ถาม:  คำว่า “ธรรมะ” กับ “ธรรมชาติ” มีความหมายเดียวกันหรือไม่ครับ ?
      ตอบ :  มีความหมายเดียวกัน ธรรมะก็สิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติเป็นปกติ เพียงแต่เราสามารถจะเห็นได้ไหม เพราะธรรมชาติทั้งหมดมีสภาพไม่เที่ยง มีสภาพเป็นทุกข์ มีสภาพยึดถือมั่นหมายไม่ได้ ต้องสลายไปในที่สุดเหมือนกัน แต่พระแบบนั้นนี่เขาไม่มานั่งทำให้เราดูนะ ที่ท่านทำให้อาตมาดูเพราะอาตมาเป็นพระ แล้วท่านก็เชื่อมั่นว่าไม่ปากโป้งแน่ ๆ ท่านบอกว่า “อย่าพูดให้ใครได้ยินเชียวนะ” แต่คราวนี้พอท่านมรณภาพแล้ว เลยเอามาเล่าให้ฟัง หลายคนเขาขัดใจว่าอาตมาเล่าแต่เรื่องอาจารย์ที่ตายไปแล้ว ที่เป็น ๆ ทำไมไม่เล่า ถ้าเล่าแล้วเดี๋ยวไปกวนท่าน
      ถาม :  อาการทางร่างกาย กับผลการทำฌานสมาบัติ จะมีส่วนเกี่ยวข้องกันหรือไม่ ?
      ตอบ :  เกี่ยวเนื่องกันมาก สภาพของร่างกายถ้าหิวมาก ๆ เหนื่อยมาก ๆ หรือเจ็บไข้ได้ป่วย ส่วนใหญ่จะทำให้กำลังของสมาธิตก แต่ท่านที่คล่องตัวจริง ๆ ระดับฌานใช้งาน จะสามารถดึงสมาธิกลับมาทรงตัวได้เร็วกว่า หรือไม่ก็ใช้กำลังสมาธิหนีเวทนา คืออาการเจ็บป่วยที่กินร่างกายเลย เพราะมีความคล่องตัวก็เลยทรงอยู่ได้ แต่ถ้าไม่คล่องนี่ตกเป็นปกติ บางครั้งเสื่อมไปเลย
      ถาม :  ผู้ที่ได้ฌาน ๑ เขาจะใช้คำภาวนาไปเรื่อย ๆ จนเป็นฌาน ๒ เองเหรือเขาบังคับเอา ?
      ตอบ :  บังคับไม่ได้ ยิ่งบังคับยิ่งไม่เป็น คือกำหนดลมหายใจไปเรื่อย ๆ ถ้ายังมีลมหายใจ กำหนดภาวนาไปเรื่อย ถ้ายังมีคำภาวนา ถ้าหากว่าไม่มีทั้งสองอย่าง ก็แค่กำหนดใจรู้ตามไปว่าตอนนี้ไม่มี แต่ส่วนใหญ่พอไม่มีลมหายใจมักจะตกใจ รีบตะเกียกตะกายหายใจ เลยกลายเป็นลดกำลังใจลงมา เจออย่างนี้มาเยอะ กว่าจะปล้ำให้ถูกช่องได้บางทีเล่นกันหลายปี อาตมาเองแค่ปฐมฌานฟาดซะ ๓ ปี แหม...เป็นความโง่ที่จดจำได้นานเลย
      ถาม :  เรื่องอารมณ์เฉยครับ ๑. อารมณ์เฉยต่อคำภาวนา ๒. อารมณ์เฉยไม่มีคำภาวนา ๓. อารมณ์เฉยต่อโลกธรรม หรือกฎของธรรมดา ๓. อารมณ์นี้ต่างกันอย่างไร และเมื่อปรากฏอารมณ์เฉยไม่อยากภาวนา เราควรฝืนภาวนาไปสักระยะหนึ่งก่อนหรือปล่อยอารมณ์นั้นไปครับ ?
