เก็บตกบ้านอนุสาวรีย์ เดือนมกราคม ๒๕๕๔
“ถ้านึกเทียบบ้านเราย้อนหลังไปแล้วอยากจะร้องไห้ สมัยรัชกาลที่ ๕ เราเจริญกว่าญี่ปุ่น...ญี่ปุ่นต้องมาขอช่างเทคนิคจากประเทศไทยไปช่วยงานที่ประเทศเขา ปัจจุบันนี้เราล้าหลังญี่ปุ่นไปตั้งกี่ปี ไม่ต้องพูดถึงเลย
ที่อาตมาเจอมาด้วยตัวเองก็คือกรมป่าไม้ แต่ไม่ใช่ทั้งกรม แค่เขตเดียว วันที่ ๓๐ กันยายน เขาเหลืองบประมาณถึง ๗๐ เปอร์เซ็นต์ ยังไม่ได้อนุมัตให้ใช้ หมายความว่า ๓๖๔ วันที่ผ่านมา เงิน ๑๐๐ บาทใช้ไปแค่ ๓๐ บาท
วันที่ ๓๐ กันยายน บุคคลที่มีหน้าที่เซ็นอนุมัติงบประมาณ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ที่เหลือ เซ็นจนหัวไม่วางหางไม่เว้น ไม่ต้องดูเลยว่าเขาขออะไรมา ถามเขาว่าที่เหลือทำไมไม่ส่งคืน ? เขาบอกว่า ส่งคืนไม่ได้ ถ้าส่งคืนต่อไปจะขอไม่ได้อีก
เงิน ๗๐ เปอร์เซ็นต์เขาผลาญหมดภายในวันเดียว ทำถูกกฎหมายทุกอย่าง ตั้งโต๊ะจีนรอไว้เลย ถึงเวลาเซ็นอนุมัติไปเรื่อย พอเที่ยงคืนตรงก็วางปากกาฉลองโต๊ะจีน ๓๖๔ วันใช้เงินเพียง ๓๐ เปอร์เซ็นต์ แต่วันเดียวอนุมัติงบ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ไปจนหมด ไม่ต้องเสียเวลาคิดเลยว่าจะไปเข้ากระเป๋าใครบ้าง...!
จึงมีบางคนที่เขาทำวิจัยระบุว่า ถ้าบ้านเราใช้งบประมาณแผ่นดินได้ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ เราจะเจริญพอ ๆ กับญี่ปุ่น จึงอยากจะบอกว่า ปัจจุบันนี้ภาระหน้าที่ต่าง ๆ เป็นสิ่งที่ทุกคนหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว เราทกคนต้องมีส่วนช่วยกันแบกประเทศชาติของเรา ถ้าไม่รู้ว่าจะทำเพื่อใครแล้ว ก็ให้คิดว่าทำเพื่อในหลวงและตัวเราเอง”
*************************
“ทำอย่างไรที่เราจะสร้างจิตสำนึกให้คนรู้จักละอายชั่วกลัวบาป รู้จักเสียสละเพื่อส่วนรวม หน้าที่ใหญ่นี้ให้เริ่มในครอบครัวของเรา คนเป็นพ่อแม่ ภาษาบาลีเรียกว่า บุรพาจารย์ แปลว่า อาจารย์คนแรก จำเป็นจะต้องสั่งสอนลูกหลานเราเอง เพื่อสร้างจิตสำนึกนี้ให้เกิดขึ้นให้ได้
ลำดับต่อไป ก็คือ ครูบาอาจารย์ ใครเป็นครูบาอาจารย์อยู่กับโรงเรียน คนเขาจะตำหนิว่าเป็นไดโนเสาร์เต่าล้านปีขนาดไหนก็ตาม ขอให้ช่วยกันปากเปียกปากแฉะ จ้ำจี้จ้ำไช ช่วยกันสร้างจิตสำนึกของการเสียสละเพื่อส่วนรวม ให้เกิดขึ้นกับเด็ก ๆ ของเราให้ได้
ลำดับต่อไป พระภิกษุสงฆ์ เด็กจะอยู่ใกล้พ่อแม่กับครูบาอาจารย์ก่อนแล้วจึงใกล้พระ เมื่อถึงวาระนั้น ถ้าหากว่าทุกภาคส่วนหน้าที่โดยพร้อมเพรียงกันเราก็จะสามารถสร้างประชากรที่มีคุณค่าขึ้นมาได้
