ถาม :  แล้วฤทธิ์ที่เกิดนี่ขอทีเดียวแล้วได้เลยมั้ย หรือว่าต้องหลายครั้ง ?
      ตอบ :  ใช่ ก็ถ้าหากว่ามันได้หลายครั้ง ก็คือเราทำความดีเพิ่มเติมขึ้นไปเรื่อย เมื่อกี้ได้อธิบายไปทีแล้วว่า ถ้าหากมันขาดน้อยมันก็ได้ ทีนี้ของเราขาดน้อยขยันเติมมันก็ได้เร็วขึ้น แต่ถ้าขาดมากอธิษฐานให้ปากฉีกถึงหูก็ยาก
      ถาม :  แล้วอย่างนี้ถ้าเราอธิษฐานขอให้ถูกรางวัลที่ ๑ ได้มั้ยครับ ?
      ตอบ :  ได้เหมือนกันแต่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ เรื่องของลาภจากการพนันอย่างพวกหวย พวกเล่นการพนันต่าง ๆ นา ๆ มันเป็นผลของการทำบุญที่ไม่ได้ตั้งเจตนาเอาไว้ พอไปเจอเขาทำที่ไหนปุ๊บก็ร่วมกับเขาไปเลย
      ถาม :  แล้วอย่างที่เรียกว่าขโมยของ แบบบางทีข้าวที่เขาตั้งไว้แล้วไม่ได้บอกเขา แต่คิดว่าถ้ากินแล้วเขาไม่ได้อย่างนี้ถือว่าขโมยหรือเปล่าครับ ?
      ตอบ :  เขาเรียกว่า วิสาสะ ของพระเขายังให้วิสาสะเลย แต่ว่าของพระจะวิสาสะได้นั่นต้องเคยรู้จักกันมาต้องเคยเห็นกันมา ต้องเคยพูดกันมา แล้วข้อสุดท้ายนี่สำคัญที่สุด รู้ว่าทำแล้วเขาไม่ว่าอะไร ถ้าอย่างนั้นพระเองยังวิสาสะได้เลย แต่หลวงพ่อท่านบอกอย่าไปใช้เลยเดี๋ยวมันเสียนิสัย ก็บอกเขาซะหน่อยซิใช่มั้ย ? บอกเขาซะหน่อยรู้ว่าเขาไม่หวงอยู่แล้ว อย่างน้อย ๆ ความรู้สึกเขาก็ดีขึ้นว่า เออ.... มันยังรู้จักบอกกล่าวเจ้าของบ้าง ไม่ใช่หยิบไปเฉย ๆ
      ถาม :  แต่ก่อนนี้ค่ะเวลาที่ทำบุญหรืออะไรอย่างนี้ค่ะ ก่อนที่จะมาเริ่มแบบนี้ก็จะทำไปอย่างสบายใจ แต่พอมาเริ่ม... (ไม่ชัด)...อย่างนี้ค่ะแต่พอเราเริ่มตั้งใจจะทำความดีหรือทำบุญอะไรอย่างนี้ค่ะ มันจะมีอารมณ์หนักขึ้นมาค่ะ ?
