ถาม:  การเห็นกายในกาย หมายถึง...?
      ตอบ:   มหาสติปัฏฐานสูตร หมายเอาแค่ลมหายใจเข้า-ออก ลมหายใจเข้า-ออก เขาตีเอาว่าเป็นกายในเพราะว่าความรู้สึกทั้งหมดของเราต้องอยู่ตรงนั้น ส่วนกายคนอื่นถือเป็นกายภายนอก ไม่ได้หมายความว่าเห็น อทิสมานกาย ของตัวเอง การเห็นอทิสมานกายของตัวเองนั่นแหละ จะเป็นกายในกายอย่างแท้จริง
              กายในกายในมหาสติปัฏฐานสูตรที่กล่าวถึงนั้น จะเป็นตัวอานาปานสติ คือ ลมหายใจเข้า-ออกของเรา เพราะเราต้องควบคุมความรู้สึกทั้งหมดของเราอยู่กับลมหายใจเข้า-ออก ความรู้สึกของเราทั้งหมดนั่นแหละคือ กายในกายหรือภายใน ส่วนร่างกายของเรานี่คือภายนอก และร่างกายของคนอื่นนี่ยิ่งนอกเข้าไปใหญ่
      ถาม :  หลวงพ่อบอกว่า การใช้อารมณ์มโนมยิทธิ สามารถเห็นหรือพูดคุยกับพรหมเทวดา หรือบุคคลต่าง ๆ ไม่จำกัดเวลา เวลาที่หลวงพี่บอกว่าหลัง ๑๐.๐๐ น. เทวดาท่านประชุมทุกวัน ท่านจะมาพบหรือพูดคุยกับบุคคลที่ฝึกมโนมยิทธิได้หรือเปล่าครับ ?
      ตอบ:   ได้ เพราะว่าท่านสามารถแยกกายออกได้ร้อยเป็นพัน เพื่อทำงานเป็นร้อยเป็นพันอย่างพร้อม ๆ กันได้ เวลาบรวงสรวงควรจะทำอย่าให้สายมาก เพราะถ้าสายมากท่านจะติดภารกิจเหมือนกัน ก็เหมือนกับคนนั่นแหละ ทำงานหลายอย่างพร้อม ๆ กันแล้วจะเอาผลเต็ม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์มันยาก ก็ควรจะหาช่องจังหวะที่ควรจะดีที่สุด เพราะเราทำให้สิ่งที่ดีที่สุด ก็อยากได้ผลตอบแทนที่ดีที่สุด ก็ควรจะให้เวลาที่ท่านว่างดีกว่า
      ถาม :  หลวงพ่อท่านบอกว่า บัณฑิตพึงรักษาความลับยิ่งชีวิต ตอนที่ท่านเทศน์สอนเรื่องพระเตมีย์ใบ้ อย่างนี้เป็นไปได้หรือไม่ว่า เราจะรักษาความลับจนชีวิตตายไปเลยแล้วไม่บอกใคร หากความลับนั้นไม่เป็นผลดีต่อทั้งจิตใจและร่างกายผู้อื่น
      ตอบ:   เยอะแยะไป การรักษาความลับเป็นการพิสูจน์ตัวเองอย่างหนึ่งว่า เรามีสติมั่นคงแค่ไหน เพราะฉะนั้นอย่างพระเตมีย์ใบ้ ไม่ต้องห่วงหรอก ท่านสามารถทรงฌานขนาดนั้น สติท่านยิ่งสมบูรณ์ มีเยอะที่ท่านรักษาความลับของคนอื่นไว้ จนกระทั่งตายไปโดยไม่พูดถึง คือพูดง่าย ๆ ว่าเขาไว้ใจเรา บอกความลับกับเรา เราก็ควรจะรักษาความลับให้เขา เพราะว่าในเพื่อนแท้ มีมิตรร่วมทุกข์ร่วมสุข มิตรแนะประโยชน์ มิตรมีความรักใคร่ เป็นต้น มีอยู่ข้อหนึ่งที่ว่ารักษาความลับให้เพื่อน อาตมาก็รักษาความลับให้ลูก เขาปรึกษาเรื่องอะไรก็ต้องเงียบ ๆ ไว้
