สนทนากับพระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เดือนกรกฎาคม ๒๕๔๔
ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ

      ถาม :  ถ้าเรามีทิพจักขุญาณแจ่มใสเราสามารถ (ฟังไม่ชัด)?
      ตอบ :  ต้องดูด้วยว่าทิพจักขุญาณแจ่มใสน่ะของเราถนัดด้านไหน ถ้าเราไปถนัดในด้านรู้อดีตรู้อนาคตเรื่องของเจโตปริยญาณมันไม่เอาไหนเหมือนกัน ญาณทั้ง ๘ ไม่ได้หมายความว่าเราจะคล่องตัวหมดบางอย่างที่เราจะคล่องมากบางอย่างเราก็จะน้อย ตัวอย่างเช่น พระอนุรุทธ ท่านเป็นพระวิชชชาสามแท้ ๆ แต่ท่านคล่องทิพจักขุญาณมากถึงขนาดพระปฏิสัมภิทาญาณสู้ท่านไม่ได้ ท่านก็เลยเป็นเอตะทัคคะเลิศในทางทิพจักขุญาณ เพราะฉะนั้นมันไม่ได้หมายความว่าเราจะคล่องทั้งหมด
              อย่างปฏิสัมภิทาญาณสี่อันนี้ บางคนก็คล่องไม่เหมือนกัน บางคนก็คล่องในเหตุคล่องในผล บางคนก็คล่องในทางภาษา บางคนก็คล่องในทางปฏิภาณ แต่ว่าอันอื่นได้อยู่ ได้เหมือนกัน แต่จะไม่คล่องตัวเท่ากับอันที่ตัวเองเด่นขึ้นมา เพราะฉะนั้นอาจจะรู้ชัดเจนก็ได้ หรือขณะเดียว อาจจะรู้นิดหน่อยหรือจนกว่าจะสะกิดถึงรู้ก็ได้
      ถาม :  แล้วเวลาอย่างที่จิตส่งถึงกัน อย่างผมคิดว่าถึงหลวงพ่ออย่างนี้ล่ะครับ มันเป็นกระแสที่พุ่งไปหา...?
      ตอบ :  บางทีมาทั้งตัวเลย เราคิดถึงใครถ้าหากว่าบุคคลที่เขาได้ อภิญญาใหญ่จะเห็นเราไปตรงนั้นทั้งตัวเลย มันไม่ใช่แค่กระแสเฉย ๆ แต่ว่าท่านที่ได้เบากว่านั้น อย่างเช่นวิชชาสามจะรู้สึกว่ามันเป็นกระแสความคิดของอีกคนหนึ่งติดต่อมาแล้วเราก็รับได้ชัดเจน ไม่ต้องถึงวิชชาสามหรอกสองก็พอแล้ว
      ถาม :  กราบพระอยู่ดี ๆ บางทีรู้สึกว่าหลวงพี่มานั่งกราบอยู่ข้าง ๆ นี่คิดผิดหรือเปล่าครับ?
      ตอบ :  ผิดแหง ๆ เลย ก็ดูนั่งอยู่เนี่ยะ (หัวเราะ) ขืนไปรับรองนี่มันเอาบ่อย (หัวเราะ) ขืนรับรองให้เดี๋ยวเอาบ่อย งั้นต้องรีบ ๆ เลี่ยงให้ไกลตัวหน่อย
      ถาม :  มันจะเป็นฟุ้งซ่านไปได้ไหมครับ?
      ตอบ :  ถ้าฟุ้งซ่านในด้านดีก็ฟุ้งซ่านไปเถอะ
      ถาม :  ตกลงหลวงพี่คล่องทางไหนล่ะครับ?
      ตอบ :  กิน ส่งมาเถอะไม่เกี่ยงหรอกถ้าไม่เกินเที่ยง บอกแล้วว่าลื่นจนจับไม่ติด มันไปได้ทุกช่องเลย
      ถาม :  เขาเรียกปฏิภาณไช่ไหมครับ?
      ตอบ :  ไม่ทราบเหมือนกัน เขาเรียกอันธพาลหรือเปล่าก็ไม่รู้?
