​​​ กระโถนข้างธรรมาสน์ ฉบับที่ ๑๕๖

 

              “หมาจะมีนิสัยขี้อิจฉาทุกตัว ถ้าเราไปโอ๋ตัวใดตัวหนึ่ง อีกตัวก็จะกัดทันที ต้องระวังให้ดี เพราะเขาจะเห็นเราเป็นจ่าฝูง การที่จ่าฝูงไปดีกับตัวไหน เหมือนเราไปเลื่อนฐานะให้ตัวนั้น ถ้าตัวนั้นเคยอยู่ในฐานะที่ต่ำกว่า ตัวที่อยู่สูงกว่าจะไม่ยอม เขาจะกัด
              กัดในลักษณะที่ว่า “เอ็งแน่จริงหรือเปล่า ? ถ้าเอ็งไม่แน่จริงก็อย่าเลื่อนชั้นขึ้นมา...” ฉะนั้น...เราจะเป็นสาเหตุให้หมาทะเลาะกันบ่อย โดยที่เราเองก็ไม่รู้ตัว
              แล้วเวลาหมากัดกันอย่าไปห้าม นั่นเป็นการจัดลำดับอาวุโสกัน ตัวไหนเก่งกว่า ตัวนั้นชนะ แล้วหลังจากนั้นอีกตัวจะไม่กล้าหือ แต่ถ้าเราไปห้าม แพ้ชนะยังไม่รู้กัน เขาจะกัดกันบ่อยมาก แล้วเราจะรำคาญ เราเองเอาความรู้สึกของคนไปจับ ว่าไม่ควรทะเลาะกัน แต่ความรู้สึกของหมาก็คือ ผู้แข็งแรงกว่าจึงจะชนะ ฉะนั้น...ต้องปล่อยให้เขาจัดลำดับกันเอง เรามีหน้าที่ใส่ ทำแผลให้ตอนจบ
              สัตว์ที่อยู่ใกล้คนจะได้เปรียบ เพราะถ้าใจเกาะคน เขาก็จะไปเกิดเป็นคน ใจเกาะพระก็ไปเกิดเป็นเทวดา สัตว์เลี้ยงที่ใกล้ชิดกับคน กรรมของการเป็นสัตว์เดรัจฉานของเขาจวนจะหมดแล้ว
              สัตว์เขาจะมีภาษาเสียงเหมือนกับคำพูดของเรา และมีภาษากายอย่างเช่น การกระดิกหาง การทำหางตก แยกเขี้ยวใส่กัน และยังมีภาษาใจอีก มนุษย์เรารับภาษาเสียงได้ ภาษากายบางอย่างเราก็รับไม่ได้ เราก็เลยสู้หมาไม่ได้
              ลองเอาหมาไทยข้างถนนไปโยนไว้ที่ประเทศอังกฤษดูสิเราจะเห็นว่าเขาคุยกับหมาอังกฤษรู้เรื่องโดยที่ไม่ต้องหัดภาษาอังกฤษเลย เอาไปโยนไว้ที่ประเทศลาว หมาก็เว้าลาวได้สบาย เอาไปโยนไว้ที่ประเทศไหนหมาก็คุยรู้เรื่องทันที เพราะเขาใช้สามภาษา คือภาษาเสียง ภาษากายและภาษาใจรวมกัน
              เราเองเรื่องของภาษากายเราก็รับได้ยากแล้วยิ่งภาษาใจย่ิงรับได้ยากเข้าไปใหญ่ กลายเป็นว่าเกิดเป็นคนวิวัฒนาการมากเท่าไร สมรรถภาพในการสื่อสาร โดยเฉพาะภาษาก็หายสาบสูญไปมากเท่านั้น
              บางวันนั่งแปลภาษาหมาให้พี่มุกดาเขาฟัง และสอนให้พูดภาษาหมาด้วย ปรากฎว่าพี่มุกดาจำได้ไม่กี่คำ จำไว้ชัด ๆ นะ ที่หมาหอมแก้มเรา เขาไม่ได้หอมแก้มนะ เขาดมมุมปาก ท่าดมมุมปาก แปลว่า มีอะไรให้กินหรือไม่ ?”
*************************