ท่านอื่นที่ทำงานอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเอกชนหรือข้าราชการก็ตาม ก็ต้องพยายามที่จะใช้จิตสำนึกตรงส่วนนี้ว่า การเสียสละเพื่อส่วนรวมเป็นอย่างไร ทำอย่างไรที่เราจะไปถึงที่ทำงานก่อนเวลาและเลิกหลังเวลา ไม่ใช่ไปถึงหลังเวลาจนกระทั่งเขาขีดเส้นแดงไว้แล้ว แต่...ให้ “ช่วยเว้นช่องไว้ให้เซ็นด้วยนะ” จะมีอย่างนี้เยอะมาก
อาตมาเองสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นอาจารย์คนเดียวที่ไปนั่งรอลูกศิษย์ ยังไม่เคยมีลูกศิษย์คนไหนที่ไปถึงห้องเรียนก่อนอาตมา ทำอย่างไรที่เราจะทำอย่างนี้ให้ได้ อาตมาเองเดินทางไกลที่สุดในบรรดาอาจารย์และลูกศิษย์ทั้งหมด แต่ไปถึงห้องเรียนก่อน ไปนั่งรอก่อนเวลาสอนทุกครั้ง
แรก ๆ พวกลูกศิษย์เขาไม่ค่อยจะมาเรียนกัน จนกระทั่งมีอาจารย์อย่างอาตมาทำตัวเป็นตัวอย่าง ท้ายสุดเขาก็มากันเกือบจะเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ทุกครั้ง ถ้าไม่ใช่ป่วยหนักหรือติดธุระ การงานสำคัญที่จริง ๆ จะไม่มีใครขาดเรียน เพราะเขาเห็นแล้วว่า อาจารย์อย่างเราเป็นตัวอย่างที่ดี ที่เขาควรจะเอาเป็นแบบอย่างได้”
*************************
“ตั้งแต่เรียนระดับประกาศนียบัตรเป็นต้นมา มีเพื่อนบางท่านอยู่ในลักษณะสักแต่ว่ามีเปลือกนอกเป็นพระเท่านั้น แต่หลังจากเรียนระดับประกาศนียบัตรจบแล้ว มาต่อปริญญาตรี จนมาต่อปริญญาโท ตอนนี้มีหลายท่านที่พูดอย่างเต็มปากเต็มคำว่า “ผมเป็นอย่างทุกวันนี้ได้เพราะเลียนแบอย่างหลวงพี่เล็กเขา”
เขามักยกตัวอย่างในห้องว่า “ถ้าบรรดาพระเถระทำอย่างพระครูธรรมธรเล็กได้ทุกคน เชื่อมั่นว่าศาสนาของเราจะเจริญ และเป็นที่พึ่งให้กับชาวบ้านได้มากกว่านี้”
สิ่งที่อาตมาทำนั้นเกิดจากน้ำใสใจจริง ก็คือทำด้วยความเคยชินว่า หลวงพ่อสอนเรามาอย่างนี้ เราก็ทำของเราอย่างนี้ จริงจังในทุกเรื่อง เรื่องใดก็ตาม ถ้าหากว่าเราทำจริง สิ่งนั้นก็จะประสบความสำเร็จทั้งนั้น
ในเมื่ออาตมาทำอย่างนี้มาปีหนึ่งก็แล้ว สองปีก็แล้ว สามปีก็แล้ว ในที่สุดคนที่เขาเห็นและเขาเคยอยากทำมาก่อน แต่ไม่กล้าทำ เพราะกลัวว่าตัวเองจะแปลกแยกจากสังคม เขาก็เริ่มกล้าที่จะทำ และคล้อยตามมา ปัจจุบันนี้อาตมาจึงเป็นเจ้าพ่ออยู่ในห้องเรียน บอกซ้ายหันขวาหันอย่างไรเพื่อนก็ตามกันหมด
สมัยอยู่วัดท่าซุงก็เหมือนกัน ตอนนั้นมีพระอยู่กับหลวงพ่อ ๔๐ กว่ารูป จะมีพวกที่แบกกฎระเบียบจนหลังแอ่นอยู่ ๔-๕ รูปเท่านั้น ซึ่งอาตมาก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น และที่แน่ที่สุด ก็คือ กล้าทุ่มเทรับใช้หลวงพ่อชนิดที่ไม่กลัวโดนไล่ออกจากวัด งานอะไรที่หลวงพ่อสั่งจะทำด้วยชีวิต ถ้าไม่ทำไม่สำเร็จให้ตายไปเลย...!