      ถาม :  คนที่ดูหมิ่นในความสามารถของบุคคลอื่น ในทางโลกที่ผู้ถูกดูถูกเป็นคนธรรมดา เป็นคนมีศีล เป็นคนที่เจริญฌาน เป็นผู้ที่มีจิตใจเมตตา บำเพ็ญทานรักษาศีล หรือผู้บำเพ็ญตนในวิปัสสนาญาณปรารถนาพระนิพพาน หรือคนที่ได้โมทนาบุญจากบุคคลทุกท่าน และพระทั้งหมดทั้งนิพพาน
      ตอบ:   คนดูถูกนี้ซวยแน่ ๆ สรุปแค่นั้นพอ ความดีของท่านมีผลมหาศาล ตัวอย่างที่ง่ายที่สุดก็คือ นางขุชชุตตรา ท่านไม่ทราบว่าเพื่อนท่านเป็นภิกษุณีอรหันต์แล้ว ได้ขอให้เพื่อนช่วยหยิบเครื่องแต่งตัวให้หน่อยเท่านั้นเอง ต้องไปเกิดเป็นคนใช้เขา ๕๐๐ ชาติ ท่านที่ทรงความดีอยู่ก็เหมือนอย่างกับไฟ ถ้าเราปฏิบัติถูกต้องก็เป็นคุณอนันต์ ถ้าปฏิบัติผิดก็โทษมหันต์ ความดท่านยิ่งสูงเท่่าไหร่ ถ้าเราทำไม่ดีกับท่านก็ยิ่งโดนตอบแทนคืนมาแรงเท่านั้น ท่านไม่ได้ถือโทษโกรธเคืองอะไรหรอก แต่ว่ากฎของกรรมกับสิ่งที่เราทำมันจะเล่นเราเอง
              เพราะฉะนั้นสรุปได้ว่าไม่ต้องให้ถึงขนาดที่ว่ามาหรอก ขอให้คนที่มีความดีอยู่บ้างถ้าเราไปล่วงเกินเข้า มีโอกาสก็ขอขมาเสีย ไม่อย่างนั้นเกิดโทษกับตัวแน่ ๆ
      ถาม :  ถึงแม้จะเป็นเรื่องทั่ว ๆ ไปหรือครับ
      ตอบ:   เรื่องทั่ว ๆ ไปไม่ว่าจะอะไรก็ตาม พระอรหันต์มีคุณอนันต์ก็มีโทษมหันต์ ดังนั้นฆราวาสที่เป็นอรหันต์ท่านเลยต้องจำเป็นให้ตัดให้ตาย อยู่นานไม่ได้หรอก คนไม่รู้ไปล่วงเกินเข้าเป็นโทษแน่ ๆ อย่างเช่นว่าอาจจะเคยเป็นเพื่อนฝูง เป็นลูกไล่กันมาก่อน เตะตูดเขกกบาลเล่นได้ แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์ไปแล้วเราไปทำอย่างนั้นเราก็ซวยไม่จบ หากท่านอยู่ต่อไปจะเป็นทุกข์เป็นโทษกับคนอื่น
      ถาม :  การโต้ตอบกับบุคคลที่ด่าเรา ทำไมเราจึงเลวกวว่าเขาสองเท่า และถ้าเราไม่ได้ตอบ คนที่ด่าเราจะได้กลับสองเท่าหรือไม่ ?
