ถาม:  บางครั้งเรากลัวมาก ๆ นี่ เขาเรียกว่าจิตวิปริตหรือไม่คะ ?
      ตอบ :  ไม่ใช่จ้ะ ความกลัวเป็นปกติของทุกคน ตราบใดเรายังกลัวตายอยู่จะกลัวทุกเรื่อง ถ้าหากว่าไม่กลัวตายก็ยาก เพราะที่ไม่กลัวตายจริง ๆ มีแต่พระอรหันต์เท่านั้น แล้วจะวิปริตได้อย่างไร ? กลัวกันทุกคน เพียงแต่เราจะกลัวอย่างมีสติ หรือกลัวแบบขาดสติ ถ้ากลัวอย่างมีสติจะรู้ยั้งคิดรู้จักพิจารณา
              สมัยอยู่วัดท่าซุงเคยชวนพระพี่พระน้องกันสามองค์สี่องค์ไปนั่งกรรมฐานกันแถวป่าช้า ตอนนั้นทางฝั่งวัดเก่ายังเป็นป่ารกมากเลย โบสถ์เก่าไม่ได้ซ่อม แถวนั้นก็มีโกฏิกระดูกเยอะแยะไปหมด เอากลดไปแขวนก็เข้าไปอยู่กลางป่าดี ๆ นี่เอง งูเลื้อยมาได้ยินเสียงรู้เลย เสียงแกรก ๆ มา ตัวไม่ใหญ่หรอก ตัวนิดเดียว ฟังเสียงก็รู้ใช่ไหม คราวนี้ความคิดก็คิดต่อว่า เออ...ถึงตัวเล็ก แต่ถ้ามันมีพิษ มันกัดเราก็ตายนี่หว่า นี่ก็เริ่มกลัวขึ้นมาหน่อย พออีกสักพัก มันน่าจะใหญ่กว่าที่เราคิดหนึ่งหนึ่งนะ คิดไปคิดมาจิตปรุงไปเรื่อยแต่งไปเรื่อย งูตัวนั้นเลยกลายเป็นใหญ่โตมโหฬารในความรู้สึกของเรา ถ้ามันมาถึงเราตายแน่นอน ก็กลัวมากขึ้นไปเรื่อย ๆ คราวนี้กลัวอย่างมีสติหรือกลัวอย่างขาดสติ นึกขึ้นมาได้ เออ...ในเมื่อไหน ๆ จะตายแล้ว ทำไมเราไม่ไปเผชิญหน้ามันให้รู้แล้วรู้รอดไป เปิดมุ้งกลดขึ้นแล้วฉายไฟดู ตัวนิดเดียว
              คราวนี้กลายเป็นว่า พอตัว "วิชชา" คือความรู้เกิดขึ้น รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ตัว "อวิชชา" ที่เป็นความกลัวอยู่ เป็นความรู้ไม่จริงมันหายไป ความกลัวก็หายไปด้วย เพราะฉะนั้น...ถ้าหากว่ายังไม่ใช่พระอรหันต์เมื่อไร ความกลัวยังมีอยู่ทุกรูปทุกนาม จะมากจะน้อยแล้วแต่ สำคัญว่ากลัวแบบมีสติ หรือว่ากลัวแบบขาดสติ ถ้าเรามีสติ เราพิจารณาแล้วแก้ไขไปตามเหตุการณ์เฉพาะหน้า ทุกวันนี้ผีหลอกไม่หนี แต่รู้สึกว่าตัวเองเย็นสันหลังวาบ ๆ ขนลุกเกรียวเลย มานั่งพิจารณา ใจยังกลัวอยู่นี่ เพียงแต่กลัวแล้วไม่หนีเท่านั้น กล้าคุยกล้าพูดกับเขา เพราะฉะนั้น...คำว่าไม่กลัวนี่ยาก เพราะฉะนั้น...ถ้าเรากลัวในขณะที่ปฏิบัติ ให้ตั้งใจไว้ว่า "ถ้าตายตอนนี้ เราก็ไปตามที่เราต้องการ ตั้งใจไปนิพพานก็ไปนิพพาน ตั้งใจไปพรหมเป็นพรหม ตั้งใจไปเทวดาเป็นเทวดา" ตายก็ช่างมัน เป็นอะไรไปได้กำไรอยู่แล้ว ถ้าไม่กลัวตายซะอย่าง อย่างอื่นก็ไม่กลัวด้วย
      ถาม :  .................................
