​​​ กระโถนข้างธรรมาสน์ ฉบับที่ ๑๖๑

 

      ถาม :  ตอนไปบวชธุดงค์ หลวงพี่สมปองท่านจะเสกจีวร ผ้าไตร ถ้าผมถือว่าเป็นของส่วนตัวแล้วเอากลับบ้านได้ไหม ?
      ตอบ :  ชำระหนี้สงฆ์เท่าราคาปัจจุบัน แล้วจะเอาไปไหนก็เอาไป เดี๋ยวนี้ผ้าไตรดี ๆ ชุดหนึ่งราคาไม่กี่พันเอง...!
*************************

      ถาม :  การปฏิบัติ ถ้าพิจารณาตั้งแต่เริ่มต้นเลย ค่อยเข้าวิปัสสนา ?
      ตอบ :  ถ้าพิจารณาก็ต้องเข้าวิปัสสนา การพิจารณาวิปัสสนาญาณก็คือ พยายามให้เห็นว่าตัวเราก็ดี คนอื่นก็ดี สัตว์ทั้งหลายก็ดี วัตถุธาตุสิ่งของก็ดี มีความไม่เที่ยงเป็นปกติ มีความทุกข์เป็นปกติ ไม่มีอะไรเป็นตัวตนเราเขา ส่วนใหญ่ก็ประกอบมาจากธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม มีความเสื่อมสลายตายพังไปในที่สุด
              พยายามมองให้เห็นชัดจนจิตยอมรับ ทำแล้วทำอีก ย้ำแล้วย้ำอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีกไปเรื่อย ไม่ว่าจะไปไหนก็ตาม ให้เห็นไปเรื่อย คนนั้นเด็ก คนนี้กลางคน คนนี้แก่ เราเองก็แก่มาจนป่านนี้แล้ว ทุกอย่างไม่เที่ยงจริง ๆ
              ระหว่างที่ดำรงชีวิตอยู่ก็มีแต่ความทุกข์ เดินทางไปทำงานรถก็ติด คนที่รอรถเมล์อยู่ที่ป้ายรถเมล์ ก็รอว่าเมื่อไรรถจะมาเสียที เด็ก ๆ ก็แย่งกันไปโรงเรียน ไม่มีใครมีความสุจริงแท้เลยสักคน มีแต่ความทุกข์ทั้งนั้น
              เราเองไปทำงานก็ต้องบริหารตนเอง ต้องบริหารหมู่คณะ ลูกน้องก็อัดขี้นมา เจ้านายก็กระแทกลงไป เราอยู่ตรงกลางก็แบนพอดี จะเห็นแต่ความทุกข์อยู่ตลอดเวลา
              ถามว่าทำไมจึงต้องดูความทุกข์ด้วย ? ดูในด้านที่เป็นสุขไม่ได้หรือ ? จะดูในด้านที่เป็นสุขก็ได้อยู่ แต่ความสุขนั้นไม่จีรังยั่งยืน เป็นความสุขเพราะเรารู้สึกว่าความทุกข์ลดน้อยลง จริง ๆ แล้วทั้งหมดล้วนเป็นความทุกข์ทั้งสิ้น
              ถ้าเราไปดูเป็นความสุขก็จะไม่เบื่อไม่หน่าย ใจจะไม่คลายออก จะไม่ละไม่วาง แต่ถ้าเราเห็นเป็นความทุกข์ ถึงจะเกิดความเบื่อหน่าย จิตใจจะปลด จะคลาย จะวาง แล้วเราก็จะไม่ไปดิ้นรน อยากได้ใคร่ดีอะไรอีก
              ท้ายสุดก็คิดว่า ในเมื่อเป็นเช่นนี้ ขึ้นชื่อว่าการเกิดมามีร่างกายนี้เราไม่ต้องการ การเกิดมาในโลกที่เต็มไปด้วยความทกุข์อย่างนี้ เราไม่ต้องการเหลือที่เดียวคือพระนิพพาน ก็เอาใจเกาะพระนิพพานไว้หรือเกาะพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งไว้ ตั้งใจนึกว่านั่นเป็นภาพแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบนพระนิพพาน เราเอาใจเกาะภาพพระก็เหมือนเกาะอยู่บนพระนิพพาน
              พิจารณาบ่อย ๆ จะต้องทำเป็นปกติเลย ไม่ใช่ทำเฉพาะตอนไปนั่งปฏิบัติ ถ้าทำเฉพาะเวลานั่งปฏิบัติยังไม่พอรับประทาน...!
*************************