เมื่อทำไปทำมา บรรดาพระพี่พระน้องก็เห็นด้วย จาก ๔๐ กว่ารูปที่ว่า ถ้าอาตมาเรียกซ้ายหันขวาหัน ขอยืนยันว่าหันมาเกิน ๓๐ รูป ทำให้อาตมาพิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่สามารถที่จะอยู่วัดต่อไปได้
แปลกใจไหม...ทำไมถึงอยู่วัดต่อไม่ได้ ? ก็เพราะว่าในเมื่อเขายกคุณขึ้นไปสู่ในจุดที่สูงแล้ว ไม่มีสิ่งใดที่จะต้องให้ไขว่คว้าแข่งขันกับใครแล้ว ถ้าเราปล่อยให้ตัวเองอยู่ในจุดนั้นเมื่อไร จะกลายเป็นน้ำนิ่ง นาน ๆ เข้าก็จะกลายเป็นน้ำเน่า หาความก้าวหน้าไม่ได้
อาตมาจึงได้ทิ้งวัดท่าซุงออกมาข้างนอา มาเร่ิมต้นจากศูนย์ใหม่ เพื่อจะได้ฝึกฝนลับตัวเองให้แหลมคมขึ้น ไม่ใช่ที่อยู่แค่นั้น เพราะคนอื่นเขายกให้เป็นใหญ่เสียแล้ว
ดังนั้น...พวกเราทุกคนควรจะพิจารณาตัวเองด้วยว่า ปัจจุบันนี้เรายินดีกับสภาพปัจจุบันนี้ของเราเอง จนไม่ไขว่คว้าหาความก้าวหน้าใส่ตัวเพิ่มขึ้นหรือเปล่า ? หรือเรายังมีการดิ้นรนแสวงหาความก้าวหน้าอยู่ตลอดเวลา
เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ต้องเกิดจากจิตสำนึกของตนเองล้วน ๆ ไม่สามารถที่จะบอกกล่าวกันได้ เพราะว่าถ้าไม่เกิดจากจิตสำนึกของตนเองแล้ว ถึงบอกไปก็ไม่คิดที่จะทำ หรืออยากที่จะปฏิบัติตาม
มีใครบ้างที่หน้าที่การงานกำลังรุ่งสุด ๆ แล้วกล้าลาออกมาทำงานใหม่ที่เราไม่คุ้นเคยเลย อาตมาทำอย่างนี้มาเกือบตลอดชีวิต ทำงานอยู่ที่โรงงานไทย-ญี่ปุ่นเมตัลอุตสาหกรรม อยู่ ๗ เดือน จากพนักงานทั่วไปเลื่อนขึ้นไปหัวหน้าแผนก อาตมาก็ลาออกมหางานใหม่ทำ เพราะถ้าใหญ่กว่านั้นก็เป็นผู้จัดการโรงงานแล้วไม่เหลืออะไรไว้ท้าทายอีกแล้ว
พอไปเรียนวิชาทหาร ก็ก้าวหน้าจนได้สองขั้นทุกปี จนกระทั่งผู้บังคับบัญชาต้องกางระเบียบการ บอกว่าเขาให้เลื่อนสองขั้นได้แค่สามปีติดกันแล้วต้องเว้น หมายความว่าปีที่สี่ต้องเว้น ปีที่ห้าจึงจะได้สองขั้นต่อไป จนเพื่อนฝูงตามไม่ทัน ก็ลาออกมาบวชเอาดื้อ ๆ
ถ้าเราไม่กลัวการเปลี่ยนแปลง กล้าทำสิ่งใหม่ ๆ เราจะสามารถไขว่คว้าความก้าวหน้าใส่ตัวได้เสมอ แต่ถ้าเรากลัวการเปลี่ยนแปลง ไม่รู้จักพิจารณาตนเองว่า ปัจจุบันนี้เราทำอะไร มีเป้าหมายชีวิตอย่างไร ไม่มีการดิ้นรนไขว่คว้าเพิ่มเติม เราจะกลายเป็นน้ำเน่า ท้ายสุดก็ใช้การอะไรไม่ได้ ดีไม่ดีก็จมอยู่กับสิ่งที่ไม่ดี กลายเป็นเกิดมาเสียชาติเกิด ขาดทุนไปเปล่า ๆ