              “สมัยก่อนฆราวาสผู้ชายที่อยู่ใกล้หลวงพ่อมีไม่มาก ส่วนใหญ่จะบวชหมด ช่วงนั้นที่เป็นหลักก็มีลุงเอี๊ยง มีจ่าประมวญ ส่วนพวกเราก็จะเป็นส่วนเสริม ก็มีอย่างคุณธวัชชัย ลุงพุฒ คุณธรรมนูญ หรือตัวอาตมาเอง นั่งอยู่รอบ ๆ หลวงพ่อ
              พูดง่าย ๆ คือ มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นก็ตาม ทดสอบกำลังใจกันแรงขนาดไหน คนอื่นเตลิดเปิดเปิงขนาดไหนก็ตาม แต่ ๔-๕ คนนี้ต้องอยู่ เพราะถ้าไปจะทำให้คนที่เหลือไปด้วย เหมือนกับเป็นตัวหลัก มาแล้วต้องเจอ ถ้าไม่เจอคนก็ใจหาย นอกจากนี้จะมีอาจารย์ยกทรงคอยถามปัญหา มีคุณประเสริฐคอยเรี่ยไร บางทีคนมาทำบุญจนแน่นกระดิกไม่ได้ คนอยู่หลังไม่รู้จะทำอย่างไร คุณประเสริฐก็จะเดินถือขัน เขาก็จะบอกว่ารายการไหนบ้าง “สร้างหลงพ่อไหลมาเทมาครับ” โยมก็ใส่เงิน ถึงเวลาก็ยกไปถวายหลวงพ่อวัดท่าซุง”
      ถาม :  ขอคำแนะนำเกี่ยวกับมโนมยิทธิ ?
      ตอบ :  ต้องซ้อมบ่อย ๆ ถ้าไม่ซ้อมสนิมจะกิน มโนมยิทธิต้องถึงขนาดที่ว่าเขาส่งของมา เราต้องบอกได้ว่าที่อยู่ในกล่องในห่อเป็นอะไร ถ้าทำขนาดนั้นไม่ได้ เราก็จะไม่มั่นใจตัวเอง
              ถึงทำขนาดนั้นได้ ถ้าเขาตั้งใจจะทดสอบเรา ภาพที่ปรากฎจะเป็นคนละเรื่องกับของจริง ยังมีการทดสอบทำให้เราเป๋ออกนอกทางได้อีก ฉะนั้น...มีอย่างเดียว คือ ขยันซ้อมและอย่าเชื่ออะไรง่าย ๆ
*************************

              “ยาสมุนไพรดีกว่ายาฝรั่ง ตรงที่ว่าร่างกายเราขับออกได้ ไม่เหมือนยาฝรั่งที่มีการตกค้าง แต่ยาสมุนไพรจะให้เห็นผลทันตาเลยทีเดียวอาจจะยาก ต้องกินสะสมไประยะหนึ่ง อย่าง เช่น ๑-๒ หมอ ก็เลยทำให้คนสมัยใหม่ที่ใจร้อน ไม่ค่อยจะใช้สมุนไพรกัน”
*************************

