​​​ กระโถนข้างธรรมาสน์ ฉบับที่ ๑๕๑

 

เก็บตกบ้านอนุสาวรีย์ เดือนมิถุนายน ๒๕๕๓


      ถาม :  ระหว่างกำหนดเป็นดวงแก้ว กับกำหนดเป็นพระพุทธรูป ?
      ตอบ :  จัดเป็นกสิณ เพียงแต่กำหนดภาพพระพุทธรูปเราจะได้พุทธานุสติเพิ่มขึ้น
*************************

      ถาม :  เมื่อมีเรื่องเกิดขึ้นกับตัวเอง ก็คิดว่าเป็นกรรม แต่ตอนหลังคิดว่าเป็นธรรมของโลกที่เป็นแบบนี้ การคิดแบบไหนจะดีกว่ากัน ?
      ตอบ :  เอาทั้งสองอย่างมารวมกัน ธรรมดาของโลกเป็นแบบนี้ ในเมื่อเราทำไว้ เราก็ต้องยอมรับ
*************************

              “ถ้าหากว่าบ้านวิริยบารมีเสร็จ ขอความกรุณาอย่าเอารถส่วนตัวไปเพราะหน้าบ้านเป็นซอยแคบ ๆ แค่รถเก๋งคันหนึ่งขับได้และกลับรถไม่ได้ ส่วนด้านนอกริมถนนรถก็จอดได้ไม่กี่คัน
              ถ้าให้สะดวกก็ไปแท็กซี่หรือรอรถไฟฟ้าช่วงสองเสร็จ สถานีรถไฟฟ้าจะลงหน้าบ้านพอดี ถ้าใครคิดว่าอาตมาขู่ก็ลองเอารถไปดู ปกติอาตมาก็ชอบขู่เขาแบบนี้ บอกพวกที่ไปบึงลับแลว่า ไม่ไหวหรอกเดี๋ยวจะเป็นลมเสียเปล่า ๆ เขาก็บอกว่า โอ๊ย...ไม่เป็นไรหรอก ..ไปได้ จะแค่ไหนเชียว พระอาจารย์แก่แล้วยังไปได้เลย สรุปว่าเป็นลมตั้งแต่เนินแรก แต่พระอาจารย์ไปถึงเนินสุดท้ายก็ยังสบายดีอยู่เลย”
*************************

      ถาม :  พิจารณาอย่างไรว่า ภิกษุรูปไหนควรทำบุญด้วย รูปไหนไม่ควรทำบุญด้วยครับ ?
      ตอบภิกษุทุกรูปควรทำบุญด้วย...!
      ถาม :  เห็นจริยวัตรท่านแล้ว...?
      ตอบ :  ยกเว้นว่าเราโง่พอ ถ้าโง่พอก็จะเลือกที่ทำบุญ...! พระท่านจะดีจะชั่วก็เรื่องของพระ เราตั้งใจถวายเป็นสังฆทานก็จบแล้ว
*************************

      ถาม :  เวลาจะทำอะไรเพื่อพระศาสนา ทำไมมีปัญหาสารพัดเยอะแยะเลยครับ ?
      ตอบการทำความดีก็ย่อมมีสิ่งขวางเป็นปกติ โดยเฉพาะทำความดีโดยไม่รู้กาลเทศะ...! ต้องดูด้วยว่าเหมาะควรไหม ถึงเวลาแล้วหรือยัง ไม่ใช่คิดจะทำก็ทำ
*************************

      ถาม :  มีญาณเครื่องรู้เกิดขึ้นว่า เหลืออีกเท่าไร จะต้องทำอีกแค่ไหนใช้กรรมฐานกองไหน เและเราเห็นว่าจะตัดได้แล้ว แต่ก็ยังไม่ตัดในทันที ตรงนี้คือต้องย้ำอีก ?
      ตอบกำลังยังไม่พอ ต้องย้ำแล้วย้ำอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยเฉพาะตรงจุดกำลังใจของเราเอง ถ้าหากว่ายังไม่เด็ดขาด แปลว่า สมาธิอาจจะอ่อนไปด้วย
              เหลือเชื่อ...เราจะคิดว่าปัญญาถึง มองเห็นทางแล้วจะไปได้...ไม่ใช่ มองเห็นทางแต่ถ้ากำลังไม่ถึง ก็ไปไม่รอดเหมือนกัน
*************************

      ถาม :  กำลังใจไม่เอาเพศตรงข้าม ไม่อยากได้เขามาเป็นแฟน แต่ก็ยังเมตตาเขา สนใจเขา ?
      ตอบถ้าหมดรัก หมดโกรธไปเลยจะปลอดภัยกว่า ถ้ายังไม่ถึงตรงนั้น ยังมีสิทธิ์ที่จะหงายท้องได้ตอลดเวลา
      ถาม :  บางคนไปพิจารณารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ตัวเองไม่ถนัด ตรงนี้เป็นลักษณะปัจจัตตังของแต่ละคนใช่ไหมคะ ?
      ตอบ :  เป็นเฉพาะของแต่ละคน ไม่จำเป็นต้องศึกษาเยอะ ๆ เอาอย่างเดียวให้แน่จริง ก็ไปได้แล้ว รู้มากก็ยากนาน แต่ส่วนใหญ่อยากรู้ให้มากที่สุด ไป ๆ มา ๆ ก็เลยความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด
*************************