เรื่องเหล่านี้ที่จำเป็นต้องยกตัวเองมากล่า เพราะเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด หลายต่อหลายคนบอกว่าทิ้งวัดท่าซุงมาได้อย่างไร ก็บอกเขาไปว่า “ถ้ายังอยู่ที่นั่น จะหาความก้าวหน้าต่อไปไม่ได้”
พออกมาข้างนอกช่วยเขาสร้างวัดอยู่หลายวัด สร้างเสร็จก็ไปต่อ จนกระทั่งญาติโยมจำนวนหนึ่งถึงขนาดออกปากว่า “สร้างแล้วไม่อยู่จะสร้างไปทำไม ?” จึงบอกกับโยมว่า “อาตมามีหน้าที่สร้าง ไม่ได้มีหน้าที่อยู่” เขาบอกว่า “อุตส่าห์ทำจนดีขนาดนั้นแล้วทิ้งไปได้อย่างไร ?”
อาตมายืนยันอย่างเต็มปากเต็มคำว่า ถ้าเกี่ยวกับวัดวาอาราม ในความรู้สึกของอาตมาแล้ว วัดท่าซุงเป็นสถานที่ซึ่งดีที่สุด ถ้าสถานที่ดีที่สุดอาตมายังทิ้งมาได้ สถานที่ซึ่งทิ้งไม่ได้นั้นก็ไม่มีอีกแล้ว
ดังนั้น....สิ่งที่อยากจะเตือนพวกเราก็คือว่า ปัจจุบันเราถือว่าเป็นนักปฏิบัติ มีอะไรที่เรายึดมั่นแล้วทิ้งไม่ได้บ้างหรือไม่ ? คนที่เรารัก ของที่เรารัก หน้าที่การงาน ทรัพย์สมบัติต่าง ๆ ฐานะ เกียรติยศ ชื่อเสียงในสังคม สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ถ้าอยู่ ๆ หลุดพ้นจากมือเราไป เราจะอยู่ได้หรือไม่ ? หรือให้เราละทิ้งไปเอง เราจะทำได้หรือไม่ ? ไตร่ตรองให้ดี ๆ บุคคลที่หวังการหลุดพ้น จะต้องไม่มีอะไรที่มาร้อยรัดเราให้ติดอยู่กับวัฏสงสารได้”
*************************
ถาม : การอยู่กับตัวเองในอรูปฌาน กับ การกระทบกิเลสแล้วมุดเข้าอรูปฌาน เป็นการติดในอรูปฌานไหมคะ ?
ตอบ : เป็นการรู้จักใช้งานในอรูปฌานมากกว่า ไม่อย่างนั้นฝึกมาก็จะเสียเวลาเปล่า เพียงแต่ว่าการใช้งานนั้น เราจะต้องมีสติระลึกรู้อยู่เสมอว่า สิ่งนี้ไม่ใช่ที่พึ่งที่แท้จริงของเรา เพียงช่วยในการสกัดกั้นกระแสกิเลสให้กับเราชั่วคราวเท่านั้น และท้ายสุดเราจะต้องเอากำลังของรูปฌานหรืออรูปฌานนี้ เป็นบันไดก้าวล่วงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ก็คือพระนิพพาน
แรก ๆ เราก็ใช้หนีกิเลสก่อน เพราะรู้ว่าสู้ไม่ได้ จึงต้องอาศัยใส่เกราะไว้ ก็คือ ใช้รูปฌานและอรูปฌานนี่แหละ เป็นเกราะในการป้องกันตัวเอง หลังจากที่มีความชำนาญมากขึ้น เราสามารถที่จะพลิกแพลงใช้ได้ตามใจปรารถนาแล้ว เราก็สามารถที่จะเอากำลังตรงนี้ มาใช้ในการพิจารณาตัดกิเลสเพื่อการล่วงพ้นอย่างแท้จริง
ถาม : ต้องรอเวลาที่เหมาะสม จึงจะพลิกจากดีเป็น...?