      ตอบ :  ก็เป็นฌานอยู่ อารมณ์ฌานมันต้องอาศัยกดมันอยู่ มันหนักมันไม่เหมือนก่อนหน้านี้ ตรงอุปจารสมาธิ คืออารมณ์เบา ๆ ทั่วไป จริง ๆ แล้วเราสามารถที่จะลดกำลังลงมาให้สู่จุดเดิมของเราเมื่อก่อนนี้ได้ แต่ว่าจุดนั้นมันอันตรายหมิ่นเหม่เกินไป เพราะว่ามันล่อแหลมต่อกิเลสตัญหาต่าง ๆ ที่มันจะมากลั่นมาแกล้งมาทดสอบกำลังใจของเรา ถ้าเรากดมันเอาไว้มันจะนิ่งจะหนัก
              ขณะเดียวกันทำบุญก็จะไม่รู้สึกชื่นใจเลยทั้ง ๆ ก่อนหน้านั้นมันเป็นใช่มั้ย ? คือว่า มันก้าวพ้นจากจุดนั้นมาแล้ว ตัวปีติความชื่นใจของเรามันยังไม่เข้าถึงฌาน พอเราก้าวพ้นปีติมาเป็นฌานมันก็จะพ้นจากตัวปีติไปแล้ว มันเหลือแต่การทำบุญด้วยฌานคือความเคยชิน รู้ดีว่าดีก็ทำในเมื่อเป็นอย่างนั้นตัวชื่นใจมันเคยปรากฏแต่ก่อนนี้มันก็ไม่มีแล้วมันกลายเป็นตัวอุเบกขาไปแทน
              แต่ว่าเนื่องจากว่าตอนนี้กำลังใจของเรามันยังหยาบอยู่ต้องอาศัยกดมันมากอยู่ ตัวอุเบกขาของเราที่ปล่อยวางมันก็เลยวางไม่ได้เต็มที่ มันก็จะรู้สึกว่ามันหนักนะ ถ้ามันก้าวพ้นจุดนี้ไปได้มันจะเบาสบายทำเมื่อไหร่ก็ได้ หรือไม่ก็เราไปหัดประเภทที่เรียกว่าหัดทรงฌานในแต่ละระดับชั้นให้มันคล่องตัว จะขึ้นยังไง จะลงยังไง ๑-๒-๓-๔, ๔-๓-๒-๑ หรือ ๔-๑-๓-๒ สลับกันไปอย่างนี้
              จนกระทั่งมันคล่องแล้วเราสามารถลดอารมณ์เมื่อไหร่ ก็ได้เพิ่มอารมณ์ขึ้นไปเมื่อไหร่ก็ได้ ถ้าอย่างนั้นก็จะลงมาเป็นอุปจารสมาธิมันก็พอได้อยู่ มันจะได้ไม่ต้องเสียเวลาที่จะไปกดอารมณ์ของเราจนกระทั่งเรารู้สึกว่ามันหนัก แล้วทำบุญไปก็ไม่ชื่นใจเลยไม่รู้จะทำไปทำไมอะไรอย่างนั้น นั่นคิดผิดจริง ๆ แล้วทำไปเถอะทำบุญเมื่อไหร่มันก็เป็นบุญ กำลังของบุญมันสูงกว่าเดิมซะด้วยซ้ำไปเพราะว่าเราเป็นผู้ทรงฌานในขณะที่ทำ ทำไปเดี๋ยวพอคล่องตัวมันพ้นจากจุดนั้นก็สบายทีนี้แบกไปก่อน พอถึงที่แล้วก็วางกองไว้
      ถาม :  เวลาที่จะฝึกอย่างเวลาทำสมาธิค่ะ เราไม่ทราบว่าเมื่อไหร่จะถึงฌานที่ ๑ ฌาน ๒ ฌาน ๓ ฌาน ๔ พยายามจะสังเกตตัวเองก็ไปเปรียบกับในหนังสือ แต่ว่า....?