      ถาม :  ทำอย่างไรไม่ติดในความว่าง ?
      ตอบ :  อันดับแรก รู้ลมหายใจเข้าออก เมื่อลมหายใจเบาลง และคำภาวนาหายไป กำหนดรู้ไว้แค่นั้น แล้วตั้งใจว่าเราจะปฏิบัติเป็นระยะเวลานานแค่ไหน อย่างเช่นว่า สักครึ่งชั่วโมงหรือหนึ่งชั่วโมง ถ้าถึงเวลา จิตจะคลายออกมาเองโดยอัตโนมัติ เราก็จะไม่ไปติดอยู่ตรงจุดที่เราคิดว่าเป็นความว่าง
              แต่ความจริงเราสามารถที่จะให้คลายออกมาเองได้ ถ้าเรามีความคล่องตัว เราก็กำหนดให้คลายจิตออกมาแล้วก็มาพิจารณาแทน ก็จะไม่ติดกับความว่าง
      ถาม :  จำเป็นต้องนั่งนานไหม ?
      ตอบ :  อยู่ที่ความคล่องตัวของเรา ถ้าคนที่มีความคล่องตัวไม่ต้องนั่ง จิตก็ทรงตัวได้
              ถามว่าจำเป็นจะต้องนั่งนานไหม ? ถ้าสมาธิทรงตัวสูงสุดแล้ว ครู่เดียวก็พอ แล้วเราก็คลายออกมาพิจารณาแทน
              สาเหตุที่ต้องให้สมาธิทรงตัวก่อน ก็เพื่อที่จะให้มีกำลังในการพิจารณาถ้าไปพิจารณาเลย บางทีสมาธิยังไม่ทรงตัว จิตก็จะฟุ้งไปคิดเรื่องอื่น
      ถาม :  ถ้าเราพิจารณาแล้วทรงตัวได้ เราก็ใช้วิธีนั้นได้ ?
      ตอบ :  พอเข้าสมาธิไป กำลังทรงตัวเต็มที่ นิ่งอยู่สักพัก แล้วกำหนดให้จิตคลายออกมา เพื่อใช้ในการพิจารณา เราก็ถอยออกมา แล้วมาพิจารณาแทน
      ถาม :  ตอนนี้ยังรู็สึกว่านิ่ง ๆ แน่น ๆ ?
      ตอบ :  ไม่เป็นไร พยายามขยับขึ้น ขยับลงไปเรื่อย จะแน่นจะเบาอย่างไรก็ช่าง ให้พิจารณาดูว่า ตอนนี้นิวรณ์กินใจเราได้หรือไม่ได้ ถ้า รัก โลภ โกรธ หลง กินใจเราไม่ได้ ก็แปลว่าใช้ได้
              พอซ้อมบ่อย ๆ เข้าออก ๆ จนคล่องต้ว อาการแน่นจะค่อย ๆ เบาลง เบาลงไม่ได้หมายความสมาธิน้อยลง แต่ที่เบาลงเพราะความคล่องตัวมีมากขึ้น ทั้ง ๆ ที่อารมณ์เบา แต่กิเลสก็กินเราไม่ได้
      ถาม :  ถ้านิวรณ์ไม่เข้า ก็รู้ไปอย่างเดียว ?
      ตอบ :  จิตตอนนั้นก็มีสภาพที่เรียกว่ามีคุณภาพ พอนิ่งอยู่ในระดับหนึ่งจนพอแล้ว เราก็ถอยออกมาพิจารณาวิปัสสนาต่อไป
      ถาม :  ควรจะถอยออกมาพิจารณา ?
      ตอบจำเป็นต้องทำอย่างนั้น ไม่อย่างนั้นจะไม่ก้าวหน้า เพราะถ้าไปโดยสมาธิส่วนเดียว พอเต็มที่แล้วก็เหมือนกับเดินชนข้างฝา ไปต่อไม่ได้ เราต้องถอยมาพิจารณาแทน
              พอพิจารณาจนจิตเหนื่อยแล้ว ก็จะกลับเข้าไปหาสมาธิอีก ต้องทำแบบนี้ถึงจะค่อย ๆ ก้าวหน้าไป แต่ถ้าเราไปสมาธิด้านเดียว ถ้าตันแล้ว ออกมาจะฟุ้งซ่านไปเลย
*************************

