ถาม :  เผอิญคุยกับเพื่อนที่เป็นต่างชาติเขาบอกว่าเขาไม่ทานเนื้อสัตว์ เขาไม่กินเนื้อ เขาก็บอกว่าเขาไม่เข้าใจว่าคนนับถือพุทธ ทำไมมีศีลข้อห้ามไม่ใช่เหรอ ว่าไม่ให้ทำร้านสัตว์ แล้วทำไมยังกิน ?
      ตอบ :  บอกว่าเรื่องนี้พระพุทธเจ้ากล่าวไว้ว่า ถ้าหากว่าเป็นอุทิสสะมังสะ คือเขาเจาะจงฆ่าให้เรากินโดยตรงอันนี้กินไม่ได้ เพราะว่าสัตว์นั้นตายเนื่องด้วยเรา แต่ถ้าปะวัตตะมังสะ ที่เขาทำขายเป็นปกติ คุณลุงคิดดูว่าคุณไม่กินเนื้อสัตว์แล้วมันยังฆ่า เป็นปกติอยู่หรือเปล่า ? มันก็ยังฆ่าเป็นปกติ ทีโบนสเต็กของคุณ คุณไม่กินคนอื่นมันก็กิน สิ่งทั้งหลายที่เขาฆ่าเป็นปกติเขาไม่ได้เจาะจงเฉพาะเรา อันนั้นมันไม่ได้ตายเนื่องเพราะเรา
              ถ้าหากว่าเราเองไม่ได้ยินว่าเขาฆ่าเพื่อเรา ไม่ได้เห็นว่าเขาฆ่าเพื่อเรา ไม่รังเกียจว่าเขาฆ่าเพื่อเรากิน อันนี้ไม่ถือว่าผิดเพราะว่าเราไม่ได้ทำด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจของเราเอง พระพุทธเจ้าตรัสว่า เรากินเพื่ออาศัยร่างกายนี้อยู่เพื่อปฏิบัติธรรมเท่านั้น ในเมื่อเราอาศัยร่างกายนี้อยู่เพื่อปฏิบัติธรรมเท่านั้น สิ่งต่าง ๆ ก็จำเป็นต้องมีให้มันเพื่ออย่างน้อย ๆ มันได้มีแรง มีกำลังใจในการทำความดี ถ้ามันไม่ใช่เสาะแสวงหามาเพื่อความอยากของตน คือตามใจปากตามใจลิ้นจนเกินไป สิ่งทั้งหลายเหล่านั้น กินไปเถอะ เวลากินก็ตั้งใจอุทิศส่วนกุศลให้เขาไปด้วยก็แล้วกัน
              พวกเวเก็ทเทอเรียน ต่อให้มีไปครึ่งโลก ที่เหลือก็ฆ่าต่อไป บอกว่าเขาทำเป็นปกติของเขาอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าท่านไม่ต้องการให้เราลำบากด้วยเสาะหามาก ไม่ให้เราตามใจปากตามใจลิ้นมาก เพราะฉะนั้นมีอะไรก็กินอย่างนั้น ใครต้องการจะกินผักก็กินผักไป ใครต้องการกินเนื้อก็กินเนื้อไป
      ถาม :  อันนี้เพื่อนค่ะ คุยกับเขาแล้วคิดไม่ตกว่ามันคืออะไร ถ้าโกรธมันคือความเลว ถ้าสมมติเราไปโกรธเขานี่ เราเลวกว่าเขา เขาบอกว่าผิดคือพยายามคิด คิดยังไงก็คิดไม่ออกว่าเราเลวกว่า มันเลวกว่ายังไง เราทำไม่ถูกหรือว่าเรายังไง ?