      ถาม :  กำลังใจ กับ สติ สมาธิ ปัญญา เป็นอย่างเดียวกันหรือต่างกันคะ ?
      ตอบ :  อย่างเดียวกัน ศีล สมาธิ ปัญญา จะเป็นกำลังที่เรียกว่า บารมี โดยเฉพาะตัวสมาธิจะทำให้กำลังใจทรงตัวดี
      ถาม :  ตอนแรกแยกไม่ได้ แต่ตอนนี้มีความสุขมากกว่าเดิม เหมือนยกภูเขาออกจากอก โล่ง เบา ถึงแม้ไม่หมด แต่ก็มีความสุข ?
      ตอบ :  ให้สังเกตไว้ว่าอารมณ์ก็ดี งานการก็ดี เวลาที่เราวางแล้วจะเบา ในเมื่อรู้แล้วที่เหลือก็อย่าไปแบกไว้
*************************

      ถาม :  ฝึกมโนมยิทธิเต็มกำลังมา ตอนที่กำลังจะออก แต่ก็ไม่ออก มีอุปสรรคอะไรหรือคะ ?
      ตอบ :  กลัวตาย ถ้าเลิกกลัวตาย จะออกไปได้เลย สังเกตไหมตอนที่จะไปเรากลัวอยู่ลึก ๆ ต้องไปดูตัวเองใหม่ ความกลัวตรงนี้ กลัวว่าออกไปแล้วจะเจอสิ่งที่น่ากลัวบ้าง ออกไปแล้วจะกลับไม่ได้บ้าง เรากลัวลึก ๆ อยู่ในใจ แต่เราไม่รู้ตัว
              ต้องตัดใจว่าตายเป็นตาย ตอนนี้เราทำความดีอยู่ ถ้าตายไปก็ไปอยู่บนพระนิพพานกับพระพุทธเจ้า ถ้าตัดใจได้ก็ไปเลย
      ถาม :  ใจเราอาจจะไม่กลัว แต่ลึก ๆ กลัว ?
      ตอบ :  จริง ๆ แล้วเรากลัวอยู่ พวกดิ้นตึงตังนั่นกำลังเขาพอที่จะไป แต่สภาพจิตที่กลัวก็ดึงรั้งเอาไว้ กลายเป็นฉุด กลายเป็นดึง ก็เลยดิ้นตึงตังโครมคราม จะออกก็ไม่ออก ถ้าคนไหนตัดสินใจได้ก็ออก ไปแบบเงียบไปเลย
      ถาม :  ถ้าออกไปจะเป็นความรู้สึกอย่างไร ?
      ตอบ :  ถ้าออกไปจะชัดเหมือนอย่างตาเห็น ขนาดรถวิ่งมา เรารู้ ๆ ว่าชนเราไม่ได้ แต่เราก็ยังอุตส่าห์กระโดดหลบ รู้สึกชัดขนาดนั้นเหมือนตัวเองไปเลย ลมพัดถูกตัวก็รู้ แดดส่องถูกตัวก็รู้ ไปสักทีเดี๋ยวจะติดใจ
      ถาม :  อยากไปสักทีค่ะ ?
      ตอบเพราะอยาก...ก็เลยไปไม่ได้ เรามีหน้าที่ภาวนาทำไปเรื่อย ๆ จะไปหรือไม่ไปก็เรื่องของมัน ถ้าไปเราขอไปพระนิพพาน ตั้งใจเอาไว้ ถ้าเราภาวนาแล้วอยากไป ๆ ตัวอยากจะบังอยู่ไปไม่ได้หรอก
      ถาม :  ชาตินี้จะได้เป็นพระอนาคามีหรือเปล่าคะ ?
      ตอบ :  มีสิทธิ์ได้ทุกคน แค่ทำให้จริงเท่านั้น เขาหวังจะได้เป็นพระอรหันต์ไปพระนิพพาน ทำไมเราหวังแค่พระอนาคามี ?
      ถาม :  หนูมีศีลบกพร่องตรงไหนคะ ?
      ตอบ :  ต้องถามตัวเอง ไม่ใช่ถามคนอื่น ถ้าศีลห้าข้อ ตัวเองไม่รู้พร่องตรงไหนก็เลิกปฏิบัติเถอะ...!
              รักษาศีลให้ได้ด้วยตนเอง ไม่ยุให้คนอื่นละเมิดศีล เห็นคนอื่นละเมิดศีลเราก็ไม่ยินดีด้วย นี่เป็นแค่เบื้องต้น
              หลังจากนั้น ถ้าสติ สมาธิทรงตัวมาก เราจะขยับไปทางไหนก็รู้ว่าศีลจะขาด ท้ายสุดการปฏิบัติในศีล เรารู้ว่าคุณความดีของศีลมีอย่างไร เราก็ปฏิบัติไป แต่ใจก็ไม่ได้เกาะในสิ่งที่ดีที่ชั่ว ไม่เกาะตรงผลที่จะได้รับแล้ว กลายเป็นว่าแม้แต่ความดีก็วางลง ซึ่งยังมีอีกหลายขั้นตอน เอาขั้นแรก ๆ ไปเท่านี้ก่อน
      ถาม :  อีกนานไหมคะ กว่าจะไดเ้ป็นพระอนาคามี ?
      ตอบ :  อีกไม่กี่ชาติหรอก...! ได้ยินแล้วมีกำลังใจไหม ? ถ้าทำถูกตัดสินใจได้...ก็เดี๋ยวเดียว ถ้าตัดสินใจไม่ได้ วางกำลังใจไม่ถูก...ก็อีกนาน อย่าเสียเวลาไปถามใคร
              ตรงนี้ไม่ต้องดูใครหรอก อาตมาเองทำกรรมฐาน ๓ ปี แล้วเป็นสามปีที่ขยันมากเลย ทุ่มเทให้ทุกวัน ปรากฎว่าอยากมากเกินไป จนกระทั่งวันหนึ่งตัดสินใจว่า จะได้หรือไม่ได้ก็ช่างมัน มีหน้าที่ภาวนาของเรา พักเดียวได้เลย กำลังใจลดลงมาตรงร่องพอดี ตอนนั้นที่ไม่ได้เพราะอยากเกินไป หมดอยากเมื่อไรแล้วก็จะดี
      ถาม :  เคยท้อใจว่าทำไมปฏิบัติแล้วไม่ได้ ?
      ตอบ :  นานถึงสามปีหรือยัง เอาไว้ถึงสามปีก่อนแล้วค่อยมาท้อ ทำอย่างสม่ำเสมอไปเรื่อย ๆ ก่อน
*************************

