ถาม :  ............
      ตอบ :  ลองดูมั้ย เมื่อกี้เค้าทำบุญปิดท้ายรายการน่าลองดูบ้าง สมบูรณ์ บริบูรณ์ เดี๋ยวเอาไว้ตอนผ้าป่าถวายหลวงปู่แล้วกันลูกศิษย์หลวงพ่อยุคเก่า ๆ จะรู้ส่วนใหญ่เขาจะแย่งกันปิดท้ายไปเรื่อย ๆ มันก็เลย ปิดกันไม่รู้จบซะที จนกว่าหลวงพ่อจะบอกพอแล้วนั่นแหละถึงจะหยุดกัน เดี๋ยวงวดนี้พวกเราไปผ้าป่าแล้วก็ไปลองดูว่าใครจะปิดท้ายกว่ากัน
              บางทีหลวงพ่อท่านก็หัวเราะประเภท ๓ หมื่นกว่า ๆ เท่าไหร่ กว่าเท่านั้นร้อยเท่านี้ร้อยเติมไปเติมมาให้ครบพัน หลวงพ่อบอกว่ายังไม่ครบ ๔ หมื่นเลย (หัวเราะ) เป็นลักษณะนั้นแหละก็เติมกันไปเรื่อย เติมไปเติมมามันมีแต่เกิน มันไม่มีขาดมันก็ต้องเติมกันไปเรื่อยเศษสตางค์มันมีทุกที
      ถาม :  ...............
      ตอบ :  อานิสงส์พิเศษต่าง ๆ ที่หลวงพ่อท่านบอกมา ส่วนใหญ่แล้วพวกคนเก่า ๆ เขารู้แต่บางทีก็จำแล้วลืมไม่ค่อยได้จดกันเอาไว้ อันนั้นถ้าเป็นไปได้ก็จด ๆ กันเอาไว้หน่อย เผื่อคนรุ่นหลังเขามาอ่านดูเขาจะได้รู้บ้างว่ามีอะไร
      ถาม :  แล้วถ้าอย่างไปแย่งกันทำสังฆทานเป็นคนแรก?
      ตอบ :  ถ้าอย่างนั้นก็อานิสงส์เหมือนพระอัญญาโกณฑัญญะ พระอัญญาโกณฑัญญะ บรรลุมรรคผลเป็นองค์แรกสุดในพุทธศาสนา ในอดีตชาติ พระอัญญาโกณฑัญญะกับพระสุภัททะ เป็นพี่น้องกัน ท่านมีที่ดินอยู่ผืนหนึ่งท่านก็แบ่งกันคนละครึ่ง พระอัญญาโกณฑัญญะพอลงมือไถที่เพื่อทำนาท่านก็ทำบุญ หว่านกล้าท่านก็ทำบุญ ข้าวตกรวงท่านก็ทำบุญเกี่ยวข้าวท่านก็ทำบุญ ขนข้าวขึ้นยุ้งท่านก็ทำบุญ ท่านทำตลอด ทุกระยะนะ
              ส่วนพระสุภัททะนี่ท่านทำบุญตอนขนข้าวขึ้นยุ้งทีเดียว อานิสงส์นี่มันข้ามชาติมากี่หมื่นกี่แสนชาติก็ไม่รู้ มาถึงชาติสุดท้ายพระอัญญาโกณฑัญญะบรรลุมรรคผลเป็นองค์แรกในพุทธศาสนา ส่วนพระสุภัททะหวิดไป พระพุทธเจ้าป่วยหนักแล้วใช่มั้ย กำลังพักผ่อนอยู่ที่ระหว่างนางรังทั้งคู่ สุภัททะซึ่งเป็นปริพาชกคือนักบวชศาสนาอื่น ตั้งใจจะเข้าไปกราบทูลถามปัญหาธรรมกับพระพุทธเจ้า พระอานนท์ไม่ให้เข้าแล้ว พระอานนท์นี่เลิศทางพุทธอุปัฏฐากท่านย่อมรู้ว่าเวลาไหนควรเวลาไหนไม่ควรเป็นพระองค์เดียวที่เป็นเลิศถึง ๕ อย่าง มีสติ มีคติ มีธิติ มีความเพียร แล้วก็เป็นพุทธอุปัฏฐาก ไม่มีใครมีมากว่านี้อีกแล้ว อย่างเก่งก็ ๒ ทาง
              อย่างเช่นพระสุภูตะเถระ เลิศในทางอยู่อรณวิหาร ก็คือการเข้านิโรธสมาบัติ และก็เป็นทักขิเณยยบุคคล คนเข้านิโรธสมาบัติก็ต้องเป็นบุคคลที่สมควรแก่การถวายทานอยู่แล้วใช่ไหม อันนี้เลิศ ๒ อย่าง มีพระอานนท์องค์เดียว ๕ อย่าง ในเมื่อท่านเลิศในพุทธอุปัฏฐาก เลิศทางผู้มีสติ มีคติ ท่านก็ย่อมรู้ว่า เวลาไหนควร เวลาไหนไม่ควร ก็บอกว่า สุภัททะปริพาชกนั้นไม่ควรจะเข้าพบพระพุทธเจ้าเพราะว่าทรงพักผ่อนแล้ว พระพุทธเจ้าได้ยินปุ๊บบอกว่าอานันทะดูก่อนอานนท์ให้เธอเข้ามาเถอะตถาคตรอเธออยู่
