​​​ กระโถนข้างธรรมาสน์ ฉบับที่ ๑๗๔

 

เก็บตกบ้านอนุสาวรีย์ เดือนมีนาคม ๒๕๕๔


              กำลังใจจดจ่ออยู่เฉพาะหน้า ไม่ได้เคลื่อนไปไหน นั่นคือ อุปจารสมาธิ
              หลังจากนั้น ถ้าสามารถกำหนดรู้ลมได้ตลอดสามฐาน ก็จะเป็นปฐมฌาน
              ถ้าลมหายใจเริ่มเบาลง ความรู้สึกเหมือนกับว่าเราหายใจน้อยลง หรือจับลมไม่ได้ บางทีคำภาวนาก็หยุดไปด้วย ก็เป็นฌานสอง ตรงนี้เป็นหลักที่คนส่วนใหญ่จะต้องเจอ
              พอเริ่มเป็นฌานสาม บางคนก็รู้สึกว่าตัวแข็ง แข็งเหมือนกับกลายเป็นหิน บางคนก็รู้สึกเหมือนว่าชา เหมือนกับกลายเป็นหินไปทั้งตัวแล้ว บางคนก็รู้สึกว่าเหมือนกับโดนมัดติดกับเสาจนแน่น ตั้งแต่หัวถึงเท้ากระดิกไม่ได้เลย อาการแรกเริ่มก็อาจจะเริ่มจากจุดใดจุดหนึ่ง อย่างเช่นปลายจมูกหรือปาก บางคนนั่งอยู่เหมือนกับเม้มปากแน่นขึ้นเรื่อย ๆ แต่ความจริงไม่ใช่ นั่นเป็นอาการที่สมาธิเร่ิมทรงตัวมากขึ้น
              ถ้าหากเราไม่ตกใจและไม่กลัว เอาใจกำหนดดูกำหนดรู้ไปเรื่อย ตอนนั้นเราจะลืมไปด้วยซ้ำว่ามีลมหายใจหรือมีคำภาวนาหรือเปล่า ความรู้สึกของเราจะรวมอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่งในร่างกาย สว่างโพลงอยู่เฉพาะที่ ไม่รับรู้อาการภายนอก ถ้าอย่างนั้นจะเป็นฌานสี่
              ถึงตอนนั้นแล้วเวลาจะผ่านไปโดยที่เราไม่รู้ตัว บางทีเรารู้สึกว่าเดี๋ยวดียว ลืมตาขึ้นมาผ่านไปตั้งหลายชั่วโมง
              บางอย่างมีรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เฉพาะตัวอยู่ พอทำถึงก็ อ๋อ...ที่แท้เป็นอย่างนี้เอง
*************************

      ถาม :  กำลังที่เกิดในช่วงตื่นนอนใหม่ ๆ ใช่ตัวที่ ๙ ไหมครับ ? หรือเป็นตัวไหนครับ ?
      ตอบ :  ฮ่วย…! ตอนตื่นนอนใหม่ ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นอุปจารสมาธิ ถ้าเราสามารถรักษาอารมณ์นั้นอยู่ได้ จะรู้สึกคล้าย ๆ กับว่า กำลังครึ่งหลับครึ่งตื่น แต่อารมณ์ตรงจุดนั้นแหละ ที่จะรู้เห็นความเป็นทิพย์ต่าง ๆ ได้ กำลังตรงนี้จะไม่ปรากฎอาการใด ๆ ที่กายเนื้อเลย
              ถ้าหากว่าความรู้สึกเหลืออยู่อย่างนี้อย่างเดียว แล้วสามารถไปยังที่อื่น ๆ ได้ นั่นจะเป็นกำลังของฌานสี่ แต่ถ้าไปที่อื่นไม่ได้ ความรู้สึกยังอยู่ที่ร่างกายอย่างเดียว บางทีอาจจะเป็นของเก่าที่เคยทำในส่วนของอรูปฌาน ถ้าในส่วนของอรูปฌานนี้ เราจะไม่เกาะร่างกาย
              เพราะฉะนั้น...ต้องไปพิจารณาดูเองว่า ในส่วนของการปฏิบัติมา มีพื้นฐานของเก่ามาก่อนหรือเปล่า ? ส่วนวิปัสสนาญาณ ๘ นั้น ตัวสังขารุเปกขาญาณ จะปล่อยวางทุกอย่างด้วยปัญญา ที่คุณว่ามายังไม่ใช่หรอก
*************************