      ถาม :  ถ้าฝึกมโนมยิทธิที่บ้าน ควรฝึกอย่างไรครับ ?
      ตอบ :  นั่งกรรมฐานตามปกติ แล้วกำหนดความรู้สึกทั้งหมดให้มาอยู่ตรงหน้า เหมือนกับมีตัวเราอีกตัวหนึ่งเล็ก ๆ ไม่ต้องใหญ่มากมาอยู่ตรงหน้าของเรา สั่งให้เดินแถวแบบทหารเลย ซ้ายหัน ขวาหัน กลับหลังหัน ถอยหลังสองก้าว เดินหน้าสามก้าว ฯลฯ ให้ความรู้สึกของเราชัด ถ้าไม่ชัดให้เร่ิมใหม่ ทำไปเรื่อย ๆ
              เสร็จแล้วก็เดินวนรอบห้อง รอบตัวเราก็ได้ ช้า ๆ นะ ไม่อย่างนั้นจะวูบเดียวครบรอบเลย เดินไปที่ประตู เปิดประตู ลงบันได ไปชั้นล่าง เดินรอบชั้นล่างอีกรอบหนึ่ง ออกไปดูหลังบ้าน ออกนอกบ้าน เปิดประตูเดินไปปากซอย
              ค่อย ๆ กำหนดความรู้สึกให้ช้า ๆ และชัด ๆ ไปเรื่อย ตอนแรก ๆ จะชัดมาก เพราะเราคุ้นกับสถานที่ แต่พอถึงจุดที่เราไม่คุ้นแล้วยังชัดอยู่ อย่างเช่น เห็นป้ายโฆษณา เห็นชื่อร้านค้า เห็นวินมอเตอร์ไซค์ ให้จำไว้เลย ว่ามีลักษณะอย่างไร เลิกกรรมฐานแล้วไปดูว่ามีลักษณะอย่างที่เห็นไหม ?
              ซ้อมอย่างนี้ทุก ๆ วัน สวรรค์พรหมไม่ต้องไปหรอก เอาแค่นี้แหละ พอคล่องตัวมาก ๆ จนกระทั่งหลับตาและลืมตาเห็นชัดเท่ากัน คราวนี้เราไปไหนก็กำหนดใจไป แต่ต้องขยันซ้อม ซ้อมบ่อย ๆ ทิ้งไม่ได้เลย ทิ้งเมื่อไร สนิมขึ้นเมื่อนั้น”
*************************

      ถาม :  ฝึกกสิณที่วัดแห่งหนึ่ง ผมถามว่า ถ้าจับรูปพระจะดีกว่ามองแผ่นกสิณนี้หรือเปล่า ? เขาบอกว่ารูปพระมีรายละเอียดเยอะ
      ตอบ :  นั่นเป็นความเห็นและเป็นความเข้าใจของเขา ที่วัดนั้นถ้าฝึกแล้วจะได้ผล ต้องเป็นคนมีของเก่าที่เคยทำมาในชาติก่อน ยกเว้นกสิณสีขาว สีเขียว สีแดง และสีเหลือง ๔ สีนี้เท่านั้น ที่ฝึกแล้วมีผล
              ส่วนที่เขาไปสมมติภาพสีเป็นกสิณดิน กสิณน้ำ นั่นไม่มีผลหรอก ยกเว้นคนมีของเก่า เพราะวัตถุที่เขาเอามาทำเป็นองค์กสิณยังไม่ใช่วัตถุที่ถูกต้อง กสิณดินแทนที่จะใช้ดินก็ไปใช้สีส้ม ถ้าไม่มีพื้นฐานเก่า ปฐวีกสิณมาจากชาติก่อน อย่างไรก็ใช้งานไม่ได้
              ถามว่าฝึกแล้วดีไหม ? ดี...อย่างน้อยเราก็ได้สมาธิ แต่ถ้าไม่มีของเก่าจะมีผลแค่เขียว ขาว แดง เหลือง ๔ สีเท่านั้นเอง นอกนั้นที่เหลือก็กลายเป็นอะไรติดตาเราไปก็ไม่รู้ ไม่สามารถที่จะใช้ผลของกสิณได้
*************************