      ตอบ :  อารมณ์เฉยทั้งสามประการมีพื้นฐานมาจากตัวอุเบกขาทั้งสิ้น ถ้าเข้าไม่ถึงตัวอุเบกขา อารมณ์ทั้งหลายเหล่านี้ไม่ปรากฏ ถ้าเฉย ๆ ไม่อยากภาวนาก็ให้กำหนดรู้เฉย ๆ อย่าไปฝืน ถ้าเรากำหนดรู้ตามไปเฉย ๆ จิตจะทรงฌานระดับที่สูงกว่าไปเร็วมาก ถ้าไปปล้ออยากจะให้เป็นอยากจะให้ได้ หรือว่าฝืนภาวนาไป การฝืนภาวนานี่ ถ้าเริ่มเป็นปฐมฌานละเอียดคำภาวนาแทบไม่มีอยู่แล้ว ถ้าเราไปฝืนภาวนาคือบังคับให้กำลังฌานตกลงไปมาสู่จุดที่หยาบกว่า กลายเป็นว่าถ้าเราต้องการฌานที่หนักแน่นกว่านั้นก็จะเสียผล เพราะกลายเป็นลดกำลังลง เพราะฉะนั้น...อย่าไปฝืน กำหนดรู้เฉย ๆ อยากเป็นอย่างไรให้เป็นไปตามนั้น
      ถาม :  (ฟังไม่ชัด)
      ตอบ :  ลักษณะนั้นพลัดจากฌาน กำลังของมันเริ่มจะเป็นปฐมฌานแล้ว แต่เนื่องจากว่าจิตหยาบเกินไป สติตามไม่ทัน ไม่สามารถจะเกาะฌานอยู่ได้ ก็เลยพลัดวูบลงไป บางคนตกใจเหงื่อแตกพลั่กเลิกทำไปเลย
      ถาม :  เราต้องทำอย่างไรครับ ?
      ตอบ :  ไม่ต้องทำอย่างไร ตั้งหน้าว่ากันใหม่ แต่คราวนี้ว่ากำหนดสติตามลมหายใจให้หนักแน่นกว่าเดิม คือให้ดูลมหายใจจริง ๆ ยิ่งกว่าเดิม พอจิตละเอียดขึ้น เกาะติดก็จะก้าวข้ามไปเลย
      ถาม :  ผมเคยเจอคนหนึ่ง เขาบอกว่า “อารมณ์มโนมยิทธินั้นเป็นฌาน ๔ และเขาใช้อารมณ์นั้นในขณะสวดมนต์” ที่ท่านกล่าวไว้ว่า การสวดมนต์เป็นอุปจารสมาธิ เรื่องนี้มีข้อเท็จจริงเป็นประการใด ?
      ตอบ :  อารมณ์ของมโนมยิทธิ ถ้าตอนเป็นภาพเป็นอุปจารสมาธิ ถ้าตอนไปได้ไปสู่สถานที่เราเห็นนั้นเป็นฌาน ๔ ดังนั้นถูกทั้งสองฝ่าย ตอนที่เราสวดมนต์ ถภ้าคนทั่ว ๆ ไปจะเป็นกำลังของอุปจารสมาธิ ถ้าคนที่คล่องตัวในฌานสมาบัติแล้ว จะใช้กำลังฌานระดับไหนก็สวดมนต์ได้ จำไว้เลยนะ มโนมยิทธิถ้าเห็นภาพเป็นอุปจารสมาธิ ถ้าไปตรงที่เราเห็นได้น่ะเป็นฌาน ๔ ใครจะบอกครึ่งกำลังก็ช่างหัวมัน นั่นน่ะฌาน ๔ แน่ ๆ ไม่อย่างนั้นไปไม่ได้หรอก
      ถาม :  ผมพยายามหาเหตุไปกินเหล้าโดยการถามท่านหรือประโยชน์ของสุราต่าง ๆ เช่น ข้าพเจ้าไม่ชอบดื่มสุรา ข้าพเจ้าชอบบรรยากาศของโกวเล้งเป็นต้นและอีกหลาย ๆ เหตุผล แต่เมื่อถามถึงคน ๆ หนึ่งเขาบอวก่า “เขาไม่สนใจการกินเหล้า ไม่ต้องการกิน แต่มีปมทุกข์อยู่ในใจ ที่ไปสนุกกับเพื่อนฝูงเห็นว่าสนุก แต่จริง ๆ มีความทุกข์ต่าง ๆ ในใจ เพียงแต่เป็นการเปลี่ยนอารมณ์ไปเท่านั้น เรื่องนี้ผมรู้สึกว่าจริงเหมือนกัน แต่อย่างไรก็ดีเมื่อครั้งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้กล่าวแก่ท่านอัญญาโกณฑัญญะว่า “ธรรมทั้งหลายย่อมเกิดจากเหตุ” ถ้าเราจะแก้ความทุกข์ แก้อย่างไรดีขอรับ ?