      ถาม :  แม่จะเป็นอย่างไรคะ ?
      ตอบ :  ต้องถามแม่ อาตมาตอบแทนแม่ไม่ได้
      ถาม :  แม่จะหมดหนี้ไหมคะ ?
      ตอบ :  ถ้าไม่ถามแม่ก็ต้องถามหมอดู เรื่องอย่างนี้เลิกตอบมานานแล้ว เพราะออกนอกหลักธรรมมากเกินไป
              ขอให้เชื่อที่พระพุทธเจ้าบอกว่า อิณาทานํ ทุกฺขํ โลเก การเป็นหนี้เป็นทุกข์ในโลก ฉะนั้น...แม่เป็นหนี้ไม่เป็นไรหรอก เราอย่าเป็นก็แล้วกัน
*************************

      ถาม :  เดี๋ยวคนนั้นมาใช้เราทำนั่น เดี๋ยวคนนี้มาใช้เราทำนี่ รู้สึกว่าเบียดเบียนเราเหลือเกิน อย่างไรต้องทำให้เขาอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าทำไมเราถึงโดนเบียดเบียนจัง ?
      ตอบ :  ถ้าเลิกใช้คำว่า “ทำไม ?” ก็จะมีความสุข แต่ถ้ายัง “ทำไม ?” อยู่ก็หาความสุขไม่ได้หรอก
      ถาม :  แต่ยังโดนเบียดเบียนนี่คะ ?
      ตอบ :  เราโดนแค่ตอนนี้ พอตายก็พ้นไปแล้ว มีปัญญาทวงเท่าไรก็เชิญเอาเขามาตั้งหลายล้าน คืนให้เขาแค่บาทเดียว จะไม่ยอมคืนบ้างเลยหรือ ?
*************************

              “ทำอะไรให้ทำบ่อย ๆ การทำบ่อย ๆ ได้ทั้งความเพียรพยายาม ได้ทั้งความชำนาญ
              อยากพูดเก่ง                       ให้พูดบ่อย ๆ
              อยากอ่านหนังสือเก่ง              ให้อ่านบ่อย ๆ
              อยากเขียนหนังสือเก่ง             ให้เขียนบ่อย ๆ
              อยากปฏิบัติธรรมให้ก้าวหน้า      ก็ต้องทำบ่อย ๆ”
*************************

      ถาม :  ฤกษ์ยามมีความสำคัญต่อชีวิตมากไหม ?
      ตอบ :  ก็มีอิทธิพลอยู่ แต่ถ้ากำลังใจของเราเข้มแข็งจริง ๆ ก็มีความสำคัญน้อยหน่อย
*************************

              “วัตถุธาตุทุกชนิดมีพลังงานอยู่แล้วถ้าดีจริงอย่างที่เขาว่า คนเราก็ไม่ตายน่ะสิ...!”
*************************