              “แรก ๆ ของนักปฏิบัติ จะไม่กล้ากระดิกออกจากกรอบเลย พอทำไประยะหนึ่งจะเร่ิมปรับได้ จะค่อย ๆ กลมกลืนขึ้นเรื่อย ๆ กลืนกับโลกขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงที่สุดแล้ว ก็จะกลายเป็นคนธรรมดาที่ยิ่งกว่าธรรมดา”
*************************

      ถาม :  เวลาเข้าฌานสี่ในกสิณหรือในอะไรก็แล้วแต่ ผมทรงฌานสี่ได้นิดเดียวครับ ?
      ตอบ :  เป็นไปได้อย่างไรที่ทรงได้นิดเดียว ? ก่อนที่จะเข้าฌานให้ตั้งกำลังใจไว้ก่อน ว่าเราจะเอานานแค่ไหน
      ถาม :  ไม่ได้ตั้งครับ ?
      ตอบ :  ตั้งไว้ก่อน จะเอาสักสามวันสามคืนก็ว่าไป เพราะว่าขาดตัวตั้งใจเพียงแต่คุณมั่นใจแล้วนะว่าได้ฌานสี่จริง ๆ ? ส่วนใหญ่คนที่ได้ฌานสี่จริง ๆ มักจะเข้าฌานแล้วไม่ค่อยจะออก เขามีแต่ต้องบังคับให้ออก
      ถาม :  เป็นฌานสี่หยาบครับ ?
      ตอบ :  จะหยาบหรือละเอียดก็เหมือนกัน ยิ่งหยาบยิ่งไม่ค่อยอยากจะออก เพราะกำลังใจจะจมอยู่ข้างใน ไปตั้งเวลาเสีย ซ้อมเข้าซ้อมออกตามเวลา
              ได้ฌานสี่ก็ดีอยู่อย่างหนึ่ง ทำให้ไม่ค่อยจะตื่นเต้นอะไรกับใคร วันก่อนทำวัตรอย่ มีพระรูปหนึ่งท่านของขึ้น เอะอะเอ็ดตะโรขึ้นมา อาตมาก็นำทำวัตรไปเรื่อย ไม่ได้สนใจ จนกระทั่งท่านสงบไปเอง พอทำวัตรเสร็จก็คุยกับพระเณรว่า
              “ที่พวกคุณตกใจ ก็เพราะว่าใจไม่อยู่กับตัวเมื่อกำลังใจไม่อยู่กับตัว ถึงเวลาเกิดอะไรขึ้น ใจต้องรีบกลับมาเพื่อรับรู้ การที่ใจวิ่งกลับเข้าตัวเร็วเกินไป คืออาการตกใจ
              แต่ถ้าอารมณ์ของคุณทรงตัวแล้ว จะไม่เกิดอาการตกใจหรอก เพราะว่าใจอยู่กับตัวอยู่แล้ว กว่าผมจะทำมาถึงตรงได้ก็หลายปีเหมือนกัน”