              พอท่านทูลถามปัญหาธรรมพระพุทธเจ้าแก้ให้ท่านก็บรรลุมรรคผล พระพุทธเจ้าท่านก็ประทานเอหิภิกขุคือ บวชให้ด้วยตัวเอง ท่านประทานโอวาทว่าจงมาเป็นภิกษุเถิด ธรรมอันเรา กล่าวดีแล้วจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด คือเป็นพระอรหันต์แล้ว ถ้ายังไม่เป็นพระอรหันต์ท่านจะบอกว่า จงปฏิบัติเพื่อความถึงที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด
              ในเมื่อท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็เลยบอกว่าจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด เป็นสาวกองค์สุดท้ายในพุทธศาสนาที่บวชกันในลักษณะนั้น อานิสงค์ก็จะเหมือนพระโกณฑัญญะแย่งกันบรรลุก่อนดูซิใครจะหัวแตก วิ่งแย่งกันทำบุญชนกันหัวแตกเลย
              จำไว้ให้แม่น ๆ นะทำบุญไม่ได้อยู่ที่จำนวนเงินมาก ๆ ไม่ได้อยู่ที่ของมาก ๆ หากอยู่ที่กำลังใจในการสละออกของเรา เราทำบุญเพื่อตัดโลภะ คือความโลภของเรา เราทำบุญเพื่อสร้างทานบารมีของเราให้เต็ม คนเขามีเยอะเขาทำบุญมาก ๆ เราไม่ต้องไปอิจฉาเขาหรอกโมทนาตามเขาเลย เรามีแค่ไหน เราทำตามกำลังของเราไม่ให้ตนเดือดร้อน ไม่ให้คนรอบข้างเดือดร้อน ถือว่าใช้ได้แล้ว มันไม่ได้มากไม่ได้น้อย มันสำคัญตรงการสละออก
      ถาม :  .................
      ตอบ :  เรื่องของการหลับตามันมืดเป็นปกติอยู่แล้วเราอย่าไปใส่ใจมัน ที่มันปวดหัวมันมีอยู่ ๒ ทาง อย่างแรก เขาเรียกว่า ขันธมาร คือร่างกายมันคอยขวางไว้ไม่ให้ทำความดี อย่างที่ ๒ ก็คือเราตั้งใจจะให้มันสว่างเราก็เลยใช้สายตาไปเพ่งเอา เราใช้สายตาไปยิ่งเพ่งมากเท่าไหร่ มันจะทำให้ประสาท เครียดและปวดหัวมากขึ้นเท่านั้น เราหลับตาสบาย ๆ นึกเหมือนกับย้อนเข้าไปอยู่ข้างในของเรา ให้ใจของเราอยู่สุดของตรงลมหายใจเข้า เขาเรียกว่าศูนย์กลางกาย มันเรียกยาก
              เป็นอันว่าเราหายใจเข้าไปสุดตรงไหนก็นึกถึงตรงนั้น แล้วเวลาหายใจเข้านึกว่าพุท ให้ลงไปสุดตรงนั้น หายใจออกนึกว่า โธ ให้ออกจากตรงนั้นมา เอาใจจดจ่ออยู่ที่เดียวไม่ต้องให้เคลื่อนไปไหน ตั้งใจมองสบาย ๆ นึกเหมือนกันกับเรามองอยู่ในท้องของเรา ลมมันลงไปสุดตรงไหนนึกถึงตรงนั้นแหละ พุทเข้า โธออก นึกตามไปแค่นี้พอนะ

      ถาม :  นั่งอย่างนี้เขาเรียกว่านั่งทับสมาธิใช่มั้ยคะ?