      ตอบ :  ถ้าหากว่าเราจะสังเกตในลักษณะนั้นก็แค่รับรู้ไว้เฉย ๆ อย่าไปตามจี้มัน ถ้าเราไปตามจี้มัน เออ! ตอนนี้มันวิตกนะ มันนึกอยู่ว่าจะภาวนา ตอนนี้มันวิจารณ์นะ ลมหายใจยาว - สั้น แรง – เบาอย่างไรเรารู้อยู่ภาวนาอย่างไรเรารู้อยู่ ตอนนี้มันปีตินะ เออ...ขนลุกแล้ว ตอนนี้น้ำตาไหล ตอนนี้ตัวโยกไปโยกมา เดี๋ยวมันก็เป็นสุขแล้วเดี๋ยวมันจะเป็นเอกัคตารมณ์ จะเข้าเป็นฌานแล้ว ถ้าเราไปตามจี้มันอย่างนี้ มันจะไม่เป็นหรอก
              เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ มันขี้อาย มันกระชั้นจนเกินไปมันไม่เอาด้วย เราต้องทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้อะไรจะเกิดขึ้นกับตัวเราก็ช่างมัน เรามีหน้าที่ภาวนาผลมันจะเกิดหรือไม่เกิดก็ตามทีเถิดเราจะทำ ถ้าสามารถวางกำลังใจได้อย่างนี้ มันจะปุ๊บปั๊บข้ามขั้นตอนไปเป็นฌานได้เร็วมากเลย เราคอยสังเกตไว้อย่างเดียวอย่าไปตามจี้มันติด ๆ เราแค่สังเกตว่าอาการเหล่านี้มันเกิดขึ้นรับรู้แล้วก็ปล่อยวางไปเรื่อย
              แล้วถึงเวลาเราไปอ่านตำราเราจะเข้าใจเลยว่าอารมณ์แต่ละขั้นตอนที่เกิดกับเรามันเป็นฌานขั้นไหน มีอยู่ ๒ ราย ... จะเรียกว่ารายเดียวก็ได้ เขาปฎิบัติอยู่ด้วยกันแต่ว่าเขาเล่าให้ฟังคนเดียว คนหนึ่งชื่อเรียม คนหนึ่งชื่อเกสร บ้านอยู่อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ยายเกสรเขาขี่จักรยานยนต์มอเตอร์ไซด์น่ะ ขี่จักรยานยนต์มาทำงาน คราวนี้เขาภาวนาจนชินมันจะทรงฌาน ๓ อัตโนมัติเลย พอถึงเวลาเขาก็จะเเข็งทั้งตัวเขาต้องไปเขย่าไห้มันหลุดเขาถึงจะขี่จักรยานได้ (หัวเราะ) พอเขาเขย่ามันหลุดเสร็จพอเผลอหน่อยมันก็เข้าอีกก็ต้องเขย่าอีก
              จนกระทั่งเขาสงสัยมากเลยว่าเขาเป็นอะไร เขาคิดว่าเขาผิดปกติ แต่เนื่องจากว่ามันเขย่าหลุดได้ก็ไม่อันตรายอะไรเขาก็เลยปล่อยมันมาเรื่อย ๆ พอเขามาถามก็เพิ่งจะรู้ว่าเขาเข้าถึงฌาน ๓ แล้วตอนนี้เขาชำนาญมากแล้ว คือเขาจะเข้าเมื่อไหร่ก็ได้ จะให้มันหลุดเมื่อไหร่ก็ได้ (หัวเราะ) มันกลายเป็นความไม่รู้ของเขา ทำให้เขาเข้า ๆ ออก ๆ จนชำนาญไปเลย ความจริงไม่รู้มันก็สนุกดีเหมือนกัน รายนั้นเขาดีอยู่อย่างคือเขาไม่รู้แต่เขาไม่กลัว บางคนพอเกิดอาการแปลก ๆ ขึ้นกับร่างกายแล้วกลัวเลิกทำไปเลยบ้างอะไรบ้างนั่นเสียประโยชน์ของตัวเอง น่าสนุกมั้ย ...
