ช่วงแรกของเล่ม "อดีตที่ผ่านพ้น ๑๖-๒๐" "๒๑-๒๕" "๒๖-๓๓"

ถาม-ตอบกับพระครูธรรมธรเล็ก สุธมมฺปญฺโญ

      ถาม:  ปุเลตชาติ หมายถึงชาติไหน ?
      ตอบ:  คำว่า ปุเลตชาติ นั้นเขียนผิด บาลีเขียนว่า ปุเรชาติ แปลว่า ชาติที่ผ่านมาแล้ว
      ถาม:  คนที่เลือกมาเกิดกับคนที่หมดบุญแล้วมาเกิดจะเหมือนกันหรือไม่ ?
      ตอบ:  ท่านที่เลือกมาเกิดนั้น ส่วนใหญ่แล้วตั้งใจมาบำเพ็ญบารมีต่อ ในความเป็นทิพย์ขณะที่เป็นพรหมเทวดานั้น ท่านทราบว่าถ้าหมดบุญแล้วมาเกิดอาจจะต้องลงสู่อบายภูมิ เพราะกรรมเก่าที่ทำไว้มาก จึงเลือกลงมาเกิดก่อนเพื่อหลีกเลี่ยงการตกสู่อบายภูมิ โดยขออนุญาตต่อท้าวสหัมบดีพรหมหรือพระอินทร์ แล้วแต่ว่าท่านนั้นเป็นพรหมหรือเทวดา จะได้รับอนุญาตก็ต่อเมื่อ มีพรหมหรือเทวดาผู้ใหญ่ให้การรับรองว่า จะช่วยควบคุมความประพฤติของเราในระหว่างที่สร้างบารมีอยู่ เพื่อให้อย่างน้อยได้กลับขึ้นไปเท่าเดิม หรือต้องได้ดีกว่าเดิมเท่านั้น จึงมีสิทธิ์ลงมาเกิดได้ โดยแต่ละท่านที่เลือกลงมาเกิดนั้น ต้องมีความดีเดิมสูงพอและมีความประพฤติเดิมที่เป็นที่ไว้วางใจได้ ท่านที่ลงมาเกิดก่อนหมดบุญจึงไม่ได้มีมากอย่างที่เราคิด (เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนพรหมเทวดาทั้งหมด) แต่ว่าถ้านับกันโดยทั่วไปแล้ว สำหรับเราก็เรียกว่ามีมากเหมือนกัน การเกิดมาไม่มีความรักในเพศตรงข้ามไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เพราะเราอาจอยู่ในชาติที่สร้างเนกขัมบารมีก็ได้ สำหรับผู้ตั้งใจปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
              ถ้าต้องการไปนิพพานแล้วทำดีทำถูกจริง สามารถไปนิพพานได้ทุกคน ถึงไปนิพพานในชาติปัจจุบันนี้ไม่ได้ ก็จะเป็นปัจจัยให้ได้เข้าถึงพระนิพพานในชาติต่อๆ ไป (การปฏิบัติธรรมไม่จำเป็นต้องบวชก็ได้)
      ถาม:  เรื่องการเป่ายันต์เกราะเพชร ?
      ตอบ:  การเป่ายันต์เกราะเพชรนั้น เป็นการสงเคราะห์ของพระพุทธเจ้าเท่านั้น หลวงพ่อฤๅษีบอกถ้าใช้ความสามารถของตัวเอง จะได้ไม่ถึง ๑ % ดังนั้น ท่านที่ถามท่านอาจารย์ว่า เมื่อไรจะเป่ายันต์เกราะเพชร แล้วท่านตอบว่าไม่รู้นั้น ไม่ใช่การเล่นตัว หากแต่ว่าถ้าไม่ได้รับคำสั่ง ก็ไม่สามารถที่จะบอกได้จริงๆ (ขอแจ้งข่าวดีให้ทราบ ท่านอาจารย์แจ้งว่า จะทำการเป่ายันต์เกราะเพชรในวันเสาร์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือนอ้าย (วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๙) นี้ ณ วัดท่าขนุน หมู่ที่ ๑ ต.ท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี จำนวน ๒ รอบ คือ เวลา ๑๐.๐๐ น. และ ๑๓.๐๐ น. ท่านที่ต้องการรับยันต์เกราะเพชรให้ภาวนาจับภาพพระพุทธเจ้าให้เป็นปกติทุกวัน เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป)
      ถาม:  ทุกสถานที่มีเทวดาอยู่หรือไม่ ? บ้านเรือน ศาลพระภูมิ หิ้งพระ ที่ปล่อยให้สกปรก จะมีเทวดาอยู่หรือไม่ ? และประกอบพิธีอัญเชิญเทวดาอย่างไร ?
