ถาม:  พระเถระทั้ง ๗ รูปใดบวชก่อน ?
      ตอบ :  พระอุบาลี ตอนนั้นเจ้าชาย ๖ องค์ มีพระภัททิยศากยราชา พระภัคคุ พระกิมพิละ พระเทวทัต พระอนุรุทธ พระอานนท์ แล้วก็พระอุบาลีซึ่งเป็นนายภูษามาลา คือเป็นช่างตัดผมของเจ้าชายตระกูลของศากยะ คราวนี้เจ้าชายทั้งหกท่านให้ช่างตัดผมบวชก่อน ถึงเวลาใครบวชก่อนเป็นพี่ เราต้องไหว้คนนั้น เพื่อเป็นการตัดมานะตัวเอง คนตั้งใจจะทำดีเขาเอาอย่างนี้กันตั้งแต่แรกเลย เพราะฉะนั้น...พระอุบาลีจึงบวชก่อน
      ถาม :  ใครได้รับการยกย่องว่าเป็นแบบอย่างที่ดีของผู้มีความกตัญญูกตเวที ?
      ตอบ :  พระสารีบุตร ราธพราหมณ์ท่านเคยใส่บาตรทัพพีเดียวเท่านั้น พอถึงเวลาต้องการบวช หาคนรับรองการบวชไม่ได้ พระสารีบุตรจึงรับรองและจัดการบวชให้
      ถาม :  พระราธะอุปสมบทด้วยวิธีใด ?
      ตอบ :  พระราธะอุปสมบทด้วยติสรณคมนูปสัมปทา ท่านบอกว่าให้ไปนั่งกระโหย่ง ก็คือนั่งคุกเข่า ไหว้เท้าภิกษุผู้เป็นอุปัชฌาย์ แล้วก็รับสรณาคมณ์ คือ พุทธัง ธัมมัง สังฆัง สรณังคัจฉามิ พระราธะท่านเป็นสุดยอดของการว่านอนสอนง่าย เป็นพระหลวงตาที่ว่าง่ายจริง ๆ ใครว่าอะไรเชื่อหมด นั่นแหละ...พระพุทธเจ้าท่านยังออกปากเลยว่า พระหลวงตาที่ว่าง่ายหายาก พระหลวงตาที่บวชแล้วจะเอาดีหายาก ท่านบอกขนาดนั้นเลย แต่พระราธพราหมณ์ท่านทำลายสถิติยับเยินเลย
      ถาม :  พระอานนท์ได้บรรลุโสดาปฏิผลเพราะได้ฟังธรรมจากใคร ?
      ตอบ :  พระปุณณมันตานีบุตร
      ถาม :  พระธรรมเทศนาใดกล่าวเรื่องขันธ์ห้า ?
              ก. อนัตตลักขณะสูตร ข. เวสสันดรชาดก ค. อนุปุพพิกคาถา ง. นะมะการะสิทธิคาถา
      ตอบ :  อนัตตลักขณะสูตร รูปังอนัตตา เวทนาอนัตตา ขันธ์ห้าทั้งนั้นแหละ
      ถาม :  พระสาวกรูปใดบวชด้วยศรัทธา ?
      ตอบ :  พระรัฐบาลเถระ...มีไหม ? ท่านเป็นเลิศทางผู้บวชด้วยศรัทธา ไม่ให้บวชนี่ยอมอดข้าวตายเลย
      ถาม :  ธรรมุเทศ ๔ ใครแสดงแก่ใคร ?
      ตอบ :  พระรัฐบาลแสดงแด่พระเจ้าโกรัพยะ ท่านบอกว่า
              ๑. โลกคือหมู่สัตว์ ...อันชรรามนำไปไม่ยั่งยืน
              ๒. โลกคือหมู่สัตว์ ...ไม่มีผู้ป้องกันไม่เป็นใหญ่ในเฉพาะตน
              ๓. โลกคือหมู่สัตว์...ไม่มีสิ่งใดเป็นของตน จำต้องละในสิ่งทั้งปวง
              ๔. โลกคือหมู่สัตว์...พร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา
      ถาม :  ข้อใดชื่อว่าอารยธรรม ?
              ก. ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ข. ศีล สมาธิ ปัญญา ค. วิมุตติ ศีล สมาธิ ปัญญา ง. สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ
      ตอบ :  อารยธรรม หมายถึง ธรรมอันนำไปสู่ความเจริญ ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา
      ถาม :  พระพุทธเจ้าทรงแสดงอภิญญาเทสิตธรรมที่ไหน ?
