สนทนากับพระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๖(ต่อ)
ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ

      ถาม:  อาการเบื่อที่มันเบื่อตัวเองและคนรอบข้างด้วย ตรงนี้เรายังไม่มีปัญญาใช่ไหม ?
      ตอบ :  ก็ประเภทที่เรียกว่า ย้อนกลับนิดเดียวว่าตอนนี้เรายังมีชีวิตอยู่ ในเมื่อเรายังมีชีวิตอยู่ เราจำเป็นต้องอยู่กับมันต่อไป แต่ถ้าหากเราตายเมื่อไรเราไปนิพพานแล้วจบ เพราะฉะนั้นการมีชีวิตอยู่อย่างไรก็ไม่เกิน ๑๐๐ ปี ถ้าหากเปรียบกับการเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จบมันเท่ากับแป๊บเดียว ทำไมเราจะอยู่กับมันไม่ได้ ธรรมดาของการเกิดมามันน่าเบื่ออย่างนี้เอง แต่ว่าอยากจะเบื่อก็เบื่อไปเถอะ ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของเรา หมั่นพิจารณาบ่อย ๆ แล้วรักษาอารมณ์ตัวนี้ไว้ให้ได้ เพราะว่าไม่อย่างนั้นแล้วเดี๋ยวมันจะตีกลับ กลายเป็นอยากใหม่ เพราะฉะนั้นตอนนี้เริ่มดีแล้ว รักษาดีให้อยู่ก็แล้วกัน
      ถาม :  ....(ไม่ชัด).....เราก็โง่อยู่ทุกวันเลย เราก็เห็นว่าเราบกพร่องอยู่ทุกวัน อารมณ์จิตนี้ ?
      ตอบ :  ยิ่งทำ ก็ยิ่งรู้สึกว่าตัวเองรู้น้อย ยิ่งทำก็ยิ่งรู้สึกว่าตัวเองพร่องอยู่อันนี้เป็นเรื่องปกติ ถ้าหากว่ายิ่งทำยิ่งดีก็ยุ่งน่ะสิ
      ถาม :  แล้วอย่างเวลาเรามองว่า มันเป็นธรรมดา จะมีผลอย่างไร ?
      ตอบ :  แล้วไง! ถ้าเห็นธรรมดามันก็ต้องเบื่ออยู่แล้ว ความเป็นจริงก็คือโลกมนุษย์นี้มันไร้แก่นสาร ในเมื่อมันไร้แก่นสารก็ไม่มีอะไรให้เรายึดถือ ก็น่าเบื่อจะตายไป จะรู้สึกขึ้นมาเลยว่านี่เรากำลังทำอะไรอยู่ ทำไมมันเฮงซวยอย่างนี้
      ถาม :  .............(ไม่ชัด)..............
      ตอบ :  ผมไม่ค่อยขี้สงสัยก็เลยไม่ชอบถาม พอถึงเวลารู้มาแค่ไหนก็เอาแค่นั้น บางคนขี้สงสัยซักรายละเอียดยิบเลย สมัยอยู่กับท่านชาติชายนี่จะกลุ้มใจมากเลย เพราะว่าท่านชาติชายนี่พอมาถึงก็หลวงพี่ครับ พระบอกว่าอะไรเราก็จัดแจงบอกไป แล้วก็ซักต่อ แล้วอย่างนั้นละครับ อย่างนี้ละครับ กูไม่ได้ถาม ทำไมไม่ถาม ก็ไม่สงสัยจะถามทำไม ท่านบอกว่า แค่ไหนเราก็เอาแค่นั้น กำลังใจของเราก็คือหมดสงสัยแล้ว ท่านว่าอย่างไรก็เอาแค่นั้น ถ้าของท่าน ๆ จะต้องซักเอารายละอียดให้ได้ มาคนละสไตล์กัน เวลาอยู่ด้วยกันท่านจะขัดใจทุกที ท่านขัดใจก็คือทำไมเราไม่ถามให้ถามเองท่านก็ไม่เอาอีก
