สนทนากับพระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เดือนมิถุนายน ๒๕๔๔
ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ
ถาม : (หัวเราะ) มันก็แค่นี้ มันก็เป็นแล้วครับ ผมยังเคยสังเกตตัวเอง พยายามจะคิดไม่ดีอย่างนี้มันคิดไม่ได้ด้วย
ตอบ : มันหยาบเกินไป หยาบเกินไป จริง ๆ แล้วไอ้ตัวสุข ถ้าหากเป็นตัวสุขในฌานจริง ๆ น่ะ มันเกิดจากการที่ รัก โลภ โกรธ หลง ซึ่งเป็นไฟกองใหญ่สี่กองโดนอำนาจของฌานกดดับลงชั่วคราว ไอ้คนโดนไฟเผาตลอดเวลา อยู่ ๆ มีสิ่งมาดับไฟให้สบายยังไงอธิบายถูกมั้ยล่ะ ? อธิบายไม่ถูกหรอก ภาษามนุษย์กับภาษาหนังสือมันหยาบเกินไปที่จะอธิบายภาษาธรรมะที่เกิดจากใจ หลวงพ่อท่านพูดได้ดีที่สุดแล้ว แต่ก็เป็นแค่ส่วนหยาบเท่านั้น อันนี้กล้าพูดได้เต็มปาก แต่คงไม่มีใครพูดได้ง่ายกว่าหลวงพ่ออีกแล้ว
ถาม : แล้วเดี๋ยวนี้รู้สึกว่าตัวเอง เริ่มฝันแม่น แต่ก่อนเวลาตัวเองฝันต้องเอาตรงข้าม
ตอบ : เดี๋ยวก็เสร็จมันอีกหรอก พอเริ่มฝันแม่นก็เริ่มรับรู้ไว้เฉย ๆ แต่อย่าไปอยากให้มันฝันแบบนั้น ถ้าอยากแล้วเสร็จมัน พวกนี้ลีลามันเยอะสารพัด จนกระทั่้งสู้กันไปจนถึงวาระสุดท้าย ถึงได้บอกได้เต็มปากเต็มคำว่ากิเลสมาร กับความดีหน้าเหมือนกันทุกอย่างเลย เหมือนกันเปี๊ยบเลย เดินมาก้าวเดียวกันหมด ยกเว้นก้าวสุดท้าย กิเลสมันพาเราลงต่ำ ขณะที่ความดีพาเราขึ้นสูงแค่นั้นเอง
ถาม : จริง ๆ แต่ก่อนผมนึกว่ามันง่าย ๆ นะครับ แต่พอฟังจริง ๆ แล้วก็ ผมรู้สึกว่า เหมือนกับเราต้องรู้ตัวตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมงด้วย เพราะฉะนั้นมันโดนชนักตลอดเลย
ตอบ : ก็อย่างตอนนี้ คุยกันไปเนี่ย เราต้องมีสติรู้อยู่ มันก็ต้องมีจุดพอดีของมัน ถ้าเกินจุดนั้นมันจะเป็นฟุ้งซ่าน แล้วเราจะเบรกมันไม่อยู่ จะกลายเป็นท่อประปาแตก แล้วมันจะไปเรื่อย
ถาม : ใช่ครับ แล้วผมก็คิดไปโน่นเลย เป็นบ่อยด้วย
ตอบ : ขนาดแค่ตรงนี้ ถ้าตามมันไม่ทัน ก็เสร็จมัน
ถาม : ทั้ง ๆ ที่เรากำลังคิดถึงเรื่องความดีด้วยซ้ำ ?
ตอบ : ใช่....บอกแล้วว่ากิเลสกับความดี หน้าตาเหมือนกันเปี๊ยบเลย คือมันหลอกเราได้ทุกวิถีทาง มันขี่คอกันมา เดินก้าวเดียวกันด้วย
ถาม : แล้วอย่างนี้เราจะรู้ได้ยังไงครับว่า เราชนะมันแล้ว ?