      ตอบ :  กูฎาคารศาลา ป่ามหาวัน มีไหม ? อภิญญาเทสิตธรรม คือ ธรรมที่พระพุทธเจ้าแสดงด้วยปัญญาอันยิ่ง ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปทาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทร์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ และมรรค ๘
      ถาม :  ธรรมนี้ของผู้มีสติตั้งมั่น ไม่ใช่ผู้มีสติหลงลืม ?
      ตอบ :  อันนี้เรียกว่า “มหาปุริสวิตก” เป็นของพระอนุรุทธ ท่านว่า “ธรรมนี้เป็นของผู้มีสติตั้งมั่น ธรรมนี้เป็นของผู้มีใจตั้งมั่น ธรรมนี้เป็นของผู้ไม่ยินดีในธรรมอันเนิ่นช้า”
      ถาม :  ใครทำหน้าที่วินิจฉัยอธิกรณ์เรื่องมารดาของพระกุมารกัสสปะ ?
      ตอบ :  พระอุบาลีเถระ ฝ่ายหญิงนี่คือนางวิสาขามหาอุบาสิกา เรื่องเกิดจากมารดาของพระกุมารกัสสปเถระ ท่าบวชเข้ามาโดยไม่รู้ว่าตัวเองท้องอยู่ คือประเภทที่เรียกว่ายังไม่ถึงเวลาประจำเดือนมา ก็เลยไม่รู้ว่าประจำเดือนจะขาด ประเภทว่ายังท้องได้ไม่ครบเดือนอย่างนั้น คราวนี้พอบวชไปท้องโตขึ้น เขาก็กล่าวหาว่าท่านเทสพเมถุนธรรม ก็เลยต้องมาแก้อธิกรณ์ (ข้อกล่าวหา) กัน ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา มีพระอุบาลีเถระเป็นประธาน มานั่งนับวันไล่วันกัน ท้ายสุดท่านบริสุทธิ์จึงบวชต่อได้ จนคลอดพระกุมารกัสสปะออกมา
      ถาม :  พระโสณโกฬิวิสะเถระ ได้รับเอตทัคคะด้านใด ?
      ตอบ :  ปรารภความเพียร ท่านเดินจงกรมจนเท้าแตก
      ถาม :  ใครบรรพชาเป็นสามเณรถึงสามปีถึงได้การอุปสมบท ?
              ก. พระโสณกุฎืกัณณะ ข. พระโสณโกฬิวสะ ค. พระวังคีสะ ง. พระมหากัจจายนะ
      ตอบ :  พระโสณกุฎิกัณณะเถระ ผู้เป็นเลิศในการแสดงธรรมด้วยเสียงอันไพเราะ ท่านบวชในปัจจันตชนบท รออยู่ ๓ ปี จึงหาพระได้ครบ ๑๐ รูป (ทสวรรค) มาบวชให้ พระพุทธเจ้าจึงต้องหย่อนพระวินัยลงว่า ในปัจจันตชนบท มีพระเพียง ๕ รูป (ปัญจวรรค) ก็ให้อุปสมบทกุลบุตรได้
      ถาม :  พระเถระรูปใดนำธรรมไปเผยแผ่ในกรุงอุชเชนี ?
      ตอบ :  พระมหากัจจัยนะ พระมหากัจจยนะเป็นมหาอำมาตย์ของพระเจ้าจัณฑปัชโชติผู้ครองกรุงอุชเชนี ท่านขออนุญาตบวช พอบวชแล้วก็กลับไปเผยแพร่ธรรมะในแว่นแคว้นเดิมของตัวเอง เสร็จแล้วเหตุที่ทำให้ลูกศิษย์ต้องทนบวชเณรอยู่ตั้ง ๓ ปี เพราะพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าถ้าการบวชต้องให้มีสงฆ์ทสวรรค คือมีสงฆ์ ๑๐ รูปร่วมกันเพื่อที่จะรับรองการบวชนัน คราวนี้ปัจจันตประเทศคือชายแดนในตอนนั้นนี่ หาพระยากเย็นมากเลย พระมหากัจจายนะเลยให้พระโสณกุฏิกัณณะมาทูลขอพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตพิเศษ พระพุทธเจ้าท่านจึงอนุญาตว่า ถ้าเป็นมัธยมประเทศนี่ใช้สงฆ์ ทสวรคค คือ ๑๐ รูปขึ้นไป แต่ถ้าเป็นปัจจันตประทศใช้ปัญจวรรค คือ ๕ รูปก็พอ เพราะฉะนั้น...พวกเราถือเป็นปัจจันตประเทศ ถ้ามีในที่ประชุมสงฆ์ ๕ รูปเห็นพร้อมกันว่าสมควรบวชเป็นพระก็บวชได้
      ถาม :  ใครกล่าวว่า “พราหมณ์ถือตัวว่าประเสริฐบริสุทธิ์เกิดจากพรหม ?”