      ถาม :  พวกนี้มันก็ ...(ไม่ชัด)....มันเหมือนกับเรารู้ ๆ อยู่ เราเลยขาดอะไรบางอย่างที่...(ไม่ชัด)...อยากจะถามอะไร
      ตอบ :  ทาน ศีล ภาวนา เหมือนเดิม ทำไปเรื่อย พอถึงเวลาถึง วาระมันก็ลงตัวของมันเองนะ ที่เราทำมานั่นมันถูกแล้ว เพียงแต่ว่าถ้ากลัวว่า จะผิดก็ใช้ศีลเป็นเครื่องวัด วัน ๆ เราตรวจสอบดูว่าศีล ๕ เราบกพร่องไหม? เราได้ล่วงศีลด้วยตนเองหรือเปล่า? ยินดีเมื่อเห็นคนอื่นล่วงศีลหรือเปล่า? หรือว่ายุให้คนอื่นล่วงศีลหรือเปล่า? ถ้ายังอยู่ในกรอบของศีล ๕ ถือว่ายังปฏิบัติไม่ผิด ใช้ศีลเป็นเครื่องวัดดีที่สุด
      ถาม :  ที่คุยเรื่องส่งจิตถึงกันนี่ย้อนคิดสมัยก่อนหน้าช่วงปีที่แล้ว จะผูกพันกับเพื่อนอยู่คนหนึ่งอยู่อุตรดิตถ์ ก็จะนึกถึงตลอดเวลาแล้วก็คุยกัน เพื่อนก็พูดให้ฟังว่าตอนที่ทำบุญ ๑๐๐ วันให้แฟน เจอกันวันเสาร์ตอนนั้นยังไม่เคยไปเจอกันเลยคุยกันทางอินเตอร์เน็ต เขาบอกว่าผมไปอยู่ตรงนั้นด้วย ทีนี้ฟังแล้วตอนนั้นยังไม่ค่อยเชื่อเท่าไหร่มาคุยกันนี่ก็เป็นการยืนยัน
      ตอบ :  คำตอบอันเดียวกันว่าถ้าเราคิดถึงใคร ถ้าบุคคลนั้นกำลังของเขาสูง จิตใจของเขาสะอาด บางทีเขาเห็นเราไปอยู่ที่นั่นทั้งตัวเลย ถ้ากำลังต่ำลงมาหน่อยก็รับกระแสความคิดของเขาได้อย่างชัดเจน ตัวนี้ไม่ยากหรอกเป็นเจโตปริยญาณในทิพจักขุญาณนั่นแหละ
      ถาม :  เมื่อกี้นี้ถึงเรื่องที่พูดถึงเขาเรียกว่าอะไรนะครับ มีผูกพันเป็นเวรเป็นกรรมกัน ชาตินี้เป็นพ่อเป็นลูกกันชาติหน้าก็อาจจะมา...?
      ตอบ :  อาจจะเจอกันในฐานะอื่น
      ถาม :  อย่างในกรณีของผมนี้ครอบครัวผม ผม น้อง พ่อ แม่ คงเป็นเวรเป็นกรรมกันเป็นปุพเพอะไรกัน ทีนี้น้องผมก็เสียไปแล้ว ผมกับน้องก็มาจากไหนก็ไม่รู้ มันก็เหมือนกับ...
      ตอบ :  บุคคลที่เกิดมาเป็นครอบครัวเดียวกันต้องมีเวรกรรมที่เนื่องกันมาตั้งแต่อดีตอยู่แล้ว
      ถาม :  ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เกิดจากท้องเดียวกันก็ตามเหรอครับ?
