​​​ กระโถนข้างธรรมาสน์ ฉบับที่ ๑๖๐

 

              “ท่านโฆสกเทพบุตร เสียงปกติเวลาท่านพูด ได้ยินไปถึง ๑ โยชน์ แต่ถ้าท่านพูดเต็มเสียงจะได้ยินไปทั่วดาวดึงส์
              พวกเรามีใครบ้างไหมที่เสียงดังระดับนี้ ? สมัยก่อนมี พระครูมะลิ วัดเทพศิรินทราวาส ท่านขึ้นนะโมเสียงดังจนเด็กร้องไห้ เวลาค่ำตอนสวดศพ พระครูมะลิสวดคนเดียวโดยไม่ต้องใช้ไมค์ ได้ยินไปถึง ๓ - ๔ ศาลา เพื่อน ๆ ต้องใช้ไมค์ช่วย แต่พระครูมะลิไม่ต้องใช้ หุ่นของท่านล่ำสันสูงใหญ่ สงสัยชาติก่อนคงจะถวายระฆังเอาไว้มาก
              หลวงพ่อท่าเล่าให้ฟังว่า หลวงปู่ปานก็เคยขึ้นนะโมแล้วเด็กตกใจจนร้องไห้ ตอนนั้นหลวงปู่เสียงดังมาก หลวงปู่ปานมาบอกทีหลังว่า วันนั้นไม่ค่อยมีแรง ท้าวมหาราชท่านเลยช่วย
              เรื่องเสียงดังของหลวงพ่อวัดท่าซุ งอาตมาก็เคยเจอกับตัวเอง ตอนนั้นอาตมาเพิ่งบวชใหม่ ๆ ยังไม่ได้พรรษา มีหน้าที่ขึ้นไปช่วยงานบนศาลานวราชบพิตรเพื่อจำหน่ายวัตถุมงคล
              วันนั้นพอหลวงพ่อลงรับสังฆทาน มีรถทัวร์เข้ามา ๔ คัน อาตมาได้คุยกับโยมทีหลังว่าเขามาจากสัมพันธวงศ์ พวกเราก็รู้ว่าสัมพันธวงศ์เป็นดงของคนจีน เวลาคนจีนคุยกันเหมืนอกับคนทะเลาะกัน แล้วคนจีนจำนวนมาก ๔ คันรถทัวร์ เบียดกันขึ้นไปบนศาลานวราชบพิตร เวลาคุยกันเสียงจะดังแค่ไหน ?
              หลวงพ่อท่านนั่งอยู่ก่อนแล้ว และมีโยมประมาณ ๕ - ๖ คน ถามปัญหาธรรมอยู่ตรงหน้า บรรดาอาซ้อ อาซิ้ม อาเจ็ก ขึ้นมาก็ส่งเสียงเกรียวกราว
              หลวงพ่อท่านเตือนว่า “โยมเบา ๆ หน่อย ข้างหน้าเขาคุยธรรมะกันอยู่” ปรากฎว่าไม่มีเบาแม้แต่นิดเดียว แถมยังดังมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะข้างหลังประดังกันเข้ามาอีก
              พออีกสักพักหนึ่ง ท่านก็เตือนอีก “โยมเบา ๆ หน่อย คุยกลบเสียงธรรมะอันตรายนะ” ก็ยังคงเหมือนเดิม มีแต่ดังขึ้นมาเรื่อย ๆ เพราะเขาบูชาวัตถุมงคลกัน
              “โคตรแม่มึง..ถ้าจะคุยกันก็กลับไปคุยที่บ้านโน่น...!” เสียงท่านดังชนิดกระเบื้องหลังคากระพือ ทั้งหมดเงียบสนิทชนิดเข็มตกยังได้ยิน พอตั้งสติได้ คนแรกก็ย่องลงบันได คนที่สองสามสี่ก็ตามกันไปจนหมด สี่คันรถไม่มีเหลือเลย หลวงพ่อท่านมาบอกทีหลังว่า “จำเป็นต้องดุ เพราะถ้าไม่ทำอย่างนั้น โทษจะเกิดแก่เขามาก ประเภทนี้มาวัดก็ไม่รู้บาปบุญคุณโทษว่าเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น...อย่าให้มาอีกเลยถึงจะดี”
              เพิ่งจะรู้ว่าเสียงคนดังได้ขนาดนี้ คงจะลักษณะเดียวกันกับที่ท้าวมหาราชท่านช่วย หลวงปู่ปานท่านทำได้ หลวงพ่อท่านทำได้ ถือว่าปกติ แต่พระครูมะลิไม่ต้องมีใครช่วย ท่านก็เสียงดังได้
              มีอยู่อย่างหนึ่งก็คือ เคยเจอหลวงพ่อท่านส่งเสียงทางลมปราณ ถ้าใครเคยอ่านหนังสือกำลังภายในจะรู้ เป็นเสียงประเภทที่ได้ยินเฉพาะคนที่ตั้งใจให้ได้ยิน...!
              อาตมานั้นสวดมนต์ได้ตั้งแต่ตอนเป็นนาค พอบวชแล้วเขาจึงให้ออกกิจนิมนต์ ตอนนั้นไปชัยนาท พอโยมเขาถวายปัจจัยไทยธรรมมา อาตมาก็มักจะเอาไปถวายหลวงพ่ออีกต่อหนึ่ง
              พอสวดมนต์ฉันเพลเสร็จ อาตมากลับมาถึงวัด ได้เวลาหลวงพ่อรับแขก อาตมาจึงหิ้วถังสังฆทานขึ้นไปบนศาลา ญาติโยมนั่งอยู่ประมาณ ๒๐ - ๓๐ คน
              ตอนที่อาตมาเดินเข้าไป ญาติโยมเขาก็หลีกทางให้ เพราะอาตมาประเภทเดินไปไม่เกรงใจใครเลย เดินไปถึงตรงหน้าหลวงพ่อ คุกเข่าลงยกถังสังฆทานพร้อมกับซองปัจจัยถวายท่าน เพื่อน ๆ น้อง ๆ ข้างหลังก็ตามมาอีกหลายรูป
              หลวงพ่อหยิบแก้วน้ำขึ้นมา คนอื่นเห็นหลวงพ่อยกแก้วน้ำอยู่ แต่อาตมาได้ยินเสียงหลวงพ่อลอดใต้แก้วมาว่า “โคตรแม่มึง...เดินดูชาวบ้านเขาบ้าง จะเหยียบเขาคอหักตายอยู่แล้ว...!” เสียงเหมือนฟ้าผ่า แต่อาตมาได้ยินอยู่คนเดียว...!
              พอลงมาจากศาลา ท่านประสิทธิ์ที่เป็นรุ่นน้องเดินตามหลังมาติด ๆ ถามว่า “หลวงพ่ออวยพรอะไรให้พี่คนเดียว ไม่เห็นให้ผมบ้างเลย” เพิ่งจะรู้ว่าเสียงที่อาตมาได้ยินอย่างกับฟ้าผ่านั้นได้ยินเพียงคนเดียวคนอื่นไม่ได้ยินด้วย ตกกลางคืนก็ไปเล่าเรื่องนี้กันในห้องฉันน้ำปานะ หลวงตาวัชรชัยบอกว่า “กูเห็นท่ามึงเดินขึ้นไป กูก็รู้แล้วว่ามึงโดนแน่เลย กูยังแปลกใจว่ามึงรอดมาได้อย่างไร ?” อาตมาบอกว่า “ไม่ได้รอด ผมโดนเต็ม ๆ เลย แต่ผมได้ยินคนเดียว”
              ฉะนั้น...เรื่องนี้ยังไม่เห็นคนอื่นทำได้ แต่หลวงพ่อท่านทำได้แน่”
*************************

