ถาม:  สมัยนี้ทำบุญจะให้ได้เต็มร้อยนั้นยากมาก
      ตอบ :  ให้ตั้งใจทำเป็นสังฆทานจ้ะ เพราะว่าอันสุดท้ายส่วนใหญ่ก็คือผู้รับเราไม่มั่นใจในความบริสุทธิ์ของท่าน ให้ทำเป็นสังฆทานไป ในอันตรธานปริวัตรในปฐมสมโพธิกถา ท่านบอกว่า “ตอนท้ายพระศาสนาเพศของพระจะค่อย ๆ ลดลง เหลือเพียงผ้าเหลืองพันข้อมือ หรือผ้าเหลืองห้อยหูอยู่ ให้เป็นสัญลักษณ์ว่าเป็นนักบวชเท่านั้น ศีลทั้ง ๒๒๗ ข้อ ก็เหลือแค่ปราชิก ๔ ข้อที่ยังรักษาได้ นอกนั้นขาดบรรลัยหมด ท่านบอกว่า “ถึงเพศพระจะเหลือน้อยเพียงนั้นก็ตาม ถ้าตั้งใจถวายเป็นสังฆทาน ก็มีอานิสงส์เต็มเหมือนกับพระพุทธเจ้าเป็นประธานรับเอง”
      ถาม :  ถ้าสังฆทานเราจะต้องใส่บาตรให้ครบ ๔ องค์หรือเปล่าคะ ?
      ตอบ :  ไม่จำเป็นจ้ะ ถ้าสังฆทานเราตั้งใจไว้ว่าพระองค์ไหนมาเราจะใส่บาตรถึงไม่ครบสี่องค์ก็เป็นสังฆทาน ตั้งใจไปเลยพระองค์ไหนมาเราก็จะใส่ ไม่ใช่หลวงพี่องค์นั้น หลวงพ่อองค์นี้เราถึงจะใส่ ถ้าตั้งใจอย่างนั้นจะเป็นสังฆทาน
      ถาม :  ถ้าท่านไปฉันองค์เดียวจะไม่เป็นไรหรือคะ ?
      ตอบ :  ของท่าน ๆ ต้องรู้จักจัดการเอง ถ้าท่านไม่รู้จักจัดการเอง เอาไปใช้เอาไปฉันอยู่คนเดียวก็เป็นโทษเหมือนกัน
      ถาม :  ถ้าเรานึกในใจ แล้วท่านไม่ทราบล่ะคะ ?
      ตอบ :  ไม่ทราบ ท่านก็ต้องรู้จักสิว่าจะทำอย่างไร อย่างที่วัดท่าขนุน วัดทองผาภูมิ หรือวัดต้นแบบอย่างวัดท่าซุง ฉันเป็นวงรวมกันอย่างน้อย ๔ องค์ขึ้นไป ที่วัดท่าซุงนี่กำหนดเลย ๖ ที่ ท่าขนุนก็ ๖ ที่ แต่ของวัดทองผาภูมิยังไม่อยู่ตัว ๔ บ้าง ๓ บ้าง ๒ บ้าง เหลือ ๑ ก็ยังมี แต่ลักษณะอย่างนั้นถือว่าเหลือแล้ว แค่นั้นไม่เป็นไร แต่ว่าประเภทตั้งใจนั่งเจี๊ยะคนเดียว ซวย...!
      ถาม :  (ฟังไม่ชัด)
      ตอบ :  ส่วนใหญ่ท่านจะอยู่ในลักษณะกินใครกินมัน นั่นก็ลำบากหน่อยอย่างตอนอาตมาอยู่กับหลวงปู่มหาอำพันที่วัดเทพศิรินทร์ ก็อยู่กันแค่ ๒ องค์ ตอนหลวงพี่มนตรีอยู่ด้วยก็อยู่ ๓ องค์ อย่างไรก็ไม่ครบสังฆทาน แต่ว่าทุกครั้งที่รับมาจะแบ่งส่วนหนึ่งไปไว้ที่ศาลาร่มเย็น ซึ่งพระทั้งหมดที่พูดง่าย ๆ ว่ากลางวันมีอาหารไม่พอฉัน หรือตอนเช้าไม่ได้บิณฑบาตจะลงฉันที่นั่นทุกวัน อันนั้นก็จะมีส่วนหนึ่งของเราที่เป็นสังฆทานอยู่แล้ว ต้องทำให้เป็น ทำให้ถูก คนที่เขาไม่รู้จริง ๆ มีโทษ นั่นต้องโทษครูบาอาจารย์ของเขาไม่อบรมมา ช่วยไม่ได้จริง ๆ จ้ะ
      ถาม :  …..................
