไปได้ ไม่สนใจผ้าจะเหลืองหรือไม่เหลือง มันก็ไปของมันเต็มที่แหละ เคยมองหลวงตาจันทร์ในแง่นี้บ้างไหมล่ะ
ถาม: ผมเอาซองไปแล้ว ผมไปบอกเด็กรวม ๆ กันมาได้ ๔,๐๐๐ บาท ?
ตอบ: อันนี้ซองเขาเอามาฝากไว้โยม อาตมาไม่แจกซอง วัดอื่น ๆ ส่วนใหญ่วัดพี่วัดน้องเขาก็จะฝากกัน เพราะเอามาฝากตรงนี้ยังไงก็หมดแน่ โยมทำในลักษณะนี้นอกจากกุศลจะเป็นของเราแล้วเป็นของเด็กด้วย คือว่า เรื่องของทาน ศีล ภาวนา ขอให้คนได้เริ่มทำเถอะ มันจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เขาได้สร้างความดียิ่ง ๆ ขึ้นไปในภายหน้า กุศลของทาน ถ้าหากยังเกิดอยู่อีกเมื่อไหร่ คำว่าอดอยากเดือดร้อนมันไม่มี เพราะตัวเองให้เขาไว้แล้ว
เรื่องของศีลถ้ารักษามั่นคงจริง ๆ เกิดใหม่เมื่อไหร่ก็รูปสวย จิตใจดีงาม ส่วนเรื่องของสมาธินี้จะเกี่ยวกับปัญญา สติปัญญา ความจำ แล้วทำธรรมทานซ้ำเข้าไปด้วย คราวนี้สิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยสืบเนื่องไปในภายหน้า
ได้ไปกราบหลวงพ่อสมเด็จวัดสระเกศ วัดที่ท่านปิงอยู่ ท่านได้เขียนคติธรรมของเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช วัดสระเกศ ในสมัยโน้นคือ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโนทยมหาเถระ) ติดเอาไว้ที่ประตูวัด ใครออกจะต้องเห็น ท่านเขียนไว้ว่า ถ้าหากยังเกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่ให้เร่งขวนขวายในบุญให้มาก เพราะว่าบุญย่อมส่งผลดีต่อไปในภายภาคหน้า ถ้ายังเกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่ยังไง ๆ ผลดีนี้ก็ส่งผลให้ตลอดอยู่แล้ว เพียงแต่ท่านไม่ได้อธิบายมากมายอะไร บางคนก็ประเภทที่ว่าทำบุญแล้วติดดี ตำหนิคนอื่น จำไว้เลยนะว่าติดในสิ่งที่เป็นมงคลมันดีกว่าติดในสิ่งที่เป็นอัปมงคลเยอะเลย อะไร ๆ ก็จะละ จะลด จะเลิก ขอถามว่าถ้าไม่มีอะไรเลยแล้วจะเอาอะไรมาสละ เคยคิดถึงจุดนี้บ้างไหม คนที่ไม่มีสมบัติบอกว่าจะเอาสมบัติมาสละ เป็นไปได้ไหม
เพราะฉะนั้นอันดับแรกต้องเกาะความดีไว้ก่อน ขึ้นบันไดเกาะราวบันไดเพื่อความมั่นคง วาระสุดท้ายเดินมาจะเข้าประตูห้องมีใครแบกบันไดเข้าห้องบ้าง ปล่อยตั้งแต่ตรงโน้นแล้วใช่ไหม ถึงวาระถึงเวลากำลังพอ สติปัญญาสมาธิพอ พิจารณาเห็นแจ้งทุกอย่างก็ปล่อย เขาปล่อยตอนท้ายกันทั้งนั้นแหละ ปีนภูเขาอยู่บอกว่าติดเกาะได้ยังไง ปล่อยสิตกตายพอดี ถึงยอดภูเขาก่อนถึงจะปล่อย