      ถาม :  เวลาเดินเข้าถึงฌานได้ไหมคะ ?
      ตอบ :  ได้
      ถาม :  บางทีก็ไปได้เหมือนกัน ?
      ตอบ :  อยู่ที่ว่าเรามีความคล่องแค่ไหน ถ้ามีความคล่องตัวน้อย ทันทีที่เริ่มทรงเป็นฌาน เราจะเดินไม่ออก เอาแค่ลมหายใจ จมูก อก ท้อง สามจุดถ้าเราได้พร้อมกัน เราจะก้าวขาไม่ออกเพราะจิตกับประสาทจะเริ่มเป็นคนละส่วนกัน
              แต่ถ้าเรามีความคล่องตัว ต่อให้ใช้สมาธิขั้นไหน ก็สามารถที่จะเดินได้ ขึ้นอยู่กับการซักซ้อมของเรา
*************************

              “พระพุทธเจ้าตรัสถึงเมถุนสังโยค คือ สิ่งที่ยังเนื่องด้วยกามอยู่
              มีข้อหนึ่งว่า ยินดีในการนวดเฟ้น ประเภทนี้นี่แหละที่อย่างไรก็ต้องไปลงอ่างให้ได้
              นอกจากนี้ ยินดีเมื่อได้ฟังเสียงเพศตรงข้าม แม้กระทั่งฟังเสียงที่คุยกัน อีกด้านหนึ่งของข้างฝา ยินดีในการนวด ยินดีในการสบตากับเพศตรงข้าม
              ท้ายสุด...แม้แต่การคิดจะไปเกิดเป็นเทวดานางฟ้า ถือว่ายังเป็นเมถุนสังโยค คือการเนื่องด้วยกามอยู่”
*************************

      ถาม :  อารมณ์ที่ไม่เอาแล้ว กับอารมณ์ช่างหัวมัน ทำไมอารมณ์ช่างหัวมันถึงเบากว่า ?
      ตอบ :  ไม่เอาแล้วแค่อยู่ในระดับเบื่อหรือเข็ด ช่างหัวมันเป็นอุเบกขาไปแล้ว เมื่อปล่อยวางได้มากกว่าก็ต้องเบากว่า เพราะฉะนั้น...ช่างหัวมันให้ได้เยอะ ๆ แต่ว่า...จะเข็ดจริง เบื่อจริงหรือเปล่า ?
      ถาม :  นั่นก็อีกเรื่องหนึ่งครับ ?
      ตอบ :  กลัวแต่จะเบื่อ ๆ อยาก ๆ เท่านั้น...!
      ถาม :  จะแก้ไขความกลัวที่ฝังรากลึกของเด็กได้อย่างไร ?
      ตอบ :  ให้เขาทำอะไรที่ค่อนข้างจะเสี่ยงสักนิดหนึ่ง โดยการควบคุมใกล้ชิดของเรา พูดง่าย ๆ ว่า เรานำให้เขาเห็น นี่แค่ประการเดียวเท่านั้น
              ประการต่อไป จับเขาฝึกสมาธิ ถ้ากำลังใจมั่นคง ความกลัวจะน้อยลง
              ประการสุดท้าย ให้เขารู้อย่างแท้จริงว่า ชีวิตนี้คืออะไร แล้วเขาจะเลิกกลัว ค่อย ๆ ไปทีละขั้น
              เคยฝึกเด็กอยู่หลายคน รู้เลยว่าเด็กบางคนพื้นฐานจิตใจไม่เหมาะที่จะใช้งานในลักษณะนี้ เขากลัวจนฝังอยู่ในสายเลือด แก้ไขไม่ได้ ให้คนอื่นทำ คนอื่นทำได้แม้ว่าจะกลัว แต่พวกนี้มืออ่อนตีนอ่อน ทำอะไรไม่ถูกเลย
      ถาม :  จะสอนคนธรรมดาให้รู้จักกล้า ?
      ตอบ :  เหมือนกัน อันดับแรก ต้องทำให้เขาเกิดแรงบันดาลใจก่อน ตัวเรานั่นแหละที่จะต้องนำ เมื่อเกิดแรงบันดาลใจขึ้นมา ก็อยากเอาเป็นแบบอย่าง เลียนแบบวีรบุรุษวีรสตรีในดวงใจของเขา ฉะนั้น...ต้องเริ่มที่เรา ทำให้เขาดูอยู่ให้เขาเห็น สอนให้เขาเป็น
*************************

