ถาม :  แต่ถ้าเราฉีดแล้วบังเอิญโดนมันตายล่ะคะ ?
      ตอบ :  ไอ้นั่นถ้าไม่มีเจตนากรรมมันน้อยลง โทษมีเหมือนกัน แต่น้อย การฆ่าสัตว์โทษ ๑๐๐% ก็ต่อเมื่อ
              ๑) สัตว์นั่นมีชีวิตอยู่
              ๒) เรารู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิตอยู่
              ๓) เราตั้งใจฆ่า
              ๔) เราลงมือฆ่า
              ๕) เราฆ่าสำเร็จ
              ถ้าประกอบด้วย ๕ ส่วนนี้ โทษ ๑๐๐% ส่วนใดส่วนหนึ่งบกพร่องโทษลงไปตามส่วน เจตนาไม่มี นี่ปกติแล้วถ้าหากว่าเป็นคนทั่วไปเขาไม่ปรับซะด้วยซ้ำ ยกเว้นบรรดาผู้มีจิตละเอียดมาก ๆ นั่น ไม่มีเจตนาก็เอาซะหน่อย
      ถาม :  ถ้าเราเจตนาฆ่าสัตว์ แต่ว่าในระหว่างทำร้ายนี่มีการทรมานสัตว์อย่างไหนจะ ....?
      ตอบ :  ก็เหี้ยมกว่าเดิม โทษหนักขึ้น หนักกว่าเดิมจ้ะ
      ถาม :  แล้วเวลาเราไปทานอาหารเราไม่รู้ว่าเขาไปทำอะไรกับเจ้าตัวที่เรามองไม่เห็น เหมือนว่าเราจะสั่ง จะกินปลาตัวนี้ อย่างนี้ เราไม่รู้ว่าเขาไปจัดการมันมา แล้วเรามารู้ทีหลังว่าทำยังไง ?
      ตอบ :  อันนั้นไม่ต้องจ้ะ สำหรับคนทั่ว ๆ ไป เขาไม่ปรับ สำหรับพระถ้าไม่รู้ว่า เขาฆ่าเพื่อเรา ถ้าไม่เห็นว่าเขาฆ่าเพื่อเรา ถ้าไม่รังเกียจว่าเขาฆ่าเพื่อเรา ฉันได้ แต่ถ้ารู้ว่าเขาฆ่าเพื่อเรา ประเภทที่เรียกว่า เดินเข้าไปหลังครัว เสียงทุบโป้ง โป้ง ดิ้น ปั๊บ ปั๊บ เลยล่ะชัวร์แน่เลย เขาทำให้เราแน่เลยใช่ไหม ! เห็นว่าเขาฆ่าเพื่อเรา เลือดสาดกระจายอยู่ตรงหน้าหรือรังเกียจว่าเขาฆ่าเพื่อเรา คือ เขาเอามา เอ...นี่เขาทำให้เรากินนี่หว่า มันทำให้สัตว์ตายลง ถ้ากินเข้าไปท่านปรับอาบัติทุกคำกลืนน่ะ นี่ของพระ แต่ถ้าของฆราวาสนี่ ถ้าไม่ได้สั่งเขาฆ่า ไม่ได้ลงมือฆ่าเอง กินไปเหอะ ไม่เป็นไรหรอก ยังไงมันก็ตายอยู่แล้ว
      ถาม :  แล้วมันไม่ติดตามเรา ทวงหนี้กรรมเหรอคะ ?
      ตอบเรื่องของธรรมะ ตรงไป ตรงมา ใครทำ คนนั้นรับไป คนฆ่ารับไป คนสั่งรับไป ถ้าเราไม่ได้สั่งให้เขาฆ่า เขาทำให้เรียบร้อยแล้วก็กินไปเหอะ
      ถาม :  ก็มีอยู่ ตอนนั้นไปเจอค่ะ เจ้าของเนื้อ เวลาที่ตายเขามาทวงเนื้อเขาอยู่น่ะค่ะ อย่างนี้เขาตามมาได้ไงเจ้าคะ ?
      ตอบ :  เขาทวงเราหรือทวงคนฆ่า ?
      ถาม :  ตามทวงหมดเลยเจ้าค่ะ ทำได้ไง ?