      ถาม :  จะปฏิบัติตัวอย่างไรที่จะให้เจริญในธรรมและไม่ขวางโลก ?
      ตอบ :  อันดับแรก เอาศีลเป็นกรอบ ถ้าเราไม่ละเมิดศีล ๕ อย่างไรเสียก็ไม่หลุดไปกับกระแสโลกไกลนัก อย่างเช่น ไปกินเหล้าเมายากับใครก็ไม่ได้ เพราะเรามีศีลป้องกันตัวอยู่ อันดับที่สอง พยายามทำสมาธิบ่อย ๆ เพื่อให้กำลังใจของเรามั่นคง ถ้ากำลังใจไม่มั่นคง เวลาเจอลมปากเพื่อนบ่อย ๆ เดี๋ยวก็เผลอไหลตามเขาไปด้วย
              ระยะที่อาตมาน่าจะเสียมากที่สุดคือ ตอนเรียนนักเรียนนายสิบเพราะว่าเพื่อนทหารทั้งกินทั้งเที่ยว ยาเสพติดทุกประเภทมีหมด เแล้วเขาก็มาว่าอาตมา “ไม่เป็นอะไรสักอย่างหนึ่งไปหากระโปรงมานุ่งไป...!” แต่อาตมาคนเดียวด่าเพื่อนทั้งกองร้อยกลับไปว่า “พวกมึงทั้งหมดนั่นแหละ ควรจะไปเอากระโปรงมานุ่ง กูรู้ว่าอะไรไม่ดี กูห้ามใจกูได้ กูนี่ถึงจะลูกผู้ชายจริง พวกมึงไม่ใช่หรอก...!”
              เพราะฉะนั้น...ถ้ากำลังใจเราไม่มั่นคง เวลาโดนลมปากของคนอื่นแล้วเราจะอยู่ไม่ได้ ในเรื่องของศีล สมาธิ จะเป็นเครื่องช่วยในขั้นต้นเลย
              ส่วนขั้นต่อไป มีปัญญารู้เห็นความเป็นทุกข์เป็นโทษของโลก ในเมื่อรู้ว่าสิ่งไหนเป็นโทษ สิ่งไหนเป็นประโยขน์ เราก็จะละในสิ่งที่เป็นโทษ และทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ เอาแค่นี้แหละ ไม่เอาอะไรมากมาย ถ้าทำได้ครบก็อยู่ได้
              เราไม่ต้องไปด่าเพื่อนเขาแรง ๆ ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ว่า “โอย...ไม่ไหวหรอก กินแอลกอฮอล์แล้วเป็นผื่นไปทั้งตัว ให้ไปเมาอย่างนั้นคงแย่เลย”
      ถาม :  เนียน ๆ แบบนั้นได้ใช่ไหม ?
      ตอบ :  ได้…ไม่เสียเพื่อนหรอก อาตมาเป็นทหารไม่ได้กินเหล้ากับเขานะ แต่ไปกับเขาได้
              ถ้าหากวงไหนที่เมาแล้วมีคนสติดีอยู่คนหนึ่ง คนอื่นจะไม่กล้าแซวหรอก พอถึงเวลามีปัญหาเพื่อนเสียงดัง โต๊ะข้าง ๆ เขม่น เราก็ไปยกมือไหว้ “ขอโทษครับ...เพื่อนผมเมาเสียงดังไปหน่อย ขออภัยด้วยที่รบกวนพี่”