ตอบ : ถ้าทำถึง ญาน คือเครื่องรู้จะปรากฏ ถึงเวลานั้นจะรู้เองว่าเป็นอย่างไร เหมือนที่ท่านใช้คำว่า ญานังโหติ ชาติวุสิตัง พรัหมจริยัง กะตังกรณียัง เครื่องรู้ก็เกิดขึ้น รู้ว่าชาติสิ้นสุดลงแล้ว พรหมจรรย์ถึงจุดจบแล้ว จะรู้ขึ้นมาเอง
ถาม : เป็นอาการเดิมอีกแล้ว พอหลวงพี่พูดปั๊บ มันเหมือนมีอะไรใส ๆ ปิ๊ง ขึ้นมาอย่างนี้ประจำเลย แล้วมันเหมือนตามทันอีกแล้ว แต่พอขาดสติมันก็หายอีกแล้ว (หัวเราะ)
ตอบ : ตอนนี้มันเป็นเงาในน้ำ พอมันเป็นเงาในน้ำแล้ว เราตั้งใจเอื้อมมือจะไปจับ จะแตกกระจายเลย ปล่อยมันอยู่ตรงหน้าเฉย ๆ รู้ไว้เฉย ๆ แล้วอย่าไปดิ้นรนไขว่คว้ามัน เพียงแต่ว่าประคับประคองมัน
ถาม : อย่างนี้แหละครับ ผมว่ามันจะชนะกันยากด้วย ก็อย่างที่ผมบอกว่าตัวเองน่ะชอบอวดชอบอะไรอย่างนี้ พอมันติดปั๊บก็จะมาอย่างนี้
ตอบ : คือตอนนี้มันยังไม่เห็นโทษของมันพอเห็นโทษของมันว่า อวดทีไรเราเจ๊งทุกที เดี๋ยวพอมันเข็ดเข้ามันก็เลิกได้ ตอนนี้มันต้องปล่อย มันยังคันอยู่ต้องให้มันก่อน ถ้าไม่เกาเดี๋ยวขาดใจตายเพราะมันคัน ให้มันเกาซะเกาไปเกามาหนังถลอกปอกเปิก ชักแสบชักร้อน มันก็เลิกเอง
ถาม : เนี่ยครับ อย่างนั่้งสมาธิอย่างนี้ คัน ๆ เฮ้ย ! อย่าไปเกาพอเกาเสร็จเดี๋ยวสมาธิตก พอเริ่มเดินสมาธิดี เฮ้ย ! ไม่คันแล้ว เฮ้ย ! เราเก่งอีกแล้ว อย่างนี้ก็คือโดนมัน เสร็จมันอีกแล้วซิ รู้สึกทันทีเลยพอมันหายคันปั๊บก็....
ตอบ : เรื่องของอาการคันเป็นของประสาทร่างกาย พอเราเอาใจมาอยู่กับสมาธิจิตกับกายมันก็เริ่มแยกจากกันมันก็จะไม่รับรู้อาการทางกาย พอไม่รับรู้ปุ๊บก็รู้สึกว่าอาการคันมันหายไป แต่ความจริงมันยังคันอยู่แต่เราไม่สนใจมันต่างหากล่ะ
ถาม : (คุยเรื่องซีดี และเว็บไซด์ที่โหลดเสียงเทศน์หลวงพ่อวัดท่าซุง) ....คลิกเข้าไปในเว็บนี้แล้วตอนเปิด เปิดไม่ได้
ตอบ : ถามสองพี่น้องนั่นเขาเหอะ เขาเรียนมาโดยตรง ทิดก้องมันก็จบเรื่องนี้มาโดยตรงนี่ แต่ว่าตอนนี้มันไม่สนใจเรื่องธรรมะหรอก มันกำลังมันกับเกมส์อยู่ เล่นกันข้ามวันข้ามคืน นั่นน่ะ คือตัวฉันทะ ถ้าเขาเล่นแล้วเขารู้จัก สังเกตอารมณ์ใจของตัวเอง เขาจะได้ประโยชน์เยอะ เคยเล่าให้ฟังว่า มันมีอยู่ยุคหนึ่งที่ว่า บวชอยู่ด้วยกันใหม่ ๆ นี่แหละ แล้วเพื่อนพระเขาอ่านกำลังภายในน่ะ ไอ้โน่นก็คุยกันไป ไอ้นี่ก็คุยกันมา ก็เฮ้ย ! คุณส่งโอวัลตินมาทีก็ส่งข้ามหัวมันไปนั่นแหละ ไอ้โน่นก็น้ำตาลหน่อยครับก็ส่งกลับมา ไป ๆ มา ๆ ไอ้นั่นมันไม่สนใจเลย ประสาทมันตัดสิ้นเชิงเลย มันอยู่แต่ตรงหน้าของมันอย่างนี้ มันไม่รับรู้โลกภายนอกเลยว่าเขามีอะไร ไอ้เรามาดู ๆ