      ถาม :  ภาวนาพุทโธและกำหนดลมหายใจ พอออกจากการปฏิบัติ โกรธกับโลภรู้สึกว่าเป็นสภาวะร้อน เราจับง่าย ละความไม่พอใจง่าย แต่ให้ละความพอใจ ความหลง ความฟุ้งซ่าน ทำไม่ค่อยได้ มีเทคนิคอย่างไรที่ทำให้เราไม่หลงหรือฟุ้งซ่านไปนาน ?
      ตอบ :  สำคัญที่สุดก็คือตอนนั่ง เราทรงอารมณ์ได้เท่าไร จะลุกไปทำอะไรให้เอาสติประคองอารมณ์ให้อยู่กับเราให้นานที่สุด
              ส่วนใหญ่เราลุกแล้วเราทิ้งเลย การปฏิบัติก็เหมือนกับการว่ายทวนน้ำ พอเราปล่อยก็ลอยไปตามน้ำ เราก็จะไปเดือดร้อนกับรัก โลภ โกรธ หลง อีก แต่ถ้าเราพยายามประคองรักษาเอาไว้อยู่ตลอด ถึงเวลา รัก โลภ โกรธ หลง ก็กินใจเราไม่ได้ แรก ๆ ก็ประคองอารมณ์ได้ไม่นานหรอก เดี๋ยวเดียวก็สลายแล้ว แต่ถ้าเราพยายามตั้งสติ รักษาเอาไว้ให้ได้เท่ากับตอนที่เรานั่ง แรก ๆ ได้สักครึ่งชั่วโมงก็เก่งแล้ว จากนั้นค่อยเพิ่มเป็นชั่วโมง...สองชั่วโมง...สามชั่วโมง...ครึ่งวัน...วันหนึ่ง...สองวัน...ห้าวัน...สิบวัน จะได้มากขึ้นเรื่อย ๆ
*************************

      ถาม :  เคยปฏิบัติในลักษณะไม่ยุ่งทางโลก แล้วจะมาทางธรรมได้ง่ายมาก พอไปยุ่งทางโลก จะมีทิฐิเป็นเหตุผลส่วนตัว ปรุงแต่งไปว่าฟังเพลงได้ทั้งที่ผิด เพราะพระพุทธเจ้าท่านไม่ทำ เราก็ไม่ควรทำ สมมติขับรถไปง่วงนอน อยากให้หายง่วงก็จะฟังเพลง ซึ่งไม่ควร ทั้งที่ควรจะเทคนิคอย่างอื่นมาทำให้ตื่น ?
      ตอบ :  ถือว่าเป็นเรื่องปกติ ถ้ากิเลสยังแรงอยู่ ก็ชักเราไปทางอื่นจนได้ ถ้ารู้ตัวเมื่อไรก็เลี้ยวกลับ สำคัญว่าถ้าเรารักษาอารมณืได้ กิเลสก็จะกินเราไม่ได้ ส่วนใหญ่เราเลิกแล้วเลิกเลย พยายามไปลองประคองดู
              แรก ๆ ก็ได้เดี๋ยวเดียวเท่านั้น พอนานไปก็จะยืนระยะได้นานขึ้น ถ้าได้เป็นเดือนเป็นปีเมื่อไร จะมีความสุขอย่าบอกใครเชียว
      ถาม :  พิจารณารูป รส กลิ่น เสียง รูปไม่ค่อยติดมาก แต่เสียงจะมีปัญหาเยอะ ?
      ตอบ :  กิเลสทุกชนิดแรงเท่ากัน เพียงแต่เราแพ้ตัวไหน ก็จะหนักสำหรับเราตัวนั้น ถ้าคนอื่นเขาไปแพ้เรื่องรูป เขาก็จะหงายท้องตั้งแต่ยกแรกเลย เพราะฉะนั้น...เราแพ้ตัวไปน ตัวนั้นจะหนักสำหรับเรา ทุกตัวน้ำหนักเท่ากัน
      ถาม :  เราควรจะหลีกเลี่ยงก่อนไหมคะ ?
      ตอบ :  ถ้าหากเราสู้ไม่ไหวก็หลีก ถ้ารู้ว่าสู้ไม่ไหวแล้วไปสู้ก็ตายเปล่า
      ถาม :  ตายมาหลายรอบแล้ว ต้องหลีกก่อนใช่ไหมคะ ?
      ตอบ :  คนมีปัญญาเขาต้องหลีก ลองพยายามดู ขออวยพรให้เอาชนะได้ไว ๆ
*************************