ตอบ : ใช่…แต่ถ้าเราขาดสติเมื่อไร ก็จะกลายเป็นยึดติด แล้วกลายเป็นรูปราคะ อรูปราคะ ในสังโยชน์ไปทันที
ถาม : ถ้าเราเพลินกับการมุดอยู่แต่ในนั้น ?
ตอบ : โผล่ออกมาบ้าง โดนกิเลสตีให้หัวร้างคางแตก รักษาแผลบ่อย ๆ เดี๋ยวก็จะชำนาญไปเอง
ถาม : การปฏิบัติต้องรอให้ทาน ศีล ภาวนา เกิดกำลังพอ จึงจะมีกำลังในการตัดกิเลส การที่เราอยู่ในอรูปฌาน ก็คือการสั่งสมกำลังของเราไม่ใช่หรือคะ ?
ตอบ : จะเรียกว่าเป็นการสั่งสมกำลังก็ใช่ แต่ขณะเดียวกัน เราอาจจะเพลิดเพลินจนติดอยู่กับฌานนั้นเลยก็ได้
ถาม : มีข้อเสียอะไรบ้างคะ ?
ตอบ : ถ้าเพลิดเพลินกับฌานก็จะติดอยู่แค่นั้น ไปต่อไม่ได้ แล้วเราก็ไม่รู้ว่าจะต้องเกิดมาทุกข์เพราะการติดอยู่ตรงนี้อีกนานเท่าไร
ถาม : แต่ก็เป็นการสั่งสมกำลังไปเรื่อย ๆ เหมือนกัน ?
ตอบ : ไม่เถียงเลยว่าเป็นการสั่งสมกำลัง แต่เราอาจจะสั่งสมเพลินเสียจนลืมเอามาใช้ เงินกองท่วมบ้านแต่ไม่ได้ใช้เงินเสียที แก่ตายกันพอดี...!
ถาม : การระมัดระวังไม่ให้กิเลส ตัณหา ราคะเข้ามาเกาะกินใจเรา เป็นการทรงฌานใช่ไหมคะ ?
ตอบ : ใช่…พอทำไปจนชินก็จะเป็นฌานไปเอง
ถาม : ก็อยู่ในกรอบของเราสิคะ ?
ตอบ : ถึงจะอยู่ในกรอบ แต่ สติ สมาธิ ปัญญา ของเราต้องสมบูรณ์พร้อมถึงจะใช้ได้ ของเรายังอยู่ในระดับที่ต้องระมัดระวังจนตัวลีบ ทำอย่างไรที่จะเป็นไปโดยธรรมชาติโดยที่เราไม่ต้องตั้งท่าให้เหนื่อย ถ้าถึงระดับนั้นแล้วจึงจะพอเอาตัวรอดได้
ถาม : การเปิดใจกว้าง ไม่ได้อยู่ในรูปฌานหรืออรูปฌาน ทำให้ไม่มีตัวกั้นหมิ่นเหม่ต่อการแพ้กิเลสมากเลยค่ะ ?
ตอบ : ก็ใครว่าไม่หมิ่นเหม่เล่า ? อย่างน้อย ๆ เราต้องมีศีลห้าเป็นกรอบ ไม่อย่างนั้นถ้าเราเปิดกว้างไปเรื่อย เดี๋ยวกลายเป็นรับเอาส่วนที่ไม่ดีเข้ามาแทน เรารับได้ แต่ถ้าเราเผลอคล้อยตามเมื่อไรก็จะชั่วไปเลย
ถาม : จิตใจที่เปิดกว้าง จะทำให้รับสัมผัสกับสิ่งที่ละเอียดได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ไหมคะ ?
