สนทนากับพระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๖ (ต่อ)
ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ
ถาม: เจดีย์อานิสงส์วัดที่ความสูงหรือวัดที่ฐานครับ ?
ตอบ : อานิสงส์ของเจดีย์ ถ้าสวยงามใหญ่โตทำด้วยวัตถุที่มีราคาแพงอานิสงส์ก็มากขึ้น เพราะกำลังใจของคนทำจะต้องมาก ไม่อย่างนั้นจะหาทุนทรัพย์มาสร้างขนาดนั้นไม่ได้ แต่จะเล็กจะใหญ่ก็ตาม เป็นอนุสติทั้งนั้น อานิสงส์อันดับแรกคือวิหารทาน อานิสงส์อันดับต่อไปคือพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา โอ้โฮ...พุทโธ ธัมโม สังโฆอัปปมาโณหาประมาณไม่ได้ อันนี้สร้างเจดีย์ด้วยแต่ที่สร้างเฉพาะฉัตรอาตมาสร้างไปหลายต่อหลายที่ สองที่ที่เมืองไทยคือเจดีย์คู่ที่รปังกาสี เจดีย์นั่นอายุเป็นร้อย ๆ ปีแล้ว เขาบูรณะขึ้นมาแล้วไม่มีปัญญจะไปเอาฉัตรที่สั่งไว้ที่ฝั่งพม่า ตอนนั้นถามเขาว่า เท่าไร ? เขาบอกว่า สองแสน สองแสนจั๊ตตอนนั้นเยอะมากเลยเพราะจำได้ว่าบาทหนึ่งแลกได้ประมาณสี่จั๊ตเท่านั้น ต้องควักกระเป๋าให้ไป แต่อันนี้นี่สร้างทั้งองค์ ที่วัดหนองบัวก็สร้างทั้งองค์ ที่วัดห้วยหินดำก็สร้างทั้งองค์
ถาม : ถ้าเป็นหลายร้อยปีล่ะครับ ?
ตอบ : ไม่ใช่ จะเป็นเฉพาะของมันเอง หมายความว่าแม่ออกไข่มาเดี๋ยวนั้น มันก็จะเป็น ถ้าตามวิทยาศาสตร์บอกว่าเป็นแคลเซียมที่เหลือจากการสร้างเปลือกไข่หรือสร้างกระดูกของลูกมันอะไรอย่างนั้น
ถาม : แล้วเป็นได้อย่างไร ?
ตอบ : มีพลังงานอะไรบางอย่างที่พิเศษไปจับอยู่ก็แปรสภาพได้ พลังงานพวกนี้มีอยู่ทั่ว ๆ ไป เพียงแต่จะจับกับวัตถุไหนเท่านั้นเอง
ถาม : ถ้าอยากไปหนองคาย ไปดูลูกไฟพญานาค ควรจะตั้งใจอย่างไรครับ ?
ตอบ : ตั้งใจว่าบุญใดที่เราทำก็ตามขอให้ท่านทั้งหลายโมทนา และบุญที่ท่านทั้งหลายทำเราขอโมทนาด้วย เขาจะต้องรีบแสดงให้เห็น เพราะเขาตั้งใจเราโมทนาอยู่แล้วที่เขาทำให้เห็น ขณะเดียวกันเราไม่ได้เอาเขาฝ่ายเดียวเราให้เขาด้วย
ถาม : ไม่มีทางหมดหรือครับ จะมีไปถึงเมื่อไรครับ ?
ตอบ : จนกว่าจะสิ้นศาสนา
ถาม : มีไปตลอดเลยหรือครับ ?
ตอบ : ตราบใดที่คนยังยินดีในผลบุญเขาอยู่ คนยังปฏิบัติธรรมพระพุทธเจ้าอยู่ เขาจะแสดงให้เห็นไปเรื่อย
ถาม : อย่างนี้ต่อไปหนองคายต้องเจริญรุ่งเรืองมาก ?
