ช่วงแรกของเล่ม "งานฉลองวัดหนองบัว"
สนทนากับพระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๖(ต่อ)
ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ
ถาม: ไม่ได้หมายถึงว่า จะต้องไปนั่งใช่ไหมครับ ?
ตอบ : ไม่ต้อง คล่องตัวแล้วจะเป็นเลย แค่นึกก็เป็นแล้ว มีสุภาพสตรีอยู่คนหนึ่ง ตลกมากเลย อยู่ตำบลวังปริง อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา รายนี้เชื่อว่าเป็นพุทธภูมิแหง ๆ เลย เพราะว่าพอเขาขึ้นสตาร์ทรถมอเตอร์ไซค์ปุ๊บ ตัวจะแข็ง เขาจะต้องเขย่าให้หลุด แล้วก็ขับมอเตอร์ไซค์ไปได้อีกหน่อยก็แข็ง แล้วก็เขย่าให้หลุด ลักษณะนี้แหละก็คือว่า เป็นการถอนกำลังใจจากในระดับฌาน ๓ ไปสู่อุปจารสมาธิ นี่เขาทำจนชิน ต่อไปจะเข้าฌานได้เร็วมาก แล้วถอนได้เร็วมากเลย จะคล่องตัวกว่าเขา แต่เขาแปลกใจว่าเขาเป็นอะไร ? ทำไมอยู่ ๆ เป็นอย่างนั้น ? คือเขาลืมว่า การขับรถต้องใช้สมาธิ พอเริ่มตั้งใจขับปุ๊บ ตัวแข็งเป๊กไปแล้ว ก็ต้องเขย่าให้หลุด เพื่อที่จะบังคับรถให้ได้ แล้วพอตั้งใจบังคับรถ ก็แข็งกลับเข้าไปอีก เพราะจิตคล่องตัวอยู่ตรงจุดนั้นแล้ว
รายนี้สนุกมากเลย ตอนแรกเขาคิดว่าเขาไม่สบาย ไปหาหมอ หมอก็หาสาเหตุไม่ได้ ความจริงเป็นสมาธิ ที่เชื่อเป็นพุทธภูมิเพราะว่าเขาต้องทำจนกว่าจะคล่องตัว เมื่อถืงเวลาจะได้สอนคนอื่นได้ ก็เลยต้องเขย่าตัวเองอยู่อย่างนั้นแหละ หลายปีเลยกว่าจะเจออาตมา
ถาม : ผมก็ปรารถนาพุทธภูมิ แต่ผมไม่เขย่า ?
ตอบ : ไม่ต้อง ของเราตอนนี้เป็นอย่างนี้ แล้วจะเป็นมากขึ้นไปเรื่อย ๆ ตามลำดับของมัน แต่ละขั้นตอนกว่าจะผ่านจะช้า ช้าเพราะว่าวิสัยเดิมของเราต้องการจะเป็นครูเขา คนที่จะเป็นครูเขา ถ้ารู้ไม่รอบคอบรู้ไม่ครบ สอนเขาไม่ได้ เจอคนนอกทุ่งนอกท่านอกทางที่เราเคยเป็น เราจะบอกเขาไม่ถูก
เพราะฉะนั้นคนที่ปรารถนาพุทธภูมิอย่างคุณ กว่าจะข้ามแต่ละขั้นตอนจะช้ากว่าเขา คนอื่นเขาขึ้นบันไดมา แค่รู้ว่ามีบันไดก็พอ กี่ขั้นไม่ต้องสนใจเสียด้วยซ้ำไป แต่พุทธภูมินอกจากจะรู้ว่ากี่ขั้นแล้ว ยังต้องรู้ว่ากว้างเท่าไหร่ ? ยาวเท่าไหร่ ? ทำด้วยวัสดุอะไรบ้าง ? ใช้วิธีอย่างไร ? จะก่อมันขึ้นมา สร้างมันขึ้นมา คนเป็นพุทธภูมิต้องพร้อมที่จะสร้างบันไดเลย ไม่ใช่แค่รู้ว่ามีบันได้ให้ขึ้น เพราะฉะนั้นกว่าจะได้แต่ละอย่างนี่สาหัส...! ของอาตมากว่าจะผ่านปีติแต่ละตัว ติดอยู่เป็นเดือน ๆ ติดอยู่เป็นปี ๆ อยากจะสั่นก็สั่นอยู่นั่นแหละ
ถาม : แต่สั่นแล้วก็มันนะครับ เบาสบาย
ตอบ : ใช่ เพราะว่าจิตของเราปักมั่นอยู่ อาการสั่นเป็นตัวปีติ เป็นการแสดงออกเท่านั้นเอง ปล่อยเต็มที่ไปเลย
ถาม : เรื่อง "คาถา" ตอนนั้นผมใช้ คาถาอะไรก็ไม่สำคัญไม่ใช่หรือครับ ? พอสักพักก็จะลืมไป แล้วก็จะทรงอยู่อย่างนั้น ?
