ถาม: ตอนที่บวชนี่หลวงพี่กรรมฐานได้ไหมครับ ?
ตอบ : ตอนบวชหรือ เครียดเป็นบ้าเลยว่ะ
ถาม : ก่อนบวช ก่อนจะบวชไม่กี่วัน ?
ตอบ : ก่อนบวชดีกว่าตอนบวชเยอะเลย ฟังให้ดี ๆ นะ คือเรื่องฌานสมาบัตินี่จะคล่องปรื๋อเลย พอบวชเข้าไปแล้วเครียดหล่นหายไปพักใหญ่ ขยับตัวก็กลัวศีลขาด หายไปพักใหญ่เลย จนกระทั่งสามารถปรับตัวเองได้ว่า เออ...เราระวังใจอย่างเดียวเจตนาไม่มี ถึงผิดขึ้นมาถ้าเป็นอาบัติเล็กน้อย เราก็ไปปลงซะแสดงซะ แต่อาบัติใหญ่นี่อย่างเช่นว่า ปาราชิก ๔ สังฆาทิเสส ๑๓ รวม ๑๗ ข้อนี่อย่างไรเราก็ต้องไม่ให้โดนเด็ดขาด คราวนี้พอเริ่มปรับตัวเองได้ขึ้นมา ก็มีความสบายตัวภาวนาก็ดีคืนมา ไม่อย่างนั้นใหม่ ๆ นี่โอ้โฮ...เครียดอย่าบอกใครเลย เพราะเกร็งกลัวผิด
ถาม : ใช้เวลานานไหมครับ ?
ตอบ : ถ้ารวม ๆ ระยะเวลากว่าจะอยู่ในจุดสบายได้ ๓ พรรษาพอดีเลย แต่ถ้าประเภทที่เรียกว่าต้องระวังจนตัวเกร็งเลยก็แค่ระยะแรก ๆ เท่านั้น เปิดทวนนวโกวาททุกวัน นวโกวาทของผมนี่มีสารพัดสีเลย ประเภทสามดาวแดงโร่นี้ผิดไม่ได้เด็ดขาดอย่างนี้ สองดาวแดงนี่โอกาสพลาดง่ายระวังเอาไว้ให้ดี ระวังเอาไว้ให้มาก ดาวเดียวแดง ๆ นี่พลาดแล้วชาวบ้านเขาติเตียนเยอะมาก ถึงจะเป็นอาบัติแสดงคืนได้ก็ตามระวังเอาไว้อย่าให้ผิด ถ้าวงน้ำเงิน ๆ โอกาสพลาดไม่มี กำไรเก็บใส่กระเป๋าไว้ได้อะไรอย่างนี้ มีสารพัดสีเลย แล้วก็เปิดดูอยู่ทุกวัน
เพราะฉะนั้น...จะมีประเภทวง ๆ สีน้ำเงินอยู่ห้าหกสิบข้อเกี่ยวกับโอวาทวรรค คือการให้โอวาทภิกษุณี เกี่ยวกับพวกโกสิยวรรค ปัตตวรรค พวกจีวรวรรค เกี่ยวกับการทำบาตรทำจีวรทำสันถัตการปูนั่งปูนอนอะไรของพระนี่ สมัยนี้ไม่ได้ทำแล้วนี่ อาศัยโยมถวายทั้งนั้น โอกาสจะผิดไม่มีอยู่แล้วนางภิกษุณีก็ไม่มี เราก็เก็บเอาไว้เป็นกำไรเลย
ถาม : อย่างผิดศีล ?
ตอบ : อันนั้นก็ตัวใครตัวมัน วิธีศึกษาแล้ว เสร็จแล้วก็รักษาตัวเองเพื่อให้อยู่ในผ้าเหลืองได้อย่างเป็นพระที่เรียกว่าให้ชาวบานเขาไหว้ได้ไม่ต้องอาย ถ้ายากก็มีเคล็ดของใครของมัน ตอนแรกไม่กล้าบวชหรอก ผัดผ่อนมาตั้งแต่อายุยังไม่ครบ ๒๐ เพราะดันไปเห็นนรกซะแล้วนี่ ในเมื่ออายุไม่ทันครบ ๒๐ เห็นนรก พออายุครบ ๒๐ แม่จะให้บวชพระแล้วสิ คราวนี้ไม่ต้องบวชเณรแล้วก็ไม่เอาดิ้นหนีไปเรื่อย ไปบวชเอา ๒๘ ถ้วน ๆ ๒๗ จะขึ้น ๒๘ บวช ที่บวชเพราะว่าอันดับแรกหลวงพ่อท่านขอว่าบวชให้ท่านได้ไหม ? เพราะท่านต้องการพระบวชแก้บน อันดับที่สองคือกูก็อยู่มาจนแก่ป่านนี้แล้ว ก็น่าจะบวชได้ซักที อันดับที่สามคือว่าสมัยก่อนศีล ๒๒๗ พร้อมกับอภิสมาจารคนเขายังเป็นพระอรหันต์กันเยอะแยะ สมัยนี้เราได้กำไรตั้งเยอะขนาดนี้แล้ว ถ้าทำไปแล้วไม่ได้ดีก็ให้ลงนรกไปเลย
