ถาม:  ผมมีปัญหาที่ว่าถ้าผมกำลังมีลูกมีเต้าจะส่งไปเรียนโรงเรียนไหนจึงจะดี เพราะผมเองมีปัญญาน้อยอยู่แล้ วแต่ครูอาจารย์ที่เขามีคุณวุฒิจบ ป.กศ. สูง จบปริญญาตรี ปริญญาโท ทางครุศาสตร์ เขาก็พากันให้เด็กบุตรหลานไปท่องคำว่า ขี้จุ๊เบ่เบ๋ ขึ้จุ๊ตาลาลา คำถามคือการแก้ปัญหาของคนเหล่านี้ แก้ปัญหาโดยการเผชิญหน้ากับการหนีปัญหา จะใช้อย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ หรือผสมผสานกัน ?
      ตอบ :  ผสมผสานกันไป ถ้าหากว่าคุณรู้ว่าไม่ไหวแล้วยังไปเผชิญหน้ามันก็ไม่ได้ แต่ขณะเดียวกันว่างานนั้นอาจจะไหวแต่เราไปหนีมันก็ไม่ดี เพราะฉะนั้นก็อยู่ในลักษระที่ว่าผสมผสานใช้ร่วมกันไป อันไหนควรจะบุกอันไหนควรจะถอย พิจารณาตามสถานการณ์
              ส่วนเรื่องเรียนสมัยนี้หวังยากจริง ๆ แล้วครูบาอาจารย์คนแรกก็คือพ่อแม่นั่นแหละ ถ้าพ่อแม่สอนดีเสียอย่าง ครูบาอาจารย์ภายนอกไม่มีอิทธิพลทางความคิดกับลูกหรอก
      ถาม :  เราจะบอกให้พระดึงศรัทธาคน ด้วยการให้พระร้องเพลงว่า โยมจ๋าพระมาแล้วจ๊ะ เขยิบมาใกล้ ๆ จะเป็นอย่างไรดี ?
      ตอบ :  อ๋อ! เป็นไปได้จ้ะ พระพุทธเจ้าท่านห้ามไว้แต่แรกแล้ว ขนาดศีลพระท่านบอกว่าห้ามภิกษุขับรำด้วยเสียงอันยาว เพราะว่านอกจากจะทำให้คนอื่นติดในเสียงแล้ว ตัวเองยังจะพลอยหลงไปด้วยว่ากูเสียงดี อันนั้นแค่เทศน์ เทศน์ในลักาณะที่เรียกว่า เทศน์มหาชาติ หรือทำนองสรภัญญะ พวกแหล่ พวกขับรำ พวกทำนองสรภัญญะนั้นมันเสียทั้งคู่คนทำก็เสียเพราะมัวแต่ไปตั้งใจให้คนอื่นเขาเพลิดเพลินไปยึดติดอยู่ในเสียง ขณะเดียวกันคนฟังก็เสียด้วย แทนที่จะเข้าถึงธรรมะที่แท้จริงก็ไปติดอยู่แค่เปลือกคือเสียงเหมือนกัน
      ถาม :  เรื่องของน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์กับของปลัดขิก มีคนพูดกันมากว่าเป็นพวกที่ไม่ใช่แก่นแท้ของพุทธศาสนา
      ตอบ :  คนที่พูดประเภทนี้ต้องจับไปแขวนคอห้องไว้กลางอากาศ เอะอะก็จะเอาแก่นของศาสนา เอะอะก็จะเอาธรรมะบริสุทธิ์ แก่นแท้ของพระพุทธศาสนากับธรรมะบริสุทธ์เปรียบเหมือนยอดฉัตร ยอดเจดีย์ ถ้าหากว่าไม่มีฐาน ไม่มีองค์ระฆัง ไม่มีปล้องไฉน ไม่มีอะไรขึ้นไป ฉัตรจะลอยอยู่ได้ไหม
              คนเราแต่ละคนสร้างบารมีมาไม่เท่ากัน ในเมื่อสร้างบารมีมาไม่เท่ากัน ขั้นแรก ๆ หากของเขายังต้องการอย่างนั้นอยู่ มันยังเป็นเครื่องโยงดึงคนให้เข้าสู่ธรรมะได้อยู่ เพราะฉะนั้นคนที่บอกต้องการธรรมะบริสุทธิ์นี่ ถ้าหากว่าให้เขาไปฟังเทศน์ที่เป็นธรรมะบริสุทธิ์จริง ๆ เขาเองจะหลับ
      ถาม :  ขึ้นอยู่ที่ว่าบุญบารมีของแต่ละคนว่าต้องการแบบไหนใช่ไหมคะ ?