              บารมี ๓๐ ทัศ หลวงปู่ครูบาศรีวิชัย ผู้ใดยังไม่ได้ รับไปด้วย คาถานี้ใครท่องได้บ้าง ขึ้นด้วย ทานะ ปาระมี สัมปันโน ทานะ อุปะปารมี สัมปันโน ทานะ ปะระมัตถะปารมี สัมปันโน นั่นแหละอันนี้น่าจะเป็นลายมือหลวงปู่ครูบาท่าน เพราะว่าเป็นอักษรฝักขามของล้านนา ถ้าหากว่าจะบูชาพระสงฆ์ ภาคเหนือ-ครูบาศรีวิชัย ภาคอีสาน-หลวงปู่มั่น ภาคกลาง-หลวงพ่อโต วัดระฆัง ภาคใต้-หลวงปู่ทวด ที่เหลือก็เพิ่มเติมเอาเอง แต่ว่าถ้าสัญลักษณ์ของ ๔ ภาคนี่เรายกขึ้นมาไม่มีใครเถียง
              ถ้าปวดเข่านี่ใช้ขมิ้นชัน ปอกสักเท่าหัวแม่มือ เช้า ๆ เหยียบไว้ใจกลางฝ่าเท้า วันละ ๑๐ นาที ทุก ๆ วัน เคยเหยียบกะลาไหม อันนี้ให้เหยียบขมิ้น ตำรานี้หลวงพ่ออุตตมะท่านบอกมาว่าจะแก้ได้ ถ้าปวดเข่าอักเสบฉับพลันหรือว่าเป็นเก๊า อยู่ ๆ ก็ปวดจนกระทั่งร้องโอดโอย ลุกไม่ขึ้นทั้งบวมทั้งอักเสบ ท่านให้ใช้หัวไชเท้าสด ๆ ปอกแล้วโขลกให้ละเอียด พอกเอาผ้าพันไว้ อย่าให้เกิน ๑๕ นาที จะหายอักเสบ ถ้าเกินมันจะกัดเนื้อ แต่ว่ารักษาต่อไป ไม่ใช่หายอักเสบแล้วก็เลิก อาการอักเสบฉับพลันนี่เขาใช้หัวไชเท้า แต่ประเภทปวดประจำ ๆ อย่างนั้นให้ไปเหยียบขมิ้น หัวไชเท้าก็ต้องสดใช้โปะให้แห้ง ท่านบอกว่าขมิ้นจะเข้าไปซึมรักษาได้ จุดใต้ฝ่าเท้านี่เป็นหนึ่งใน ๓๖ จุดชีวิต สังเกตคนเหยียบตะปูเป็นลมทุกที ถ้าโดนกลางฝ่าเท้าอาจจะตายได้เลย เพราะว่าตรงจุดนั้นมันเป็นจุดชีวิต
      ถาม :  เวลาเราปวดเมื่อย เราขอบารมีพระพุทธเจ้า ท่านบอกว่าให้นอนท่าไสยาสน์ ?
      ตอบ :  ก็เอาสิ จริง ๆ ลักษณะแบบไสยาสน์นี่ เราสังเกตว่าเวลาคนไข้อยู่โรงพยาบาลนาน ๆ หมอจะบังคับให้พลิกตัวอยู่เรื่อย เพราะว่าร่างกายของเราต้องระบายไอน้ำออกจากร่างกายตลอดเวลา จุดที่ระบายมาก ๆ ก็คือผิวหนังส่วนกว้างอย่างพวกแผ่นหลัง อะไรอย่างนี้ จังหวะที่เรานอนสีหไสยาสน์ร่างกายจะระบายน้ำออกได้สะดวก ถ้าหากว่าระบายไม่สะดวกอาการสถานเบาก็จะเป็นปอดชื้น ถ้าเป็นมาก ๆ ก็คือปอดบวมไปเลย เพราะฉะนั้นท่าที่พระพุทธเจ้าท่านว่ามาจะพอเหมาะพอดีที่สุด
      ถาม :  นอนสมาธิปางไสยาสน์ทีไร เท้าไม่เคยเสมอกัน ?