      ตอบ :  อันนั้นเขายังยึดอยู่กับอุปาทานมาก ไอ้อันนั้นเป็นตัวเขาของเขา ดวงจิตที่มุ่งมั่นมาก ก็ไปตามตัวเขาคืน คือ ส่วนที่แยกเป็นชิ้นส่วนไปแล้ว มันมีอยู่รายหนึ่งในประวัติหลวงปู่มั่น มันมี ...หมูมันโดนฆ่าตาย เสร็จแล้วเขาวิ่งมาบอกแม่ชีล่วงหน้าเลย บอกว่าพรุ่งนี้จะมีคนเอาเนื้อผมมาถวายช่วยกินหน่อยนะครับ ผมอยากจะได้บุญแล้วอันนั้น เขารู้ว่ามาถวายผู้มีศีลแน่ ก็เลยขอให้ช่วยซะหน่อย คือ อย่างน้อย ๆ ไม่รู้ว่าเป็นยังไง ตายแล้วก็ขอให้ได้บุญด้วยเนื้อตัวเองครั้งสุดท้ายก็ยังดี แบบนั้นก็มี
              แต่ไอ้ที่มันตามทวงอย่างนั้นมันยึดติดตัวเองมากไปน่ะ ต้องเกิดแบบนั้นอีกเยอะเลย คือว่า ยึดในความสมมุติว่าเป็นวัว ยึดในความเป็นวัว ก็ต้องเกิดเป็นวัวต่อไป
      ถาม :  แล้วอย่างนี้สภาพดวงจิต ถ้าเราตายไปแล้ว จากสภาวะที่เราเป็นมนุษย์ เป็นดวงจิตที่ต้องการไปเกิดในภพชาติใหม่
      ตอบต้องเป็นไปตามบุญตามบาปที่ตัวเองทำ ดวงจิตอันนั้น ถ้าหากว่าตัวเองสร้างบุญบารมีไว้พอดี ปรากฏออกไปก็เป็นกายเทวดา ของพรหม หรือว่าของพระนิพพานในนิพพานไปเลย จะเปลี่ยนสภาพไปเลย แต่ถ้าหากว่าทำชั่วไว้มากลงนรกตรงเลย ก็เป็นกายของสัตว์นรก ก็เป็นกายของเปรต เป็นกายของอสุรกาย เป็นกายของสัมภเวสี หรือไม่ก็เป็นกายของสัตว์เดรัจฉาน ถ้าเห็นเป็นกายของสัตว์เดรัจฉาน ก็เกิดเป็นสัตว์แน่นอน เห็นเป็นกายอะไรก็เป็นนั้นแน่นอน
      ถาม :  ช่วงเวลา อย่างสมมุติว่า คนเริ่มที่จะเกิดเนี่ยะ สภาวะจิตเริ่มที่จะมาจับเป็นร่าง ...?
      ตอบ :  อย่างนั้น มันแล้วแต่บุญแต่กรรมของเขา บางอย่างทันทีที่เชื้อของพ่อกับไข่ของแม่ผสมกันปุ๊บ จิตจับเลยก็มี แต่ขณะเดียวกันไปจับช่วง ๓ เดือน ๖ เดือนก็มี ไปจับตอนกำลังคลอดก็มี คลอดออกไปแล้วตาย แล้วค่อยไปจับเอาจิตนั้นเข้าแทนก็มี อย่างนี้มันมีตัวอย่าง คือท่านเจ้าคุณเล็ง ท่านตายแล้วคิดถึงน้องสาว ไปเยี่ยมน้องสาว อีคราวนี้น้องสาวคลอดลูกอยู่ น้องสาวตาดีเห็นพี่มา ก็บอกพี่ว่า อย่ามารบกวนหนูเลย อย่ามารบกวนหลานเลยพี่ตายแล้วไปตามทางของพี่เถิด ก็อายน้องสาวขึ้นมา ตั้งใจจะถอยออกไป สะดุดล้มขึ้นมา รู้สึกว่าหัวหมุนวูบ รู้ตัวอีกทีมาอยู่ในตัวหลานแล้ว...
      ถาม :  แล้วจิตในหลานไม่มีอยู่ก่อน ?
      ตอบ :  มีอยู่ก่อน แต่มันถึงวาระพอดี เขาทำกรรมหนักมา ถึงเวลาตอนนั้นเขาตายพอดี อันโน้นออกปุ๊บอันนี้เข้าเลย ในอภิธรรมบอกไว้ชัดเลย ปุเรชาตะ ปัจจะโย ปัจฉาชาตะ ปัจจะโย ปัจจัยของการเกิดก่อนเกิดหลัง อันเกิดก่อนปุ๊บ อันเกิดหลังนี่แทรกเข้าไปเลย ก็เลยกลายเป็นลูกของน้องสาวตัวเอง แต่ไม่ยอมเรียกแม่ เรียกน้องอยู่ตลอด เด็กตัวกะเปี๊ยกเรียกแม่ว่าน้อง (หัวเราะ)
      ถาม :  แล้วตอนนี้ยังมีชีวิตอยู่ไหมคะ ?