ตอบ : ใช่ ถ้าจิตเป็นสมาธิแล้ว คาถาอะไรก็ได้ เพราะเราแค่นึกก็เป็นไปตามที่ต้องการแล้ว แรก ๆ คาถาเป็นเครื่องโยงใจให้เป็นสมาธิเท่านั้น พอเป็นสมาธิแล้ว เราจะตั้งใจให้เป็นอย่างไรต่างหากล่ะที่สำคัญ คุณจะใช้ พุท-โธ ธรรมดา แล้วก็เสกหินให้กลายเป็นขนม ไปนั่งกินก็ได้ ขอให้สมาธิถึงกำลังพอ
ถาม : ในกรณีนั้น หลักสูตรบังคับต้องฌาน ๔
ตอบ : ถ้าหากว่าไม่คล่องตัว ไม่ได้ด้วย ไม่ใช่ฌาน ๔ เฉย ๆ นะ ต้องหัดใช้งานให้คล่องตัวด้วย
ถาม : แต่เราใช้ก่อนก็ได้ไหรือไม่ครับ ? อย่างเช่นว่า จะสีอย่างไรไม่รู้ แต่ผมรู้ว่าเป็นแก้วใส ๆ
ตอบ : ใช้ก่อนได้ แต่ผลจะน้อยกว่า
ถาม : แล้วอย่างรถเมล์วิ่งช้า ผมก็ลองเล่นสนุก ก็อยากให้มันเร็วสุดชีวิตของมัน ผมก็ลองเพ่งมันอยู่อย่างนั้น ผมก็ยืนอยู่
ตอบ : ระวังเอาไว้...! อันตรายอาจเกิดขึ้นได้ อาตมาเก็บเอาไว้ตอนจำเป็นเท่านั้น เคยขึ้นตองยี ตองยีจะอยู่รัฐฌานของพม่า จากมัณฑะเลย์ พอข้ามเขาชานโยมาแล้วจะขึ้นเขาตลอด ชานโยมา คือบรรพตสยาม แสดงว่าาก่อนหน้านั้นเขตไทยจะต้องถึงตรงจุดนั้น ใช้เขาลูกนั้นเป็นเขตจะคดเคี้ยวแล้วก็สูงชันมาก รถกำลังไต่ขึ้นเขา ๆ แล้วเครื่องดับ แล้วสตาร์ทไม่ติดด้วย ก็เลยหันไปถามครูบาน้อยว่า เฮ้ย...! ช่วยมันไหม ? ครูบาน้อยบอกว่า ช่วยมันหน่อยเถอะครับอาจารย์ คนเยอะเหลือเกิน เดี๋ยวคนอื่นตายด้วย เออ...อย่างนั้นบอกมันสตาร์ทใหม่ พอสตาร์ทใหม่ติดก็ไปต่อได้ เอาไว้จำเป็นจริง ๆ แล้วค่อยใช้ ไม่ใช่ไปลองมันอย่างนั้น ถ้าไปเอามันอย่างนั้น เกิดคนตายห่าไปทั้งคันรถแล้วยุ่งเลย
ลักษณะอย่างนี้แหละที่อภิญญาขึ้นเต็มที่ไม่ได้ ยังไปสนุกไม่ดูตาม้าตาเรือ ขืนให้ได้เต็มที่รับรองได้ว่าประเทศชาติบรรลัยหมด (หัวเราะ) ค่อย ๆ ทำไป พอกำลังใจทรงตัวแล้ว สมาธิตั้งมั่น เดี๋ยวจะรู้เองว่าทำได้แค่ไหน เพราะว่าพอพ้นเขตนั้นปุ๊บ...! จะเหมือนกับเสื่อม จะเหมือนกับรถเร่งไม่ขึ้น จะได้แค่นั้น จนกว่าเราจะทำกำลังใจได้สูงกว่านั้น กำลังที่สูงกว่านั้นถึงจะมา กำลังใจสูงขึ้นคือ ปล่อยวางยอมรับกฎของกรรมได้มากขึ้น ไม่ไปยุ่งกับชีวิตและอนาคตของคนอื่นเขามากนัก ก็จะได้ดีขึ้นไปเรื่อย ๆ ถ้ายุ่งมากก็จะโดนล็อกอยู่แค่นั้น เหมือนรถที่โดนล็อกความเร็ว เหยียบถึง ๑๒๐ ก็ฟอด ไปต่อไม่ได้
ถาม : ถ้าเราไม่รู้ว่าเราปรารถนาอะไร ? ถ้าเราอยากจะลาพุทธภูมิ เราจะลาอย่างไร ?