      ตอบ:  เทวดาไม่ได้มีอยู่ทั่วไปในทุกสถานที่ เทวดานั้นมีทั้งรุกขเทวดา ภุมมเทวดา อากาศเทวดา (๖ ชั้น) รูปพรหม (๑๖ ชั้น) อรูปพรหม (๔ ชั้น) พระวิสุทธิเทพ (พระอรหันต์ พระปัจเจกพุทธเจ้า พระพุทธเจ้า) ตลอดจนสัมภเวสีและผีบางประเภท
              เมื่อท่านไม่ได้มีอยู่ทั่วไป แต่บางประเภทเช่น ภุมมเทวดา ท่านมีเขตรับผิดชอบที่ดูแลอยู่ องค์ละหลายตารางกิโลเมตร โดยขึ้นตรงต่ออากาศเทวดาอีกทีหนึ่ง หรือบรรดาผีบ้านผีเรือน ผีบรรพบุรุษที่อาศัยอยู่ตามบ้านเรือน จอมปลวก ซอกเขา ถนนหนทาง ฯลฯ ดังนั้นท่านที่อยู่เขตไหนหรืออาศัยอยู่ที่ไหน ก็จะมีความรับผิดชอบต่อเขตนั้น หรือมีความผูกพันต่อสถานที่นั้น ท่านทั้งหลายเหล่านี้ไม่มีใครชอบความสกปรก หากทิ้งให้สถานที่สกปรกรกร้าง บรรดาเปรต อสุรกาย มักจะฉวยโอกาสเข้ามาอยู่อาศัยแทน และสร้างความเดือดร้อนให้ การประกอบพิธีอัญเชิญเทวดา (โดยเฉพาะพระภูมิเจ้าที่) ถ้าทำด้วยตนเองได้จะเป็นการดีที่สุด เนื่องจากเป็นการแสดงว่าเราเคารพท่านโดยตรง โดยจัดเครื่องบวงสรวงให้ครบถ้วน แล้วเปิดเทปชุมนุมเทวดาของหลวงพ่อฤๅษีวัดท่าซุง จากนั้นอธิษฐานขอแสดงความเคารพ และขอให้ท่านช่วยดูแลรักษาทั้งตัวเรา ครอบครัว และบ้านเรือน หากสิ่งใดที่ไม่เกินวิสัย ขอท่านได้โปรดช่วยสงเคราะห์ให้มีความสุขความเจริญในทุกด้านด้วย
      ถาม:  เวลาทำความชั่ว เทวดาอยู่กับเราหรือไม่ ?
      ตอบ:  เทวดาที่ว่าหมายถึงเทวดาประจำตัวที่คอยดูแลรักษาเราอยู่ ท่านจะพยายามป้องกันไม่ให้เรากระทำชั่ว และคอยดลใจให้เราทำความดีอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้ากำลังของอกุศลกรรมแรงจริงๆ ท่านไม่สามารถจะป้องกันเอาไว้ได้ ท่านก็จะปล่อยวาง (ให้เราทำชั่วไปตามอัธยาศัย) แต่จะรออยู่เสมอว่า เมื่อไรที่กุศลกรรมเข้ามาถึง ท่านก็จะสนับสนุนให้เรากระทำความดีต่อไป
      ถาม:  ทำบุญสังฆทานเองกับรอให้ญาติทำแล้วอุทิศไปให้เมื่อตาย อย่างไหนจะมีอานิสงส์มากกว่ากัน ? เหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร ?
      ตอบ:  การทำบุญสังฆทานด้วยตนเองเป็นความไม่ประมาท ทำแล้วเราได้รับกุศลนั้นเลย ถ้าหากว่าจิตยึดเกาะกับกุศลนั้นไว้ได้ เมื่อตายก็จะไปสู่สุคติทันที แต่ถ้ารอให้ตายไปแล้ว ญาติค่อยทำสังฆทานไปให้ ก่อนจะได้รับก็อาจจะลำบากอยู่ระยะหนึ่ง หรือถ้าญาติไม่ทำให้เลย เราก็ต้องทนลำบากไปอีกนาน อานิสงส์ที่พึงจะได้รับนั้น ถ้าถวายสังฆทานกับหมู่สงฆ์ (๔ รูปขึ้นไป) โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน (พระพุทธรูปก็ได้) จะมีอานิสงส์เสมอกัน ยกเว้นว่าเราเลือกเนื้อนาบุญได้ โดยนิมนต์พระอริยเจ้าตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป มาเป็นองค์รับสังฆทานได้ถึง ๔ รูป ก็จะมีอานิสงส์มหาศาลประมาณไม่ได้ ดังนั้น หากเราเลือกที่จะถวายสังฆทานด้วยตนเองโดยเลือกเนื้อนาบุญได้ ก็จะมีอานิสงส์มากกว่าจนประมาณไม่ได้เช่นกัน
      ถาม:  การสวดมนต์และภาวนาคาถาต่างๆ ให้จิตเป็นฌาน ทำอย่างไร ?