      ตอบ:   อันนั้นต้องถามอักโกสกพราหมณ์ ที่ไปด่าพระพุทธเจ้าว่าแย่งชิงลูกศิษย์ท่านไป พระพุทธเจ้าก็นั่งฟังด่าจนจบ หายเหนื่อยแล้วใช่ไหม คราวนี้ก็ถามว่า ดูก่อนพราหมณ์ บุคคลที่มาเยือนถึงเคหาของท่าน ๆ ย่อมนำเอาของเคี้ยวของฉัน ตลอดจนถึงน้ำท่ามาให้เขา ถ้าเขาไม่กินไม่ใช้ ของเหล่านั้นจะตกแก่ใคร อักโกสกพราหมณ์ก็บอกว่าย่อมเป็นของข้าพเจ้าอยู่ พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า นั่นแหละที่ท่านด่ามาว่ามา ตถาคตไม่รับเสียอย่างแล้วจะตกอยู่กับใคร อักโกสกพราหมณ์ได้ฟังก็เลยได้คิด ยอมกราบพระพุทธเจ้า และกล่าวว่า ดูก่อน พระสมณโคดม ภาษิตของท่านแจ่มเจ้งยิ่งนัก เหมือนอย่างกับหงายของที่คว่ำขึ้นมา เหมือนอย่างกับประทานแสงไฟให้ผู้ที่อยู่ในความมืดอย่างนี้ แล้วท่านก็ปฏิญาณตนถึงพระรัตนตรัย นี่เป็นตัวอย่างที่เห็นชัดเจนมาก เอาตัวอย่างนี้ไปใช้ก็แล้วกัน
      ถาม :  การที่กระทำปิตุฆาตหรือมาตุฆาต มีผลในทางอนันตริยกรรม และในทางตรงกันข้ามการฆ่าบุตรตนเองมีผลเท่า หรือมากกว่าการฆ่าสัตว์ในศีลข้อ ๑ หรือครับ ?
      ตอบ:   ไม่ใช่ แต่ว่าการฆ่าคนมีโทษสูงกว่าฆ่าสัตว์อยู่แล้ว เพราะว่าคนอยู่ในมนุษยภูมิที่สูงกว่าเดรัจฉานภูมิซึ่งเป็นภูมิของสัตว์เดรัจฉานมาก เพราะฉะนั้นการฆ่าคนจะมีโทษมากกว่าฆ่าสัตว์เป็นร้อยเท่า โดยเฉพาะยิ่งเด็ก ๆ ที่กำลังน่ารัก แล้วเราฆ่าเด็กได้มันต้องใช้กำลังใจเท่าไหร่ การจะฆ่าคนหรือฆ่าสัตว์ก็ตาม ถ้ายิ่งต้องใช้กำลังใจมากเท่าไหร่ โทษยิ่งหนักเท่านั้น ฆ่าสัตว์เล็ก บี้มด บี้ปลวก เราบี้มันได้สบายใช่ไหม เพราะมันเป็นสัตว์เล็ก ๆ โทษก็เบาหน่อย หากฆ่าปลาหรือไก่ก็ต้องใช้กำลังใจมากขึ้น โทษก็หนักขึ้นไปอีก และถ้าหากฆ่าสัตว์ เช่น วัว หรือควาย โทษก็ยิ่งหนักมากขึ้น
              ฉะนั้นการฆ่าสัตว์ใหญ่มากขึ้นก็ได้รับโทษหนักขึ้นเป็นเงาตามตัว การฆ่ามนุษย์ที่อยู่ในภูมิสูงกว่าสัตว์ โทษก็เลยหนักกว่ามาก แต่การที่แม่ฆ่าลูกไม่ถือว่าเป็นอนันตริยกรรม แต่ก็มีโทษหนักมาก
      ถาม :  พระเขี้ยวแก้วเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คนที่ไม่มีโอกาสได้กราบไหว้ แต่มีโอกาสได้เห็นพระในทางมโนมยิทธิ ได้กราบไหว้อยู่ประจำ มีความต่างของอานิสงส์พิเศษหรือไม่ ?