      ตอบ :  คือแก้ที่เหตุนั่นแหละ เกิดทุกข์ขึ้นตรงไหนก็ดับทุกข์ให้ได้ สาเหตุของความทุกข์ทั้งหมดเริ่มตั้งแต่เราโง่เกิดมาแล้วนะ ในเมื่อเกิดมาย่อมจะเจอทุกข์ทั้งหมดเป็นธรรมดา แต่คราวนี้เขาเกิดความทุกข์ขึ้นเขาหาทางแก้ไม่เจอ ทางที่ผ่อนหนักเป็นเบาได้คือไปเมาหัวทิ่มบ่ออยู่กับเพื่อน แล้วรู้สึกว่าดีขึ้น แต่พอหายเมายังทุกข์หนักอยู่เหมือนเดิม คราวนี้อาจจะทุกข์ยิ่งกว่าเดิม เพราะอันดับแรกเมาค้างก็ปวดหัว อันดับที่สองสตางค์หมด ดีไม่ดีลูกเมียทางบ้านด่าเอาอีก ดังนั้นการแก้ทุกข์จริง ๆ ต้องเข้าหาธรรมะ ปฏิบัติธรรมได้ เห็นธรรมได้ จิตใจมีที่พึ่งที่ยึดที่เกาะ เมื่อจิตของเรารับอารมณ์ได้ทีละอย่างเท่านั้น เอาความดีเข้ามาความชั่วก็เข้าไม่ได้ เอาความสุขในทางธรรมเข้ามาความทุกข์ก็เข้าไม่ได้ แต่ส่วนใหญ่คนเรามีสติสัมปชัญญะในระดับนี้น้อย มักเสียผู้เสียคนอยู่กับพวกสุรายาเมา
      ถาม :  สิ่งที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อได้กล่าวล้วนแล้วแต่มีความหมาย การที่ท่านได้กล่าวมีใจความว่า “เราบวชเพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน” ซึ่งท่านได้กล่าวแก่บรรดาพระสงฆ์แต่ให้คนทั่วไปฟังด้วย ความหมายของท่านคือประการใด ?
      ตอบ :  การที่เราบวชนี่เราต้องเตือนตนอยู่เสมอ การที่เราบวชเข้ามาเราจะต้องทำอะไรเพื่ออะไร ? ท่านบอกว่า “ให้ทุกคนตั้งใจว่าเมื่อเรารับผ้ากาสาวพัตร์แล้วจะต้องทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน” คือต้องทำตัวให้หมดกิเลสให้ได้ไม่ใช่มานั่งสร้างสมกิเลสกัน ท่านให้เตือนตัวเองอยู่บ่อย ๆ จะได้ไม่ลืม ทบทวนเตือนตนด้วยตนเอง ไม่ต้องให้คนอ่านมาเสียเวลาเตือนเรา ดูที่ตัวแก้ที่ตัว อะไรที่ผิดอยู่แก้ให้ถูก อะไรที่ถูกแล้วทำให้ถูกยิ่ง ๆ ขึ้นไป
      ถาม :  เคยฟังหลักการดูแลสามีภรรยาแบบชาวบ้าน หลวงพ่อท่านว่ามีหลายข้อแต่ผมจำไม่ได้ จำได้อยู่ข้อเดียวคือหาของขวัญให้ในโอกาสพิเศษ มานึกดูคล้าย ๆ กับคำว่า surprise ในปัจจุบันเหมือนกัน ถ้าเรามีสามีภรรยาอันนี้ เราควรทำสิ่งใดเป็นกรณีพิเศษหรือไม่ เพื่อให้เกิดความชุ่มชื่นในการดำรงชีวิต ?