              “เรื่องของการถือมงคลตื่นข่าว ถือว่าเป็นเรื่องปกติทั่วไป อย่าลืมว่าการกิน การนอน การสืบพันธุ์ การกลัวภัย จัดเป็นธรรมดาของมนุษย์และสัตว์โดยถ้วนหน้า สำคัญที่วาใครจะมีสติมากกว่ากัน
              พระพุทธเจ้าตรัสถึง สติสัมปชัญญะ ว่าเป็นธรรมที่มีอุปการะมาก คือ หลักธรรมทุกข้อต้องอาศัยสติสัมปชัญญะเป็นเครื่องหนุนเสริมทั้งหมด
              ถ้าเรามีสติ รู้ตัวอยู่เสมอว่าจะตาย กำหนดเป้าหมายได้ชัดเจนว่าตายแล้วจะไปไหน เรื่องภัยพิบัติต่าง ๆ ก็ไม่ใช่ของน่ากลัว เพราะความตาย ถ้าไม่หลุดพ้นไปพระนิพพานเลย ก็ไม่ใช่จุดสิ้นสุดของชีวิต
เป็นแค่การเปลี่ยนภพ เปลี่ยนภูมิ เปลี่ยนขันธ์ไปเท่านั้น ดีไม่ดีเวียนว่ายตายเกิดอย่างยาวนานอีก
              คุณยายเขาถามเมื่อเช้าว่า พระอรหันต์กลัวอะไร ? อาตมาเลยบอกว่ากลัวจะไม่ตาย ฉะนั้น...พวกเราเองยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ก็พยายามยามหน่อย แต่ความจริงคุณยายถามผิด เพราะพระอรหันต์ไร้ซึ่งความกลัวทั้งปวงแล้ว แต่ไม่ได้มีความยินดีที่อยากจะอยู่ในโลกนี้อีก ท่านอยู่ก็ได้...ตายก็ดี อยู่ก็ได้สร้างบุญสร้างบารมี ตายก็ได้ไปพระนิพพานพ้นทุกข์เสียที”
*************************

      ถาม :  ก้าวล่วงความทุกข์ได้ ต้องเป็นอารมณ์แบบไหนคะ ?
      ตอบ :  อารมณ์พระอรหันต์
      ถาม :  เห็นความทุกข์เป็นธรรมดาหรือคะ ?
      ตอบ :  เห็นเป็นธรรมดา ว่าปกติจะต้องเป็นอย่างนั้น อยากจะทุกข์ก็ทุกข์ไป เพราะเราจะพ้นไปอยู่แล้ว
*************************

