​​​ กระโถนข้างธรรมาสน์ ฉบับที่ ๑๖๔

 

เก็บตกบ้านอนุสาวรีย์ เดือนธันวาคม ๒๕๕๓


              “เรามาลองคิดดูว่า ในเรื่องการปฏิบัติเหมือนกัน ถ้าเราไม่รู้จักสังเกตอารมณ์ใจตัวเอง เราก็ไม่สามารถที่จะแก้ไขให้ดีให้ชั่วได้อย่างที่เราต้องการ แก้ไขให้ชั่วคงไม่ต้องหรอก แต่ละชั่วแล้วทำดีให้ได้ก็พอ
              ในเรื่องของการปฏิบัติ ถ้าเป็นคนช่างสังเกต ต่อไปเรื่องหยาบ ๆ ทางโลกก็สามารถที่จะแก้ไขได้ง่าย เพราะความละเอียดทางใจเราทำได้ก่อนแล้ว
              ใครจะไปนึกว่า ท่านขึ้นไปเป็นถึงสมเด็จพระราชาคณะ แต่ก่อนหน้านี้ทุกอย่างท่านทำด้วยตัวเอง
              ให้สังเกตว่าถ้าคนไม่เป็นงาน จะสั่งงานไม่ถูก แต่ถ้าบุคคลที่เคยเป็นงานมาก่อน จะสั่งงานได้ถูก นอกจากสั่งงานถูกยังไม่พอ ยังไม่มากเรื่องอีกด้วย
              เพราะรู้ว่าช่างแต่ละคนส่วนใหญ่ต้องการความอิสระในการทำงาน”
*************************

              “เด็กสมัยนี้ที่ทำแท้กันมาก เพราะสภาพสังคมเปลี่ยนไป สมัยก่อนอย่างช่วงอาตมายังเป็นวัยรุ่น ถ้าผู้หญิงคนไหนท้องไม่มีพ่อ แทบจะต้องย้ายประเทศกันเลย เพราะว่าสังคมจะรุมประณามกันรอบด้าน ไม่เหมือนสมัยนี้ที่เขาเห็นเป็นเรื่องปกติ
              ในเมื่อสภาพสังคมไม่ช่วยควบคุม ทำให้เด็กเตลิดเปิดเปิงไปกันใหญ่ ไม่อย่างนั้นเขาจะต้องยั้งคิดว่า จะทำให้เสียหายถึงพ่อแม่ เสียหายถึงชื่อเสียงวงศ์ตระกูล เสียหายไปถึงพี่น้อง
              สภาพสังคมของเราเปลี่ยนแปลง เพราะไปรับเอาวัฒนธรรมต่างชาติเข้ามาแบบไม่บันยะบันยัง พูดกันง่าย ๆ ก็คือ รับเอาวัฒนธรรมอเมริกันเข้ามา
              วัฒนธรรมอเมริกันเขาเปิดกว้างในเรื่องของเพศก็จริง แต่เขามีข้อจำกัดที่ชัดเจนมาก อย่างเช่น ถ้าคุณแต่งงานแล้ว จะไปหาเศษหาเลยนอกบ้านไม่ได้เด็ดขาด อย่างที่ ไทเกอร์ วูด โดนไปเต็ม ๆ แทบจะอยู่ในสังคมไม่ได้
              อีกอย่างก็คือ พอลูก ๆ เริ่มเข้าสู่วัยรุ่น ก็มักจะแยกตัวจากพ่อแม่ ทำมาหากิน หาเงินหาทองเอง ถ้าอย่างนั้นก็ถือว่าได้ แต่บ้านเรายังขอเงินพ่อแม่ ทั้งผู้ชายและผู้หญิง ถึงเวลาจะไปเลี้ยงลูกได้อย่างไร เพราะตัวเองยังไม่สามารถรับผิดชอบตัวเองได้ก็เลยกลายเป็นปัญหาอย่างที่เห็นกัน
              ถามว่ามีตัวอย่างบ้างไหม ที่รับเอาวัฒนธรรมเข้ามา แล้วปรับให้เหมาะสมกับสภาพสังคมตัวเอง มีชัดที่สุดก็ที่ประเทศเกาหลี ในเรื่องของวัฒนธรรมเกาหลีเขาเข้มแข็งมาก พอถึงเวลามีงาน เขาก็ใส่ชุดฮันบกของเขา และส่งผ่านวัฒนธรรมออกไปประเทศต่าง ๆ บ้านเราก็เห่อตั้งแต่แดจังกึมเป็นต้นมา และมีการเลียนแบบดาราเกาหลี แม้กระทั่งคนญี่ปุ่นก็ยังชื่นชอบดาราเกาหลี
              เราจะเห็นว่า เขารับเอาวัฒนธรรมภายนอกมาก็จริง แต่เขาจะไม่ให้เกินเลยกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของเขา ความเจริญทุกอย่งเขารับ แต่ในส่วนจิตวิญญาณเขายังเป็นเกาหลีแท้อยู่ ไม่เหมือนอย่างบ้านเรา ถ้าไม่กินแม็คโนัลด์ ไม่กินเคเอฟซี ไม่ได้ซื้อคริสปี้ครีม ก็ไม่ทันสมัย และไม่ได้ดูความเหมาะสมกับสภาพ
              อย่างไอศกรีม ขนมเค้ก อาหารของฝรั่งประเภทแดกด่วน ส่วนใหญ่แล้วสารอาหารเขาสูงมาก เพราะเขาต้องการแคลอรี่เพื่อไปสู้กับความหนาว แต่บ้านเราเป็นเมืองร้อน กินเท่าไรก็เก็บหมด ไม่ได้นำไปใช้ เพราะฉะนั้น...เด็กบ้านเราจะป่วยเป็นโรคอ้วนกันเยอะมาก
              หน้ามืดตามัว แห่ตามเป็นแฟชั่น ไปเข้าแถวยาวเป็นกิโล เพื่อที่จะไปซื้อขนมวง อาตมาจะบ้าแทน ชิมไปแล้วไม่เห็นจะงอกปีกงอกหางเป็นกินรีได้...! รสชาติก็ไม่เอาอ่าว ขนมอื่นอร่อยกว่าเยอะเลย อีกไม่เกินสามเดือน ก็คงจะสูญหายไปจากสังคมไทย คนก็จะไม่รู้จักขนมชนิดนี้อีกแล้ว เพราะว่าไม่ดีจริง
              แบบเดียวกับตอนที่โรตีบอยเข้ามา อันนั้นอยู่ได้ตั้งสองเดือน สาขาที่ลงทุนหลัง ๆ เลยเจ๊งไปตาม ๆ กัน เพราะขายไม่ออก เนื่องจากว่ามีดีแต่กลิ่น กลิ่นหอมไปไกลเป็นกิโล ส่วนรสชาิตไม่เอาไหนเลย
              สังคมปัจจุบันเป็นลักษณะมือใครยาวสาวได้สาวเอา น้ำขึ้นต้องรีบตัก ว่ากันไม่ได้หรอก แต่ละคนก็ฉวยโอกาสกันทั้งนั้น โดยเฉพาะพวกรับจ้างเข้าแถว ๕๐๐ บาท เพื่อจะได้ทันสมัย ไปคุยกับเขาได้ว่ากินมาแล้ว ตกลงราคาซื้อความทันสมัยนรั้นแพงมากเลย
*************************