      ตอบ :  ก่อนหน้านี้อาตมาก็ตำหนิเขา มาตอนหลังคิดว่าถ้าใครสามารถเอาคนเข้าวัดได้ก็ถือว่าใช้ได้ เพราะว่าคนเข้าวัดเหมือนกับคนหิวข้าว เขาต้องการหาในสิ่งที่เขาต้องการกิน เมื่อถึงวาระถึงเวลาเขารู้ว่าอันนี้ไม่ถูกปากเขา เขาจะไปหาสิ่งที่ดีขึ้นไปกว่านั้นเอง
              คนเราถ้าปฏิบัติไปถึงระดับหนึ่งปัญญาสั่งสมจะยิ่งมากขึ้น ความฉลาดมากขึ้น เขาจะรู้ว่าอันนี้ไม่ใช่แก่นแท้ แล้วก็จะไปแสวงหาสิ่งที่ดีกว่าเดิม ส่วนพวกที่พร่ำหาแต่ประเภทที่เรียกว่าธรรมะบริสุทธิ์อย่างเดียวนั้น ค่อนข้างที่จะปัญญาน่มอยู่หน่อย ๆ เขาจะให้ฉัตร ยอดเจดีย์ ลอยคว้างอยู่บนอากาศโดยที่ไม่ต้องมีฐาน ไม่มีอะไรขึ้นเลย
      ถาม :  สมัยหนึ่งเมื่อหลายปีก่อนได้มีโอากสร่วมนั่งโต๊ะรับประทานอาหารกับดารานางเอกสาวสวย ตอนนั้นเธอน่ารักมาก ปัจจุบันนี้เมื่อเห็นเธอพบว่าเธอมีสภาพแก่ลงมาก มีพระธรรมหมวดใดบ้าง ที่ทำให้คนเรารอดพ้นจากความตาย ?
      ตอบ :  ไม่มี ธรรมหมาวดไหนก็ช่วยไม่ได้ แต่ถ้ารอดพ้นจากความเกิดนั้นมี ถ้าไปนิพพานเสียก็ไม่ต้องเกิดอีก เป็นอย่างไรเห็นแล้วปลงอนิจจังเลยใช่ไหม ?
      ถาม :  ถ้าจิตของเราทรงอารมณ์ละสังโยชน์ ๑๐ ได้ในเวลา ๑๐ นาที จะถือว่าเป็นพระโสดาบันและพระอรหันต์ชั่วคราว จะได้หรือไม่ ?
      ตอบ :  ก็ได้ แต่ว่าไม่ใช่เรียกว่าโสดาปัตติผลหรืออรหัตผล จะเป็นโสดาปัตติมรรคหรืออรหัตมรรคได้เพราะว่ามรรคคือการเข้าถึง ถ้าผลนี่ต้องทรงได้ มรรคเข้าถึง ผลทรงไว้ มรรคยังมีโอกาสไปลูบ ๆ คลำ ๆ เห็นอยู่ แต่ไม่ได้เป็นของเรา ถ้าผลนี่เป็นของเราแล้ว
      ถาม :  อารมณ์ฌานแบบไม่รู้ตัว มีหรือไม่ครับ
      ตอบ :  ไม่มีการทรงฌานจะมีสติรู้ตัวอยู่ แต่ว่ามีอยู่อย่างหนึ่งคือปฐมฌานหยาบ ถ้าหากว่าสติขาดเมื่อไรจะตัดหลับ การตัดหลับเราเรียกว่าไม่รู้ตัวก็ได้ แต่จริง ๆ มันไม่ใช่หลับ มันแค่สติขาดไปเฉย ๆ เท่านั้น เพราะฉะนั้นถ้าหากจะมีอารมณ์ฌานที่ไม่รู้ตัวก็น่าจะมีอย่างเดียวก็คือ ปฐมฌานอย่างหยาบเท่านั้น
      ถาม :  ถ้าเราภาวนา พุทโธ แล้วหลับไป ?
