ถาม :  ขอให้หลวงพี่อวยพรให้หน่อยค่ะ .....(จะแต่งงาน ขอพรจากหลวงพี่) ?
      ตอบ :  ช่วยอวยพรให้หน่อย คำอวยพรทั้งหมดมันจะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อ
              ๑. เราเป็นผู้มีความอดทน การที่เราครองคู่กันไป ช่วงที่เรารักกันอยู่มันเหมือนกับว่าเราต่างคนต่างนำเสนอในสิ่งที่ดี ๆ ของตัวเองให้อีกฝ่ายหนึ่งรับรู้ ข้อบกพร่องนี่เราเก็บมันเอาไว้ ในเมื่อเราเสนอแต่แต่สิ่งที่ดี ๆ ไปเขาชินกับสิ่งนั้น พอไปอยู่ร่วมกันเข้าข้อบกพร่องก็ปรากฏขึ้น ถึงตอนนั้นเราต้องทำใจให้ได้ว่าเขาเป็นปุถุชนคนหนึ่งย่อมมีอะไรที่มีส่วนไม่ดีอยู่เป็นธรรมดา ในเมื่อเรารักกัน เราใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน เราก็ต้องยอมรับเขาให้ได้ อย่าถือทิฐิมานะปรับตัวเข้าหากันซะคนละครึ่งหนึ่ง
              อันดับต่อไปก็คือว่า ต้องมีความจริงใจต่อกัน มีอะไรพยายามพูดกันก่อน อย่าประเภทไปใช้อารมณ์ ถึงเวลางอนไป ๓ วัน กว่าจะเจรจากันรู้เรื่องคนง้อก็เหนื่อย คนงอนก็เหนื่อย มันไม่มีอะไรดีนอกจากจะทำให้ชีวิตครอบครัวแตกร้าวกันเสียเปล่า ๆ พองอนหลาย ๆทีเขาเลิกง้อขึ้นมาก็บ้านแตกอีก
              เพราะฉะนั้น สัจจะ จริงใจกัน ทมะ ต้องมีความข่มกลั้นเห็นอะไรที่มันไม่ดีไม่งามอะไรขึ้นมาหรือว่าในสิ่งที่เราคิดว่าเราถูก เขาไม่ถูกอะไรเหล่านี้พยายามข่มกลั้นเอาไว้ หาอะไรใส่ปากคาบไว้ก็ได้ อย่าเพิ่งว่าเขา
              ขันติ อดทนต่อการดำเนินชีวิต ชีวิตคู่น่ะมันเหนื่อยเพิ่มขึ้นอย่างน้อยเท่าหนึ่ง แทนที่จะเป็นตัวเราคนเดียวมันกลายเป็นเขาไปแล้วใช่มั้ย ? ก่อนหน้านี้เราไม่ซักผ้าซัก ๓ วัน ๗ วันก็เรื่องของเราได้ แต่ตอนนี้ไม่ได้แล้ว จะกินข้าวซักวันละมื้อ ๒ มื้อ กินเช้า กินดึกยังไงก็ได้ ตอนนี้ไม่ได้แล้ว มีอีกคนหนึ่งต้องคิดถึงอีกคนหนึ่งเขาไว้ เพราะฉะนั้นต้องเพิ่มความอดทนขึ้นอีกหลายเท่าตัว
              ตัวสุดท้ายคือ จาคะ เสียสละ ตัวนี้ก็คือว่า มีอะไรในส่วนที่เราคิดว่าเราพอที่จะสละ พอที่จะอภัยให้กับอีกฝ่ายได้ก็รีบ ๆ ทำเอาไว้ แล้วขณะเดียวกันว่าอะไรที่เรามีอยู่มันดีมันเหมาะมันสมสำหรับอีกฝ่ายหนึ่งก็พยายามหาให้เขา
              เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าชีวิตคู่ของเรามีความจริงใจต่อกัน มีความข่มกลั้น มีความอดทน มีความเสียสละต่อกัน มันก็จะอยู่ด้วยกันได้ยืนนาน ไม่มีพรอะไรที่จะรักษาชีวิตคู่ของเราเอาไว้ได้ นอกจากสิ่งที่เรากระทำดีต่อกันเท่านั้นเอง