      ตอบ:  ใช้ทุกคำที่สวดมนต์หรือทุกคำที่เป็นคาถาควบคู่ไปกับลมหายใจเข้าออก คือใช้แทนคำภาวนาทั่วไปนั่นเอง เพียงแต่เป็นคำภาวนาที่ยาวอยู่สักหน่อยเท่านั้น แรกๆอาจจะไม่เคยชิน พอทำไปนานๆ ก็จะมีความคล่องตัวไปเอง
      ถาม:  ตายแล้วมาเกิดเป็นมนุษย์ จะสามารถเข้าถึงธรรมต่อจากที่ปฏิบัติมาจากชาติก่อนหรือไม่ ? มีโอกาสผิดพลาดไม่สนใจในธรรม ไปทำความชั่วหรือไม่ ? ถ้าต้องเกิดอีก ๗ ชาติ ในฐานะพระโสดาบัน ถ้าทำกรรมใหม่ จะยังคงเกิดใน ๗ ชาติเท่าเดิมหรือไม่ ? ชาติต่อไปจะไม่ให้กรรมมาแทรกได้อย่างไร ?
      ตอบ:  จากคำถามที่ว่ามานี้ แสดงว่าผู้มาเกิดใหม่ต้องเป็นพระโสดาบันระดับสัตตขัตตุปรมะ อยู่แล้ว ท่านทั้งหลายเหล่านี้เป็นพระอริยเจ้า คือเป็นผู้มีแต่ความเจริญโดยส่วนเดียว ท่านจะไม่ทำความชั่วในลักษณะของการผิดศีลอีก เรียกว่าตัวตายดีกว่าศีลขาด ดังนั้น ท่านทั้งหลายเหล่านี้จะไม่มีกรรมใหญ่ที่จะมาตัดรอนให้คติของท่านปราศจากความแน่นอน จะมีเพียงเศษกรรมบางอย่างที่ทำให้ท่านต้องลำบากอยู่บ้าง แต่ก็ไม่อาจเปลี่ยนใจท่านให้ไปทำความชั่วได้ ท่านทั้งหลายเหล่านี้ เมื่อเกิดมาแล้วก็ไม่ได้ทราบว่าตนเองเป็นพระอริยเจ้า จนกว่าจะได้ทราบว่าพระอริยเจ้านั้นๆ มีคุณสมบัติอย่างไร ก็จะเห็นว่าคุณสมบัตินั้นไม่ใช่เรื่องหนักใจของตนเองเลย สามารถกระทำตามได้โดยง่าย หรือได้รับคำพยากรณ์จากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือเมื่อปฏิบัติไปแล้วเกิดญาณคือเครื่องรู้ขึ้น จึงจะทราบได้ว่าตนเองเป็นพระอริยเจ้าแล้ว แต่เนื่องจากท่านทั้งหลายเหล่านี้มีความฉลาดมาก ทรงความไม่ประมาทเป็นปกติ ถึงแม้ทราบว่าตนเองเป็นพระอริยเจ้าก็ยังคงตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติความดีต่อให้ดียิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ
              สรุปว่า ท่านทั้งหลายเหล่านี้เมื่อเกิดมาแล้ว ก็ทำความดีต่อจากชาติเดิมได้เลย โอกาสที่จะทำกรรมใหญ่จนทำให้คติการเกิดของท่านพลาดไปนั้นไม่มี เมื่อเป็นเช่นนี้กรรมใหญ่ที่จะมาแทรกให้ท่านพลาดจากการเกิดมากกว่า ๗ ครั้ง ย่อมไม่สามารถจะมีได้ มีแต่ทำความดีมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วตัดการเกิดให้น้อยลง หรือเข้าพระนิพพานไปเลย
      ถาม:  สงสัยเรื่องการฆ่าไก่ในช่วงหวัดนกระบาด ?
      ตอบ:  เรื่องของกรรมนั้นแม้เป็นการฆ่าโดยการหวังดีเพื่อส่วนรวม ก็ต้องรับกรรมอยู่ดี และการฆ่าสัตว์จำนวนมหาศาลเช่นนั้น ย่อมเป็นกรรมอันใหญ่ของทั้งผู้สั่งและผู้กระทำ สัตว์ที่ตายนั้นไม่ได้มาอยู่อาฆาตจองเวรกับผู้ใด แต่การกระทำ (กรรม) ของผู้นั้นต่างหากที่คอยตามสนองอยู่ ถ้าหากท่านที่กระทำกรรมนั้นมีโอกาสไปสู่ตำหนักพระยายม โดยไม่ลงสู่ขุมนรกโดยตรงเสียก่อน เมื่อพระยายมท่านทำการสอบสวน จะมีเทวทูตแสดงตนเป็นสัตว์ชนิดนั้นๆ ที่ถูกเขาฆ่า เพื่อเป็นการยืนยันในการกระทำผิดของเขา คนจึงมักคิดว่าสัตว์ที่ตายแล้วมาคอยจองเวรอยู่ ความจริงแล้วเป็นกรรมที่เขาทำต่างหากที่คอยตามสนองอยู่ตลอดเวลา ถ้ายังมีชีวิตอยู่เมื่อวาระบุญขาดช่วงลง กรรมเหล่านี้จะแสดงผลทันที
      ถาม:  การฝึกธาตุ ๔ และอิทธิบาท ๔ ในการตั้งธาตุหนุนธาตุเพื่อจะได้ให้มีอายุยืนและพ้นจากการเจ็บป่วยทำได้อย่างไร ? และการฝึกวิปัสสนาญาณทำอย่างไร ?