ตอนแรกตั้งใจไว้เหมือนกัน ตั้งใจไว้แบบคุณน่ะ เอาให้ดีเลยค่อยบวช ไม่ดีซักที ยิ่งอารมณ์พระอริยเจ้านี่ประเภทแตะเข้าไปเด้งกลับเลย จะฝืนจะต้าน จะให้พลาด จะให้ผิดอยู่ตลอดเวล พวกสิ่งที่อยากได้ระหว่างที่เป็นฆราวาสระหว่างที่ปฏิบัติแล้วไม่ได้มีหลายอย่าง แล้วไหลมาเทมาตอนที่เราเป็นพระก็แปลกใจ คราวนี้มีโอกาสอยู่ปรนนิบัติรับใช้หลวงปู่มหาอำพันใกล้ชิด ก็สอบถามท่านว่า หลวงปู่ครับ ทำไมเป็นอย่างนี้ สมัยเป็นฆราวาสผมทุ่มทำเอาเป็นเอาตายเลยนะ หนักกว่าตอนเป็นพระหลายเท่าไม่ได้ ตอนเป็นพระผมทำไม่หนักขนาดนั้น ทำไมได้ง่าย ๆ ครับ ? หลวงปู่ท่านบอกว่า ทุนพอแล้ว ถ้าทุนพอเราต้องการซื้ออะไรก็ซื้อได้ง่าย ๆ การบวชพระนี่เขาถือเป็นบุญใหญ่มาก ก่อนหน้านั้นบุญเรายังไม่พอ สิ่งที่เราปรารถนาก็เลยเข้าไม่ถึง เงินไม่พอซือ้ของไม่ได้ แต่ตอนนี้เธอบวชเข้ามากุศลใหญ่ส่งผลอยู่แล้วยิ่งเราทำบุญอยู่ตลอดทำบุญขณะที่ยังเป็นพระ คือกุศลคูณด้วยแสนอย่างนี้ เท่ากับว่าต้นทุนพอแล้ว เลยได้ง่าย ๆ แต่ขณะเดียกวันถ้าพลาดก็แย่เหมือนกัน เพราะพระทำผิดเขาก็คูณด้วยแสนเหมือนกัน ถ้าเป็นฆราวาสสมมติว่าฆ่าปลาวันละตัว วันตัวทุกวัน ตีซะอายุ ๑๐๐ ปีฆ่าไปซะเท่าไรล่ะ ๓๖,๕๐๐ ตัว ลงอเวจีมหานรกเพราทำอาจิณกรรม แต่เป็นพระทุบเปรี้ยงตัวเดียวเรียบร้อยเลยลงเลย เป็นอย่างไร บุญเยอะก็จริง บาปก็เยอะด้วย เพราะฉะนั้น...ต้องระวังตัวเองให้ดี แต่คราวนี้สิ่งที่เคยหวังไว้ว่าเออ...เราจะทำให้ดีไปเลยนะ ถ้าได้เป็นพระอนาคามียิ่งดีใช่ไหม จะได้หมดเรื่องราคะที่จะมากวนใจ เห็นสาวสวย ๆ จะได้ไม่วอกแวกอะไรอย่างนี่ ตั้งความหวังเอาไว้สูงขนาดนั้น ทำแล้วไปไม่ถึงซักที บางวันก็ไม่โกรธเขาหัวฟัดหัวเหวี่ยงก็เห็นใครก็รักไปหมดชอบไปหมด
ถาม : ไม่ได้บรรลุแต่ว่าทรงอารมณ์ได้ ?
ตอบ : ถ้าเป็นอารมณ์พระอริยเจ้าจริง ๆ หลวงปู่ขนมจีนท่านสงเคราะห์ให้ ๓ เดือน ๙๐ วันเต็ม ๆ คิดว่าตัวเองเป็นพระอรหันต์ คราวนี้ติดใจน่ะสิ ของเคยกินอย่างไร ๆ กูก็ต้องหามากินให้ได้ เลยตะเกียกตะกายอยู่มาจนทุกวันนี้ ถ้าไม่มีตัวนี้มาล่ออยู่คงสึกไปนานแล้ว
ถาม : อ๋อ...เคยได้มา ?
ตอบ : ถามท่านว่า อารมณ์พระอริยเจ้าเป็นอย่างไร ถาผมเข้าถึงผมจะได้รู้ว่าผมเป็นแล้ว ท่านถามว่า จะเอานานไหมล่ะ ? บอกว่า ถ้าหลวงปู่สงเคราะห์ได้นี่เอา ๓ เดือนเลยครับ ผมจะได้บวชเอาพรรษา ท่านบอก เอาอย่างนั้นก็ได้ แล้วท่านก็ให้เลยตั้งแต่วินาทีนั้น เรานึกว่าเป็นพระอรหันต์ไปลย จะหลับจะตื่นจะยืนจะนั่งมีสติรู้เท่าทันไปหมด ปัญญาเห็นต้นเหตุของการเกิดรักโลภโกรธหลงทั้งหมด แล้วตัดตั้งแต่เหตุนั้นเลย
ถาม : ถ้าตายตอนนั้นนี่สบายเลย ?