              เราจะไปรอครูบาอาจารย์อย่างเดียวก็ไม่ได้ สภาพสังคมสมัยก่อน ความสัมพันธ์ในครอบครัวแน่นแฟ้นมาก ปู่ย่าตายายสอนพ่อแม่ลุงป้าน้าอามา รุ่นพ่อรุ่นแม่ลุงป้าน้าอาก็สอนลูกสอนหลานกันไป เป็นการถ่ายทอดและส่งผ่านรุ่นสู่รุ่นมเรื่อย ในปัจจุบันนี้สภาพอย่างนั้นหาได้ยากมากแล้ว บ้านไหนที่ยังรักษาสภาพเช่นั้นได้ ถือว่าโชคดีที่สุด เพราะสถาบันครอบครัวยังไม่ล่มสลาย
              ถ้าเราไม่ช่วยกัน มัวแต่รอให้ครูบาอาจารย์ รอสภาพสังคมให้ช่วย ไม่ต้องไปหวังหรอก ทุกอย่างก้าวเข้าไปหาความเสื่อมอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะปัจจุบันนี้เป็น สังวัฏฏอสงไขยกป เป็นกัปในด้านเสื่อม
              สังวัฏฏฐายีอสงไขยกัป
ก็คือ กัปที่เสื่อมไปเรียบร้อยแล้ว หรือเราจะถือว่ายุคนี้เสื่อมไปเรียบร้อยแล้วก็ได้
              ถัดจากนั้นก็จะเป็น วิวัฏฏอสงไขยกัป กัปที่ค่อย ๆ เจริญขึ้น
              จนถึง วิวัฏฏฐายีอสงไขยกัป กัปที่ตั้งอยู่ในความเจริญล้วน ๆ ก็น่าจะเป็นสมัยของสมเด็จพระศรีอาริยเมตไตรย”
*************************