              เทศนาวสาเน ท้ายสุดแห่งพระธรรมเทศนา (หัวเราะ) ไป ๆ มา ๆ มันจะกลายเป็นเทศน์ไปซะแล้ว เอาแค่นั้นแหละ ตั้งใจเอาไว้จำเอาไว้ว่ารักกันได้ กว่าจะตกลงกันได้มันยากมันเย็น ได้มาแล้วรักษาเอาไว้ให้ดี โดยเฉพาะถนอมน้ำใจต่อกัน พยายามประเภทปิยะวาจาต่อกันมีอะไรพูดดีต่อกัน เราแต่งงานไปเราไม่ได้แต่งงานกับเขาคนเดียว แต่ว่าเราต้องแต่งกับครอบครัวกับญาติพี่น้องของเขาอีกเยอะแยะ คนที่เรารักอาจจะดี แต่ญาติของคนรักของเราอาจจะงี่เง่าไม่เอาไหนก็ได้ เพราะฉะนั้นต้องอึดมาก ๆ เลย
              อาตมาทุกวันนี้เคยบอกกับรุ่นน้องว่าให้นางสาวไทย พ.ศ. ล่าสุดมาคุกเข่าอยู่ตรงหน้า บอกว่า ท่านเจ้าขาสึกไปแต่งงานกับดิฉันเถิด บอกไม่ไหวนึกแล้วมันสยดสยอง คือมานึกแล้วว่าเราแต่งกับเขามันไม่ได้แต่งคนเดียว มันต้องแต่งกับครอบครัวเขา กับญาติพี่น้องของเขาอีก ตั้งเยอะตั้งแยะ แล้วเดี๋ยวจะต้องมีลูก มีหลาน มีเหลน มีโหลน จะต้องไปดำเนินชีวิตในลักษณะของฆราวาส บอกมันได้ยินแล้วมันสยอง ไปไม่ไหว ไม่ใช่ว่าเขาไม่ดี เขาดีแต่เราเองมันไปไม่รอด
              เพราะฉะนั้นต่อให้เป็นนางสาวไทย พ.ศ. ล่าสุดมาขอแต่งงานขอชมว่ากล้าหาญมากต้องให้เหรียญอะไร ? กางเขนเหล็ก ?
              ....ชีวิตคู่พระพุทธเจ้าบอกว่า ถ้ามีศีลมีทานเสมอกันอยู่กันได้นาน ท่านบอกว่าเป็นคู่เทวดากับเทวดา มันจะมีคู่เทวดากับเทวดา เทวดากับมนุษย์ เทวดากับนางผีเสื้ออะไรอย่างนี้ ไล่ไปเรื่อยสลับกันไปสลับกันมา ถ้าได้คู่เทวดากับเทวดา มนุษย์กับมนุษย์ ผีเสื้อกับผีเสื้อ ผีเสื้อนี่ก็คือยักษ์ ยักษ์กับยักษ์อย่างนี้ มันก็เรียกว่ายังไง ถูกฝาถูกตัว มันไม่ผิดฝาผิดตัว
              เพราะฉะนั้นถ้าหากว่ากระโดดข้ามไปกระโดดข้ามมาล่ะก็ ชีวิตคู่อาจจะไม่ดีพอหรืออาจจะไม่ยืนยาวอย่างนี้เป็นต้น โบราณเขาถึงจะต้องมีการดูดวง แต่จริง ๆ แล้วดวงนั้นน่ะมันขึ้นอยู่กับเรามากกว่า ถ้าตั้งใจจะประคับประคองมันให้ดีจริง ๆ อยู่กันด้วยความอดทนอดกลั้นมันต้องได้ดีอยู่แล้ว
              แต่งงานก็มาหาพระใช่มั้ย ? ถึงเวลาวันแต่งก็ทำบุญเลี้ยงพระ มีลูกก็หาพระตั้งชื่อให้ ถึงเวลาก็มีการโกนผมไฟเดือดร้อนพระอีก
              สมัยก่อนนี่ถ้าหากว่าเข้าเรียนก็ส่งไปโรงเรียนวัดอีก ถึงเวลาจะแต่งงานแต่งการก็ถึงพระอีก เจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาพระสวดต่อนาม ตายขึ้นมาพระสวดบังสุกุล โบราณเขาเก่งเขาผูกพวกเราอยู่กับความดีตลอด พวกเรามันสู้โบราณไม่ได้ ไม่เห็นความฉลาดล้ำลึกของคนโบราณ
      ถาม :  อย่างคนที่เขาไป (ไม่ชัด) แต่หลังจากที่เขาผิดแล้ว แล้วเขาก็ไม่ได้ผิดอีก เพราะเขาไม่ได้คืน อย่างนี้ถือว่าเขาผิดมั้ย ?
