ถาม : ถ้าสมมุติว่าผมไปคิดว่าถ้าเป็นรุ่นผม ผมจะซื้อไก่ KFC บ้างไก่ย่างที่เด็ก ๆ ชอบนี่ไหว้ได้มั้ยครับ ?
ตอบ : ได้เทวดาท่านไม่ค่อยได้เลือกหรอก ยกเว้นว่าองค์ไหนท่านจะมีสัญลักษณ์ที่คล้าย ๆ กับว่าท่านขอในสิ่งนั้น ให้คนรู้ว่าเป็นท่านอย่างนั้นต้องหาให้ท่านเฉพาะ แต่ว่าสิ่งที่ท่านขอส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นจะพิลึกพิลั่นพิศดารอะไร อย่างเช่นว่า มีบ้านหนึ่งเจ้าของเจ้าที่เขาเป็นเสาตกน้ำมัน เขาขอไข่ต้มฟองหนึ่งซึ่งมันก็หาไม่อยากใช่มั้ย ? แต่ถ้าหากว่าเป็นอาตมา รุ่นอาตมาเนี่ยเลิกไหว้เลย ถวายสังฆทานให้ท่านแทน รู้สึกชอบใจมากกว่า
ถาม : เพราะว่าก็บอกล่วงหน้าว่าไก่ต้ม เด็ก ๆ ก็ไม่มีใครกิน ทำเสร็จก็ต้องไปทิ้งไปแจกเขา ทำไมไม่ทำพวก ไก่ย่าง ไก่ KFC ล่ะ เด็ก ๆ จะได้กินได้ ?
ตอบ : (หัวเราะ) มันจะกลายเป็น เรานอกคอกไป
ถาม : ใช่ครับ ก็เลยถามจริง ๆ ว่ามีผลหรือไม่มีผล คราวหน้าเป็นใหญ่ขึ้นมาจะทำเอง ?
ตอบ : คือว่า เรื่องของการบูชาท่าน ถ้าท่านไม่ได้มาเรียกร้องด้วยตัวเอง เราเอาอะไรบูชาท่านก็รับทั้งนั้น เพราะว่ามันเป็นการแสดงออกซึ่งความเคารพของเรา
ถาม : แล้วที่ไปไหว้ต้นไม้ขอหวยบ้าง ไปขัดอะไรบ้าง ?
ตอบ : อันนั้นมันต้องมีบุญเก่าเสริมด้วย ถ้าไม่มีบุญเก่าจริง ๆ ขัดให้ตายมันก็ได้อะไรมาก็ไม่รู้ แต่สังเกตมั้ยว่า ต่อให้มันขัดออกมาเหมือน ๆ กัน คนตีความมันก็คนนี้ถูกมั่งคนนั้นไม่ถูก มันต้องตัว ทานบารมี เก่าที่ทำมาเป็นของเสริม ไม่งั้นก็ไม่ได้
ถาม : แล้วอย่างที่เขาว่าไหว้เทพเจ้าองค์นั้นจะรวยจริง อย่างนี้มีผลอย่างนั้นจริงมั้นครับ ?
ตอบ : มันต้องอยู่ในลักษณะอย่างของพระสีวลี พระสีวลีท่านเป็นผู้เลิศในลาภ เป็นพระที่เป็นเอตทัคคะ คือยอดเยี่ยมในลาภ คราวนี้ ท่านเข้านิพพานไปแล้วกุศลตรงจุดนี้ไม่ได้ใช้แล้วที่นั่น ใครบูชาท่านตัวกุศลตัวนี้ก็หนุนเสริมให้ด้วย แต่ว่าสำหรับผู่อื่น อย่างเช่นว่า องค์นั้นมีลาภดี องค์นี้มีลาภเยอะมันก็อยู่ในลักษณะที่ว่า ท่านเพิ่งจะเริ่มต้นการสร้างบารมีจากทานบารมี
ในเมื่อสร้างทางบารมีมาเวลาเราไปขอให้ท่านช่วยต้องดูด้วยว่าเราขาดเยอะมั้ย ? ถ้าเราขาด ๘๐% ท่านก็ช่วยเราไม่ไหว แต่ถ้าเราขาด ๑๐ % ท่านช่วยได้ ก็หมายความเราเองต้องทำมาด้วยในจำนวนที่มากพอ สมมุติว่ามันเต็มแค่นี้ใช่มั้ยของเรามีอยู่แค่นี้ท่านเติมให้มันเต็มได้ ให้ยืมใช้ก่อน แต่ต้องมีข้อแม้ว่าอาจจะต้องแก้บน แก้บนนี่คือลักษณะการว่า เราต้องทำบุญอะไรเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนพอถึงเวลาเราทำไปมันเติมส่วนนั้นของเราเต็มพอดี
เพราะฉะนั้นท่านก็ช่วยให้เราก่อนได้ แต่ถ้าเราขาดเยอะนี่ขอให้ช่วยทั่วประเทศก็ไม่มีใครเขาช่วยได้หรอก
ถาม : แล้วถ้าเขาไหว้กันแล้วเราไม่ไหว้ล่ะครับเราเฉย ๆ นี่ ?