ตอบ : ลาหน้าหิ้งพระ ดอกบัวขาว ๕ ดอก เทียนขาว ๕ ดอก ธูป ๕ ดอก ตั้งใจบูชาพระรัตนตรัย ว่านะโม ๓ จบ ประกาศต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ถ้าข้าพระพุทธเจ้า เคยปรารถนาพระโพธิญาณตั้งแต่ชาติใดก็ตาม ตอนนี้ขอละซึ่งความปรารถนาอันนั้น ข้าพเจ้าจะตั้งใจปฏิบัติตามคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อเข้าสู่นิพพานในชาติปัจจุบันนี้ ตั้งใจทำแค่นี้แหละ ถ้าพระพุทธเจ้าท่านบอก เฮ้ย...ลาไม่ได้ ก็เป็นอันว่าลาไม่ได้ ถ้าท่านไม่ปฏิเสธก็เป็นอันว่าลาได้
ถาม : คำว่า "มอบกายถวายชีวิต" หมายถึงอย่างไร ?
ตอบ : หมายถึงว่า ถ้าหากว่าเราปฏิบัติไม่ได้ตามที่ต้องการ ถึงเราจะตายไป เราก็ยอม
ถาม : ....................................
ตอบ : ทุกอย่างจะเริ่มจากอายตนะสัมผัสกระทบ ถ้าพอตา ก็แปลว่าจะพอใจ ฉะนั้นถ้าสักแต่ว่าเห็น ไม่เป็นอันตรายแก่เรา แต่ถ้าเห็นแล้วเราไปคิดต่อ จะเริ่มทำอันตรายเราได้ทันที แปลว่าเรารับเข้ามาในใจเรา ต้องกันมันไว้ตรงนั้น ตาเห็น สักแต่ว่าเห็น หูได้ยิน สักแต่ว่าได้ยิน จมูกได้กลิ่น สักแต่ว่าได้กลิ่น ลิ้นได้รส สักแต่ว่าได้รส กายสัมผัส สักแต่ว่าสัมผัส ต้องระวังให้ทัน แรก ๆ สติสมาธิยังไม่พอ กันมันยาก ถ้ารู้ตัวว่าหลุดเมื่อไหร่ ? รีบดึงกลับมา ไม่อย่างนั้นปรุงแต่งไปมาก พาเรารัก โลภ โกรธ หลง ทุกข์ไปอีกนาน
ถาม : ตอนนั่งมอบกายถวายชีวิต ผมก็นั่งหน้าพระพุทธรูป แล้วก็เมื่อย พอเมื่อยผมก็คลายออก ?
ตอบ : ก็คุณไปสนใจกับความเมื่อย เขาไม่ให้ไปสนใจ เขาให้สนใจกับอารมณ์เฉพาะหน้าเท่านั้น
ถาม : แล้วถ้าหลุดนิดหนึ่ง ?
ตอบ : หลุดนิดหนึ่ง เวทนากินทันที มันตั้งใจจะกวนไม่ให้คุณทำได้อยู่แล้ว
ถาม : อากาสานัญจายตนะ กับ วิญญาณัญจายตนะ จับความว่างจับอย่างไร ?
