ถาม :  หลวงพ่อลำไย องค์นี้ดี
      ตอบ :  สุดยอดเลย องค์นี้ท่านดังมาตั้งแต่ยังหนุ่ม ๆ บอกโอ้โอเจ้าประคุณ แล้วอยู่มา ๗๐ กว่า คนกวนตายเลย จนกระทั่งปัจจุบันก่อนมรณภาพไม่กี่ปีนี้ ท่านต้องหนีไปอยู่ที่สถานสงเคราะห์คนชรา ต้องทิ้งวัดเลย ถ้าหากว่าอยู่ที่วัดนี่ คนกวนตายชักเลย หนีไปซ่อนอยู่ที่นั่น เวลาพระจะไปกราบท่าน ต้องย่องไปกราบท่านที่นั่น
      ถาม :  หลวงพ่อลำไย ท่านเป็นพระพัฒนา ?
      ตอบ :  ปี ๒๕๒๓ อาตมาเริ่มรับราชที่ พล.ร.๙ ชายตลิ่งแม่น้ำแควใหญ่ ตรงข้างวัดทุ่งลาดหญ้า คนตกลงไปคอหักตาย ไม่กี่ปีที่หลวงพ่อลำไยพัฒนากลายเป็นเขื่อนถาวรไปเลย ท่านทำจริง ๆ สร้างโรงเรียน สร้างวัด สร้างสถานสงเคราะห์คนชรา
      ถาม :  ตะกรุดมหาสะท้อนถ้าเกิดตีกันโดยที่เล่นกัน อย่างนี้จะโดนไหมคะ ?
      ตอบ :  อันนี้ไม่แน่ใจจ้ะ จะอย่างไรก็อาราธนาบอกท่านให้ดีแล้วกัน ที่เขาห้ามให้เด็กใช้เลย เพราะกลัวว่าเราจะไปตีเด็ก
      ถาม :  ถ้าหากว่าเด็กตีเรา ?
      ตอบ :  อันนั้นไม่รู้เหมือนกันจ้ะ ถ้าหากไม่มีเจตนาร้าย คงไม่เป็นไร แต่ส่วนใหญ่ที่เราตีเด็ก ไม่ใช่ว่าเพราะต้องการให้เขาได้ดี แต่ตีเพราะโกรธ ตีเพราะโกรธจะมีโทษ
      ถาม :  การที่คนเราคิดว่า “ไม่ได้ทำให้คนอื่นเดือดร้อนก็พอแล้ว แต่ก็ไม่ได้ทำประโยชน์ให้บุคคลอื่น หรือมีใจเป็นทานอย่างนี้ กำลังใจอยู่ในระดับใด” ?
      ตอบ :  ขอทาน เคยได้ยินเรื่องของอานันทเศรษฐีไหมล่ะ ? อานันทเศรษฐีเขาก็มีความคิดแบบนี้แหละ คือว่า ทรัพย์สมบัติเป็นของพ่อแม่ให้มา คนอื่นไม่ได้ให้ประโยชน์เราสักหน่อยหนึ่ง ก็ไม่จำเป็นต้องไปสงเคราะห์ใคร ไม่จำเป็นต้องไปช่วยเหลือใคร อยู่เฉย ๆ ดีกว่า แต่...มีข้อแม้นะ ที่เป็นขอทานนี่ ต้องไม่ทำชั่วเลยนะ ของอานันทเศรษฐีท่านไม่ได้ทำชั่ว แต่ก็ไม่ได้ทำดีเลย ก็เลยไปเกิดเป็นขอทาน อย่างกับปีศาจคลุกฝุ่น ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ช่วยไว้ ดีไม่ดีก็จะอดตาย เพราะว่าทันทีที่แกเข้าท้องแม่ ขอทานคณะนั้นขอใครไม่ได้เลย...! ก็แกไม่ให้ใคร ในเมื่อไม่ให้ใคร อานิสงส์ก็เลยส่งผลมาถึงตัวเองด้วยเหมือนกัน คือไม่มีใครให้
      ถาม :  คำว่า “รัศมี” หมายถึงอะไร ? แล้วผู้ที่ได้รับรัศมีจากผู้มีพระคุณทั้งหลาย จะได้รับอานิสงส์อย่างไรบ้าง ?