      ถาม :  นั่งกรรมฐาน แล้วลุกขึ้นมาโดยไม่มีเวทนาเลย ต้องทรงฌานระดับไหนขึ้นไปจึงจะทำได้ ?
      ตอบ :  แค่ปฐมฌานละเอียดก็ทำได้แล้ว
*************************

              “เรื่องของการปฏิบัติ เกี่ยวกับการรู้เห็น อยากจะย้ำกับพวกเราอีกครั้งว่า การรู้เห็นเป็นเพียงของแถมแท่านั้น จิตที่สงบเหมือนกับน้ำที่นิ่ง พอน้ำนิ่งก็จะสะท้อนเงาสิ่งรอบข้างลงไปชัด ๆ เลย ถึงไม่ต้องการก็จะรู้เห็นเอง เพียงแต่ว่าจะมีสติสักเท่าไรในการรู้เห็น
              ถ้าคล้อยตามเชื่อไปเลย ครั้งแรก ๆ จะใช่ แต่พอนานไป ๆ จะมีการทดสอบ ส่ิงต่าง ๆ ที่เห็นก็จะไม่ใช่แล้ว ถ้าหากเรายังหลงตามอยู่ก็จะผิดทางไปเลย
              เราจึงต้องมีสติอยู่เสมอว่า สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นของแถมในการปฏิบัติเป้าหมายที่แท้จริงของเราคือการหลุดพ้น คือความหมดกิเลสอย่างสิ้นเชิง ฉะนั้น...ถ้าหากยังมายึดติดสิ่งทั้งหลายเหล่านี้อยู่ ก็จะไม่สามารถทำให้เราก้าวล่วงไปได้
              เรื่องการรู้เห็น ไม่ต้องไปอยากมาก ทำไปเรื่อย ๆ ถ้าวิสัยเก่ามีอยู่ถึงเวลาก็จะมาเอง”
*************************

      ถาม :  ไม่ได้จับลมหายใจ สมาธิจะนิ่ง ๆ ตลอด พอนิ่งแล้วก็เฉย ๆ ควรจะทรงอารมณ์นานแค่ไหน ?
      ตอบ :  ถ้านิ่งไปสักระยะหนึ่งแล้ว รู้ว่าจิตสงบมีกำลัง ก็ถอยออกมาพิจารณา คือคลายออกมาสู่อารมณ์ปกติ เหมือนที่เราจะคุยกัน เพียงแต่ว่าหลับตาเพื่อป้องกันการฟุ้งซ่าน
              แล้วก็พิจารณาให้เห็นความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ไม่มีตัวตนของร่างกายเรานี้ ที่มีการเกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงในท่ามกลาง สลายตัวไปในที่สุด ให้เห็นได้ในทุกอิริยาบถ พูดง่าย ๆ ว่า ไม่ว่าไปไหนก็ให้เห็นทุกข์เอาไว้ จะได้เบื่อและถอนออกมาจากความอยากได้ใคร่ดีต่าง ๆ
              ถ้าไม่เบื่อ เราก็จะอยากเกิด อยากทุกข์ต่อ ฉะนั้น...เอาเบื่อให้ได้ก่อนพอเพื่อได้แล้ว ก็จะค่อย ๆ ปล่อยวางไปเอง
      ถาม :  ตอนนี้เบื่อมาก ๆ ?
      ตอบรักษาความเบื่อไว้ ความเบื่อเป็นสิ่งที่ดี เพราะถ้าไม่เบื่อเราก็ยังอยากเกิดมาทุกข์อีก เพียงแต่ว่าตอนรักษาความเบื่อ สภาพจิตเราต้องมีความฉลาดด้วย คือ ใช้ปัญญาประกอบไปด้วย จะช่วยตัดการเกิด ตัดชาติ ตัดภพได้
              ถ้าเปรียบกับการเวียนตายเวียนเกิดที่นับชาติไม่ถ้วนกับชีวิตเรานี้ เวลาก็แค่นิดเดียวเท่านั้นเอง พูดง่าย ๆ ว่ามีแค่ชั่วลมหายใจเดียวเท่านั้นเอง เราหายใจเข้า...ไม่หายใจออกอาจจะตาย หายใจออก...ไม่หายใจเข้าอาจจะตาย
              ในเมื่อถึงเวลาแล้ว โอกาสที่จะตายมีอยู่ตลอดเวลา โอกาสที่เราจะพ้นจากร่างกายนี้ไปได้มีอยู่ตลอดเวลา ทำไมเราจะอยู่กับร่างกายนี้ไม่ได้ ถ้ากำลังใจอยู่อย่างนี้ ก็จะเริ่มเป็นสังขารุเปกขาญาณ คือ ปล่อยวาง
              ฉะนั้น พิจารณาบ่อย ๆ ความเบื่อเป็นส่ิงที่ดี ต้องประคองไว้ แต่ขอบอกว่าถ้าอยากได้ อารมณ์นี้ก็จะหนี ไม่อยู่ด้วยแล้ว แต่พอไม่อยากได้ ก็จะอยู่นาน พอรู้ว่าเป็นของดี เราตั้งหน้าตั้งตาเก็บ ก็หนีไปแล้ว ไม่เอากับเราด้วย
*************************