      ตอบ :  บุญจริง ๆ มีอยู่ ๑๐ แบบด้วยกัน ตัวที่เป็นกำไรจริง ๆ เรียก "ทิฏฐชุกรรม" คือมีความเห็นเป็นสัมมาทิฏฐิ หมายความว่า มีความเห็นว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไรน่ะดี เราตั้งใจทำตามนั้นไม่คัดค้าน แล้วก็มี "ทานมัย" บุญสำเร็จด้วยการให้ทาน "ศีลมัย" บุญสำเร็จด้ยการรักษาศีล "ภาวนามัย" บุญสำเร็จด้วยการภาวนา สามอย่างนี้เป็นบุญใหญ่มาก พูดง่าย ๆ ว่า หากว่าทานมีผลเป็นร้อย ศีลมีผลเป็นหมื่น ภาวนามีผลเป็นล้าน ขณะที่อันอื่นอาจจะมีผลแค่สิบ ข้อต่อไปก็ "อปจายนมัย" การรู้จักอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้อื่นก็เป็นบุญ คนอื่นเขาเห็นแล้วเย็นตาเย็นใจ เกิดความรักใคร่เมตตา นี่แหละสร้างกุศลให้เกิดในใจเขา เราพลอยได้บุญไปด้วยนะ "เวยยาวัจมัย" ขวนขวายช่วยเหลืองานของคนอื่น ช่วยงานเขาให้สำเร็จ โดยเฉพาะงานที่เป็นงานบุญได้บุญด้วยนะ "ปัตติทานมัย" ทำบุญแล้วอุทิศส่วนกุศล สิ่งที่เราทำด้วยยาก ถึงเวลายังตั้งใจแบ่งปันให้คนอื่นเขา ใจเราประกอบด้วยเมตตาขนาดนั้นเลยเป็นบุญ "ปัตตานุโมทนามัย" เห็นคนอื่นทำความดีพลอยยินดีด้วย ที่เขาเรียกโมทนาด้วย จริง ๆ คือตัวนี้ แต่ว่ายินดีในขณะที่เราไม่มีโอกาสทำ แล้วคนอื่นเขาได้ทำ จิตใจจะผ่องใสอิ่มเอิบอย่างบอกไม่ถูก
      ถาม :  ...........................
      ตอบ :  แล้วเขาไปได้ตัวเวยยาวัจจมัย คือช่วยงานบุญของเราให้สำเร็จลงด้วย เขาได้เพิ่มอีก ๒ ข้อ ตกลงฝากเขา ๆ ได้กำไร ของเราได้ตั้งแต่ตอนที่ตั้งใจทำเลย คิดจะทำเป็นบุญได้บุญอยู่แล้ว "เจนาหัง ภิกขเว ปุญญัง วทามิ" พระพุทธเจ้าบอกว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เจนานั้นเป็นบุญแล้ว"
      ถาม :  เจตนาทำบุญเราก็ได้บุญ ถ้าไม่ทำล่ะคะ ? เจตนาจะเปลี่ยนหรือเปล่า ?
      ตอบ :  ถ้าหากว่าตั้งใจจะทำ แต่ว่าโอกาสจะทำยังไม่มี บังเอิญตายเสียก่อน ได้บุญ แต่พระขาดทุน เพราะยังไม่ได้อะไรเลย ได้บุญจริงๆ นะจ๊ะ เพราะว่าจิตตอนนั้นเป็นกุศลเกาะตัวทานอยู่แล้ว คือเราตั้งใจจะให้เป็นปกติ เขาเรียกว่า "จาคานุสติ" คือการระลึกถึงการสละออก เพื่อตัดซึ่งความโลภ แต่ว่าถ้าได้ทำจะเป็นทานบารมี เพราะฉะนั้น...จาคานุสติ ถ้าหากว่าสละไปเรื่อย ท้าย ๆ ก็จะสละ รัก โลภ โกรธ หลงไปเอง สละตอนสุดท้ายสำคัญ เพราะฉะนั้น...ถามว่าถ้าหากแค่คิดว่าจะให้เป็นบุญไหม ? เป็นแล้ว
      ถาม :  ถ้าหากว่ามีคนฝากทำบุญ แล้วเราไม่ได้ทำให้เขา ?