      ตอบ :  อันนี้ไม่ทราบเหมือนกันว่า คุณเอามาจากไหนนะ ? แต่ถ้าหากว่า “รัศมี” ในบาลี ส่วนใหญ่หมายถึง ฉัพพรรณรังสีของพระพุทธเจ้าท่าน แต่ว่าคนเราที่ตั้งใจปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ กำลังใจทรงตัวหรือไม่ทรงตัวก็ตาม จะมีลักษณะเหมือนกับปราณ คือพลังชีวิตที่แผ่ออกมา สมัยหลัง ๆ ที่เขาถ่ายรูปกันได้พวกแสงออร่านั่นไง น่าจะประเภทนั้นน่ะ เพราะฉะนั้น...ถ้าหากว่ารับรัศมีของคนอื่นเขา หมายความว่า อยู่ใกล้ชิดคนทำความดีเอาไว้เยอะ กระแสความดีของเขาก็มีผล ส่งผลให้เราคล้อยตามได้เหมือนกันในทางที่ดี แต่ถ้าหากว่าเราใกล้คนชั่ว ก็คงจะคล้อยตามไปในทางที่ชั่ว ดังนั้น...ต้องระวังให้ดีเหมือนกัน
      ถาม :  โดยบทสรุปของพระนิพพานนั้น จะเปรียบเทียบได้กับอะไร ? ระหว่างธรรมที่เป็นกุศล ธรรมที่เป็นอกุศล หรือธรรมที่เป็นของกลาง อาจะเปรียบเทียบในเชิงโวหาร คือธรรมเป็นของกลาง หรือว่าธรรมที่เหนือยิ่งกว่า ?
      ตอบ :  ตีเอาว่า เป็นธรรมพิเศษแล้วกัน ไม่รู้จะว่าอย่างไร สถานที่ที่คนทำก็ไม่ได้ต้องการ แต่เนื่องจากว่าได้ทำ ผลของการกระทำก็เลยเกิด ถ้านับแล้วก็คือว่า เป็นธรรมที่เป็นส่วนกลาง คือไม่ข้องแวะทั้งทางด้านกุศลและอกุศล ต้องหลุดพ้นทั้งดีทั้งชั่ว ยังเกาะดีอยู่ก็ไปไม่ถึง ถ้าติดชั่วอยู่ไม่ต้องห่วงไปไม่ได้แน่ ๆ เอาเป็นว่าเป็น “อัพยากตธรรม” แล้วกัน บางทีเรียกว่า “อัพยากฤต”
      ถาม :  เคยได้ฟังคนเล่ามาเกี่ยวกับการทำนายความฝันของพระพุทธเจ้า ๑๖ ประการ ได้ฟังมาข้อหนึ่งว่า คนเราจะมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย ลงไปจนถึงอายุ ๗ ขวบ ไม่ทราบว่าคนเราในปัจจุบันก็มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย อันนี้ตรงตามวาระที่พระพุทธองค์ได้พยากรณ์ไว้หรือไม่ ?
      ตอบ :  สุบินนิมิต ๑๖ ประการ เกิดในปัจจุบันมาก แต่ว่ายังมากไม่ถึงระดับนั้น ต่อไปข้างหน้าจะเละเทะยิ่งกว่านี้อีก แม้กระทั่งอายุขัยของคนเราก็น้อยลง ๆ ในเมื่ออายุขัยของเราน้อยลง วัยเจริญพันธุ์ก็จะเร็วขึ้น เลยทำให้อายุน้อยลงไปเรื่อย ๆ
              สมัยเด็ก ๆ เคยมีคนเขาเปรียบไว้ว่าถึงเวลาถึงวาระนั้น คนเราต้องไปสอยมะเขือกิน คำว่า “สอยมะเขือกิน” คือว่า ตัวเล็กลงจนต้นมะเขือกลายเป็นของใหญ่ไป (หัวเราะ) ปัจจุบันนี้เกิดเยอะอยู่แล้ว
              อย่างประเภทที่ว่า ฝูงหงส์ไปยกเอากาเป็นผู้นำอย่างนี้ ก็รู้อยู่ใช่ไหม ? เลยกลายเป็นว่า ถึงวาระถึงเวลาค่อย ๆ เกิดขึ้น แต่จะมากขึ้นไปเรื่อย ๆ ช่วงนี้ยังไม่ใช่วาระและเวลานั้น แต่ก็จะมากขึ้นไปเรื่อย ๆ ตามเวลา จนกระทั่งไปสุกงอมเอาช่วงทีท่านทำนายถึง
      ถาม :  พระอรหันต์นั้น ท่านรักชาติไทยท่านรักชาติอื่นด้วยหรือไม่ หรือว่าท่านรักเสมอกันทุกชาติ ?