ตอบ : ได้ แต่อย่าลืมว่าสิ่งเหล่านั้นมีทั้งดีทั้งชั่ว ถ้าหากขาดสติปัญญา มีการไตร่ตรองไม่เพียงพอ อย่างเรื่องมิจฉาทิฐิกับสัมมาทิฐิ เราจะเห็นว่าต่างกันแค่นิดเดียว จากเทพจะเป็นอสูรไปทันทีเลย เพราะฉะนั้น...อย่าไปเปิดกว้างส่งเดช ต้องเปิดกว้างด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่งยวด
ถาม : แต่เป็นสุขมากเลยนะคะ ?
ตอบ : เป็นปกติของผู้ทรงฌานที่จะเป็นสุข แต่เป็นสุขก็เป็นสุขไป ติดสุขเมื่อไรก็ติดอยู่แค่นั้นเอง ต้องสักแต่รับรู้ว่าตอนนี้เป็นอย่างไร อันนี้เป็นเวทนาในเวทนา รู้สุข รู้ทุกข์ รู้ว่าไม่สุขไม่ทุกข์
เราเป็นคนดู สักแต่ว่ารู้เฉย ๆ อย่าลงไปเป็นคนเล่น ด้วยการมีอารมณ์ร่วมตามไปด้วย ไม่อย่างนั้นเราจะพลาด ให้กิเลสเขาหลอกต้มเปื่อยไปอีกหลายชาติ
บนเส้นทางวัฏสงสารที่ยาวนาน ไม่เห็นต้นไม่เห็นปลายี้ เราโดนมารหลอกมาจนนับครั้งและนับชาติไม่ถ้วน พาดแล้วพลาดอีก เพราะฉะนั้น...ในเมื่อตอนนี้เรารู้อยู่ว่า เราหมิ่นเหม่ เหมือนกำลังเดินอยู่บนเส้นลวดข้ามเหวอย่างไร เรายิ่งต้องระมัดระวังให้มากขึ้น เพราะว่าถ้าพลาดไปที โอกาสที่เราจะแก้ตัวใหม่ก็อีกนานเหลือเกิน
ถาม : การรับรู้ความละเอียดอ่อนของบางคน บางอย่างที่ซึ้ง ทำให้เราร้สึกซึ้งตามไปด้วย ?
ตอบ : เรากำลังยินดียินร้ายตามเขาไป...ใช่ไหม ?
ถาม : เป็นการรู้ความทุกข์ของเขาอยู่ในระดับไหน ?
ตอบ : แล้วอย่างไร ? ถ้าเรายินดียินร้ายตามเขาเมื่อไรก็เสร็จเมื่อนั้น ต้องสักแต่ว่ารับรู้ สิ่งไหนสามารถสงเคราะห์ช่วยเหลือ สามารถแก้ไขได้ก็แก้ไขไปตามสภา พ้นจากนั้นไปแล้วก็แล้วกันไป
ถาม : เราต้องทนรับรู้ ?
ตอบ : ขั้นแรก ๆ เราต้องทนรับรู้ เพราะเราไปแบกแทนเขาเสียเต็ม ๆ แต่ถ้าเราสามารถสักแต่ว่ารับรู้ ก็จะรับรู้แล้วปล่อยวาง ถ้ารับรู้แล้วปล่อยวาง จะไม่มีส่วนใดที่มากระทบกระทั่งเราได้
ถาม : ถ้ารับรู้ความทุกข์ของเขาแล้วสงสาร อย่างนี้กระทบกระทั่งไหมคะ ?
ตอบ : ยิ่งติดหนักเข้าไปอีก เพราะถึงเวลานั้นเราต้องตะเกียกตะกายไปช่วยเขาสุดชีวิต นั่นไม่ใช่สักแต่ว่ารับรู้และทำหน้าที่เฉพาะหน้าแล้ว แต่เป็นการไปยุ่งเกี่ยวกฎแห่งกรรมของคนอื่นเขาแล้ว
ถาม : เราต้องไม่แตะเลย ?
ตอบ : ไม่ใช่ไม่แตะ...บอกแล้วว่าสงเคราะห์ไปตามสภาพการณ์เฉพาะหน้า พ้นจากนั้นก็แล้วกันไป
ถาม : ทำอย่างไรเราจะถอยอออกมาได้ทัน ?