      ตอบ :  อันนั้นก็เสร็จแน่ ๆ สิ เท่ากับว่าสิ่งที่เป็นกึ่งกลางระหว่างสงฆ์ คือของที่เขาตั้งใจทำบุญ แต่ยังไม่ถึงมือพระ โทษจะเหมือนกากเปรต กากเปรตนี่เขาตั้งใจเอาอาหารมาถวายพระ พี่แกโฉบไปกินเสียก่อน ทั้ง ๆ ที่ตัวเองเป็นอีกา ตายแล้วกลายเป็นเปรตไป ของเขาตั้งใจทำบุญอยู่แล้ว ดังนั้นก่อนตายรีบทำให้เขาซะ
      ถาม :  ถ้าหากว่าทำบุญผิดวัตถุประสงค์ล่ะคะ ? สร้างโบสถ์อย่างนี้ เอาไปถวายเป็นอย่างอื่น ?
      ตอบ :  ถ้าอย่างนั้นเขาปรับโทษย้ายเจดีย์จ้ะ ถ้าเขาตั้งเจตนามาต้องทำตามนั้น เขาปรับโทษย้ายเจดีย์ ยกเว้นอย่างเดียวหากว่าพระที่รับ เงินเขาตั้งใจเป็นสังฆทาน เราเอาไปทำเป็นวิหารทานได้ เป็นธรรมทานได้เพราะบุญใหญ่กว่า แต่ส่วนที่เล็กกว่าเราทำไม่ได้ คือทำให้มากกว่าที่เขาต้องการ แต่ขณะเดียวกันถ้าของโยมเขาตั้งใจเจตนาอย่างไร ? เราต้องทำให้เขาอย่างนั้น ผิดเจตนาเขาไม่ได้
      ถาม :  อะไรที่เป็นของสงฆ์ ?
      ตอบ :  ลำบากมากเลยจ้ะ โทษหนัก เขาปรับง่ายที่สุดอเวจีไว้ก่อน เรื่องอื่นว่ากันไว้ทีหลัง...!
      ถาม :  สมมุติอย่างวัดแถวบ้านนอก เวลาเขามีงานบุญ เด็ก ๆ ไปกินขนมบางครั้งเราก็ไปกินของพระบ้างอย่างนี้ ?
      ตอบ :  ถ้าหากว่าเป็นของเหลือจากพระฉันแล้ว อันนั้นน่ะเรากินได้ แต่ว่าควรจะกินอยู่ที่วัด ไม่ควรเอากลับบ้าน แต่ถ้าหากว่าวัดไหนที่เขามีการอุปโลกน์สังฆทานเวลาถวายอาหารพระ เขาจะมีพระอยู่องค์หนี่งที่สมมติตนเป็นภัตตุเทศน์ เขาจะขึ้น "ยัคเฆ ภัณเต สังโฆ ชานาตุ" ขอสงฆ์ทั้งหลายโปรดจงฟังคำข้าพเจ้า บัดนี้ ท่านทายกทายิกาผู้มีจิตศรัทธาได้น้อมนำมาซึ่งภัตตาหาร เพื่อถวายเป็นสังฆทานในท่ามกลางหมู่สงฆ์ อันชื่อว่าสังฆทานนั้น สมเด็จพระพุทธองค์จะเจาะจงให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งก็หาได้ไม่ ท่านกล่าวไว้ว่า เป็นของที่สมควรแก่สงฆ์ทั่วทั้งสังฆทานมณฑล ท่านอนุญาตให้แจกกันตามบรรดาภิกษุทั้งหลายที่มาถึง บัดนี้ข้าพเจ้าจะสมมติตนเป็นผู้แจกของสงฆ์ สงฆ์ทั้งหลายจะเห็นสมควรหรือไม่สมควร ถ้าเห็นเป็นการไม่สมควรก็จงทักท้วงขึ้นอย่าได้เกรงใจ แต่ถ้าเป็นการสมควรแล้วไซร์ ขอท่านทั้งหลายจงเป็นผู้นิ่งอยู่ คราวนี้พอเห็นพระทั้งหมดเงียบ ท่านจะสรุปว่า บัดนี้สงฆ์ทั้งหลายนิ่งอยู่ ข้าพเจ้ารู้ว่าเป็นการสมควรแล้ว จึงขออนุญาตแจกภัตตาหาร ณ บัดนี้ ท่านจะขึ้น "อะยัง ปะฐะมะภาโค มหาเถรัสสะ ปาปุณาติ" ส่วนนที่หนี่งพึงถึงแด่พระมหาเถระผู้เป็นใหญ่เหนือข้าพเจ้า "อะวะเสสา ภาคา อัมหากัง สามเณรรานัญจะ ปาปุณาติ" ส่วนที่เหลือควรพึงถึงข้าพเจ้าตามลำดับไปตลอดจนภิกษุ สามเณรทั้งหลายที่มาถึง และทายก ทายิกา อุบาสก อุบาสิกา ตลอดจนสรรพสัตว์ทั้งหลายที่มีความปรารถนา ขอให้มีส่วนในสังฆทานนี้โดยทั่วหน้ากันทุกท่านทุกคนเทอญ แล้วพระทั้งหมดก็สาธุ พอสาธุเสร็จ คราวนี้ฉันจากพระเหลือแล้วโยมฟาดไปเถอะ เขาอนุญาตแล้วนี่ เพราะฉะนั้น...