      ตอบ :  จริง ๆ แล้ว ทุกอย่างมันเป็นสมมติ คนดีหรือว่าคนเลวก็คือสมมติทั้งคู่ มันคือคู่ที่กำลังเป็นไปตามกระแสกรรม สมมติว่ากรรมเป็นกระแสสองสาย สายสีขาววิ่งขึ้นกับสายสีดำวิ่งลงมันจะสวนกันอยู่อย่างนี้ตลอด เราติดอยู่ในกระแสไหนเราก็ไปตามกระแสนั้น เพราะฉะนั้นโลกนี้ไม่มีใครดีไม่มีใครเลว หากแต่ว่ามีแต่คนหรือสัตว์ที่เป็นไปตามกรรมเท่านั้น
              เพราะฉะนั้น ที่บอกว่าเราเลวกว่าหรือว่าอะไรนั่นจริง ๆ แล้วมันใช้ไม่ได้ มันเป็นความคิดที่ผิด จริง ๆ ก็คือว่าสัตว์โลกกำลังเป็นไปตามกรรม ในเมื่อสัตว์โลกกำลังเป็นไปตามกรรม กระแสสีขาวมันพาเราสูงขึ้น พาเราไปสู่ภพภูมิที่สุขขึ้น ในที่สุดก็พาเราพ้นไปได้ กับกระแสสีดำที่พาเราตกต่ำลง พาเราไปสู่ภูมิแห่งความทุกข์ แล้วในที่สุดก็จ่อมจมอยู่กับมันไม่รู้จักหลุดจักพ้นเสียทีหนึ่งสองกระแสนี้เราควรจะเลือกกระแสไหน
              ในเมื่อเราจับจุดนี้ได้เราก็เลือกในจุดที่คิดว่าดีแล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาทำมันไป มาถึงตรงจุดนี้แล้วสิ่งต่าง ๆ มันเป็นสมมติทั้งหมดแหละ ถ้าหากว่าเรายังไปยึดสมมติอยู่ มันก็หลุดพ้นไม่ได้ เรียกว่าวิมุติไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าเราปล่อยสมมติเมื่อไรมันจะหยุดตรงกลาง มันก็วิมุติ กระแสสองอย่างทำอะไรไม่ได้แล้ว มันหลุดพ้นขึ้นมา
      ถาม :  แล้วจะทราบได้ยังไงคะ ว่าเป็นอริยบุคคลหรืออะไรอย่างนี้ มีวิธีดูไหมคะ ?
      ตอบ :  ก็มีทิพจักขุญาณ (หัวเราะ) ได้ทิพจักขุญาณแล้วถามพระท่านโดยตรง มีพระพุทธเจ้าองค์เดียวเท่านั้นที่เป็นผู้พยากรณ์มรรคผลของผู้อื่น ตัวเราถึงเรารู้ก็อย่าเพิ่งเชื่อความรู้อันนั้น เพราะว่าความรู้นั้นอาจมีการทดสอบแล้วผิดได้ แต่ว่ามีข้อสังเกตว่าบุคคลใดก็ตามที่ทำดีด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ เป็นระยะเวลาที่ยาวนานยั่งยืนต่อเนื่องกันไป ให้คิดไว้ก่อนว่าเขาผู้นั้นอาจเป็นพระอริยเจ้า แต่ขณะเดียวกันว่าก็ให้คิดอยู่เสมอว่าคนและสัตว์ทุกรูปทุกนาม ท้ายสุดของเขาก็ต้องหลุดพ้นเข้าสู่พระนิพพานเหมือนกัน
              เพราะฉะนั้นถึงเขากระทบกระทั่งกับเรา เราก็คิดไปถึงอนาคตเลยว่า นั่นอนาคตพระอรหันต์ ไปโกรธพระอรหันต์บาปนะ เสร็จแล้วเราให้อภัยเขา ง้างเทาจะเตะหมาขึ้นมา เฮ้ย !?นี่อนาคตพระอรหันต์นะ ทำร้ายเขาไม่ได้ บาปนะ มันก็จบแล้ว (หัวเราะ)
      ถาม :  เอางั้นเลยเหรอคะ ?
      ตอบ :  เออ นั่นแหละ
      ถาม :  เวลาปฏิบัติจะมีอยู่ช่วงหนึ่ง นั่งแล้วตัวโยก แต่พอระยะหลังนี่บางทีอยู่ว่าง ๆ นั่ง ๆ อยู่ก็โยก ?