              ก. พระเจ้าจันทปัตตโชติ ข. พระเจ้ามธุรราช ค. พระเจ้าโกลพยะ ง. ปุณณกมาณพ
      ตอบ :  พระจเมธุรราชอวันตีบุตร ท่านถามกับพระมหากัจจายนะ
      ถาม :  ใครตั้งสำนักอยู่ที่แม่น้ำโคธาวารี ?
              ก. ชฎิลสามพี่น้อง ข. สัญชัยปริพาชก ค. อาฬารดาบส ง. พราหมณ์พาวรี
      ตอบ :  พราหมณ์พาวรี
      ถาม :  ข้อใดเรียกว่า “ปฏิปุจฉาพยากรณ์” ?
      ตอบ :  ตอบด้วยการย้อนถาม
      ถาม :  ย้อนถามแล้วจึงแก้ปัญหาใช่ไหมคะ ?
      ตอบ :  การพยากรณ์หรือตอบคำถาม จะมีเอกังสพยากรณ์ ถามมาตอบได้ตรง ๆ เลย วิภัชชพยากรณ์ แยกปัญหาเป็นส่วน ๆ ตอบทีละส่วน ปฏิปุจฉาพยากรณ์ ตอบด้วยการย้อนถาม ฐาปนพยากรณ์ คือไม่ต้องตอบหรอก ไม่มีประโยชน์ นั่งนิ่งเสียดีกว่า
      ถาม :  ในมาณพ ๑๖ คน ศิษย์พราหมณ์พาวรีนั้น ใครได้เอตทัคคะ ?
      ตอบ :  พระโมฆราชเถระ มีองค์เดียวจริง ๆ ที่ได้เอตทัคคะ แต่ว่าทั้ง ๑๖ องค์นั่นท่านเป็นพระอรหันต์ไป ๑๕ องค์ เหลือพระอชิตองค์เดียวที่ท่านจะมาเกิดเป็นพระศรีอาริยเมตไตร แต่มีพระโมฆราชเถระองค์เดียวที่ท่านได้เอตทัคคะ คือความสามารถยอดเยี่ยมเหนือผู้อื่นทางด้านครองจีวรเศร้าหมอง แสดงว่าท่านชอบของปอน ๆ เป็นปกติ ไม่ชอบประเภท หลุยส์ วิตตอง อาร์มานี่ ไม่เอาเลย
      ถาม :  รถวินีตสูตร กล่าวถึงธรรมข้อใด ?
      ตอบ :  วิสุทธิ ๗ มีไหม ? ที่ท่านเปรียบเหมือนกับรถ ๗ ผลัด นำไปถึงจุดหมายปลายทาง
      ถาม :  ใครเป็นผู้ถวายผ้าสิงคิวรรณ ?
      ตอบ :  สิงคิวรรณ คือ มีสีเหมือนทอง
      ถาม :  คนถวายเป็นใครคะ ?
      ตอบ :  ปุกกุสสมัลลบุตร
      ถาม :  พระสุภัททะเป็นพระปัจฉิมสาวกอุปสมบทด้วยวิธีใด ?
      ตอบ :  ญัตติจตุตถกรรม
      ถาม :  พระฉันนะฟังธรรมจากใครจึงได้สำเร็จมรรคผล ?
      ตอบ :  พระอานนท์ ท่านโดนลงพรหมทัณฑ์ ไม่มีใครคบค้าสมาคมด้วย จึงไปขอร้องพระอานนท์ว่าอย่าทำให้ท่านต้องฉิบหายจากความดีเลย พระอานนท์เห็นว่าท่านสำนึกผิดแล้ว จึงแสดงมรรค ๘ และโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ให้ ท่านนำไปปฏิบัติไม่นานก็บรรลุอรหัตผล
      ถาม :  บิณฑบาตที่ตรัสว่ามีอานิสงส์มากมีกี่ครั้ง ?