              ความจริงเขาปฎิบัติได้ดีมากเลย แต่เขาไม่รู้ว่าสิ่งที่ตัวเองทำได้เรียกว่าอะไร ทำน่ะทำได้อยู่แต่เรียกไม่ถูก พอมีคนไปบอกก็เพิ่งจะรู้ อ๋อ ! ไอ้คนทรงฌานคิดว่ามันวิลิศมาหราขนาดไหนหมู่ ๆ แค่นี้เอง (หัวเราะ) ไปซะไกลลิบแล้ว นั่นถ้าปล่อยต่ออีกนิดก็เป็นฌาน ๔ เต็มที่ไปเลย แต่เนื่องจากว่าเขาเองเขาพอไปถึงตรงนั้นแล้วมันบังคับไม่ได้แล้วนี่ ตัวมันเเข็งหมด เขาก็เลยต้องคลายมันออกมา พอไปถึงตรงนั้นแล้วถอยมันก็เลยไม่ได้เข้าฌาน ๔ ซะที แต่ว่า ๑-๒-๓ สำหรับเขาแล้วสบายมาก เข้า ๆ ออก ๆ จนชินแล้ว
      ถาม :  งั้นพอเขาได้ ๓ แล้วตอนฌาน ๑-๒ ล่ะ ?
      ตอบ :  ตอนนั้นขั้นตอนมันไม่แปลกนี่ใช่มั้ย ? เพราะว่าปฐมฌานนี่มันรู้แค่ลมอัตโนมัติ พอฌาน ๒ นี่ลมอัตโนมัติ พอฌาน ๒ นี่ลมมันเบาลงคำภาวนานี่บางทีก็ยังอยู่บางทีก็หายไป ฌาน ๓ นี่ต่างหากถ้าหากว่ามันเข้าหนักจริง ๆ นี่ตัวมันไม่กระดิกทีก็หายไป ฌาน ๓ นี่ต่างหากถ้าหากว่ามันเข้าหนักจริง ๆ นี่ตัวมันไม่กระดิกเลย มันเหมือนยังกับโดนมัดแน่นปึ๋งหรือไม่ก็ตัวแข็งเป็นหินเลยน่าลองมั้ย ?
      ถาม :  แล้วเวลานั่งจริง ๆ แล้วจะรู้มั้ยคะว่า ฌาน ๑ ฌาน ๒ ฌาน ๓ ฌาน ๔ ?
      ตอบ :  ถ้าเราจะรู้สภาพจิตของเราผ่านขึ้นตอนอย่างนี้ ๆ สภาพร่างกายมีอย่างนี้ ๆ เกิดขึ้นถ้าหากเราไปศึกษาขึ้นตอนของการทรงฌานมา รู้ว่าแต่ละอาการอยู่ในระดับไหนเราจะรู้เลยแต่ว่าเราไม่ได้ศึกษามาก็แบบรายนั้น ทำได้จนคล่องแต่ไม่รู้ว่ามันคืออะไร ตอนนี้ถ้าหากไปเข้าฌานออกฌานแข่งกับแกนี่สู้แกไม่ได้เลยนะ แกคล่องมากเลย (หัวเราะ )
              ทำอยู่ทุกวัน ...พอขึ้นสตาร์ทเครื่องออกไปได้ การขี่รถมันต้องใช้สมาธินี่ พอเริ่มใช้สมาธิปุ๊บ ความเคยชินมันก็กลายเป็นฌาน ๓ ไปเลย ก็ต้องไปเขย่าให้หลุดออกมาแล้วก็ขี่ต่อ แล้วต่ออีกหน่อยก็เป็นอีกแล้วก็เขย่า (หัวเราะ) ดู ๆ แล้วมันน่าสนุกออก กว่าจะรู้นี่ตัวเองคล่องมากแล้ว ทรงฌานเป็นปกติแล้ว
      ถาม :  เวลาเราขี่รถนี่จะเป็นคนเคยชินอยู่อย่างหนึ่ง จะมองไปข้างหน้ามองไปไกล ๆ เสร็จแล้วคล้าย ๆ ภาพมันจะนิ่ง บางทีนี่ขี่รถเลยที่แต่ว่าไม่รู้ตัว ?