เฮ้ย ! ไอ้นี่มันระดับนิโรธสมาบัติเลยนี่หว่า สัญญาเวทยิตนิโรธ ดับสัญญาและเวทนาโดยสิ้นเชิงเลย มันไม่กินไม่ขี้เลยก็ได้ มันนั่งของมันอย่างนี้อยู่อย่างเดียว ตัวฉันทะของมันแรงขนาดนี้เลยหรือ ก็เลยมานั่งจับจุดว่า ฉันทะคือความพอใจมันเกิดขึ้น เพราะว่าเขาต้องการทำในสิ่งนั้น เขาชอบในสิ่งนั้น แล้วถ้าเราเอาตัวนี้มาภาวนาล่ะ ? พอคิดปุ๊บแยกออกมาปั๊บ เฮ้ย ! เราต้องทำให้ได้
แล้วหลังจากนั้น เรื่องไหนเอ็งอ่านสนุกยืมมั่ง พอมันอ่านเราก็อ่านแต่เราภาวนาด้วยชักลูกประคำไปด้วยคาถา ว่าไปกี่จบเราจำด้วย แล้วในเนื้อเรื่องมันว่าอย่างไรพระเอกนางเอกเป็นอย่างไรต้องรู้ไปด้วย โอ้โห ! มันมากเลยตอนนั้นน่ะ เสร็จแล้วเราก็แซงมันไปขณะที่มันก็ยังนั่งอ่านอยู่แค่นั้นแหละ (หัวเราะ)
ถาม : ผมเข้าใจครับ เวลาผมอ่านแล้วมันก็จะหายเข้าไปกับหนังสือนั่นเลย
ตอบ : นั่นแหละคือ เราพอใจที่จะทำไง คราวนี้เราเอาความพอใจนั่นมาใช้ในการปฏิบัติแทน กำลังใจมันเท่ากัน
ถาม : แล้วถ้าเกิดผมจับแค่ลมหายใจ แต่ไม่ภาวนาล่ะ ?
ตอบ : แล้วแต่ การจับลมหายใจนี่ อารมณ์มันทรงตัวอยู่แล้ว จะมีคำภาวนาหรือไม่มีคำภาวนาก็ได้ จะรู้ลมกระทบกี่จุดก็ได้ และรู้ตลอดก็ได้มันกว่าเยอะ ยันยัน และยิ่งถ้าเล่นอะไรแปลก ๆ ได้ ยิ่งมันเข้าไปอีก
ถาม : มันรู้สึกว่า ผมรู้สึกว่าผมทำได้ แต่ทำไมทำไม่ได้ ไม่รู้ ?
ตอบ : ตัวอยากมันกั้นอยู่ อารมณ์ที่เราใช้มันเกิน มันไม่ใช่พอดี
ถาม : อย่างเรื่องเหาะนี่ ผมก็บอกตัวเองอย่างนี้ มันไม่ยากเลยนะ เหาะ แค่คิดอย่างนี้เราก็เหาะได้แล้ว แล้วรู้สึกว่าตัวคิดมันทรงอารมณ์อย่างนี้ได้จริง ๆ
ตอบ : ตัวนี้โดนล่ามโซ่อยู่ การใช้อภิญญาเราต้องยอมรับกฏของกรรมถึงใ้ช้ได้ ถ้านิสัยอย่างของเรามันไม่ยอมรับกฏของกรรมอย่างง่าย ๆ เดี๋ยวมันก็เที่ยวเอาอำนาจอภิญญาไปช่วยคนโน้น สงเคราะห์คนนี้ ไปอวดคนนั้นถ้าไม่สามารถที่จะยอมรับกฏของกรรมได้ ก็ยังไม่สามารถใช้อำนาจของอภิญญาได้จริง ๆ มันก็ได้สะเก็ดนิด ๆ หน่อย ๆ
ยิ่งปฏิสัมภิทาญาณนี่คุมทั้งอภิญญาทั้งวิชชาสามและสุขวิปัสสโก นี่ยิ่งหนักเลย ปฏิสัมภิทาญาณจะเกิดขึ้นเมื่อเป็นพระอนาคามีแล้วเท่านั้น แล้วพระอนาคามีนี่ท่านตัดรักเด็ดขาด ตัดโกรธเด็ดขาดบ้านเรือนอะไรนี่ท่านก็ไม่เอาแล้ว ต้องระดับนั้นน่ะ ท่านถึงจะให้ใช้ได้เต็มที่ ถ้าไม่มีการควบคุมเอาไว้บรรลัยจริง ๆ เลย