              “เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา เป็นวันหนึ่งที่คนไทยมีความสุขมาก เพราะในหลวงเสด็จไปเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ และเปิดสะพานภูมิพล ๑ ภูมิพล ๒
              เราจะเห็นว่าพระองค์ท่านทุ่มเททรงงานเพื่อประชาชนมาโดยตลอด โดยไม่เห็นแก่พระวรกายของพระองค์เองที่ทรุดโทรม
              และได้ข่าวว่าทางวัดไทยกุสินาราฯ ขออนุญาตสร้างพระบรมรูปเพื่อไปตั้งไว้ที่นั่น พอได้ยินแล้วอาตมารู้สึกไม่ค่อยดี เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมา บุคคลที่ทรงความดีสูง ๆ ถ้ามีรูปแทนตัวเมื่อไร มักจะไปไม่เคยเกินสามปีทุกราย ให้ลองสังเกตดูว่าจะเป็นไปตามนั้นหรือไม่
              แต่จากสภาพของในหลวงแล้ว ถ้าคิดแบบไม่ประมาทก็ต้องดูกันวันต่อวัน เพราะว่าพระองค์ท่านทรงตรากตรำมามาก พระวรกายชำรุดทรุดโทรมมาก พระชนมายุถึง ๘๓-๘๔ พรรษาแล้ว โอกาสจะฟื้นคืนดีเหมือนหนุ่ม ๆ ก็ยากมากแล้ว
              ทำให้นึกถึงหลวงปู่ทองเทศ ตอนที่ยังอยู่ที่วัดท่าซุง ท่านอายุ ๙๐ กว่าแล้ว หกล้มครั้งหนึ่งกว่าแผลจะหายก็เป็นเดือน คนอายุ ๙๐ กว่าเนื้อไม่ค่อยอยากจะงอกมาปิดแล้ว
              ในเมื่อเป็นดังนั้น...เราก็ต้องดูกันวันต่อวัน แต่มีวิธีก็คือ สร้างความดีให้มาก ๆ อุทิศถวายเป็นพระราชกุศล เพื่อพระองค์ท่านจะได้อยู่กับพวกเราไปนาน ๆ อย่างวัดท่าขนุนก็จัดบวชเนกขัมมะถวายเป็นพระราชกุศล ปีละหลายรุ่นด้วยกัน”
*************************

      ถาม :  ผมเคยบวช แต่ไม่แน่ใจว่าพระที่ร่วมในสังฆกรรมจะมีศีลครบหรือเปล่า ตอนนี้ผมตั้งใจว่าจะบวชอีก ไม่แน่ใจว่าการบวชครั้งใหม่จะเกิดอานิสงส์หรือไม่ ?
      ตอบ :  ก็ไปบวชในที่ที่เรามั่นใจสิ
      ถาม :  ของเก่าผ่านไปแล้วหรือครับ ?
      ตอบ :  ของเก่าผ่านไปแล้วก็แล้วกันไป บวชพระแล้วแต่ได้อานิสงส์ของเณรไป
      ถาม :  ผมกลัวว่าการบวชครั้งเก่าจะมีผลกับการบวชครั้งใหม่ ?
      ตอบ :  ถ้าบวชใหม่ถูกต้อง สังฆกรรมไม่เสีย ก็เป็นอันว่าเป็นพระ เมื่อเป็นพระก็ปฏิบัติให้ดี ขึ้นอยู่กับเราว่าทำถูกหรือทำผิด ถ้าทำถูกก็ไม่เป็นไร ถ้าทำผิดก็เป็นอาบัติ
      ถาม :  ถ้าเป็นอาบัติที่ติดค้างจากครั้งก่อน ?
      ตอบ :  เวลาคุณแสดงอาบัติ สัพพาตา อาปัตติโย อาโรเจมิ แปลว่า ทั้งหมดเลย สัพพะคือทั้งหมด ไม่ใช่แค่ข้อใดข้อหนึ่ง ถ้าไม่ใช่อาบัติที่แสดงคืนไม่ได้ อย่างปาราชิกหรือสังฆาทิเสส เขาถือว่าแสดงคืนไปหมดแล้ว
*************************