              “ปู่จอม (ญาติยายผีป่า) ไปรบที่เชียงตุงตอนนั้นกองทัพไทยยึดเชียงตุงของพม่าได้ ก็เลยส่งกำลังไปเสริม ปู่จอมโดนเกณฑ์ไปด้วย
              ปู่จอมบอกว่าไม่มีเครื่องรางของขลังอะไรเลย ยกเว้นชายผ้านุ่งแม่เท่านั้น เป็นเรื่องอัศจรรย์มากในเรื่องของคุณบิดามารดาที่เห็นชัดที่สุด เพราะจะจำได้ว่า นุ่งผ้านุ่งผืนไหนคลอดลูกคนไหน ถึงเวลาถ้าลูกต้องไปแดนไกล ก็จะฉีกชายผ้านุ่งพันแขนไปให้ หรือควั่นคล้องคอไปให้
              ปู่จอมบอกว่า เจ็บไข้ได้ป่วยขนาดไหนก็ตาม เอาชายผ้านุ่งแม่แช่น้ำอธิษฐานเป็นน้ำมนต์กินหายทุกครั้ง
              ถามปู่จอมว่า “ปู่ไม่ได้พระกริ่งเชียงตุงจากสัมเด็จพระสังฆราช (แพ) บ้างหรือ ?” ปู่บอกว่า ได้...แต่ตอนรบไม่รู้ว่าวิ่งหนีลูกปืนแล้วไปตกหายที่ไหน เนื่องจากได้รับพระมาก็เป็นแต่องค์พระเฉย ๆ สมัยก่อนการเลี่ยมก็ไม่มี อย่างดีก็เอาลวดสายไฟถัก ปู่จอมเอาพระใส่กระเป๋าไว้เฉย ๆ ไม่รู้ว่าหล่นหายตอนไหน เหลือแต่ชายผ้าถุงแม่ เพราะควั่นเป็นเชือกแล้วคล้องคอเอาไว้
              เรื่องนี้ได้รับการยืนยันมาหลายต่อหลายรายด้วยกัน ในปัจจุบันนี้ที่เห็นชัดที่สุด ท่านเป็นเพื่อนร่วมรุ่นของอาตมา เรียนประกาศนียบัตรการบริหารกิจการคณะสงฆ์รุ่นเดียวกัน แต่คนละห้องเรียน
              ท่านจะเป็นหนึ่งในจำนวนพระที่ขยันมาก ๆ คือ จะเข้าห้องเรียนก่อนทุกครั้ง ปรากฎว่าท่านนี้เวลาทำวัตรเย็น ก็จะเห็นท่านล้วงเอาผ้าขาวผืนหนึ่งออกจากอก วางกับพื้น รีดเรียบอย่างดีแล้วก็กราบ ถึงเวลาทำวัตรท่านก็พับผ้าขาวใส่มือ ...แล้วอธิษฐาน เสร็จแล้วก็วางกับพื้น...กราบ...ซุกใส่ตรงหน้าอกตามเดิม
              อาตมาดูท่านอยู่ ๗-๘ วัน ก็เลยไปกระซิบถามท่าน “ขออภัยที่ละลาบละล้วง แต่อยากรู้ว่าผ้าอะไร ?” ท่านบอกว่า “เป็นผ้าสไบของแม่ที่ใส่ตอนบวชชี” ถามว่า “แม่ยังมีชีวิตอยู่ไหม ?” ท่านบอกว่า “ยังอยู่ พอแม่สึกแล้วขอแม่เป็นที่ระลึกทุกครั้งที่สวดมนต์ทำวัตร ก็จะเอามาอธิษฐานจิตส่งบุญให้แม่”
              นอกจากนี้ ท่านที่มาจากคณะสงฆ์ภาค ๑๕ ยังมีตัวอย่างที่ดีอีก ก็คือ ท่านเจ้าคุณราชฯ เจ้าคณะจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
              ท่านเจ้าคุณท่านเลี้ยงแม่ เอาแม่มาอยู่วัด แล้วทำกับข้าวให้แม่ทุกเช้า เข้าครัวไปลงมือทำเอง ลูกศิษย์ก็อยากจะช่วย ท่านบอกว่า “ไม่ต้อง...พวกคุณไม่รู้ว่าแม่ผมกินอาหารรสไหน แต่ผมอยู่กับแมาผมาตั้งแต่เด็ก..ผมรู้และอยากให้แม่ชื่นใจว่าลูกทำให้”
              ในเมื่อมีตัวอย่างอย่างนี้แล้ว บรรดาพระที่อยู่ในภาค ๑๕ ถ้าหากมีคนทำตามบ้าง ก็ไม่ถือว่าแปลก หัวแถวเดินตรง ลูกแถวก็เดินตาม
              ฉะนั้น...ในเรื่องของพระคุณพ่อ พระคุณแม่ พระพุทธเจ้าท่าตรัสเอาไว้ชัด ท่านบอกว่า บุรุษผู้มีกำลัง นำบิดามารดาวางไว้บนบ่าแห่งตนเลี้ยงดูท่านเป็นอ่างดี ให้ท่านกิน ถ่าย นอน บนนั้นอยู๋ตลอดร้อยปี ยังชดใช้หนี้ที่ท่านเลี้ยงมาไม่ได้
              ใครที่ยังมีพ่อมีแม่อยู่ ขอให้รู้ว่าจริง ๆ แล้วเราโชคดีมาก บุคคลที่เกิดมาในครอบครัวเดียวกัน อย่างน้อยก็ต้องเคยสร้างบุญสร้างกรรมร่วมกันมา เป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่เราจะทดแทนท่าน เพื่อบรรเทากรรมที่เคยล่วงเกินกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
              โดยเฉพาะถ้าเป็นวาระที่สำคัญ ปีใหม่ ตรุษจีน สงกรานต์ หรือวันเกิดของท่าน หาดอกไม้ธูปเทียนไปขอขมา กรรมที่ผูกพันกันมาแต่อดีตจะได้ขาดลงเสียที