      ตอบ :  อันนั้นเป็นปฐมฌานอย่างหยาบ
      ถาม :  ฌาน อัปนาสมาธิ ฌาน ๑ ข้ามไปฌาน ๔ ได้หรือไม่ หรือต้องเรียงกันครับ
      ตอบ :  ถ้าหากว่ามีความคล่องตัวจะสลับกันได้ ตั้งใจถึงตรงไหน ความเคยชินนึกปั๊บเดียวก็ไปถึงได้ ไม่จำเป็นต้องเรียงกัน
      ถาม :  ถ้าอารมณ์มโนมยิทธิ อุปจารสมาธิ เป็นอารมณ์ฌาน ๔ เราจะถืออารมณ์นั้นเป็นจุดเดียวในอัปนาสมาธิได้หรือไม่ ?
      ตอบ :  เอาให้ดี ๆ คำถามคุณมันสับสนนะ
      ถาม :  คือ มโนมยิทธิเป็นอุปจารสมาธิ ?
      ตอบ :  มโนมยิทธิ ถ้าหากว่าคุณเห็นว่ามันเป็นอุปจารสมาธิ แต่ถ้าคุณไปได้มันเป็นฌาน ๔ แล้ว ก็เป็นฌาน๔ ตัวเดียวกับอัปนาสมาธิ แต่เป็นลักษณะของการใช้งานจะไม่แนบแน่น เหมือนกับเรานั่งภาวนาเฉย ๆ ที่เรียกว่า อัปนาสมาธิ อารมณ์ของการละกิเลสมันเท่ากับฌาน๔ ของอัปนาสมาธิ แต่ตอนนั้นสามารถกำหนดรู้ทุกอย่างได้ในเวลาเดียวกัน ทำโน่นทำนี่ไปพร้อม ๆ กันก็ได้ ถ้าไปได้เป็นกำลังของฌาน ๔ เขาหมายถึงอทิสมานกายของเรายกไปสู่จุดนั้น ๆ ที่เราต้องการ
      ถาม :  เป็นไปได้หรือไม่ว่าเราจะทำกรรมฐานทีเดียว ๔ กองพร้อมกัน ?
      ตอบ :  เป็นไปได้ ถ้าหากว่าคุณทำมันได้แล้ว ถ้าคุณทำได้แล้วคุณสามารถที่จะทรงกรรมฐานทีเดียวหลาย ๆ กองพร้อมกันก็ได้ แต่ถ้าหากว่าคุณยังทำมันไม่ได้ต้องว่ากันไปทีละกอง ให้ได้ผลจริง ๆ ก่อน พอได้ผลจริงของกองนี้ ขึ้นเต็มที่ของมัน แล้วเราค่อยทำกองต่อไป จะยากที่สุดก็กองแรกนั่นแหละ ส่วนกองถัด ๆ ไปกำลังมันเท่ากัน เพียงแต่เปลี่ยนวิธีการเปลี่ยนวัสดุในการที่ใช้ฝึกเท่านั้นเอง
      ถาม :  อารมณ์สะเปะสะปะ คิดหลายอย่างแก้ไขอย่างไร ?
      ตอบ :  ดึงความรู้สึกทั้่่งหมดอยู่กับลมหายใจเข้า-ออก ถ้าความรู้สึกทั้งหมดอยู่กับลมหายใจเข้า-ออก ก็จะนิ่ง เลิกสะเปะสะปะแล้ว
      ถาม :  สภาพของการทำกรรมฐาน เราเน้นที่เราทรงอารมณ์นั้นให้ได้นาน ๆ หรือเราควรเปลี่ยนอารมณ์ให้เกิดความสุขใจ ?
      ตอบ :  ถ้าหากว่ามันทรงอารมณ์นั้นเอาไว้ได้นานเท่าไรก็ดีเท่านั้นเพราะว่าช่วงที่อารมณ์แนบแน่นอยู่กับกรรมฐาน รัก โลภ โกรธ หลง มาครอบงำไม่ได้ แล้วถามว่าสุขใจไหม ? สุขในฌานนั้นสุขกว่าปกติทั่วไปเยอะ แล้วยิ่งถ้าหากว่าเข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้าก็ยิ่งสุขมากขึ้นไปจนบอกไม่ถูก สำคัญอยู่ว่าถ้าหากว่าเรานั่งอยู่ไม่ไหวก็เปลี่ยนไปเดิน เปลี่ยนไปยืน เปลี่ยนไปนอน อันนั้นเขาเรียกเปลี่ยนอิริยาบถ ไม่ใช่เปลี่ยนกองกรรมฐาน
      ถาม :  อารมณ์เยือกเย็นจัดเป็นฌานใด หรือไม่ ?