พระต้องมีความเห็นเป็นอันหนี่งอันเดียวกัน อนุญาตให้ อย่างนั้นได้ ถ้าไม่พูดเลย ถ้ากินเหลือกินได้ แต่อย่าเอาไปบ้าน ถ้าไม่ใช่เหลือแล้วไปฉวยมาเองนี่ ติดหนี้สงฆ์ทันทีเลย
      ถาม :  ต้องสร้างพระถึงชำระหนี้สงฆ์ได้ ?
      ตอบ :  ต้องเป็นพระที่หน้าตักอย่างน้อย ๔ ศอก ๔ ศอกคือ ๒ เมตร ถ้าหากว่าสร้างพระแล้วไม่ปิดทองได้เฉพาะเจ้าภาพคนเดียว มีอานิสงส์ในการชำระหนี้สงฆ์ แต่ถ้าหากว่าสร้างพระ ๔ ศอกแล้วปิดทองด้วย จะเป็นคณะกี่หมื่นกี่แสนคนก็มีอานิสงส์ชำระหนี้สงฆ์ได้เหมือนกันทุกคน
      ถาม :  ชำระหนี้สงฆ์แล้ว ถ้าหากว่าเราตายไปต้องรับไหมคะ ?
      ตอบ :  โทษนี้จบกันไปเลย ยกเว้นเราจะไปติดหนี้ใหม่ ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันเคยทำอะไรมาไว้ เป็นอันว่ายกเลิกกันไป ถ้าอนาคตทำใหม่แล้วค่อยว่ากันอีกครั้ง
      ถาม :  บางคนทำเยอะมาก บางคนทำนิดเดียวอย่างนี้ล่ะคะ ?
      ตอบ :  จะเยอะจะน้อยอะไรก็ตาม โทษต่ำสุดคืออเวจี เพียงแต่อยู่นานกว่ากันหรือเปล่าเท่านั้นเอง ต่อให้ทำมากทำน้อยอย่างไรก็ตาม เขากำหนดเอาไว้ในอัตรานี้ ถ้าหากว่าให้มาเป็นอันว่าจบกันไป แล้วอย่าลืมว่าพระ ๔ ศอก ไม่ได้สร้างง่าย ยิ่งสมัยก่อนที่จะสร้างพระใหญ่ ๆ อย่างนี้ มีแต่บรรดาเจ้าฟ้ามหากษัตริย์ หรือบรรดาพวกเสนาบดี มหาอำมาตย์ ผู้ใหญ่ ๆ ทั้งนั้นถึงมีบารมีพอที่จะสร้างได้ มาสมัยของเราต้องเรียกว่าบุญมันดี ของทุกอย่างพร้อม ง่ายสะดวกไปหมด มีโอกาสทำก็รีบทำ
      ถาม :  ถ้าเราเอาสตางค์พระมาใช้ล่ะคะ ? เป็นลุงบวชอยู่
      ตอบ :  ถ้าหากว่าเป็นของที่เขาถวายท่านเป็นการส่วนตัว แล้วท่านอนุญาตให้เราใช้ได้ อันนั้นไม่เป็นไร แต่ถ้าหากว่าเป็นของที่ถวายสงฆ์ ถึงท่านอนุญาตก็ไม่ได้ เพราะว่าของถ้าหากว่าตั้งใจถวายอย่างเงินสังฆทานนี่ไม่ได้เลย ต้องพระทั้งวัดเห็นสมควรถึงจะได้ อย่างของอาตมาตอนนี้เงินที่ให้โยมใช้มีส่วนเดียว คือส่วนที่เป็นส่วนตัว อย่างเช่น คนเขาขับรถให้ ถึงเวลาเราให้เงินเขากินข้าวกินน้ำบ้างอย่างนี้ได้อยู่ แต่ต้องเป็นเงินส่วนตัวจริง ๆ นะ ถ้าไปยักเงินสงฆ์มาเมื่อไร ตัวเองเป็นหนี้แทน เพราะตั้งใจให้เขา เราต้องชำระหนี้แทนเขา
      ถาม :  ถ้าเราไม่ทราบว่าเงินนี้มาจากไหน ?