              อาตมาเองถือว่าโชคดี ได้ดูแลพ่ออยู่ ๖ ปี ดูแลแม่อีก ๓ ปีเต็ม ๆ
              ตอนที่ดูแลอยู่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าโชคดีหรอก เพราะช่วงวัยรุ่นเรียนอยู่ระหว่าง ป.๖ ถึง ม.ศ. ๓ ตอนกลางวันเรียนหนังสือและช่วยงานบ้าน กลางคืนก็ดูแลพ่อ ท่านเป็นโรคที่ไม่ค่อยมีใครเหมือน ก็คือ พอเวลาผ่านไปสัก ๑๐ นาทีหรือ ๑๕ นาที กล้ามเนื้อท่านจะหดเกร็งและทรมานมาก ต้องคอยนวดให้คลาย ก็แปลว่าอาตมาโดนเรียกทั้งคืน
              เด็กวัยรุ่นกำลังกินกำลังนอน โดนเรียกทั้งคือ ก็เหมือนตกนรกทั้งเป็น...! บางเวลาเพลียจัด เสียงเรียกเหมือนดังมาสุดขอบโลก อาตมาได้ยินเพียงนิดเดียว พยายามตั้งสติที่จะลุก กว่าจะตั้งสติลุกขึ้นมาได้ พี่เขาก็ทนไม่ไหว ลุกมาก่อน อาตมาลุกขึ้นมาพอดี ก็เลยโดนฟาด “พ่อเรียกอยู่ตั้งนาน มันทำหูทวนลม พอกูมาละก็ลุกเชียว...!” เขาไม่ได้ฟังเหตุผล ด่าเอาไว้ก่อน บางทีลงไม้ลงมืออีกด้วย...!
              เรื่องพวกนี้ถือว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องรับ เพราะคนอื่นล้วนแล้วแต่อ้างว่ามีภารกิจ บรรดาพี่ ๆ เขาไปทำงานกันหมด ลูกชายที่พอจะทำอะไรได้มากที่สุดตอนนั้นดันเป็นอาตมา ก็ต้องทนรับไป
              ฉะนั้น...วันที่พ่อตาย ใคร ๆ เขาเสียใจกัน แต่อาตมารู้สึกดีใจมากเลย เหมือนกับว่าได้พ้นนรกเสียที แปลกตรงที่ว่า จากที่เคยนอนอยู่กับท่านมาหกปีเต็ม ๆ พอถึงเวลาคืนแรกที่นอนคนเดียว กลับนอนไม่หลับ
              รู้สึกว่าห้องแคบ ๆ กลายเป็นกว้างสุดลูกหูลูกตา ควานไปแล้วไม่เจอใคร ในเมื่อนอนไไม่หลับ ก็คลานไปนอนกับศพ...! เพราะเขาเก็บศพเอาไว้รอฤกษ์ที่จะได้ใส่โลง พออยู่ใกล้แล้วหลับได้ จึงกลายเป็นคนไม่กลัวผีมาตั้งแต่เด็กแล้ว
              พอถึงคราวแม่ป่วย พี่ ๆ เขาแต่งงานมีครอบครัวกันหมดแล้ว คนที่ไม่แต่งงานและอายุมากที่สุดก็ดันเป็นอาตมาอีก ก็เลยต้องรับหน้าที่ดูแลพาแม่ไปโรงพยาบาลตลอด กว่าจะหายเป็นปกติก็ตั้งสามปีเต็ม ๆ
              ช่วงที่พ่อป่วยจนกระทั่งตายและจัดงานศพเสร็จ ทุกคนเหลือแต่ตัว โดยเฉพาะช่วงงานศพ เขามีกงเต็ก ๗ วัน ตอนนั้นตกคืนละ ๗ พันบาท ถามพวกพี่ ๆ ว่า “เราไม่จัดไม่ได้หรือ ? ไม่เห็นมีประโยชน์อะไรเลย” เขาให้เหตุผลว่า “ถ้าทำได้...แล้วไม่ทำ คนอื่นเขาจะดูถูกเอา”
              พอจัดงานศพพ่อเสร็จ ทุกคนก็ตั้งต้นนับหนึ่งใหม่ เพราะกงเต็กคืนละ ๗ พันบาท ตอนนั้นทองคำบาทละ ๒,๐๐๐ เท่านั้น...!
              คราวแม่ป่วย ถึงเวลาหายก็แทบต้องนับหนึ่งใหม่เหมือนกันเพราะเขาเจาะคอ เพื่อที่จะใส่หลอดหายใจ ไม่ทราบหมอทำอย่างไรจึงติดเชื้อ แผลกลายเป็นหนอง เวลาแม่หายใจ หนองวิ่งฟอดออกมาเลย ก็ต้องฉีดยาฆ่าเชื้อ
              ยาฆ่าเชื้อนี้ชื่อ คลาฟอรัน (Claforan) สมัยนั้นหลอดละ ๕,๐๐๐ บาท ต้องฉีดเช้าเย็นทุกวัน สมัยนี้ไปถามแล้วเขาบอกหลอดละ ๓๐๐ บาท แสดงว่าสมัยก่อนหายาก ซึ่งความผิดพลาดเป็นของหมอ แต่เรากลับต้องจ่ายเอง
              แต่ก็ดีอยู่อย่างว่า พอเจอเหตุการณ์อย่างนี้เข้า ทำให้ทุกคนไม่รู้สึกว่ามีอะไรยากในชีวิต เพราะว่าเราผ่านช่วงยากลำบากมาแล้ว เริ่มต้นนับหนึ่งมาสองสามครั้งแล้ว เลยไม่มึใครกลัวถ้าจะต้องไปนับหนึ่งใหม่ แล้วจะเป็นอะไรที่ฟื้นตัวเร็วมาก ๆ เพราะเรารู้ว่าถ้าเราไม่ขยัน ก็แปลว่าตามใครไม่ทัน เพราะเราเริ่มต้นใหม่ จึงต้องขยัน ทุ่มเทเต็มที่
              พวกเราทำงานกันหามรุ่งหามค่ำ นอนตีสองตีสามประจำ ตีห้าต้องตื่นมาทำงานใหม่ มีเวลาพักผ่อนนิดเดียว ก็เลยมานึกว่า ในเรื่องของการปฏิบัติธรรมของพวกเรา ถ้าได้ผ่านช่วงที่ยากลำบาก ต่อสู้ชนิดเอาชีวิตเข้าแลกมา ถึงเวลาก็จะไม่มีเรื่องยากสำหรับเราเช่นกัน เพียงแต่เราทั้งหลายนี้ ถึงช่วงนั้นบ้างแล้วหรือยัง ?