      ตอบ :  มรณภาพไปแล้ว ท่านบวชพระ จนกระทั่งเป็นเจ้าคุณ ใครเคยได้ยินมั่ง เขาเรียกเจ้าคุณเล็ง
      ถาม :  จะอธิบายอย่างไงว่าการแสวงหาความเป็นตัวของตัวเองในเยาวชนธิปไตย และแสวงหาประสิทธิภาพบนความทุกข์ตรงนี้ หลวงพี่เป็นพระจะอธิบายหน่อยได้ไหมคะ ?
      ตอบ :  พยายามบอกกับเขาว่าให้อยู่อย่างมีสติ เราจำเป็นต้องรู้เท่าทันโลก
      ถาม :  เห็นด้วยกับการสอนในลักษณะที่บอกกับคนอื่นว่า “การแสวงหาอย่างนี้นี่มันเป็นทุกข์” หลวงพี่เห็นด้วยกับประโยคนี้ใช่ไหมคะ ?
      ตอบ :  เห็นด้วย แต่ว่าเราบอกเขาทีเดียวไม่ได้ การรับได้ของเขาหรือว่ารับไม่ได้นั้น มันทำให้สิ่งที่เราสามารถบอกตรงหรือว่าต้องอ้อมเป็นระยะอีกยาวไกล สำคัญอยู่ตรงที่ว่าเราจะต้องรู้ว่าแต่ละคนอยู่ในจุดไหน ที่เราจะสามารถถ่ายทอดประสบการณ์ทางด้านนี้ให้กับเขาได้มากน้อยสักเท่าไร เท่าที่พบ ๆ มา แล้วก็ได้บรรยายให้พวกนักเรียนนักศึกษาฟัง
              ส่วนใหญ่ก็จะย้ำเรื่องนี้ว่า เราจะต้องอยู่กับโลกอย่างมีสติ เราปฏิเสธความเจริญหรือเทคโนโลยีไม่ได้ แต่เราต้องใช้สติสัมปชัญญะกับมันให้มาก ๆ ไว้ ไม่อย่างนั้นแล้ว ถ้าเราไหลคล้อยตามกระแสของมันไป จะดึงตัวเองออกมาได้ยากมาก

      ถาม :  ทีนี้พูดถึงสติ พูดถึงสัมปชัญญะกับคำว่าคนรุ่นใหม่ แม้แต่บทบาทหน้าที่ ก็ไม่ได้เถียงพวกคนรุ่นใหม่อีกด้านหนึ่ง ยังตีตัวเองด้วยว่า บางทีแม้แต่บทบาท แม้แต่หน้าที่ของตัวเราเองเรายังรักเลย จะไปถ่ายทอดหรือว่าสติ หรือว่าสัมปชัญญะนี่ ได้หรือ เขาก็อาจจะเข้าใจในลักษณะของคำพูด แต่ใจทางปฏิบัติจริง ๆ แล้ว เขาจะเข้าใจหรือคะ ?
      ตอบ :  ตัวเราเองต้องทำตัวเป็นตัวอย่าง ถ้าตัวเราเป็นตัวอย่างที่ดีแล้วเขาเห็น โดยเฉพาะเขาเห็นแล้วเห็นด้วย เขาก็จะคล้อยตามมาครึ่งหนึ่งแล้ว แล้วหลังจากนั้นเราให้อะไรเขาก็จะรับได้ง่าย เพราะว่าตัวเราน่าเชื่อถือ เพราะฉะนั้นตรงนี้มันจะสำคัญตรงที่ว่า ตัวเราเองมีความน่าเชื่อถือสำหรับเขาเท่าไร
      ถาม :  ถ้าเป็นการพูด แน่อนว่าความน่าเชื่อถือจะมีนะคะ
      ตอบ :  ไม่แน่ ข่าวคราวต่าง ๆ ในปัจจุบันนี้มันอาจทำให้ความน่าเชื่อถือหมดไปเลยก็ได้
      ถาม :  แต่ถ้าอย่างพระนี่ ท่านปฏิบัติดีปฏิบัติชอบในระดับหนึ่ง ความน่าเชื่อถือจะมี แต่ถ้าในลักษณะของครูบาอาจารย์ธรรมดา เป็นปุถุชนคนธรรมดา วิธีการเหล่านี้มันได้ผลไหมคะ ?