      ตอบ :  แล้วแต่เรา ยังไงก็ได้ แต่ให้ตะแคงข้างนั้นนะ ไม่จำเป็นต้องนอนเป๊ะอย่างพระพุทธเจ้า ไม่ต้องทำอย่างนั้น แล้วก็ไม่ต้องเอามือไปค้ำศีรษะ นอนบนหมอนธรรมดา ๆ อยู่อย่างนี้ก็ได้ ของเรานอนพนมมือเสียเคยไหว้พระ บางคนเขาก็สงสัยคิดว่าเราจะเอามือไปหนุนแล้วเผลอชักลงมาหรืออย่างไร ไม่ใช่หรอกความจริงพนมมือไหว้พระ แล้วก็นอนตะแคงมันสบายดี จะหลับจะตื่นเราเห็นพระอยู่แล้วใช่ไหม
      ถาม :  ที่ว่าเหยียบขมิ้นนี่เหยียบนานไหมคะ ?
      ตอบ :  ก็บอกแล้วประมาณ ๑๐ นาที วันละ ๑๐ นาที
      ถาม :  ...........(ไม่ชัด)..............
      ตอบ :  ราคะ โลภะ โทสะ โมหะ เป็นของร่างกาย ไม่ใช่ของเรา ถ้าคุณแยกมันออกก็จบเลย ใครได้มโนมยิทธินี่ง่ายมาก จะเกิดราคะ เกิดโลภะ เกิดโทสะ เกิดโมหะ พอรู้ตัวมันจะเกิดปุ๊บ อาศัยความคล่องตัวเผ่นไปอยู่กับพระพุทธเจ้าโน่น ราคะ โลภะ โทสะ โมหะ มันจะงอกงามได้ก็ต่อเมื่อมีใจไปนึกคิดปรุงแต่งร่วมกับมัน กินอาหาร แหม! ใส่พริก ใส่น้ำส้ม ใส่น้ำตาล ใส่น้ำปลา รสชาติดีมากเลย มันก็งอกงามยกใหญ่ คราวนี้ถ้าไม่ได้ปรุงไปแต่งกับมัน ธรรมดา ๆ จืดชืดไม่เป็นท่า ไม่มีรสหรอก เพราะจิตไม่อยู่ ราคะ โลภะ โทสะ โมหะ ไม่ต้องช่วยปรุงแต่ง มันงอกงามไม่ได้เลย แป๊บเดียวมันก็สลายไป
              เพราะฉะนั้นตัวมโนมยิทธิที่สำคัญที่สุดคือตัดกิเลสได้ง่ายอย่างนี้ โดยการส่งจิตไปอยู่ที่อื่นเสีย อย่าให้อยู่กับร่างกายมันเป็นสมบัติกับร่างกาย ถ้าจิตไม่ใส่ใจกับมัน ๆ ก็ทำอันตรายเราไม่ได้ ถ้าเราแยกตรงจุดนี้ออกก็ขึ้นไปกราบพระบ่อย ๆ อยู่บนนั้นให้นานที่สุด เท่าที่จะนานได้ นานไป ๆ ก็จะหมดกิเลสไปเอง
      ถาม :  .........(ไม่ชัด)..........
      ตอบ :  ลักษณะนั้นก็กำหนดสติรู้อยู่ว่ามันเป็นอย่างนั้น พอมันอ่อนกำลังลงเราก็ดึงมันกลับ เหมือนกับม้าพยศ เราเอาไม่อยู่แล้วก็กอดคอมันไว้ มันจะไปไหนก็ไปตาม ดูความคิดตัวเองก็ได้ สนุกจะตายไป
              สมัยก่อนตามดูความคิด เราจะสึกแล้วเราก็ไปทำงาน หาบ้านสักหลัง หารถสักคัน มีเมียสักคน มีลูกสัก ๒ คน ถึงเวลาเราเริ่มพอแล้วก็มาบวช อันนี้จบเสร็จแล้วก็เริ่มคิด ถ้าเราสึกตั้งต้นใหม่อีกมันวนเป็นวงกลมอยู่แค่นี้แหละ คิดได้ข้ามวันข้ามคืน เสร็จแล้วก็มาสรุป ไอ้ฉิบหาย! แล้วตอนนี้มึงไม่ได้บวชอยู่หรือ ก็เป็นอันว่าจบเพราะดันไปรู้ทันความคิด พอรู้ทันมันเราก็ตัดวงจรการคิดเสีย