              เขาเห็นมีคนไม่เมาอยู่ เขาก็เกรงใจไม่กล้าทำอะไร พอเพื่อนเมาสิ้นสภาพสุนัขไม่รับประทาน เราก็แบกเขากลับ ไปกับเขาได้ แต่เราไปแค่กรอบของศีล
              อีกอย่างหนึ่ง คนไม่เมาไปนั่งวงเหล้าเปลืองกับแกล้มเขา เพื่อนกินเหล้าเรากินกับ พักเดียวเขาก็ไล่เราออกมาแล้ว
              ตอนอาตมาไปเป็นทหารอยู่ชายแดน เพื่อนพาไปเที่ยวผู้หญิง ไปกันเป็นหมวดเลย ทหารหมวดหนึ่งก็ ๔๐ กว่าคน ทีนี้ถ้าไปตอนกลางคืน เวลาทำการของผู้หญิงเขา เดี๋ยวแขกของเขาจะตกใจหมด เพราะเห็นทหารมาเยอะ ก็ต้องไปตอนบ่ายสอง เวลานอนของเขา
              ไปทุบ ๆ ประตู เฮ้อ...! เราลองนึกถึงผู้หญิงที่แต่งหน้าจัด ๆ เพื่อให้สวยใต้แสงไฟ ทีนี้เราไปตอนที่เขานอน ลอกหน้าออกแล้ว นุ่งกระโจมอก หัวกระเซิง หน้าซีดอย่างกับผีตายซาก ไม่รู้เหมือนกันว่าเพื่อน ๆ เขามีอารมณ์ได้อย่างไร ?
              ส่วนอาตมานั่งเฉาสนิท ไปนั่งเฉย ๆ ไม่ได้ทำอะไรเลย นั่งเฝ้าหน้าห้องให้เพื่อน สรุปแล้วสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เคยพยายามทำเหมือนกัน แต่ไม่สำเร็จเพราะฝีมือไม่ถึงอย่างพวกเขา...!
              จากที่เล่ามา อยากจะบอกพวกเราทุกคนว่า ผลของกการปฏิบัติ แรก ๆ ในเรื่องของศีล สมาธิ กำลังยังไม่พอตัดกิเลส แต่กำลังมีพอที่จะหักห้ามเรา ไม่ให้ทำในสิ่งที่ไม่ดีต่า งๆ ได้ในระดับหนึ่ง
              พอเราทำไปมากกว่านั้น ความเข้มแข็งมีขึ้นเรื่อย ๆ เราถึงจะห้ามตัวเองได้จริง ๆ
ไม่อย่างนั้นช่วงที่น่าจะเสียหายมากที่สุดก็ช่วงเป็นทหาร เพราะเพื่อน ๆ เอาทุกท่าจริง ๆ
      ถาม :  ไม่ใช่ว่าสั่งสมมาแต่อดีตหรือคะ ?
      ตอบ :  นั่นก็มีส่วน แต่อย่าลืมว่ากระแสโลกเขาแรง สติสัมปชัญญะอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีสมาธิ มีปัญญาเข้ามาช่วยอีกด้วย
*************************