ตอบ : ใส่ สติ สมาธิ ปัญญา ลงไปเยอะ ๆ
ถาม : สักแต่ว่ารับรู้ แล้วจะ...(ไม่ได้ยิน) ?
ตอบ : ต้องสักแต่ว่ารับรู้ได้ทุกเรื่อง สักแต่ว่าเห็น สักแต่ว่าได้ยิน สักแต่ว่าได้กลิ่น สักแต่ว่าได้รส สักแต่ว่าสัมผัส ทำอย่างไรที่ใจเราจะไม่ไปนึกคิดปรุงแต่งเพิ่มเติม ทำให้เกิดทุกข์เกิดโทษขึ้นมา ถ้าอย่างนั้นทุกอย่างจะเป็นธรรมดา เป็นไปตามสภาพของธรรม ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
แต่ถ้าเราไปเผลอปรุงแต่งขึ้นมาเมื่อไร ก็จะเกิดทุกข์เกิดโทษทันที และตัวเราเองนั่นแหละ ที่จะไปติดอยู่ในวังวนแล้วแกะตัวเองไม่ออก
แต่ไม่เป็นไร อย่างน้อย ๆ ตอนนี้เราคลำทางได้นิด ๆ จับได้เต็ม ๆ มือเมื่อไรก็อย่าปล่อยแล้วกัน
ถาม : สักแต่ว่ารับรู้ได้บางเวลา ?
ตอบ : ต้องให้ได้อย่างนั้นก่อน แล้วเราจำอารมณ์นั้นเอาไว้ พอจำอารมณ์นั้นเอาไว้ ถึงเวลาเราก็พยายามเข้าถึงอารมณ์ในั้นให้ได้อีก แล้วจะทำได้มากขึ้น นานขึ้นเรื่อย ๆ นักปฏิบัติจึงต้องกรมีการฝึกซ้อมบ่อย ๆ
ถาม : การที่รับรุ้แล้วหยุด เหมือนใช้ฌานกดเพื่อให้หยุด ยังไม่ใช่สติใช่ไหมคะ ?
ตอบ : ยังไม่ใช่สติที่แท้จริง ยังเป็นการใช้ฌานเป็นกำลังในการสกัดกั้นอยู่ ยังไม่ใช่ปัญญาในการปล่อยวาง ถ้าเป็นปัญญาหล่อยวาง เราก็ไม่ต้องออกแรงแล้ว อย่าลืมว่า สติ สมาธิ ปัญญา ต้องทำงานพร้อม ๆ กัน การปฏิบัติธรรมถึงจะเจริญ
ถาม : ยังรู้สึกหนัก ๆ อยู่ ?
ตอบ : ต้องมีปัญญาปล่อยวาง กิเลสก็เหมือนกับภูเขาถล่มลงมาตรงหน้า อย่าดันทะลึ่งเดินเข้าไปรับเอาไว้ แค่ยืนมองเท่านั้น อยากถล่มก็ถล่มลงมาไม่ได้เกี่ยวกับเราเลย
แต่ปัจจุบันของเรายังต้องใช้กำลังไปดันไปต้านเอาไว้ ไม่อย่างนั้นก็โดนทับตาย ไม่เป็นไร..พยายามยุ่งกับกรรมของคนอื่นเขาให้เยอะไว้ แล้วทุกอย่างจะดีขึ้น เพราะจะได้เห็นทุกข์อย่างชัดเจน...!
*************************
ถาม : การเห็นเขาทำบุญ แล้วเราโมทนากับเขา ทำให้ชุ่มชื่นใจ เข้ากับพรหมวิหาร ๔ หรือเปล่า ?