เพราะฉะนั้นบางคนเห็นแล้วน่าเบื่อหน่าย ฉลาดเกินไป คนประเภทนี้พระพุทธเจ้าไม่สอน เรียกว่า ปทปรมะ คนประเภทนี้ไม่โง่ เป็นคนฉลาดเกินไป ไม่ยอมรับความคิดเห็นของคนอื่น เห็นว่าความคิดของตนเองถูกต้อง ปทปรมะ แปลว่า มากด้วยบทบาท พวกท่ามาก เรื่องมาก รู้มาก เกือบทั้งนั้น
พระพุทธเจ้าก็สรรเสริญในบุญ พระอริยเจ้าทุกท่านก็สรรเสริญในบุญ ถ้าบุญไม่ดีจริง เขาจะสรรเสริญไปทำไม เราอาศัยกำลังบุญก้าวไปสู่ทางหลุดพ้นข้างหน้า ไม่ใช่อะไร ๆ ก็ละ อะไร ๆ ก็วาง แบบเดียวกับคนที่เพิ่งคุยผ่านไปเมื่อกี้ อะไร ๆ ก็สุญญตา อะไร ๆ ก็อนัตตา ขนาดอยู่วัดไม่ไหว้เจ้าอาวาส อาตมาก็เลยให้ไปสุญญตาที่อื่นซะ นั่นก็สูญจากความดีไปแล้ว ถามอาจารย์สมพงษ์ว่าตาคนนี้ชื่ออะไร อาจารย์สมพงษ์บอกไม่รู้ เขามาถึงก็บอกขออนุญาตอาศัยกุฏิหลังนั้นอยู่ เพื่อปฏิบัติหน่อยครับ เสร็จแล้วอยู่เป็นปี ๆ กินอยู่กับวัด อาศัยวัดมาตลอด เจ้าอาวาสไม่ไหว้ไม่พอ พอให้ออกจากวัดมีโอ่งน้ำอยู่ ๒ ใบก็เอาไปให้ร้านขายวัสดุก่อสร้าง วัดยังไม่ให้เลย สุญญตาได้จริง ๆ ไม่ใช่อยากได้โอ่งแต่บอกให้รู้ว่าหลักการปฏิบัติลักษณะนี้ไม่ถูกต้อง คนเราถ้าหากรู้จักความดี ไม่รู้จักบุญคุณ ไม่รู้จักกตัญญูกตเวทีมันก็คงดีได้ยาก
ถาม: ความเย่อหยิ่งกับการอ่อนน้อมถ่อมตน ?
ตอบ: ความอ่อนน้อมถ่อมตน มันเกิดจากจิตใจของตนที่เห็นความดีของคนอื่น จิตใจที่จะเห็นความดีของคนอื่นจะต้องเป็นมุทิตาจิต การเห็นความดีของคนอื่นก็ต้องมีมุทิตาจิตยินดีในความดีนั้น ไม่ใช่เป็นคนจ้องจับผิดคิดร้ายต่อผู้อื่น
ในเมื่อเห็นความดีของเขาก็เคารพในความดีของเขาอย่างเช่น ผู้อายุมากกว่าก็เคารพในวัยวุฒิของเขา ผู้มีความรู้สูงกว่าก็เคารพในคุณวุฒิของเขา ก็จะกลายเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน แต่จริง ๆ แล้วคนทั้งหลายเหล่านี้ ตัวมานะสังโยชน์ของเขาน้อย เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เข้าถึงธรรมได้เร็ว คนไม่มีมานะมันใกล้เต็มทีแล้ว
ถาม: การเห็นความดีคนอื่นนี้เข้าใจ แต่แล้วเรามีเหตุผลอะไรที่จะต้องเคารพในอายุของคนนี้คะ ?
ตอบ: คนเราไม่ได้เกิดเพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน อย่างน้อย ๆ ประสบการณ์ของเขาที่ผ่านมาก็มี ถ้าหากว่าความดีของเขาไม่มีเลย เขาก็มีความแก่ อย่างน้อย ๆ เกิดก่อนเรา คนเกิดก่อนเขาก็มีมากกว่าเราหน่อยก็คือความแก่ ยกให้เขาหน่อยก็ยังดี
|