      ตอบ :  รักเสมอกันหมด กำลังใจพระอรหันต์ ท่านจะไม่มีเชื้อชาติเป็นเครื่องกีดกั้น ไม่ว่าภพใด ภูมิใด หมู่ใด เหล่าใดก็ตาม ท่านมีเมตตาให้เขาเสมอกันหมด
      ถาม :  การที่เราได้ฟังคำจากพระสงฆ์หลาย ๆ ท่าน แล้วรู้สึกว่าถูกใจหรือถูกจริต อันนี้มีสาเหตุมาจากอะไร ?
      ตอบ :  ถ้าเราฟังแล้วรู้สึกเข้าใจง่าย ก็จะถูกใจเรา ที่เราฟังแล้วไม่เข้าใจไม่ได้หมายความว่าท่านไม่ดีนะ เอาแค่ตำราของหลวงพ่อ ตำราของหลวงพ่อเวลาเราอ่าน ๆ เออ...ตรงนี้ดี แล้วพอย้อนกลับมาอ่านใหม่ อ้าว...กูข้ามตรงนี้ไปได้อย่างไร ? ถ้าเราทำถึงตรงไหน ? เรามีความเข้าใจตรงนั้น ก็รู้สึกว่าดี เหมาะกับเรา แต่ที่ตรงทำไม่ถึง ไม่ใช่หมายความว่าไม่ดี แต่ว่าอาจจะดีเกินไป เราโหนไม่ถึง พอถึงวาระที่เราโหนถึงเมื่อไหร่ ? ก็รู้สึกว่า เอ๊ะ...! เราข้ามไปหรืออย่างไร ? เพราะฉะนั้น...ธรรมะที่ว่ารู้สึกไม่ถูกใจเรา บางทีอาจสูงเกินกว่าที่เราเอื้อมถึงก็ได้
      ถาม :  วัตถุประสงค์หลักตั้งแต่สมัยโบราณมา การแต่งงานเพื่ออะไร ? การสืบพันธุ์ การมีเพศสัมพันธ์ หรือการทำกันมาตามประเพณี ?
      ตอบ :  เขาใช้คำว่า “ดำรงวงศ์ตระกูล” ดังนั้นคำว่า “สืบพันธุ์” นั่นแหละ ถูกต้องที่สุด กลัวจะสูญพันธุ์ เลยต้องสืบพันธุ์ (หัวเราะ) อันนี้ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นวัตถุประสงค์ของคนหรอก เป็นธรรมชาติของมันเอง ถึงวาระถึงเวลามันดึงเข้าหากัน โบราณเขาว่า “ผาณิตผิชิดมด ใครจะอด ฤ อาจมี” น้ำตาลใกล้มด “แม่เหล็ก ฤ เหล็กดี อยะยั่วก็พัวพัน” แม่เหล็กอยู่ใกล้เหล็กก็ดูดกัน ธรรมชาติเป็นอย่างนั้น
      ถาม :  ทำไมผู้ที่ไม่มีศีล จึงไม่สามารถรองรับความดีจากพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธองค์ แม้ท่านจะทรงโปรดก็ตาม ?