      ตอบ :  สองครั้งเท่านั้น คือวันที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ กับวันที่จะปรินิพพาน
      ถาม :  พระพุทธเจ้าทรงแสดงปัจฉิมโอวาทที่ไหน ?
      ตอบ :  สาลวโนทยาน เมืองกุสินารา “ขะขะวะยะ ธัมมา สังขารา อัปมาเทนะ สัมปาเทถะ” ให้ตั้งไว้ในความประมาทให้ถึงพร้อม
      ถาม :  พระเขมาเถรีได้รับเอตทัคคะในด้านใด ?
      ตอบ :  เป็นเลิศในทางมีปัญญามากฝ่ายภิกษุรี ถ้าฝ่ายมีฤทธิ์นี่ก็พระอุบลวรรณาเถรี
      ถาม :  พระเถรีรูปใดได้รับยกย่องว่าเป็นเลิศทางวินัย ?
      ตอบ :  พระปฏาจาราเถรี
      ถาม :  สังเวชนียสถานทั้ง ๔ จัดเป็นเจดีย์ประเภทใด ?
      ตอบ :  อุเทสิกเจดีย์ (เครื่องระลึกถึง)
      ถาม :  โทณพราหมณ์แบ่งพระบรมสารีริกธาตุเป็นกี่ส่วน ?
      ตอบ :  ๘ ส่วน
      ถาม :  อะไรเป็นมูลเหตุแห่งการทำปฐมสังคายนา ?
      ตอบ :  สุภัททภิกษุกล่าวจาบจ้วงพระธรรมวินัย ถ้าทุติยสังคายนา คือครั้งที่สองนั่นเกิดจากวัตถุ ๑๐ ประการ ภิกษุวัชชีบุตรคือพยายามอนุโลมศีล อนุโลมศีลอย่างเช่นว่า เกลือนี่ถือว่าเป็นเภสัช คือโลณเภสัช จัดว่าเกลือเป็นยา ประเคนครั้งเดียวฉันได้ตลอดชีวิต แต่ถ้าไปผสมกับเภสัชอื่น ต้องนับอายุตามเภสัชนั้น ๆ ที่อายุน้อยที่สุด อย่างเช่นว่าถ้าผสมอาหารก็กินได้ไม่เกินเที่ยง แต่พวกภิกษุวัชชีบุตรตีขลุมเอาว่า มีส่วนผสมของยาวชีวิก ฉันได้ตลอดชีวิต ข้ออื่นเช่น สุรารสอ่อนสีเหมือนเท้านกพิราบอย่างนี้ ให้ฉันได้ โอ้โฮ...คงล่อไวน์กันเพลินเลย แล้วก็มีเงาแดดเลยศีรษะยังไม่เกินสองนิ้วยังให้ฉันได้อย่างนี้ โอ้โฮ...ลองปักไม้ลงดูสิ ปักไม้ลงให้เงาแดดลงตรงกึ่งกลางพอดี เลยเที่ยงเยอะนะ เกินไปสองนิ้วนี่ประมาณบ่ายโมงครึ่ง ยังจะกินอยู่อีก ท่านจึงต้องสังคายนาใหม่
              ส่วนตติยสังคายนา คือการสังคายนาครั้งที่สาม นั่นปรารภว่าเดียรถีย์ปลอมบวชมาเยอะเหลือเกิน เพราะศาสนาพุทธกำลังรุ่งเรืองมาก ใครบวชเข้ามานี่ชาวบ้านประเภทใส่บาตรบำรุงเลี้ยงดูอุตลุดไปหมด เขาเลยปลอมเข้ามากินกันอ้วนแล้วก็ทำชั่ว ต้องสังคายนาเพื่อจัดการให้เรียบร้อย
      ถาม :  ใครเป็นอัครศาสนูปถัมภ์การปฐมสังคายนา ?
      ตอบ :  พระเจ้าอชาตศัตรู
      ถาม :  ...........................