ในเมื่อกลัวว่าคิดห่างวัดแล้วเราจะไม่ยอมไปกับมัน ก็เออ! เดี๋ยวถ้าท้ายชีวิตแล้วจะมาบวช ก็เลยด่าตัวเองเลย แล้วตอนนี้มึงไม่ได้บวชอยู่หรือ ตอนบวชใหม่ ๆ เป็นมาก จะตามดูความคิดตัวเอง พูดง่ายก็คือพระจะสึก กระทั่งคิดปลูกผักบุ้งขายยังรวยเลย คือประเภทที่ว่าถ้าไปทำอะไรก็ต้องรุ่งไปหมด แต่ลองสึกกันไปเถอะ นรกมีจริง จะรู้ว่าชีวิตฆราวาสมันยากขนาดไหน สมัยนี้เราก็ต้องมีหน้าที่มาแก้ปัญหาของพระใหม่ คนโน้นอยากจะสึก คนนี้ก็อยากจะไป อันนั้นก็หงุดหงิด อันนี้ก็จิตตกยุ่งไปหมด แต่ละคนมาสารพันปัญหา สมาธิตก กิเลสเริ่มกันใจตัวเองได้ เผลอให้กับมัน อยู่ ๆ ประเภทว่าคิดว่าคู่ต่อสู้หมดแรงแล้ว ยืนหน้ายื่นตาไปให้มันต่อยเปรี้ยง ให้ร่วงไปเลย อย่าไปแตะเข้าเลยเชียว
              เรื่องของกิเลส รัก โลภ โกรธ หลง ท่าไหนก็แล้วแต่ ถ้ามันครอบเราได้เมื่อไร ปัญญาหายไปเลย จะมองไม่เห็นทาง มืดไปหมด ยิ่งประเภทที่ทรงฌาน ๔ เต็มระดับ นี่เจ้าประคุณ มันเงียบฉี่เลย มีอยู่วันหนึ่งเราก็ปลื้มใจ นอนภาวนาอยู่ในเรือ ในพรรษาเลยนะ ไล่ตีกับชาวบ้าน พวกหาปลาหน้าวัดท่าซุง นอนในเรือก็พิจารณาไป ภาวนาไป โอ้โห! อารมณ์จิตโปร่ง เบาดีเหลือเกิน กูถ้าจะได้อะไรสักหน่อยล่ะมั้ง คราวนี้ก็เลยเปรียบเทียบดูกับสังโยชน์ ปรากฏว่าไล่จากสักกายทิฏฐิยันอวิชชา ติดมันครบทุกตัวเลย ที่มองอย่างนั้นเพราะว่าของเราทรงสมาธิเป็นปกติ คราวนี้พอทรงไป ๆ ถึงระดับหนึ่ง มันกดกิเลส เงียบฉี่ไปเลย อันนั้นแหละในพระไตรปิฎกมีพระที่พยากรณ์ตัวเองว่าเป็นพระอรหันต์ ทั้ง ๆ ที่เป็นแค่พระทรงฌาน
      ถาม :  แล้วเราจะมีวิธีการแก้ไหมครับ ?
      ตอบ :  ไม่ต้องแก้ ทำให้มันนาน ๆ ไป มันก็หมดกิเลสได้เหมือนกัน เขาเรียก เจโตวิมุติ คือใช้สมาธิข่มเอาไว้ ข่มไปนาน ๆ ก็เหมือนกับหินทับหญ้า หญ้าจะตายไปเองเพราะว่าการพิจารณาแล้วจิตปล่อยวาง ตัดได้ เขาเรียกว่า ปัญญาวิมุติ หลุดพ้นได้ด้วยปัญญาจริง
      ถาม :  แล้วการที่จิตเราคิดในเรื่องไม่ดี สิ่งไม่ดี เราเองเราก็ไม่รู้หรอกคล้าย ๆ กับว่าเรารู้ว่าไม่ดี แต่ว่าความคิดกลับพุ่ง ?
      ตอบ :  ธรรมดา ก็อย่าลืมว่ามันเองมันก็รู้จักหาอาหารกินของมัน ไม่อย่างนั้นมันตาย มันก็พยายามที่จะกินของมัน ทำอย่างไรเราก็ไม่ให้อาหารมัน เมื่อเราไม่ให้อาหารมันนาน ๆ มันก็เฉาตายไปเอง
      ถาม :  บางครั้งเหมือนมีสองร่าง ?