      ตอบ :  สถานที่ดีไม่แน่ว่าจะอบรมคนให้ดีได้ คนเราจะดีหรือไม่ดี ขึ้นอยู่ที่ความจริงใจและจริงจังในความพยายามที่จะแก้ไขปรับปรุงตัวเองมีอยู่หรือเปล่า ถ้าหากว่ามีอยู่ ตั้งใจทำดีจริง ต้องเอาดีจนได้ เพราะฉะนั้น...ต่อไปถ้าใครบอกว่าเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ ไปวัดท่าซุงประจำหรือว่าอะไรก็ตาม อย่าเพิ่งไปเชื่อว่าจะดี กระทั่งสำนักพระพุทธเจ้ายังมีพระเทวทัต สำนักของหลวงพ่ออาจจะมีอาตมาเป็นเทวทัตก็ได้ เพราะฉะนั้น...อย่าเพิ่งไปเชื่อว่าใครจะดี ดูกันไปนาน ๆ ถ้าหากว่าเห็นว่าไม่ดีจริง มีอะไรที่แปร่งแปลกก็ถอยออกมาห่าง ๆ
      ถาม :  คือหนูฟังแล้วไม่สบายใจ
      ตอบ :  เราไม่สบายใจตรงที่ว่า เหมือนกับเขาเอาหลวงพ่อมาขาย เหมือนอย่างกับจะให้หลวงพ่อการันตีความประพฤติของเขาอะไรอย่างนั้น อาตมาเจอมาเยอะต่อเยอะแล้วจ้ะ สมัยที่หลวงพ่ออยู่ก็เหมือนกัน คนโน้นก็ลูกศิษย์หลวงพ่อ คนนี้ก็ลูกศิษย์หลวงพ่อ ยิ่งระยะหลัง ๆ ยิ่งหนักใหญ่เลย อยู่กับหลวงพ่อมากี่ปี ๆ อย่างนั้นความประพฤติของเขาไม่ได้บอกเลยว่าอยู่กับหลวงพ่อมา
              เคยมีคนถามหลวงพ่อสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ บอกว่า “จะเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อต้องทำอย่างไรบ้างครับ ?” หลวงพ่อบอกว่า “ลูกศิษย์ชั้นจิ๋วจะต้องรักษาศีลห้าได้บริสุทธิ์ ลูกศิษย์ชั้นกลางต้องรักษาศีลห้าให้บริสุทธิ์ และทรงฌานสมาบัติให้เกิดได้ ส่วนลูกศิษย์ชั้นผู้ใหญ่ที่รักมากจะต้องพยายามรักษาอารมณ์พระโสดาบันให้ได้” ถ้าหากว่าท่านทำได้อย่างนี้ บอกว่าเป็นลูกศิษย์ ถึงไม่เคยเห็นหน้าหลวงพ่อเลย หลวงพ่อก็ยอมรับว่าเป็นลูกศิษย์ แต่ถ้าหากว่าใครบอกว่าเป็นลูกศิษย์ใกล้ชิดขนาดไหนก็ตาม ทำไม่ได้ตาม ๓ ข้อนี้ หลวงพ่อไม่รับเป็นลูกศิษย์ ต่อให้มันนั่งอยู่ข้างตัวก็ไม่ใช่ คราวนี้เราก็เอาตามหลักของหลวงพ่อ ใครบอกว่าเป็นลูกศิษย์ ดูซิมันทำได้แค่ไหน
      ถาม :  (ฟังไม่ชัด)
      ตอบ :  ถ้าอย่างนั้นเราต้องพิจารณาตัวเราเองจ้ะ ว่าเรายังเลวอยู่ เราเลยไปรับเอากิริยาไม่ดีของเขาขึ้นมา ถ้าเราดีจริง เราจะต้องให้อภัย เรามาดูที่ตัวแก้ที่ตัวของเราไปเลย ไม่ต้องไปดูที่เขา ถือว่าเขาเป็นครู เขาทำให้เรารู้ว่าตัวของเราเองมีความดูหรือไม่ดีอย่างไร ความชั่วในใจของเราคือ รัก โลภ โกรธ หลง ยังมีอยู่ไหม กระทบจากเขามาเล็กน้อยแค่นี้ เราก็รับไม่ได้แล้ว เราเองเป็นนักปฏิบัติที่ดีไหมอะไรอย่างนี้ แก้ตัวเองไปเลย ส่วนเขาจะเป็นอย่างไร แล้วแต่ท่านเถอะ เทิดขึ้นเหนือหัวไปเลย เป็นครูบาอาจารย์ที่เมตตามาสอน หมดเรื่องไปเลยจ้ะ ทำให้ได้ อาตมานี่ด่าตัวเองมานานแล้ว บางอย่างหาความผิดไม่เจอจริง ๆ ไล่ไปไล่มา อ๋อ...เจอแล้ว ผิดที่เกิดมา ถ้าไม่เกิดมาก็ไม่ต้องเจอแบบนี้ ทำให้ได้อย่างนี้แหละจ้ะ สบายใจดี ได้หลักหลวงพ่อไปแล้ว ก็เอาไปพิจารณาเอาก็แล้วกัน ลูกศิษย์หลวงพ่อมีอยู่ ๓ ชั้น ชั้นจิ๋ว ชั้นกลาง และชั้นผู้ใหญ่ เลือกเอาว่าจะเอาอย่างไหนน ถ้าทำอย่างนั้นได้ ต่อให้หลวงพ่อตายแล้ว ท่านก็ยอมรับเป็นลูกศิษย์
      ถาม :  (ฟังไม่ชัด)
      ตอบ :  หลวงพ่อไม่เคยสอน หลวงพ่อท่านบอกว่า “ทำบุญแต่น้อย แต่ให้ทำบ่อย ๆ แล้วจะดี” แล้วท่านก็สอนว่า “ทำบุญอย่าให้ตัวเองและคนรอบข้างเดือดร้อน ต้องดูกำลังตัวเอง” ไม่ใช่มีร้อยหนึ่ง ทำไปห้าสิบ ตายสิ...! ไม่ใช่มีร้อยหนึ่ง เขาจะเอาทั้งร้อย บ๊าย บาย เลยจ้ะ ไม่อยู่ด้วยหรอก
      ถาม :  บอกสามีว่าป่วยนี่ เราจะได้เรียนกายคตานุสติกรรมฐาน ให้พิจารณาไป ส่วนตัวดิฉันเองก็ได้เวทนานุสติกรรมฐาน
      ตอบ :  อ้าว...ทำไมเป็นอย่างนั้นล่ะ ตัวเขาเองนี่จะต้องพิจารณาเวทนาให้มาก คนป่วยอยู่นะ
      ถาม :  พิจารณากายนี้เดี๋ยวมันก็แก่ มันก็เฒ่า มันไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา คิดว่า (ฟังไม่ชัด) ?