      ตอบ :  ลักษณะก็คงคล้ายกันภาษานี้เขาเรียก ภวังค์ ภวังค์นี่จริง ๆ แล้วมันตกจากอารมณ์แน่นมาสู่ภาวะนั้น แต่ของเราเรียกคำว่า ภวังค์ ก็คือแทนที่จะตกมันเข้าสู่ภาวะนั้น เข้าสู่ภาวะนั้นของเรามันอาจจะเป็นปฐมฌานหยาบ พอเป็นปฐมฌานหยาบสิ่งต่าง ๆ ที่มันผ่านเข้ามาเราจะรับรู้เฉย ๆ แต่ไม่สนใจมัน ในเมื่อไม่สนใจมันรถกำลังขี่อยู่ เราจะไปตรงนั้นเราดันไม่สนใจมันก็เลย
      ถาม :  เสียงลม เสียงรถอื่นนี่ผมจะไม่ได้ยิน
      ตอบ :  บางทีหูมันก็ดับไปเลย ก็ดีเหมือนกันนะ ได้จากขี่รถอีกคนหนึ่ง
      ถาม :  “ปัญจมฌาน” คืออะไร ?
      ตอบปัญจมฌาน ก็คือฌานที่ ๕ มีสำหรับพระโพธิสัตว์บารมีเข้มเท่านั้น ทั่ว ๆ ไปทำไม่ได้หรอกถ้าคุณเป็นสาวกภูมิ เพราะว่าฌานมันเป็นฌาน ๔ มันจะประกอบไปตัวสุดท้ายก็คือตัว เอกัคตารมณ์ แปลว่าอารมณ์มันตั้งมั่นเป็นหนึ่งเดียวไม่คลอนแคลนไม่หวั่นไหวไปไหน แต่เนื่องจากว่าเอกัคตารมณ์ของทุกขั้นตอนไม่ว่าจะฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ มันจะมีตัวอุเบกขาอยู่ข้างในนั้น ถ้าคุณขาดตัวอุเบกขาคุณจะทรงฌานไม่ได้ ตัวอุเบกขาอย่างที่บอกว่าเรามีหน้าที่ภาวนามันจะเป็นอย่างไรช่างมันนั่นคือ อุเบกขา คราวนี้ผู้ที่มีความชำนาญมาก ๆ ในระดับนั้นส่วนใหญ่จะเป็นพระโพธิสัตว์ที่บารมีเข้มมาก เข้าจะแยกตัวเอกัคตากับตัวอุเบกขาออกจากกันได้ ก็จะกลายเป็นฌานที่ ๕
      ถาม :  ไม่ใช่อรูปฌาน ?
      ตอบ :  ไม่ใช่ แต่ถ้าหากว่าเราจะนับเป็นอรูปฌาน ๑-๒-๓-๔ ขึ้นไปจะเรียกปัญจมฌานก็จะเป็นอรูปฌานที่ ๑
      ถาม :  ก็แสดงว่าได้ทั้ง ๒ อย่าง ?
      ตอบ :  ก็ไม่ใช่ เพราะว่าอรูปฌานมันใช้กำลังแค่ฌาน ๔ เท่านั้น เพียงแต่ว่าใช้ฌาน ๔ ในการพิจารณาอากาศ พิจารณาวิญญาณ อย่างนั้นก็ดูด้วยว่าเขาต้องการอะไร ถ้าเป็นอรูปฌานที่ ๑ จะเรียกปัญจมฌานได้ แต่ว่าปัญจมฌานที่แท้จริงนั่นจะเป็นพระโพธิสัตว์เท่านั้นที่ได้ คนทั่ว ๆ ไป ไม่จำเป็นที่จะต้องศึกษาถึงขั้นนั้น เพราะไม่ใช่ครูเขา ถ้าเป็นครูเขาจำเป็นที่จะต้องรู้ถึงขึ้นนั้น ไม่งั้นถึงเวลาแล้วมันตอบเขาไม่ได้
      ถาม :  งั้นปัญจมฌานก็ไม่ใช่ฌาน ๔ หรือว่าเป็น ?
      ตอบปัญจ แปลว่า ๕ ปัญจม แปลว่าที่ ๕ ปัญจมฌาน คือ ความเคยชินขั้นที่ ๕