      ตอบ :  ไม่ต้องว่าง ๆ หรอก บางทีคิดถึงมันก็ดยกเลย อารมณ์ตัวนี้เป็นตัวปีติ หนึ่งในห้าอย่างเรียกว่า โอกกันติกาปีติ ตัวมันจะโยกไปโยกมา อารมณ์ใจพอถึงตรงนั้นมันจะโยก อย่าไปอายใครปล่อยให้มันโยกให้เต็มที่ ถ้ามันพ้นจากจุดนั้นแล้วมันจะไม่เป็นอีก ไม่อย่างนั้นถ้าเรารู้สึกว่าอาย แล้วเราไปบังคับให้มันหยุด มันหยุดเหมือนกัน เพราะว่าอารมณ์ใจเราคลายจากจุดนั้นออกมา พอหยุดถึงเวลาเข้าไปถึงจุดนั้นก็โยกอีก
              เพราะฉะนั้นปล่อยมันเต็มที่เสียทีเดียวแล้วมันจะเลิกเอง จุดนั้นกำลังใกล้ความดีมากเลย เพราะก้าวข้ามจากจุดนั้นมันจะเป็นอาการของผู้ทรงฌาน คราวนี้อารมณ์จิตมันจะรู้อัตโนมัติ ติดนิดเดียว
      ถาม :  บังคับหยุดทุกครั้ง ?
      ตอบ :  อย่าไปบังคับหยุด ปล่อยมันเต็มที่เลย บางทีมันไม่ได้โยกเฉย ๆ มันดิ้นตึงตัง ๆ หกคะเมนตีลังกา.....ปล่อยมันให้สังเกตว่าตอนที่มันโยกมันเป็นอยู่จริง ๆ แล้วใจเรานิ่งมากเลย ไม่สนใจอย่างอื่นหรอก เราแค่ดูมันเฉย ๆ คราวนี้ว่าเราไปปรุงแต่งเพิ่มเติมว่า เอ....อาการมันพิลึกพิลั่นไม่เหมือนชาวบ้าน เพราะเราอายเขาแล้วเราไปบังคับมันหยุด ต้องปล่อย อย่าไปหยุด
      ถาม :  เวลาปฏิบัติค่ะ เป็นวิปัสสนา กำหนดปวด ก็ปวดตลอดเหมือนกัน ?
      ตอบ :  แล้วมันปวดไปถึงไหน ?
      ถาม :  แล้วเวลาเราออกจากกรรมฐานแล้วจะให้อารมณ์ใจมันทรงอารมณ์ไหน ปวดหรือว่าอะไร ?
      ตอบคือให้รู้อยู่ว่าอาการต่าง ๆ นั้นเป็นสมบัติของร่างกาย เวทนา ความสุข ความทุกข์ทั้งหมดเป็นเรื่องของร่างกาย เราคือจิตใจซึ่งไม่ยุ่งเกี่ยวกับตรงส่วนนั้นเลย เพราะฉะนั้นสิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นเรื่องร่างกายไม่ได้เกี่ยวกับเรา ต้องการรู้รับรู้ไว้อย่างมีสติ ถ้าไม่ต้องการรับรู้ก็ตัดมันไปเลย มันก็แค่นั้นเอง
      ถาม :  แล้วเวลาที่เราภาวนาอยู่ พุทโธหรือว่าอะไรก็แล้วแต่ มันมีคิดผสมด้วย ?
      ตอบ มี ถ้าอารมณ์ใจมันไม่ตั้งมั่นจริง ๆ ในอดีตเราเคยทำมา สภาพจิตเราเคยแยกจิตแยกกาย ทำอะไรได้หลายอย่างพร้อม ๆ กัน เพราะฉะนั้นเราภาวนาอยู่มันก็ฟุ้งซ่านได้ ถ้าไม่ต้องการอยู่ตรงจุดนั้น ให้รวบรวมสติทั้งหมดให้อยู่กับลมหายใจเฉพาะหน้า รู้ว่ามันคิดเมื่อไรดึงมันกลับมา พอมันอยู่ลมหายใจอย่างแน่นแฟ้นแล้วมันก็จะเลิกเอง
      ถาม :  แล้วอย่างสมมติว่าเราปวดมาก ๆ ที่บอกว่าให้ดูจิตดูใจอย่างนี้ จิตใจตอนนั้นมันเป็นอย่างไร มันทนอะไรไม่ได้ ?