      ตอบ :  อ้าว...เอาอย่างนี้นะจ๊ะ คนเราดี ๆ อยู่นี่ปฏิบัติได้ แต่พอเหนื่อยมาก ๆ หิวมาก ๆ เจ็บไข้ได้ป่วยกำลังใจยังตกหมดเลย คนป่วยจะได้ให้เขาปฏิบัติ โธ่...ไม่แย่หรือจ๊ะ คนป่วยที่ปัญญาจะเห็นถึงขนาดที่ว่าร่างกายไม่เที่ยง ร่างกายเป็นทุกข์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา หายากนะจ๊ะ ต้องผ่านการปฏิบัติมาอย่างขนานใหญ่เลย
      ถาม :  เป็นความจริงที่เราเห็นอยู่ ?
      ตอบ :  จ้ะ แล้วยอมรับไหมล่ะ ? เห็นน่ะเห็นกันทุกคน ยอมรับไหม ? คำว่า “ธรรมดา” หายากที่สุดเลยนะจ๊ะ ถ้าเราเห็นธรรมดาได้ เราจะปล่อยวางได้แทบทุกอย่าง หรือถ้าเห็นธรรมถึงที่สุด คือปล่อยวางได้ทุกอย่าง ธรรมดาของการเกิดมามีการเจ็บไข้ได้ป่วยอย่างนั้น รักษาหายก็หาย ถ้าไม่หายก็ช่างมัน ยอมรับว่ามันเป็นปกติของร่างกาย ธรรมดาของเด็กต้องดื้อต้องซน เราก็ให้อภัยกับเด็กได้ ธรรมดาของผู้ใหญ่ที่ไม่มีธรรมะอยู่ในใจ เขาย่อมทำสิ่งที่ไมดีกับเรา อย่าไปโกรธเขาเลย ถ้าสามารถเห็นธรรมดาได้ทุกอย่าง เราปล่อยได้ วางได้ แล้วคราวนี้ แหม...คนเราถ้าไม่ได้ฝึกมาซักระดับหนึ่ง อยู่ ๆ จะให้ธรรมดาก็ไม่ไหวหรอกจ้ะ แต่ก็ยังดีจ้ะ ดีกว่าไม่มีอะไรเลย แต่นี่ถ้าสักวันเขาถาม “นี่เธอ อยากให้ฉันตายมากเลยหรือ ?” จบกัน
              หลวงพ่อพุทธทาสกระมัง ท่านบอกว่า “อันทุกข์สุขอยู่ที่ใจไม่ใช่หรือ ถ้าใจถือก็จะทุกข์ไม่สุกใส่ ถ้าไม่ถือก็จะสุขไม่ทุกข์ใจ ฉะนั้นไซร์ควรจะถือหรือปล่อยวาง” พูดง่ายนะ แต่ทำไม่ง่ายเลย เพราะฉะนั้น...เราหวังได้ แต่คราวนี้จะเป็นดังหวังหรือไม่นั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ดีแล้วจ้ะ ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด พยายามกรอกหูเขาไว้เยอะ ๆ ถึงเวลาจะได้แฮปปี้ด้วยกันทั้งสองฝ่าย ออกจากโรงพยาบาลมาบวชไปเลยอะไรอย่างนี้
      ถาม :  (ฟังไม่ชัด)
      ตอบ :  จิตเดินทางเร็วกว่านั้น คราวนี้ว่าเวลาเรากำหนดใจคิดถึงอะไรบางอย่าง สมมติว่าคิดถึงบ้านที่อเมริกา ตอนนี้มันไปอยู่ที่นั่นแล้ว ถ้าคนที่เขาได้ทิพจักขุญาณหรือได้อภิญญาจริง จะเห็นเราอยู่ที่นั่นทั้งตัวเลย
              คราวนี้เวลาเรานึกถึงบ้านนั้น ก็ชัดเจนใช่ไหม ลักษณะเป็นอย่างไร ที่อยู่อาศัยเป็นอย่างไร มีโต๊ะมีเตียงอยู่ตรงไหน เรารู้หมด แต่อันนั้นถามว่า “เห็นไหม ?” คือเห็นด้วยจิต ไม่ใช่ตาเห็นหรอก แต่ทำไมชัดล่ะ ? การเห็นที่เราต้องการจะเห็นกัน คือการเห็นลักษณะนี้ แต่คราวนี้การที่เราคิดถึงบ้านนั้น เรารู้เห็นได้ชัดเจนเพราะเรารู้จักมันจนชินแล้ว คราวนี้เวลาที่เขาบอกว่า “ลองกำหนดจิตขึ้นสู่บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ที่สามารถเห็นพระอินทร์ได้ไหม” แค่เราคิดถึงบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ได้แล้ว กำลังใจจะไปอยู่ตรงนั้นแล้ว แต่คราวนี้สิ่งนั้นละเอียดกว่าวัตถุต่าง ๆ บนโลกมนุษย์มาก แล้วขณะเดียวกันเราก็ไม่เคยชินกับมันด้วย