ตอบ : ไม่ใช่แต่หนองคายหรอก จริง ๆ สถานที่แบบนี้มีทั่ว ๆ ไป เพียงแต่จุดนั้นทั้งสองฝั่งเป็นประเทศพุทธศาสนาทั้งคู่เลยเยอะหน่อย เพราะเขาเจตนาจะให้โมทนาอยู่แล้ว
ถาม : ............................
ตอบ : เจดีย์มาจากภาษาบาลีว่า เจติยะ แปลว่าเครื่องระลึกถึง เจดีย์ในพุทธศาสนามี ๔ อย่างคือ อุเทสิกเจดีย์ สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ยึดโยงให้นึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ได้ จัดเป็นอุเทสิกเจดีย์ อย่างเช่น พระพุทธรูป ต้นโพธิ์ สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน จัดเป็นอุเทสิกเจดีย์ บริโภคเจดีย์ เจดีย์ที่บรรจุของใช้ของพระพุทธเจ้า อย่างเช่นพวกบาตร จีวร สังฆาฏิ ธรรมเจดีย์ เจดีย์สำหรับบรรจุพระธรรม อย่างเช่นพระไตรปิฎกหรือใบลานที่จารึกธรรมะ ธาตุเจดีย์ เจดีย์ที่บรรจุพระธาตุ จะเป็นพระบรมสารีริกธาตุหรือพระธาตุพระอรหันตสาวกก็เหมือนกัน
มีอีกอย่างที่เกี่ยวกับบุคคลถูปารหาบุคคล บุคคลที่สมควรจะสร้างสถูปคือเจดีย์เอาไว้บรรจุอัฐิ เพื่อให้คนทั่วไปได้บูชา มีอยู่ ๔ ประเภท คือ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันต์ และพระเจ้าจักรพรรดิ ถามว่า ได้อานิสงส์อะไร ? คนที่ไปบูชาอย่างน้อย ๆ จะได้สุคติ คือไปสวรรค์เป็นอย่างต่ำสุด พระเจ้าจักรพรรดิต้องเรียกว่าเป็นธรรมิกราช คือเป็นพระราชาผู้ทรงธรรมจริง ๆ ปกครองโดยธรรม สั่งสอนธรรมเป็นปกติ ถ้าคนไปกราบไว้บูชา นึกถึงความดีของท่าน ส่วนนั้นก็ได้ประโยชน์ไปด้วย
เรื่องของธรรมศึกษาในปัจจุบัน ถ้าไม่ไปเน้นบาลีนี่จะได้ผลเยอะ แต่ส่วนใหญ่เขาไปเน้นบาลีจึงยาก อย่างของธรรมศึกษาตรี เขาจะถามทานูปนิสสัย สีลูปนิสสัย ภาวนูปนิสสัย ตายชักเลย ...คนไม่เคยเรียนบาลีมา ใครจะไปตอบได้ว่าคือบุคคลที่มีปกติให้ทาน ปกติรักษาศีล ปกติเจริญภาวนา
ถาม : เป็นกรรมบถด้วยใช่ไหมเจ้าคะ ?
ตอบ : เรียกว่ากรรมบถก็ใช่ แต่กรรมบถนี่จะเป็นส่วนของสีลูปนิสสัยคือบุคคลที่มีปกติรักษาศีล คราวนี้พอเขามาใช้ภาษาบาลีเข้าไปนี่คนที่ไม่เคยชินก็พังเลย
ถาม : พระบรมสารีริกธาตุแบ่งออกเป็นกี่ส่วนเจ้าคะ ?
ตอบ : ถ้าตอนที่ท่านแบ่ง แบ่งเป็น ๘ ส่วน เพราะกษัตริย์ที่ยกมามี ๗ เมือง รวมกุสินาคาด้วยก็เป็น ๘
ถาม : ตอนพระท่านมาสอนที่วัดสุทัศน์ ท่านบอกว่ามีอยู่ ๗ ส่วน แต่ตำราทุกตำราเขียนเป็น ๘ ส่วน ?