ตอบ : เป็นมุทิตาในพรหมวิหารสี่ แต่ก็ยังติดในส่วนที่ดีอยู่ แต่ให้ติดดีไว้ก่อน เพราะเราจะต้องสั่งสมดีจนถึงที่สุด จึงจะพ้นดีได้
เราจมอยู่ในบ่อ ก็ต้องค่อย ๆ ถมบ่อให้สูงขึ้น จนในที่สุดเราก็ปีนพ้นปากบ่อขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้น...เรื่องของการที่เราติดดีเหมือนกัน ก็คือการที่เราสั่งสมความดีมากขึ้น ๆ ในที่สุดเราก็ก้าวพ้นความดีไปได้
เหตุที่เราต้องสั่งสมความดีละความชั่ว เพราะว่าความชั่วมีแต่จะนำทุกข์ทำโทษใหเ้ราอยู่ตอลดเวลา เราก็ต้องละชั่วทำดี ละชั่วทำดีไปเรื่อย จนกระทั่งสุดท้ายสุดหลุมก็ตื้นขึ้น พอที่จะให้เราก้าวพ้นไปได้ก็จบ ไม่อย่างนั้นเราก็ยังจมอยู่ในหลุมตลอดเวลา
ถาม : พรหมวิหาร ๔ ต้องทำให้ถึงอุเบกขาทุกครั้งหรือคะ ?
ตอบ : ถ้าไม่ทำให้ถึง แล้วจะมีอุเบกขาไว้ทำอะไรเล่า ...?
ถาม : โมทนาแล้วจะไปถึงอุเบกขาอย่างไรคะ ?
ตอบ : โมทนาไปแบบฉันยินดีด้วยนะ ถ้ามีโอกาสฉันก็จะทำ แต่ถ้าไม่มีโอกาส เธอทำไปเถอะ ฉันจะคอยโมทนาอีก..!
ไม่ต้องดิ้นรนที่จะไปทำเองให้ได้ ถ้ามีโอกาสเราก็ทำ ทำด้วยความไม่ประมาท ทำด้วยความที่โลกสรรเสริญว่าสิ่งนี้ดีเราจึงทำ งดเว้นการกระทำที่โลกเห็นว่าสิ่งนั้นไม่ดี ก็เท่านี้แหละ
ถาม : เราเสียสละทำเพื่อส่วนรวม แต่คนรอบข้างไม่เห็นบุญคุณ และว่าเราเสีย ๆ หาย ๆ ?
ตอบ : ทำไมต้องไปสนใจด้วย...! ก็บอกแล้วว่าให้ทำดีเพราะอยากทำไม่ใช่ทำดีเพราะอยากดี คนอื่นจะว่าอะไรก็ช่างเขา เราก็ทำของเราไป
*************************
“ปี ๒๕๕๓ วัดท่าขนุนมีรายรับ ๑๘ ล้านบาทเศษ จ่ายไป ๒๑ ล้านบาทเศษ ติดลบเกือบสี่ล้าน...! เป็นหนี้เฉพาะที่วัดที่เดียว ถ้าที่บ้านวิริยบารมีรายรับแทบจะไม่มี มีแต่รายจ่าย ๓๐,๕๐๐,๐๐๐ บาท รวมค่าที่ ๒๔๐ ตารางวาด้วย
เหตุที่ราคาแพงมาก เพราะถ้าสถานีรถไฟฟ้าไปถึง จะลงปากซอยบ้านวิริยบารมีพอดี ที่ดินก็เลยค่อนข้างจะแพงมาก แต่ค่าก่อสร้างตอนแรกเขาตีเอาไว้ที่ ๑๖ ล้านบาท พอมาตอนหลังวัสดุขึ้นราคา
ช่วงที่ไปเลือกวัสดุเกี่ยวกับระบบเสียงและไฟฟ้าต่าง ๆ เขาขอเพิ่มราคาขึ้นมา กลายเป็นว่าราคา ณ ปัจจุบันนี้ ๓๐,๕๐๐,๐๐๐ บาท”
*************************
“ตอนแรกพระท่านสั่งให้สร้างพระชัยวัฒน์รุ่นหนึ่ง เอาเข้าพิธีเสาร์ห้าไปเรียบร้อยแล้ว ท่านบอกว่า เตรียมไว้สำหรับงานฉลอง อาตมาก็สงสัยว่างานฉลองอะไร นึกไปนึกมา ตัวเราเองจะสอบพระอุปัชฌาย์ปีนี้ น่าจะเป็นการฉลองพระอุปัชฌาย์ ปรากฎว่าไม่ใช่ กลายเป็นงานฉลองบ้านวิริยบารมี
|