      ตอบ :  เหมือนกับคนตาบอด คนตาบอดเรายื่นไฟให้เขาไป เขาใช้ประโยชน์ได้ก็น้อยเต็มที ในเมื่อเขายังเป็นผู้ที่มืดบอดอยู่ พื้นฐานของจิตใจยังไม่ได้เปิดออกเพื่อรับความดี เหมือนกับบัวใต้น้ำ ถึงแสงแดดส่องอยู่ ประโยชน์สำหรับเขาก็ไม่มี พูดง่าย ๆ คือพื้นฐานใจยังไม่ดีพอ เลยยังไม่สามารถรับประโยชน์จากธรรมะของพระพุทธเจ้าได้
      ถาม :  ผู้ที่คิดว่า “การให้ทานแก่พระสงฆ์ไม่จำเป็น เพราะตอนนี้ก็มีเยอะแยะแล้ว การสร้างวัดก็สร้างกันมามากแล้วไปให้ทานแก่เด็กยากจน เด็กกำพร้ายังจะดีกว่า” ถ้าหากว่าเขาตายไป จะได้อานิสงส์อย่างไรบ้าง
      ตอบ :  ถ้าหากว่าทำด้วยความเสียสละจริง ๆ อย่างเช่นว่า ให้เป็นอาหารอย่างน้อย ๆ ถ้าหากว่าตายไป ชาติใหม่ต้องเป็นที่สมบูรณ์บริบูรณ์ ถ้าหากว่าให้เป็นที่อยู่ที่อาศัย ก็เป็นวิหารทาน อย่างไรก็มีที่อยู่ของตัวเองอย่างแน่นอน แต่ว่าไม่ภิญโญ คือไม่รุ่งเรือง ไม่ดีงามเท่ากับว่า การให้กับคนที่มีศีลบริสุทธิ์ ในสภาพของนักบวช ถ้าหากตั้งใจปฏิบัติจริง ๆ จะเป็นผู้ที่อยู่ในกรอบของศีล เรียกว่า ศีลบริสุทธิ์ก็ได้ และขณะเดียวกันถ้าหากเป็นพระอริยเจ้า อานิสงส์จะยิ่งสูงขึ้นไป แต่ขณะเดียวกันเด็กกำพร้าเราจะไปหวังว่าศีลบริสุทธิ์ก็คงจะยาก เพราะส่วนใหญ่ขาดการอบรมมา แต่ที่แน่ ๆ นะ คนประเภทนั้นน่ะ มีบุญอยู่ตรงหน้า ก็ไม่ทำหรอก ดีแต่ติชาวบ้านเขา (หัวเราะ) เรื่องจริง...!
      ถาม :  การใช้คำพูดที่ว่า “พุทธพาณิชย์” โดย “พุทธ” หมายถึง พระพุทธเจ้า “พาณิชย์” ซึ่งหมายถึงการค้า จากผู้รู้ทั้งหลาย โดยกล่าวว่า “เราจะสร้างวัตถุมงคล เพื่อให้คนบูชาเพื่ออะไร ? พวกที่ทำอย่างนี้ เป็นการเอาพระมาทำการค้า ไม่ตรงตามคำสอนในทางพุทธศาสนา” อยากทราบว่า
              ๑) การใช้คำว่า “พุทธพาณิชย์” เป็นการบัญญัติศัพท์ เป็นการปรามาสในคุณพระหรือไม่ ?
              ๒) แนวคิดที่วานั้นถูกต้องหรือไม่ ?
      ตอบ :  อันดับแรก การใช้คำว่า “พุทธพาณิชย์” ถ้าหากว่าใช้ในเจตนาดูถูกเป็นการปรามาสพระรัตนตรัย ถ้าไม่ได้ใช้ในเจตนาดูถูก แต่ว่าเป็นเครื่องเปรียบเพื่อให้เห็นภาพ ไม่เป็นไร ส่วนอีกด้านที่ว่า ไม่ตรงคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น ไม่จริง พระพุทธเจ้าท่านสอนในพุทธานุสติ ธรรมานุสติ สังฆานุสติ การที่มีวัตถุมงคลเป็นรูปพระพุทธ หรือรูปพระสงฆ์อยู่ ถ้าหากว่าคนยึดถือจริง ๆ ก็ได้ตัวอนุสติตรงนี้ สำคัญอยู่ตรงจุดที่ว่า คนเราอันดับแรก จะต้องมีเครื่องยึด ถ้าไม่มีเครื่องยึด ขาดความมั่นคง เหมือนกับเด็ก ๆ หัดเดินต้องเกาะอะไรก่อน เราจะไปหวังให้เด็กวิ่งได้เลยแบบผู้ใหญ่เขาไม่ได้ พวกนั้นส่วนใหญ่ไปเล็งผลเลิศว่า จะต้องมาในลักษณะบริสุทธิ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำตามคำสอนโดยตรง ไม่มีการเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวาเลย เป็นไปได้ยาก จริตนิสัจและวาสนาบารมีของแต่ละคนต่างกัน ในเมื่อต่างกันเราจะเอาธรรมะบริสุทธิ์อย่างเดียว ก็เหมือนกับเอายาขมไปให้เขา ถึงรู้ยาดี รักษาโรคหายแต่คนนิยมกินไหมล่ะ ? ก็ไม่นิยม ต้องเคลือบน้ำตาลให้เขาหน่อย
              ดังนั้นเรื่องของวัตถุมงคล ถ้าโดยโบราณแล้วเจตนาเขามี ๒ อย่าง อย่างแรกคือ เพื่อเป็นพุทธบูชาสืบทอดพุทธศาสนา ตั้งใจสร้างเพื่อบรรจุ อย่างที่สองคือ ถ้าหากว่าใครติดตัวเพื่อเป็นอนุสติสามารถป้องกันอันตรายต่าง ๆ ได้ ตามแต่ผู้สร้างท่านอธิษฐานมา ดังนั้น...จริง ๆ แล้วคือว่า เป็นส่วนหนึ่งของคำสอนพระพุทธเจ้า เพียงแต่ว่าคนเรายึดถือได้ถูกจุดหรือเปล่าเท่านั้นเอง
      ถาม :  การสร้างพระพุทธรูปในวัด บางท่านก็กล่าวว่า “ไม่ต้องสร้างเยอะ เพราะมีมากแล้ว โดยสร้างพระกลางแจ้ง แล้วตากแดดอยู่ในวัด มีเพียงร่มเงาจากต้นไม้เท่านั้น วัดก็ไม่ต้องสร้างใหญ่โต” แนวความคิดอย่างไหนถึงจะดี ?