ตอบ : ต้องเป็น ๘ ส่วน ไม่อย่างนั้นเจ้าของบ้านไม่ได้ เพราะว่าที่กษัตริย์ต่าง ๆ ที่ยกทัพมาเพื่อขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุก็ ๗ เมืองไปแล้ว จะว่าจริง ๆ ต้อง ๙ ส่วน แต่ส่วนที่ ๙ นี่โทณพรามหณ์ขโมยใส่ไว้ในมวยผม แล้วเรื่องของความฉลาดนี่ไม่มีอะไรเกินเทวดาหรอก พอจ้องดูรู้ว่าโทณพราหมณ์จะขโมยพระเขี้ยวแก้ว พระอินทร์ถือพานรอเลย พอโทณพราหมณ์เอาซุกมวยผมเท่ากับเอาใส่พานให้พระอินทร์ เพราะฉะนั้น...พระอินทร์ไม่ได้ขโมยนะ โทณพราหมณ์เขาใส่พานให้เองเลย เท่ากับว่ายัดใส่พานให้เลย โทณพรามหณ์แกก็เลยได้แต่ทะนานทองที่ตวงพระบรมสารีริกธาตุไปอย่างเดียว ภาชนะอะไรก็ตาม วัตถุอะไรก็ตามที่เคยสัมผัสกับพระบรมสารีริกธาตุ ถือเป็นของสำคัญมาก จะไปทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ ไม่ได้นะ อย่าลืมโทณพรามหณ์ท่านสร้างเจดีย์บูชาอยู่ อย่างตามประวัติเชื่อว่าเป็นพระประโทณเจดีย์ที่นครปฐม
ถาม : เขาบอกว่าที่ได้ชื่อว่าบ่วงแห่งมาร เพราะเหตุใด ?
ก) เพราะเป็นประโยชน์ ข) เพราะเป็นสิ่งหาได้ยาก
ตอบ : เป็นสิ่งที่คนชอบใจ จึงยึดติดจ้ะ
ถาม : เพราะทำให้มนุษย์พอใจใช่ไหมคะ ?
ตอบ : ถ้ามนุษย์ไม่พอใจ มารจะหลอกคนไปติดบ่วงได้อย่างไร
ถาม : อนิจจตา คือข้อใด ?
ก. สภาพไม่มีเจ้าของ ข. สภาพที่ไม่อยู่ในอำนาจ ค. สภาพที่ทนอยู่ไม่ได้ ง. สภาพที่เกิดขึ้นแล้วดับไป
ตอบ : สภาพที่เกิดขึ้นแล้วดับไป
ถาม : ข้อใดเป็นสันตาปทุกข์ ?
ตอบ : ทุกข์ที่เกิดจากการแผดเผา
ถาม : ทุกสิ่งมีสภาพสูญ หมายถึงข้อใด ? ก. ไม่มีอัตตา ข. มีความล้มเหลว ค. ค้นหาไม่พบ ง. ไม่มีนิพพาน
ตอบ : ไม่มีอัตตา คือตั้งอยู่ไม่ได้
ถาม : อัตตา แปลว่าอะไรคะ ?
ตอบ : ตัวตน
ถาม : ข้อใดจัดเป็นยอดแห่งธรรมะทั้งปวง ?
ก. วิราคะ ข. นิพพิทา ค. นิพพาทาญาณ ง. ปฏิปทาแห่งพุทธะ
ตอบ : วิราคะ คือหมดสิ้นซึ่งราคะแล้ว นิพพิทาแค่เบื่อ
ถาม : ตัณหา คืออะไร ?
ก. ความปรารถนา ข. ความมุ่งมั่น ค. ความทะยานอยาก ง. ความต้องการ
ตอบ : ความทะยานอยาก
ถาม : ตัณหามีอาการแส่ไปในอารมณ์ที่น่าใคร่เรียกว่าอะไร ?
ตอบ : กามตัณหา
ถาม : ปฏิปทาแห่งพระอรหันต์ผู้เจริญวิปัสสนาฝ่ายเดียวเรียกว่าอะไร ?
ก. เจโตวิมุตติ ข. ปัญญาวิมุตติ ค. ตทังคะวิมุตติ ง. สมุทเฉทวิมุตติ
ตอบ : ปัญญาวิมุตติ
ถาม : วิมุตติข้อใดจัดเป็นตัวโลกิยะ ?