              มีโยมนำพระพุทธรูปปางประสูติมาถวายพระอาจารย์ ท่านจึงถามโยมว่า “เราเรียกว่า พระพุทธเจ้าได้หรือไม่ ?
              ตอนประสูติ เจ้าชายขี้นิ้วขึ้นไปข้างบน พร้อมกับประกาศว่า
              อะหัง อัคโคหะ มัสมิ โลกัสสะ เราเป็นผู้ที่เลิศที่สุดในโลก
              อะหัง เชฏโฐหะมัสมิ โลกัสสะ เราเป็นผู้ที่เจริญที่สุดในโลก
              อะหัง เสฏโฐหะมัสมิ โลกัสสะ เราเป็นผู้ประเสริฐที่สดุในโลก
              ชาติ นัตถิทานิ ปุนัพภะโวติ ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของเรา
              ทันทีที่เกิดมามีใครกล้าประกาศอย่างนี้บ้างไหม ?
              เราเรียกรูปนี้ว่าเป็นพระพุทธเจ้าได้ แม้ว่าความเป็นพระพุทธเจ้าจะมาเมื่อท่านพระชนมายุ ๓๕ พรรษา แต่ที่เราเห็นรูป เรานึกถึงความเป็นพระพุทธเจ้า ไม่ได้นึกถึงความเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เพราะฉะนั้น...เรียกว่าพระพุทธเจ้าได้
              ท่านอาจารย์พระมหาณรงศักดิ์ ให้เขาทำภาพพระพุทธเจ้าปางประสูติ และติดเอาไว้ในงานสาธยายพระไตรปิฎก พอโยมเห็น เขาถามว่า “กุมารทองวัดไหน ?” เห็นพระพุทธเจ้าเป็นกุมารทองไปได้...!”
*************************