      ตอบ :  ต้องดูว่ามีความจำเป็นแค่ไหน ถ้าหากว่าเป็นวัดที่ญาติโยมเขาไปมา เพื่อปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมากเป็นปกติ อย่างไร ๆ ก็ต้องสร้างให้เขา ที่นอนกับห้องน้ำสำคัญที่สุด ที่กินยังพอจะตะเกียกตะกายไปกินที่อื่นได้ แต่ถ้าหากว่าเป็นวัดที่อยู่กลางป่า กลางดงเอาแค่เสนาสนะที่พอแค่พระได้อยู่อาศัย และปฏิบัติกิจสงฆ์ก็พอแล้ว ส่วนการสร้างพระ ถ้าตามสายหลวงพ่อแล้ว สร้างพระเมื่อไหร่ ? อย่างน้อย ๆ ต้องมีหลังคาคุ้มแดดคุ้มฝน ท่านบอกว่า “ข้าไม่สบายใจที่ข้าเห็นพ่อใหญ่ที่เรารักที่สุด เอาไปตากแดดตากฝนอย่างนั้น”
      ถาม :  ส่วนคนที่เขาไม่มีเจตนา ?
      ตอบ :  ไม่มีเจตนาก็ไม่แน่ คนที่ไม่มีเจตนา อาจจะต้องไปนั่งตากแดดก็ได้
      ถาม :  การมีใบหน้าอ่อนกว่าอายุจริง โดยที่ไม่ต้องใช้เครื่องสำอาง อันนี้ทำบุญอะไร ?
      ตอบ :  เอาอย่างนางวิสาขา นางวิสาขามหาอุบาสิกา อายุ ๑๒๐ หน้าเพิ่งเท่ากับเหลนอายุ ๑๖ ของท่านในอดีตชาติซ่อมพระพุทธรูปเก่า พระพุทธรูปชำรุด ซ่อมใหม่ให้มีสภาพดีเหมือนเดิม แล้วอีกส่วนหนึ่งคือว่า เป็นผู้ที่มีเมตตาเป็นปกติ ทรงศีลเป็นปกติ จิตใจอ่อนโยนเยือกเย็น ไม่โหดร้าย ไม่เบียดเบียนผู้ใด ถ้าหากว่ามีการซ่อมพระพุทธรูปเก่าก็ดี มีเมตตาเป็นปกติก็ดี ทรงศีลเป็นปกติก็ดี ทั้ง ๓ อย่างนี้ เกิดมาชาติใหม่จะมีหน้าตาสวยงาม
      ถาม :  การออกกรรมเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง ที่ผู้ทำพิธีกรรมนั่งกรรมฐานยุบพองจนเกิดร่างกายชา แล้วควบคุมตนเองไม่ได้ แสดงท่าทางต่าง ๆ หรือเห็นภาพในอดีตที่เราเคยทำมา พระที่วัดท่านกล่าวว่า “เป็นวิชาเปิดโลกของพระพุทธเจ้า” เท็จจริงเป็นประการใด ?