      ตอบ :  สรุปง่าย ๆ พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าคนเราที่เกิดมาแล้วได้พบกันเห็นกัน ในอดีตนั้นไม่เคยมีความผูกพันต่อกันนั้นไม่มีอย่างน้อย ๆ ฐานะใดฐานะหนึ่งก็ต้องเป็นจ้ะ เฉพาะเพื่อนอย่างเดียวก็บานแล้ว
      ถาม :  เยอะสุด ๆ เลยครับ
      ตอบ :  ใช่ เพราะฉะนั้นฐานะใดฐานะหนึ่งก็ต้องเป็น พระพุทธเจ้า ท่านยืนยัน ลงว่าได้มาเจอะกันละก็จะต้องเคยมีอะไรมาแล้ว
      ถาม :  ผมยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องเกี่ยวกับลาพุทธภูมิ กรณีอย่างถ้าเกิดว่าเรายังไม่พร้อมเกาะพระนิพพานเราก็ยังอยากจะเกิดอีก ขึ้นอยู่กับตัวเราเหรอครับ
      ตอบ :  มันอยู่ที่เรา ถึงเราลาก็ตามแต่ถ้ายังไปไม่ถึงนิพพานตราบในก็ยังคงต้องเกิดอยู่ตราบนั้น
      ถาม :  ปกติไม่สู้คน เดือนที่แล้วสู้ค่ะ
      ตอบ :  เป็นไปได้ยังไงเราไม่สู้คน
      ถาม :  ไม่สู้ เป็นคนเก็บ แล้วก็พยายามทนมากที่สุดเท่าที่จะทนได้ ทนไม่ได้จริงถึงจะพูด ปกติไม่สู้ คราวนี้สู้ ก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่ตัวเองแต่ว่ามันเก็บก็เก็บไม่ได้แล้ว เขาทำมาตั้งแต่ปี ๓๘ แล้วมันกี่ปีแล้วล่ะ ทนไม่ได้ก็เอาสักทีหนึ่ง แล้วก็ไม่สบายทั้งกายทั้งใจ ทำยังไงดีที่ว่าจะให้ตัวเองนี่ปฏิบัติได้ถูกทางด้วยแล้วก็ไม่เก็บกดด้วย?
      ตอบ :  ต้องคิดให้เป็น ลักษณะการคิดนี่เป็นตัวพิจารณา เราต้องเห็นว่าตัวเขาเองไม่รู้ว่าสิ่งที่เขาทำเป็นทุกข์เป็นโทษแก่ตัวเขาและตัวเราอย่างไร เขาถึงได้ทำ เขาคิดว่าดีเขาจึงทำ คนที่ไม่มีปัญญาหรือว่าปัญญาน้อยขนาดเห็นสิ่งที่ไม่ดีเป็นสิ่งที่ดีนั้น ไม่ใช่สิ่งที่น่าโกรธ แต่น่าสงสารมากกว่า เราต้องคิดให้เป็น ถ้าคิดเป็นขนาดนี้กำลังใจมันคลายตัวลง มันจะโกรธแค่ตอนนั้น แล้วจะไม่ผูกโกรธไปนาน มันคล้าย ๆ กับว่า เรารับมาแล้วก็กองเอาไว้ มันไม่แบกต่อ มันก็จะไม่หนัก แต่ของเรามันอยู่ในลักษณะเก็บสะสมไว้เรื่อย พอถึงระยะหนึ่งมันเหมือนกับลูกโป่งที่พองเต็มที่แล้ว มันก็แตกดังตูม ที่เราบอกว่าเราไม่สู้น่ะ ความจริงแล้วก็คือว่ามันพร้อมที่ตอบโต้ตลอดเวลา แต่พยายามเบรกตัวเองเอาไว้จนกระทั่งถึงจุด ๆ หนึ่งที่มันเบรกไม่ได้ ฟางเส้นสุดท้ายแล้ว มันก็เกิดอาการอย่างที่เกิดขึ้นมา