              “กุมารทองในประเทศไทยที่มีชื่อเสียงที่สุด คือ กุมารทองของหลวงพ่อเต๋ วัดสามง่าม จังหวัดนครปฐม แต่ท่านไม่ได้เรียกกุมารทอง ท่านเรียกว่า ตุ๊กตาทอง
              บางคนเอาวัตถุอาถรรพ์ อย่างขี้เถ้ากระดูกผี ๗ ป่าช้า มาปั้นเป็นรูปเด็กแล้วให้หลวงพ่อเต๋ท่านเสก แล้วเขาเกิดสงสัยทีหลังว่าจะมีโทษหรือเปล่า ? หลวงพ่อเต๋ท่านยืนยันว่า “ข้าอุทิสส่วนกุศลให้ จนเป็นเทวดาไปหมดแล้ว”
              เพราะฉะนั้น...ถ้าเป็นกุมารทองของหลวงพ่อเต๋ วัดสามง่าม มั่นใจได้ว่าไม่มีโทษแน่ มีแต่ก่อประโยชน์ให้อย่างเดียว แต่ถ้าเป็นกุมารทองของเณรแอก็ต้องคิดกันหน่อย”
*************************

      ถาม :  นั่งสมาธิแล้วรู้สึกชา เหมือนเป็นจุดกลางหน้าผาก บางทีก็มาอยู่ที่จมูก ถ้านั่งสมาธิแล้วเห็นเป็นกายของเรา ก็พิจารณาว่าเป็นกาย ถ้ามีอาการเจ็บปวด ก็ตามดูเวทนา ดูที่จิตเหมือนมีแสงสามเหลี่ยมตรงตัวผม พอจะออกจากสมาธิก็ออกไม่ได้ รู้สึกมึน อีกข้อที่ปรารถนา ถ้ายังโลเลอยู่ จะเป็นมิจฉาทิฐิหรือเปล่า ?
      ตอบ :  จะเรียกว่ามิจฉาทิฐิก็ไม่ได้ เพียงแต่ว่าบารมียังไม่เข้มข้นพอ ตกลงทั้งหมดที่ว่ามามีคำถามนี้คำถามเดียว นอกนั้นเป็นคำบอกเล่าเฉย ๆ ไม่ถามก็ไม่เป็นไร แต่อาตมาอยากจะตอบเอง
              ในเรื่องของการปฏิบัตินั้น อาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกาย เขาไม่ให้ใส่ใจ เพราะถ้าใส่ใจ สมาธิจะไม่ก้าวหน้า ต้องตัดสินใจว่าอะไรเกิดขึ้นกับเราก็ตามที ถึงจะตายลงไปตอนนั้นก็ตาม เรากำลังทำความดีอยู่ เราต้องไปดีแน่ ถ้าตัดใจได้ขณะนั้น ความก้าวหน้าในการปฏิบัติก็จะมี
              พอเราเข้าถึงอุปจารสมาธิ ภาพและแสงสีต่าง ๆ ก็จะปรากฎ ถ้าเราไปให้ความสนใจ ความก้าวหน้าในสมาธิก็จะไม่มี จะติดอยู่แค่นั้น ถ้าเราไม่สนใจ ภาพนั้นจะยิ่งชัด เหมือนกับตั้งใจจะก่อกวนเรา เราจึงจำเป็นที่จะต้องสักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเห็น