      ตอบ :  คือความเจิรญในพุทธศาสนานี่ ถ้าเรานับในแง่ของการได้มรรคผลแล้ว บ้านเรามีได้มรรคผลกันเยอะ แต่นับความพร้อมเพรียงในการทำนี่ ไทยสู้พม่าไม่ได้ พม่าทั้งประเทศพูดง่าย ๆ ก็คือ ๙๕% ขึ้นไปเข้าวัดเข้าวากันเป็นปกติ แต่คราวนี้เคยกราบขอความรู้จากหลวงพ่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศ ท่านบอกว่า “ท่านเล็ก จำเอาไว้เลยว่าที่ไหนก็ตามที่ชาวบ้านขาดที่พึ่ง ศาสนาจะเจริญ” ท่านดูสิว่าชาวพม่าพึ่งรัฐบาลได้ไหม ? พึ่งข้าราชการได้ไหม ? ในเมื่อพึ่งรัฐบาลไม่ได้ พึ่งข้าราชการไม่ได้ ก็ต้องพึ่งพระศาสนา
              อาตมาตอนแรก แหม...ไปแล้วชอบอกชอบใจว่า เออ...ของเขาเองเขาพร้อมเพรียงกันเข้าวัดเข้าวาดีเหลือเกิน แต่ปรากฏว่าจริง ๆ แล้วก็คือไม่มีที่ให้พึ่ง จึงต้องยึดพระเป็นที่พึ่ง แบบเดียวกับที่หลวงพ่อวัดท่าซุงท่านเล่าว่า ตอนสงครามโลกครั้งที่สอง ถ้าคือไหนมีหวอทิ้งระเบิด รุ่งเช้า โอ้โฮ...ญาติโยมมาใส่บาตรกันชนิดกินไม่ไหวใช้ไม่หมด ก็ประเภทไม่มีอะไรแล้ว ต้องยึดพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง
      ถาม :  จิตกับใจต่างกันอย่างไร ?
      ตอบ :  ตัวเดียวกันจ้ะ มีจิตกับการทำงานของจิต คราวนี้คนบางครั้งจิตก็เรียกว่าใจ ใจก็เรียกว่าจิต แต่ภาษาพระนี่จะมีจิตคือใจ แล้วก็ตัวเจตสิกคือการทำงานของใจ ที่เรียกว่าชวนะ คืออาการรับรู้การทำนั้น ๆ ครวนี้ถ้าจะเอาแต่ละขั้นตอนของนี่ อย่างเช่นว่าเราหลับอยู่ใต้ต้นไม้ ผลไม้ตกลงสู่พื้น ทันทีที่เสียงกระทบหูเรา จิตรับรู้ว่ามีเสียงมา แล้วจิตดวงต่อไปก็กำหนดว่าเสียงนั้นเป็นอะไร อันดับต่อไปคือสั่งให้ลืมตาดู อันดับต่อไปคือดูแล้วเห็นผลมะม่วง พอเห็นผลมะม่วงสุกก็อยากจะกิน ในเมื่ออยากจะกินเลยบอกให้ตัวเองขยับไปเพื่อหยิบผลมะม่วงนั้นมา เสร็จแล้วก็ใส่ปาก กัดแล้วก็เคี้ยว กลืน เสร็จแล้วก็ล้มตัวลงไปเพื่อนอนต่อ อาการเคลื่อนไหวแต่ละอย่าง จริง ๆ มาจากจิตดวงเดียวกัน แต่มีเจตสิกคือการตั้งใจที่จะรับรู้ แล้วตัวชวนะคือการเคลื่อนไปเพื่อทำหน้าที่ต่าง ๆ จริง ๆ แล้วอย่างเดียวกันจ้ะ
      ถาม :  ทำไมเขาเรียกจิตกับใจ ?
      ตอบ :  ปล่อยให้เขาแยกไปสิ ถ้าเขาแยกลักษณะนั้นจะมีจิตคือตัวรับรู้ กับใจคือการอาการที่ไปรับรู้ แค่นั้นเอง
      ถาม :  จิตตัวรับรู้ ?
      ตอบ :  ธรรมชาติที่มีปกติรับรู้ เขาไม่ได้แยกเยอะหรอก ก็แค่นั้นแหละ จริง ๆ แล้วไปเรียกให้ยุ่งมากกว่า
      ถาม :  ถ้าอย่างนั้นคำว่าจิตอยู่ที่ใจหรือใจอยู่ที่จิต ?