      ตอบ :  ถ้าหากตัวเราสามารถเป็นตัวอย่างได้ เราพูดอย่างไร เราทำอย่างนั้น ความน่าเชื่อถือมันจะมีเอง คราวนี้มันสำคัญอยู่ตรงเรานี่ ว่าเราเองนี่แหละ เราจะบอกให้เขาทำโดยที่เราเองไม่ทำให้เห็นผลก่อนนี่ ตัวอย่างมันไม่มี ในเมื่อตัวอย่างมันไม่มี ถ้าปัญหาเกิดขึ้นหรือว่าเกิดการซักถามขึ้นมาเราจะไปตอบเขาอย่างไร มันก็เลยต้องเริ่มต้นที่ตัวเองก่อน
      ถาม :  เพราะว่าคำถามในลักษณะแบบนี้ คือ ไม่ได้เห็นด้วยโดยเฉพาะมาพูดถึงว่า คนรุ่นใหม่กับสภาพแวดล้อม แต่ไม่ได้ปฏิเสธว่าสิ่งที่เขาบอกคือมันถูก แต่วิธีการที่จะมานำเสนอ มันเป็นของ ...ตรงนี้แหละ รู้สึกว่าถ้าเป็นคนรุ่นใหม่แล้ว การใช้วิธีการที่เหมือนแบบเดิม
      ตอบ :  มันไม่ได้ มันจะต้องปรับให้เข้ากับยุคสมัย อย่างที่ไปบรรยาย ๆ ให้พวกนักเรียนนักศึกษาฟัง เราเองต้องทำตัวเป็นคนรุ่นใหม่ ต้องพูดภาษาเดียวกับเขาเลย คนรุ่นใหม่เขามีภาษาเฉพาะของเขาอยู่ เราเองเราก็ต้องเข้าไปกับเขาให้ได้ เท่าที่บรรยายมา ส่วนใหญ่เขาถามว่า “เมื่อไหร่หลวงตาจะมาอีก”...ติดใจ เพราะเราพูดภาษาเดียวกับเขา พอเขาเห็นว่าเราเป็นพวกเดียวกัน สิ่งที่เราบอกไปเขาก็จะสนใจมากกว่าปกติ คราวของเราเราทำใจได้มั้ย มันจะกลายเป็นว่าแก่แล้วยังต้องทำตัวเป็นเด็กอีก (หัวเราะ)
      ถาม :  ไม่รู้ว่าตอนนี้คือ ฟังไอ้ตัวคำถามนี่ ก็ไม่เห็นด้วย คือมันโดยเฉพาะที่เห็นอาจารย์ทางด้านปรัชญาด้านพระพุทธศาสนา คือมีความรู้สึกว่าทำไมรูปแบบของอาจารย์ทางด้านปรัชญาด้านพระพุทธศาสนาต้องคร่ำครึ ?
      ตอบ :  มันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ ของเราเองจำเป็นต้องปรับตัวตามโลก แต่ว่าเราไปแค่กรอบของตนเท่านั้น สิ่งใดก็ตามที่ไม่ผิดศีลผิดธรรมไม่เป็นโลกะวัชชะ คือทำให้โลกติเตียนเรา เราก็ทำสิ่งนั้นได้
              โดยเฉพาะที่เราถ่ายทอดประสบการณ์ทางด้านธรรมะสำหรับลูกศิษย์แล้ว จำเป็นมากที่จะต้องเอาสถานการณ์ปัจจุบันแทรกเข้าไปให้มากที่สุด เพื่อให้เค้าเรียนรู้จากปัจจุบันให้มากที่สุด ถ้าเราไปยกอดีต อตีเตพรหมทัตโต สมัยพระเจ้าพรหมทัตครองเมืองพาราณสีเด็กหลับหมด (หัวเราะ) มันต้องสมัยนี้ สมัยทักษิณเป็นนายก ถ้าเราสามารถเอาตัวอย่างปัจจุบันได้ เขารับรู้ข่าวสารในปัจจุบันนี้อยู่ เขาจะรู้สึกว่า เออ...มันไม่เก่าจนเกินไป มันพอรับไหว แล้วเราก็ค่อย ๆ สอดแทรกเนื้อหาเข้าไป แต่คราวนี้ไปเจออาจารย์เขาเล่นมาอีท่านี้ ใช่ไหม?