      ตอบ :  ทำการชำระหนี้สงฆ์ไปอย่างที่ว่านั่นแหละ ถ้ารู้จำนวนคืนตามจำนวน ถ้าไม่รู้จำนวนก็สร้างพระชำระหนี้สงฆ์ไป พวกข้าวของเหมือนกัน ถ้ารู้ว่าเท่าไร ? เช่น ปิ่นโตกี่เถา ช้อนกี่คัน จานกี่ใบอย่างนี้ ซื้อคืนไป แต่ถ้าหากว่าไม่รู้ ต้องทำการชำระหนี้สงฆ์ ถ้าเขาสร้างพระก็ไปร่วมกับเขา ถ้าเขาไม่สร้างก็ตั้งหน้าตั้งตาทำเสียเอง อันนี้ลำบากหน่อย
      ถาม :  ถ้าอย่างนี้หนูรู้ใช่ไหมคะว่าเป็นหนี้สงฆ์ ถ้าหากเป็นญาติที่บ้านยังเป็นปกติอยู่ ?
      ตอบ :  ค่อย ๆ ชี้แจงให้เขาฟังสิ คนทำต่อให้รู้หรือไม่รู้ก็ผิด จะบอกว่ากินยาพิษโดยไม่รู้แล้วไม่ตายเป็นไปไม่ได้หรอก มีโทษอยู่แล้ว แต่จริง ๆ น่าตำหนิที่สุดคือ ตัวนักบวชที่ไม่รู้ แล้วทำให้ญาติโยมเขาลำบากเพราะว่าเจอมามากต่อมาก เวลาบวชอยู่มีข้าวของอะไรก็เอาไปให้ญาติโยมของตัวเอง ประเภทโทรทัศน์ พัดลม ตู้เย็น เจอมาแล้ว เขาขนกันไปเป็นคันรถเลย ไอ้นั่นลำบาก จะเป็นหนี้สงฆ์โดยไม่รู้ตัว ไม่ต้องหนักใจหรอกจ้ะ ตอนนี้มีโครางการสร้างพระชำระหนี้สงฆ์อยู่ ของเราเองถ้าหากว่ามีความสามารถหาปัจจัยรวม ๆ กันมาเป็นคณะของเรา คณะหนึ่งก็หนึ่งแสนบาท ถ้าหากว่าไม่มี เดี๋ยวรอคนอื่นเขาเป็นเจ้าภาพ เราร่วมกับเขาไปกี่สตางค์ก็ได้ ตั้งใจว่าเขาสร้างกี่องค์เราเอาเท่านั้นด้วย อย่ากำหนดว่าองค์เดียว เรื่องหนี้สงฆ์อันตรายมาก เพราะส่วนใหญ่แล้วไม่เข้าใจกัน จะเป็นโทษกันบ่อย
              อย่างญาติพระเจ้าพิมพิสารเป็นเปรตซะ ๙๑ กัป อันนั้นจริง ๆ แล้วแกไม่ได้ติดหนี้สงฆ์หรอก กินอาหารเหลือจากพระด้วยซ้ำไป แต่คราวนี้แกกินแล้วแกไม่พอ แกขนกลับบ้านด้วย ตอนขนกลับบ้านด้วยนี่ถึงจะเหลือก็เถอะ มันเป็นของวัดอยู่ "วิทาสาโท" คือกินของเหลือจากพระกินได้ แต่ไม่ใช่ให้แบกไปด้วย
      ถาม :  .............................