              ตอนช่วงที่ทำได้ เป็นช่วงที่ไปบึงลับแล ไปกันประมาณ ๕-๖ รูป จำไม่ได้ว่ามีใครบ้าง ที่แน่ ๆ มีท่านกอล์ฟรูปหนึ่งพอไปถึงก็แยกย้ายอยู่ตามจุดต่าง ๆ ทำแคร่นอนกัน เพราะว่าตั้งใจจะอยู่กันหลายวัน ถ้าอยู่แค่คืนสองคืน ส่วนใหญ่ก็แบกับดิน
              อาตมาก็ไปทำแคร่นอนอยู่ตรงใกล้ ๆ ริมน้ำ ถ้าใครเคยไปบึงลับแลมาก่อน จะเห็นก้อนหินใหญ่สูงท่วมหัวอยู่ก้อนหนึ่ง อาตมาก็เอาแคร่ด้านหนึ่งชนกับก้อนหิน พอถึงเวลาก็นอนหันหัวเข้าหาก้อนหิน ค่อยปลอดภัยหน่อย
              ตอนกลางคืนเวลาประมาณห้าทุ่มกว่า แคร่พังโครมลงมา..! ลงทางด้านหัว อาตมากำลังนอนภาวนา กำลังใจทรงตัวอยู่ดี ๆ เห็นว่าแคร่พังก็ปล่อยให้พัง ภาวนาไปเรื่อย แคร่เอียงลาดลง น้ำหนักตัวก็ถ่วงให้ตัวไหลลงไปเรื่อย ๆ จนหัวทิ่มพื้น พอเจ็บหัวอาตมาจึงลุกขึ้น
              สงสัยว่าท่านกอล์ฟจะได้ยินเสียง เห็นว่าแคร่พังตั้งนานแล้ว แต่อาจารย์ยังไม่กระดิก ยังเงียบอยู่ เขาก็เลยส่องไฟดู ตอนที่ท่านส่องไฟ อาตมาลุกขึ้นพอดี มองไปเห็นพระธุดงค์อยู่รูปหนึ่ง ห่มจีวรสีเดียวกับอาตมานี่แหละ ยืนพิงก้อนหินอยู่ ก็แปลกใจว่าพระธุดงค์ท่านมาตั้งแต่ตอนไหน ? ซ่อมแคร่เสร็จ เดี๋ยวจะถามท่านสักหน่อยว่าท่านมาจากไหน ? ชื่อเรียงเสียงไร ?
              ท่านกอล์ฟส่องไฟมา เห็นอาตมายังเงียบ ๆ อยู่ ก็เลยเขย่าไฟ พอแกว่งไฟจึงเห็นพระธุดงค์ท่านนั้นเต้นระบำได้ มองไปมองมา อ้าว..เงาเราเอง แต่ตอนเห็นเป็นพระธุดงค์นั้น เห็นชัด ๆ เหมือนจ้องกันกลางวันแสก ๆ เลย เห็นกระทั่งรูปร่างหน้าตาท่านเป็นอย่างไรด้วยไม่ใช่เงา ก็เลยรู้ว่าที่แท้โดนผีหลอกซึ่ง ๆ หน้า พอซ่อมแคร่เสร็จเรียบร้อยก็นอนภาวนาต่อ
              ทีนี้มาดูกำลังใจตอนนั้น อันดับแรก ...แคร่พังลงไป กำลังใจก็ไม่คลายตัวออกมา ไม่ห่วงไม่กังวล
              อันดับที่สอง...พอโดนผีหลอก ก็ไม่รู้สึกตื่นเต้นอะไร ปกติอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น
              ตั้งแต่นั้นมา พอเกิดอะไรขึ้นก็ไม่ได้ตกใจอะไรกับใคร ไม่ว่าจะตึงตังโครมครามขนาดไหนก็ตาม กำลังใจจะทรงตัวตลอด มานึกว่า สิ่งที่ได้ทำมา เมื่อค่อย ๆ สั่งสมมาเรื่อย ๆ พอได้ระดับก็จะเกิดผลเอง แต่ถ้ายังไม่ได้ระดับ ก็ต้องสั่งสมกันต่อไปอีกระยะหนึ่ง
              ช่วงที่ได้ระดับ จะได้เร็วหรือได้ช้า อยู่ที่เราใช้ความพากเพียรพยายามมากเท่าไร ? แต่ละวันอยู่กับอารมณ์ภาวนามากกว่า หรืออยู่กับความฟุ้งซ่านมากกว่า ? ถ้าอยู่กับอารมณ์ภาวนามากกว่าก็เต็มเร็ว เหมือนกับคนขยันตักน้ำใส่ตุ่ม ย่อมเต็มเร็วกว่าคนที่นาน ๆ ทีจะตักน้ำใส่ลงไปสักถัง
              ฉะนั้น...เรื่องของการปฏิบัติ ฉันทะ วิริยะ ต้องไปคู่ ๆ กัน คือ อยากที่จะทำ และต้องพากเเพียรตั้งหน้าตั้งตาทำด้วย โดยเฉพาะจิตตะ กำลังใจปักมั่นต่อเป้าหมาย ไม่เปลี่ยนแปลงไปไน และมาใช้ตัวปัญญาสุดท้าย คือ วิมังสา คอยไตร่ตรองทบทวนว่า เราทำอะไร ? เพื่ออะไร ? ตอนนี้ทำไปถึงไหนแล้ว ? ยังเหลืออีกมากน้อยเท่าไร ?