      ถาม :  การนั่งสมาธิหรือมโนมยิทธิ ควรที่จะต้องมีเวลาในการฝึกหรือเปล่าครับ ?
      ตอบ :  ควรจะกำหนดเวลาให้แน่นอน อย่างเช่น เช้าสักครึ่งชั่วโมง เย็นครึ่งชั่วโมง จริง ๆ แล้วไม่พอรับประทานหรอก แต่อย่างน้อยให้มีส่วนกำไรบ้าง แล้วจะช่วยสร้างเหตุปัจจัยให้กำลังใจเราทรงตัวเข้มแข็งขึ้น ต่อไปถ้าปฏิบัติในระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น เราก็จะทำได้ง่าย
*************************

      ถาม :  อารมณ์ปีติมีได้ทุกฌานใช่ไหมครับ ?
      ตอบ :  มีก่อนเข้าถึงฌาน เมื่อเป็นฌานแปลว่าข้ามพ้นปีติไปแล้ว แต่ว่าถึงแม้เราจะได้ถึงสมาบัติ ๘ แล้วก็ตาม ถ้าวิสัยเดิมของเรามาสายพุทธภูมิจำเป็นต้องรู้ปีติให้ครบ ปีติก็สามารถที่จะเกิดขึ้นได้อีก
              ถ้าเป็นดังนั้นต่อให้เราได้สมาบัติ ๘ แล้ว ถ้าปีติจะเกิดขึ้น อยู่ ๆ กำลังฌานจะลดลงมาเฉยเลย แล้วปีติก็เกิดขึ้นจนพอใจ ให้เรารู้ชัดเจนแล้วก็จะเลิกไปเอง
      ถาม :  แล้วจะกลับมาอีก ?
      ตอบ :  ถ้าตัวไหนเคยผ่านมาแล้วจะไม่เป็นอีก ฉะนั้น...จะไปคิดว่าเราได้ฌานสูง ๆ แล้วจะไม่มีปีติอีก ไม่ใช่หรอก...บทเขาจะมา กำลังฌานจะลดลงไปหน้าตาเฉย แล้วปีติก็เกิดขึ้น
      ถาม :  ถ้าเราปล่อยจะหายไหมครับ ?
      ตอบ :  รับรู้ไว้เฉย ๆ ไม่รู้ไม่ชี้ พอเต็มที่แล้วก็จะเลิกไปเอง
      ถาม :  ทันทีที่จับลมจะอยู่ที่ฌานสาม แล้วสักพักก็จะสั่น ๆ บางทีก็เป็นปีติตัวพอขยาย ?
      ตอบ :  เขาเรียก ผรณาปีติ แสดงว่าฌานสามที่คุณเข้าใจยังไม่ใช่ฌานสามจริง ๆ
      ถาม :  จะวนอยู่อย่างนั้นมา ๖ เดือนแล้ว ?
      ตอบ :  ไม่ต้องไปใส่ใจ อย่าให้อยากให้เป็น อย่าให้อยากให้หาย มีหน้าที่รับรู้ไว้เฉย ๆ จะเป็นอย่างไรก็ช่าง ถ้าวางกำลังใจอย่างนี้ได้ ปีติจะขึ้นจนเต็มที่เองแล้วก็จะเลิก
              บางทีตัวเราพองขึ้นเหมือนกับเราเป็นลูกโป่ง บางทีระเบิดตูมกลายเป็นฝุ่นไปเลยก็มี บางทีก็รู้สึกเป็นรูรั่ว มีอะไรไหลอออกมาซู่ซ่าไปหมด เรามีหน้าที่กำหนดรู้เฉย ๆ จะเป็นอย่างไรก็ช่าง แต่ถ้าไปอยากให้เป็น อยากให้หาย เมื่อไรจะเลิกเสียที ไปคอยตามดูอยู่ ก็จะติดอยู่แค่นั้น
      ถาม :  ไปเพ่งไปกำหนดตามจี้อยู่ถึง ๖-๗ เดือน หรืออยู่เป็นปี อย่างไรครับ ?
      ตอบ :  แบบนั้นก็จะอยู่ไปจนชั่วฟ้าดินสลาย
      ถาม :  อย่างนี้จะเกี่ยวกับการพัฒนาหรือเปล่า ?
      ตอบ :  เกี่ยวแน่ เพราะเราข้ามไม่ได้สักที ความก้าวหน้ากว่านั้นก็ไม่มี แต่ถ้าเราไม่ให้ความสนใจ พักเดียวก็ข้ามไปแล้ว
*************************

      ถาม :  ทำงานอยู่ ถ้าใจเป็นสมาธิ จะมีอาการเกร็งเหมือนโดนอะไรมัดร่างกาย จะเป็นอยู่สักพักหนึ่งแล้วก็ถอน ?
      ตอบ :  ปล่อยให้เป็นไปเถอะ คิดว่าเป็นขันธมารอย่างหนึ่งก็ได้ ถ้าเราไปให้ความสนใจอยู่ตรงนั้น สมาธิจะไม่ก้าวหน้า
      ถาม :  ไม่ต้องสนใจใช่ไหม ?
      ตอบ :  ไม่ต้องไปใส่ใจ ถ้าเราไปใส่ใจว่า ตอนนี้เป็นอย่างนี้ อีกสักพักจะเป็นอย่างนี้ เรารู้เพราะเคยผ่านมาแล้ว ถ้าอย่างนี้เดี๋ยวก็หายไปแล้วมาเป็นใหม่อีก
*************************