      ถาม :  จับลมสามฐานไปสักพัก ก็จับสามฐานไม่ได้ จะเหลือแค่นิดเดียว เราต้องเอาให้ได้สามฐาน หรือเอาแค่นั้นก็พอ ?
      ตอบเหลือแค่ไหน ให้กำหนดรู้แค่นั้น เพราะถ้าเราไปบังคับ แทนที่สมาธิจะสูงขึ้น กลายเป็นว่าลดกลับมาเหลือเท่าเดิม
              อย่าไปบังคับ แค่กำหนดรู้เฉย ๆ ว่าตอนนี้ลมหายใจของเรา แรงหรือเบา ยาวหรือสั้น จะเหลือกี่ฐานก็ช่าง เรามีหน้าที่ตามรู้อย่างเดียว
      ถาม :  อาการที่เป็นอย่างนี้ จะเป็นเยอะตอนทำสมาธิ จะขวางการทำสมาธิ ?
      ตอบ :  อาการเหล่านี้บางทีเขาเรียกว่า ขันธมาร เขาแค่ต้องการให้เราเข้าใจผิด คิดว่าการทำความดีแล้วมีผลไม่ดี หรือว่าทำความดีแล้วอาการเหล่านี้จึงเกิดขึ้น แล้วก็เลิกทำ
              เพราะฉะนั้น...ถ้าหากเราตั้งใจว่าตายเป็นตาย เขาก็จะแกล้งได้ไม่นานเดี๋ยวก็ถอยไปเอง
      ถาม :  คราวก่อนไปสวดมนต์ข้ามปี ก็เรอเสียงดังครับ ?
      ตอบ :  บอกแล้วให้ตั้งใจว่า ต่อให้ตายเราก็จะทำความดี
      ถาม :  บางคนที่มีเทพใหญ่ เราจะเกิดอาการนี้ด้วย ยิ่งหนักขึ้นทุกที ?
      ตอบ :  ปล่อยไป กำหนดรู้ไว้อย่างเดียวว่า อะไรก็ไม่เกินตายหรอก ต่อให้ตายเราก็จะทำความดี แต่ก็ดีอยู่อย่างนึ่ง จะได้เป็นเครื่องวัดได้ว่า ที่ไหนที่เราไป มีสภาพอย่างไร อะไรที่มีพลังงานในส่วนที่ละเอียดอยู่ เราจะกระทบและรับได้เร็ว
*************************

      ถาม :  กลุ่มผมเวลาคุยกัน จะมีอาการเจ็บป่วยเหมือนกัน อย่างเราปวดหัว คุยกับเขา เขาก็ปวดด้วย หรือเขาปวดไหล เราก็ปวดไหล่กับเขา ?
      ตอบ :  อาจจะอยู่ในลักษณะที่ว่า ทำกรรมมาในลักษณะเดียวกัน ก็เลยสามารถที่จะรับรู้ในอาการเดียวกันได้
      ถาม :  เป็นเรื่องปกติหรือเปล่าครับ ?
      ตอบ :  ถือว่าเป็นเรื่องปกติ
*************************

      ถาม :  เวลานั่งสมาธิ จะรู้สึกอยากออกจากสมาธิ ตอนแรกก็ห่าง แล้วจะถี่ขึ้นเรื่อย ๆ จนต้องออกจากสมาธิภายใน ๑ นาที ควรจะทำอย่างไรดีครับ ?
      ตอบ :  ฝืนไว้...ถ้าไม่ได้ให้ตายไปเลย ถ้าเราไม่คิดที่จะฝนบ้าง กำลังของกิเลสที่สูงกว่า ก็จะผลักดันไม่ให้เราสร้างสมาธิไปตลอดชาติ
              ลองสู้ดูสิ ถ้าเราทำต่อแล้วจะขาดใจตายไปไหม ? ถ้าราสู้ได้สักครั้ง ต่อไปก็ใช้กำลังแค่นั้นแหละ ไม่ได้เกินนั้นหรอก ต้องคิดว่าคนอื่นสิบนิ้วเท่าเรา เขายังทำได้ แล้วทำไมเราจะทำไม่ได้
      ถาม :  แบบนี้จัดเป็นขันธมารหรือกิเลสมาร ?
      ตอบ :  ทั้งสองอย่างเลย
              ถ้าเคยอ่านพระไตรปิฎกผ่านตามาบ้าง จะเห็นว่าพระพุทธเจ้าท่านเริ่มโอวาทปาฏิโมกข์ด้วยขันติ คือความอดทน ถ้าไม่มีความอดทน ทำอะไรก็ไม่สำเร็จ ส่วนใหญ่ไม่มีความอดทน อยากได้ดีแต่ไม่มีความอดทน ก็เลยดียาก...!
*************************