              เพราะฉะนั้น...อันดับแรก ความรู้สึกของเราเกิดขึ้นมาอย่างไร ให้เชื่อตามนั้น เห็นหรือไม่เห็นช่างมัน เหมือนกับเราอยู่ในห้องมืด ๆ แห่งหนึ่ง เขาส่งปากกาให้เราลูบ ๆ คลำ ๆ จับ ๆ ไปพักหนึ่งบอกว่า “ปากกา” ลักษณะของการเชื่อความรู้สึกครั้งแรกก็เหมือนกับเราหลับตาคลำของนี่แหละ แต่พอเราคลำบ่อย ๆ พอเอื้อมมือแตะปุ๊บบอกได้เลยอันนี้ปากกา ความคล่องตัวจะมีมากขึ้น
              คราวนี้ของเราเองพอรู้สึกว่าเป็นรูปอย่างไร เห็นหรือไม่เห็นช่างมัน ให้ตอบไปตามนั้นเลย เป็นรูปลักษณะอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ ถ้าหากว่ามีใครมาอยู่ข้างหน้าของเราเป็นผู้หญิงผู้ชายให้บอกไปเลย เป็นผู้หญิงหรือผู้ชายตามความรู้สึกนั้น แต่งตัวสีอะไรให้บอกไปเลย ตามความรู้สึกของเรา ถ้าฝึกกันหลายคน รู้สึกต่างกันจากเขา ตอบไปตามความรู้สึกของเรา อย่าไปตามใคร อย่าไปกลัวว่าผิด อย่าไปกลัวว่าไม่เหมือนกับเขา เพราะผู้ที่มาหาอาจไม่ใช่คนเดียวกันก็ได้ แล้วขณะเดียวกัน ถ้าหากสมมติว่าเราไปอเมริกานะ สมมุติว่าคนหนึ่งลงที่แอลเอ อีกคนลงที่วอชิงตัน ก็อเมริกาเหมือนกันใช่ไหม แต่มีโอกาสเห็นเหมือนกันไหม คนละโลกเลย เอาแค่สวรรค์ชั้นเดียวนะ
              ถ้าเปรียบกับโลกเรานี่เหมือนกับโลกเรานี่ก็คือมะนาวลูกเล็ก ๆ แล้วหย่อนไปในเข่งใบใหญ่ ๆ มันใหญ่กว่าโลกขนาดนั้น ถ้าไม่ได้ลงจุดเดียวกันจริง ๆ โอกาสที่จะบอกว่าเหมือนกัน หรือเห็นเหมือนกันยากเต็มที ดังนั้นเรารู้สึกอย่างไร หรือว่าความรู้สึกของเราไม่ได้ตรงกับคนอื่นอย่างไร ต้องซื่อสัตย์กับตัวเอง บอกไปตามนั้นไม่ต้องอาย ไม่ต้องกลัวผิด ผิดเป็นครู เดี๋ยวครูเขาบอกเองว่าถูกหรือผิด คราวนี้พอของเราเชื่อมันแล้วคล้อยตามไปเรื่อย ๆ จิตจะนิ่ง ครั้งแรกไม่นิ่งหรอก ที่ไม่นิ่งเพราะเราอยากรู้มากเกินไป อยากเห็นมากเกินไป ตอนจิตนิ่งปัญหาเกิดอีกแล้ว พอจิตนิ่งปั๊บเหมือนกับน้ำที่หยุดกระเพื่อม เราจะเห็นตัวเราเอง แล้ว คราวนี้พอจิตเรานิ่งปั๊บอีกเหมือนกัน ภาพจะปรากฎขึ้น คราวนี้มันชัด ๆ เหมือนดูโทรทัศน์หรือเห็นด้วยตาอย่างนี้ แต่ว่าพอถึงขั้นตอนนี้ปั๊บ เราก็ความเคยชินอยากเห็นให้ชัดกว่านั้น จะไปใช้สายตาเพ่งมันอีก การที่เราจะเห็นสถานที่นั้นหรือวัตถุนั้น การนึกถึงตาคือนึกถึงตัว การนึกถึงตัวคือการดึงจิต ภาพจะหาย หายทันทีที่เราไปเพ่งมันเลย แต่เราก็ไม่เข้าใจ เอีะ...ตั้งใจจะเพ่งให้ชัด ทำไมมันหาย ? พอเราเพ่งเมื่อไร จะเป็นการใช้ประสาทตาโดยอัตโนมัติ การนึกถึงตา คือนึกถึงตัว เท่ากับเราดึงจิตกลับ ในเมื่อพ้นจากตรงนั้น ภาพที่เห็นจะหายไปเลย คราวนี้จะทำอะไรก็ต้องมาตั้งต้นกันใหม่ พอจิตสงบ เริ่มนิ่งปั๊บ เห็นอีก เพ่งอีก หายอีก บางคนติดอยู่ขั้นตอนนี้หลาย ๆ ปีจนกระทั่งปัจจุบันนี้ อาจจะ ๑๐ ปี ๒๐ ปี ก็คือเพ่งเมื่อไร ก็หายเมื่อนั้น แต่ไม่รู้ว่าทำไมมันหายนะ มาถึงขั้นตอนนี้แล้ว ขอให้เราทำใจสบาย ๆ ว่า ก่อนหน้านี้ไม่เห็น เป็นความรู้สึกอย่างเดียว เราก็ตอบได้ถูกต้องแม่นยำดีอยู่แล้ว