      ถาม :  ภาวนาพระคาถาเงินล้าน แต่จิตไม่ภาวนาด้วยไม่ทราบว่าผลของพระคาถาจะยังคุ้มครองอยู่หรือเปล่า ?
      ตอบ :  มีเป็นปกติเลย ถ้าเคยเกิดผลก็จะเกิดยาวไปเลย การภาวนาในปัจจุบันของเราเป็นแค่ส่วนที่ช่วยเสริมเท่านั้น เกิดผลแปลว่าพอแล้ว ถ้าหากว่าอยากได้มากกว่านั้น ก็ต้องเสริมเข้าไป
      ถาม :  เสริมอย่างไรคะ ?
      ตอบ :  คือภาวนาเพิ่มไปทุกวัน
*************************

              “สมัยก่อนทางเหนือ จะมีเชื้อสายของเจ้าเจ็ดตนอยู่ท่านหนึ่ง เขาเรียกว่า “เจ้าน้อยค่ำคน” ค่ำคน ก็คือ แกล้งคน คำว่าน้อยก็คือ ผู้ที่บวชเณรแล้วสึกมา ส่วนผู้ที่บวชพระแล้วสึกมา เขาเรียกว่า หนาน
              เจ้าน้อยคำ่คนจะตั้งร้านน้ำเอาไว้ มีกระบวยตักน้ำขนาดใหญ่กับขนาดเล็กอยู่ เจ้าน้อยจะแอบอยู่และมีลูกก๋ง ลูกก๋งทางบ้านเราเรียกว่า คันกระสุน
              ถ้าหกาว่าคนตักน้ำด้วยกระบวยใหญ่ กินไม่หมดแล้วเทน้ำทิ้ง เจ้าน้อยจะยิง ถ้าคนตักน้ำด้วยกระบวยเล็ก กินแล้วตักซ้ำอีก เจ้าน้อยก็จะยิง พอเขาโวยวายว่ายิงทำไม เจ้าน้อยก็จะบอกว่าเพราะไม่รู้จักประมาณตน หิวน้ำมากก็เอากระบวยอันใหญ่ตัก หิวน้ำน้อยก็เอากระบวยอันเล็กตัก ไม่ใช่ว่าหิวน้อยก็ใช้อันใหญ่ตัก หิวมากก็ใช้อันเล็กตัก ถ้าไม่รู้ตัวก็สมควรที่จะโดน
              เจ้าน้อยสอนคนด้วยวิธีนั้น แสดงว่ามาสายพระโพธิสัตว์เต็ม ๆ ขนาดไม่ได้เกี่ยวกับตัวเองเลย ยังพยายามที่จะสอนเขา”
*************************