      ตอบ :  ยังไม่ทราบเหมือนกัน เพราะว่าอ่านไม่เจอในพระไตรปิฎก ถ้าอ่านเจอในพระไตรปิฎกจะยืนยันว่าเป็นของพระพุทธเจ้า แต่อย่าลืมว่ามีการภาวนาก่อน ยุบ-พอง คืออานาปานสติ ส่วนลักษณะของการเห็น คือ ทิพยจักษุญาณเท่านั้น เพียงแต่ว่าเรื่องที่เห็นนั้น จริงหรือไม่จริง ถ้าหากว่าเรายังไปยึดถือมั่นหมายอยู่กับของเก่า จิตยังผูกพันกับกรรมเดิม ๆ อยู่ โอกาสจะหลุดพ้นก็ไม่มี ถ้าหากเรามั่นใจว่าเราเกิดมาชั่วมาตลอด ชาตินี้ตั้งหน้าตั้งตาจะทำดีอย่างเดียว เห็นหรือไม่เห็นข้าก็ลุยแล้ว อย่างนี้ยังจะง่ายกว่า
      ถาม :  สมมุตว่า คน ๆ หนึ่งกินเหล้า แล้วหยิบเส้นผมขึ้นมาหนึ่งเส้น แล้วแสดงให้เพื่อน ๆ ดู แล้วกล่าวว่า “ขนเส้นนี้เป็นขนเพชรของพระพุทธเจ้า” เฉพาะชาตินี้ เขามีโอกาสขึ้นสวรรค์หรือไม่ ?
      ตอบ :  ต้องดูว่าหลังจากนั้นแล้วเขาทำความดีอื่นหรือเปล่า ? ถ้าไม่ได้ทำความดีอื่นอะไรไว้เลย โทษปรามาสพระรัตนตรัยลงอเวจี แต่ถ้าหากว่าได้ทำกรรมดีอื่นจนเป็นปกติ จนเคยชิน สภาพจิตสุดท้ายเกาะกรรมดี อันนั้นก็จะไปตามกรรมที่ตัวเองทำ อย่างเช่นว่า ถ้าหากว่าเกาะภาพพระพุทธเจ้าเป็นปกติ อย่างน้อย ๆ ก็สวรรค์แน่ ๆ ไม่หลุดไปไหน
      ถาม :  เดี๋ยวนี้มีคนจำนวนมาก นำพวงมาลัยไปคล้องคอ หรือนำไปไว้ที่องค์ของพระ เหมือนกับท่านเป็นนักร้อง แต่เขาก็ทำด้วยความเคารพเลื่อมใส อันนี้มีโทษหนักหรือไม่ ?
      ตอบ :  ก็ดูด้วยว่าสมควรหรือไม่สมควร เรารักในหลวงแล้วเราก็ตบหัวในหลวงเล่น เอาไหมล่ะ ? ลักษณะเดียวกัน แหม...รักในหลวงเหลือเกิน ขอลูบหัวทีเถอะ คนอื่นเห็นก็จะเหยียบแบนอยู่ตรงนั้นแหละ อย่าลืมว่าพระพุทธเจ้าถือเป็นธรรมราชาเหมือนกัน ถ้าเปรียบก็เปรียบเหมือนกับในหลวงของเรา อะไรก็ตามที่ทำแล้วรู้สึกว่าไม่สมควร ก็ขอขมาพระรัตนตรัยเสีย จะได้ไม่เกิดโทษกับตัวเอง แล้วอย่าไปทำอีก ส่วนคนอื่นจะไปทำอะไร ? ถ้ามีโอกาสก็แนะนำเขา บอกเขาว่าไม่สมควร ถ้าเขาฟังเราก็เป็นกุศลแก่ตัว ถ้าเขาไม่ฟังเราก็ปล่อยเขา ตัวใครตัวมัน
      ถาม :  แค้นหลงเมียน้อย ลูกยิงพ่อตายอนาถหน้าแม่ ขนเงินปรนปรือเกรงหมดตัว ให้กลับใจไม่เป็นผลเลยฆ่า อันนี้เป็นหัวข้อข่าวที่น่าสนใจว่า
              ๑) การที่คิดสนใจในจริยาของคนอื่นนั้น ควรมีขอบเขตเพียงใด ?
              ๒) การตัดสินใจในความเลวของคนอื่น โดยคิดว่าตนเองเป็นผู้ประเสริฐดีแล้ว เป็นการสมควรหรือไม่ ?
              ๓) การทำลายคนที่มีความเลวนี้ จะมีอานิสงส์ของความดีหรือไม่ ?