ตอบ : ใช่ แต่ไม่ตายนะซิ พอวันที่ ๙๑ ก็ร่วงปั๊กลงมาเป็นหมาตามเดิม ยังดียังเป็นแค่หมา ไม่ถึงสัตว์นรกกลายเป็นว่าไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้ว อย่างไรก็เอาให้ได้ แล้วก็ปล้ำกันต่อไปเรื่อย
ถาม : ถ้าเกิดพอเรารู้ตัวว่าจะตายโรคภัยไข้เจ็บ อธิษฐานขอองค์พระอย่างนี้น่าจะดี ?
ตอบ : ไม่ทราบเหมือนกัน ว่าท่านจะสงเคาะห์ให้ไหม เพราะว่าขอของพรรค์นี้ใครทำใครได้ แต่คราวนี้เจตนาของเราดีคือต้องการศึกษา เมื่อถึงเวลาเราทำถึงจะได้มั่นใจตัวเอง อาจจะเป็นเพราะว่าดันไปขอได้น่ะ ขอเป็นขอถูกอะไรอย่างนั้นน่ะ ถ้าคนขอไม่เป็นขอไม่ถูกท่านก็คงไม่ให้หรอก แบบเดียวกับขอถ่ายรูปพระองค์ที่ ๑๐ ใคร ๆ ไปขอท่านก็ไม่ให้ พอเราไปขอท่าน ถามว่า ถ่ายไปทำอะไร ? บอก เก็บไว้เป็นอนุสติครับ เออ....ถ่ายได้ ตอบถูก
ถาม : มีคนเยอะไหมครับที่พยายามจะปฏิบัติเพื่อให้ได้ระดับพระอนาคามี ?
ตอบ : ส่วนใหญ่มีความหวังลึก ๆ อยู่กันทังนั้น แต่คราวนี้จะได้อย่างหวังไหม นั่นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ตัวอาตมานี่ยอมสารภพาว่าปล้ำเป็นปล้ำตายมาคิดจะเอาถึงขนาดนั้นจริง ๆ แล้วค่อยบวช ปรากฏว่าตอนบวชนั่นเละกว่าหมาอีก เสร็จแล้วพอเจอหลวงปู่เข้า เออ...อารมณ์พระจริง ๆ เป็นอย่างนี้
ถาม : ..........................
ตอบ : คือรักษาให้อยู่ให้ได้ ความเป็นพระโสดาบันมีอย่างไรเราก็รักษาไป ระมัดระวังเอาไว้ทุกอิริยาบถทุกลมหายใจ อย่าให้หลุดไปได้ ความเคารพในพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ของเราให้แน่นแฟ้นด้วยกายด้วยวาจาด้วยใจ ไม่ว่าจะขยับไปทางไหนก็อยู่ในวงล้อมของพระรัตนตรัย กราบก็กราบพระด้วยกายด้วยวาจาด้วยใจ ไม่สักแต่ว่าแปะ ๆ ให้ครบ ๓ ที พอถึงเวลาก็ระวังรักษาศีลของเราตามสภาพ ถ้ารักษาศีล ๕ ก็ให้ครบ ๕ ถ้ารักษาศีล ๘ ก็ให้ครบ ๘ ศีล ๒๒๗ ให้ครบ ๒๒๗ เสร็จแล้วลืมไม่ได้เลยคือต้องรู้ตัวอยู่เสมอว่าจะตาย ตายแล้วไปนิพพานคือประคับประคองกติกาเหล่านี้ให้อยู่กับเราให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่ต้องกังวลแทนองค์อื่นเขาว่ากันไปหมดแล้ว
ถาม : การที่คน ๆ หนึ่งจะสามารถเป็นพระอริยเจ้าได้ไหมคะ ?
ตอบ : พูดง่าย ๆ ว่าสติ สมาธิ ปัญญาสมบูณ์พร้อมสามารถที่จะเป็นได้ คราวนี้ก็เกิดการสร้างสามไปเรื่อย ๆ พอถึงวาระพร้อมเมื่อไรก็ไปได้เลย
ถาม : ถ้าสมมติไปไม่ได้ ถ้าเราทำบุญเป็นเจ้าภาพบวชพระร่วมกับเขา ?