ตอบ : อากาสานัญจายตนะ เขารู้สึกว่า อากาศกว้างใหญ่ไพศาลดี ไม่มีขอบเขตเป็นเครื่องบังคับ เลยเปลี่ยนจากรูป ซึ่งมีขอบเขตกำหนด ขอบเขตบังคับ ไปจับความกว้างขวาง ไร้ขอบเขตของอากาศแทน ถ้าคำภาวนาเขาใช้ว่า "อากาสาอนันตา" นึกถึงความว่างของอากาศไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งกำลังใจทรงเป็นฌาน ๔ เต็มระดับ แล้วก็ลดลงมาจับภาพใหม่ แล้วก็เพิกภาพนั้นเสีย ตั้งใจภาวนาจับอารมณ์อย่างนั้นใหม่ ทำบ่อย ๆ จนอารมณ์ใจคล่องตัว นึกเมื่อไหร่ ? ได้เมื่อนั้น
แล้วก็เลื่อนขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง คือ วิญญานัญจายตนฌาน เขาให้กำหนดภาพขึ้นเหมือนเดิม แล้วก็ตั้งใจว่า ถึงแม้ว่าอากาศจะกว้างขวางไร้ขอบเขตก็ตาม แต่ยังมีวิญญาณคือความรู้สึกของเรา ที่ไปกำหนดขอบเขตของมันได้ ดังนั้นแม้แต่ความรู้สึกเช่นนั้นเราก็ไม่เอา แล้วก็ตั้งใจภาวนาว่า "วิญญาณังอนันนตัง" ไปเรื่อยจนกำลังทรงเข้าฌาน ๔ เต็มระดับ แล้วก็ถอยกำลัง จับรูปใหม่ เพิกรูปเสีย ภาวนาใหม่ลักษณะนั้นจนคล่องตัว
แล้วค่อยขยับขึ้นไปจับ อากิญจัญญายตนฌาน ลักษณะเดียวกันคือ กำหนดรูปขึ้นมา แล้วก็เพิกรูปนั้นเสีย ตั้งใจไว้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าคน สัตว์ วัตถุธาตุ สิ่งของทั้งหลายทั้งปวง ในที่สุดก็สลายตายพังไป อะไรสักนิดหนึ่งก็ไม่มีเหลืออยู่ แล้วภาวนาว่า "นัตจิกิญจิ" ไปเรื่อย จนกระทั่งอารมณ์ใจทรงตัวเท่ากับฌาน ๔ เต็มกำลัง แล้วถอยออกมา ตั้งภาพขึ้นแล้วภาวนา คิดอย่างนั้นใหม่ ทำอย่างนั้นใหม่ จนคล่องตัว นึกเมื่อไหร่ ? ได้เมื่อนั้น
แล้วถึงไปจับ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ลักษณะเดียวกันคือว่า พอถึงตั้งภาพขึ้นมา แล้วก็ตั้งใจนึกว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเรา มันเกิดกับรูป คือร่างกายนี้ อยากจะเกิดขึ้นก็ให้เกิดขึ้นไป เราจะไม่ไปสนใจมัน พออารมณ์ใจตั้งมั่นก็ให้ภาวนา "เอตังสัญตัง เอตังปะนีตัง" ไปเรื่อย จนอารมณ์ใจทรงตัวเต็มที่ ตอนนั้นจะไม่สนใจอะไรเลย อยู่กลางแดดก็ไม่รู้สึก อยู่กลางฝนก็ไม่รู้สึก จนกระทั่งนึกเมื่อไหร่ ? ได้เมื่อนั้น แล้วก็พยายามทำให้มันสลับกัน จะขึ้น ๔,๕,๖ หรือ ๖,๔,๕ หรือ ๕,๔,๖ หรือ ๖,๗,๘ ก็ว่าไป จนคล่องตัวจริง ๆ อาศัยได้จริง ๆ แล้วก็ซ้อมสลับกันไปสลับกันมา ระหว่างรูปฌาน ๑,๒,๓,๔ อรูปฌาน ๑,๒,๓,๔ ไปเรื่อย พอคล่องตัวจริง ๆ คราวนี้จะจับอะไรก็สะดวกง่ายไปหมด พูดอย่างกับเปิดตำรา (หัวเราะ)
ถาม : ตอนแรกจับความว่างของอากาศ แล้วก็จับความรู้สึก แล้วก็จับเรื่องของ (ไม่ชัด)