      ตอบ :  เป็นทุกคน สองร่างนี่ตีกันเป็นประจำแหละ การ์ตูนที่เขาวาด ตัวหนึ่งก็มีเขาดำ ๆ แล้วก็มีปีกใช่ไหม อีกตัวหนึ่งก็เป็นเด็กแก้ผ้ามีปีกและก็มีวงแสงอยู่บนหัว สองตัวมันก็เถียงกัน ทำเถอะ อันนี้ก็อย่าเลย นั่นแหละการ์ตูนที่เขาวาด เรื่องจริงเลย อีกตัวหนึ่งก็กิเลสมาร อีกตัวหนึ่งก็มโนธรรม จิตที่ใฝ่ดี
      ถาม :  ..........(ไม่ชัด)....................
      ตอบ :  ใช่ ต่อให้คุณตัดมันได้ ถ้าปัญญาถึงขนาดนั้นแล้วก็ไม่มีใครคิดว่ามันจะหายไปไหน เขาต้องระวังอยู่ตลอด ไม่ใช่แค่ข่มไว้แล้วก็เลิกระวัง
      ถาม :  ..........(ไม่ชัด)..........
      ตอบ :  ของพระอรหันต์ท่านใช่ไหม ? ของท่าน ๆ ก้าวข้ามไปแล้ว ไม่มีอะไรให้ท่านระวังอีกแล้ว พูดง่าย ๆ ก็คือท่านปล่อยวางหมดแล้ว ในเมื่อท่านวางหมดท่านก็เบา ท่านก็สบาย แต่ในขณะเดียวกันคนที่ยังวางไม่หมด ยังมีแบกอยู่ก็ยังหนักอยู่ต่อไป
      ถาม :  ต่อไปหลวงพ่อดังระเบิด ?
      ตอบ :  ตอนนี้ยังไม่ดังหรอก แค่นี้ก็เหนื่อยจะตายอยู่แล้ว ถ้าขืนดังกว่านี้แย่แน่ ๆ เลย ปัจจุบันทางอินเตอร์เน็ตก็ทะเลาะกันแล้ว คนนั้นว่าอย่างนั้น คนนี้ว่าอย่างนี้ สรุปแล้วบางทีเราไม่ได้พูดหรอก เขาบอกว่าเราพูด เขาจะเถียงเอาชนะ เข้าไปในอินเตอร์เน็ตนี่บางทีเห็นกิเลสคนเยอะดี ต่างคนต่างเก่ง แล้วก็เถียงกันไปเรื่อย ผิดบ้าง ถูกบ้าง ว่ากันให้มั่วไปหมด เคยเข้าไปดูไหม ? จริง ๆ แล้วพระไม่มีปัญหาหรอก ลูกศิษย์เขามีปัญหา สังเกตว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมันไม่ใช่ครูบาอาจารย์ เขาไปนั่งทะเลาะกัน แต่ลูกศิษย์ต่างคนต่างก็บอกว่า ครูบาอาจารย์กูเก่งกว่า ก็เลยทะเลาะกัน ถึงได้มีสายนั้นสายนี้ขึ้นมา ต่างคนต่างภูมิใจในครูบาอจารย์ของตัวเอง ไม่ยอมลงให้กัน
      ถาม :  ........(ไม่ชัด)................
      ตอบ :  คือบางอย่างเป็นกรปรามาสพระรัตนตรัย แต่ว่าเขาไม่รู้ตัวก็เถียงกัน จริง ๆ แล้วผิดคำสอนของพระพุทธเจ้าท่าน พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า เราจะไม่พูดคำพูดอันเป็นเหตุให้เถียงกัน การเถียงกันทำให้เราจำเป็นต้องพูดมาก บุคคลที่พูดมากจิตใจย่อมฟุ้งซ่าน เมื่อฟุ้งซ่านก็จะห่างจากสมาธิ เพราะฉะนั้นเราก็นั่งดูก็แล้วกัน เป็นคนดูเพลินดี อย่างไปเป็นคนเล่นกระโดดขึ้นเวทีเล่นเมื่อไร เจ๊งเมื่อนั้น
      ถาม :  การที่เราอยู่ในเพศฆราวาส เราจะมีวิธีการอย่างไร ?