ถาม : แต่ ผมรู้สึกอย่างนี้จริง ๆ นะ ว่ามันง่ายนี่หว่า
ตอบ : ก็ใช่ทีนี้ว่า แค่สร้างอารมณ์ของเราให้ยอมรับกฎของกรรมอีกนิดเดียวก็ได้เดี๋ยวนั้นเลย จะสังเกตไหมว่าในพระไตรปิฎก พระที่ฟังพระพุทธเจ้าเทศน์บรรลุพร้อมปฏิสัมภิทาญาณ บรรลุพร้อมอภิญญา บรรลุพร้อมวิชชาสาม ก็คือว่ากำลังใจท่านเข้าถึงจุดนั้นปั๊บของเก่าทั้งหมดใช้ต่อได้เลย คราวนี้ของเก่าของเรานี่มันรอเราอยู่นิดเดียวแค่นั้นเอง มันรออยู่ว่าเมื่อไหร่เราจะยอมรับกฎของกรรมแค่เท่านั้น
แบบเดียวกับที่เขาว่าพระอรหันต์สุขวิปัสสโก ไม่มีฤทธิ์ไม่มีอำนาจอะไร อย่าไปเชื่อเชียวนะ อาตมาเจอมาแล้ว อภิญญานี่ถ้าหากเป็นโลกียะนี่สู้ท่านไม่ได้เลยล่ะ ท่านทำได้ยิ่งกว่าทำได้อีก หลวงปู่มหาอำพันเป็นตัวอย่างชัดเลย คราวนี้ก็วิกุพนาฤทธิ์คือฤทธิ์ที่เกิดจากอภิญญาโดยตรงจากการฝึกกสิณสิบ มันเป็นแค่หนึ่งในสิบอย่างเท่านั้น ของท่านมันเป็นทั้งบุญฤทธิ์ เป็นทั้งอธิษฐานฤทธิ์ เป็นทั้งฌานฤทธิ์ มันได้หมดน่ะ ฤทธิ์ที่เกิดจากฌาน ฤทธิ์ที่เกิดจากอธิฐาน ฤทธิ์ที่เกิดจากการสร้างสมบุญมาอะไรมา ท่านตั้งใจให้เป็นยังไงมันก็เป็นยังงั้น สิ่งต่าง ๆ ที่ มันออกรอบด้านนี่ท่านตัดมันออกแล้ว มันเหลือแต่ตรงแล้ว ถ้าถามว่าลักษณะอย่างนั้นต้องการฝึกอภิญญาเมื่อไหร่มันก็ได้เมื่อนั้น เพียงแต่ท่านหมดอยากแล้ว ไม่รู้จะฝึกไปทำไม
ถาม : อย่างนี้ก็เหมือนกันนะครับ ผมฟังอยู่ก็เข้าใจนะครับ เต็ม ๆ เลยตอนนี้ แต่ไม่รู้ว่าจิตตรงกัน
ตอบ : พอ ๆ กับไอ้ลูกก๊อสซิบ่าน่ะ จะพ่นไฟแต่พ่นไม่ออกสักที (หัวเราะ)
ถาม : ผมรู้สึกว่ามันไม่ยากด้วยมันง่ายด้วย
ตอบ : ก็บอกแล้วว่ามันง่าย มันก็เหลือแค่เรายอมรับกฏของกรรมเมื่อไหร่ มันก็เริ่มใช้ได้เมื่อนั้น ไปใต้งวดนี้ก็ไปเจอเพิ่มมาอีกหลายคน ที่เขาได้ขึ้นมาโดยที่ตัวเขาเองก็ไม่รู้นะ ไอ้คนมันได้ดีแล้วตัวเองไม่รู้นี่น่าเตะนะ เขาฝึกมโนมยิทธิไม่ได้ หันไปฝึกธรรมกายทุ่มเทมากเลย ยังไงต้องจับดวงแก้วศูนย์กลางกายให้ได้ ก็ไม่ได้ทำไปทำมาเบื่อ นอนดีกว่า พอนอนปุ๊บพระพุทธเจ้าเสด็จมาเทศน์ให้ฟัง บอกว่าทุกอย่างต้องมีความพอดี คือ มัชฌิมาปฏิปทา ถ้าหากว่ามากเกินไปก็เป็นอัตตกิลมถานุโยค น้อยเกินไปก็เป็นกามสุขัลลิกานุโยค เทศน์ฟังเสร็จ เขาดันมาถามเราว่าที่เขารู้มาถูกมั้ย ?