      ถาม :  คือ...เขาก็มีคำถามในลักษณะแบบนี้ต่างกัน แต่เป็นตั้งผิด คือ ตอบคำถามแบบนี้ประมาณ ๕ หน้ากระดาษ เราก็ปฏิเสธคำถามนี้ทันที ตรงที่ว่าคือลักษณะของคำถามมีคำตอบให้แล้ว ก็คือบอกว่าการแสวงหาตัวตนหรือการแสวงหาความเป็นตัวของตัวเอง การแสวงหาเสรีภาพเป็นเรื่องของความสงบ เพราะท่านเป็นอาจารย์ปรัชญา ด้านพระพุทธศาสนา ท่านจะนำเสนอยังไง คือเรามองว่ามีคำตอบอยู่แล้ว เพียงแต่หาเหตุผลเพื่อไปสนับสนุน คือคำตอบปฏิเสธเขาว่า การใช้ลักษณะคำถามแบบเนี้ย ในความเป็นจริงมันไม่ได้ถูก
      ตอบ :  ไม่ได้หรอก ประเภทคำถามมันเอาคำตอบอยู่ในตัวแล้ว แล้วทำไมจะต้องให้นักเรียนหาคำตอบอีกล่ะ ความจริงแล้ว ถ้าหากอาจารย์ไม่ใช่ผู้ที่หยุดอยู่กับที่ มีการศึกษาอยู่เสมอ ไอ้เคสแปลก ๆ แบบของเรามันจำเป็นมาก จำเป็นต้องมีเลยล่ะ ถ้าหากว่าไม่มีจะขาดการกระตุ้น ทำให้อาจารย์ไม่กระตือรือร้นขาดความสนใจ แล้วมันจะเกิดการตายนิ่งทางวิชาการ แล้วก็น้ำเน่า
      ถาม :  โดยส่วนตัวแล้วเข้าใจว่าลักษณะของนิพพานเมื่อชัดเจนเหมือนกับภาพมันวูบ ๆ หรือตัวที่มันวูบ ๆ เหมือนกับว่า ...เราคิดไปเอง
      ตอบ :  (หัวเราะ) เอ้า...เดี๋ยวสรุปให้ฟังดีกว่านะ นิพพานมีอยู่จริง ...มีทั้งลักษณะเป็นสถานที่ แล้วก็มีทั้งลักษณะเป็นอารมณ์จิตที่เข้าถึง แต่ว่าทั้งสองอย่างรวมแล้วเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คือถ้าเราเข้าถึงจุดนั้น เราก็จะรู้ได้ว่าสภาพนิพพานที่แท้จริงเป็นอย่างไร มันไม่ใช่เรื่องของปุถุชนที่จะมาคิดว่า คาดว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราเห็นไม่ว่าจะดีหรือชั่ว ผลของการกระทำจะเกิดขึ้น ผลของการกระทำอันนี้แหละ ทำให้สถานที่ต่าง ๆ เกิดขึ้นเพื่อรองรับเขา ถ้าชั่วก็จะมีสัตว์นรก คือแดนนรก แดนเปรต แดนอสุรกาย แดนสัตว์เดรัจฉาน ขึ้นมารองรับเขา ถ้าดีก็มีแดนแทวดา แดนพรหม แดนนิพพาน ขึ้นมารองรับเขา จะต้องการหรือไม่ต้องการก็ตาม สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เกิดขึ้นแน่
              แต่ว่าสภาพของนิพพานนั้นเรียกว่าอัตตาไม่ได้ เพราะว่าถ้าเป็นอัตตา ก็ต้องมีอนัตตาคือเสื่อมสลายไปเป็นปกติ แต่เรียกว่าเกิดขึ้นก็ไม่ได้ เพราะว่าถ้าเกิดขึ้นมันก็ต้องตาย พระพุทธเจ้าท่านบอกว่ามันเป็นทิพย์พิเศษต่างหากออกไปอย่างหนึ่ง ใช้คำว่า อัตตา อนัตตา มันก็มัวแต่ไปง้างกันอยู่ ค้านกันอยู่ คราวนี้อีกสองอย่างนี้ ถ้าเราเอาขึ้้นมาตีกันเมื่อไหร่ ก็คือเราเอากิเลสมาชนกัน เท่าที่ดูมาแล้วในพระไตรปิฎกมีคำเดียวที่อธิบายคำว่า นิพพานได้ชัดเจนที่สุดก็คือคำว่า ตถตา ...ธรรมชาติเขาเป็นเช่นนั้นเอง