      ตอบ :  จริง ๆ ก็คือว่า ถ้าหากว่าเราเองสติสมบูรณ์มันจะควบคุม กาย วาจา ใจ ระดับหนึ่ง ถ้าเราอยู่ระดับนี้เราจะเห็นคนต่ำกว่าว่าเขาเพ้อเจ้อ แต่ถ้าเราก้าวขึ้นไป อ้าว! คราวที่แล้วกูก็เพ้อเจ้อนี่หว่า แล้วพอขึ้นไปอีกหน่อย อ้าว! อันโน้นก็เพ้อเจ้อนี่หว่า สรุปแล้วก็คือว่าสภาพจิตที่ละเอียดขึ้นไปแต่ละขั้นก็จะเห็นประโยชน์ของคำพูดที่แจ้จริงว่าเป็นอย่างไร
              เพราะฉะนั้นคำพูดเพ้อนั้น จริง ๆ มันเพ้อเจ้อทุกระดับแหละจนกว่าจะถึงพระอริยเจ้า เพียงแต่เพ้อแค่ไหนเท่านั้น ละเมอคำสองคำก็พอทนใช่ไหม ละเมอทั้งคืนนี่ไม่ไหวเหมือนกัน
      ถาม :  พระสกิทามีกับพระโสดาบัน ตัดสังโยชน์ ๓ เหมือนกัน แตกต่างกันอย่างไร ?
      ตอบ :  ต่างกันเยอะมากเลย เพราะพระสกิทาคามีท่านจะละ ราคะ โทสะ ได้มากกว่าพระโสดาบันทั่วไป พูดง่ายก็คือว่า ปีทั้งปีอาจจะไม่เคยนึกถึงเลยก็ได้ ไปนึกเอาได้วันที่ ๓๖๖ แวบหนึ่งแล้วก็ลืม แต่พระโสดาบันนี่ถ้าเป็นขั้นแรกก็ยังปกติ พอขั้นที่สองก็ห่างไปหน่อย ถ้าขั้นที่สามก็นาน ๆ คิดที อะไรอย่างนี้ ก็คุณดูสมบัติของท่านสิ พระโสดาบันคุณสมบัติก็คือศีล ๕ พระสกิทาคามีคุณสมบัติกรรมบถ ๑๐ ควบคุมวาจาและควบคุมใจ ควบคุมวาจาก็คือว่าไม่พูดปด แล้วยังไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ ควบคุมใจก็คือว่าไม่โลภอยากได้จนเกินพอดี ถ้าหากว่าจะได้มานี่จะต้องให้ถูกต้องตามศีลตามธรรมใช่ไหม โกรธได้แต่อย่าพยาบาท โกรธแล้วโกรธเลย ประเภทว้ากออกงิ้วตรงนั้นได้ หันหลังให้ก็ลืมแล้ว แต่จริง ๆ แล้วโอกาสที่ท่านจะโกรธนี่ยากเต็มที เขาด่าไปแล้วบางที ๓ เดือน ยังนึกไม่ออก เลยไปอีกทีกำลังทำเพลิน ๆ อยู่ เผลอหน่อยเดียวโผล่ขึ้นมา เฮ้ย! วันนั้นมันด่ากู ความรู้สึกอันนั้นไม่ดีนะ มันก็สลายไป เพราะฉะนั้นถ้าจะดูพระสกิทามีก็ดูว่าบุคคลผู้นั้นมีกรรมบถ ๑๐ สมบูรณ์ไหม
      ถาม :  ถ้าตาม...(ไม่ชัด)....มันไม่มีอาการเกิดขึ้นเลย เราก็ไม่สามารถจะบอกได้ว่าเราเป็นพระอริยเจ้าได้ ใช่ไหมเจ้าคะ ?
      ตอบ :  ตราบใดที่ไม่ใช่พระพุทธเจ้าเสด็จมาพยากรณ์ ไม่มีใครเขาประกาศตัวเองว่าเป็นพระอริยเจ้าหรอก แล้วในขณะเดียวกันต่อให้พระพุทธเจ้าพยากรณ์แล้ว ท่านก็ไม่ประมาทหรอก คือประเภทที่ว่ามันอาจะพังก็ได้ ตั้งหน้าตั้งตาทำต่อไป อย่างนี้
      ถาม :  แล้วมีบ้างไหม ที่พระพุทธเจ้าพยากรณ์แล้วไม่ได้ ?