      ตอบ :  ท่านบอกว่า อันดับแรกมอบความไว้วางใจให้ หมายความว่าให้งานอะไรไปแล้วต้องไว้ใจว่าเขาทำได้ อันดับที่สองมอบความเป็นใหญ่ในบ้านให้ อันดับที่สามบำรุงเธอด้วยปัจจัยสี่ อันดับที่สี่ให้เครื่องประดับตามวาระอันสมควร ปล่อยแฟนให้ใหญ่ซะหมดเรื่อง จะได้ไม่ต้องทะเลาะกัน อันนี้พระพุทธเจ้าบอกเองนะ แล้วการให้เครื่องประดับให้อะไรจริง ๆ คือบางครั้งภรรยาบางคนทำงานอย่างกับทาสทั้งชีวิต ไม่มีอะไรให้เป็นสินน้ำใจบ้างเลย เธอจะรู้สึกอย่างไร คนดีจริง ๆ อาจจะไม่คิดหรอก แต่ถ้ามีให้บ้าง อะไรบ้างก็เกิดกำลังใจ ความรักในครอบครัวก็แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
      ถาม :  คำกล่าวตอนหนึ่งที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยานได้กล่าวตอนหนึ่งความว่า “ตราบใดที่ผู้รักษาอภิญญาสมาบัติได้ปฏิปทาสาธารณะประโยชน์ ตราบนั้นจะช่วยลูกทุกประการ” คำว่าปฏิปทาสาธารณะประโยชน์มีความหมายเป็นประการใด ?
      ตอบ :  อย่างสมัยหลวงพ่อท่านให้ทุนการศึกษา เอาข้าวของไปสงเคราะห์ผู้ยากจนในถิ่นทุรกันดาร ช่วยขุดบ่อน้ำแล้วแต่ว่าขณะนั้นส่วนรวมต้องการสิ่งใด มาระยะหลังถึงขนาดสร้างโรงเรียน สร้างโรงพยาบาล อะไรก็ตามที่ทำแล้วเป็นประโยชน์เป็นความสุขของคนหมู่มาก คือปฎิปทาเพื่อสาธารณะประโยชน์
              สมัยโน้นหลวงพ่อท่านออกเยี่ยมทหารตำรวจบ่อยมากเอาของไปแจก แล้วบรรดาแม่ครัวจะต้องตำน้ำพริกเป็นปกติ โอ้โฮ...ตำไปจามไป คนปอกกระเทียมปอกหัวหอมก็ปอกไปร้องไห้ไป ท่านบอกว่า “ถ้าได้เผ็ดเข้าหน่อยจะได้กินข้าวได้” เวลาที่หลวงพ่อออกไปเยี่ยมทหารตำรวจชายแดนนอกจากของแจกอื่น ๆ แล้ว ที่แน่ ๆ คือต้องมีน้ำพริก
      ถามพระเดชพระคุณท่านวิชาญชัยคุณ ท่านให้ความหมายของบทให้พรดังนี้ คนที่มีจิตอ่อนน้อมกราบไหว้บูชาสักการะเคารพต่อพ่อแม่ ปู่ย่าตายยาย ผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีพระคุณต่อเราและต่อพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ทั้งสามประการนี้ บุคคลเช่นนี้จะได้รับพระทั้งสี่ประการ คืออายุ เป็นผู้มีอายุยืน เช่น ๗๕ ปีอายุขัย วรรณะ ผิวพรรณผ่องใสไม่เศร้าหมอง สุขะ ความสุขกายและความสุขใจมีแก่เราผู้ยังมีชีวิตอยู่ พละ กำลังกายสามารถประกอบกิจการงานเลี้ยงตัวเองได้สมบูรณ์ กำลังปัญญาสามารถเฉลียวฉลาดรู้แจ้งตลอดธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ และกำลังทรัพย์เมื่อเขาจะบอกบุญอะไร เรามีทรัพย์ทำบุญกับเขาได้ทุกคนต่อไปด้วยกันทั้งชายและหญิง ตามที่ท่านพระคุณเจ้าได้กล่าวถึงการให้พรว่ามีผลต่อผู้รับพร ถ้าบรรดาผู้ฟังได้รับคำพรต่าง ๆ แล้วกล่าวสาธุจะมีผลเป็นประการใด โดยเฉพาะชีวิตที่ก่อนจะตาย ?