      ตอบ:  บุคคลที่สามารถทรงธาตุกสิณทั้ง ๔ (ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ) ถ้าหากว่าร่างกายเจ็บป่วย (ซึ่งก็คือเกิดจากการบกพร่องของธาตุใดธาตุหนึ่ง) สามารถอธิษฐานให้ธาตุ ๔ เสมอกัน ก็จะหายจากการเจ็บป่วยนั้นได้ ซึ่งนับไปแล้วเป็นการฝืนกฎของกรรมอย่างหนึ่ง เพราะการเจ็บป่วยนั้นเกิดขึ้นจากเศษกรรมปาณาติบาตที่เคยทำมาในอดีต ดังนั้น ผู้ที่ทำได้ถึงระดับนี้มักเป็นผู้ที่ยอมรับกฎของกรรมได้ จะรักษาพยาบาลไปตามวิธีปกติเท่านั้น ยกเว้นเวลาจำเป็นก็จะใช้กำลังใจในการค้ำจุนขันธ์ ๕ ให้มีกำลังพอที่จะปฏิบัติภารกิจเพื่อพระศาสนาได้ โดยไม่ใช่อธิษฐานให้หายป่วยเลยทีเดียว
              สำหรับผู้ที่มีความคล่องตัวในอิทธิบาท ๔ สามารถอธิษฐานปรับธาตุให้ร่างกายตั้งอยู่ได้นานเป็นกัปนั้น ก็ด้วยการอธิษฐานให้ธาตุ ๔ เสมอกันดังนี้ เหมือนกับเป็นการเกิดใหม่ในร่างเดิมอยู่บ่อยๆ แต่บุคคลที่ทำถึงระดับนี้นั้น ต้องเป็นพระอรหันต์ปฏิสัมภิทาญาณที่มีภารกิจทางพระศาสนาที่จำเป็นต้องรับผิดชอบ ไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้ จึงจะยอมทำอย่างนี้ เนื่องเพราะกำลังใจของท่านนั้น เห็นทุกข์เห็นโทษในร่างกายและโลกนี้เป็นปกติ จึงไม่มีใครอยากจะอยู่กัน ไปนิพพานได้เร็วเท่าไหร่ก็ดีเท่านั้น
              สำหรับการฝึกวิปัสสนาญาณ เป็นการสร้างปัญญาให้เกิด จะได้รู้แจ้งเห็นจริงในสภาพธรรมทุกอย่างที่เป็นไปของโลก (ภายนอก) และของขันธ์ ๕ (ภายใน) ก็ด้วยการพิจารณาในแบบของไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) แบบอริยสัจ ๔ (พิจารณาให้เห็นเหตุของการเกิดทุกข์ และดับเสียซึ่งเหตุนั้น) แบบวิปัสสนาญาณ ๙ [ตั้งแต่อุทยัพยานุปัสสนาญาณ (พิจารณาเห็นการเกิดและดับ) ไปจนถึงสังขารุเปกขาญาณ (เห็นธรรมดาแล้วปล่อยวางเสียซึ่งความยึดมั่นถือมั่นทั้งปวง) แล้วพิจารณาย้อนไปย้อนมาเช่นนี้ (สัจจานุโลมิกญาณ)] ถ้าจิตเห็นจริงและยอมรับได้ ปล่อยวางเสียซึ่งการปรุงแต่งทั้งปวง ก็นับว่าเป็นการปฏิบัติวิปัสสนาญาณที่ได้ผลจริง
      ถาม:  ขอให้ช่วยเรื่องของคุณแม่ที่มีความประพฤติผิดปกติไป ?
      ตอบ:  ถ้ามั่นใจว่าเป็นความเจ็บป่วยจากการถูกครอบงำจริง ให้หาน้ำมันชาตรีของทางวัดท่าซุง อธิษฐานให้ท่านรับประทานลงไป จะหายอย่างแน่นอน แต่ถ้าเป็นเพราะไปติดอกติดใจผู้หนึ่งผู้ใดในโรงพยาบาลขณะที่เฝ้าไข้นั้น คงต้องแล้วแต่กรรมของท่านเอง เราทำได้ดีที่สุดก็แค่พยายามแนะนำให้สติท่าน เพื่อให้ได้คิดเท่านั้น
      ถาม:  การทำจิตให้สงบ ไม่หนัก ไม่ตึง ทำอย่างไร ?