      ถาม :  ลายมือเขียนบอกลักษณะนิสัยคนได้ แล้วลายมือเด็กบอกได้หรือเปล่าคะ ?
      ตอบ :  ลายมือเด็กยังไม่มั่นคง เขายังมีเวลาที่จะสั่งสมและเปลี่ยนแปลงตัวเองอีกระยะหนึ่ง ถ้าจะเอาให้แน่ ๆ ก็ต้องบรรลุนิติภาวะแล้ว อันนี้บอกได้แน่นอน ขนาดหมอจีนเขาไปดูฮวงจุ้ยให้ที่วัดท่าขนุน เขาบอกว่า อาจารย์ลองเขียนชื่อให้เขาดูหน่อย พอเขียนให้ เขาบอกว่า ท่านอาจารย์เป็นคนไม่เห็นแก่หน้าใคร รับคนเสมอกัน พูดง่าย ๆ ก็คือ ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง จะยากดีมีจนอย่างไรให้ราคาเท่ากันหมด จะไม่มีคนที่มีความสำคัญพิเศษ เขาบอกว่า หลวงปู่สายอยู่กุฏิผิดที่ ไม่อย่างนั้นหลวงปู่จะอยู่ได้อีกนาน ตรงนี้ก็แค่ฟังไว้ เพราะว่าหลวงปู่ท่านไม่อยู่แล้ว
              ศาลาของวัดท่าขนุนที่ตั้งอยู่ในมุมนั้น ถนนที่เข้าด้านหน้าโบสถ์ ทำให้เงินทองรั่วไหลหมด เขาก็เลยให้เปลี่ยนและทำถนนเส้นใหม่เข้ามา ทางด้านหน้าโบสถ์ให้ปิดไว้
              แนวกุฏิที่สร้างไว้ในแดนสงบ เขาบอกว่าสร้างถูกแล้ว แต่เนื่องจากพื้นที่จำกัด จึงสร้างลักษณะหลังพิงเขา แต่ด้านหน้าไม่มีช่องว่าง อยู่ติดน้ำเลย เขาบอกว่า เหมือนนกจะบิน แล้วไม่มีที่ให้วิ่งก่อนออกตัว ก็เลยกลายเป็นว่ามีบริวารเยอะเสียเปล่า แต่ช่วยอะไรไม่ได้
              อย่างไหนที่พอแก้ไขได้ตามเขาว่า อาตมาก็ทำ ตรงไหนที่หมดปัญญาก็ปล่อยไปตามเวรตามกรรม...!
*************************