      ตอบ :  ถ้าสาธุอย่างเดียวประโยชน์จะน้อยมาก คำให้พรคือคำสอนอย่างหนึ่ง ท่านบอกว่า “อภิวาทะนะสีลิสสะนิจจัง บุคคลผู้มีปกติอ่อนน้อมแต่ผู้มีศีล วุฑฒาปะจายิโน ย่อมเป็นผู้เจริญไปด้วย จัตตาโร ธัมมา วัฑฒันติ ธรรมะทั้งสี่ประการคือ อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง ท่านสอนให้เราทำไม่ใช่ให้สาธุเฉย ๆ ธรรมะของพระพุทธเจ้าส่วนใหญ่แล้วท่านสอนให้เราปฏิบัติ แต่เนื่องจากว่าเป็นภาษาบาลี แปลไม่เป็น ฟังไม่ออกเลยแย่ อย่างเช่นท่านบอก สุทธสีลัง สวามาทายะ ธัมมัง สุจริตัง จะเร ให้เป็นผู้รักษาศีลให้บริสุทธิ์ ปฏิบัติแต่ธรรมะที่ถูกต้อง แล้วท่านบอกว่า “ด้วยอานุภาพอันนี้ทำให้เป็นผู้มีอายุขัยยืนยาว” แต่คราวนี้ของเรา ๆ ฟังแต่บาลี ได้ยินแล้วขลังใช่ไหม แล้วก็สาธุ สาธุไปเถอะ ถ้าไม่ทำไม่ได้หรอก แล้วถ้าสาธุด้วยความเคารพจิตใจอ่อนน้อมจริง ๆ ตามไปผลก็มีอยู่ แต่ที่แน่ ๆ คือต้องทำ ยิ่งทำยิ่งได้ผล
      ถาม :  ครั้งหนึ่งกระผมเคยถามคำถามในทำนองทที่ว่า บุคคลในฐานะพ่อท่านหนึ่งมีลูกหลาย ๆ คน ลูกหลายคนมีสติปัญญาไม่เท่ากัน พ่อท่านนี้เคยประสบพบเห็นความเป็นสวรรค์นรกมนุษย์และพระนิพพานอย่างถ่องแท้ จึงนำสิ่งนั้นมาสั่งสอนบรรดาลูกหลานและกล่าวว่าสิ่งที่เราสอนนั้นเป็นสิ่งที่ดีและถูกต้องแล้วลูกทั้งหลายจงปฏิบัติตามคำสอนตามกำลังใจของลูก เขาบอกต่ออีกนิดหนึ่งเมื่อเธอได้เห็นสิ่งที่พอสอนนี้ว่าดีและมีประโยชน์แล้วนั้นการบูชาพ่อนั้นด้วยวัตถุนั้นก็ดี แต่การปฏิบัติตามคำสอนนั้นย่อมดีกว่ามากนัก ถามว่าสิ่งนั้นเป็นส่วนหนึ่งของกำลังใจพระพุทธเจ้าหรือไม่ ? และต่อมาเขามาต่อคำถามอีกว่า บรรดาลูกช้างนั้นย่อมมีความเข้าใจว่าบรรลุเป็นของยากจะเกิดมาได้ต้องอาศัยบุญที่กระทำในพุทธศาสนา การจะมีกินมีใช้เพราะเคยทำบุญกุศลในพระพุทธศาสนาของพระพุทธองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก่อนจึงได้มีกินมีใช้ หรือตายไปแล้วจะไปพบสิ่งใดก็ด้วยอาศัยการปฏิบัติในศาสนาของพระพุทธเจ้าเสมอมา ดังนี้แล้วพระคุณของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นย่อมมีมาก ทั้งหมดนี้สิ่งที่เขาพูดมาให้ผมฟัง ข้อเท็จจริงเป็นประการใด ?