      ถาม :  อารมณ์ที่ไม่ตกใจ คืออยู่ในฌานสี่หรือคะ ?
      ตอบ :  ถ้าทรงฌานอยู่ แค่ปฐมฌานหยาบก็ไม่ตกใจแล้ว เพียงแต่ส่วนใหญ่จะไม่ได้ทรงฌาน มักจะคิดไปเรื่องไหนก็ไม่รู้
              ถ้าทรงฌานอยู่ กำลังใจ สติ สมาธิ จะอยู่เฉพาะหน้า จะไม่สนใจเรื่องข้างนอก ต่อให้เป็นปฐมฌาน ตาเห็นก็สักแต่ว่าเห็นเท่านั้น หูได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยินเท่านั้น ฉะนั้น...ไม่จำเป็นต้องตะกายไปถึงฌานสี่หรอก แค่ปฐมฌานก็พออาศัยกินได้เยอะแล้ว
*************************

      ถาม :  คนที่ภาวนาระหว่างวัน แต่ไม่ได้นั่งสมาธิแบบนิ่ง ๆ จะสามารถถึงฌานสี่ได้ไหมคะ ?
      ตอบ :  ดีไม่ดี เป็นฌานสี่ใช้งานเสียด้วยซ้ำไป แซงหน้าเราไปลิบโลกเลย
      ถาม :  ไม่จำเป็นว่าคนได้ฌานสี่ใช้งาน จะต้องได้ฌานนิ่ง ๆ มาก่อน ?
      ตอบ :  ไม่จำเป็น
      ถาม :  ไม่ถนัดนั่งนิ่ง ๆ ค่ะ ?
      ตอบ :  เราก็แอโรบิกไปด้วยภาวนาไปด้วย ได้ประโยชน์ทั้งสองสถาน
      ถาม :  วิ่งค่ะ ?
      ตอบ :  สมัยก่อนตอนเป็นทหารอาตมาก็วิ่ง แต่ทหารเขาวิ่งมาก วันหนึ่งประมาณ ๑๐-๑๒ กิโลกเมตร อย่างน้อย ๆ ก็ประมาณ ๗ กิโลเมตร เขาฝึกคนให้เป็นควาย จะได้อึดกว่าชาวบ้านเขาหน่อย
              ครูฝึกคนหนึ่ง คือ สิบเอกโสภณ เป็นคนที่อ้วนมากเลย น้ำหนักน่าจะเกิน ๘๐ กิโลกรัม แต่ว่าอึดมาก ถ้าบอกว่าวันนี้หมู่โสภณเป็นครูฝึก แต่ละคนสั่นหัวเลย เพราะต้องวิ่งไม่ต่ำกว่า ๑๒ กิโลเมตรแน่นอน เขาเป็นคนอ้วนที่กระตือรือร้นมาก แข็งแรงด้วย ที่ตลกก็คือ เขาวิ่งได้ทั้งขึ้นหน้าและถอยหลัง จังหวะเท้าไม่เคยผิดเลย
              เวลาทหารวิ่งเขาจะบอกจังหวะไปด้วย บางทีก้ต้องร้องเพลงไปด้วย เขาวิ่งขึ้นหน้าหรือถอยหลังจังหวะเท้าไม่เคยพลาด แสดงว่าสมาธิดีมาก คนไหนที่หนักแปดสิบกิโลขึ้นไปแล้วคล่องขนาดนั้น หายากมากเลยนะ เคยเห็นอยู่คนหนึ่ง แต่เขาเป็นพระเอกหนัง ชื่อ หงจินเป่า
*************************