              เพราะฉะนั้นเราต้องคิดให้เป็นว่าเขาเองน่าสงสารมาก สิ่งที่เขาทำกับเรามันเป็นสิ่งที่ไม่ดี ถ้าหากว่าเขาตายตอนนั้นกำลังใจที่เศร้าหมองของเขาก็พาเขาลงนรก การลงนรกนี่ถ้าหากว่าลงขุมใหญ่ กว่าจะพ้นขึ้นมาสู่อุสุทนรก กว่าจะพ้นมาสู่ยมโลกีนรก กว่าจะพ้นแต่ละขุม แต่ละขุมขึ้นมายาวนานเหลือเกิน แล้วยังต้องมาใช้เศษกรรม ด้วยการเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉานอีก มันทำให้เขาห่างความดีไปไกลถึงขนาดนั้น
              เพราะฉะนั้นคนที่ทำในลักษณะนี้ไม่ใช่เป็นคนที่น่าโกรธ หากแต่ว่าน่าสงสารมากเพราะว่าเขาไม่เห็นทุกข์เห็นโทษที่จะเกิดกับเขาในเบื้องหน้า ดังนั้นแทนที่เราจะโกรธเขาควรให้อภัยเขาดีกว่า เราคิดอย่างนี้เป็นกำลังมันจะคลายตัวแต่ถ้าคิดไม่เป็นมันก็จะเก็บกด

      ถาม :  มันจะทำได้เป็นพัก ๆ ค่ะ
      ตอบ :  ก็ทำบ่อย ๆ
      ถาม :  หินทับหญ้า ไม่ใช่ถอนหญ้าค่ะ
      ตอบ :  นั่นแหละ ทำบ่อย ๆ พอทำบ่อย ๆ เดี๋ยวมันถอนหญ้าได้เองมันอาจประเภทเด็ดทีละใบ ทีละข้อ ทีละก้าน แต่นาน ๆ ไป เดี๋ยวมันจะขุดรากมันขึ้นมาได้
      ถาม :  อีกอย่างหนึ่ง...ฟังหลายรอบแล้ว แล้วทำไม่ได้ คือทรงอารมณ์อย่างสมมุติว่าเวลาปฏิบัติอยู่อย่างนี้ จะทรงอารมณ์ต่อทำยังไงคะ?
      ตอบ ถ้าเราภาวนาแล้วอารมณ์ใจมันทรงตัว ความรู้สึกของเราในตอนนั้นก็คือว่า เรารู้ลมหายใจโดยอัตโนมัติ พยายามรักษาอารมณ์รู้ลมหายใจโดยอัตโนมัติเอาไว้ นั่นคือการทรงอารมณ์ แล้วเราพยายามตรวจสอบอยู่เสมอว่า ในขณะที่เรารู้ลมหายใจโดยอัตโนมัติอยู่นี้ สิ่งไม่ดีต่าง ๆ โดยเฉพาะนิวรณ์ห้ามันเข้ามากินใจเราได้ไหม? ใจของเรามันแลบออกไปในทางกามฉันทะ คือระหว่างเพศหรือเปล่า? ในตัวพยาบาท โกรธ เกลียด อาฆาต แค้น คนอื่นหรือเปล่า? ในตัวถีนมิทธะ ง่วงเหงาหาวนอน ตลอดถึงขี้เกียจหรือเปล่า? ในตัวอุทธัจจะ คือฟุ้งซ่านเป็นอารมณ์อื่นหรือเปล่า? ในวิจิกิจฉาคือความลังเลสงสัยในใจหรือเปล่า?