      ตอบ:  ก็เป็นการปฏิบัติในทาน ศีล ภาวนา โดยปกตินั่นเอง แต่ให้รู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว ถ้ารู้สึกตึงเกินไป ก็ให้เปลี่ยนอิริยาบถหรือคลายกำลังใจลงมาพิจารณาในวิปัสสนาญาณแทน ทำสลับกันไปสลับกันมา โดยไม่เน้นเรื่องของฌานสมาบัติ (อานาปานสติ) แต่เพียงอย่างเดียว แล้วพยายามฝึกการเข้าฌานออกฌานทุกระดับให้มีความคล่องตัว ชนิดคิดเมื่อไรก็ทำได้เมื่อนั้น
              เมื่อเป็นดังนี้จะนับเป็นการทรงฌานใช้งาน ซึ่งเราจะควบคุมให้มีความเบาสบาย โดยไม่หนักไม่ตึงได้ตามที่เราต้องการทุกอย่าง
      ถาม:  การฝึกจิตหรือฝึกสมาธิ สามารถถอดจิตได้จริงหรือไม่ ? ถ้าทำได้จริง ช่วยสอนวิธีถอดจิตให้กระผมด้วย ? การสร้างบุญหรือสมาธิทำอย่างไร ?
      ตอบ:  คนเราสามารถฝึกการถอดจิตออกไปได้โดยวิชามโนมยิมธิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า สามารถถอดกายในออกไปได้เหมือนชักดาบออกจากฝัก หรือถอดไส้หญ้าปล้องออกจากหญ้าปล้อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้จริง ปัจจุบันนี้ทางวัดท่าซุงเปิดสอนอย่างเป็นทางการอยู่ทุกวัน หรือถ้าที่บ้านซอยสายลม กรุงเทพฯ จะเปิดสอนเฉพาะวันเสาร์อาทิตย์ต้นเดือน ให้ไปศึกษาเอาจากที่นั้น
              ส่วนการสร้างบุญหรือสมาธินั้น การให้ทานถ้าให้ผลเป็นร้อย การรักษาศีลจะมีผลเป็นหมื่น การเจริญภาวนาจะมีผลเป็นล้าน เนื่องเพราะการให้ทานเราสละออกซึ่งสิ่งของ การรักษาศีลเราควบคุมกายวาจาให้เรียบร้อย ส่วนการภาวนานั้นเราต้องควบคุมทั้งกาย วาจา และใจ ให้อยู่ในกรอบของความดีโดยตลอด เมื่อเกิดปัญญารู้แจ้งสามารถปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นได้ ก็จะหลุดพ้นไปพระนิพพานได้ นับเป็นกุศลอย่างที่ไม่มีอะไรจะเปรียบได้
              ดังนั้น ขอให้ท่านเริ่มต้นที่รักษาศีลพร้อมกับเจริญสมาธิภาวนา เมื่อสมาธิเริ่มทรงตัวแล้ว ก็ให้พิจารณาวิปัสสนาญาณควบคู่ไปด้วย จะเป็นการสร้างบุญใหญ่ที่ยากจะหาอะไรมาเปรียบได้
      ถาม:  ไม่เคยฝึกสมาธิเลยแต่รู้เหตุการณ์บางอย่างล่วงหน้าได้ เป็นเพราะเหตุใด ?
      ตอบ:  มีท่านจำนวนมากที่สามารถรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าได้ เกิดจากการเคยได้ทิพจักขุญาณในชาติก่อนมาแล้ว แต่เนื่องจากไม่ได้รับการฝึกฝนเพิ่มเติมในชาตินี้ จึงไม่มีความคล่องตัวพอ ต้องรอให้อารมณ์ใจตรงจุดพอดีจึงจะรู้ได้ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในขณะเคลิ้มใกล้หลับ หรือเวลาใกล้รุ่ง ซึ่งเราคิดว่าฝันไป มักเรียกว่าลางสังหรณ์หรือเทพสังหรณ์
              ถ้าได้รับการฝึกฝนเพิ่มเติมเพียงเล็กน้อย จะเป็นผู้ที่มีความคล่องตัวในทิพจักขุญาณเป็นอย่างมาก
      ถาม:  ปวดหัวมาก หมอบอกว่าเป็นไมเกรน เมื่อนั่งสมาธิเอาใจไปไว้กับหัวจะปวดมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าเอาไว้ที่อกจะไม่เป็นไร ?