              ส่วนข้อสุดท้ายมีใครบอกไหมว่า คุณพูดเร็วฉิบหา...เลย...!
      ถาม :  ใช่ครับ มีคนบอก ?
      ตอบ :  ระวังเอาไว้บ้าง คนแก่เขาจะฟังไม่ทัน
      ถาม :  หลังจากนั่งสมาธิ ถ้าเห็นแสงที่พระพุทธรูป ก็อย่าไปสนใจใช่ไหมครับ ?
      ตอบให้กำลังใจทั้งหมดของเราอยู่กับลมหายใจเข้าออก ถ้ายังมีลมหายใจอยู่...กำหนดรู้ลม ถ้ายังมีคำภาวนาอยู่...กำหนดรู้คภาวนา ถ้าลมหายใจเบาลง คำภาวนาหายไป หรือลมหายใจหายไปด้วย เรากำหนดรู้อย่างเดียว อย่าอยากให้เป็นอย่างนั้น และอย่าอยากเลิกเป็นอย่างนั้น มีหน้าที่กำหนดรู้ไปเท่านั้นเอง
              ถ้าหากเราไปดิ้นรนอยากให้เป็นอย่างอื่น หรืออยากให้หายจากอาการอย่างนั้น สมาธิจะถอยออกมาแล้วพอถึงสมาธิระดับนั้นก็จะเป็นอีกทำให้เราไม่ก้าวหน้า ติดอยู่แค่นั้น
*************************

      ถาม :  เวลาอธิษฐาน มีสิ่งเข้ามาแทรกแล้วเราตามรู้ไป ควรตั้ง่จิตอธิษฐานใหม่ แผ่เมตตาใหม่ หรือควรจะทำอย่างไรครับ ?
      ตอบ :  ช่างมัน เราทำกุศลอยู่ อกุศลก็พยายามขัดขวาง จิตของเราตั้งอยู่ในเรื่องไหนให้ตั้งในเรื่องนั้นต่อไปอย่างเช่น อธิษฐานปรารถนาโพธิญาณ อธิษฐานปรารถนาพระนิพพานชาตินี้ หรือเกิดเมื่อไรขอให้รวยก็ว่าไป แล้วความตั้งใขของเราจะมีผลตามนั้น
              แต่ถ้าหากจิตมั่นคง เหลืออยู่อารมณ์เดียว คำอธิษฐานนั้นจะได้ผลเร็วขึ้น เวลาที่อกุศลกรรมแทรก ไม่ได้หมายความว่าคำอธิษฐานจะไม่มีผล แต่ว่ามีช้าหน่อย ถ้าจิตใจมีคุณภาพ สมาธิทรงตัวตั้งมั่นไม่เคลื่อนไปไหน คำอธิษฐานจะมีผลเร็วขึ้นโดยเฉพาะเร็วขึ้นอีกหลายชาติ...!
*************************

      ถาม :  พระปัจเจกพุทธเจ้ากับพระพุทเจ้าต่างกันอย่างไร ?
      ตอบพระปัจเจกพุทธเจ้าเหมือนกับพระพุทธเจ้าทุกประการเพียงแต่สร้างบารมีมาน้อยกว่า ขาดแค่สัพพัญญุตญาณเท่านั้น นอกนั้นสามารถรู้เท่ากับพระพุทธเจ้า
              เหตุที่ท่านขาดสัพพัญญุตญาณ เพราะท่านไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ ท่านไม่ได้ประกาศพระศาสนา
              สมมติว่าวัดอาตมามีรถโฟร์วีลอยู่หนึ่งคัน อีกวัดหนึ่งไม่มี เพราะเขาไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้าป่าเข้าดง ก็ลักษณะเดียวกัน พระปัจเจกพุทธเจ้าก็เลยไม่จำเป้นต้องมีสัพพัญญุตญาณ เพราะท่านไม่ได้ประกาศพระศาสนา
*************************