ตอบ : ทุกสิ่งทุกอย่างสลายหมด ไม่มีอะไรเหลืออยู่ น้อยหนึ่งก็ไม่มีแล้วหลังจากนั้นทำรู้สึกก็ไม่รู้สึก กระทบก็ไม่รู้สึก ร้อนก็ไม่ร้อน หนาวก็ไม่หนาว พูดง่าย ๆ ว่าช่วยได้ก็ช่วยร่างกายนี้ ช่วยไม่ได้ก็ไม่ต้องช่วย
เมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม โดนทหารกะเหรี่ยงคริสต์ เขาเรียกทหารป่า กักอยู่กลางป่า โอ้โฮ...ตอนนั้นในเมืองแค่ ๑๑ องศา แล้วในป่าเท่าไหร่ ? แค่ ๒ ทุ่มเท่านั้น เขาลุกไปผิงไฟกันแล้ว อาตมานอนสบายอยู่คนเดียว อยากหนาวก่อนก็หนาวไป กูไม่หนาวกับมึงหรอก (หัวเราะ) นอนไปเรื่อย ๆ ถึงตี ๔ ก็ลุกไปสรงน้ำ บ้าไหม ?
ถาม : อย่างคนที่ลาพุทธภูมิแล้ว เรื่องของการปฏิบัติ ?
ตอบ : ยังยากเหมือนเดิม เพราะวิสัยเก่าเป็นอย่างนั้น ยังรู้ละเอียดเหมือนเดิม แต่เพียงว่ากำลังที่สูง ทำให้เข้านิพพานได้ง่าย
ถาม : ก็ยังต้องผ่านยาก ?
ตอบ : เท่าที่อาตมาลองทำดู ก็ยังยากฉิบหายเหมือนเดิม
ถาม : ถ้าเรามีชีวิตอยู่นี่ เราทำบุญ เราภาวนาให้เก่ง (ไม่ชัด)
ตอบ : ภาวนา ถ้าอาารมณ์ใจทรงตัวเป็นฌาน คุณให้ทานจนเคยชิน ก็เป็นฌาน ไม่ใช่ต้องไปนั่งภาวนา คนนั่งภาวนาน่ะ เด็กหัดใหม่ คนที่เขาทำกันจนชิน อิริยาบถใดเขาก็ทำได้นั่นน่ะ ถึงจะใช้งานได้จริง ๆ นี่ถึงจะเป็น Professional มืออาชีพ ลักษณะที่วาเราเคยใส่บาตรทุกวัน ๆ พอถึงเวลาไม่ได้ใส่ปุ๊บ รู้สึกไม่ดีทันที อย่างไรก็ต้องใส่ให้ได้ นั่นแหละ คุณทำทานจนเป็นฌานแล้ว ไม่ต้องเสียเวลาไปนั่งภาวนาด้วยคำว่า "ฌาน" แปลว่า เ คยชิน เคยชินระดับแรกเรียก "ปฐมฌาน" เคยชินระดับสองเรียก "ทุติยฌาน" ไล่ไปเรื่อย
ถาม : ทำอิริยาบถไหนก็ได้ ?
ตอบ : ใช่ หกคะเมนตีลังกาอย่างไรก็ได้ ยืนยันว่าทำได้แน่นอน เพราะทำมาแล้ว
ถาม : ถ้าเราถวายสังฆทาน แต่เราไม่ได้สร้างอะไรไว้ก่อนเลย จะไม่ค่อยได้ผล ?
ตอบ : ก็ได้อยู่ คือเรารู้แล้วเราก็ไปตั้งอธิษฐานเอาได้ สิ่งที่เราทำ ผลนั้นยังอยู่ ในเมื่อผลนั้นยังอยู่ เราต้องการให้ผลนั้นเป็นอย่างไร เราไปตั้งใจใหม่ได้ อธิษฐาน คือความตั้งใจมั่น เป็นธรรมะที่สำคัญมากด้วย เพราะว่าบางคนเขาบอกว่า การทำบุญแล้วอธิษฐานขอโน้นขอนี่ เป็นตัณหา เป็นตัวโลภ ความจริงไม่ใช่ ทุกสิ่งทุกอย่างที่คุณทำ พอเราทำไปปุ๊บไม่ว่าจะดีหรือชั่ว ผลของการกระทำนั้นจะเกิดแน่นอน อธิษฐานบารมี เป็นเพียงกำหนดว่าให้เกิดเมื่อไหร่ ? เกิดอย่างไร ? เราต้องการกินข้าวตอนนี้ ถ้าข้าวไม่อยู่ตรงหน้าของเรา กว่าจะหาเจออีก ๓ วันก็แย่
ถาม : .................................