      ตอบ :  เราอย่าไปเสวยความทุกข์มันซิ บอกแล้วว่าจิตกับกายมันคนละเรื่องกัน พยายามแยกให้บอกว่าเวทนานั้นเป็นเราหรือว่าเวทนานั้นเป็นของร่างกาย
      ตอบเป็นของร่างกายก็ดูให้มันเป็นของร่างกาย ใจเราก็อย่าไปปรุงแต่งตามมัน ถ้าใจเราไปปรุงแต่งตามมันเราต้องทุกข์ต้องทนนี่สาหัสเลยตอนนั้น ดีไม่ดีกระดูกกระเดี้ยวมันจะแตกเป็นชิ้น ๆ ด้วยซ้ำไป แสดงว่าเราวางกำลังใจผิด ให้ดึงกำลังใจของเราให้มันออกมาเลย ให้กำหนดรู้อย่างเดียวว่าตอนนี้เวทนามันเกิดขึ้น ถามว่าเวทนาเป็นของกายหรือเป็นของเรา เราคือจิต จริง ๆ แล้วเวทนา สุข ทุกข์ ทั้งหลายมันเป็นของกายทั้งนั้น ใจเราไม่ไปแตะไปต้องมันเสียก็หมดเรื่องไป
      ถาม :  บางครั้งมันเหมือนสองอย่าง ตรงนี้มันนิ่ง ๆ แต่ตรงนี้มันปวด
      ตอบ :  นั่นแหละ รับรู้ไปเฉย ๆ ตามรู้ไปเฉย ๆ รู้ว่าตอนนี้มันปวด อาการธรรมดาของร่างกายของมัน ถ้ามันนั่งนาน ๆ อย่างนี้มันต้องปวดเป็นธรรมดา ขึ้นชื่อว่าการเจ็บไข้ได้ป่วยหรือว่าทุกข์ยากเจ็บปวดธรรมดาของมันอย่างนี้ เราเกิดเมื่อไรเราก็เจอมันอีก สภาพร่างกายอย่างนี้ อาการอย่างนี้เราต้องการจะเจอมันไปนาน ๆ ไหมล่ะ ? หรือว่าควรที่จะพอกันเสียที แล้วถามตัวเอง พอถามตัวเองได้คำตอบว่าที่ไหนที่คิดว่าดี เกาะที่นั่นแทน ก็เกาะนิพพานแทน จริง ๆ แล้วรู้นะ แต่ว่าของเราเองมันมักเผลอให้มันตีเสียอยู่เรื่อย
      ถาม :  (หัวเราะ) รู้ค่ะ
      ตอบ :  เดี๋ยวคราวหน้าไม่ช่วยนะ ให้มันตีตายไปเลย ไม่เป็นไรจ้ะ เอาไว้งวดหน้าลำบากแล้วมาใหม่
      ถาม :  เวลาภาวนาแล้วนับลูกประคำไปด้วย คือนับจำนวนเม็ดของลูกประคำอย่างนั้นเหรอคะ ?
      ตอบ คือถ้าสติมันสมบูรณ์เราภาวนาอะไรเรารู้อยู่ เรานับลูกประคำ อาการเคลื่อนไหวของมือเรารู้อยู่ ตอนนี้นับไปกี่จบแล้ว รู้อยู่หรือว่าคาถาไปกี่จบแล้รู้อยู่ มันจะรู้หลาย ๆ อย่างพร้อมกัน ถ้าหากว่าเราต้องกำหนดจิตรู้หลายอย่าง งานมันเยอะ โอกาสที่มันจะแวบไปที่อื่นมันก็น้อยลง
      ถาม :  ถ้าเปรียบว่าเราภาวนาที่ใจแล้วเราชอบไปคิดถึงเรื่องอื่นแล้วก็กลับมาภาวนาได้ มันคล้าย ๆ อย่างนี้หรือเปล่า ?