      ตอบ:  การปฏิบัติสมาธิภาวนา ถ้าทำถูกวิธีจะช่วยรักษาโรคไมเกรนหรือโรคจากความเครียดต่างๆ ได้ดี เมื่อทราบว่าเอาใจไปไว้ที่หัวแล้วจะปวดมาก ก็ให้เปลี่ยนไปไว้ที่อกซึ่งไม่ปวดแทน โดยเฉพาะการปวดหัวนั้น เกิดจากเศษกรรมที่ดื่มสุราเมรัยมาในอดีต ชาตินี้ให้พยายามรักษาศีลข้อนี้ให้บริสุทธิ์ และหมั่นปฏิบัติสมาธิภาวนา จะได้พ้นจากกรรมส่วนนี้เร็วขึ้น
      ถาม:  มีปัญหาในด้านการภาวนา โดยเฉพาะคำว่า สัมปจิตฉามิ แปลว่าอะไร ?
      ตอบ:  การภาวนานั้นคือการหายใจตามปกตินั่นเอง เพียงแต่กำหนดความรู้สึกให้รู้อยู่ตลอดเวลาว่าเรากำลังหายใจอยู่ ลมหายใจจะแรงจะเบา จะยาวจะสั้น ให้รู้อยู่ตลอดเวลา ใช้คำภาวนาอย่างไรก็ให้รู้อยู่ กำหนดเพียงง่ายๆ แค่นี้ โดยไม่ไปบังคับลมหายใจเข้าออก ก็นับว่าเป็นการภาวนาแล้ว ถ้าต้องการความก้าวหน้ามากกว่านี้ ให้ศึกษาว่าสมาธิแต่ละระดับขั้นมีอย่างไร เมื่อปฏิบัติถึงก็จะทราบได้ด้วยตัวเอง
              ส่วนคำภาวนาที่เป็นคาถาต่างๆ นั้น ครูบาอาจารย์ท่านต้องการทดสอบว่าลูกศิษย์มีวิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) ในตัวท่านหรือในพระรัตนตรัยเท่าไร ดังนั้น จึงมักจะให้เป็นคาถาหรือคำภาวนาที่แปลไม่ออก บางทีก็เป็นคำด่าหยาบคายเลยก็มี ถ้าลูกศิษย์เชื่อมั่นและปฏิบัติตามโดยไม่สงสัย ก็จะประสบความสำเร็จโดยง่าย สรุปว่า คาถาทุกอย่างห้ามแปล แปลเมื่อไรไม่ศักดิ์สิทธิ์เมื่อนั้น
      ถาม:  ทำอย่างไรจะส่งผลให้ได้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองมากที่สุดทุกชาติ จนถึงพระนิพพาน มีอะไรต้องทำเป็นพิเศษเพื่อให้บรรลุความปรารถนาบ้าง ?
      ตอบ:  การที่จะได้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนานั้น ให้ท่านสร้างบุญใหญ่ในสังฆทาน วิหารทาน ธรรมทาน หรือสร้างพระพุทธรูป แล้วอธิษฐานตั้งความปรารถนาขอให้เกิดในเขตของพระพุทธศาสนา และขอให้ได้อุปถัมภ์ค้ำชูพระพุทธศาสนาในทุกด้านทุกชาติตลอดไป จนกว่าจะเข้าสู่พระนิพพาน
              การถวายสังฆทานนั้น เช่น เราตั้งใจใส่บาตรพระทั่วไปให้ได้ถึง ๔ รูป เป็นปกติทุกวัน การสร้างวิหารทาน เช่น การเป็นเจ้าภาพสร้างโบสถ์ สร้างศาลาการเปรียญ สร้างกุฏิพระ ฯลฯ การสร้างธรรมทานนั้น เช่น การพิมพ์คำสอนของพระสุปฏิปันโน แจกแก่ผู้อื่น หรือการถวายพระไตรปิฎกต่อวัดใดวัดหนึ่งก็ได้ การสร้างพระพุทธรูปนั้น ถ้าสามารถสร้างเป็นพระประธานหน้าตัก ๔ ศอกขึ้นไป
              บุญทั้งหลายเหล่านี้จะส่งผลให้ท่านเป็นไปตามคำอธิษฐานได้ดังปรารถนา ถ้าไม่สามารถจะทำได้ด้วยตัวเอง ก็ให้ชักชวนผู้อื่นร่วมกันเป็นเจ้าภาพ แล้วอธิษฐานเอาตามอัธยาศัยของเราก็ได้
      ถาม:  ไตรภูมิกถา มีความจริงเท็จอย่างไร นรกสวรรค์เป็นไปแบบไตรภูมิบรรยายไว้หรือไม่ อย่างไร ?
      ตอบ:  ไตรภูมิกถาและนรกสวรรค์ที่บรรยายไว้เป็นไปตามนั้นถึง ๙๙.๙๙ % มีข้อบกพร่องซึ่งจัดว่าเล็กน้อยมาก ไม่ถึง ๐.๐๑ %
      ถาม:  ทำไมคนเราอายุขัยยาวสั้นไม่เท่ากัน ถ้าชาตินี้ขออโหสิกรรมจากเจ้ากรรมนายเวรแล้ว จะทำให้อายุสั้นลงหรือไม่ ?