      ถาม :  ทำกสิณถึงฌานสี่แล้วจะเปลี่ยนเป็นอรูปฌาน ไม่มั่นใจว่าตัวเองได้อรูปฌานจริงหรอืเปล่า ? ผมคิดไปเอง หรือกำลังหลอกตัวเอง ?
      ตอบ :  ทำไมโง่แท้วะ...! ถ้าทรงกสิณถึงฌานสี่ก็ใช้ผลได้แล้ว คุณก็อธิษฐานขอใช้ผลก่อนสิ ถ้าเป็นไปตามที่ต้องการ เราค่อยไปเปลี่ยนเป็นอรูปฌาน ไม่ใช่อธิษฐานแทบตายแล้วไม่เกิดอะไรเลย ถ้าอย่างนั้นก็หลอกตัวเองแน่นอน
      ถาม :  ท่าทางจะหลอกตัวเอง ?
      ตอบ :  ถ้าทรงกสิณถึงฌานสี่ได้ ก็คือ กสิณที่เป็นปฏิภาคนิมิต สามารถย่อได้ ขยายได้ ให้มาได้ ให้ไปได้ ก็อธิษฐานใช้ผลได้แล้ว
      ถาม :  ตอนนี้ย่อได้ ขยายได้ แต่อธิษฐานใช้ผลไม่ได้ครับ ?
      ตอบ :  ถ้ายังใช้ผลไม้ได้ ไม่น่าจะใช่ ย่อได้ขยายได้ของเรากลายป็นจินตนาการไปแล้ว
      ถาม :  จะแก้ไขอย่างไร ?
      ตอบ :  ถ้าเราเริ่มจากการจับภาพกสิณมาจริง ๆ จะเห็นพัฒนาการทีละน้อย จากแรก ๆ ที่เราจับได้ครู่เดียว ภาพก็หายไป ต้องลืมตามมอง แล้วหลับตานึกถึงใหม่ จนกลายเป็นติดตา ติดใจ คือ หลับตาหรือลืมตาก็เห็นเหมือนกัน
              หลังจากนั้นพอประคบประคองไปเรื่อย ภาพก็จะค่อย ๆ เปลี่ยน เปลี่ยนจากวัตถุสีเข้มกลายเป็นสีจางลง ลักษณะจางลงก็คือ จางเหมือนกับสีเหลืองเหมือนกับเหลืองอ่อน แล้วก็เริ่มใส พอเริ่มใสมากขึ้น ๆ จนกระทั่งสว่างจ้า แปลว่าเริ่มเข้าสู่เขตของฌานสี่แล้ว ถ้าอธิษฐานย่อได้ ขยายได้ ให้มาได้ ให้หายได้ ก็กลายเป็นฌานสี่เต็มที่ ทีนี้เราก็อธิษฐานใช้ผล
              แต่อย่างเราไม่ได้เริ่มจากการนับหนึ่งสองสามมา เรากระโดดไปตอนสุดท้าย ไปคว้าเอาส่วนใดส่วนหนึ่งมา ส่วนใหญ่เป็นแค่เราคิดว่าใช่ โดยเฉพาะคนที่ฝึกมโนมยิทธิมา กำลังใจที่ใช้ในการควบคุมความคิดตัวเอง สามารถทำได้คล่องตัวกว่าคนอื่นเขา แะชัดเจนกว่า จึงทำให้คิดว่าตัวเองได้แล้วก็เป็นได้
              เพราะฉะนั้น...สำคัญที่สุด คือ อธิษฐานใช้ผลดู ถ้าใช้ได้แน่นอน ค่อยเปลี่ยนเป็นอรูปฌาน แต่ถ้าจะทำอรูปฌานให้เว้นอากาสกสิณ เพราะว่าอากาสกสิณทำเป็นอรูปฌานไม่ได้ และเว้นอาโลกกสิณไปด้วย ลักษณะของความสว่างกับอากาศก็ใกล้เคียงกัน ทำให้บางทีเราจะขาดความมั่นใจ แต่ถ้ามีความคล่องตัวจริง ๆ เว้นแค่อากาสกสิณอย่างเดียวก็พอ กองอื่น ๆ สามารถทำเป็นอรูปฌานได้ทั้งหมด
*************************

              “สาเหตุที่อาตมาจะทำพระนาคปรกนั้นมีหลายประการด้วยกัน
              ประการแรกในชีวิตอาตมารักงูมาตั้งแต่เด็ก ถึงขนาดแอบขุดหลุมแล้วก็เลี้ยงงู ถ้าไม่ใช่คำสั่งผู้ใหญ่ ไม่เคยฆ่างูเลย เพราะรู้สึกว่าเขาเป็นเพื่อน จนอาตมาสามารถที่จะจับงูเล่นได้ทุกตัว
              ประการต่อมาก็คือ หลวงพ่อสมเด็จฯ วัดสระเกศ ท่านประทานพระนาคปรกให้หนึ่งองค์ ท่านบอกว่า “คุณอยู่ป่าอยู่ดง มีพระนาคปรกอย่างนี้ไว้บูชาจะดีกว่า เหมาะสมกับคุณมากกว่า”
              ประการสุดท้ายก็คือ ตามที่พระท่านบอก ลักษณะของพระนาคปรกแฝงความหมายของการพิทักษ์พระพุทธศาสนา เพราะเราทำเพื่อฉลองการที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ครบ ๒,๖๐๐ ปี”
*************************