ตอบ : ได้มากกว่าตัวเองบวชเองซะอีก อย่าลืมว่าการบวชพระด้วยตัวเอง ถ้ามีโอกาสเกิดเป็นเทวดาอานิสงส์คือจะเป็นเทวดาอยู่ได้ ๖๐ กัป ผู้ที่เป็นพ่อแม่ได้ ๓๐ กัป ผู้ที่เป็นเจ้าภาพได้ ๑๕ กัป ผู้ที่มาช่วยงานได้ ๘ กัป เราก็ขอเป็นเจ้าภาพร่วมกับเขาซิ ว่าซะ ๔ องค์ก็เท่ากับบวชเองแล้ว ว่าซะ ๕ องค์ก็กำไรไปแล้วอย่างนี้ อาตมาปี ๆ บวชเท่าไรยังไม่รู้เลย ก่อนหน้านี้อยู่วัดท่าซุงจดเอาไว้เรื่อย ถวายสังฆทานไปกี่ชุด บวชพระไปกี่องค์อย่างนี่ จะจดเอาไว้หมด คราวนี้งานเยอะไม่มีเวลาจด ทำไปเรื่อยเปื่อยไม่ได้ทำสถิติแล้ว
ถาม : การที่เราให้ทานไปเรื่อย ๆ ?
ตอบ : อันนั้นสูงกว่าปีตินะ ปีติเป็นอารมณ์ใกล้ฌาน ตอนนั้นเราทำแล้ว แหม...รู้สึกสดชื่นอิ่มเอิบไม่เบื่อไม่หน่าย อยากทำไปเรื่อย แต่พอทำไป ๆ กลายเป็นความเคยชิน ความเคยชินนี่เป็นฌาน คำว่าชินคือฌาน ในเมื่อเคยชินจนเป็นฌานจริง ๆ อารมณ์สูงกว่าปีติเอยะเลย แต่คนเราพออ้าว..พอทำไปทำมาตายด้านไปเฉย ๆ ไม่เหมือนก่อนนี่ แล้วก็ไปนั่งสงสัยตัวเอง ความจริงคุณก้าวข้ามขึ้นไปยันโน่นแล้ว ไม่ต้องถอยกลับมาหรอกไปเลย ตอนนี้รู้ว่าดีก็ทำ รู้ว่าชั่วก็ละ อยากจะถอยกลับไปเรียนป.๑ ใหม่ใช่ไหม มีอะไรให้รู้เยอะดี (หัวเราะ) จะจบปริญญาอยู่รอมร่อแล้ว
ถาม : การที่จิตเราตกจากฌาน แสดงว่าจิตเคยได้ไปถึงฌาน ?
ตอบ : ไม่ใช่ คำว่าตกจากฌาน ๆ หมายความเกาะฌานได้ แต่จิตหยาบพลัดลงมา ถือว่าเป็นส่วนของปฐมฌานหยาบได้ ที่หวิวตกจากที่สูงนั่นใช่เลย นั่นแหละคือเริ่มเป็นปฐมฌาน แต่เป็นปฐมฌานหยาบ ปฐมฌานมีหยาบ มีกลาง มีละเอียด คราวนี้พอเข้าถึงจุดนั้นสภาพจิตของเราไม่ละเอียดพอ เลยเกาะไม่ติด เกาะไม่ติดเผลอ ๆ ก็พลัดวูบลงมา เราก็พยายามใหม่บ่อย ๆ เดี๋ยวพอละเอียดขึ้นเดี๋ยวเกาะติดของมันเอง
ถาม : (ฟังไม่ชัด)
ตอบ : ใช้มโนได้ แต่คุณใช้มโนควบกับการภาวนา คือใช้กำลังของฌาน กำหนดใจจดจ่อเฉพาะพระพักตร์ของอค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าบนพระนิพพานที่เดียว แล้วเราอยากภาวนาอะไรก็ภาวนาไป กำหนดภาพนั้นให้ชัดเจน ตั้งใจไว้ว่าตายเมื่อไรเราของอยู่ที่นี่ที่เดียว อารมณ์ตรงนั้นอารมณ์ถึงที่สุดแล้ว เพียงแต่ทำอย่างไรเราจะรักษาอารมณ์ให้อยู่ตรงนั้นให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ สำคัญตรงจุดนั้น อารมณ์ใจที่อยู่บนพระนิพพานเป็นอารมณ์ที่ตัดรักโลภโกรธหลงอัตโนมัติ ถ้าเราสามารถอยู่ได้นานเท่าไร รักโลภโกรธหลงจะเบาเท่านั้น ถึงเวลาพอถอนกำลังใจลงมา พยายามประคับประคองสติและสมาธิให้รักษาอารมณ์นั้นให้อยู่กับเราให้นานที่สุด มีโอกาสเมื่อไรโดดขึ้นไปใหม่ เพื่อที่จะให้อยู่ให้เคยชินให้ได้ ถ้าเคยชินยอมรับเมื่อไรก็ไปได้ง่าย ๆ เลย ถึงเวลาก็ไม่เกิน ๗ วัน แต่ส่วนใหญ่หลวงพ่อท่านบอกว่าถ้ากลางวันก็ไม่ได้เห็นพระอาทิตย์ตก ถ้ากลางคืนก็ไม่ได้เห็นพระอาทิตย์ขึ้น ตายซะก่อน ดีเกินกว่าที่จะอยู่
ถาม : เขาบอกว่าภาวนาจนภาพพระเป็นแก้วประกายพรึกแล้ว เขาทรงฌานสี่ได้แล้วหรือยัง ?