ตอนนี้จะเห็นหรือไม่เห็นก็ช่างมันเถอะ ถ้าทำใจเป็นอุเบกขาอย่างนั้นได้ ภาพจะปรากฏอยู่นาน เห็นได้นานตามที่เราต้องการ ชัดเจนแจ่มใสตามที่เราต้องการ คราวนี้จะเป็น ๓ ขั้นตอนด้วยกัน ขั้นตอนแรกคือ ไม่เห็นมีความรู้สึกอย่างเดียว เหมือนกับประเภทคลำของในที่มืด ขั้นตอนที่สอง ภาพมาบ้าง หายบ้างสลับกันไป ถ้ายิ่งอยาก ยิ่งไม่ได้เห็น ขั้นตอนที่สามคือ สามารถปล่อยวางใจให้เป็นอุเบกขาได้ ภาพจะปรากฏอยู่และนาน คราวนี้ของโยมปล้ำขั้นตอนแรกก่อน ขั้นตอนแรกความรู้สึกอย่างเดียวนี่แหละ
              สมัยอาตมาฝึกใหม่ ๆ เมื่อ ๒๐ ปีกว่าก่อนโน้น หลวงพ่อให้ไปนั่งข้างถนน หลับตาทำใจสบาย ๆ ได้ยินเสียงรถยนต์มาให้กำหนดว่ารถยนต์ที่วิ่งมาสีอะไร ? แล้วเราก็ลืมตาดูได้ในระยะเวลาอันใกล้ ๆ เลย เป็นการพิสูจน์กันพอเห็นว่าตรงกับความรู้สึกของเรา เออ...จำอารมณ์นั้นไว้ เราวางอารมณ์อย่างไร แล้วก็หลับตาใหม่อีก กำหนดใจอย่างนี้อีก จนกระทั่งสามารถตอบได้สักแปดในสิบนะจ๊ะ ให้เพิ่มรายละเอียดเข้าไปว่า รถที่วิ่งมาสีอะไร มีคนนั่งมากี่คน ถ้าถูกซักแปดในสิบ ก็รถมาสีอะไร คนนั่งมากี่คน ผู้หญิงเท่าไร ผู้ชายเท่าไร ใส่เสื้อผ้าสีอะไรบ้าง ระยะสุดท้ายกระทั่งเลขทะเบียนอะไรก็บอกถูกหมด เพียงแต่ว่าสำคัญที่สุด ถ้าผิดไม่ต้องจำ แต่ถ้าถูกให้คุณจำ ว่าตอนนั้นคุณทำอย่างไร อารมณ์ใจอย่างไร คุณจะรู้ว่านั่นคือคำตอบที่ถูกต้องนะจ๊ะ เขาให้ซ้อมอย่างนี้ ซ้อมกับสิ่งที่พิสูจน์ได้ในระยะสั้น ๆ
              อาตมาเองสมัยก่อนพอซ้อมอย่างนี้จนชินแล้ว อ้าว...ดูฟุตบอลดูมวย แต่ว่าเขียนผลไว้ก่อนแล้วว่าจะชนะกันอย่างไร มวยจะแพ้ชนะกันอย่างไร เสมอกันหรือชนะกันกี่ศูนย์ หรือชนะกันเท่าไรอะไรอย่างนี้ เสร็จแล้วก็เปิดดู เปิดดูของอาตมาบางครั้งก็ปิดเสียงไว้ เพราะไม่จำเป็นต้องไปอาศัยความมันหรอก เพราะเราดูแค่เอาผลอย่างเดียว เสร็จแล้วคนอื่นเขาจะแปลกใจมาก เขาเปิดดูทีไร เขาโดนหลวงพ่อด่าทุกครั้ง แต่เราเปิดดู ทำไมหลวงพ่อไม่ด่า เพราะว่าหลวงพ่อท่านรู้ว่าเราทำอะไร เพื่ออะไร แต่คนอื่นไปดูเอามัน โดนทุกครั้งแหละ
              คราวนี้พอเราพิสูจน์กับสิ่งที่เราสมารถตรวจสอบได้ระยะใกล้ ๆ แล้ว เราจะมั่นใจว่าอารมณ์นี้ ถ้าเกิดขึ้นเมื่อไร คืออารมณ์ที่ถูกต้อง อารมณ์นี้ถ้าเกิดขึ้นก็คือ ผิดพลาด เราก็เลือกอารมณ์ที่ถูก และทิ้งอารมณ์ที่ผิดไปเรื่อย ๆ ต่อไปพออารมณ์นี้เกิดขึ้นเรามั่นใจได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ นี่เป็นอารมณ์ที่ถูกต้องแน่นอน แต่โอกาสพลาดก็ยังมี เพราะว่ามีการทดสอบกันนะ เขาจะทดสอบว่าเรามีความเชื่อมั่นในความรู้เท่าไร มีความมั่นใจในครูบาอาจารย์เท่าไร มีความเชื่อมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อันนั้นจะเป็นขั้นตอนสูง ๆ ขึ้นไป ใหม่ ๆ เขาไม่หลอกเราให้เสียเวลาหรอก แต่ถ้าเราเริ่มมั่นใจว่า กูเก่งเมื่อไร โดนเมื่อนั้น ตัวนี้โดนทันทีเลยนะจ๊ะ เขาจะมีการลองกันทันที