      ตอบ :  เรียกว่า สมถะภาวนา คือการทำใจให้สงบก่อน พอใจมันสงบ แล้วต่อไปมันมีการคิดต่อเพื่อพิจารณาให้เห็นความเป็นจริงของโลกนี้และร่างกายเขาเรียกวิปัสสนา
      ถาม :  พอนั่งทีไรแล้วปวดหัวทุกทีเลย
      ตอบ :  นั่นอาจจะเป็นเพราะเราทำผิดวิธี
      ถาม :  นั่งทับสมาธิแล้วใช่มั้ยคะ?
      ตอบ :  ไม่ใช่จ้ะ มันอาจเป็นเพราะเราทำผิดวิธี บางทีเราอาจจะใช้สายตาเพ่งมันอย่างหนึ่ง หรือไม่ก็เรามีบุญเก่าจำนวนมาก ถ้าเราเริ่มทำมันจะได้ดีเร็ว เขาจะพยายามขวางเรา พวกมารเขามีอยู่ ๕ อย่างที่จะขวางความดี อันนี้อย่างหนึ่งเขาเรียกขันธมาร คือร่างกายมันช่วยขวางด้วย ถ้าหากเราไม่ทำความดีมันก็ปกติ ถ้าทำความดีเมื่อไหร่มันชวนให้เจ็บป่วยอยู่ตลอด
      ถาม :  อ่านจากหนังสือหลวงพ่อฤๅษี มีนะคะใช้วิธีการเพ่งกสิณ
      ตอบ :  ถ้าเพ่งกสิณเราต้องหาวัตถุมาจ้ะ
      ถาม :  อย่างนี้เราต้องฝึกพุทโธให้คล่องก่อนใช่มั้ยคะ?
      ตอบ :  ฝึกให้คล่องก่อนได้จะดี แล้วการเพ่งจริง ๆ ก็ไม่ใช้สายตาเพ่งอะไร ลืมตามอง แล้วหลับตาลงนึกถึง พอภาพหายไปลืมตาดูใหม่แล้วหลับตาลงนึก ไม่ใช่ไปนั่งจ้องนะ คำว่าเพ่งคือจิตใจมันจดจ่ออยู่ไม่ใช่ใช้สายตาเพ่ง เดี๋ยวจะเข้าใจผิดพอเราภาวนาจนคล่องตัวแล้ว แล้วค่อยไปทำกสิณ เพราะคำภาวนากสิณมันยาว ถ้าเราไม่คล่องตัวมันจะไม่ได้
      ถาม :  แล้วนะมะพะธะ...?
      ตอบ :  “นะมะพะธะ” เป็นการฝึกทิพจักขุญาณ ฝึกตาทิพย์ ฝึกถอดจิต ถอดกายเพื่อไปนรก ไปสวรรค์
      ถาม :  เราต้องฝึกพุทโธไปก่อนใช่มั้ยคะ?
      ตอบ :  ไม่ต้องฝึกพุทโธก่อนก็ได้เพราะ “นะมะพะธะ” มันไม่ยาว หายใจเข้านึก “นะมะ” หายใจออกนึก “พะธะ” แต่ว่าพวกนี้จะโลดโผนหน่อยบางทีตัวสั่นพั่บ ๆ เหมือนกันเจ้าเข้า แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่ มันเกิดจากการดึงกันระหว่างกายในกับกายนอก ตัวในมันอยากไป ตัวนอกมันก็กลัว มันก็รั้งกันไปรั้งกันมาก็ดิ้นไปดิ้นมา ถ้าหากว่าตัดสินใจได้ปุ๊บไปเลยมันก็เลิกดิ้น
      ถาม :  อย่างนี้ต้องฝึก “นะมะพะธะ” หรือว่าฝึก “พุทโธ” ดีคะ?
      ตอบ :  อยู่ที่เราชอบอย่างไหน ถ้าเราต้องการรู้เห็นไม่ชอบอยู่เฉย ๆ กำลังใจสงบเป็นที่พอใจแล้วก็ใช้ "พุทโธ"
      ถาม :  ฝึกได้ทั้ง ๒ อย่าง ใช่มั้ยคะ?
      ตอบ :  ได้ทั้ง ๒ อย่างจ้ะ อยู่ที่ว่าเราชอบแบบไหน ถ้าหากว่าทั่ว ๆ ไปเราก็ใช้ “พุทโธ” เพื่อใจมันจะได้สงบ ถ้าเราต้องการฝึกอย่างเป็นทางการเพื่อถอดจิตถอดกายเราก็แบ่งเวลาใช้ “นะมะพะธะ” ได้
      ถาม :  จำเป็นมั้ยคะว่าหนูพยายามนั่งมาตั้งนานแล้วแต่มันก็ยังไม่ไปไหนสักทีหนึ่ง?