ตอบ : ถ้าเป็นประกายพรึกจริง ๆ นะ ไม่ใชว่าเข้าใจผิดนะ ถือว่าเป็นฌานสี่แล้ว คราวนี้สำคัญตรงที่ว่าเขาใช้ผลของฌานสี่นั้นเป็นไหม
ถาม : เขาบอกว่าเขาเลยคลายกำลังใจลงมา แล้วก็ไปจิ้มน้ำให้แข็ง มันไม่แข็ง ?
ตอบ : ไม่แข็งหรอก ใช้ผิดแล้ว น้ำจะแข็งไม่แข็งเป็นกำลังของปฐวีกสิณ ไม่ใช่จับภาพพระ และขณะเดียวกันการที่จะใช้ให้คล่องจริง ๆ ต้องอธิษฐานขยายให้ใหญ่ให้เล็กได้ ให้มาได้ ให้ไปได้ ให้ไปซ้ายไปขวา ไปทิศไหนก็ได หายไปเลยก็ได้กลับมาใหม่เมื่อไรก็ได้ ต้องให้คล่องระดับนั้น เสร็จแล้วคุณกลับไปจับกสิณดินจะง่ายมาก ไม่เกินอาทิตย์หนึ่ง นี่พูดแบบโง่ ๆ เลยนะ
ถาม : คำว่าไม่สนใจจริยาผู้อื่น หมายความว่าไม่รู้เรื่องเขาเลย ?
ตอบ : อย่างที่อาตมาตอบเขานั้นแหละ คือไม่ได้คิดจะไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องของเขาเลย ดูแต่เรื่องของเรา ดูที่ตัวเราแก้ที่ตัวเราถึงจะก้าวหน้า ดูเรื่องของเขาเมื่อไรมีแต่รักหรือโกรธเท่านั้นเอง ทำถูกทำดีพอใจก็เกิดรักขึ้นมา ทำไม่ถูกทำไม่ดีไม่พอใจก็เกิดโกรธขึ้นมา เพราะฉะนั้น...ดูที่ตัวเองแก้ที่ตัวเองได้ประโยชน์มากที่สุด ท่านถึงได้บอกว่า อัตตนา โจทยัตตานัง กล่าวโทษตัวเองไว้เสมอ ๆ นิสัมมะ กะระณัง เสยโย เตือนตัวเองเสียกว่อนแล้วค่อยทำ เสร็จแล้วท่านบอกว่าอย่าสนใจจริยาคนอื่น ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด
ถาม : (ฟังไม่ชัด)
ตอบ : ประคองอารมณ์ของเราให้อยู่ในฌานอย่างน้อยปฐมฌาน ถ้าอารมณ์เราอยู่ในฌานตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไป รัก โลภ โกรธ หลงจะโดนกดดับชั่วคราว จะเป็นตัวอุเบกขาของฌาน อารมณ์จะเป็นกลาง ๆ ไม่ยุ่งทั้งเรื่องสุข ไม่ยุ่งทั้งเรื่องทุกข์ ไม่ยุ่งทั้งเรื่องรัก ไม่ยุ่งทั้งเรื่องโกรธ พยายามประคองอารมณ์ไว้ ถ้าเป็นปฐมฌานสติจะเริ่มสมบูรณ์ ขยับตัวก็รู้แล้วว่าศีลจะขาดไหม รู้ว่าทำอะไรควร จะมีความพอดีแค่ไหนจะเริ่มรู้มากขึ้น
ถาม : (ฟังไม่ชัด)
ตอบ : นึกว่ายานัตถุ์ ใจหายหมดเลย นึกว่ามีใครอวยพรให้แล้ว เรื่องยานัตถุ์หนีมาสุดชีวิตเลย เพราะช่วงไปอยู่เกาะพระฤๅษีใหม่ ๆ มีอยู่วันหนึ่งนั่งรถทัวร์ ได้ยินหลวงพ่อเป่ายานัตถุ์ปรืดอยู่ข้างหูแล้วกลิ่นมา โอ้โฮ...อยากน้ำลายยืดเลย ตกใจรีบกำหนดใจบอก หลวงพ่อครับ หมากก็ไม่เอา ยานัตถุ์ก็ไม่เอา แว่นตาก็ไม่เอานะครับ ท่านถามว่า แล้วไม้เท้าจะเอาไหม ? ตอนนั้นตอบเอาไม่เอาลงกบาลแน่ ๆ เลยหุบปากเงียบ พยายามเลี่ยงมาเรื่อย ๆ บางครั้งรู้สึกอยากขึ้นมาก็ทำเฉย ๆ คราวนี้ประมาณแปดเก้าเดือนที่แล้ว สายตาไม่ไหวแล้ว ดูหนังสือสุดแขนแล้ว ก็ไปตัดแว่น พอวันแรกที่ได้แว่นมาแล้วใส่เข้าไป หลวงพ่อท่านหัวเราะ ท่านบอกว่า คราวนี้แกรู้แล้วใช่ไหม ข้าอยากได้นัก ร่างกายไม่ไหวก็ต้องบรรเทาให้มัน คราวนี้ท่านไม่ได่อยากได้หรอก ท่านเล่าให้ฟังสมัยยังไม่มรณภาพ ท่านบอกว่า ก่อนหน้านี้ข้าขี้สงฃสัยกว่าแกอีก ข้าสงสัยไปถามหลวงปู่ปาน หลวงพ่อครับ หลวงพ่อเป่ายานัตถุ์ทำไมครับ ? หลวงปู่ปานก็มองหน้า เออ..