              เพราะฉะนั้น...สิ่งทั้งหลายทั้งปวงนี่ เราอันดับแรก พื้นฐานเอาให้ได้ และสำคัญคือซ้อมให้เกิดความชำนาญ พอชำนาญจนมั่นใจเริ่มใช้งานได้เมื่อไร และอย่าใช้ความสามารถตัวเองเป็นอันขาด ทุกอย่างเป็นเรื่องของการขอบารมีพระเพื่อสงเคราะห์ การรู้เห็นของเรา ถ้าเปรียบกับพระนี่ ในระดับของเราเหมือนกับตอนเวลาที่ใกล้ค่ำ ทุกสิ่งทุกอย่างจะมืดมัวไปหมด หาความชัดเจนไม่ได้ แต่ของพระท่านเหมือนกับพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน สามารถรู้ได้ชัดเจนมาก เราต้องขอให้ท่านสงเคราะห์ให้ท่านช่วยเราอยู่ตลอด ใช้ความสามารถตัวเองเมื่อไร พังเมื่อนั้น
              คราวนี้ก็เลยว่า เมื่อเราได้พื้นฐานแล้วทำบ่อย ๆ ซ้อมบ่อย ๆ จนกระทั่งเกิดความเคยชิน เกิดความมั่นใจ มีการรักษาอารมณ์ที่ถูกต้องต่อไป ภาพจะชัด
      ถาม :  แล้วเต็มกำลังนี่เป็นอย่างไรครับ ?
      ตอบ :  ลักษณะของเต็มกำลัง จะเป็นการที่เรียกว่า เหมือนกับตัวเราไปด้วยตัวเอง ทั้ง ๆ ที่ไปด้วยจิต ลมพัดมากระทบผิวก็รู้ แต่ว่าไม่ใช่ตัวที่ไปจริง ๆ เป็นใจไป ลักษณะนั้นชัดเกินไป เราเดินข้างถนนนี่รถมารีบกระโดดหลบ ตกใจกลัวมันจะชนจริง ๆ แล้วชนให้ตายเราก็ไม่เป็นไรหรอก เพราะว่าเป็นกายใน แต่เนื่องจากชัดเกินไป ในเมื่อชัดเกินไปทำให้เราคิดว่าเอาตัวนี้ไปจริง ๆ แรก ๆ ก็ประเภทระแวงไปหมด เราต้องปรับความเคยชินไประยะหนึ่ง การไปแบบนั้นดีอยู่อย่างหนึ่ง คือความชัดเจนแจ่มใสมีมาก แต่ว่าไม่ดีอยู่อย่างหนึ่ง ร่างกายของเราคนอื่นจะคิดว่าตาย อาตมาโดนเขายำเละมาแล้ว เขาคิดว่าตาย คือเขาเองพยายามคิดจะช่วยเราให้ฟื้นทุกวิถีทาง โอ้โฮ...เล่นเราซะอ่วมเลย นั่นแหละวิธีนี้ไม่ดีตรงนี้
              เพราะฉะนั้น...ถ้าหากว่าจะทำอย่างนี้ ถ้าจิตใจอยู่ลักษณะแบบนี้ พอเราซ้อมไป ๆ เกิดความคล่องตัวมากขึ้น ๆ ความชัดเจนมีมากขึ้น บางครั้งจะหลุดไปลักษณะนี้โดยไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้น...ถ้ารู้ตัวว่าจะทำลักษณะนี้ ปิดประตูล็อคห้องให้ดีก่อน หรือไม่ก็บอกคนอื่นก่อนว่า เห็นทำอย่างนี้อย่ามายุ่ง ตายก็ให้ตายไป...! ไม่อย่างนั้นเขาเอาคุณแน่ ๆ
      ถาม :  ที่ลพบุรีก็เจอคนหนึ่ง ไปแบบตัวเย็นเลยครับ ?
      ตอบ :  ถ้าหากว่าไปเต็มที่จะเป็นอย่างนั้นจริง ๆ สถานเบาคือ ชีพจรเหลือนิดเดียว อาจจะเต้นอยู่ประมาณ ๑๐-๒๐ ครั้งต่อวินาที แต่ถ้าหากว่าสถานหนักนี่จับไม่เจอเลย ลมหายใจก็ไม่มีเลย อาตมาโดนเขายำเละอยู่ตอนนี้แหละ เขาคิดว่าตาย เขาบอกแข็งไปทั้งตัว แล้วก็ไม่หายใจ ไอ้เราก็ได้แต่บอกอยู่ข้างบน “เฮ้ย...มึงอย่ายุ่งกับกูสิโว้ย...! กูไม่อยากจะลงไป” มันก็รับไม่ได้อีก ไปบอกเพื่อนพระ พระลูกศิษย์ท่านเก่ง ช่วยไปห้ามมันทีว่ะ มันจะเล่นกูตายแน่แล้ว พระก็ไปเกรงใจเขา ไปถึงก็ไปบอก “คุณอย่าไปยุ่งกับท่านนะ เดี๋ยวท่านก็ฟื้นเอง” พูดเพราะเหลือเกิน เป็นเราด่ากระจายไปแล้วนะ เป็นเสียอย่างนี้ ตกลงงานนั้นอ่วม โดนน่วมไปเลย
      ถาม :  ตอนนี้ผมกำลังฝึกแบบเต็มกำลัง ผมพอไปได้หรือเปล่าครับ ?