              ถ้าหากว่านิวรณ์หน้าตัวนี้กินใจไม่ได้ กำลังใจของเราอยู่กับลมหายใจเข้าออกอยู่ คือการรักษาอารมณ์ตัวนั้นไว้ ถ้าสามารถเกาะลมหายใจอยู่ในลักษณะนี้ได้นานเท่าไรเราก็จะสุขเท่านั้น เย็นเท่านั้นการรักษาอารมณ์ก็คือการประคับประคองความรู้ สติ สัมปชัญญะทั้งหมดของเราให้อยู่กับลมหายใจเข้าออกไว้
      ถาม :  ปกติทำบุญนี่ไม่หวงค่ะ แผ่ได้อะไรได้ แต่กับคนที่บอกนี่มีความรู้สึกว่าหวง ไม่อยากแผ่...มันโกรธ
      ตอบ :  ธรรมดา... การที่เราจะแผ่เมตตา พระพุทธเจ้าท่านสอนว่าให้เราแผ่เมตตาต่อคนที่เรารักก่อน เรารัก เราย่อมให้เขาได้ แล้วเมื่อกำลังใจทรงตัว แผ่เมตตาต่อคนที่เรารักจนคล่องตัว จนชินแล้ว ก็ให้คนที่เราไม่รักไม่เกลียด อย่างเช่นว่าคนทั่ว ๆ ไป หรือว่าสรรพสัตว์ทั้งหลายทั่วหน้า หลังจากที่ให้กับคนที่ไม่รักไม่เกลียดจนชินแล้ว ก็ค่อยให้กับคนที่เราเกลียดน้อยจนกระทั่งกำลังใจมันทรงตัว มันชิน ไม่มีความหนักใจแล้ว
              คราวนี้ค่อยไปให้กับคนที่เราเกลียดมาก ถ้าอยู่ ๆ เราไปให้กับคนที่เราเกลียดมากทีเดียวกำลังใจมันจะไม่ไป มันจะต่อต้าน เพราะฉะนั้น ต้องไปที่ละขั้นแต่ละขั้นอย่างที่ว่า มันไม่ใช่หวงหรอก(หัวเราะ)กำลังใจมันต่อต้าน มันก็เลยไม่ยอมไป
      ถาม :  เคยบอกว่าโกรธได้ แต่ว่าอย่าอาฆาต
      ตอบ :  พอโกรธ โกรธตอนนั้นแหละ แต่ว่าอย่าไปคิด ถ้าไปคิดแสดงว่าจิตของเราประกอบด้วยวิหิงสาวิตก คือตรึกในการอาฆาตพยาบาทอยู่ เพราะฉะนั้นต้องลืมมันให้ได้ตรงนั้นเลย
      ถาม :  ทำไงถึงจะลืมได้?
      ตอบ :  ถ้าอันนี้ยากหน่อย แต่ถ้าพยายามรักษากำลังใจของเราไว้ คิดให้เป็นอย่างที่ว่ามาอย่างเมื่อครู่นี้ แล้วเราพยายามอยู่กับลมหายใจเข้าออก อยู่กับสติสัมปชัญญะเฉพาะหน้า ตัวนี้จะกินเราไม่ได้เลย แต่ถ้าเราเผลอเมื่อไหร่มันจะเข้ามาอีก ต้องคอยไล่มันออกไปอยู่เรื่อย ไล่ไปไล่มา พอนาน ๆ เข้า ไม่มีอาหารจะกิน เพราะเราไม่โกรธตามมัน เดี๋ยวมันก็เฉาไปเอง พอไปเฉามา มันก็ตาย
      ถาม :  เมื่อไหร่จะคิดเป็นสักที (หัวเราะ)
      ตอบ :  ไม่เป็นไร ไปไม่รอดเมื่อไร ค่อยกลับมาถามอีกที
      ถาม :  คราวนี้จะของทางโลก ดูหนังสือสอบจากปีที่แล้ว ปีนั้นขาดไปเปอร์เซ็นต์หนึ่ง ปีนี้ขอเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ ขอให้ดูแล้วเข้าใจ เพราะว่าดูหนังสือแล้วไม่ค่อยเข้าใจ
      ตอบ :  (หัวเราะ) ใช้คาถาท่านปู่พระอินทร์ คาถาสหัสสะเนตโตน่ะ ว่านะโมสามจบ ระลึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พรหมเทวดาทั้งหมด มีท่านปู่พระอินทร์เป็นที่สุด ขอให้ท่านช่วยสงเคราะห์รับกระดาษคำถามมาอย่างเพิ่งอ่านให้คว่ำลง ว่าคาถาสักสามจบ เสร็จแล้วพลิกกระดาษขึ้นมา อ่านคำถามดู ถ้ายังตอบได้ไม่หมดให้คว่ำลง แล้วว่าอีกเจ็ดจบ