ก. นิสสรณวิมุตติ ข.สมุทเฉทวิมุตติ ค. วิขัมภนะวิมุตติ
ตอบ : วิขัมภนวิมุตติเพราะว่าข่มไว้เฉย ๆ หลุดพ้นเพราะข่มไว้ เพราะถ้าการข่มหลุดเมื่อไรก็เสร็จอีกเมื่อนั้น
ถาม : วิสุทธิคือความหมดจด ใครบันดาลให้ได้ ?
ก. พระพุทธเจ้า ข. .........
ตอบ : ตนเองจ้ะ ต้องทำเอง สุทธิ อสุทธิ ปัจจตัง นาญโญ อัญญัง วิโสธเย ความบริสุทธิหรือไม่บริสุทธิ์เป็นของเฉพาะตน บุคคลหนึ่งจะทำอีกบุคคลหนึ่งให้บริสุทธิ์หาได้ไม่
ถาม : ความเห็นว่าความผิดที่บุคคลทำแล้วเป็นของคนทำแต่ผู้เดียวตรงกับหลักของศาสนาใด ?
ก. ศาสนาพราหมณ์ ข. ศาสนาคริสต์ ค. ศาสนาพุทธ ง. ศาสนาอิสลาม
ตอบ : ศาสนาพุทธ มาจาก กรรม คือการกระทำ
ถาม : ข้อใดเป็นทางสันติภาพแท้ตามวิถีพุทธ ?
ก. เคารพกฎหมายบ้านเมือง ข. ปฏิบัติตามสหประชาชาติ ค. ทำกาย วาจา ใจ ให้สงบ ง. เคารพสิทธิมนุษยชน
ตอบ : ทำกาย วาจา ใจ ให้สงบ คือปฏิบัติในทาน ศีล ภาวนานั่นแหละ
ถาม : ผู้ใดชื่อว่าอยู่ใกล้พระนิพพาน ?
ก. ผู้เห็นภัยในความประมาท ข. ผู้เครารพระรัตนตรัย ค. ผู้เคารพในไตรสิกขา ง. ถูกทุกข้อ
ตอบ : ถูกทุกข้อ เพราะเป็นกติกาของพระโสดาบันทั้งหมด ทั้งหมดต้องรวมกันเป็นหนึ่งเดียว เฉพาะข้อใดข้อหนึ่งไม่ได้
ถาม : ผู้บรรลุอรหันตผลแล้ว แต่ยังมีชีวิตอยู่ชื่อว่าได้... ?
ตอบ : สอุปาทิเสสนิพพาน
ถาม : เพราะละตัณหาเสียได้ ท่านเรียกว่าอะไร ?
ก. นิพพิทา ข. นิพพาน ค. จิตตตวิสุทธิ ง. วิจิตวิสุทธิ
ตอบ : ละตัณหาเสียได้น่าจะเป็นนิพาน เพราะคำว่าตัณหักขยะ ละเสียซึ่งตัณหา ถ้าวัฏฏูปัจเฉทะ จะตัดซึ่งวัฏฏะ อาลยสมุคฆาตะ ถอนเสียซึ่งความอาลัย ใช้แทนกันหมด แล้วจะไปวิราคะ สิ้นราคะ นิโรธะ คือ ดับสนิท นิพพานะ คือธรรมชาติหาความเสียดแทงไม่ได้ ความหมายเดียวกันหมด
ถาม : จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนานั้นคืออะไร ?
ก. การเกิดในสวรรค์ ข. การได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ค. การได้เข้าสู่พระนิพพาน ง. การเข้าสู่พรหมโลก
ตอบ : การเข้าสู่พระนิพพาน
ถาม : ความสุขที่เป็นสุดยอดของความสุขนั้น เกิดจากสิ่งใด ?
ก. ความอิ่มเอิบใจ ข. ความมีทรัพย์ ค. ความสงบ ง. ความไม่มีหนี้
ตอบ : ความสงบ นัตถิ สันติ ปะรัง สุขัง สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี
ถาม : การตัดกิเลสได้สิ้นเชิงเป็นอะไร ?