      ตอบ :  ถ้าหากว่าเราทำพอดีไปได้ทุกคน ส่วนใหญ่แล้วพวกเรามาอยู่ตรงที่อยากได้จนเกินไป เราอยากทำอะไร อยากได้อย่างไร อยากไปไหน ตั้งกำลังใจเอาไว้ก่อน แต่ตอนภาวนาให้ลืมไปเลย ไม่ต้องไปยุ่ง มีหน้าที่ภาวนาอย่างเดียว เหมือนกับการปลูกต้นไม้ พอเราปลูกลงไปแล้ว หน้าที่ของเราก็คือบำรุงรักษานะ รดน้ำใส่ปุ๋ย ป้องกันหนอน ป้องกันแมลงไป แต่เราไม่มีหน้าที่ไปบังคับให้ต้นไม้ออกดอกออกผล ตัวอยากของเราไปบังคับให้มันออกดอกออกผล แหม...ดึงยอดมันโตเร็ว ๆ หน่อยซิพ่อคุณ เดี๋ยวก็เฉาตายหรอก เป็นไปไม่ได้
              เพราะฉะนั้น...ทำใจให้เป็นอุเบกขาให้ได้ ว่าเรามีหน้าที่ภาวนา ส่วนจะเป็นอย่างไรหรือไม่เป็นอย่างไร เรื่องของมัน ไม่เกี่ยวกับเรา ถ้าทำอย่างนั้นจะได้เร็ว แต่ถ้าไปทำเพราะอยากได้อยากมี อยากเป็นเมื่อไร โอ้โฮ...มันไม่เอากับเราเลย เหมือนกับว่าตัวอยากบังหน้าอยู่ วิ่งเข้าไปเมื่อไรก็ชนเสา
              เพราะฉะนั้น...จะไปไหนไม่รอด ยังติดตัวอยากอยู่ จะสรุปให้ฟังว่าตัวมโนมยิทธิ ไม่ว่าจะเต็มกำลัง หรือครึ่งกำลังก็ตามนะจ๊ะ อันดับแรกต้องไม่กลัว ถ้าหากว่ายังมีความกลัวอยู่แม้แต่นิดเดียว ไปไม่ได้ มันดิ้นอยู่นั่นแหละ คือใจลึก ๆ ออกไปแล้วจะตายเลยหรือเปล่า ออกไปแล้วจะเจอสิ่งที่น่ากลัวไหม อะไรอย่างนี้ ออกไปแล้วเดี๋ยวกลับไม่ได้กูก็แย่สิ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันเสียวลึก ๆ อยู่ในอก บางครั้งเรานึกไม่ถึงหรอก แต่เสียวลึก ๆ อยู่ในอก แต่เกิดอการบื้อกันอยู่ ตัวในจะไปแต่ความรู้สึก เฮ้ย...ไปแล้วเดี๋ยวจะเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ ประเภทดิ้นอยู่นั่นแหละ สั่นอยู่นั่นแหละ แต่ไม่ไปซะที อันดับที่สอง ต้องไม่อยาก อธิบายไปแล้วว่า อยากจะเกิดผลอย่างไร อันดับที่สาม ต้องไม่เก็บเอาของเก่ามาสงสัย ของเราเองถ้าความเคยชินของพวกเรา คือว่าถ้าพระอินทร์ต้องเขียว ขึ้นไปถ้าไม่เขียวไม่ใช่พระอินทร์ อาตมาโดนต้มเปื่อยมาแล้ว ขึ้นไปเจอลุงกำนันอ้วนพีอย่างนี้ มีผ้าขาวม้าพาดไหล่ แล้วสูบบุหรี่มวนเบือ้เร่อเลย เราขึ้นไปถึงนี่หรือพระอินทร์ ท่านถามว่า “เอ็งอยากดูแบบไหนล่ะ ?” แล้วท่านก็นั่งตัวตรง พริบตาเดียวเปลี่ยนให้ดูเป็นร้อย ๆ แบบเลย แล้วแบบสุดท้ายต้องแต่งตัวเป็นลิเก แล้วเขียว ๆ คงจะใช่ พอท่านทำอย่างนั้นเสร็จ เราโอ้โฮ...นี่ต้องขนาดนี้เลยหรือ ต่อไปท่านมาแบบไหนก็คือพระอินทร์แน่น ๆ อยู่แล้ว