      ตอบ:   ถือว่าเป็นพุทธานุสติเหมือนกัน แต่เรื่องของมโนมยิทธิคือการขึ้นไปข้างบนมีอานิสงส์มากกว่า มากกว่าตรงที่ว่า บุคคลที่ไปกราบพระเขี้ยวแก้วมาอาจจะได้แค่อนุสสติ แต่บุคคลที่ไปกราบพระข้างบนได้ จะต้องเป็นผู้ได้ฌานสมาบัติ อานิสงส์ของผู้ทรงฌานนี้สูงกว่าหลายเท่า แล้วยิ่งเป็นการทรงฌานในพุทธานุสติ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าเข้าถึงนิพพานได้ง่ายที่สุดแต่ทั้ง ๒ ประการล้วนแล้วแต่เป็นพุทธานุสติด้วยกัน พุทโธ อัปปมาโณ คุณพระพุทธเจ้าประมาณไม่ได้ การทำความดีอย่างเช่น บางคนก็ต้องเดินทางลำบากตรากตรำเพื่อไปไหว้พระเขี้ยวแก้วเพราะศรัทธา ถ้ากำลังใจขนาดนั้นของท่าน หากปรารถนาอะไรก็ไม่น่าจะเกินวิสัยของท่าน เพราะว่าลำบากแค่ไหนก็ยังยอม
      ถาม :  การอยู่ในทางโลก เราต้องทำงานคนเดียวไม่มีเพื่อนฝูง กับการที่เราคบเพื่อนฝูงในการทำงานธุรกิจเพื่ออาศัยประโยชน์จากสายสัมพันธ์ เราจะตัดสินใจคบหาเพื่อนที่มีจิตใจมัวหมอง เต็มไปด้วยโลภ โกรธ หลง ทำให้เรามีช่องทางในการทำมาหากินเพิ่มขึ้น อันนี้เราจะต้องตั้งใจแบบกลาง ๆ ดี หรือว่าอยู่คนเดียวพึ่งตนเองอย่างใดจะเหมาะสมกว่า ?
      ตอบ:   ถ้าเราอยู่กับโลก เราไม่ควรฝืนกระแสโลก เพราะจะทำให้ไม่ได้ลำบากแต่ตัวเรา แต่เราสร้างทุกข์สร้างโทษให้กับคนอื่นด้วย คนที่หมั่นไส้เรา หากเขาคิดก็เกิดมโนกรรมแก่ตัวเอง หากเขาพูดก็เกิดวจีกรรมแก่ตัวเอง และถ้าหากเขาทำยิ่งเกิดทั้่งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ครบถ้วนสมบูรณ์
              ดังนั้นจะไม่ใช่แค่เกิดความลำบากแก่ตัวเรา แต่เราสร้างความลำบากให้คนอื่นเขาด้วย ถ้าหากว่าไม่ถึงขนาดล่วงศีลแล้ว ก็คบหาสมาคมเขาไปเถอะ เพียงแต่ให้เรารู้ว่าที่เราคบเขาอยู่นี้เพื่ออะไร อันดับแรก-ถ้าคิดกันอย่างคนกิเลสท่วมหัวคือเพื่อประโยชน์ของเรา อันดับที่สอง-ถ้าคิดกันอย่างผู้ปฏิบัติธรรมก็คือ อย่างน้อย ๆ ก็อย่าสร้างทุกข์เวรภัยให้แก่คนอื่นด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ของเรา การอยู่ในโลกจุดสำคัญอยู่ที่ว่า เราไปตามโลกแต่ไม่คิดโลก เหมือนกับน้ำกลิ้งบนใบบัว บนใบบอน เราไม่ติดในโลก เราต้องมีศีลเป็นฉนวนกั้นอยู่ชั้นหนึ่งไปแค่กรอบของศีลแล้วเราก็ถอยกลับ ถ้านอกเหนือจากนั้นแล้วไม่ไปหาข้ออ้างอะไรให้มันฟังขึ้น ถ้าหากหมดท่าจริงๆ ก็บอกเพื่อนไปว่าผมไม่เอากับคุณด้วยหรอก ตอนนี้หลวงพ่อสั่งผมให้ถือศีลทุกวัน ว่าไปตรง ๆ เลยก็ได้