      ถาม :  เวลาภาวนา จะกำหนดความรู้สึกตรงตาที่สาม เป็นวิธีที่ถูกต้องหรือเปล่าครับ ?
      ตอบ :  เขาให้กำหนดที่ลมหายใจเข้าออก ถ้าไม่กำหนดที่ลมหายใจเข้าออก สมาธิจะทรงตัวยาก อย่างดีก็จะได้แค่ชั่วครั้งชั่วคราว แล้วก็หายไป ต้องกำหดนความรู้สึกให้ไหลตามลมหายใจเข้าไป ไหลตามลมหายใจออกมา ให้รู้อยู่แค่นี้ไม่ต้องไปที่อื่น ไปที่อื่นเมื่อไรก็ให้ดึงกลับมาที่นี่ใหม่
      ถาม :  เวลาเดิน อยากจะฝึกสติไปด้วย ?
      ตอบกำหนดรู้รายละเอียดของการเคลื่อนไหว ถ้าจะเอาแบบละเอียดหน่อย จะเป็นยก ...ย่าง...เหยียบ ก็ได้ หรือแค่รู้ว่า ตอนนี้เท้าเคลื่อนไปข้างหน้า มือแกว่งไปข้างหลังก็ได้ ถ้าสติละเอียดมาก ๆ ลมพัดมากระทบร่างกาย ขนไหวกี่เส้นก็ยังรู้ได้
*************************

      ถาม :  เวลากินอาหาร ต้องกำหนดเย็น ร้อน อ่อน แข็ง หรือว่ารสชาติ ?
      ตอบ :  แรก ๆ เขากำหนดการเคลื่อนไหวก่อน คือ ตอนนี้เราเคี้ยว ถ้าละเอียดขึ้นก็กำหนดรู้รสด้วย รู้การกระทบด้วย แม้กระทั่งจะกลืนก็มีสติรู้อยู่
              ต้องค่อยไปทีละขั้น ที่คุณว่ามานั้นข้ามขั้นไป เรายังไม่ได้เรียน ป.๑ จะไปเรียนป. ๔ ก็ไปได้ยาก
*************************

      ถาม :  เวลาอ่านหนังสือธรรมะ จิตใจฟุ้งซ่าน ควรทำอย่างไรดีครับ ?
      ตอบจดจ่ออยู่กับสิ่งเฉพาะหน้า ถ้าคุณฟุ้งแปลว่ากำหลังใจหลุดไปที่อื่นแล้ว จ้องอยู่ตรงหน้า กำหนดสติตามรู้ไปทุกคำ คิดตีความ พยายามทำความเข้าใจไปด้วย
*************************

      ถาม :  เรากำหนดอยู่กับตัวอย่างเดียว เวลาเรียนหนังสือต้องฟังที่อาจารย์พูดด้วยหรือเปล่า ?
      ตอบสามารถทำได้พร้อมกัน ฟังที่อาจารย์พูดไปด้วย คิดไปด้วย จดไปด้วย และท้ายสุดหาข้อสงสัยมาเตรียมไว้เพื่อถามด้วย
      ถาม :  ภาวนาคาถาเงินล้านตลอดทั้งวัน รวมแล้วได้วันละ ๑๐๘ จบ นับรวมกันได้ไหม ?
      ตอบ :  อย่างไรก็ได้ ให้วันหนึ่งได้ ๑๐๘ จบเท่านั้น
      ถาม :  ภาวนาเกินก็ไม่เป็นไร ?
      ตอบ :  เอาให้ได้ ๑๐๘ จบก่อน ให้มียอดที่แน่นอนรองรังก่อน ถ้าได้เกินค่อยถือว่าเป็นกำไร
*************************

      ถาม :  ปฏิบัติไปแล้วอารมณ์จะอยู่ขั้นไหน ?
      ตอบ :  การปฏิบัติไม่ต้องไปใส่ใจว่าจะเป็นอย่างไร จะอยู่ขั้นไหน ต้องใส่ใจว่าเราได้ทำหรือไม่...!
*************************

      ถาม :  คนที่เป็นเอกกัคคตารมณ์ จะต้องเห็นทุกข์ตลอดหรือเปล่า ?
      ตอบ :  ถ้าสามารถเห็นได้อย่างนั้นจะเป็นสิ่งที่ดีมาก จัดเป็นวิปัสสนาญาณชั้นยอด ไม่ใช่แค่สมถกรรมฐาน เพราะถ้าตราบใดที่เรายังไม่เห็นทุกข์ เราก็ยังอยากเกิดอีก
      ถาม :  ถ้าออกไปผ่อนคลาย ไปออกกำลังบ้าง จะมีผลหรือไม่ ?
      ตอบ :  ก็ทำไปสิ ใครจะไปว่า จะได้ช่วยบรรเทาร่างกายนี้ให้มีทุกข์น้อยลง แต่ต้องประคองรักษาอารมณ์สมาธิเอาไว้ด้วย
      ถาม :  แต่เราก็มีสติรู้ ?
      ตอบ :  ให้มีสติรู้อยู่เสมอว่า เราแค่อาศัยร่างกายนี้อยู่ชั่วคราวเท่านั้น
*************************