ตอบ : เรียบร้อยแล้ว ถึงเวลาจะใช้ก็ดึงมันออกมา ขอให้ password ถูกต้อง มันหลุดออกมาเองแหละ คำว่า password คือต้องให้มีคนถาม ถ้าคนมาถามเราก็ไปของเราเรื่อย ถ้าไม่ถามไปไม่เป็นหรอก
ถาม : สังโยชน์ ๑๐ ตัดสักกายทิฏฐิ ถ้าละได้ก็ไปแล้ว
ตอบ : ถ้าเราทำ ๓ ข้อแรกได้ เขาให้จับข้อสุดท้ายไปเลย สำคัญที่สุด ๓ ข้อแรก ใน ๓ ข้อแรกไม่ใช่ละได้เด็ดขาด ละได้ระดับที่ต้องการก็จะเป็นพระโสดาบัน เสร็จแล้วไปจับตัวท้ายเลย เพราะว่า ต้น กลาง นั่นมันสำคัญที่สุดตรงปลาย ปลายมันเป็นราก แล้วตัดรากแก้วขาดมันตาย ถ้ารากแก้วไม่ขาดมันก็ยังพยายามจะงอกอยู่เรื่อย
ถาม : ตัวท้ายอะไรครับ ?
ตอบ : อวิชชา อวิชชา ตามศัพท์เขาแปลว่าไม่รู้ จริง ๆ แล้วต้องแปลว่า รู้ไม่หมด รู้ไม่ครบ สมเด็จพุฒาจารย์ วัดระฆัง อย่าลืม อาตมาบอกสมเด็จพุฒาจารย์ สมัยก่อนตำแหน่งแค่นั้น มาตอนเหลังเขาเพิ่มเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ สมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดระฆัง คือหลวงพ่อโต ท่านบอกว่า มันต้องแปลว่ารู้ไม่หมด อวิชชาแยกเป็นศัพท์ ๒ ตัว คือ ฉันทะ ความพอใจ แล้วก็ราคะ ความยินดี อยากมี อยากได้ เกิดความพอใจก็เลยยินดี อยากมีอยากได้ พอใจปุ๊บก็ยินดี เออ! ถ้าหากว่าเป็นแฟนเราก็ดี อันนี้เป็นราคะ
ถ้าหากว่าตาเห็น ว่ามันสวยก็เกิดจิตปรุงแต่งอยากจะได้ขึ้นมา หูได้ยิน เออ! มันไพเราะอยากจะฟัง จมูกได้กลิ่น เออ! มันหอม อยากจะดมอีก ลิ้นได้รส เออ! อยากจะกินอีก กายสัมผัส เออ! นุ่มดีอยากสัมผัสอีก
เพราะฉะนั้นมันอยากละเอียดมากต้องระวังให้ทัน แว่นตา เออ! ชัดดี พอใจมันนี่เสร็จแล้วนะ เครื่องคิดเลข เออ! ตัวใหญ่ดีใช้ง่ายสะดวก เสร็จอีกแล้วนะ ยากไหม ? แต่ถ้าถึงเวลานั้นแล้วมันไม่อยาก มันเหมือนกับเรามีกล้องจุลทรรศน์ แรก ๆ พวกสักกายทิฏฐินี่เหมือนกับเราไปฆ่าช้าง ตัวมันใหญ่ยิงง่าย พอไปกลาง ๆ มังเล็กลงมาเท่าหมาเท่าแมวเท่าหมู มันเล็กไปเรื่อย ๆ มันเท่ายุุง เท่ามดเท่านั้น ตอนนี้สติปัญญาของเราทุกอย่าง มันจะแหลมคมและชัดเจนแจ่มใสมากเหมือนกับมีกล้องจุลทรรศน์ เมื่อมีกล้องจุลทรรศน์อยู่ยุงมันตัวใหญ่เกินไปเสียด้วยซ้ำ สอยได้ไม่ยากหรอก
ถาม : สักกายทิฏฐิกับมานะ ต่างกันตรงไหนครับ ?