      ตอบ:  คนเราอายุยาวสั้นไม่เท่ากัน เกิดจากกรรมปาณาติบาตที่ทำมาในอดีต ถ้าทำไว้มากก็อายุสั้นพลันตาย ถ้าทำไว้น้อยก็อายุยืน ถ้าเจ้ากรรมนายเวรอโหสิกรรมให้ กล่าวโดยธรรมแล้วน่าจะอายุยืนขึ้นมากกว่า แต่เนื่องจากว่าเจ้ากรรมนายเวรในความหมายของท่าน มักเป็นผู้ที่ถูกเราฆ่าไปแล้ว จึงไม่มีโอกาสมาขออโหสิกรรมต่อกัน ทำให้กรรมเหล่านี้ไม่สามารถจะแก้ไขได้
      ถาม:  การเจริญกรรมฐานของแต่ละคน ทำไมได้เร็วช้าต่างกัน ?
      ตอบ:  การเจริญกรรมฐานนั้นเป็นเรื่องของบุคคลที่สร้างบารมีมาในระดับปรมัตถบารมี (สูงสุด) เท่านั้น ถ้าเป็นสามัญบารมี (ต้น) จะให้ทานได้ แต่รักษาศีลหรือเจริญภาวนาไม่เป็น ถ้าเป็นอุปบารมี (กลาง) จะให้ทานหรือรักษาศีลได้
              แต่เจริญภาวนาไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า ท่านทั้งหลายเหล่านี้จะหมดโอกาสในการทำความดีด้านการภาวนาเลยเสียทีเดียว การภาวนานั้นแม้เล็กน้อยเพียงไรก็ตาม ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยส่งผลให้กระทำได้มากยิ่งขึ้นในโอกาสต่อๆ ไป ท่านที่เจริญภาวนาได้เร็ว เนื่องเพราะนอกจากมีของเก่ามากแล้ว ยังมีวิสัยเป็นพุทธิจริต (ผู้มีความฉลาดมาก)
              ส่วนท่านที่ภาวนาได้ช้า ถ้าไม่ใช่เพราะมีของเก่าน้อย สร้างบารมีมาน้อย ก็อาจเป็นท่านที่มีวิสัยวิตกจริตและโมหจริต ซึ่งจะทำได้ช้ากว่าพุทธิจริตเขาด้วยประการฉะนี้
      ถาม:  ใครเป็นผู้กำหนดชะตาชีวิต ?
      ตอบ:  การกระทำของเราที่เรียกว่ากรรมนั่นเองเป็นผู้กำหนดชะตาชีวิต ถ้าสร้างกุศลกรรม (ความดี) ก็จะส่งผลให้ชะตาชีวิตดี ถ้าสร้างอกุศลกรรม (ความชั่ว) ก็จะส่งผลให้ชะตาชีวิตไม่ดี ชะตาชีวิตในปัจจุบันเป็นผลจากการกระทำดีชั่วในอดีต แต่ไม่ได้หมายความว่าจะแก้ไขไม่ได้ ถ้าหากเราตั้งใจทำความดีในปัจจุบันนี้ให้ต่อเนื่องยาวนานพอ กรรมชั่วไม่สามารถแทรกเข้ามาส่งผลได้ อีกไม่นานเราก็จะได้รับแต่ผลดี
              ดังนั้น หากชะตาชีวิตของท่านในปัจจุบันไม่ดี ให้พยายามสร้างความดีในทาน ศีล ภาวนา ให้สม่ำเสมอต่อเนื่องกันอย่าให้ขาดช่วงลงได้ แล้วอีกไม่นานชะตาชีวิตของท่านก็จะเจริญรุ่งเรืองขึ้นเรื่อยๆ
      ถาม:  พระปัจเจกพุทธเจ้ามีคราวเดียวหลายๆ องค์หรือไม่ ? ต้องบำเพ็ญบารมีอย่างไรจึงจะเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าได้ ?
      ตอบ:  พระปัจเจกพุทธเจ้าสามารถมีขึ้นพร้อมๆ กันเป็นแสนเป็นล้านองค์ได้ การบำเพ็ญบารมีเพื่อปัจเจกภูมินั้น ก็บำเพ็ญในบารมี ๓๐ ทัศ นั่นเอง เพียงแต่ตั้งความปรารถนาต้องการรู้ครบในทุกเรื่อง แต่ไม่ต้องการสั่งสอนบริวาร พระปัจเจกพุทธเจ้าท่านจะสอนเฉพาะทาน ศีล ภาวนาเบื้องต้น ไม่สอนให้ถึงมรรคผล ยกเว้นว่าเป็นผู้ปรารถนาในปัจเจกภูมิมาด้วยกัน ท่านก็จะสอนให้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าไปด้วย
      ถาม:  อะไรกันแน่ที่เรียกว่าทางสายกลาง ?