      ถาม :  สายสาวกภูมิ การปฏิบัติจะยากเป็นปกติหรือเปล่าคะ ?
      ตอบ :  สายไหนก็ตาม เราทิ้งความดีไม่ได้หรอก ทิ้งไปความชั่วก็เข้ามาแทน แต่ปกติแล้ว ถ้ามาสายสาวกภูมิโดยตรง จะปฏิบัติได้ง่ายกว่า เร็วกว่า แต่ถ้าเป็นพุทธภูมิมาก่อนก็จะเจอของยาก
      ถาม :  ภาระหน้าที่ยังมีเหมือนเดิมใช่ไหมคะ ?
      ตอบภาระหน้าที่มีเข้ามา ก็สงเคราะห์ไปเฉพาะหน้า แต่ไม่ต้องไปตะกายหาภาระมาใส่ตัวเอง เรามีหน้าที่ก็จริง แต่ตลอด ๒๔ ชั่วโมง อย่างน้อยก็ต้องมีเวลาว่างให้เรารักษาอารมณ์ปฏิบัติได้บ้าง ถ้าไม่มีก็ต้องแย่งเวลามาให้ได้ ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นข้ออ้างของคนขี้เกียจ...!
*************************

      ถาม :  ท่านที่อยู่กรรม ?
      ตอบ :  ท่านที่อยู่กรรมคือ บุคคลที่ศีลขาด ขาดจากความเป็นพระไปชั่วคราว จนกว่าจะได้รับโทษ คือการอยู่กรรมครบที่กำหนดไว้ แล้วให้พระอย่างน้อย ๒๐ รูป สวดคืนความเป็นพระให้ จึงจะกลับเป็นพระได้อีกทีหนึ่ง
              ดังนั้น...พระที่ต้องอาบัติแล้วไปอยู่ปริวาสกรรม ราคาสูงกว่าเณรนิดเดียว แต่ระยะหลังเขาไปปั่นข่าวว่า ทำบุญกับพระที่อยู่ปริวาสจะได้บุญมาก อาตมาก็ยังสงสัยว่า คนศีลขาดอย่างนั้น บุญจะมากได้อย่างไร ?
              สมัยนี้เขานิยมจัดปริวาส เพราะว่าญาติโยมช่วยกันสนับสนุน ทำให้ได้เงินเข้าวัดมาก ไม่เหมือนสมัยก่อนที่จัดเพื่อเป็นการสงเคราะห์บุคคลที่โดนอาบัติหนักจริง ๆ สมัยนี้เขามีการประชาสัมพันธ์เป็นการปั่นราคากัน จนกลายเป็นว่า ทำบุญกับพระที่อยู่ปริวาสจะได้บุญมาก
              เท่าที่มีประสบการณ์มา ปัจจุบันพระที่อยู่ปริวาสมักจะเละเทะ มีการไปตั้งกลุ่มกันในป่าปริวาส พวกที่ปลอมพระเครื่องก็ตั้งหน้าตั้งตาปลอมพระเครื่องไป พวกที่ติดยาบ้าก็ไปตั้งกลุ่มดูดยาบ้า พวกที่ตั้งตนเป็นอาจารย์สักก็ไปสักยันต์กันอยู่ในนั้น
              ถ้าโยมเข้าไปข้างในได้แบบพระ เห็นแล้วจะหมดอารมณ์ กลายเป็นว่าเสือสิงห์กระทิงแรดไปรวมกันอยู่ที่เดียวกัน และยังมีจำพวกหนึ่งที่เขาเรียกว่าพวกล่าปริวาส
              พวกนี้จะมีรายการจัดปริวาสของวัดทั้งประเทศ ว่าขึ้นกี่ค่ำ แรมกี่ค่ำ เดือนไหน วัดไหนจะจัด แล้วก็แห่กันไป เป็นการเดินทางกันทั้งปี ก็จะไปเจอเหตุการณ์เดิม ๆ เหมือนกันทุกปี เจอหน้ากันทุกปี จนกลายเป็นขาประจำที่คุ้นหน้าคุ้นตากันไปเลย
              ตอนแรกอาตมายังไม่มีความรู้เรื่องพวกนี้ เพราะเพิ่งจะบวชได้ไม่นาน จึงได้กราบเรียนถามหลวงพ่อวัดท่าซุงว่า “ทำไมหลวงพ่อไม่จัดปริวาสบ้างครับ ?”
              ท่านถามว่า “พวกแกมีใครโดนอาบัติสังฆาทิเสสหรือ ?”
              อาตมากราบเรียนว่า “ไม่มีครับ”
              “ไม่มีแล้วจะจัดไปทำไม ?”
              “เห็นที่อื่นเขาจัดกันครับ”
              “แกรู้หรือเปล่าว่าทุกเช้าเขาจะต้องมาประกาศตนว่า ตนเองโดนอาบัติอะไร ถ้าแกไม่โดนแล้วไปประกาศว่าตัวเองโดน ก็เท่ากับว่าโกหกเขาอยู่ทุกวัน...!”