      ตอบ :  อ๋อ! มีเยอะ เมื่อกลางวันที่พูดไปว่าโดนเขาหลอกน่ะ ประเภทอยู่ ๆ เทวดาประเภทเห็นเลยว่าศักดานุภาพสูงขนาดเป็นพระอริยเจ้าแน่นอน มาถึงก็ไหว้เลย แหม! ชื่นใจเหลือเกิน นาน ๆ ได้กราบผู้ปฏิบัติดีเสียที แค่นั้นแหละเราฟุ้งซ่านไปถึงไหนก็ไม่รู้
              อย่างหลวงพ่อในปฏิปทาท่านผู้เฒ่าที่ท่านว่า มีคนโยนดาบให้เล่มหนึ่งแล้วก็ท้าไป แน่จริงลุกขึ้นมาฟันกัน นิสัยหลวงพ่อนี่ อย่าท้านะ ประเภทที่พูดง่าย ๆ ว่ามีแววว่าจะได้เรื่อง ก็ไปแล้วนะ เพราะฉะนั้นนี่โดนแหง ๆ แต่บังเอิญว่าวันนั้นหลวงพ่อท่านมีสติ สมาธิสมบูรณ์อยู่ ก็ เออ! ไม่สู้หรอก อยากจะฆ่าก็ฆ่า อยากจะแกงก็แกง เจ้านั่นก็วางดาบ ไหว้เลย แหม! เราก็นึกว่าเป็นพระธรรมดา มาเจอพระอรหันต์เข้าแล้ว คราวนี้ถ้าหากว่าคนมานั่งปลื้ม เฮ้ย! กูคือพระอรหันต์แล้วนี่หว่า ไม่ทำต่อก็เจ๊งเลย เขาลองกันอย่างนั้น
              เพราะฉะนั้นบอกว่าได้พยากรณ์ อาจจะประเภทตัวปลอมหรือเปล่าก็ไม่รู้ อย่างนี้รับทราบไว้ด้วยความเคารพ แต่ยังตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่ตัวเองทำอยู่ต่อไป ไม่มีใครเขาทิ้งหรอก ที่พระท่านไปถามพระสารีบุตร ถ้าอยากเป็นพระโสดาบันทำอย่างไร ? ท่านบอกพิจารณาขันธ์ ๕ นั่นแหละ พอเห็นจริงปล่อยวางได้ก็เป็นพระโสดาบัน และถ้าเป็นพระสกิทาคามีล่ะ ท่านบอกก็พิจารณาอย่างนั้นแหละ ละเอียดขึ้นไปก็เป็นพระสกิทาคามี และถ้าเป็นพระอนาคามีล่ะ ก็พิจารณาให้ละเอียดยิ่งขั้นไปก็เป็นพระอนาคามี แล้วถ้าเป็นพระอรหันต์ล่ะ ก็เหมือนกันพิจารณาให้ถึงที่สุด ปล่อยวางได้ก็เป็นพระอรหันต์ ถ้าเป็นพระอรหันต์แล้วจะเลิกทำใช่ไหม ? ไม่ใช่ ต้องทำอยู่ทุกวันเพื่อความสุขของตน คือคล้าย ๆ กับว่ารู้เท่าทันมันแล้ว สบายแล้ว อะไรอย่างนี้
      ถาม :  ...............(ไม่ชัด)................