      ตอบ :  ถ้าหากว่ายังไม่มีการไปขอขมากันความผิดนั้นก็ยังมีอยู่ โบราณเขาถึงได้ว่า ถ้าหากว่าเวลามีการหนีตามกันไป มีการฉุดกันไป โบราณเขาถึงมีการขอขมา การขอขมานี่ ถ้าหากว่าอีกฝ่ายหนึ่งยกโทษให้ถือว่าเป็นการอโหสิกรรม คือจะไม่มีโทษอีกเลย
      ถาม :  อย่างศีลข้อ ๑ นี่เราฆ่าไปแล้ว ๆ เราขอขมานี่ตรงนั้นอาจว่าศพ ศพนี่เขาอาจจะไม่ให้อภัยเรา แต่หลังจากนั้นเราไม่ฆ่าอีก ตรงนี้จะถือว่าผิดมั้ยคะ ?
      ตอบ :  ตรงนั้นน่ะ โทษเก่าจะถือว่าไม่ผิดไม่ได้ มันผิดอยู่ แต่ว่าโทษใหม่มันไม่มี เพราะเราพยายามทำในด้านดีให้มากเข้าไว้ ให้จิตมันเคยชินกับความดี จะได้ไม่นึกถึงความชั่วที่เคยทำไว้ตรงนั้นอีก ไม่ว่าศีลข้อไหนก็ตาม เมื่อเราล่วงเราละเมิดไปแล้ว ให้ตั้งหน้าตั้งตารักษามันใหม่ทันที อย่าไปหวนคิดถึงของเก่า
              เพราะว่าถ้าคิดถึงของเก่าแล้วใจมันจะหมอง ตั้งหน้าทำดีเข้าไว้ให้ความดีมันเคยชินอยู่ในใจเรา ถ้าหากว่าจิตมันเกาะความดีจนชิน ถึงเวลาตายมันไปดี
      ถาม :  เพราะฉะนั้น คนที่ผิดศีลข้อ ๓ นี่ถ้าฝ่ายเจ้าของเขาไม่อภัยอยู่แล้ว แต่ว่าผู้ที่เข้ามาอยู่ด้วยกันเขาก็พายามปฏิบัติธรรมน่ะนะคะ ตอนนี้มันได้นิดหน่อย แต่...?
      ตอบ :  ผิดน่ะผิด แต่ถ้าหากว่าเราทำความดีสูงกว่ากำลังของความดีมันก็สามารถส่งให้เราไปได้แต่ว่ามันประมาทไม่ได้เลยนะ
      ถาม :  เราจะถือว่าเขาจะไม่ผิดอีกแล้วตอนนั้น แต่ว่าเขาไม่คืนให้ตอนนี้นี่จะถือว่าเขาถือศีลบริสุทธิ์ได้มั้ยคะ ?
      ตอบ :  ถ้าหากว่าเราไม่ละเมิดคนของเขาอีกก็ไม่เป็นไร
      ถาม :  ถ้าเราไปเอาของเขา แล้วได้รับความยินยอมจากเขา ?
      ตอบ :  อันนั้นไม่ผิด
      ถาม :  แต่ว่าต้องยินยอมด้วยใจจริง ๆ ใช่มั้ยคะ ?
      ตอบ :  หลอกให้เขาเอ่ยปากยอมก็ใช้ได้แล้ว เรื่องของธรรมะเขาตรงไป ตรงมา ถ้าบอกว่ายอมก็เป็นอันว่าจบเลย พยายามไปกล่อมเขาหน่อยก็แล้วกัน
      ถาม :  แล้วอย่างกรณีที่เรานั่งสมาธินี่ อย่างความรู้สึกเราจะรู้สึกว่าหลวงพ่อท่านมาโปรดเราหรือมาสงเคราะห์เรานี่ มันจะมีเกณฑ์อะไรวัดคะ เพราะบางครั้งมันเหมือนกับว่าเราคิดเองเพียงแต่ว่าภาษาพูดมันเหมือนกับเป็นตัวแทนอะไรอย่างนี้ ?