ตอบ : ก็อย่าไปลบหลู่ แล้วก็ขณะเดียวกันว่าอย่าไปแสดงออกในลักษณะคัดค้าน เพราะว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ที่เขามีผลจริงก็มีอยู่ ถ้าหากว่าเราไม่ได้รู้จริงแล้วเราไปคัดค้านแล้วมันลำบากตัวเราเอง
ถาม : เวลาผมนั่งสมาธิถ้าเพ่งองค์พระมากไปนาน ๆ บางทีก็หลับไปเลย ถ้าผมจะฝืนไม่ให้หลับนั่งไปซักชั่วโมงกว่านี่ นั่งไปเรื่อย ๆ มันรู้สึกว่าเวียนศีรษะครับ ?
ตอบ : บางทีของเรามันใช้สายตามากเกินไปใช้ความตั้งใจมากเกินไป ลักษณะเพ่งก็คือจิตใจจดจ่อไว้ไม่ใช่ลูกกะตา เรามองรูปพระนึกภาพนั้นไว้ หลับตาลงนึกถึงภาพมันจะนึกได้ชั่วครู่แล้วเสร็จแล้วพอหายไป เราก็ลืมตาดูแล้วก็มองสบาย ๆ นี่แล้วหลับตาลงแล้วก็นึกถึงไว้ พอหายไปก็ลืมดูใหม่ทำลักษณะอย่างนี้ ไม่ใช่ไปจ้องให้ติดตาไม่ใช่ เขาให้จำติดใจ พอถึงเวลานี่หลับตาหรือลืมตาเรานึกได้ชัดเจนเสมอกัน อันนั้นก็เริ่มเป็นตัวอุปจารสมาธิ
ถาม : และจำเป็นต้องไว้ในท้องไหมครับ ?
ตอบ : แล้วแต่เรา ถ้าหากว่าฝึกใหม่ ๆ ก็เอาไว้ข้างนอกนั่นแหละ พอเรามีความชำนาญเสร็จจะไว้ส่วนไหนของร่างกายก็ได้
ถาม : มีผลเหมือนกัน ?
ตอบ : มีผลเหมือนกัน จะไว้ข้างใน ไว้ข้างนอก จะไว้อย่างไรก็ได้
ถาม : เห็นทางธรรมกายเขาบอก เอาเข้าไปลึกเลย เอาจิตซ้อนแล้วซ้อนอีก
ตอบ : (หัวเราะ) ลักษณะนั้นมันเป็นการที่เรียกว่าให้จิตมันดิ่งลึกเข้าไปสู่สมาธิขั้นสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ พอเต็มที่ครบจนกระทั่งถึงธรรมกายก็คือ ฌาน ๔
ถาม : ฌาน ๔ เลยเหรอ ?
ตอบ : พอเริ่มเป็นดวงปฐมมรรค ก็เริ่มเป็นอุปจารสมาธิ
ถาม : แล้วสมมุติผมเคยนึกเพ่ง พอนึกไม่นออกมาก ๆ ไปเพ่งนี่เครียด บางทีท้องแข็งรู้สึกปวดท้อง
ตอบ : เราก็เลิกซิ คลายอริยาบถออกมาทำอย่างอื่นไปก่อน พอรู้สึกว่ามันดีแล้วก็ค่อยไป
ถาม : แล้วถ้านั่งทำจิตว่าง ๆ เฉย ๆ ไม่คิดอะไรเลยแล้วมีความรู้สึกว่าพยายามจะให้รู้สึกมีสติตลอดเวลาอย่างนี้ใช้ได้หรือเปล่าครับ ?