ก.สอุปานิเสสนิพพาน ข. อนุปานิเสสนิพพาน ค. นิพพาน ง. ถูกทุกข้อ
ตอบ : ถูกทุกข้อ
ถาม : ข้อใดไม่จัดเป็นสมถกรรมฐาน ?
ก. กำหนดรู้อิริยาบถ ข. บิรกรรมกสิณ ค. ภาวนาพุทธานุสติ ง. บริกรรมว่าเราต้องตาย
ตอบ : บริกรรมว่าเราต้องตาย ตัวนี้เป็นวิปัสสนา
ถาม : ไม่จัดเป็นสมถะ ?
ตอบ : แต่จริง ๆ ถ้าใช้คำว่า บริกรรม นี่ยังเป็นสมถะอยู่ เพราะบริกรรมเป็นคำภาวนา แต่คราวนี้เขามีให้เลือกแค่นั้น ก็ต้องเลือกข้อนั้นจ้ะ
ถาม : ข้อใดจัดเป็นวิปัสสนากรรมฐาน ?
ก. กำหนดนับลมหายใจ ข. เจริญเมตตา ค. กำหนดรู้กายโดยความเป็นธาตุ ง. บริกรรมกสิณ
ตอบ : กำหนดรู้กายโดยความเป็นธาตุ อันนี้จริง ๆ แล้วยังเป็นสมถะอยู่นั่นแหละ แต่คราวนี้ถ้าเราแยกออกเป็นส่วน ๆ แล้วจิตเห็นว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราถึงจะเป็นวิปัสสนา ไม่อย่างนั้นถ้าแค่ประเภทรู้ว่าเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ ยังเป็นส่วนของสมถะอยู่ในจตุธาตุววัฏฐาน แต่คราวนี้ของเขาไม่ได้สอนละเอียด เอาแค่ผิว ๆ เพราะฉะนั้น...มีคำตอบไหนที่ใกล้ที่เราก็เอาอันนั้น
ถาม : ข้อใดเป็นลักษณะของราคะจริต ?
ก. ชอบความสวยงาม ข. ชอบของดีราคาแพง ค. แต่งตัวเรียบร้อย ง. ถูกทุกข้อ
ตอบ : ถูกทุกข้อจ้ะ อาการของราคะจริตถูกหมด
ถาม : ผู้รักสวยรักงามควรเจริญกรรมฐานข้อใด ?
ก. อสุภะ ข. เมตตา ค. อนุสติ ง. กสิณ
ตอบ : อสุภะ
ถาม : คนมักโกรธ ควรแก้ด้วยกรรมฐานข้อใด ?
ก. พรหมวิหาร ข. กายคตานุสติ ค. วินิลกอสุภะ ง. สีลานุสติ
ตอบ : อันนี้ต้องแก้ด้วยพรหมวิหาร คู่ศึกของโทสจริตคือพรหมวิหารกับกสิณสี่ วินีลกอสุภนี่ดูซากศพที่เน่าพองเป็นสีเขียว แต่จริง ๆ แล้วที่จะแก้นี่เป็นกสิณสีเขียว สีแดง สีขาว สีเหลือง คนละอันกัน อาจจะพาเราหลงได้เหมือนกัน ถ้าเห็นคำว่านีลอยู่
ถาม : ข้อใดกล่าวถูกต้อง ?
ก. คนโมหะจริตต้องพิจารณาศพ ข. คนมักโกรธต้องพิจารณากาย ค. คนโมหะจริตต้องเจริญอานาปานสติ ง. คนราคะจริตต้องแผ่เมตตา
ตอบ : คนโมหะจริตเจริญอานาปานสติ
ถาม : ผู้ใดเจริญกรรมฐานไม่ได้ผล ?