ตอบ : ต่างกัน มานะ เป็นสันดานในใจของเรา เขาเรียกว่า อนุสัย เป็นตัวที่ละเอียดลึกอยู่ สักกายทิฏฐิ เป็นความรู้สึกปกติ ความรู้สึกปกติเหมือนกับเราหวงของอย่างหนึ่ง มันก็เลยรู้สึกว่าหวงร่างกายนี้ แต่ตัวมานะนั้นมันไม่ได้หวงเฉย ๆ มันคิดว่ากูดีกว่าด้วย ของชิ้นนี้ของกู กูรักกูหวงอย่างเดียวไม่พอ ของกูดีกว่าของมันด้วย ต่างกันไหม ? ต่างกันอยู่หน่อยเดียวแหละ
ถาม : ตัดมานะได้ก็แปลว่า ตัดสักกายทิฏฐิได้แล้วหรือครับ
ตอบ : ถ้าตัดสักกายทิฏฐิได้ มานะมันเหลือกำลังน้อยเต็มที อธิบายง่ายเกินไปหรือเปล่า
ถาม : บารมี ๑๐ ถามว่าเนกขัมมะ ตอนเป็นฆราวาสจะปฏิบัติอย่างไร ?
ตอบ : เนกขัมมะ ตอนเป็นฆราวาสเราถือได้ด้วยการไม่ละเมิดลูกเมียคนอื่นเขา คือทำทุกอย่างให้อยู่ในกรอบของศีล ถ้าหากว่าทำได้แค่ศีล ๕ เอาแค่ ศีล ๕ ทำกรรบถ ๑๐ ได้เอากรรมบถ ๑๐ ทำศีล ๘ ได้เอาศีล ๘ ถ้าถึงศีล ๘ อันนั้นเริ่มเป็นเนกขัมมะที่แท้จริงแล้ว พอศีล ๘ มันจะลาจากการยุ่งเกี่ยวกับเพศตรงข้ามเป็นการถือพรหมจรรย์ ตัวเนกขัมมะ ก็คือ ละออกจากความหลงในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส บางคนเขาแปลว่าการถือบวชไปเลย ก็คือการปฏิบัติเหมือนกับนักบวชนั่นแหละ เพราะไม่ยุ่งเกี่ยวกับเพศตรงข้ามไปเลย
ถาม : เมื่อสักครู่หลวงพ่อบอกให้ละนิวรณ์ ๕
ตอบ : นั่นแหละนิวรณ์ ๕ ก็อยู่ในนั้นเพราะขึ้นด้วยกามฉันทะ-ความพอใจในระหว่างเพศ ปฏิฆะ-พยาบาท ความโกรธ เกลียด ถีนมิทธะ-ง่วงเหงาหาวนอนไม่พอ ขี้เกียจทำด้วย อุทธัจจะ-อารมณ์ใจไม่ตั้งมั่น ฟุ้งซ่านไปที่อื่นอยู่เรื่อย ๆ วิจิกิจฉา-ลังเลสังสัยอยู่นั่นแหละ ทำแล้วจะได้ผลจริงหรือเปล่า ทำไม่ถึงสักทีแล้วเมื่อไหร่จะได้ผล
ดังนั้นจริง ๆ แล้วหน้าตามันจะคล้าย ๆ กัน เรื่องของธรรมะเรารู้ว่าพอดีสำหรับเราแล้วก็ไปตั้งหน้าตั้งตาทำ ไม่ใช่โกยไปเรื่อย ๆ กินมากอาหารมันยังไม่ย่อย ฟังมากบางทีมันก็ฟุ้งมันก็เฟ้อมันเฝือไปเลย
ถาม : พอดีมันไม่ย่อยมานานแล้ว วันนี้ได้ยืดไส้ย่อยมันก็หายง่วงไปเยอะ ก็จะได้ไม่งง ไม่อย่างนั้นก็จะลังเลแล้วก็สงสัย แล้วก็ติ๊งต๊องไปแล้ว
|