      ตอบ :  มีอยู่อันหนึ่ง ถ้าได้ทำความดีตรงกับสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านสอนต่อให้ไม่ได้ทำในเขตของพระพุทธศาสนากุศลนั้นจะส่งให้ อย่างเช่นให้ท่านเกิดมารวยแน่ ๆ แม้จะไม่ได้ให้ท่านพระภิกษุในพระพุทธศาสนาก็ตาม แต่ถ้าเป็นนอกเขตของพระศาสนาส่วนใหญ่จะเป็นคนที่ไม่มีศีล ผลของทานอานิสงส์จะน้อยกว่า ทำซะตั้งเยอะตั้งแยะอาจจะได้เท่ากับคนที่เขาทำนิดเดียว
              ตัวอย่างอังกุระเทพบุตร ให้ทานนอกพระศาสนาสองหมื่นปี แต่อินทกเทพบุตร ถวายสังฆทานแค่ทัพพีเดียว กลายเป็นว่าอินทกเทพบุตรกลายเป็นเทวดาที่มีอานุภาพที่สุดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ขนาดพระอินทร์มายังไม่ต้องหลบให้ แต่อังกุระเทพบุตรเป็นเทวดาที่มีศักดานุภาพน้อยที่สุด ถึงเวลาประชุมมหาสมาคมพระคุณท่านอยู่สุดขอบจักรวาลพอดี ข้อเท็จจริงมีอยู่แคนี้แหละ นอกนั้นว่าตามเขาได้
      ถาม :  ตามที่พระคุณเจ้าได้กล่าวครั้งหนึ่งความว่า กระผมเป็นคนที่ชอบแคะ แคะในจุดที่พระคุณเจ้ามองข้ามไปหรือจุดที่ไม่เคยมอง และได้ยกตำแหน่งพหูสูตให้กระผม อันนี้ผมขอนอบน้อมยอมรับ เพราะว่าคำว่าพหูสูตผมแปลว่าฟังมามาก แต่ตามความหมายของผมเองนั้นคือฟังมากแต่ไม่รู้ หรือรู้ไม่จริง ผู้รู้จริงคือผู้ที่อธิบายความ
              มีอยู่เรื่องหนี่งที่น่าสนใจคือเลขห้าร้อย พระเดชพระคุณหลวงพ่อได้เคยกล่าวไว้ว่า ถ้าอะไรมากสักนิดหนึ่งก็กล่าวว่าห้าร้อย จริง ๆ ก็เกินกว่านั้น ผมลองนำเลขห้าร้อยคูณยี่สิบประมาณหนึ่งหมื่นหรือมากกว่านั้นตามความหมาย และขอนอบน้อมบูชาถวายต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และต้องกราบของพระคุณเป็นกรณีพิเศษ และการณ์ใดเป็นการณ์ประมาทพลาดพลั้งในคุณพระรัตนตรัย และท่านสมาชิกทั้งหลายขอเมตตาจากท่านได้โปรดอดโทษให้กระผมด้วยเถิด ?
      ตอบ :  สาธุ
      ถาม :  จิตมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาหรือไม่ครับ ?
      ตอบ :  สภาพจิตจริง ๆ ไม่ได้เปลี่ยนแปลง แต่การรับอารมณ์เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา (หัวเราะ) สภาพจิตไม่ได้เปลี่ยนแปลง จิตยังคงเป็นจิตอยู่อย่างนั้น แต่การรับอารมณ์ของจิตเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดวเลาจนกว่าจะมีการปฏิบัติจนเลื่อนชั้นเลื่อนภูมิยกระดับของจิตขึ้นได้ ถึงจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอีกระดับหนึ่ง
      ถาม :  สภาพความไม่เที่ยงจะเกิดอยู่กับทุกสิ่งตลอดเวลาหรือไม่ครับ ?
      ตอบ :  เกิดอยู่ตลอดเวลา ในบางสิ่งเนื่องจากว่ามีความแข็งแรงมากเลยแสดงออกช้า ทำให้คนบางคนคิดว่าเที่ยง แต่จริง ๆ แล้วสลายอยู่ตลอดเวลา
      ถาม :  จิตโดยปกติมีสภาพฟุ้งหรือไม่ครับ ?
      ตอบ :  โดยปกติแล้วจะอยู่ในสภาพเฉย ๆ จนกว่าจะไปปรุงแต่ง ถ้าปรุงแต่งเมื่อไรจะเป็นสุขเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น...ปกติแล้วเราไม่ทุกข์ คิดเมื่อไรทุกข์เมื่อนั้น
      ถาม :  สภาพความเป็นทุกข์จะเกิดขึ้นอยู่กับทุกสิ่งตลอดเวลาหรือไม่ครับ ?