              ช่วงการปฏิบัติที่ว่าถ้าทำไม่ได้ก็ให้ตายไปเลย ถ้าเราทำอย่างนั้นได้เสียครั้งหนึ่ง ครั้งต่อไปจะไม่ยาก เพราะใช้กำลังใจเท่าเดิม ฉะนั้น...โบราณจึงได้กล่าวว่า ลำบากก่อนแล้วสบายเมื่อปลายมือ เพราะไม่มีอะไรที่จะลำบากไปกว่านั้นอีกแล้ว
              ในเมื่อลำบากมาก่อน ถึงเวลาถ้าลำบากเท่าเดิมก็สบายสำหรับเรา แต่คนที่ไม่เคยลำบากมาก่อนอาจจะถึงตาย หรือไม่ก็เอ็ดตะโรลั่นไปเลย เพราะทนความลำบากไม่ไหว
              ที่เล่าเรื่องพวกนี้ให้ฟัง สืบเนื่องจากว่า เพื่อนท่านสวดมนต์ทำวัตรทำกรรมฐาน อุทิศกุศลให้แม่ตลอด และเรื่องปู่จอมที่ไปสงครามเชียงตุง เดินนับไม้หมอนกลับประเทศไทย เพราะถึงเวลาถอนกำลังกลับ ไม่มีใครส่งรถไปรับ ก็ต้องเดินกลับมาเอง
              เมื่อดูตัวอย่างของเพื่อนพระหรือปู่จอม จึงได้กล่าวมาถึงตนเองว่า มีโอกาสได้ทำในสิ่งที่เป็นการทดแทนให้กับพ่อกับแม่ ขณะที่คนอีกจำนวนมากไม่ได้มีโอกาสนี้ แต่ว่าตอนที่ทำก็ไม่ได้รู้สึกว่าดีเลย ทำเพราะว่าเป็นหน้าที่ต้องรับผิดชอบ ทำเพราะเป็นภาระจำยอม เนื่องจากว่าสภาพของเราไปพอเหมาะพอดีกับตรงนั้นเอง
              หลังจากนั้นอาตมายังมีโอากสดูแลหลวงมหาอำพันอีก รวม ๆ แล้วจะมีระยะเวลาของการอยู่กับผู้ป่วย หรืออยู่โรงพยาบาล รวมแล้วสิบกว่าปี
              บางทีตัวเองป่วยไปอยู่โรงพยาบาล พอหมอมาตรวจ อาตมาก็รายงานทุกอย่างเหมือนนางพยาบาลเขารายงาน หมอจึงสงสัยว่าอาตมาป่วยบ่อยจนเป็นงานหรือ ? ป่วยบ่อย...แต่เข้าโรงพยาบาลไม่บ่อย ไม่จำเป็นจริง ๆ จะไม่เข้า ยกเว้นโดนเขาบีบคอถึงจะยอมไป...!
              สรุปตรงที่ว่า ถ้าหากเราผ่านความยากลำบากของชีวิตมาก่อน ก็จะไม่มีสิ่งใดให้เราต้องลำบากอีก เพราะฉะนั้น...ท่านทั้งหลายที่ตะเกียกตะกายไปบึงลับแลมา แล้วรู้สึกว่าลำบาก ขออยืนยันว่าที่นั่นยังสบายอยู่
              ความสบาย...ทำให้คนอ่อนแอลง ความเข้มแข็งของกำลังใจลดลง พระปฏิบัติส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะถือธุดงควัตร เพื่อเป็นการขัดเกลากิเลส การขัดเกลากิเลสพระพุทธเจ้าท่านเรียกว่า สังเลขธรรม คือธรรมอันเป็นเครื่องขัดเกลา ปวิเวกธรรม ธรรมอันเป็นเครื่องหลีกออกจากหมู่
              ดังนั้น...ในแต่ละปีควรจะมีเวลาเป็นของตัวเอง ได้ไปปฏิบัติให้ต่อเนื่องกันสัก ๗ วัน หรือ ๑๐ วัน เป็นการสั่งสมกำลังของตัวเอง
              อาตมาเองเป็นคนหวงเวลาส่วนตัวมาก พอถึงเวลาก็จะไม่ยุ่งกับใครแล้ว เอาเรื่องของตัวเองเป็นใหญ่ โดยเฉพาะช่วงก่อนที่จะมาเป็นอาจารย์สอนนักศึกษา ช่วงเดือนมกราคมจะเป็นช่วงเวลาที่ออกป่า เหมือนอย่างกับว่าไปเพิ่มพลังให้กับตัวเอง
              เรื่องของการปฏิบัติควรจะมีเวลาทำต่อเนื่องสักระยะหนึ่ง บ่อย ๆ แล้วจะมีความก้าวหน้า ไม่อย่างนั้นแล้วเหมืนอกับว่า เราตำข้าวสารกรอกหม้อ ไม่ค่อยจะพอกรอกด้วย ทำนิด ๆ หน่อย ๆ ในแต่ละวัน ไม่พอใช้งานเสียด้วยซ้ำ แล้วจะเอากำลังสะสมที่ไหนไปสู้กิเลสได้
              ที่พูดมานี้เพื่อว่า ใครก็ตามที่ทำงานอยู่ พยายามดูว่าช่วงไหนที่มีวันหยุดยาว ๆ หรือช่วงไหนที่เราลาพักร้อน หรือมีสิทธิ์ที่จะลาตามกฎระเบียบสถานที่ทำงานของเรา ก็สะสมวันให้ได้ห้าหรือเจ็ดวัน สามวันแรกนี่ไม่ต้องเลยนะ ขอยืนยันว่าสามวันแรกกำลังฟุ้งเต็มที่ ไปเริ่มดีเอาวันที่สี่ไปแล้วทั้งนั้น”
*************************