      ถาม :  พยายามตัดกามด้วยอสุภะและกายคตาสติ ก็ยังตัดไม่ได้สักที ?
      ตอบ :  สมัยก่อนอาตมาก็เป็นอย่างนั้น ตัดด้วยอสุภะกับกายคตาสติไม่ได้ไปตัดได้ด้วยตัวเมตตา ลองไปค้นอ่านดูในประวัติของพระรัฐบาลเถระ จะมีวิธีบอกไว้
              พระเจ้าแผ่นดินท่านสงสัยว่าพระหนุ่ม ๆ บวชอยู่ได้อย่างไร เพราะถ้าเป็นท่านอยู่ในผ้าเหลืองไม่ได้แน่นอน พระรัฐบาลเถระท่านก็บอกว่าทำอย่างไร พออาตมาอ่านก็เข้าใจว่าเป็นตัวเมตตาบารมี เห็นเขาเหมือนคนในครอบครัวเดียวกันกับเรา
              พอไปถึงตรงจุดนั้น จึงได้เข้าใจที่หลวงพ่อวัดท่าซุงท่านเคยบอกเอาไว้ว่า “กรรมฐานทุกกองถ้าเราตั้งใจทำจริง ก็เป็นพระอรหันต์ได้ทั้งหมด” ก็แปลว่าทุกกองจะต้องมีแง่มุมใดแง่มุมหนึ่งที่สามารถตัด ราคะ โลภะ โทสะ โมหะ ได้ เพียงแต่เราจะคลำแง่นั้นเจอหรือไม่ ?
      ถาม :  ผมทำหลายอย่างครับ ?
      ตอบ :  เป็นประเภทโลภมาก ขุดบ่อหลายแห่งเลยไม่เจอน้ำจริง ๆ สักที วันก่อนมีคนถามว่า เขาจับกรรมฐานหลายกองพร้อม ๆ กัน จะสามารถทำได้หรือไม่ ?
              อาตมาบอกเขาไปว่า ถ้าหากไม่ใช่คนที่คล่องตัวในกองกรรมฐานเหล่านั้นมาก่อนแล้ว ไม่สามารถที่จะทำได้ ถ้าคนที่มีความคล่องตัว ทำกองกรรมฐานนั้นจนคล่องแล้ว จึงสามารถจับหลาย ๆ กองพร้อมกันได้
              ถ้าไม่เคยทำมาก่อน แล้วจับหลาย ๆ กอง ยังไม่เคยมีใครประสบผลสำเร็จ แต่คุณสามารถลองดูได้ เพราะอาจจะเป็นคนแรก...! กองเดียวยังยากเลย นี่เล่นจับหลายกองพร้อม ๆ กัน
*************************

      ถาม :  ผมอยู่ขอนแก่น ยังขาดครูบาอาจารย์ที่เหมาะสมกับตัวเอง มีพระอาจารย์ที่จะแนะนำไหมครับ ?
      ตอบ :  จริง ๆ แล้วสายพระป่ามีเยอะแยะ สำคัญว่าเราทำจริงหรือเปล่าเท่านั้นเอง ส่วนใหญ่สายพระป่าท่านมาแบบวิสุทธิมรรค ก็คือนิมิตอะไร เกิดขึ้นท่านจะให้ตัดทิ้งหมด
              เมื่อเป็นดังนั้น อาตมาเองที่มาสายพระป่าแท้ ๆ ก็เลยต้องมาบวชทางด้านนี้ เพราะรู้สึกว่าไม่ตรงกับกำลังใจตัวเอง ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้นคิดว่าถ้าจะบวชก็จะบวชกับสายพระป่า เพราะว่าเคารพรักครูบาอาจารย์หลายท่านที่วัตรปฏิบัติของท่านบริสุทธิ์จริง ๆ
              อยู่ขอนแก่นก็ไปสกลนคร พระอาจารย์หนุน (พระครูวิชัยสรคุณ วัดป่าพุทธโมกข์ จังหวัดสกลนคร) ท่านอยู่ทางนั้น ท่านก็มอบกายถวายชีวิตให้หลวงพ่อวัดท่าซุงเหมือนกัน ท่านไม่ใช่คนอีสานนะ แต่อยู่อีสานมาค่อนชีวิต จริง ๆ แล้วท่านเป็นคนเพชรบุรี
*************************