แล้วข้าจะให้แก พอหลวงพ่อปู่ปานเคี้ยวหมาก หลวงพ่อครับ หลวงพ่อเคี้ยวหมากทำไมครับ ? อือ...เดี๋ยวข้าจะให้แก หลวงพ่อท่านบอก พอหลวงปู่ปานมรณภาพครบเจ็ดวันเท่านั้น อยากแทบตายต้องรีบวิ่งหามา ของเราเองไม่ได้อยากได้ แต่ตอนนี้แว่นจำเป็นต้องใช้ เพราะดูหนังสือสุดแขนแล้ว ดูซะรำคาญ แปดเก้าเดือนผ่านไปอ่านหนังสือไปกี่ร้อยเล่มไม่รู้ รู้แต่วันหนึ่งอ่านประมาณสี่ห้าเล่มมันมากเลย เพราะได้แว่นมาใหม่ ไม่ต้องไปอ่านแบบรำคาญแล้ว ปรากฏว่าอ่านไปอ่านมาเอ๊ะ...ทำไมเบลอ ๆ มองไม่ค่อยชัด ไปวัดสายตาใหม่ อีกห้าสิ่บจากร้อยห้าสิบกลายเป็นสองร้อยเรียบร้อยไป ต้องเปลี่ยนเลนส์ใหม่ ใช้สายตามากเกินไป คือพออ่านถนัดแล้วมีความสุขมากก็ลุยกระจายเลย ก่อนนอนได้ประมาณเล่มหนึ่ง เล่มครึ่งก่อนออกบิณฑบาต ได้ไปเล่มหรือเล่มครึ่งในระหว่างว่างงาน ว่าไปอีกประมาณเล่มหนึ่งหรือเล่มครึ่ง วัน ๆ หนึ่งอ่านประมาณสี่เล่มห้าเล่ม
ถาม : (ฟังไม่ชัด)
ตอบ : ระบบ metabolism ของร่างกายเรารู้แค่ระยะเวลาในการกินแค่สองสามวันติด ๆ กัน จะรู้ว่าช่วงนั้นไม่มีให้แล้วก็เลิกสร้างน้ำย่อยออกมา เมื่อเลิกสร้างน้ำย่อยออกมาไม่มีตัวกระตุ้นความรู้สึกหิวก็น้อยลง แต่ในขณะเดียวกันถ้าร่างกายไม่ไหว มื้อแรก ๆ จะกินหนักไปเอง ถ้ารู้ว่าสารอาหารไม่พอจะกินหนักไปเอง เพราะฉะนั้น...ถึงคุณจะเหลือสองมื้อหรือเหลือมื้อเดียว หลวงพ่อท่านเคยบอก เมื่อตอนสมัยก่อนข้าเคยฉันมื้อเดียวไม่เคยได้ฉันเลย มีแต่แดก...! ท่านบอกว่า บาตรเบอร์เก้า บาตรเบอร์สิบ บางครั้งครึ่งค่อนบาตรฟาดหมด ว่าไปเรื่อยเอาจนคุ้ม ถ้าสองมื้อก็ลดลงไปหน่อยหนึ่ง ต้องท่านกอล์ฟ มีอยู่วันหนึ่งท่านกอล์ฟฟังเทปหลวงพ่อ เออ...ถ้าผู้ที่ทรงฌานได้จิตกับประสาทร่างกายแยกออกจากกัน ไม่ค่อยรับรู้อาการทางร่างกาย แม้กระทั่งความหิวก็ไม่ค่อยจะนึกถึง เพราะจิตทรงฌานอยู่มีความสุขใช่ไหม แต่ถ้าใครทำไม่ถึงก็ยังต้องกินตามปกตินะลูกเพราะหิว พระคุณท่านรีบไปคว้ามาม่าเพิ่มเป็นสองซอง หิวก็เลยต้องกิน...!
ถาม : (ฟังไม่ชัด)
ตอบ : พวกน้ำปานะมีพวกนม พวกน้ำหวาน พวกอะไรก็ว่าไปสิ แต่ถ้าอย่างหลวงพ่อนี่ตอนเป็นพระถ้าหิวขึ้นมาน้ำร้อนแก้วหนึ่งใส่น้ำตาลไปหนึ่งช้อนชา ช้อนชานะ ช้อนเล็ก ๆ ช้อนชาช้อนกาแฟคนให้เข้ากันดื่มลงไป น้ำร้อนไปขยายกระเพาะไปขยายลำไส้ พอไม่หดตัวความหิวไม่มี น้ำตาลลงไปได้สารอาหารหน่อยท้องเลิกร้อง ท่านฉันแค่นั้นจริง ๆ ของเราพอทำไปทำมาปกติเลยเคยชินกับน้ำเปล่ามากกว่า จนกระทั่งทุกวันนี้เอาน้ำเปล่ามาให้จะดีใจมากเลย เอาของอื่นมาให้ไม่รู้สึกรู้สาไม่ได้นึกอยากกิน
ถาม : การอยากกินผิดไหมคะ ?