      ถาม :  ทำไมเวลาสวดมนต์ ต้องชุมนุมเทวดาก่อน ตั้งนะโม ทั้ง ๆ ที่พระพุทธเจ้าเป็นผู้มีบารมีสูงสุด
      ตอบ:   การที่เราปฏิบัติความดีย่อมมีสิ่งที่คอยขัดขวาง เรียกว่า มาร การที่เราชุมนุมเทวดาก่อนมีประโยชน์หลายสถาน ได้แก่
              ประการแรก การระลึกถึงเทวดา เป็นเทวดานุสติ เป็นความดีที่พระพุทธเจ้าสอนให้เราทำอยู่แล้ว
              ประการที่สอง ถ้าหากว่าเกิดมีมารมาขัดขวางการปฏิบัติความดีของเร าถ้าไม่เกินวิสัยเทวดาท่านจะคุ้มครองป้องกันให้ อย่าลืมว่าเทวดาชั้นต่ำสุดที่อยู่ปลายแถวของเทวดา ยังไง ๆ ก็เหนือกว่าหัวแถวของมนุษย์มาก
              ฉะนั้นถ้าหากว่าท่านมีความรัก มีความเมตตาต่อเรา เห็นว่าเราเองไม่ลืมระลึกถึงท่าน ถึงเวลาทำทุกอย่างก็ทำเพื่อท่าน ถ้ามีอะไรที่ไม่เกินวิสัยที่ท่านสงเคราะห์ได้ ก็ให้ท่านสงเคราะห์ด้วย
              ประการสุดท้าย(สำคัญที่สุด) เราจะทำความดี พรหม เทวดา ท่านพร้อมที่จะโมทนาบุญของเราอยู่แล้ว เป็นการช่วยเสริมกำลังบุญของเราอยู่แล้ว เป็นการช่วยเสริมกำลังบุญของท่านให้สูงขึ้นเพื่อเข้าสู่ภพภูมิที่ท่านปรารถนาได้เร็วยิ่งขึ้น เท่ากับว่าเราทำความดีอย่างมหาศาลไปในตัวด้วย ถ้าเราคิดถึงจุดนี้ได้คือ "พรหมวิหาร" นั่นเอง เท่ากับว่าเราเป็นผู้มีความเมตตา กรุณา เป็นปกติ ตั้งใจสงเคราะห์สรรพสัตว์ทั้งหลายโดยไม่เลือก ไม่ว่าจะอยู่ในภพใด ภูมิใด หมู่ใด เหล่าใด ก็ตามเราตั้งใจสงเคราะห์ทั้งหมด ต่อให้พรหม เทวดา ที่ท่านมีความดีกว่าเราอยู่แล้วก็ตาม เราก็พร้อมจะแบ่งบุญอันนี้ให้ กำลังของพรหมวิหาร ๔ ของเราไม่ว่าจะเป็นเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ก็จะเจริญก้าวหน้าขึ้นไปอีก
      ถาม :  การที่มีผู้หญิงหลายคนในเวลาเดียวกัน ในสมัยก่อนมีประวัติเล่าถึงสาวที่ถูกโจรป่าฆ่าตาย บังเอิญมีชาย ๒ คนมาพบ แล้วกลบศพเอาใบไม้วางปิดศพไว้ ท่านกล่าวว่าด้วยเหตุนี้หญิงคนนี้จึงมีสามี ๒ คน และในปัจจุบันก็มีอย่างนี้อยู่มาก เช่น เต็กกอมีเมีย ๗ คน เป็นเหตุเพราะอย่างนี้ทุกคนหรือไม่ ?