ถาม : (หัวเราะ) พระพุทธเจ้าเทศน์เอง
ตอบ : ตูจะกล้าไปรับรองธรรมะพระพุทธเจ้ามั้ยเนี่ย (หัวเราะ)
ถาม : ก็เล่นเอาสูงสุดมาแล้ว
ตอบ : เอ้อ ! นึก ๆ แล้วบางทีก็....สังเกตมั้ยว่า เขาฝึกมโนไม่ได้ แล้วก็ฝึกธรรมกายก็ไม่ได้ เพราะว่าเขาใช้กำลังมากเกินไป ทุ่มเทกับมันมากเกินไป แล้วเสร็จแล้วพอเขาฝึกแล้วฝึกเล่า ฝึกเท่าไหร่ก็ไม่ได้ เขาหมดอารมณ์น่ะ เฮ้ย ! ช่างหัวมันเว้ย กูนอนดีกว่า มันได้ตรงนั้นน่ะ อารมณ์ใจมันลดลงมาตรงพอดี
ถาม : ผมจะนอนภาวนาอยู่เรื่อยเลย แล้วพอนอนภาวนาทีไรมันก็จะ....
ตอบ : ถ้ามันพอดีมันก็ได้ สำคัญตรงนั้นน่ะ
ถาม : แต่ผมรู้สึกแปลก ๆ ชอบตื่น มากลางดึกแล้วไ้ด้ยินประโยคตรงใจอยู่บ่อย ๆ ผมจะเปิดเทปหลวงพ่อไปเรื่อย ๆ มันจะวนไปวนมา
ตอบ : จดไว้แล้วก็ทบทวนการปฏิบัติของตัวเอง เก็บเอาไว้ใช้ได้ตลอดชีวิต
ถาม : อย่างสมมุติว่าเราปล่อยปลา ปล่อยปลาตัวไหนห้ามกินปลาตัวนั้น พอปล่อยไปเสร็จปลามันยังไม่ทันตายเราตายก่อน พอตายก่อนจิตมันผูกพันกับคนโน้นคนนี้ กลับมาเกิดเป็นลูก แล้วดันไปเอาปลาตัวนั้นมา
ตอบ : คนละชาติกัน ไม่นับแล้ว
ถาม : แล้วอย่างเราฝากเงินเขาไปแล้ว เราก็ไม่รู้เขาไปซื้อกะละมังไหนล่ะครับ ก็เหมือนกับเราเป็นเจ้าภาพร่วมไปปล่อยด้วยเหมือนกันก็เหมือนกันหรือเปล่าครับ ?
ตอบ : ก็โทษมันไม่เท่าเดิม ถ้าเจี๊ยะลงไปมันไม่หนักเท่ากับปล่อยเอง
ถาม : ถ้าเราไปซื้อมาปล่อย โดยไม่รู้ว่ามันตายแล้ว ?
ตอบ : บุญเราได้แล้ว ส่วนกรรมของเขามันก็หนัก แทนที่เขาจะได้รับอิสระ ก็ปรากฏว่าถึงแก่ชีวิตเสียก่อน แต่ว่านะอย่าหอบเต่าจากสุไหงโกลกไปปล่อยหนองคายนะ งวดนี้ไปเจอมาแล้วตายไปสองตัว
ถาม : แล้วทำไมไปปล่อยถึงโน้นเลยครับ ?
ตอบ : ก็เขาศรัทธาหลวงปู่ทองทิพย์ที่วัดป่าสีดารามลักษณ์รัตนโคตร ที่หนองคาย หอบเต่าจากสุไหงโกลกไป ให้ที่วัดหลวงปู่ทองทิพย์ปล่อย ตายไปสองตัว
ถาม : แต่ผมว่าศรัทธาเขาแรงนะครับ อุส่าห์หอบเต่าจากสุไหงโกลกไปถึงหนองคาย
ตอบ : กรรมไอ้เต่านั้นมันแรง (หัวเราะ) มันต้องลำบากจากสุไหงโกลกไปหนองคาย หลวงปู่ทองทิพย์ท่านเล่าเรื่องของรามเกียรติ์ เหมือนยังกับท่านเป็นตัวละครในรามเกียรติ์เอง คนก็เลยคาดว่าท่านต้องเป็นหนึ่งในตัวละครรามเกียรติ์นั่นน่ะ แล้วท่านสร้างวัดท่านก็ยังใช้วัดป่าสีดารามลักษณ์รัตนโคตร เพิ่งมรณภาพไปได้เดือนกว่านี่เอง ใครถวายแหวนท่านใส่หมดล่ะ สิบนิ้วนี้ล้นมือเลย นิ้วละหลาย ๆ วง ใส่ประเภทที่เรียกว่าลักษณะสงเคราะห์โยมเขา ให้มันได้บุญ เสียดายว่าท่านรีบมรณภาพเสียก่อน ไม่งั้นจะต้องมีตัวอยากดังมันไปหาเรื่องจนได้ แล้วก็คอยกรุณาสงสารมันจะลงอเวจีหรือเปล่า
|