              แต่ว่าการที่เราเก็บของเก่ามา เรียกว่ามีอุปาทานไปยึดมั่นกับสิ่งที่รู้มา หรือสิ่งที่คนอื่นเขาบอกเล่าเรา เลยทำให้คิดว่า พระอินทร์ต้องเป็นอย่างนั้น แหม...ความเคยชินของท่าน อาจจะเคยเป็นลูกเป็นหลายท่านมาเยอะ ถึงเวลาท่านรับเราแบบไพรเวทเลย มาแบบประเภทลุงกำนัน ผ้าก็ไม่นุ่ง ใส่แต่กางเกงตัวเดียว ผ้าขาวม้าพาดไหล่ผืนเดียวเท่านั้นเอง เสือ้ไม่มี นั่นแหละมาอย่างนั้น แต่เราคิดไม่ถึง ไปยืนงงนี่หรือพระอินทร์ สงสัยมากเลย ท่านเลยลุกนั่งแล้ว “เอ็งจะดูแบบไหน ?” ท่านว่าอย่างนั้น ทำให้ดูเป็นร้อย ๆ แบบเลย เพราะฉะนั้น...ต่อไปต้องไม่กลัว ไม่อยากไม่ขี้สงสัย
              อันดับสุดท้ายสำคัญที่สุด ต้องมีความมั่นใจในตัวเอง ทำได้แล้วไปซ้อมด้วย ส่วนใหญ่แล้วเก่งแต่หน้าครู พอมีครูฝึกมีคนสอนอยู่ แหม...คล่องเชียว กลับบ้านไปไม่เป็น ไปซ้อมด้วยตัวเองบ่อย ๆ ต้องมั่นใจในตัวเอง วิธีเดิมวิธีเดียวนั่นแหละ แค่คิดก็ถึงแล้วจำไว้...! คิดถึงตรงไหนถึงตรงนั้นแล้ว เพียงแต่จะคล่องตัวจะชัดเจนแค่ไหน
              คราวนี้มีวิธีซ้อมมีวิธีหนึ่งที่ได้ผลดี คือเอาตัวเองเป็นยามเฝ้าบ้าน กำหนดตัวหนึ่งตามสบายของเรา ความรู้สึกของเรา คือกายเราให้มันอยู่ตรงหน้า นึกว่ามันจะตัวเล็กตัวใหญ่แค่ไหน เอาตามที่เราเห็นถนัด รูถนัด บังคับได้ถนัด ฝึกเหมือนเราฝึกทหารเลย ซ้ายหัน ขวาหัน กลับหลังหัน ขึ้นหน้า ๓ ก้าว ถอยหลัง ๒ ก้าว อะไรก็ว่าไป ฝึกจนกระทั่งคล่องสบายใจ เอ้า...เดินรอบตัวก็ได้ แต่ว่าต้องบอกให้มันช้า ๆ นะ ไม่อย่างนั้นวูบเดียวมันครบรอบเลย ช้า ๆ ไม่ต้องรีบ ทีละก้าวเลย กำหนดความรู้สึกอย่างกับหุ่นยนต์เลย ทีละก้าวเลย เออ...เอ้าไปโน่น ไปดูที่หน้าต่าง ไปเปิดประตูซิ เอ้า...เปิดประตูออกไปแล้ว เอ้า...ลงบันได้ซิ เดินไปหน้าบ้านหน่อย เดินรอบบ้านก็ได้ ไปช้า ๆ นะ อย่าเร็วนะ คราวนี้พวกขั้นตอนเหล่านี้แรก ๆ จะชัดเจนมาก เพราะเราชินกับสถานที่ คราวนี้ไกลออกไปหน่อยซิ ปากซอยค่อย ๆ เดินไป มีอะไร กำหนดใจรู้ตามไป มีร้านค้าอยู่ตรงนี้ บ้านคนอยู่ตรงนี้ มีตู้ไปรษณีย์ตรงนี้ ตู้โทรศัพท์ตรงนี้ ค่อย ๆ ดูไป
              คราวนี้พอไปตรงจุดที่เราไม่เคยชิน แล้วมันเจออะไร จดไว้ด้วย รุ่งขึ้นเดินไปดูเลย หรือไม่ถ้าหากฝึกกลางวันเลิกฝึกก็เดินไปดูเลยว่าตรงไหม ความที่เคยชินทำให้จิตเรามีความมั่นใจอยู่ ความมั่นใจทำให้จิตนิ่ง การรู้เห็นจะชัดเจนมาก เพราะฉะนั้น...พอพ้นจากจุดความเคยชินของเรา จะไม่ทันรู้ตัวหรอก ยังชัดเจนเท่าเดิม สิ่งที่เรารู้เห็นก็ยังชัดเจนเหมือนเดิม
              เพราะฉะนั้น...พอเราออกจากสมาธิ รีบจดไว้มีอะไรบ้าง เสร็จแล้วไปดูตามนั้น พอเราฝึกลักษณะอย่างนี้บ่อย ๆ ไปถึงจุดที่เราไม่ชินบ่อย ๆ สามารถรักษาความชัดเจนอย่างนี้เอาไว้ได้ ต่อไปเรารู้เห็นเรื่องผีเรื่องเทวดาก็ชัดเจนแค่นั้น เพราะเราวางกำลังใจได้มั่นคงแล้ว นิ่งดีแล้ว ทำแบบนี้บ่อย ๆ ไม่ใช่เรื่องยากเลย ถึงได้ยืนยัน ถ้าหากว่าคิดเป็นทำได้ทุกคน เพียงแต่จะทำได้ดีแค่ไหนเท่านั้นเอง อยู่ที่การขยันฝึก