      ตอบ :  ก็ไม่แน่ใจล่ะสิ ที่คุณถามมาจะเข้าไหมหว่า! ถ้าหากว่าเจออากาศต่ำกว่า ๑๐ องศามาก็เยือกเย็นเหมือนกัน ถ้าเย็นก็คือเย็นกาย เย็นใจ ตั้งแต่ปิติขึ้นไปนี่จะรู้สึกเย็นกาย เย็นใจ สดชื่น มีความสุข
      ถาม :  อาการของปีติ ถ้าเราเริ่มกองใหม่ต้องมีปีติเกิดขึ้นหรือไม่ ?
      ตอบ :  ไมใช่ ปีติ ความอิ่มใจที่เกิดขึ้นในขณะที่ปฏิบัตติ บางคนไม่เจอเลยก็ได้ จิตมันจะกระโดดพรวดเดียวเป็นฌานเลยก็ได้ บางคนเจออย่างหนึ่ง สองอย่าง สามอย่าง สี่อย่าง ห้าอย่าง แล้วแต่กำลังบารมีที่สร้างมา ถ้าหากว่ากำลังของเราสูง อย่างเช่น พุทธภูมินี่จำเป็นต้องเจอให้ครบ ไม่อย่างนั้นไปสอนคนอื่นเขาไม่ได้
      ถาม :  ฌานที่เป็นอารมณ์บังคับกับอารมณ์สติ ดูอารมณ์ฌานควรทำอย่างไร ?
      ตอบ :  แรก ๆ ฝึกก็จะเป็นการบังคับก่อน เพราะกำลังหัด แต่พอทำไป ๆ เกิดความคล่องตัวแล้วก็จะตามดูตามรู้ อยู่ในลักษณะกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม อันนี้พูดหัวข้อมากไป ใครตามไม่ทันก็โปรดยกมือประท้วงด้วยนะ
      ถาม :  เคยคุยกับเพื่อนว่าทำไมคนคิดไม่เหมือนกัน เขาบอกว่าถ้าคนเราคิดเหมือนกันหมดก็เป็นนายกทักษิณกันหมด คำถามคือเราควรคาดหวังกับใครหรือไม่ และควรไปกำหนดชีวิตคนอื่นด้วยคำพูดของเราหรือไม่ ?
      ตอบ :  ไม่สมควรเลย พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า อัตตาหิ อัตตโน นาโถ ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน ถ้าพึ่งตัวเองได้ ท่านบอกว่าได้ที่พึ่งที่ได้โดยยากคนอื่น ถึงเวลาเขาอาจจะไม่ทำตามเรา หรือไม่ก็ล้มหายตายจากกันไป จะให้คนคิดเหมือนกันได้ก็ต้องอยู่ในลักษณะที่เรียกว่า สติ สมาธิ ปัญญา ทาน ศีล ภาวนา เสมอกัน นั่นแหละถึงจะคิดเหมือน ๆ กัน
      ถาม :  คนเขามาคุยกับผมเรื่องลูกชายเขาไปได้เสียกับผู้หญิงคนหนึ่ง ผมเลยถามเขาไปว่าตกลงได้หรือเสียกันแน่ เขาบอกผมว่าก็ได้ทั้งคู่นั่นแหละ รวมความว่าอารมณ์พอใจในเพศนั้นหมายถึง ความรักใคร่ในเพศหรือสัมผัสระหว่างเพศ อีกประการหนึ่งถ้าบุตร ภรรยา สามี เราตายไปจะถือว่าเป็นการเสื่อมในยศหรือไม่ ?
      ตอบ :  เรื่องของยศ หมายถึงการมีผู้ยกย่องสรรเสริญอยู่ ยศ หมายถึง การมีผู้ยกย่องสรรเสริญ ถ้าหากว่าสามี ภรรยา เป็นผู้ทรงความดีมาก เป็นที่สรรเสริญของผู้คน ถ้าท่านตายไปเราขาดส่วนนี้ไปถือว่าเสื่อมในยศก็ได้ ส่วนเรื่องของบุตร ภรรยา ประเภทจะไปได้จะไปเสียกับใครนั้น เป็นแต่สำนวนคำพูดเท่านั้น สรุปแล้วถ้าไม่ถูกต้องตามศีลตามธรรม โอกาสลงนรกมีเยอะแล.