      ตอบ :  ข้อที่ ๑ ไม่ควรยุ่งกับใครเลย พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า “อัตตะนา โจทะยัตตานัง” จงเตือนตนด้วยตนเอง ดูที่ตัว แก้ที่ตัว เรื่องของคนอื่นเป็นเรื่องของโลก เกินกำลังของเรา ถ้าเราแก้ไขตัวเอง แก้ได้ แก้โลกแก้ไม่ไหว อันดับที่ ๒ คือว่า การตัดสินกรรมของคนอื่น ไม่ได้หรอก เราไม่ได้มีหน้าที่ตัดสิน การกระทำของเขาเองต่างหากที่เป็นผู้ตัดสิน ถ้าเราไปตัดชีวิตเขาในลักษณะนั้น เราต้องรับกรรมไปเต็ม ๆ คือเราได้ฆ่าคนไปแล้ว เพราะฉะนั้น...การฆ่าคน อย่าไปหวังเลยว่าจะได้บุญ ถ้าได้บุญเขาจะฆ่าคุณด้วย
      ถาม :  ถ้าสมมุติว่าเราไม่ได้อยู่ในห้อง แล้วเราเปิดเทป หรือเสียงสวดมนต์ไว้ตลอดเวลา มีประโยชน์เพิ่มเติมบ้างหรือเปล่า ?
      ตอบ :  คือถ้าจิตของเราเกาะอยู่ตลอดว่า ตอนนี้เราได้เปิดเทปธรรมะอยู่ อย่าไรถึงเวลาเราต้องย้อนกลับไปเพื่อฟังให้ได้ ก็เป็นอนุสติอย่างหนึ่ง แต่จริง ๆ คือว่าถ้าหากเราพ้นจากที่นั้นไปแล้ว ก็ควรจะปิดให้เรียบร้อย ไม่อย่างนั้นเกิดไฟช๊อตขึ้นมา ไฟไหม้ขึ้นมา เพราะกรรมมายุ่งตอนนั้นด้วย ก็เป็นอันว่า เราทำตัวเราเองแท้ ๆ ถ้าหากว่าเป็นนักปฏิบัติที่ทรงสติสัมปชัญญะเป็นปกติอยู่ เขาก็คงปิดเก็บเรียบร้อย แล้วถึงจะออกไป
      ถาม :  ถ้าจะหวังว่าคนที่เรามองไม่เห็นตัวจะฟัง ?
      ตอบ :  ถ้าตั้งใจจะให้เขาอย่างนั้นก็ได้ บอกเขาให้ช่วยหาค่าไฟให้ด้วย (หัวเราะ)
      ถาม :  การคาดหวังว่าจะให้บุคคลอื่นเป็นอย่างที่ใจเราคิด ว่าเธอหรือเขาจะต้องเป็นอย่างนั้น แบบนั้นแบบนี้ เป็นเพราะกิเลสตัวใดของตน แล้วทำไมคนส่วนใหญ่ในโลกจึงต้องการให้บุคคลอื่น เป็นอย่างที่ตนคิด ?
      ตอบ “สักกายทิฐิ” แปลว่า การยึดมั่นถือมั่นในตัวตน การเห็นตัวตนเป็นสำคัญ ในเมื่อเห็นตัวตนเป็นสำคัญ ก็อยากจะให้เป็นอย่างนั้น อยากจะให้เป็นอย่างนี้ ส่วนใหญ่แล้วอยากผิด น่าจะให้ให้ตัวเองเป็น แต่ดันไปอยากให้คนอื่นเป็น
      ถาม :  การสอนพระพุทธศาสนาตามโรงเรียนทั่วไป ได้มีการนำเอาคำสอนของพระพุทธองค์ นำไปเปรียบเทียบกับวิทยาศาสตร์ให้เชื่อในหลักและเหตุผล และสามารถเปรียบเทียบสิ่งที่เกิดขึ้นโดยใช้คำว่า “พุทธกับวิทยาศาสตร์” นำมาเปรียบเทียบกัน แต่ในความเป็นจริง ศาสนาของเราเป็นศาสนาที่มีเหตุและผลที่เหนือกว่า การนำมาเปรียบเทียบแบบนี้ เป็นการดึงฟ้าให้ต่ำหรือไม่ ? ข้อเปรียบเทียบต่าง ๆ ดังจะยกหัวข้อต่อไปนี้ เช่น
              ๑) การที่พระองค์ทรงมีพระประสูติการ และเดิน ๗ ก้าวนั้นเป็นเรื่องอุปมาอุปไมย ไม่สามารถเดินได้จริง
              ๒) เรื่องสวรรค์นรกเป็นเรื่องเปรียบเทียบ เพื่อให้บุคคลกลัวบาปเปรียบเสมือนการทำความชั่วให้เหมือนกับว่า สวรรค์ในอก นรกในใจ
              ๓) การตายมีสภาพศูนย์ เพราะวิทยาศาสตร์พิสูจน์ไม่ได้ คำถามคือว่า ผู้ที่ได้รวบรวมธรรมะของพระพุทธองค์ แล้วนำไปสอนเด็ก ๆ แบบนี้ เป็นการปรามาสในคุณพระหรือไม่ และมีโทษอย่างไร ?