      ตอบ :  บางที บางอย่างบางเวลา เราถามท่านในเรื่องที่มันจะเกิดขึ้นในระยะใกล้ ๆ ไม่ใช่ว่าเราปรามาสในครูบาอาจารย์ แต่ต้องการจะทราบจริง ๆ ว่าที่มาท่านมาจริง ๆ มั้ย ?
              เพราะฉะนั้นถามเรื่องที่จะเกิดขึ้นใกล้ ๆ อย่างเช่นว่า สมมุติว่าพรุ่งนี้เราออกไปข้างนอกจะเจอใครก่อน คนนั้นเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ใส่เสื้อผ้าสีอะไรแล้วเราก็จดจำไว้
              ถ้าหากว่ารุ่งขึ้นเป็นไปตามนั้นจริง ๆ ก็แปลว่าใช่อย่างนี้เป็นต้น แต่ถ้าถามหวยก็คงจะโดนไม้ตะพด เพราะฉะนั้นก็เลือกถามเอาหรือไม่ก็จะมีเหตุดีหรือไม่ดีเกิดขึ้นในครอบครัว ถ้าเกิดขึ้นจะเกิดในลักษณะไหนอย่างนี้ ถามเพื่อต้องการความมั่นใจไม่เป็นไร
      ถาม :  แล้วอย่างการที่เรารู้สึกว่าท่านมาโปรดนี่ อาจจะไม่ใช่ทุกครั้งที่เป็นท่านใช่มั้ยคะ บางครั้งเราอาจจะคิดเองก็ได้ใช่มั้ยคะ ?
      ตอบ :  มันอาจจะมีได้ทั้งสองอย่าง แต่ถ้าหากว่าเราเคยใช้อารมณ์ใจนั้นจนชินแล้วมั่นใจ พอความรู้สึกนั้นมันเกิดขึ้นมา เราจะรู้ทันทีว่านั่นแหละของจริง หลวงพ่อท่านถึงได้ย้ำแล้วย้ำอีกบอกให้จำอารมณ์นั้นไว้ ถ้าเราจำได้ถึงเวลาอาการเกิดขึ้นตามนั้นก็แปลว่าใช่ ถ้าหากว่าผิดไปจากนั้นก็ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจจะไม่ใช่
      ถาม :  ที่เมื่อวานบอกว่าถ้าเรื่องงานให้ติดต่อกับพระวิสุทธิเทพนี่ คำว่าพระวิสุทธิเทพนี่ในความหมายก็คือ.....?
      ตอบ :  พระพุทธเจ้าบนพระนิพพาน จุดธูปบอกท่านกลางแจ้งก็ได้
      ถาม :  จะองค์ไหนก็แล้วแต่หรือคะ ?
      ตอบ :  ก็เอาว่า องค์ปัจจุบันแล้วกัน
      ถาม :  มีอีกอันหนึ่งคือ เพื่อนเขาถามมาคือเขาจะจับลมหายใจไม่ค่อยจะได้ พอจับไปซัก ๓-๔ หนมันก็จะหายไปทุกครั้ง เขาก็มีความรู้สึกว่า ทำไมเขาถึงจับไม่ได้ ?
      ตอบ :  บางทีเขาอาจจะมีสมาธิสูงไปเลยก็ได้นะ ลมหายใจหายไปเลยนี่อย่างน้อย ๆ มันจะต้องเป็นปฐมฌานละเอียดหรือไม่ก็เป็นฌานที่ ๒ ความรู้สึกของจิตกับกายมันแยกออกจากกันเราจับอาการของลมหายใจเข้า-ออกไม่ได้นะ
              เพราะฉะนั้นถ้าหากว่ามันเกิดขึ้นบอกเขา บอกว่าลองอย่าไปควานหาลมหายใจ ทำเฉย ๆ ไม่รู้ไม่ชี้ให้กำหนดสติรู้ไว้ว่าตอนนี้ลมมันไม่มีแล้ว มันจะมีคำภาวนาหรือไม่มีคำภาวนาก็ให้รู้ไว้อย่างนี้เป็นต้น
              ถ้าหากว่าเราทำใจรักษาไว้ในระดับนี้ได้ มันจะก้าวหน้าไปอีก ถ้าหากว่ามันเป็นฌาน ๒ อย่างที่ว่า ว่าจริงนะจ๊ะ แต่ถ้าหากว่าไม่ได้ก็แปลว่าจิตของเขาหยาบ เผลอไปกับลมหายใจเข้าออก ก็ให้ย้อนกลับมานึกถึงลมหายใจเข้าออกใหม่ เป็นไปได้ทั้ง ๒ อย่าง ทีนี้ตัวเขาเองต้องสังเกตเองว่ามันเป็นแบบไหน
      ถาม :  ไม่สอนนั่งสมาธิเหรอคะ ?