      ตอบ :  ก็ดูว่าของมันเองนั้น จริง ๆ แล้วมันเกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงในท่ามกลาง สลายไปในที่สุดไหม ? ในเมื่อเกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงในท่ามกลาง สลายไปในที่สุด ที่เราไปยึดมั่นถือมั่นเราทุกข์ไหม ? ในเมื่อเรายึดมั่นถือมั่น มันไม่ได้แสดงว่ามันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราจริงไหม ? ถ้าหากว่าเป็นของเราจริงเราต้องสั่งมันได้ใช่ไหม ? ในเมื่อทุกอย่างไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราเกิดมาอีกก็ต้องเจออย่างนี้อีกเราเข็ดหรือยัง ? พอหรือยัง ? ถ้าหากว่าสรุปได้ เข็ดแล้ว พอแล้ว ก็เอาจิตเกาะพระนิพพานนิ่งไปเลย แค่นั้นก็พอแล้ว อยู่นิ่งได้นานเท่าไร สงบเท่าไร มีความสุขเท่านั้น ถึงเวลาถ้ากำลังใจมันลดลงก็พิจารณาใหม่ ไล่ขั้นไปอีก นั่นแหละพยายามทำอย่างนั้นจนชิน จนกระทั่งสภาพจิตบอกว่ามันไม่ใช่ของเรา แล้วมันไม่เถียงเลย ไม่ใช่แน่นอนแล้วใช่ไหม ไม่ใช่ประเภทไม่ใช่ของเรา เฮ้ย! เมื่อตะกี้ยุงกัดกูยังเจ็บนี่หว่า อย่างนี้ใช้ไม่ได้ อันนั้นแค่กำหนดรู้เฉย ๆ เออ!ยุงกัดมันก็เป็นเรื่องของมัน มันไม่จบไม่ใช่หันไปเห็นก็ตีเพี้ยะกระจายเชียว ทำอย่างนั้นแหละ ย้ำบ่อย ๆ ทำบ่อย ๆ ย้ำบ่อย ๆ ทำบ่อย ๆ เหมือนกับย่ำเท้าอยู่กับที่ แต่จริง ๆ ไม่ใช่ เหมือนกับตัดต้นไม้ ซ้ำไปเรื่อย ๆ แผลเดิมเดี๋ยวมันก็ขาด บางคนพอฟันลงไป เฮ้ย! กูได้ตั้งเยอะแล้ว ก็ปล่อยต้นไม้ต้นนี้ มันแปลก เผลอเมื่อไรเนื้อมันงอกใหม่ เพราะฉะนั้นต้องฟันไปเรื่อย หยุดไม่ได้ หยุดเมื่อไรมันงอกใหม่ ซ้ำแล้วซ้ำอีก ย้ำแล้วย้ำอีกท่าเดิม วิธีเดิมนั่นแหละ ซ้ำไปเรื่อยเหมือนย่ำเท้าอยู่กับที่ แต่ว่าถ้ากำลังพอก็จะก้าวพรวด พ้นไปเลย ระหว่างที่เราย่ำเท้าอยู่กับที่ แล้วซ้ำอีก ๆ มันก็จะมีสิ่งล่อใจเพื่อให้เราหลงไปจากเป้าหมายตรงนั้น ทั้ง ๆ ที่ย่ำเท้าอยู่หน้าประตู ก้าวได้อีกก้าวเดียวมันคือพ้นแล้ว แต่มันหลอกให้เราก้าวออกด้านข้างไปเลย แล้วก็เดินวนต่อไป ตายอยู่ตอนนั้นก็เจ๊งอีก อดอีก และตอนที่กำลังใจเฮงซวยห่วยแตก ฟุ้งซ่านมาก ๆ เราจำไว้เลยเราใกล้ความดีมาก เรายิ่งใกล้ความดีมากเท่าไร มันยิ่งกวนให้เราฟุ้งซ่านมากเท่านั้น เพื่อที่เราได้หลงจุดหมายเสีย และตอนนั้นต้องรีบรวบรวมสตติสัมปะชัญญะปัญญาทั้งหมด เอาให้อยู่ พิจารณย้อนกลับไปว่าก่อนหน้านี้เราภาวนาอย่างไร พิจารณาอย่างไร จะสังเกตได้เลยว่าก่อนหน้านั้นสงบทุกที กำลังนิ่ง กำลังดีเชียวแหละ แล้วอยู่ ๆ ก็ฟุ้งซ่านเอาดื้อ ๆ นั่นแหละฝีมือมันแหละ กวนน้ำให้ขุ่น ต้องพิจารณาย้อนกลับไปว่าก่อนหน้านั้นเราทำอย่างไร แล้วก็ทำอย่างนั้นซ้ำบ่อย ๆ เดี๋ยวได้เอง