      ถาม :  เรียนมาทั้งวัน เหนื่อยมากแต่ไม่อยากนอน นั่งสมาธิทำให้หายเหนื่อยได้หรือเปล่า ?
      ตอบ :  ได้…ถ้าสมาธิลึกมากเท่าไรก็หายเหนื่อยเร็วเท่านั้น สมาธิย่ิงลึกระยะเวลาก็ยิ่งใช้น้อยเท่านั้น เข้าสมาธิลึก ๆ สัก ๓ นาทีหรือ ๕ นาที เหมือนกับนอนมาเป็นวัน
*************************

      ถาม :  ทำไมกีฬายิงปืนเหนื่อยกว่ากีฬาวิ่งเล่น ?
      ตอบ :  อันดับแรก ใช้สมาธิมาก อันดับที่สอง แรงอัดของปืนที่กระแทกเรา
              เวลายิงปืนแรงระเบิดของดินขับ เพื่อส่งกระสุนแหวกอากาศไป แรงระเบิดจะเป็นคลื่นอัดเข้ามาหาเรา อาตมาเคยยิงปืนทราบระยะ (กำหนดระยะในการยิง) อยู่สองวันสองคืน เหนื่อยรากเลือดยิ่งกว่าวิ่งสักสามสิบกิโลเมตร
              ตอนแรกก็สงสัยว่าทำไมเหนื่อยขนาดนั้น พอไปดูพื้นทรายข้างหน้า ทรายที่เขาเกลี่ยไว้เรียบ ๆ กลายเป็นคลื่นเหมือนทรายชายหาดเลย แสดงว่าแรงอัดของปืนที่อัดออกไป ดันทรายไปได้ขนาดนั้น เราอาจจะใส่ที่ครอบหูไม่ได้ยินเสียง แต่แรงอัดก็ยังคงอัดใส่เราเป็นปกติ
*************************

      ถาม :  พอกิเลสตัวนี้หายไป เขาก็จะเล่นตัวอื่นเพื่อให้กระทบกับเรา พยายามจะทำให้เราฟุ้งซ่าน ?
      ตอบ :  ตั้งสติระมัดระวังให้สุดชีวิต หลับก็ต้องระวัง กิเลสจะมาแค่สี่มุมเท่านั้นแหละ รัก โลภ โกรธ หลง แต่เขาออกข้อสอบได้เป็นล้านข้อเลย เป็นสุดยอดของอาจารย์จริง ๆ
*************************

      ถาม :  วิธีฝึกเหาะ ?
      ตอบ :  ฝึกวาโยกสิณให้ได้ก่อน ถ้าเราตั้งใจเหาะ แล้วไม่ได้อธิษฐานให้ไปช้า ๆ คนจะไม่คิดว่าเราะเหาะ เขาจะคิดว่าเราหายตัว เพราะแวบเดียวจะไปอยู่ที่จุดหมายเลย
              แต่ถ้าหากว่าอยากจะไปช้า ๆ อวดชาวบ้านเขา ก็ต้องอธิษฐานด้วยว่าให้ไปช้า ๆ ผมอยากเท่ครับ...!
*************************