      ตอบ :  สร้างพระชำระหนี้สงฆ์จ้ะ เขากำหนดกติกาแล้วถ้าทำได้อย่างนี้เป็นอันว่าจบกัน ก็แปลว่าจบกันแค่นั้น แต่ถ้าเรารู้สึกว่ายังไม่สะใจ จะทำไปเรื่อย ๆ ก็ไม่มีใครว่า
      ถาม :  ประสบการณ์เรื่องอวิชชา ไม่รู้ตอนไหน ?
      ตอบ :  ไม่รู้ตอนไหน ? ไม่รู้ทันกิเลส เห็นปุ๊บพอใจก็เสร็จแล้ว "พอใจ" คือตัวฉันทะ จะเกิด "ราคะ" คือยินดีอยากมีอยากได้ ฉันทะกับราคารวมกันเขาเรียกว่า "อวิชชา" ตาเห็นรูปพอใจ หูได้ยินเสียงพอใจ จมูกได้กลิ่นพอใจ ลิ้นได้รสพอใจ กายสัมผัสพอใจ เสร็จหมด...!
      ถาม :  ..............................
      ตอบ :  ไม่ต้องลองหรอกจ้ะ ทำได้เลย เพียงแต่ว่าทำแล้วตอนทำให้ตั้งใจภาวนาอย่างเดียวอย่าอยากมีอยากเป็นอะไรนะ จะเป็นอะไรช่างมัน เหมือนกับเราปลูกต้นไม้นั่นแหละ จะออกดอกออกผลเมื่อไรเรื่องของมัน เรามีหน้าที่บำรุงดูแลรักษาใส่ปุ๋ยใส่ยาก็ว่าของเราไปเรื่อย ถึงวาระถึงเวลาที่สมควรมันจะออกดอกออกผลเอง ไปเร่งเขาไม่ได้หรอก ไปดึงยอดโตเร็ว ๆ หน่อย มันเฉาตายพอดี ค่อย ๆ ทำไปเรื่อย ๆ ใจเย็น ๆ แล้วจะได้ผลเร็ว ถ้าใจร้อนจะเสีย
      ถาม :  แต่ถ้าคิดว่าชาตินี้เราเกิดมาจนแก่จนเฒ่าก็ได้เท่านี้ ?
      ตอบ :  ได้เท่านี้หมายความว่าอย่างไร ? ใครเป็นคนกำหนดล่ะ ?
      ถาม :  หมายถึงว่า "ทำไมเราไม่ถึงขนาดว่าจิตสงบจริง ๆ อย่างนี้ค่ะ"
      ตอบ :  อ๋อ...อันนั้นแหละเป็นตัวฟุ้งซ่านเลยไม่สงบ
      ถาม :  หนูทำมานานนะคะ แต่ทำไมยังอยู่ที่เดิม ?
      ตอบ :  มี ๒ อย่าง ทำแล้วไม่ก้าวหน้า คือทำเกินกับทำขาด ถ้าทำพอดีไปนานแล้ว เกินก็ไม่ได้ ขาดก็ไม่ได้
      ถาม :  เกินหมายถึงทำหนักไป ?
      ตอบ :  ใช่ เอาจริงเอาจังอยากได้จนเกินไป ส่วนทำขาดคือ ยังไม่เพียงพอ ส่วนใหญ่เท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทำตัวขาดคือ ขาดการต่อเนื่อง เราทำสมาธิเฉพาะตอนนั่ง พอลุกแล้วเราเลิกใช่ไหมล่ะ ? เออ...ในเมื่อเราลุกแล้วเราเลิก อย่าลืมว่าวันหนึ่ง ๒๔ ชั่วโมง ใจเราสงบเท่าไร ? นั่งอยู่อย่างเก่งก็ชั่วโมงหนึ่ง ใช่ไหม ? ขาดทุนไป ๒๓ ชั่วโมง ถ้าเราขาดทุนไปทุกวัน ๆ อย่างนี้ แล้วจะเอากำไรที่ไหนมา