      ถาม :  น้องสาวนั่งสมาธิแล้วจะเห็นวิญญาณ เห็นอยู๋เรื่อยจนเขาไม่กล้านั่งไม่คิดจะนั่งต่อ ?
      ตอบ :  บอกเขาว่าทำต่อไป เริ่มดีแล้ว การที่เรารู้เห็นท่านทั้งหลายเหล่านั้น ให้ตั้งใจว่า ผลบุญที่เราทำในครั้งนี้หรือบุญจากกรรมฐานขอให้วิญญาณ ผี หรืออะไรที่เราเห็นให้โมทนาบุญเราด้วย เราได้รับประโยชน์รับความสุขเท่าไร ขอให้เขาได้รับด้วย แล้วเขาก็จะไปเอง
              ส่วนใหญ่เขามาเพราะลำบาก เขาต้องการการช่วยเหลือ
      ถาม :  อีกอย่างที่ไม่กล้านั่ง เพราะเขารู้สึกว่าตัวเขายึดขยาย หายใจไม่ค่อยออก ?
      ตอบ :  เป็นอาการของปีติ ในส่วนของผรณาปีติ ไม่มีอะไรน่ากลัว
              เราอาจจะสงสัยว่าปีติเป็นเรื่องดี แต่ทำไมจึงมีอาการแปลก ๆ โบราณเขาเปรียบเทียบไว้ว่า เหมือนกับพ่อแม่ทิ้งลูกให้อยู่บ้าน ส่วนตัวเองไปตลาด ไปไร่ไปนาทั้งวัน พอกลับมาตอนเย็น เด็กก็คิดถึงพ่อ คิดถึงแม่ เห็นพ่อแม่กลับมาก็ดีใจกระโดดโลดเต้น บางคนก็ร้องไห้ดีใจ นั่นคือปีติ
              การปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน จิตที่เริ่มเข้าถึงความสงบ สิ่งที่ในอดีตเราเคยคุ้นเคยมาก่อน เมื่อเข้าถึงจุดนั้น อาการปีติก็เลยเกิดขึ้น แต่คนเราไม่เข้าใจว่าปีติมีหลายอย่าง หลายรูปแบบด้วยกัน ต่อไปจะมีอาการมากกว่านั้นอีก ฉะนั้น...แรก ๆ ปล่อยให้เป็นไปเต็มที่ ไม่ต้องไปกลัว ถ้าขึ้นเต็มที่แล้วก็จะเลิกไปเอง
      ถาม :  เขาบอกว่า หายใจไม่ออก สมควรจะหยุดหรือนั่งต่อ ?
      ตอบ :  ปล่อยต่อไป ให้ตัดสินใจว่าเรากำลังทำความดีอยู่ ถึงตายไปตอนนี้เราก็ยอม เพราะอย่างไรเราไปดีแน่นอน ถ้าตัดใจอย่างนั้นได้ก็ก้าวข้ามไปเลย ถ้าตัดใจไม่ได้ ทำเมื่อไรก็จะติดอยู่แค่นั้นแหละ บอกว่าสู้ต่อไป ไอ้มดแดง...!
*************************

              “รู้ไหมว่านั่งอยู่ตรงนี้ อาตมานั่งด้วยความหวัง ความหวังอันสูงสุดว่าจะมีใครถามปัญหาการปฏิบัติที่ไม่ใช่ระดับพื้น ๆ แบบนี้บ้าง เดี๋ยวจะเหมือนกับครูจบปริญญามา อยากให้ความรู้แก่เด็กมากเลย แต่กี่ครั้ง ๆ ก็ถามแค่ไม่เกิน ป.๕ หรือ ป.๖...!”
*************************