              “สมัยก่อนบวชเคยดูหนังเรื่อง ๑๘ ยอดมนุษย์ทองคำ พระเอกต้องเข้าไปฝึกวิชาที่เส้าหลินเพื่อไปล้างแค้น พอฝึกวิชาสำเร็จฝ่าด่านมนุษย์ทองคำออกมาได้ หลวงพ่อเจ้าอาวาสท่านให้โอวาทว่า “คิดก่อนทำ อดทนไว้ ให้อภัย”
              เมื่อพระเอกลงไปในยุทธจักร ก็ใช้สามคำนี้เป็นหลักในการดำนินชีวิตของเรา แม้กระทั่งวาระสุดท้ายที่เขาไปต่อสู้กับตัวโกงที่ฆ่าพ่อเขา เมื่อใช้ท่าไม้ตายสุดท้าย กำลังจะฆ่าตัวโกง เขาก็ต้องหยุด เพราะคิดถึงคำของอาจารย์ที่ว่า “คิดก่อนทำ อดทนไว้ ให้อภัย” สุดท้ายพระเอกก็เลยละมือ เลิกการล้างแค้น
              ส่วนใหญ่สมัยนี้คนใจร้อน ทำก่อนคิด ถึงได้มีบางท่านบอกไว้ว่า “ให้คิดทุกอย่างที่เราทำ แต่อย่าทำทุกอย่างที่เราคิด” จะทำอะไรต้องคิดให้รอบคอบก่อน
              เรื่อง ความอดทน ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของศาสนาพุทธได้เลย โอวาทปาฏิโมกข์ก็ขึ้นด้วยขันติ...ความอดทน ถ้าไม่อดทนอดกลั้นต่อสู้กับอารมณ์ต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบ ก็ไม่สามารถที่จะผ่านได้ และท้ายสุดก็อภัยให้เขาเถอะ ถ้าเขารู้ว่าสิ่งนั้นเป็นโทษเขาก็คงไม่ทำแบบนั้นกับเราหรอก”
*************************

              “การจะนั่งอยู่ให้ได้ด้วยดี ก็เป็นการฝึกที่เข้มงวดอย่างหนึ่ง บางคนนั่งอยู่ตรงนี้ แต่ใจฟุ้งซ่านไปไหนก็ไม่รู้...!”
*************************

              “เรื่องของเทคโนโลยี บางทีเราก็ไว้ใจไม่ได้ เราต้องรู้ว่าของอย่างนี้พร้อมที่จะรวน จะเสียได้ตอลดเวลา
              สมัยที่อยู่วัดท่าซุง ด้วยความเคยชินที่หลวงพ่อท่านสอนไว้ เวลาเข้าโบสถ์ก็จะถือกระดาษกับปากกาไปด้วย ไปคอยจด จะมีสมุดบนทึกของตัวเอง
              พี่ ๆ เขาก็รอเทป เพราะเขาบันทึกเทปแจกทุกคน ปรากฎว่าวันนั้นไฟดับ อาตมาออกจากโบสถ์มีแต่คนวิ่งมายืมสมุดโน้ต ก็เลยไม่รู้จะว่าอย่างไรดี
              ในเรื่องของการจดบันทึกนั้น สิ่งที่เราฟังและได้ยิน จะเป็นส่วนที่สะดุดใจเราตรงนั้น ถ้าเป็นอารมณ์ปฏิบัติก็จะตรงกับกำลังใจของเราตอนนั้น ถ้าไม่ตรง..บางทีการฟังเราจะฟังข้ามไปเฉย ๆ
              ฉะนั้น...การที่เราไปบันทึกจดเอาไว้ เราจดในสิ่งที่ตรงกับกำลังใจของเราช่วงนั้น จะได้ทบทวนได้

              หัวใจนักปราชญ์ท่านว่า สุจิปุลิ วินิมุตโต กะถังโส ปัณฑิโต ภะเว บุคคลจะเป็นบัณฑิตได้ต้องประกอบไปด้วย สุจิปุลิ ได้แก่ สุตตะ จงฟังเขาอย่าขี้เกียจ จิตตะ คิดให้ละเอียดที่สงสัย ปุจฉา หลงจงถามอย่าเกรงใจ ลิขิต เขียนไว้ได้จะดีเอย
              ฟัง คิด ถาม เขียน
เราส่วนใหญ่ ฟัง คิด แต่ไม่ถามและไม่เขียน เป็นอะไรกันก็ไม่รู้ ? ทำอย่างกับว่าถามแล้วจะเสียหน้า ต้องรอคนอื่นเขาถาม ถ้าไม่มีใครถาม เราก็เสียประโยชน์เอง”
*************************