      ตอบ:   ก็ไม่แน่ว่าจะเป็นอย่างนั้น การที่บุคคลจะอยู่ร่วมกันได้ มีสาเหตุหลายสถาน
              อันดับแรก คือ เกื้อกูลกันในปัจจุบันจนเห็นใจกัน ก็เลยทำให้ได้อยู่ร่วมกัน
              อันดับที่สอง คือ บุพเพสันนิวาส บุพเพ คือ แต่ปางก่อน สันนิวาส คือ การอยู่ร่วม แปลว่า เคยอยู่ร่วมกันมาแต่ปางก่อน
              สองสาเหตุนี้ก็เลยทำให้คนได้อยู่ร่วมกันในชาติปัจจุบันนี้ แล้วอีกอย่างหนึ่งพระพุทธเจ้าท่านเคยตรัสเอาไว้ว่า บุคคลที่มีโอากสได้พบเห็นกันในปัจจุบันนี้ ในอดีตที่ไม่เคยมีความสัมพันธ์กันมานั้นไม่มี อย่างน้อย ๆ ต้องเคยเป็นในฐานะใดฐานะหนึ่งกันมาก่อน มาชาตินี้ความสัมพันธ์หรือกระแสกรรมเหล่านั้นก็เลยดึงให้ท่านทั้งหลายเหล่านั้นมาพบกันอีกวาระหนึ่ง มาเพื่อเกื้อกูลกันก็มี มาเพื่อปรารถนาทวงเอาก็มี แล้วอย่างนี้เต็กกอมี ๖ คนหรือ ๗ คนนั้นไม่ได้ผิดศีลด้วย เพราะว่าเจ้าของคือภรรยาหลวงเป็นคนไปขอให้เอง ถ้าเจ้าของอนุญาตไม่ผิด
      ถาม :  หลวงพ่อท่านบอกว่าการที่เราใช้พระ ต้องไปเป็นทาสเขา ๕๐๐ ชาติ และอย่างนี้ผมได้ตั้งคำถามพระเพื่อเพิ่มปัญญาให้พ้นทุกข์ จะเป็นเหตุให้ผมยังต้องเกิดและเป็นทาสอีก ๕๐๐ ชาติหรือเปล่า ?
      ตอบ:   ไม่ต้อง อาจจะเป็นเศรษฐี ๕๐๐ ชาติก็ได้ อันนี้เป็นงานของอาตมาอยู่แล้ว อาตมาทำงานของตัวโยมมาช่วยให้งานนั้นสำเร็จลง ต่างมีผลกันทั้งสองฝ่าย อันนี้ไม่ได้ใช้พระ พระเต็มใจให้ใช้
      ถาม :  การที่เราอุทิศส่วนกุศลให้เทพเจ้าทั้งสากลพิภพ และเทพเจ้าที่ปกปักษ์รักษาข้าพเจ้าทุกครั้ง เทวดาก็ไม่มีวันหมดบุญใช่ไม่ ? หรือจะได้เฉพาะเทวดาที่รับโมทนา
      ตอบ:   ได้เฉพาะที่ท่านโมทนา เราอุทิศให้ถ้าท่านไม่ยินดีก็ไม่รู้จะช่วยอย่างไรเหมือนกัน เพราะว่ามีหลายท่านที่ขึ้นไปเพลิดเพลินอยู่ข้างบน ใครทำอะไรก็ไม่สนใจ ตัวอย่างของมัฏฐกุณฑลีเทพบุตร มีอายุแค่เจ็ดวัน มนุษย์แท้ ๆ มัวแต่เพลินอยู่ หากอากาศจารีเทพบุตรไม่ไปเจอคงแย่ไปเลย
      ถาม :  พระสงฆ์ ๒ รูป ที่อยู่ข้างซ้ายและขวาของพระพุทธเจ้าคือพระสาวกพระองค์ตามเรื่องของมหานิกาย มหายานกล่าวว่าคือพระมหากัสสปะและพระอานนท์เถระ แต่ที่จริงแล้วความตั้งใจของผู้สร้างพระสงฆ์ทั้งซ้ายและขวาหมายถึงพระสาวกพระองค์ใด ?
      ตอบ:   ถ้าหากว่าเป็นของเรา ฝ่ายเถรวาท หินยาน หมายถึงพระโมคัลลาน์ พระสารีบุตร ถือว่าเป็นอัครสาวกซ้ายและขวา แต่ทางด้านมหายานเขาถือว่าพระอานนท์รับใช้ใกล้ชิดที่สุด และพระมหากัสสปะเป็นผู้ที่พระพุทธเจ้ามอบหมายให้ทำหน้าที่แทนหลังที่ล่วงลับไปแล้ว ก็เลยสร้าง ๒ องค์นั้นแทน มหานิกายก็จะเป็นพระอานนท์กับพระมหากัสสปะ ถ้าเป็นหินยานก็เท่ากับพระโมคคัลลาน์กับพระสารีบุตร แล้วแต่ว่าใครสร้าง
      ถาม :  พระใช้เท้าเหยียบบางส่วนของร่างกายรักษาได้หรือไม่ ? และถ้าพระใช้เท้าเหยียบพระด้วยกันเองรักษาโรค อย่างนี้ผิดหรือไม่ ?