      ถาม :  เวลาสวดมนต์ โดยเฉพาะคาถาเงินล้าน เหมือนกับความรู้สึกของตัวเองหายไป ?
      ตอบ :  ความรู้สึกหายไปเพราะจิตของเราเริ่มเป็นสมาธิ แต่สติตามไม่ทัน พอเริ่มเป็นปฐมฌานหยาบ ความรู้สึกก็จะขาดเหมือนกับหลับไปเฉย ๆ ไม่สามารถที่จะรับรู้ได้ว่าตอนนี้ตัวเองทำอะไร
      ถาม :  แก้อย่างไรคะ ?
      ตอบ :  วิธีแก้ก็คือ เอาจิตจดจ่ออยู่กับส่ิงที่เราทำ ถ้ามีลมหายใจเข้าออกก็ตามจี้ติด ๆ ไว้ ถ้าเผลอหลุดเมื่อไร ก็จะวูบไปเลย หรือไม่ตอนเราเปิดเทปฟัง พยายามตั้งสติไว้ที่หูว่า เราจะฟังให้ได้ทุกคำ ถ้าจิตเราจดจ่ออยู่ตรงนั้น ก็จะไม่หลับ เผลอถอยห่างออกมาเมื่อไรก็จะหลับ
      ถาม :  ถ้าเราฝึกโดยอยู่กับลมหายใจระหว่างวัน จะช่วยไหมคะ ?
      ตอบ :  ได้ ซ้อมให้มาก ๆ เข้าไว้ ถ้าจิตละเอียดขึ้นเราก็จะก้าวข้ามไปได้ ถ้าไม่ละเอียด ไปถึงตรงจุดนั้นเมื่อไรก็จะตัดหลับ
      ถาม :  แสดงว่าที่ถาม คือหลับไปใช่ไหมคะ ?
      ตอบ :  จะเรียกว่าหลับก็ไม่ใช่หลับ พูดง่าย ๆ ว่าตัดหลับ ความจริงก็คือ จิตเริ่มเป็นสมาธิ แต่สติเราหยาบเกิน สติตามไม่ทัน ในเมื่อตามไม่ทัน โดนทิ้งห่าง เราก็เลยไม่รับรู้อะไร
      ถาม :  เวลานั่งสมาธิ เห็นภาพพระชัด แต่รู้สึกเหมือนข้างในบอกว่า กำลังจะชัดนะ แล้วอยู่ ๆ ภาพก็หายไป หายได้หรือคะ ?
      ตอบ :  การที่เราจะเห็นอะไร เราต้องส่งใจไปถึงตรงนั้นได้ เมื่อเราเองมาสนใจกับความชัดรหือไม่ชัด ก็คือมาสนใจกับลูกตา พอสนใจกับลูกตา จึงเท่ากับเราดึงใจกลับมาที่ตัวเอง ภาพก็หายไป...
              นึกถึงตาเท่ากับเราดึงจิตเข้ามาที่ตัว แล้วจะไปเห็นอะไรเล่า ? เพราะเท่ากับเราดึงจิตกลับมาที่ตัว ภาพก็หายวับไปเท่านั้น
      ถาม :  ต้องปล่อยไปเลยใช่ไหมคะ ?
      ตอบ :  จะชัดหรือไม่ชัดไม่เป็นไร มีหน้าที่แค่รับรู้ไว้เฉย ๆ ย่ิงไม่ใส่ใจจะยิ่งชัดมาก
      ถาม :  เคยเอาเรื่องของพระฝ่ายหนึ่งไปพูดกับพระอีกฝ่ายหนึ่ง อาจจะยุยงให้เขาแตกกัน ถ้าเขายังไม่แตกกัน ยังไม่เป็นสังฆเภทใช่ไหมครับ ?
      ตอบ :  ไม่เป็น แค่ทำชั่วเฉย ๆ…!
      ถาม :  ตอนบวช ผมมีพฤติกรรมที่ไม่ดี แต่ได้ละพฤติกรรมตอนนั้น และไปขอขมาพระพี่เลี้ยง ถ้ามีพระบวชใหม่ทำตามพฤติกรรมของผม เอาชื่อผมไปอ้าง ผมจะมีโทษไหมครับ ?
      ตอบ :  เราเลิกแล้ว โทษของเราไม่มี
      ถาม :  เขาเอาชื่อผมไปพูด ?
      ตอบ :  การที่เขาเอาชื่อเราไปพูด อาจจะเกิดโทษทางโลก คือ เขาเห็นว่าเราเป็นพวกเดียวกัน เดี๋ยวเราจะซวยไปด้วย แต่โทษทางธรรมไม่มี เพราะโทษทางธรรม ใครทำคนนั้นก็ต้องรับไป
              เรื่องของสังฆเภทนั้นเกิดได้ยาก ที่เกิดยากเพราะเขาต้องแยกกลุ่มเป็นสองฝ่าย ต่างฝ่ายต่างทำสังฆกรรมของกลุ่มตัวเอง ไม่ยอมลงสังฆกรรมร่วมกับอีกฝ่าย อย่างนั้นจึงจะเรียกว่าสังฆเภท
              ถ้าแค่ทะเลาะเฉย ๆ ไม่แยกกันตอนลงปาฏิโมกข์ ไม่ถือว่าเป็นสังฆเภท แต่โทษก็สาหัส แบบไม่ถึงกับประหาร ก็ประมาณจำคุกตลอดชีวิตไปเลย...!
*************************

      ถาม :  เรื่องของสติต้องไวมาก ขนาดที่ว่าเห็นทุกอย่างช้า....ใช่ไหมคะ ?
      ตอบ :  ใช่…ถ้าหากว่าเห็นกิเลสยังเร็วอยู่ ก็จะสู้ไม่ทัน เราต้องเร็วกว่า ในเมื่อเราเร็วกว่ากิเลส ทุกอย่างก็เหมือนกับช้า
      ถาม :  เวลาจิตเคลื่อนไหว ต้องเห็นเหมือนภาพช้า ?
      ตอบ :  ใช่…ถูกต้องแล้ว
*************************

      ถาม :  นั่งสมาธิแล้วง่วง ควรทำอย่างไร ?
      ตอบ :  มี ๒ อย่าง ถ้าฝืนได้ก็ฝืน หรือเปลี่ยนอิริยาบถไปเดินแทน หรือไม่ก็ล้างหน้าล้างตา แล้วกลับมาลุยกันใหม่ ถ้าไม่ไหวจริง ๆ ก็นอนภาวนาไปเลย
*************************