      ตอบ :  เกิดขึ้นอยู่ตอลดเวลา เพียงแต่เราเห็นหรือไม่ ต้นไม้ทุกข์หรือเปล่า ? ทุกข์อยู่ ต้องหากินใช่ไหม เออ...ต้องงอกรากแทงดินลงไปจนกว่าจะถึงน้ำ ต้องชอนไชไปกว่าจะหาธาตุอาหารได้ กว่าจะดึงธาตุอาหารขึ้นไปสู่ลำต้นกว่าจะส่งไปถึงใบ กว่าจะปรุงเป็นอาหารลำบากอยู่ตลอดเวลา โดนหนอนแทะโดนแมงแทะอยู่ตลอดอย่างนี้ เรารู้หรือ ? ไม่ได้สังเกตใช่ไหม ? เขาทุกข์เหมือนกัน สะพานลอยทุกข์ไหมละ ? รับน้ำหนักอยู่ทั้งคนทั้งรถ สิ่งที่ต้องแบกต้องทนปกติก็ทุกข์ เพียงแต่มันไม่มีชีวิต มันแหกปากร้องไม่ได้
      ถาม :  จิตเมื่อออกจากร่างกายที่มีความดับสลาย จิตนั้นมีสภาพสูญหรือไม่ครับ ?
      ตอบ :  ถ้าสูญก็ไม่ออกน่ะสิ สภาพจิตไม่สูญ เพียงแต่เปลี่ยนแปลงภพภูมิเปลี่ยนแปลงขันธ์ไปตามบุญบาปที่ตัวเองทำมา ถ้าสร้างบุญเอาไว้ดี เกาะบุญกติดก็ไปได้ขันธ์ที่ดี ๆ เป็นเทวดาเป็นพรหมไปพระนิพพาน ถ้าเกาะบุญไม่ติดพลาดไป กลายเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน เกิดเป็นคนก็เป็นคนยากคนจนคนลำบาก
      ถาม :  ตัวพิจารณาหรือตัวที่ใช้ดูอารมณ์ คือจิตที่แจริงของเราหรือไม่ครับ ?
      ตอบ :  ต้องบอกว่าเป็นส่วนหนึ่งของจิต คืออาการรับรู้เขาเรียกว่าตัวปัญญา สภาพจิตจริง ๆ ถ้าผ่องใส ตัวอาการรับรู้หรือปัญญาจะแจ่มใสมากเลยกำลังจะสูง พิจารณาอะไรรู้แจ้งแทงตลอด ตั้งใจจะตัดอะไรก็ขาดง่าย
      ถาม :  ตัวพิจารณาที่เห็นสภาพความเป็นทุกข์ เมื่อรู้แล้วทุกอย่างเป็นทุกข์เราควรทำอย่างไรกับจิตของเรา ?
      ตอบ :  ตอนนั้นสภาพจิตถ้าเห็นขนาดนั้นแล้วยอมรับ จะเข้าถึงธรรมตามระดับของตนเลย แต่ถ้าจิตยังไม่ยอมรับ เป็นการเข้าถึงเฉย ๆ เรียกว่ามรรค มรรคเป็นการเข้าถึงเท่านั้น แต่ถ้ายอมรับเมื่อไรกลายเป็นผล จะเป็นความสำเร็จเป็นสิ่งที่เราสามารถที่จะใช้งานได้เลยหรือเป็นของเราเลย
      ถาม :  ร่างกายไม่ไหว ตัวพิจารณาที่เห็นสภาพธรรมที่แตกสลายไปในที่สุด เมื่อรู้ว่าสิ่งนั้นย่อมแตกสลายที่สุดเราควรทำอย่างไรกับจิตของเราครับ ?
      ตอบ :  เหมือนกัน กำหนดรู้แล้วยอมรับ ตัวยอมรับสภาพความเป็นจริงนี่แหละคือตัวปัญญาที่แท้จริง เมื่อจิตยอมรับสภาพธรรมดาของมันเป็นอย่างนั้น การดิ้นรนก็น้อย ในเมื่อการดิ้นรนน้อย ทุกข์ก็น้อยไปด้วย ถ้ายอมรับถึงที่สุด ปล่อยวางได้เลยทุกข์ก็หมด
      ถาม :  เมื่อจิตคนโดยปกติมีสภาพเปลี่ยนแปลง ผู้ที่เข้าถึงธรรมคือพระอรหันต์ จิตของท่านมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาหรือไม่ครับ ?
      ตอบ :  การรับรู้ยังคงรับอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่การปรุงแต่งของท่านไม่มี ดังนั้นกล่าวได้ว่าสภาพจิตของท่านไม่มีการเปลี่ยนแปลง เพราะผ่องใสถึงที่สุดแล้ว บางทีรับรู้เข้าไปมสามารถจะสร้างความเศร้าหมองให้กับจิตของท่านได้