      ถาม :  การฝึกมโนมยิทธิของผม ยังติดตรงที่จินตนาการและคิดไปเองอยู่ ?
      ตอบซ้อมกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในระยะใกล้ ๆ ถ้าผลออกมาถูกต้องก็แปลว่าใช่ สมัยก่อนหลวงพ่อวัดท่าซุงท่านสั่งให้อาตมาไปนั่งอยู่ข้างถนน เสียงรถมากก็กำหนดใจว่ารถคนนี้สีอะไร แล้วก็ลืมตาดู เท่ากับทดสอบได้เดี๋ยวนั้นเลยว่าใช่หรือไม่ใช่ คุณก็ไปซ้อมกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในลักษณะอย่างนั้น อย่างเช่น ฟุตบอลกำลังจะเตะกัน คู่นี้ใครแพ้ใครชนะ
      ถาม :  งวดหน้าหวยจะออกอะไร ?
      ตอบ :  ต้องใจเย็นหน่อย ถ้ารีบเกินไปแล้วจะพังเร็ว พอความโลภเกิดขึ้นแล้ว สมาธิจะเสีย เพราะว่า รัก โลภ โกรธ หลง เกิดขึ้นเมื่อไร สมาธิจะเคลื่อน สิ่งที่รู้ก็จะไม่ใช่แล้ว
              ครั้งก่อนทั้งพระและโยมนั่งบ่นกันอุบ เวลาฉันเช้าหรือฉันเพล พอไมค์อยู่กับอาตมาก็มีเรื่องคุยไปเรื่อย คุยไปคุยมาเผลอบอกเขาไปตรง ๆ แล้วไม่มีใครซื้อเลย เพราะไม่คิดว่าจะใช่ พอหวยออกเขาถึงนึกได้ แต่ก็ไม่ทันแล้ว
              ของพวกนี้จัดเป็นของแถมจากการปฏิบัติ เราต้องการหรือไม่ต้องการ ถ้ากำลังใจสงบได้ที่ การรู้เห็นจะปรากฎขึ้นเอง
              แต่คราวนี้คนเราส่วนใหญ่มักชอบของแถม จนลืมไปว่าเราต้องการซื้อสินค้าหลักตัวไหน บางคนซื้อเพราะจะเอาแค่ของแถมจริง ๆ
              คุณตัน ภาสกรนที เอาโออิชิไปเปิดตัวที่เขมร ขายโออิชิแถมตุ๊กตา ปรากฎว่ามีแต่คนมาจับตุ๊กตาแต่ไม่ซื้อ คุณตันก็ไปยืนดูอยู่ พอรุ่งขึ้นเขาเปลี่ยนใหม่เลย ขายตุ๊กตาแถมชาโออิชิ คนก็ซื้อเพราะว่าอยากได้ตุ๊กตา พอคนได้ชิมจึงรู้ว่าชาโออิชิรสชาติเป็นอย่างนี้ กลายเป็นต้องเปลี่ยนวิธีการขายแบบกะทันหัน สินค้าหลักกลายเป็นสินค้ารองไปเลย
              เรามักจะลืมเป้าหมายตัวเองว่า เราปฏิบัติเพื่ออะไร ?
              แทนที่จะปฏิบัติเพื่อความสุขในปัจจุบัน จิตใจสงบเยือกเย็นอยู่กับปัจจุบัน ไม่ฟุ้งซ่านไปในอดีต ไม่ฟุ้งซ่านไปในอนาคต
              เพื่อประโยชน์ในสัมปรายภพ ตายไปแล้วก็ไปเป็นเทวดา เป็นนางฟ้า เป็นพรหมได้
              เพื่อประโยชน์สูงสุด สามารถเข้าสู่พระนิพพานได้ ดันลืม...มัวแต่ไปสนุกอยู่
กลายเป็นปฏิบัติแล้วลืมเป้าหมาย เพราะไปชอบของแถมมากกว่า
      ถาม :  โลภกับงก คล้ายกันหรือเปล่าคะ ?
      ตอบ :  ก็อย่างเดียวกันนั่นแหละ
      ถาม :  บางคนทำบุญแล้วไม่เสียดายเงิน แต่อย่างอื่นเขาไม่อยากใช้เงิน ?
      ตอบ :  คนเขารอบคอบ ไม่ใช่งกนะ เขารอบคอบ เขา
*************************