      ตอบ:   ถ้าหากเป็นตามหลักวิชาของเขาเหยียบรักษาคนได้ เคยเห็นเขาเหยียบไฟรักษาโรคไหม มีวิชาอยู่อันหนึ่ง หัวจอบและต้องเป็นจอบเก่า ๆ ด้วย เผาให้แดงโร่ แล้วท่านก็จะเอาเท้านั้นเหยียบน้ำมนต์ แล้วก็เหยียบลงบนหัวจอบ ควันโขมง แล้วก็มาเหยียบตามร่างกายเพื่อรักษาโรค ซึ่งเป็นหลักวิชาของเขา และมีผลจริง ๆ
              อีกรายหนึ่งคือ ลุงถนอม รวงผึ้ง สมัยอาตมายังเป็นฆราวาสก็สนิทสนมกันดี ลุงถนอมแกภาวนาและได้อภิญญาไม่รู้ตัว แกอธิษฐานว่าใครเป็นครูที่จะสอนแกได้ก็ขอให้พบเห็นคนนั้น และก็เห็นหน้าอาตมา ตามหาจนเจอ คนเก่งมันเก่งจริง ๆ ตามหาจนเจอ ยืนยันคนนี้แน่นอน ผมเห็นรูปร่างอย่างนี้ หน้าตาอย่างนี้ ใช่แน่ ลุงถนอมแกเล่าว่าแกรักษาป้า คือตัวเองได้อภิญญา ได้ทิพจักขุญาณ เขาบอกว่าแรงกรรมที่ทำมาทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยแก่ร่างกาย เห็นมันสีดำ ๆ อยู่ พอแกขอบารมีพระแล้วแกก็เหยียบ ปรากฎว่าสีดำ ๆ มันหดหายไปเหมือนอย่างกับโดนเหยียบจมดินไป ถ้าหากว่าจะเป็นไปตามวิธีการที่ว่ามาคือ ตามหลักวิชาของเขาอย่างหนึ่ง หรือไม่ก็ได้ใช้กำลังบุญที่เหนือกว่าก็ข่มกำลังของกรรมที่มีอยู่ตอนช่วงนั้นให้พ้นไปชั่วขณะหนึ่ง รักษากันได้ และถ้าหากพระเหยียบพระด้วยกัน เขาเต็มใจให้เหยียบไม่เกิดโทษ ได้บุญอีกต่างหาก อย่าลืมว่าพระพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคลใดต้องการอานิสงส์ของการอุปัฏฐากตถาคต ต้องอุปัฏฐากภิกษุไข้เถอะ อุปัฏฐาก หมายรวมถึงทกุอย่างทั้งดูแลและรักษา การกินการอยู่ เครื่องใช้ไม้สอย ทุกอย่างถือเป็นการอุปัฏฐากหมด เป็นบุญใหญ่ มิใช่ไปเหยียบเขาแล้วเกิดโทษ อย่าถึงขนาดเหยียบชักคาเท้าก็แล้วกัน
      ถาม :  อย่างนี้เราไม่รู้ใช่ไหมครับว่า พระองค์นั้นทำได้จริงหรือว่าหลอกลวง
      ตอบ:   ก็ลองไปให้ท่านรักษาดู ถ้าหายก็แปลว่าจริง ถ้าไม่หายก็หลอกลวง
      ถาม :  การดูดวง เชื่อถือได้หรือไม่ และคนที่ดูดวงให้คนอื่น หากินเป็นอาชีพ มีโทษของกรรมพิเศษหรือไม่ ?