ตอบ : เป็นเรื่องของร่างกายเหมือนกันบางครั้งร่างกายขาดสารอาหารบางอย่าง ตัวนี้เห็นชัด ๆ จากหลวงพ่อเลย มีอยู่วันหนึ่งของเราฉันเร็วนี่เลิกเร็วก็ขึ้นมารับเวรที่หน้าตึก ช่วงนั้นประมาณสิบเอ็ดโมงครึ่งเท่านั้น หลวงพ่อท่านเพิ่งจะเริ่มฉัน พอโผล่ขึ้นไปถึงเสียงท่านก็บอก เฮ้ย...เล็กโว้ยไปขอน้ำปลากพริกครูนันทาให้ถ้วยสิวะ อยากกิน เราวิ่งแจ้นไปหาครูนันทา ครูทำน้ำปลาพริกให้ถ้วยหนึ่ง หลวงพ่ออยากกิน ครูนันทาก็เจ้าค่ะ ๆ คราวนี้ครูนันทารับปากเสร็จเราก็กลับมา ห่างจากครัวแค่หน่อยเดียว พอเดินขึ้นมาถึง เฮ้ย...ได้หรือยัง น้ำลายยืดแล้วโว้ย เราก็เอ๊ะ...หลวงพ่อมาถึงขนาดนี้แล้วยังอยากอีกหรือ อันนี้แค่คิดในใจ ท่านก็บอก ประสาทร่างกายบังคับข้าเองไม่ได้อยากกิน คราวนี้ร่างกายท่านอาจจะขาดทั้งวิตามินซี ขาดของเค็มเยอะ ท่านบอกน้ำลายเหนียวเลย
ถาม : (ฟังไม่ชัด)
ตอบ : นั่นรับจนชินแล้ว ถ้าน้อยไปรู้สึกผิดปกติ ถ้าเราไม่ให้สักสองสามวัน ร่างกายก็ปรับได้ แต่ส่วนใหญ่เขาทนไม่ได้ตอนร่างกายปรับ แต่ของหลวงพ่อเองบางวันไม่ได้ฉันอะไรเลย ที่ไม่ได้ฉันอะไรเลยคือป่วยจนกระทั่งฉันอะไรไม่ได้ กระเพาะลำไส้อักเสบหมด ฉันเข้าไปก็เจ็บปวดสาหัสเลยไม่ฉัน พอไม่ได้ฉันนาน ๆ ร่างกายขาดเยอะ คราวนี้พวกเปรี้ยวพากเค็ม แหม...อยากได้ขึ้นมาอย่างนี้น้ำลายยืดเลย
ถ้าอ่านในธรรมบทจะมีอย่างเช่นว่า ฤๅษี ๕๐๐ ตนจำพรรษาอยู่ในป่าหิมพานต์ ออกพรรษาแล้วอยากเปรี้ยวอยากเค็มขึ้นมา จึงพากันมาสู่โลกมนุษย์ แหม...ใช้คำว่าโลกมนุษย์ เล่นเอาเราตกใจ ความจริงคือเอาเราออกมาในเมืองไปสู่ตระกูลที่คุ้นเคยแห่งตน คราวนี้ฤๅษี ๕๐๐ นั้นท่านคุ้ยเคยกับตระกูลของอนาถปิณฑิกเศรษฐี ก็ว่าเออ...จะไปขอบิณฑบาตอาหารที่นั่น เศรษฐีคงจะจัดอาหารที่ไม่ใช่ ผลไม้ให้บ้าง กินเสียปากคอจืดไปหมดแล้ว ปรากฏว่าพอผ่านตรงสี่แยกใหญ่กลางทางที่จะตรงไปสาวัตถี ก็ไปเจอต้นไม้ใหญ่ร่มรื่นอยู่ก็นั่งพักกัน เดินมาไกลก้เหนื่อย หัวหน้าฤๅษีก็เออ...ต้นไม้ใหญ่ขนาดนี้น่าจะมีรุกขเทวดา เราเดินทางมาไกลเหนื่อยอ่อนเต็มทีรุกขเทวดาที่อาศัยที่นี่ท่านมีความเมตตาน่าจะทำให้เรามีน้ำดื่มเสียหน่อย เทวดาก็ใจดี อยากได้น้ำดื่มก็บันดาลให้ พอได้น้ำดื่ม ๆ กันหมดความกระหายดีแล้วอยากต่อ ความอยากไม่รู้จักสิ้นสุด ในเมื่อท่านบันดาลน้ำดื่มให้ก็น่าจะทำให้เรามีน้ำอาบด้วย รุกขเทวดาเห็นอยากได้ก็ให้ ก็เกิดสระโบกขรณีขึ้นมาให้อาบน้ำกัน ร่างกายสะอาดเอี่ยมเรีบร้อยดีแล้วก็เออ...