ก. คนหนุ่มสาว ข. คนป่วย ค. เด็กนักเรียน ง. คนหลงลืมสติ
ตอบ : คนลืมสติ ถ้าขาดสติเจริญกรรมฐานไม่ได้ผล แต่จริง ๆ แล้วถ้าเขาพยายามจะได้ผลเหมือนกัน แต่น้อยมาก เพราะขาดสติในที่นี้ไม่ใช่ประเภทของพวกเรา ประเภทเผลอลืมโน่นลืมนี่หรือสมาธิสั้นไม่ใช่ นี่เขาหมายถึงพวกเอ๋อไปเลย
ถาม : ข้อใดเป็นความหมายแท้ของเทวตานุสติ ?
ก. การบูชาเทวดา ข. การระลึกถึงเทวดา ค. ทำตนเองให้เป็นเทวดา ง. ระถึงถึงคุณที่ทำให้เป็นเทวดา
ตอบ : ระลึกถึงคุณของการทำให้เป็นเทวดา คราวนี้ไม่ใช่นึกเฉย ๆ ต้องพยายามทำตัวเองให้มีคุณนั้นด้วย
ถาม : คนที่เจริญเมตตาย่อมได้รับอานิสงส์อย่างไร ?
ก. หลับอยู่ก็เป็นสุข ข. ตื่นอยู่ก็เป็นสุข ค. เทวดารักษา ง. ถูกทุกข้อ
ตอบ : ถูกทุกข้อ ความจริงมีอานิสงส์ตั้ง ๑๑ ข้อ นี่เขาบอกมาแค่สามข้อเอง
ถาม : สมาธิที่เกิดได้เสมอ ๆ ในชีวิตประจำวันคือข้อใด ?
ตอบ : อุปจารสมาธิ อุปจารสมาธิคืออารมณ์ตอนนี้ จึงเกิดได้มากที่สุด
ถาม : เครื่องปิดกั้นจิตไม่ให้เป็นสมาธิเรียกว่า ?
ตอบ : นิวรณ์
ถาม : จิตที่เป็นสมาธิเป็นจิตที่มีคุณสมบัติตามข้อใด ?
ก. จิตไม่มีทุกข์ ข. จิตไร้กังวล ค. จิตสงบเยือกเย็น ง. จิตแข็งกล้า
ตอบ : จิตแข็งกล้า
ถาม : ธรรมชาติของจิตเป็นเช่นไร ?
ก. เหมือนน้ำไหล ข. เหมือนสายลม ค. กำหนดรู้ได้ยาก ง. ห้ามยากรักษายาก
ตอบ : ห้ามยากรักษายาก ท่านบอกว่าเหมือนกันลิง
ถาม : ข้อใดเป็นความง่วงจากถีนมิทธะนิวรณ์ ?
ก. อ่านหนังสือธรรมะก็ง่วง ข. อ่อนเพลียก็ง่วง ค. กินอิ่มมากก็ง่วง ง. อดนอนก็ง่วง
ตอบ : อ่านหนังสือธรรมะง่วง ถีนมิทธะนิวรณ์จะเป็นตัวง่วงเหงาขณะเราจะทำความดี อ่อนเพลีย หรือว่ากินอิ่ม หรือว่าอดนอนไม่เกี่ยว ประเภทพอภาวนาก็สัปหงก อ่านธรรมะก็สัปหงก ฟังธรรมะก็สัปหงก ทำความดีเมื่อไร ก็เอาอยู่เรื่อย
ถาม : เป้าหมายสูงสุดของการเจริญสมถกรรมฐานคือข้อใด ?
ก. ข่มตัณหาได้ ข. ข่มนิวรณ์ได้ ค. ละกิเลสอย่างหยาบได้ ง. ละกิเลสอย่างละเอียดได้
ตอบ : ข่มนิวรณได้ สมถกรรมฐานนี่ข่มนิวรณ์ได้ พวกเรื่องของการละนี่เป็นวิปัสสนาแล้ว
ถาม : เป้าหมายสูงสุดของการเจิรญวิปัสสนากรรมฐานคือข้อใด ?
ก. มนุษย์สมบัติ ข. สวรรค์สมบัติ ค. พรหมสมบัติ ง. นิพพานสมบัติ
ตอบ : นิพพานสมบัติ
|