      ถาม :  ๑. ...............ทางการศึกษาหรือไม่ ?
              ๒. สิ่งที่คนกำลังยึดถืออยู่นี้ เป็นสิ่งที่เราคิดกันไปเองหรือไม่ ?
              ๓. ความรู้ในตำรากับความรู้นอกตำรา เราควรยึดถืออย่างไร ?
      ตอบ :  จริง ๆ ในตำราหรือนอกตำรา ถ้าเป็นประสบการณ์พาให้ชีวิตของเราเจริญรุ่งเรืองได้ก็ใช้ได้ทั้งคู่ ส่วนที่คุณว่ามาฝรั่งเขาคิดอย่างหนึ่ง ไทยเราคิดอย่างหนึ่ง ตะวันออกกับตะวันตกไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกัน สภาพชีวิตของบ้านเราอาจจะเหมาะสมกับการศึกษาในปัจจุบันนี้ก็ได ถ้าหากว่าคุณไม่ได้ไปเห็นของเขา คุณต้องมั่นใจว่าอันนี้ดี อันนี้ถูก แต่บังเอิญว่าคุณไปเห็นของเขาเข้า คุณก็เลยมาคิดว่าของเราไม่ดี สู้ของเขาไม่ได้ ซึ่งอันนี้ไม่ใช่ ทุกอย่างมีความเหมาะสม แล้วแต่สถานที่ แล้วแต่ระยะเวลาของมัน อาจจะเหมาะสมของเราแต่ไม่เหมาะสมกับเขา แล้วขณะเดียวกันของเขาอาจจะไม่เหมาะสมกับเราก็ได เราไม่จำเป็นต้องไปโดนครอบงำด้วยความคิดของคนต่างชาติเขา ของเรา ๆ สามารถทำอย่างไร ถ้าหากว่าดี ดำรงชีวิตเอาไว้ได้ เป็นสัมมาอาชีวะ สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับตระกูลได้ ทำไปเถอะงานอะไรก็ได้ จะไปตามดมก้นฝรั่งทำไม เขาทำอย่างไรแล้วเราทำอย่างนั้น ถ้าอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ต่างกัน เราไปเลียนแบบเขาอย่างไรก็สู้เขาไม่ได้
      ถาม :  ประโยคที่ว่าฉันจะอยู่เป็นคนของเธอ เป็นสำนวนมาจากภาษาอังกฤษว่า I will be your mind. จริงหรือไม่ที่ชายหญิงรักกันเขายอมตายเพื่อคนรักได้ ?
      ตอบ :  อันนั้นไม่ใช่เรียกว่า "รัก" เขาเรียกว่า "หลง" ถึงขนาดขาดเธอแล้วฉันต้องตายแน่ ๆ ไม่ใช่รัก เขาเรียกว่า หลง หลงนี่เป็นโมหะ ถือเป็นความมืดบอด ความมืดบอดทางจิตวิญญาณอย่างหนึ่ง ทำให้คนเราเข้าใจว่าคน ๆ หนึ่งที่เกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงในท่ามกลาง สลายไปในที่สุด ไม่อาจยึดถือมั่นหมายได้ คน ๆ นั้นกลายเป็นทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของเรา เป็นการยึดผิดตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้นไม่ได้เรียกว่า "รัก" หรอก เขาเรียกว่า "หลง"
      ถาม :  เขาบอกกันว่าคนนี้ดีจัง คนนั้นดีจัง หลักการดูคนหรือชาวบ้านเบื้องต้นว่า "คนดี" เขาดูอย่างไร ?
      ตอบ :  ชาวบ้านนั้นถ้าหากว่าใครดีกับเขา มีอะไรให้เขา ทำดีกับเขา เขาเรียกว่า "คนดี" ทั้งนั้น แต่ถ้าคนดีตามแง่ของพระพุทธเจ้าท่านจะต้องเป็นผู้มี "ทาน" คือการให้เป็นปกติ มี "ศีล" คือสามารถรักษาสิกขาบทได้เป็นปกติ มี "ภาวนา" คือมีปัญญาทั้งทางโลกและทางธรรม ทางดลกสามารถสงเคราะห์หยิบยื่นให้กับคนรอบข้างได้ในสิ่งที่ไม่เกินวิสัย ในทางธรรมสามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ทั้งปัญหาทางภายในและทางภายนอกให้ลุล่วงไปได้ อย่างนั้นเขาเรียกว่า "ดีแท้" แต่ที่ดี ๆ อย่างที่เขาว่านี้ บรรดาเจ้าพ่อก็ดี ถ้าสงเคราะห์เขาช่วยให้เส้นให้เขาหน่อย ถ้าดีมันก็ใช้ได้
      ถาม :  พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านเคยบอกไว้ว่า ที่เราเคยเห็นรวย ๆ นี้ เห็นมาเยอะแล้วว่าร่ำรวยด้วยกฐินทานทั้งนั้น การร่ำรวยจากสังฆทาน กับรวยจากกฐินทานต่างกันอย่างไร ?