ตอบ : ก็ใช้ได้อยู่ เพราะจริง ๆ แล้วต้องการให้มีสติอยู่เฉพาะหน้าแบบว่า ทำใจให้เฉย ๆ นั่นบางทีมันเฉยแล้วไม่ได้ประโยชน์อะไร เราใช้สติรู้รอบในลักษณะคอยระวังไม่ให้นิวรณ์มันกินใจเราจะได้ประโยชน์มาก คอยดูเอาไว้ว่าใจเราความชั่วมันเกิดขึ้นมั้ย ? ตัวฉันทะ คือความพอใจ เราใช้คำว่า กามฉันทะ พอใจระหว่างเพศมีมั้ย ?
แล้วก็ปฎิฆะ ตัวกระทบกระทั่งอารมณ์ใจของคนอื่นมีมั้ย ? อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่านมีมั้ย ? อย่างนี้ ตัววิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในการปฎิบัติของเรามีมั้ย ? จริง ๆ ก็คือว่าให้ใจเรารู้อยู่กับลมหายใจเข้า ออกตลอดเวลา ถ้าใจมันอยู่กับลมหายใจเข้าออกนี่ตัวอื่นกินยาก
ถาม : ก็เคยเหมือนกันครับ เวลาดูลมหายใจ พอดูไป ๆ เหมือนกับลมหายใจนี่มากขึ้นทั้ง ๆ ที่เราหายใจออกปกติ แต่มันเหมือนกับว่าเราอัดลมเข้าไปเยอะน่ะครับ ?
ตอบ : ตามรู้ไว้เฉย ๆ มันจะเป็นยังไงเรื่องของมัน คิดว่าตอนนี้เราทำความดีอยู่ ถึงมันตายตอนนี้เราก็ไปดีอยู่แล้ว อาการลักษณะนั้นมันเป็นการทดสอบเรานิดเดียวเท่านั้นเอง ส่วนใหญ่แล้วเราจะไปใส่ใจมัน แล้วกำลังใจเรามันก็คลายตัวลงมาหรือไม่ก็ตกใจเลิกไปเลย กลายเป็นว่ากำลังจะดีแล้วก็ห่างออกไป
ถาม : แล้วก็อานิสงส์ของคำภาวนา เช่นว่า พุทโธ นะมะพะธะ สัมมาอะระหัง มีอานิสงส์ต่างกันหรือเปล่า ?
ตอบ : มันมีผลต่างกัน อย่างเช่น คำภาวนาเฉพาะอย่าง นะมะ พะธะ สำหรับผู้ฝึกมโนมยิทธิจะใช้กำลังของพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ท่านช่วย ซึ่งอันนี้มันเป็นสิ่งที่ท่านให้พรเอาไว้ ถ้าหากว่าใครภาวนามันก็เหมื่อนเป็นสัญญาณบอกฝ่าย ว่าเป็นพวกเดียวกันแล้วก็ต้องการความช่วยเหลือ ท่านก็จะสงเคราะห์ให้ ก็จะมีความคล่องตัวมากกว่า
แต่ว่าขณะเดียวกันถ้าหากว่าเรื่องอานิสงส์ทางด้านอื่น ๆ นี้ ถ้าหากไม่ใช่เป็นการระบุเฉพาะแล้ว ถึงเวลาถ้าหากภาวนาไปอารมณ์ใจทรงตัวเป็นฌานมันก็เท่ากัน แต่ถ้าเป็นการระบุเฉพาะมันก็จะต่างกัน
ถาม : ถ้า นะมะ พะธะ นี่อานิสงส์พระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ทำไมไม่ท่อง นะโมพุทธายะ ไปเลย ?
ตอบ : จริง ๆ แล้ว นะโมพุทธายะ นั่นถ้าเวลาภาวนาเขาจะปิดหน้าอยู่แล้ว อันนั้น นะมะ พะธะ ตัวนี้มันจะเป็น พะ ธะ เขาจะใช้ พ. พาน ธ. ธง นะมะ ก็คือ นะโม พะธะ ก็คือ พุทโธ (หัวเราะ) มันไม่ใช่ นะมะพะทะ ที่เป็นตัวธาตุ ๔ นั่นมัน ท. ทหาร ถ้าหากว่าเป็นตัวขอมมันจะเขียนคนละตัวกัน
|