กว่าเราจะเดินทางไปถึงเรือนของอนาถปิณฑิกเศรษฐีก็อีกยาวไกล ถ้ารุกขเทวดาสงเคราะห์ได้น่าจะมีอาหารให้เรา รุกขเทวดาก็บันดาลให้ต้นไม้นั่นน่ะจะเป็นต้นอะไรก็แล้วแต่มีผลไม้ที่กินได้ขึ้นมาพรึบเลย กินกันเสร็จเรียบร้อย สงสัยอีก รุกขเทวดานี้มีฤทธิ์อำนาจเห็นปานนี้ทำอย่างไรจะได้พบ ตั้งใจขอพบหน่อย รุกขเทวดาท่านบันดาลให้ได้ยินเฉพาะเสียง ว่าเราเป็นผู้ที่มีบุญน้อย ท่านบอกประกอบด้วยวาสนาบารมีอันน้อย ละอายแก่ผู้ทรงศีลไม่กล้าแสดงกายให้ปรากฏ ฤๅษีอ้อนไปอ้อนมาเลยต้องโผล่มาให้เห็น ท่านก็ถาม เทวะดูก่อนเทวดา ท่านประกอบด้วยฤทธานุภาพ เห็นปานนี้ ในอดีตเคยทำกรรมอันใดไว้ เทวดาเขาเล่าให้ฟังบอกว่า ในอดีตเคยเป็นคนใช้บ้านอนาถปิณฑิกเศรษฐี ได้บุญมีฤทธิ์ถึงขนาดนี้เกิดจากการรักษาศีลแปดแค่ครึ่งวัน ท่านเล่าให้ฟังว่า ท่านอยู่เมืองอื่น ลำบากยากจนเลยเดินทางไปสาวัตถี ไปถึงบ้านอนาถปิณฑิกเศรษฐีก็ไปขอเขาทำงาน เขาให้มีหน้าที่ตัดฟืน คราวนี้พอตัวเองไปถึงก็อดมาทั้งวันอยู่แล้ว เขาให้ไปตัดฟืนก็ขยันไว้หน่อยวะ เดี๋ยวเย็นกลับมากิน ตั้งหน้าตั้งตาตัดฟืน พอเย็นกลับมา อ้าว...บ้านทั้งหลังคนเป็นพัน ๆ เงียบฉี่ไปหมด ปกติตอนกลางวันที่เรามาใหม่ ๆ แหม...คนโน้นจะเอาข้าว คนนี้จะเอาแกง คนโน้นจะเอาอีกจานเสียงดังล้งเล้งไปหมด ทำไมตอนนี้เงียบ ก็ไปหาแม่ครัว อามะข้าแต่แม่ ทำไมวันนี้ถึงไม่ได้ประกอบอาหารหรือ ? แม่ครัวก็ตกใจ ท่านเป็นผู้มาใหม่ใช่ไหม ? เขาบอกว่า ใช่ เขาบอกว่า บ้านนี้น่ะ ถ้าในวันอุโบสถ คือวันขึ้นหรือแรม ๑๕ ค่ำ หรือว่าแรม ๑๔ ค่ำ จะถืออุโบสถศีล ไม่กินอาหารเย็นกัน แม้กระทั่งเด็กเล็กไม่รู้ความก็จะบ้วนปากให้สะอาด เสร็จแล้วตั้งใจรักษาอุโบสถศีล แกก็แปลกใจ อุโบสถศีลดีขนาดไหน เด็กเล็กเพิ่งรู้ความยังตั้งใจรักษากัน แม่ครัวก็บอกว่า เขาไม่สามารถจะพรรณาได้หมด ไปถามเจ้านายเอาเถอะนะ ถ้าเราอยู่ทางด้านนี้ก็จะปรกอบอาหารรอไว้ แกบอกว่า ไม่ต้องหรอก ถ้าอุโบสถศีลดีจริงก็จะรักษาบ้าง ก็ไปหาเจ้านายคืออนาถปิณฑิกเศรษฐี อนาถปิณฑิกเศรษฐีก็พรรณนาคุณของศีลให้ฟัง แกนึกอยากจะรักษาขึ้นมาก็ขอสมาทาน คือศึกษาศีลมีอะไรบ้างแล้วตั้งใจรักษา คนอดมาทั้งวันแถมทำงานหนัก แล้วยังมาอดข้าวต่อกลางคืนอีก เขาใช้คำว่าลมกำเริบถึงแก่ความตาย ก็ไปเกิดเป็นรุกขเทวดา เสร็จแล้วตัวเองรักษาศีลต้องใช้คำว่าครึ่งคืนไม่ใช่ครึ่งวัน แค่ครึ่งคืนเท่านั้นเองเพราะเย็นแล้วนี่ ไปเกิดเป็นเทวดาขนาดนี้
|