      ตอบ :  กฐินเป็นสังฆทานเหมือนกัน เพียงแต่ว่ากฐินมีอานิสงส์มากกว่าอยู่ตรงจุดที่ว่า เป็นสังฆทานจำกัดเขต มีเวลาแค่เดือนเดียวเท่านั้น พ้นจาก ๑ เดือน คือ(แรม ๑ เดือน ๑๑ ไปถึงกลางเดือน ๑๒) พ้นจาก ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ไปเมื่อไร หมดสิทธิ์รับกฐินอีกแล้ว
              แล้วอีกอย่างหนึ่งอานิสงส์กฐินมีหลายอย่าง ทำให้พระผ่อนคลายสิกขาบทก็ได้ ทำให้พระรับผ้าใหม่ได้ ในเมื่อกฐินมีอานิสงส์พิเศษ เพราะว่าต้องจำกัดด้วยเขตแล้ว ขณะเดียวกันอานิสงส์ของเขาช่วยสงเคราะห์พระในเรื่องของ สบง จีวร อะไรต่าง ๆ และผ่อนคลายสิกขาบทด้วย ก็เลยมีอานิสงส์สูงกว่าสังฆทานทั่วไป แต่จริง ๆ ก็จะออกมาในลักษณะรวยเหมือนกัน เพียงแต่รวยมากน้อยกว่ากันเท่านั้น
      ถาม :  การที่เจ้าชายสิทธัตถะสำเร็จการศึกษาศิลปะ ๑๖ ประการ ถ้าเราจะเทียบในวุฒิปัจจุบัน ได้ปริญญาตรี หรือปริญญาเอก ๑๐ ใบ หรือมากกว่านั้น ?
      ตอบ :  ถ้าหากว่านับแล้วก็น่าจะเป็นปริญญาตรีสัก ๑๖ใบ แต่ว่าจริง ๆ แล้วพระพุทธเจ้าท่านเข้าถึงที่สุดของความรู้ทั้งหมด ในเมื่อเข้าถึงที่สุด ความรู้ทั้งหมดแล้ว ความรู้ของท่านเหนือกว่าอาจารย์ด้วย หมายความว่าบางสิ่งบางอย่างท่านทำได้ดีกว่าอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็น่าจะได้ดอกเตอร์มากกว่า ใครสอบได้ดอกเตอร์ ๑๖ ใบนี่ยอดอัจฉริยะจริง ๆ
      ถาม :  คุณพระท่านทรงตรัสว่า ผู้ให้ของเลิศย่อมได้ของเลิศ ผู้ให้ของประเสริฐย่อมได้ของประเสริฐ การที่คนมีความทุกข์ มีเรื่องไม่สบายใจไประบายปรับทุกข์ร้องห่มร้องไห้ขอความเห็นใจ โดยการโทรศัพท์ด้วยความเคารพไปหาพระอริยเจ้า เรื่องนี้ตั้งอารมณ์อย่างไรดี ?
      ตอบ :  เป็นอารมณ์ของคุณหรืออารมณ์ของพระล่ะ ? คนเราถ้าหากว่าความทุกข์มันเข้ามา สติปัญญามันไม่ค่อยมี จะว่าไม่ค่อยมีสติก็ยังอุตส่าห์คิดถึงพระได้ ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว อย่างน้อย ๆ วาจาอะไรก็อย่าให้ล่วงเกินท่านก็แล้วกัน ปรึกษาหารือเอาเฉพาะประเภทตรงไปตรงมา ไม่ใช่ประเภทตะแบงข้าง จะไปสร้างความลำบากใจให้กับพระท่านเปล่า ๆ เข้าท่าดีเหมือนกันนะ ลำบากขึ้นมานึกถึงพระใช่ไหม ? ก็เกาะพระ...ใช้ได้