      ถาม :  ตอนที่อารมณ์ดีสุด ๆ เหมือนกำลังทำความดีแล้วฟูมากๆ เราควรจะเอาอารมณ์ตอนนั้นไปทำอะไร ?
      ตอบ :  ตอนนั้นให้ระมัดระวังตัวให้สุดขีดเลยว่า มารจะแทรกได้ เพราะตอนที่เราฟูมาก ๆ จริง ๆ. แล้วสมาธิเราตกขึ้นไม่ถึงฌาน ปีติจึงเกิดได้ เท่ากับเปิดโอกาสให้ ราคะ โลภะ โทสะ โมหะ เข้าได้มาก โดยเฉพาะการยินดีในอารมณ์นั้น ก็เป็นส่วนหนึ่งของราคะอยู่แล้ว
              ช่วงนั้นมารจะแทรกได้ง่าย ถ้าเผลอเมื่อไรก็โดนจูงผิดทาง อย่างเช่นปีติมาก ๆ อาจจะทำบุญจนหมดตัว แล้วทำให้ครอบครัวเดือดร้อน หรือไม่ก็ปีติมาก ๆ ภาวนาไม่เลิก จนร่างกายทนไม่ไหว สติแตกไปอีก...!
              ต้องระวังตัวสุดขีด...ไม่ใช่อารมณ์ฟูแล้วจะเอาไปทำอะไร แต่ต้องระวังสุดชีวิตเลย ถ้าถึงระดับนั้นแล้ว จะทำอะไรต้องใช้สติสัมปชัญญะให้รอบคอบ พิจารณาแล้วว่าตนเองและคนรอบข้างไม่เดือดร้อนถึงทำ
              หรือปฏิบติธรรมไปแล้วก็ให้ตั้งเวลาไปเลย ว่าไม่เกิน ๑ ชั่วโมงเราจะพัก ไม่เกิน ๓ ชั่วโมงเราจะพัก ถ้าหากไม่มีอย่างนั้นแล้ว เดี๋ยวทำข้ามวันข้ามคืนไม่เลิก เพราะใจกำลังฟูอยู่ จะไม่รู้สึกเหนื่อยหรอก แต่ร่างกายจะอ่อนล้าสะสมไปเรื่อย พอถึงระดับที่ร่างกายทนไม่ได้ก็จะพัง...!
              แต่สำหรับพวกเราคงไม่ต้องเตือนข้อนี้หรอก เพราะว่าขี้เกียจอยู่แล้วนี่...!
*************************

      ถาม :  การทรงฌานสี่ทั้งวัน ไม่ตึงเกินไปหรือครับ ?
      ตอบ :  ถ้าหากทำได้คล่องตัวจริง ๆ จะไม่เป็นไร ยกเว้นคนฝึกใหม่ ๆ จะรู้สึกตึงและเครียด เพราะสภาพจิตที่เคยดิ้นรน โดนกดนิ่งสนิทไป
              จึงควรซ้อมการเข้า-ออก ขึ้น-ลงฌานต่าง ๆ ให้คล่องไว้ พอคล่องชนิดที่จะเข้าเมื่อไรก็ได้ ก็ตะเกิดความเบาขึ้น พอคล่องตัวมากจริง ๆ ต้องการเมื่อไรก็จะมาต้องการเมื่อไรก็จะเปลี่ยนระดับฌานได้ ถึงตอนนั้นก็จะกลายเป็นของเบา ไม่ใช่ของหนัก
              คราวนี้ก็จะไม่ตึง ไม่เครียดแล้ว สามารถทรงฌานได้เป็นเดือน เป็นปี สมัยอาตาฝึกใหม่ ๆ ก็ปล้ำผีลุกปลุกผีนั่งอยู่กับฌาน จนกระทั่งสามารถทรงได้เป็นระยะเวลา ๒ เดือน ๓ เดือน ๔ เดือนต่อเนื่อง คิดว่าเราแน่...ที่ไหนได้...พลาดทีเดียว หายจ้อยไปเลย...!
*************************