              คราวนี้ความรู้สึกบอกว่าอย่างไร อยากจะเขียนอย่างไร อยากจะตอบอย่างไร ทำตามนั้นเลย จะเป็นไปตามนั้นทุกอย่าง ขอให้เชื่ออารมณ์แรกอย่าไปฝืน คาถาสั้น ๆ ว่า สหัสสะเนตโต เทวินโท ทิพจังขุง วิโสธายิ แค่นี้แหละ ตอนหลังเขาเติม อิกะวิติ พุทธสังมิ โลกะวิทู ลงไปหน่อยหนึ่ง อิกะวิติเป็นหัวใจอิติปิโส พุทธสังมินี่หัวใจไตรสรณาคมน์ โลกะวิทูก็รู้แจ้งในโลก อะไร ๆ มา ก็รู้หมด ใช้คาถาตัวนี้ให้ชิน ก่อนอ่านหนังสือก็ว่าไปซะห้าจบ สิบจบ หลังอ่านก็ว่าไปซะห้าจบ สิบจบ ซ้อมให้คล่องเข้าไว้ถึงเวลามันจะได้ชินแต่ว่าระวังตอนที่ท่านช่วยเราจริง ๆ นะ อารมณ์ใจที่ส่งมานี่เหมือนยังกับเรากำลังตื่นเต้น หัวใจก็เต้นเร็วขึ้นมือไม้ก็สั่นไปหมด มันจะเขียนแทบไม่เป็นตัว ต้องคอยบังคับลายมือตัวเอง แล้วจะเอาเท่าไหร่ก็บอกท่าน ขอให้มันถูกต้องและถูกใจคนตรวจด้วย กี่เปอร์เซ็นต์บอกท่านได้เลย ถ้าเรามั่นใจจริง ๆ ได้ตามนั้นทุกอย่าง
              เพราะว่าช่วงที่สอบนักธรรมเอก ป่วยอยู่ไม่มีเวลาดูหนังสือ ก็ไปสอบทั้ง ๆ ที่ไม่ดูนั่นแหละ ปรากฏว่าหลวงปู่พระมหาอำพันท่านบอกว่า คุณเก่งนะสอบแค่สิบห้านาทีได้แล้ว ผมเองตกอยู่สิบสองปี หลวงปู่ท่านเป็นเปรียญหกแล้วนะ ตกอยู่สิบสองปี ถ้าไม่ได้นักธรรมเอก เขาไม่ให้เรียนเจ็ด แปด เก้า เปรียญเจ็ด แปด เก้า เขาเรียกว่า เปรียญเอก เปรียญสี่ห้า หก เขาเรียกว่า เปรียญโท หนึ่ง สอง สาม เขาเรียกว่า เปรียญตรี ต้องจบนักธรรมตรี ถึงเรียนตรีได้ ต้องจบนักธรรมโท ถึงเรียนเปรียญโทได้ ต้องจบนักธรรมเอก ถึงเรียนเปรียญเอกได้
              เพราะฉะนั้นมันก็ยากสาหัสอยู่ หนังสือเป็นตั้งออกแค่เจ็ดข้อสมัยโน้น สมัยนี้ออกสิบข้อแล้วเป็นตั้งบางทีเราไม่อ่านน่ะมันออก แต่ถ้าเราอ่านมันไม่ออก ปีนั้นท่องมหาสติปัฏฐานสูตรแทบตายเลย มันไม่ออกสักตัวเดียว แต่ถ้าหากว่าเราไม่ท่องแล้วมันออกเราก็เดี้ยง เพราะฉะนั้นมันก็ต้องใช้วิธีนี้แหละ
      ถาม :  ทำยังไงครับ นั่งยิ้มได้ทั้งวัน?
      ตอบพยายามรักษากำลังใจให้มันทรงตัวให้ได้ กำลังที่ว่านี่มันทรงตัวนานไป ๆ แรก ๆ มันเหมือนหินทับหญ้า แต่ถ้าทับไปทับมาหญ้ามันเฉาเข้า กำลังมันไม่มี เราก็ยิ้มเยาะมันได้ เอาเถอะค่อย ๆ ทำไป ที่เห็นนั่งยิ้มอยู่นี่ไม่ใช่นั่งยิ้มแต่แรกหรอก มันตั้งนานตั้งเนแล้วที่ค่อยทำมา กว่าจะถึงจุดนี้ไม่ใช่ง่าย แต่ว่ายืนยันว่า ถ้าทำแล้วได้จริง ๆ