      ตอบ :  คือว่าบ้านสายลม เขาสอนเป็นปกติอยู่แล้ว ถ้าหากว่าเราไปสอนมันเหมือนกับสอนแข่งกับสำนักใหญ่ มันน่าเกลียด เพราะฉะนั้นถ้าใครปฏิบัติมาติดขัด สอบถามตรงนี้ดีกว่า
      ถาม :  ............ปกติจะหยอดทุกวัน ทีนี้จะไม่อยู่บ้านเดือนหนึ่ง ก็เลยจะหยอดเผื่อไว้ ๓๐ วันที่กำลังจะมาถึงข้างหน้านี่ถือว่าถูกต้องมั้ยคะ ?
      ตอบก็ได้เหมือนกัน คือความตั้งใจของเรา แต่จริง ๆ ถ้าหยอดทุกวัน จิตก็คือจิตใจของเราได้สละออกทุกวัน ประเภทที่ว่าทำบุญทีละบาท ทำ ๓๐ ครั้งโอกาสดีกว่าทำบุญที ๓๐ บาทแต่ทำครั้งเดียว ดีกว่าตรงที่ว่าจิตใจเราได้สละออกทุกวัน ได้นึกถึงบุญทุกวัน มันจะอยู่ในกุศลที่มากกว่า แต่อันโน้นมันจะได้นึกถึงครั้งเดียวได้ทำครั้งเดียว
              เพราะฉะนั้นจริง ๆ แล้วก็คือมันใช้ได้ทั้งคู่ แล้วแต่ว่าโอกาสมันจะอำนวย แต่ถ้าว่ากันตามความเป็นจริงแล้วหยอดทุกวันโอกาสมันจะดีกว่า เพราะฉะนั้นถ้ามีโอกาสทำทุกวันก็ทุกวัน ถ้าไม่มีทุกวันก็เล่นมันทีหนึ่ง ๓๐ เหรียญไปเลยหรือจะเอา ๓๖๕ เหรียญ (หัวเราะ) เล่นมันปีละครั้งเลย
      ถาม :  แล้วถ้าเรามีการแผ่เมตตา สวดมนต์ก่อนนอนทุกวัน นี่ถ้าเราทำทุกวันเป็นกิจวัตรไม่มีพลาดอะไรเลย ถือว่าเป็นการดีใช่มั้ยคะ ?
      ตอบ :  ถ้าหากว่ามันไม่มีพลาดเลย ถ้าไม่ได้ทำแล้วรู้สึกทันทีว่าเราขาดการกระทำอันนั้นจำเป็นต้องรีบไปทำ อันนั้นถือว่าทำเป็นฌานแล้ว ความดีมันมั่นคงแล้ว
              แต่ทีนี้การแผ่เมตตาของเรานี่ลักษณะไหน การแผ่เมตตา กำหนดจิตของเราให้มีความรู้สึกว่าเราไม่เป็นศัตรูกับใคร เรายินดีเป็นมิตรกับคนและสัตว์ทั่วโลก ไม่ว่าผู้ใดก็ตามที่เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตายภพไหนภูมิไหน ก็ขอให้เขาพ้นจากความทุกข์อยู่ดีมีสุขด้วยกันในลักษณะนี้
              ส่วนอีกอย่างหนึ่งไม่ได้เรียกว่าแผ่เมตตา เรียกอุทิศส่วนกุศล ของเราใช้คำพูดผิด อุทิศส่วนกุศลก็คือ เราทำความดีในทาน ในศีล ในภาวนาเสร็จก็ตั้งใจให้เขา อันนั้นดีมากเลย เพราะว่าบุคคลที่เขามารอรับน่ะมีอยู่ทุกครั้งแหละ เพียงแต่เราจะเห็นหรือไม่เห็นเท่านั้น ถ้าหากว่าเขามาแล้วเราไม่ให้เขาก็ถือว่ามาเก้อ บางทีเสียใจเดินน้ำตาร่วงไปเลยอุตส่าห์ตะกายมาทั้งทีแล้วทำไมไม่ให้เราวะ ?