              พอได้ไปศึกษาเองจริง ๆ จึงได้รู้ว่าปริวาสแต่ละแห่งจัดเพราะมุ่งหมายเรื่องเงิน มีน้อยแห่งมากที่ตั้งใจจัดปริวาสเพื่อสงเคราะห์เพื่อนพระที่โดนอาบัติสังฆาทิเสส
              สุทธันตปริวาส ในปัจจุบัน จึงเป็นแบบหลับหูหลับตากำหนดเอา ส่วนใหญ่ก็คือ ๗ วัน หรือ ๙ วัน
              สัทธันตปริวาส หมายความว่า การอยู่ปริวาสของบุคคลที่โดนอาบัติ จนตัวเองจำไม่ได้ว่าตัวเองโดนมานานเท่าไร เขาให้กำหนดว่าจะต้องอยู่ปริวาสจนถึงความบริสุทธิ์ได้ในระยะเวลาเท่าไร แล้วให้คณะสงฆ์กำหนดลงไป แต่พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ว่า ให้กำหนดเป็นเวลามากกว่าที่โดนอาบัติเอาไว้เสมอ เพื่อความปลอดภัย
              อย่างเช่น ถ้าโดนมาภายใน ๓ เดือน ก็ให้กำหนดอย่างน้อย ๓ เดือนกับ ๑ วัน แต่ปัจจุบัน สุทธันตปริวาสที่เจอ เขากำหนด ๙ วันตลอด โดนมากี่ปีก็ ๙ วัน แล้วจะพ้นได้อย่างไร ? เหมือนกับคนที่ต้องโดนจำคุก ๒๐ ปี แล้วไปตัดสินว่าจำคุก ๙ วันก็พอ อย่างนี้จะยุติธรรมหรือ ? กลายเป็นว่าสิ่งที่ทำไปก็ไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย
              บุคคลที่ยังอยู่ปริวาสไม่ครบตามจำนวนที่ตนเองโดน แล้วไปเก็บมานัต์ก็ไม่ใช่มานัตตารหบุคคล คือ ไม่ใช่บุคคลที่สมควรแก่มานัตต์ ในเมื่อเป็นอย่างนั้นก็ไม่พ้นจากอาบัติสังฆาทิเสสที่ตัวเองโดนอยู่
              เรื่องพวกนี้เขาไม่ค่อยจะบอกกัน เพราะหลายต่อหลายอย่างสร้างประโยชน์ให้ เขาจึงหลับหูหลับตาจัดกันไป เป็นอะไรที่น่าหนักใจมาก สรุปง่าย ๆ ว่า ปริวาสในปัจจุบันเกิน ๙๐ เปอร์เซ็นต์ มักเจอพวกเขี้ยวลากดินอยู่ข้างใน ประเภทที่อยู่รวมกับคนอื่นได้ยาก จะไปสุมหัวรวมกันอยู๋ในป่าปริวาส...!
*************************