      ตอบ:  มรรค ๘ ซึ่งประกอบด้วย สัมมาทิฎฐิ (ความเห็นชอบ) สัมมาสังกัปปะ (ความดำริชอบ) สัมมาวาจา (วาจาชอบ) สัมมากัมมันตะ (การงานชอบ) สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ) สัมมาวายามะ (พยายามชอบ) สัมมาสติ (ระลึกชอบ) สัมมาสมาธิ (จิตตั้งมั่นชอบ) ย่อลงเหลือ ศีล สมาธิ ปัญญา ไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ด้วยตนเอง
      ถาม:  คนธรรมดาถือศีล ๕ บังคับตนเองไม่ให้ผิดศีลทุกข้ออย่างจริงจัง ถือว่าตึงเกินไปหรือไม่ ?
      ตอบ:  การรักษาศีลนั้น นอกจากไม่ล่วงศีลด้วยตนเองแล้ว ยังต้องไม่ยุยงให้คนอื่นละเมิดศีล และไม่ยินดีเมื่อเห็นคนอื่นละเมิดศีล การตั้งใจปฏิบัติศีลให้เคร่งครัดทุกข้อไม่ถือว่าตึงเกินไป แต่ให้ระมัดระวังว่า จะหลงคิดว่าตนเองดีกว่าผู้อื่น อย่างนี้จะเป็นสีลัพพัตตุปาทาน คือการยึดมั่นว่าการปฏิบัติของตนดีกว่าเขา ทำให้หลุดพ้นไม่ได้
      ถาม:  ทำอย่างไรจะห้ามตัวเองไม่ให้เกิดความกำหนัด ความอยากเล่นอยากลอง ทะนงตัว บ้าอำนาจ ?
      ตอบ:  ในขั้นต้นนั้น ถ้าทรงสมาธิอยู่เป็นปกติ แค่ระดับปฐมฌาน เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ก็ไม่สามารถจะรบกวนเราได้แล้ว จากนั้นพยายามพิจารณาให้รู้แจ้งเห็นจริงว่า สิ่งทั้งหลายเหล่านี้แท้จริงแล้วประกอบไปด้วยความทุกข์ ทั้งเราและเขาก็มีความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เสมอกัน ยังเวียนว่ายตายเกิดในกองทุกข์เช่นกัน สมควรที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
              ถ้าอารมณ์เหล่านี้ทรงตัว ก็จะทำให้คลายกำหนัด คลายความทะนงตัว คลายความบ้าอำนาจลงได้ ยกเว้นความอยากเล่นอยากลอง อันนี้เป็นวิสัยเฉพาะตน ที่เรียกว่าวาสนาอันตัดไม่ขาด เว้นเสียแต่จากพระพุทธเจ้าแล้วไม่มีใครละได้ ดังนั้น ถ้าเราควบคุมการอยากเล่นอยากลองให้อยู่ในกรอบของศีล และไม่ละเมิดกฎหมายบ้านเมือง ถึงจะเล่นและลองไปบ้างก็ไม่เสียหายอะไร
      ถาม:  พระโพธิสัตว์ถ้าทรงอารมณ์เทียบเท่าพระอนาคามี เจริญสมาบัติ ๘ ได้คล่องตัว จะเป็นปฏิสัมภิทาญาณ พูดได้ทุกภาษาหรือไม่ ?
      ตอบ:  ได้
      ถาม:  ตอนเด็กหลับตานั่งสมาธิเห็นเทวดา มีเครื่องทรงสวยงาม แต่มือถือแส้ ทำท่าเหมือนจะตี ท่านต้องการสื่อความหมายอะไร ทำไมถึงเห็นภาพนั้นได้ ปัจจุบันนี้ไม่เห็นอีกเลย ?
      ตอบ:  จิตใจของเด็กเหมือนผ้าขาวที่ยังบริสุทธิ์อยู่ ย่อมสามารถเกิดความเป็นทิพย์ เห็นสิ่งต่างๆ ในโลกทิพย์ได้ง่าย เมื่อเป็นผู้ใหญ่ กิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรม ย้อมจิตหนาเข้า ทำให้สูญเสียความเป็นทิพย์ไป เทวดาที่มานั้นอาจต้องการแสดงให้ทราบว่า ท่านคอยดูแลเราอยู่ ถ้ากระทำผิดศีลผิดธรรมท่านอาจจะลงโทษเราก็ได้
              จากคำถามนี้แสดงว่า ผู้ถามมีความดีเดิมอยู่มากแล้ว ให้พยายามปฏิบัติในทาน ศีล ภาวนา ให้เป็นปกติ และซักซ้อมให้เกิดความคล่องตัวในทิพจักขุญาณ ต่อไปจะมีครูที่ไม่เห็นตัวมาสั่งสอนให้เอง