      ถาม :  หนูใช้วิธีตามของหลวงพ่อน่ะค่ะ ?
      ตอบ :  ทำตามนั้นก็ถือว่าสมบูรณ์แล้ว
      ถาม :  แต่ไม่มีตรงที่ให้พ่อแม่น่ะค่ะ ?
      ตอบ :  ในนั้นเขาบอกอยู่แล้ว บอกว่าให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วใช่มั้ย ? จะเป็นญาติก็ดี ไม่ใช่ญาติก็ดี ถ้าหากว่าจะให้พ่อแม่ที่มีชีวิตอยู่บอกท่านตรง ๆ เลยว่าเราทำอะไรขอให้ท่านโมทนาด้วย ถ้าหากว่าท่านไม่เอ่ยปากคัดค้านก็ถือว่าใช้ได้แล้ว คนเป็นต้องบอกกับตัวเอง แต่ว่าคนตายนี่เหวี่ยงแหได้
      ถาม :  ..................................
      ตอบ :  การสวดมนต์ทำวัตร ถึงเราจะชอบภาวนาก็ตามพยายามทำไว้ เพราะว่า การภาวนาจิตใจของเรามันอาจจะฟุ้งซ่านไม่ทรงตัวก็ได้ การสวดมนต์ทำวัตรจริง ๆ ถ้าเราทำเป็นมันก็คือ การทำสมาธิดี ๆ นี่เอง อีกอย่างหนึ่งถ้ากำลังใจเราเฮงซวยห่วยแตกจริง ๆ ตอนนั้นจะคิดชั่วอย่างไรก็ตามมันพูดชั่วไม่ได้ เพราะสวดมนต์อยู่ ทำชั่วไม่ได้เพราะนั่งอยู่ ต่อหน้าพระ อย่างน้อย ๆ ความเลว ๓ อย่างมันโดนตัดไป ๒ อย่างเป็นอย่างน้อยแล้ว
              เพราะฉะนั้นหลวงพ่อท่านถึงได้สั่งพระของท่านว่า ให้สวดมนต์ทำวัตรทุกวันอย่าให้ขาด ถ้าหากว่าทำเป็นการสวดมนต์ทำวัตรสร้างเป็นทิพจักขุญาณได้ เข้าฌานเข้าสมาบัติได้ไปนิพพานได้ง่ายนิดเดียว จะทำเป็นทิพจักขุญาณก็นึกถึงตัวหนังสือขึ้นมาเลย อิติปิโสภะคะวา อะระหังสัมมาสัมพุทโธ ขึ้นมาทีละตัวเลย ชัดเจนแค่ไหนทิพจักขุญาณก็ชัดแค่นั้น จะไปนิพพานก็โดดพรวดขึ้นไปกราบพระบนนิพพานเลย ตั้งใจสวดถวายเป็นพุทธบูชาอยู่ตรงนั้น
              ตราบใดที่จิตยังมีงานทำมันก็จะไม่เคลื่อนไปจากจุดนั้น เราสวดได้นานเท่าไหร่เราก็อยู่บนนิพพานได้นานเท่านั้น ตกลงว่าถ้าทำเป็นทุกอย่างล้วนแล้วแต่ทรงความดีได้จนถึงที่สุดทั้งนั้น
      ถาม :  หนูสวดคาถาพระอินทร์น่ะค่ะ สหัสสเนตโต จะสวดก่อนอ่านหนังสือแล้วอ่านเสร็จก็จะสวดอีก ๑ จบ แล้วคืนนั้นนอนแล้วหนูรู้สึกว่ามีคนมาบอกว่า ในฝันน่ะนะคะ เหมือนเราเข้าไปนั่งทำในห้องสอบเลย แล้วเป็นข้อสอบแบบสอบฟังค่ะ ภาษาอังกฤษ พูด ๆ มาหมดเลยแล้วเราก็ทำในนั้นในฝันน่ะค่ะ เป็นข้อสอบเดิมย้ำ ๆ ๒ รอบน่ะค่ะ พอตื่นมาจำไม่ได้เลยค่ะ คือแสดงว่ามีเทพมาหรืออะไร ?