      ถาม :  จัดงานศพให้ผู้ตาย ผู้ตายได้บุญตอนไหน ตอนที่เราอุทิศ ?
      ตอบถ้าบุคคลนั้นสามารถรับอนุโมทนาได้ คือรับส่วนกุศลแล้วอนุโมทนาได้ ก็จะได้ตอนที่เราประกาศอุทิศส่วนกุศล ดังนั้น...ตอนที่เราอุทิศส่วนกุศล เมื่อพระยถาฯ สัพพีฯ เราควรจะออกชื่อ-นามสกุลว่ากุศลที่สร้างในครั้งให้แก่ใคร ขอให้เขามาโมทนา เราจะได้รับประโยชน์ความสุขเท่าไร ขอให้เขาได้รับด้วย
      ถาม :  ตอนที่พระสวด สวดให้ใคร ?
      ตอบสวดให้คนเป็นฟัง คือให้รู้ว่าสิ่งที่ทำ อะไรดีอะไรชั่วแล้วให้เลือกทำ แต่สมัยนี้เขาฟังบาลีกันไม่ออก มีหลายวัดที่พยายามปรับปรุงด้วยการสวดมนต์แปล ในเมื่อสวดมนต์แปล เราฟังออก จะได้เก็บเอาหลักธรรมนั้นไปใช้ในการดำเนินชีวิต แต่เท่าที่อาตมาเจอก็มักจะพนมมือเฉย ๆ บางคนก็หันไปคุยกันอีกต่างหาก ก็เลยกลายเป็นไม่ได้ประโยชน์อะไร
              ความจริงถ้าเราตั้งใจน้อมจิตฟังด้วยความเคารพ จะเป็นกุศลใหญ่อีกส่วนหนึ่งที่อุทิศให้แก่ผู้ตายได้เพราะเท่ากับว่าเรากำลังปฏิบัติในธัมมานุสติ ถ้าเราระลึกว่าสิ่งที่พระสวดอยู่ เป็นพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ก็ได้ทั้งพุทธานุสติ ธัมมานุสติ เห็นผู้สวดที่เป็นพระสงฆ์อยู่ ก็ได้สังฆานุสติด้วย กลายเป็นเราปฏิบัติกรรมฐานใหญ่ซึ่งได้บุญมากที่จะอุทิศให้แก่ผู้ตายได้
              แต่ปัจจุบันเป็นแค่รูปแบบพิธีกรรม การกระทำมักจะผิดไปจากเจตนาดั้งเดิมของบรรพบุรุษของเรา
              แม้กระทั่งทุกวันนี้เวลาที่วัดมีงานศพ อาตมาต้องประกาศก่อนเคลื่อนศพเสมอว่า ญาติโยมทั้งหลายมาส่งศพ ให้เดินตามโลงศพ ไม่ใช่ทะลึ่งไปจูงสายสิญจน์...! การจูงสายสิญจน์เป็นหน้าที่ของพระ คนที่จะเดินข้างหน้าได้ ก็คือบุคคลที่ถือกระถางธูปกับรูปผู้ตายเท่านั้น แล้วโยมเห็นไหม ? บางที่เขาแย่งกันจูงสายสิญจน์จนพระไม่มีที่จะจูง การจูงศพขึ้นเมรุเป็นหน้าที่พระเณร ส่วนญาติโยมแค่ตามไปส่งศพเท่านั้น
              แต่ที่อื่นเขาไม่ค่อยกล้าว่า ไม่ค่อยกล้าบอกเพราะกลัวโยมว่า อาตมาเองไม่ค่อยจะเกรงใจโยมหรอก ต่อให้ใหญ่มาแค่ไหน ผิดท่าผิดทางอาตมาด่ากระจาย เพราะถ้าเราไม่บอกในสิ่งที่ถูกต้อง เขาก็จะผิดต่อกันไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งภายหลังจะกลายเป็นถูกไปเอง เพราะเขาทำต่อ ๆ กันมา รุ่นแล้ว รุ่นเล่า
      ถาม :  กรณีที่หลานอายุน้อยกว่า เราไปกราบไหว้ศพ ?
      ตอบ :  ไมเ่ป็นไร ถือว่าเราไหว้ธรรมะของพระพุทธเจ้า สัพเพ สัตตา มะรันติ จะ มะระณันตัง หิ ชีวิตัง สัตว์ทั้งหลายต้องถึงแก่ตวามตายแน่นอน ไม่มีใครล่วงพ้นความตายไปได้
              ไหว้ไปเถิด ไหว้ให้ถูกก็แล้วกัน ไม่ใช่ไปไหว้ศพ เราไปไหว้พระธรรม อะไรที่รู้แล้ว พยายามปรับให้ถูกไว้บ้าง ถ้าเขาสงสัยแล้วถาม ก็อธิบายให้เขาฟัง
      ถาม :  กระดูกพ่อแม่ควรไว้วัดหรือบ้าน ?
      ตอบ :  โบราณเขาจะเก็บไว้ที่บ้าน พอถึงเวลาสงกรานต์ก็จะทำบุญกระดูกกัน ปัจจุบันนี้เขากลัวผีกันมาก จึงเอากระดูกไปทิ้งไว้วัดกันหมด
              ตามธรรมเนียมแล้ว พอถึงเวลาสงกรานต์ เขาจะนำอัฐิพ่อแม่มาสรงน้ำอบน้ำหอม นิมนต์พระมาบังสุกุล อุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
*************************