              เพราะฉะนั้น...ตอนเรานั่งอยู่ ถ้ากำลังใจทรงตัวขนาดไหนก็ตาม ลุกขึ้นแล้วต้องประคับประคองรักษากำลังใจนั้นให้อยู่กับเราให้นานที่สดุเท่าที่จะนานได้ พอทำบ่อย ๆ เข้ามันเคยชิน จากที่เคยอยู่ได้แป๊บหนี่ง อาจจะอยู่ได้ชั่วโมงหนึ่ง สองชั่วโมง สามชั่วโมง มากขึ้นไปเรื่อย ๆ ตามระยะเวลา จนกระทั่งได้เป็นวัน เป็นเดือน เป็นปี ถ้าจิตยิ่งทรงตัวมากเท่าไร สมาธิยิ่งดีเท่านั้น ปัญญาจะเกิดมาก ไปควบคุมให้เราระมัดระวังรักษาให้ยิ่งทรงตัวมากขึ้นไปเรื่อย ๆ แต่ส่วนใหญ่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ทำแล้วก็เลิก แล้วก็ทำใหม่ คราวนี้เราว่ายทวนน้ำอยู่ เพราะว่าเราทวนกระแสกิเลส พอถึงเวลาเราปล่อย เราก็ไหลตามน้ำไป แล้วเราก็ว่ายทวนน้ำใหม่ แล้วก็ปล่อยไหลตามน้ำไป ตกลงเราจะขยันมาก ทำงานทุกวัน แต่ผลงานไม่มี...! แล้วพอเหนื่อยมาก ๆ มันท้อ ก็จะเลิกทำไปเอง เพราะฉะนั้น...เราต้องว่ายต่อเนื่องไปเรื่อย อย่าปล่อย ปล่อยเมื่อไรเสร็จมัน ถ้าไหลไปไกลแล้วเดี๋ยวกลับยาก หมดกำลังใจอีก
      ถาม :  เขาบอกว่า "สมาธิไม่จำเป็นต้องนั่ง นอน เดิน" ?
      ตอบ :  ใช่ แต่อย่างนั้นแสดงว่าขาดสติ ทุกอิริยาบถของเราแบ่งความรู้สึกส่วนหนึ่งไประลึกถึงมันอยู่เสมอ ความรู้สึกนี้อาจจะมากน้อยแล้วแต่ความชำนาญ แต่ว่าอย่างไม่มี ๆ ก็สัก ๒๐-๓๐ เปอร์เซ็นต์ แบ่งความรู้สึกนึกถึงไว้เสมอ เช่นว่า เราจับภาพพระ ก็นึกถึงภาพพระอยู่เสมออยู่ตรงนี้ แต่ขณะเดียวกันว่าอีก ๗๐-๘๐ เปอร์เซ็นต์ เราใช้ประกอบหน้าที่การงานตามปกติของเรา จะข้ามถนน จะไปทำงาน จะทำหน้าที่อะไรก็ตาม ความรู้สึก ๗๐-๘๐ เปอร์เซ็นต์นี้จะควบคุมอยู่ตลอด แต่ว่าระหว่างนั้น ๒๐-๓๐ เปอร์เซ็นต์นึกถึงภาพพระอยู่ ถ้าหากว่าเราสามารถทรงฌานได้จริง ๆ เอาแค่ปฐมฌานละเอียดพอ จะรู้ลมอัตโนมัติโดยไม่ต้องบังคับ จิตละเอียดมาก ขณะเดียวกันก็ทำทุกอย่างไปพร้อม ๆ กันได้ด้วย ถ้าหากว่าเราทำถึงตรงจุดนี้แล้ว ให้ระมัดระวังประคับประคองเอาไว้ ตรงจุดนี้จะเป็นจุดที่เริ่มดี เพราะว่ากำลังของปฐมฌานถ้าเราตั้งใจตัดกิเลสอย่างน้อยจะเป็นพระโสดาบันได้ ทำแล้วอย่าทิ้ง
      ถาม :  ถ้าเรามั่นใจว่าเราสามารถบรรลุธรรมได้ มีความตั้งใจว่าชาตินี้สามารถบรรลุธรรมได้แน่ ๆ ถ้าเกิดความรู้สึกอย่างนี้ เป็นกิเลสหรือเปล่าครับ ?
      ตอบ :  จะเป็นอย่างไรล่ะ ตัวนั้นน่ะเขาเรียกว่า "บารมี" คือกำลังใจ ความมมั่นใจ ถ้าหากว่าประเภทอย่างเช่น บางคนเคยเจอ แนะนำเขาบอกให้ไปนิพพาน เขาบอกจะไปได้หรือ ? ประเภทนั้นไม่มีกำลังใจ คือบารมีพร่องอยู่ แล้วคราวนี้คุณจะมานั่งมั่นใจ ๆ อย่างเดียวช่วยอะไรไม่ได้หรอก ต้องลงมือทำ...!