      ตอบ :  คล้ายอย่างนั้น แต่ว่าอย่างนี้ของเราเราเอาคุณภาพล้วน ๆ เพราะว่าอันโน้นมันเผลอแวบไปเรื่องไม่เป็นเรื่องก็ได้ เพราะฉะนั้นเราจะเอาคุณภาพก็ต้องบังคับมันหน่อยหนึ่ง รู้อิริยาบถขณะนับไปด้วย คาถากี่จบว่าไปด้วย นับลูกประคำอยู่กำหนดไปด้วย (หัวเราะ) ค่อย ๆ ทำไปแต่ว่าทำอย่างนี้พอถึงท้าย ๆ แล้วมันจะมีผลอยู่อย่างหนึ่งคือว่าเวลาปกติเราทำมันก็ฟุ้งซ่านได้ เพราะฉะนั้นต้องระวังพอถึงเวลาอย่างนั้นแล้วต้องดึงมาอยู่กับลมหายใจเข้าออกจริง ๆ ถ้าไม่ดึงมันกลับมา ไม่พยายามปล้ำให้มันอยู่กับที่ไว้มันก็ฟุ้งซ่าน
      ถาม :  เมื่ออาทิตย์ก่อนหนูฝันถึงหลวงพ่อค่ะ แต่หลวงพ่อไม่เหมือนกับปัจจุบัน คล้ำ ๆ ค่ะ แต่ในฝันรับรู้ว่าเป็นหลวงพ่อ หนูก็ภาวนาอยู่แล้วซักพักหนูเข้าไป หลวงพ่อก็ต่อคำภาวนาหนู แล้วหนูก็ถามหลวงพ่อในฝันว่าถ้าเวลาภาวนาจริง ๆ นี่ ถ้าใจเราแว้บออกข้างนอกนี่ถือว่าได้ผลมั้ย ? ดีมั้ย ?
      ตอบ :  ได้ แต่ว่าผลมันน้อยไปหน่อย
      ถาม :  แต่แปลกใจว่าไม่เหมือนหลวงพ่อซักนิดเลย แบบคนผิวคล้ำ ๆ ?
      ตอบ :  เดี๋ยวมันอาจคล้ำมากกว่านี้อีก ตอนนี้ทำงานเยอะจ้ะ เบาลงไปหน่อยหนึ่งก็คือว่าตอนนี้วัดถ้ำทะลุเขาเสร็จแล้ว ของเราเองหลังที่ทำเพื่อตัวเองก็เหลืออยู่หน่อยหนึ่ง หลังที่จะทำให้คนอื่นตอนนี้ก็เหลือแต่มุงหลังคา พระเขาฉาบเสร็จเรียบร้อยแล้วก็รอตีฝ้ากับปูพื้น
              ส่วนหลังขอวัดห้วยสมจิตรนั้นเป็นศาลาใหญ่ ลำบากหน่อย ตอนนี้ว่าไปสองแสนแล้ว เพิ่งได้หน่อยเดียว เดี๋ยวยังไงมันก็เบาลง มีเวลาพัก เดี๋ยวมันก็ขาวขึ้นเองแหละ คราวนี้ให้มันคล้ำไปก่อน เขาทำอะไรเราไปทำด้วย แล้วลูกน้องก็มีกำลังใจ พระเณรก็มีกำลังใจ เทปูนกันกลางฝนยังสนุกเฮ ๆ ยังกับเมายาม้า (หัวเราะ) ก็เราไปเปียกกับเขานะ ผสมปูนก็เปียกกับเขา เทปูนก็เปียกกับเขา ผูกเหล็กก็เปียกกับเขา เป็นผู้บังคับบัญชาจริง ๆ แล้ว มันต้องลงไปคลุกกับงาน บอกเขาแล้วให้ผมเรียกใช้พวกคุณผมทำไม่เป็นหรอก ผมอยากทำผมก็ทำของผมเอง ถ้าหากว่าคุณคิดจะช่วยก็มาช่วยก็แล้วกัน แหม! มันเล่นมากันเสียเกือบหมดวัด