      ตอบ :  คือจริง ๆ แล้ว ตัวคาถาท่านปู่พระอินทร์นี่เป็นทิพจักขุญาณอย่างหนึ่ง ทิพจักขุญาณนี่ก็สามารถจะล่วงรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าได้ แล้วอีกอย่างหนึ่งถ้าหากว่าเราทำคาถานี้คล่องตัวจริง ๆ ท่านบอกว่าเวลารับกระดาษคำถามมาแล้วให้คว่ำลง ตั้งใจขอบารมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พรหม เทวดาทั้งหมด มีท่านปู่พระอินทร์เป็นที่สุด ขอให้ทำข้อสอบนี้ได้ถูกต้องและก็ถูกใจกรรมการผู้ตรวจข้อสอบด้วย แล้วก็คว่ำกระดาษลง ตั้งใจว่านะโม ๓ จบว่าคาถานี้ ๓ จบพอพลิกขึ้นมาอ่านคำถามดู ถ้ายังทำได้ไม่หมดคิดว่าทำได้ไม่หมดก็คว่ำลงว่าคาถาซะอีก ๗ จบ คราวนี้รู้สึกอยากทำอย่างไรให้ทำอย่างนั้นเลย
              เคยทดลองมาแล้วได้ผลดีมาก มันดีขนาดตอบตรงทุกตัวอักษรเลย ของพระนี่จะไม่มีช้อยให้เลือก ของพระมีแต่จงอธิบายความ แล้วจงอธิบายความนี่ ถ้าเจอ ๓ หน้ากระดาษ ๕ หน้ากระดาษ มันแย่เหมือนกันใช่มั้ย ? แต่ทีนี้ของเรามันแย่หนักกว่าตรงนั้นอีกก็คือว่า แย่ตรงที่มันดันตรงทุกตัวอักษร ถ้าเขาจับเราว่าเราลอกข้อสอบนี่เจ๊งเลย เถียงเขาไม่ออก คุณไม่ได้ลอกมันเขียนตรงได้ยังไงเยอะขนาดนั้นน่ะ ความรู้สึกมันชัด ๆ เลยว่ามีพลังงานวิ่งปี๊ดลงตรงนี้ แล้วมันกระจายไปทั่วตัว โดยเฉพาะมือ มันสั่นเลยล่ะ ประเภทแทบจะบังคับไม่อยู่ ต้องประเภทใจเย็น ๆ ถ้าขืนเขียนไม่สวยเดี๋ยวเขาไม่อ่าน แล้วมันจะแย่จะเป็นอย่างนั้น ความรู้สึกเป็นยังไงว่าไปตามนั้น ข้อสอบไม่มียากเลย บางคนที่เป็นลูกศิษย์หลวงพ่อถามหลวงพ่อว่า เด็กไม่อ่านหนังสือแล้วไปทำข้อสอบในลักษณะนั้นเด็กมันไม่โง่หรือ หลวงพ่อบอกว่าไม่ว่าข้อสอบออกอะไรเด็กมันก็ทำได้แล้วมันโง่มั้ยล่ะ เหลือเชื่อเหมือนกันนะ แต่ถ้าหากว่าเราได้อ่านซะหน่อยหนึ่ง มันจะเป็นการดีมากกว่า อันนี้ลองมาด้วยตัวเองได้ผลเกิน ๑๐๐%
      ถาม :  แล้วตอนอ่านหนังสือความจำจะดีด้วยมั้ยคะ ?
      ตอบ :  ความจำจะดีด้วย ถ้าหากว่าเวลาที่เราจะสอบถ้าเราว่าคาถาว่าอะไร ถ้าจิตของเรานิ่งจริง ๆ ความรู้สึกมันจะย้อนกลับไปถึงตำราที่เราอ่านย้อนทวนได้หมดเลย เหมือนเรากางตำราลอกเลย ค่อย ๆ ทำซ้อมไว้ทุกวัน
      ถาม :  นั่งอยู่เฉย ๆ ไม่อ่านได้มั้ยคะแต่ท่องคาถา ?
      ตอบ :  ก็ให้อ่านไว้ซะหน่อยเผื่อเหนียวไว้ จริง ๆ แล้วที่อาตมาทำข้อสอบก็คือว่าปีนั้นป่วยหนัก พอป่วยหนักเสร็จไม่มีเวลาอ่านหนังสือ แล้ววิชาของพระหนังสือมันตั้งแค่นี้มันออกข้อเดียว (หัวเราะ) คุณอ่านมันอาจจะไม่ออก แต่ถ้าคุณไม่อ่านมันออกแน่ ๆ