      ถาม :  พยายามทรงฌานสี่ตลอดเวลา แต่นานไปก็เริ่มหนัก พอเริ่มหนักก็ถอยให้เบาลง แต่ยังหนักอยู่ ก็ถอยลงอีก ก็ยังหนักอยู่ดี สุดท้ายไม่เอาอะไรแล้ว ไม่เอาแม้แต่อารมณ์ในการปฏิบัติ ปรากฎว่าเบาโล่ง ก็ล็อกให้อยู่อย่างนั้น พอคิดอยากให้อารมณ์มากกว่านี้ ก็เครียด หนักไป เลยเหลืออารณ์แค่นี้ ควรจะรักษาอารมณ์อย่างนี้ตลอดหรือเปล่า ?
      ตอบ :  ถ้ารักษาไปตลอด โอกาสจะพลาดก็มี เพราะว่ายังเบาไป ต้องมีเวลาเฉพาะของเราสักเช้า ๑ ชั่วโมง เย็น ๑ ชั่วโมง ที่ตั้งอารมณ์สมาธิให้ทรงฌานเต็มที่ก่อน แล้วค่อยถอยออกมา
      ถาม :  ขณะที่เห็นว่าเบาลง ก็เห็นว่าแม้แต่อารมณ์การละ เมื่อก่อนต้องใช้กำลังใจสูงมาก แต่ตอนนี้ละก็เหมือนไม่ได้ละ จะเบาลง ?
      ตอบ :  ขอให้ปล่อยได้เท่านั้น จะหนักหรือเบาช่างมัน เคยบอกเอาไว้ว่า ถ้าทำถูกแล้วจะเบา ถ้าหากยังหนักอยู่ ยังไม่ถูกจริง ค่อยยังชั่วหน่อย มีคำถามเลย ป.๖ ไปบ้าง...!
*************************

      ถาม :  อ่านหนังสือที่หลวงพ่อสอน ท่านบอกให้ทรงอารมณ์แล้วก็ไล่ฌานสี่ ไล่พรหมวิหาร อ่านไปก็นึกตามไป รู้สึกตามไป สุดท้ายก็จับอารมณ์พระนิพพาน แบบนี้เป็นกำลังของมโนมยิทธิครึ่งกำลัง หรือทรงอารมณ์ได้ตามที่หลวงพ่อสอน ?
      ตอบ :  ตอนนั้นอย่างน้อยจิตของเราไม่มีกิเลส ในเมื่อไม่มีกิเลส การที่เราจะไล่ตามอารณ์ โดยเฉพาะในอารมณ์ความเป็นพระอริยเจ้าที่หลวงพ่อสอนท่านสอน สามารถที่จะเข้าถึงได้โดยง่าย
              แต่สำคัญตรงที่ว่า เราเข้าถึงแล้ว เราทรงอยู่ได้หรือไม่ เพราะฉะนั้น...ตรงจุดนี้เราก็ต้องพิจารณาด้วยความระมัดระวัง และหมั่นทำบ่อย ๆ หมั่นย้ำบ่อย ๆ จนกระทั่งกลายเป็นความเคยชินเฉพาะตัวว่า ทำเมื่อไรต้องให้ได้อารมณ์นี้เลย
      ถาม :  ไม่ต้องไล่ตามขั้นแล้ว ?
      ตอบ :  ไม่ต้อง แรก ๆ ก็เหมือนตีอวนเอาปลาทั้งทะเล ต่อไปพอเรารู้ว่าปลาตัวไหนดีที่สุด เราก็คว้าอาปลาตัวนั้นตัวเดียว
              แรก ๆ ต้องทำเยอะ แต่พอซักซ้อมจนคล่องตัวแล้วก็จะเหลือเพียงนิดเดียว
      ถาม :  ถ้าเราตั้งอารมณ์เข้าพระนิพพานอย่างเดียวก็จบเลย ?
      ตอบ :  ถ้าทำได้จิรง ๆ ก็จบ ระยะหลัง ๆ อาตมายังขี้เกียจไปกราบท่านปู่ท่านย่าเลย พอไปถึงพระนิพพานแล้วก็เชิญทานขึ้นมากราบ
              ตอนที่ยังไม่หายคัน ก็จะแวะนั่นแวะนี่ เที่ยวไปเรื่อย พอนาน ๆ เข้าก็จะเริ่มเบื่อ เหมือนโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะไม่เล่นซนอย่างเด็กแล้ว จะเหลือแค่ไม่กี่จุดที่เราจะไป
      ถาม :  แต่ก็ไม่เคยเห็นชัดจริง ๆ เลย อารมณ์พระนิพพานก็เห็นไม่ชัด ?
      ตอบ :  ไม่เป็นไร อย่าลืมว่าพระสุกขวิปัสสโกท่านไม่ได้เห็นอะไร แต่ขณะเดียวกันทำไมท่านถึงได้มั่นใจ ก็เพราะว่าท่านเข้าถึงอารมณ์นั้นจริง ๆ
*************************