      ตอบ :  ก็อย่างเดียวกัน
      ถาม :  ถ้าคนที่เขาแยกลักษณะจัดมาเป็นสองอันนี้ล่ะคะ เมื่อเขาเกิดอันหนึ่งจะเป็นอันนี้ หรือจะเป็นอะไร ?
      ตอบ :  ที่เราว่ามานี่ยังไม่ใช่ ถ้าเขาแยกจริง ๆ จะเป็นจิตดวงเดียว แต่สามารถรับรู้สิ่งอื่น ๆ ทำสิ่งอื่น ๆ ไปพร้อมกันได้หลาย ๆ อย่าง อย่างเช่นคุยไปก็นับลูกประคำไปได้ ภาวนาไปได้ คือาการที่เราแยกจิตออกเพื่อรับรู้สิ่งต่าง ๆ หลายอย่างได้พร้อม ๆ กัน
      ถาม :  อันนั้นคือลักษณะการแยกจิต เป็นขั้นตอนเดียวกันหรือว่าแยกจิตออกมาทำหลาย ๆ อย่าง ขั้นตอนอะไร ?
      ตอบ :  ขั้นตอนนี้ประเภทเก่งแล้วจ้ะ ถ้าเก่งแล้วคือสามารถที่จะรับรู้หลาย ๆ อย่างพร้อม ๆ กันในเวลาเดียวกันได้
      ถาม :  ถ้าเผื่อในเวลาเดียวกันคืออันนั้น ถ้าเก่งแล้วคือจิตที่เก่งแล้วใช่ไหม ?
      ตอบ :  คือจิตที่ได้รับการฝึกมาดีแล้ว
      ถาม :  ฝึกมาจากสมาธิ สมาธิได้ตรงนั้นแล้ว มาลงได้ตรงนี้หรือเปล่า ?
      ตอบ :  ได้จ้ะ
      ถาม :  อย่างนี้คนที่ทำสมาธิเก่ง ๆ นี่เขาฝึกที่จะรวมจิตเป็นหนึ่งเดียว แล้วถ้าสมมติเขาต้องการทำสองอย่าง เขาต้องตั้งต้นฝึกอีกครั้งหรือเปล่า ? หรือว่าเป็นผลพลอยได้ ?
      ตอบ :  จริง ๆ แล้วจะเป็นผลพลอยได้ แต่ต้องมีการฝึกเพื่อความคล่องตัว แรก ๆ ก็จะมีการ เอ๊ะ...ทำไมเรานึกเรื่องโน้นก็ได้ ในขณะเดียวกันเราก็ทำเรื่องนี้อยู่ อะไรอย่างนี้ แต่ต้องผ่านการฝึกถึงจะมีความคล่องตัว
      ถาม :  จริง ๆ ควรแยกหรือควรรวม ?
      ตอบ :  จริง ๆ แล้วควรจะรวมเป็นหนึ่งเดียว เพราะการที่เราแยกจิตหลาย ๆ จิตจะมีผลดีสำหรับบุคคลที่ควบคุมดูแลจิตอย่างใกล้ชิด ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วต่อไปจะกลายเป็นว่าเราภาวนาอยู่จิตสงบ แต่อีกจิตหนึ่งก็ฟุ้งซ่านได้
      ถาม :  ถ้าฟุ้งซ่านได้ล่ะคะ ?
      ตอบ :  วิธีแก้คือรวมกำลังทั้งหมด รวมความรู้สึกทั้งหมดให้มาอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก สนใจลมหายเข้าออกอย่างจริง ๆ จัง ๆ
      ถาม :  คนที่จิตแยกหลายอย่างคือมีแค่สองประเภท ?
      ตอบ :  คนที่เก่งแล้วกับคนที่ฟุ้งซ่านไปเลย
      ถาม :  ฟุ้งซ่านไปเลย คือคนที่ถ้าเก่งแล้วคือจะสามารถแยกรวมก็ได้ตลอด ท่านเคยแยกได้สามสี่บ้างไหม ?
      ตอบ :  เกินกว่านั้นอีกจ้ะ
      ถาม :  ถ้าแยกมาก ๆ จะเสียไหม ?
      ตอบ :  บอกแล้วว่าถ้าไม่ได้ดูแลอย่างใกล้ชิด ต่อไปขณะที่เราภาวนาอยู่ก็ฟุ้งซ่านได้