      ตอบ :  จริง ๆ แล้วเขาไม่ให้คิดอย่างนั้น การนั่งสมาธินี่ให้เราคิดว่าเรามีหน้าที่ทำ ส่วนผลจะเกิดขึ้นอย่างไรมันเป็นเรื่องของเขา ถ้าเราทำใจอย่างนี้ได้จะได้เร็วมาก แต่ถ้าเราไปทำเพราะอยากตัวอยากมันตัดไปเยอะ โอกาสที่จะเกิดผลมันน้อย เราอยากเห็นนั่นเห็นนี่ อยากรู้นั่นอยากรู้นี่ อยากได้นั่นอยากได้นี่ มันจะตัดหมด โอกาสมันน้อย
              เพราะฉะนั้นทำใจสบาย ๆ เรามีหน้าที่ภาวนา มีหน้าที่นั่งดูลมหายใจเข้า-ออก ผลจะเกิดอย่างไรเรื่องของมัน ถ้าทำใจได้อย่างนี้จะเร็วมาก สำคัญมันอยู่ตรงนี้เอง เวลาทำอย่าไปอยากเพราะถ้าความอยากมันขึ้นมามันกั้นหมด
      ถาม :  เวลาทำเขาบอกว่าต้องมีคนมาคุมสมาธิถึงจะทำได้ดี?
      ตอบ :  ถ้ามีอาจารย์ช่วยสงเคราะห์ได้จะดีจ้ะ
      ถาม :  จะทำได้ดี?
      ตอบ :  ไม่จำเป็นหรอกจ้ะ มันอยู่ที่เรา ถ้าเรากล้าทำเองได้ก็ไม่ต้องมีอาจารย์ เพราะว่าทุกอย่างถ้าเราทำแล้วมันมีแต่ผลดีทั้งนั้น ยกเว้นว่าเราทำผิดวิธีถึงจะเป็นผลร้าย
      ถาม :  เวลาหนูนั่งทีไรรู้สึกปวดหัวทุกทีเลย?
      ตอบ :  อันนี้ต้องลองแก้ดูว่าเวลาเรานั่งแล้วเราตั้งใจไปเพ่งอะไรหรือเปล่า โดยใช้สายตาตั้งใจจะให้มันสว่างหรือตั้งใจจะเห็นโน่นเห็นนี่มั้ย? ถ้าเราทำอย่างนั้นก็ให้เลิกซะ กำหนดใจสบาย ๆ เหมือนเรานึกย้อนเข้าไปในตัวของเราถึงจุดศูนย์กลางกาย ลองสูดลมหายใจเข้า-ออก เอาใจจดจ่ออยู่ตรงนั้นแล้วก็นึกถึงลมหายใจเข้า-ออก มันเข้าไปสุดตรงนั้น มันออกก็ออกจากตรงนั้น นึกอยู่แค่นั้นก็พอ
      ถาม :  แล้วบางทีนั่งมันเหมือนตกจากทีสูงค่ะ?
      ตอบ :  อันนั้นมันเริ่มจะเป็นฌานแล้ว พอสมาธิเริ่มทรงตัวถึงระดับหนึ่งเขาจะเรียกว่าฌาน พอกำลังมันจะเริ่มเป็นฌานจิตมันหยาบไปหน่อยสมาธิมันเกาะไม่ติดมันจะพลัดจากฌานลงมา อาการมันหวิวมันเหมือนตกจากที่สูงลงมา เราก็จะสะดุ้งแล้วบางทีก็กลัวแล้วมันจะเลิกไปเลย ความจริงขั้นตอนนั้นมันกำลังจะได้ดีอยู่แล้ว
      ถาม :  พอสะดุ้งทีไรก็ต้อง?
      ตอบ :  ก็เลิกทำ....ทำต่อไปเรื่อย ๆ จ้ะ พอใจมันละเอียดขึ้นมันเกาะติดมันก็จะทรงเป็นฌาน จิตก็จะสุขเยือกเย็นไปเลย ข้ามอีกนิดเดียวเท่านั้นเองต่อไปอีกนิดเดียว ต่อไปเราทำก็อย่าคิดว่าขั้นตอนนี้มาแล้ว เราจะได้อย่างนั้นไม่ต้องไปคิด มีหน้าทีภาวนาไปอย่างเดียว มันจะเกิดไม่เกิดช่างมัน แล้วจะได้เร็ว