      ตอบ:   ถ้าหากดูดวงเป็นโดยตรงไปตรงมาไม่มีโทษ แต่ว่ามีกติกามารยาทบางอย่างของหมอดูอยู่ เช่น ถ้าเด็กอายุไม่ถึง ๑๕ ปี เขาจะไม่ดูดวงให้ เพราะว่าจะมีโทษกับเด็ก บางคนลูกเพิ่งจะเกิดมา เอาดวงไปให้หมอดู หมอดูบอกว่าเป็นกาลกิณี เกิดมาจะเป็นศัตรูกับพ่อกับแม่ พ่อแม่ก็ตีเสียแทบตาย อย่างนี้เกิดโทษกับเด็ก
              ส่วนการดูดวงหากมีความเชี่ยวชาญตามวิธีการต่าง ๆ จริง มีผลได้ถึง ๘๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะว่าดวงเกิดจากการเก็บสถิติ โดยความช่างสังเกตของคนโบราณต่อเนื่องมาเป็นพัน ๆ ปี เขาเก็บสถิติว่าคนที่เกิดวันนั้น เดือนนี้ ปีนี้ เมื่อถึงวาระอายุเท่านี้จะเกิดเหตุดีหรือไม่ดีขึ้น การเก็บสถิติต่อเนื่องมาเป็นพัน ๆ ปี แล้วสรุปรวมมาเป็นศาสตร์คือความรู้ จริง ๆ แล้วก็คือกฎของกรรมธรรมดานั่นเอง
              เรื่องของดวงก็คือเรื่องของบุญของกรรมที่เราทำมา คนที่ได้สร้างบุญสร้างกรรมใกล้เคียงกัน ถึงวาระถึงเวลาก็จะมีวัน เดือน ปีเกิดที่ใกล้เคียงกัน ในระยะเวลาที่ใกล้เคียงนั้น ก็จะเกิดเหตุดีหรือไม่ดีขึ้นได้ ดังนั้นหากว่าท่านที่มีความรู้จริงในด้านนี้จะสามารถบอกได้ถึง ๘๐ เปอร์เซ็นต์ อันนี้เป็นการดูตามตำรา แต่ถ้าหากว่าท่านที่ดูด้วยทิพยจักขุญาณ ถึงเวลาถามพระถามเทวดานี่ ลำบากตรงที่ท่านรู้หมดแต่บางทีบอกได้น้อย คือไม่ควรจะไปฝืนกฎของกรรม บางอย่างก็ได้แค่ใบ้ ๆ เท่านั้น หากตีที่ใบ้ให้ไม่ออกก็ซวยไปเอง ก็ต้องรับกรรมนั้นไป ถ้าเขาตีที่ใบ้ออกก็แก้ไขได้ถือเป็นบุญเก่าของเขายังมีอยู่
              ดังนั้นเรื่องของการดูดวงก็คือเรื่องของการที่เราเอา วัน เดือน ปี เกิด ซึ่งเป็นไปตามกรรมที่เราทำมา ๆ วิเคราะห์ตามสูตรที่จัดไว้เป็นหมวดหมู่เรียงกันมาเป็นพัน ๆ ปี โดยทั่วไปจะบอกได้ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ ถ้าได้ถึง ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่ต้องอาศัยฌานสมาบัติ และทิพยจักขุญาณเข้าช่วย อีก ๒๐ เปอร์เซ็นต์ที่เหลือเป็นพวกทำความดีมากเกิน บุคคลใดก็ตามที่มั่นคงในทาน ศีล ภาวนา เรื่องของดวงจะมีผลไม่เกิน ๒๕ เปอร์เซ็นต์ เพราะว่าทานก็ดี ศีลก็ดี ภาวนาก็ดี เป็นบุญใหญ่สูงสุด ๓ ประการในพุทธศาสนา บุญใหญ่ที่เราทำนั่นแหละจะเป็นตัวก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง กระแสเมื่อแรงและเข้มแข็งมาก็สามารถพลิกแพลง หรือว่าเปลี่ยนถ่ายกระแสกรรมเก่าซึ่งควรเป็นอย่างนั้นหรือต้องเป็นอย่างนั้น ให้เปลี่ยนเป็นสิ่งใหม่ไปตามการกระทำใหม่ของตัวเอง