      ตอบ :  ต่ำ ๆ อเวจี สูงหน่อยก็โลกันตร์ไปเลย ตอนแรกที่คุณว่ามา คำถามเหมือนกับว่า เอาพุทธะไปเปรียบกับวิทยาศาสตร์เพื่อให้ง่ายขึ้น แล้วคนจะได้เข้าใจ แต่ไป ๆ มา ๆ กลายเป็นว่า เอาศาสนาพุทธ มาวิเคราะห์ในลักษณะที่ว่า อันไหนควรจะเป็น อันไหนไม่ควรจะเป็น แล้วก็ไปตัดสินใจด้วยตัวของตัวเอง ถ้าหากว่าสอนแล้วคนทำตาม คิดตาม พูดตามที่เขาว่าในลักษณะที่คุณยกตัวอย่างมา เท่ากับสอนคนให้เป็นมิจฉาทิฐิ โทษลงอเวจีมหานรก ถ้าหากว่าสอนคนให้คล้อยตามเป็นจำนวนมาก อาจจะถึงโลกันตร์ โลกันตร์นี่โทษหนักเป็น ๔ เท่าของอเวจี
              เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะว่า เขาไม่ได้ปฏิบัติจริง ก็เลยไม่เข้าใจ ยกตัวอย่างแค่ข้อเดียวว่า พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ว่า “สัตว์บางพวก ขณะจุติ หมายถึงว่า “ตาย” ขณะจุติไม่รู้ตัว เมื่อเคลื่อนไปไม่รู้ตัว ลงสู่ครรภ์ไม่รู้ตัว ต่อเมื่อคลอดออกมาจึงรู้ตัว” “สัตว์บางพวก ขณะจุติไม่รู้ตัว เคลื่อนไปไม่รู้ตัว ลงสู่ครรภ์รู้ตัว คลอดออกมารู้ตัว” “สัตว์บางพวก ขณะจุติไม่รู้ตัว เคลื่อนไปรู้ตัว ลงสู่ครรภ์รู้ตัว คลอดออกมารู้ตัว” “สัตว์บางพวก ขณะจุติรู้ตัว เคลื่อนไปรู้ตัว ลงสู่ครรภ์รู้ตัว คลอดออกมารู้ตัว” ของพระพุทธเจ้าเป็นประเภทสุดท้าย ท่านจะรู้ตลอดโดยไม่ขาดสาย ในเมื่อรู้ตลอดโดยไม่ขาดสาย สิ่งที่เคยทำได้ ก็ย่อมทำได้เป็นปกติ ก็เลยเกิดมาสามารถเดินได้ พูดได้เลย
              แต่คราวนี้คนเขาปฏิบัติไม่ถึงตรงจุดนี้ หรือศึกษาไม่ถึงตรงจุดนี้ เขาก็จะปฏิเสธ ซึ่งเป็นการสอนคนให้เป็นมิจฉาทิฐิ คือเห็นผิดไปจากคำสอนพระพุทธเจ้า โทษใหญ่มาก เพราะว่าคนที่เป็นมิจฉาทิฐิ ส่วนใหญ่ลงนรก พอลงนรกนี่เจ้าประคุณ เศษกรรมทั้งหมด หรือว่ากรรมทั้งหมดที่เคยทำมานี่ ประเภทซ้ำกันตายไปข้างหนึ่งเลย เคยทำเท่าไหร่ต้องใช้หนี้จนกว่าจะครบ พ้นจากนรกมาเป็นเปรต พ้นจากเปรตเป็นอสุรกาย พ้นจากอสุรกายเป็นสัตว์เดรัจฉาน กว่าจะได้เกิดเป็นคนนานเหลือเกิน ทำให้คนเราห่างความดีไปนาน ดังนั้น....โทษก็เลยหนัก ต่ำ ๆ ก็ลงอเวจีมหานรก ถ้าสอนให้คนเป็นมิจฉาทิฐิจำนวนมาก ก็ลงโลกันตร์ไปเลย
      ถาม :  อย่างนี้คนคิด หรือว่ารัฐมนตรีเซ็นอนุมัติ ?
      ตอบ :  ไปทั้งหมด