ถาม: วันก่อนมีคนเขาเนื้อเสือโคร่งข้ามมาจากเขมร ถ้ามีคนมาถวายหลวงพี่ หลวงพี่จะได้กลิ่นสาปไหมครับ ?
ตอบ : ไม่แน่เหมือนกัน แต่ว่าพระเขาห้ามฉันเนื้อเสือเป็นปกติอยู่แล้ว เนื้อสัตว์ต้องห้าม ๑๐ อย่างที่พระห้ามฉันก็คือ
๑. เนื้อมนุษย์
๒. เนื้อช้าง
๓. เนื้อม้า
๔. เนื้อหมา
๕. เนื้อหมี
๖. เนื้องู
๗. เนื้อเสือโคร่ง
๘. เนื้อเสือเหลือง
๙. เนื้อเสือดาว
๑๐. เนื้อราชสีห์
๑๐ อย่างนี้ห้ามเด็ดขาด พระก่อนฉันจะต้องพิจารณาก่อน ถ้าไม่แน่ใจห้ามแตะเลย ไม่แน่ว่าจะได้กลิ่นไหม ของพวกนี้ไม่แน่หรอก ใส่พวกเครื่องเทศพวกอะไรอย่างเช่นว่า ถ้าประเภทผัดเผ็ดก็เล่นเครื่องแกงเยอะ ๆ หน่อยอะไรอย่างนี้ อาตมาเองก็ฟาดไม่เลือกเหมือนกัน
สมัยเป็นฆราวาสไม่เคยเกี่ยง อะไรที่คนคลืนลงคอได้ส่งมาเหอะ กินมาสารพัด ค้างคาวกินมาซะไม่รู้เท่าไรแล้ว พวกเสือใหญ่ไม่มีโอกาสเจอ เลยไม่ได้กิน กินแต่เสือเล็ก ๆ พวกเสือปลาอะไรพวกนั้น สมัยเด็ก ๆ บ้าเลือดนะ ช่วงวัยรุ่นนี่กลางค่ำกลางคืนก็รวบรวมพรรคพวกพี่น้อง บ้างก็ปิกอัพออกไป สปอร์ตไลท์ส่องลูกซองไล่ยิง คืน ๆ หนึ่งเก็บเอาเป็นคันรถ ๆ ยังนึกไม่ออกเลยทำไมตอนสมัยเด็ก ๆ ถึงได้ชั่วขนาดนั้น เพราะว่าแถวบ้านจะเป็นเขตที่เป็นป่าเลยก็มี เขตที่เป็นป่าละเมาะคือป่าเล็กพอที่จะบุกฝ่าได้ก็มี แล้วก็เป็นพวกไร่อ้อยก็มี ชะมด อีเห็น กระต่าย เสือปลา อะไรนี่ โห...บอกไม่ถูกว่าเยอะขนาดไหน คืน ๆ หนึ่งยิงเต็มรถปิกอัพ เอาไปไล่แจกทั้งหมู่บ้าน
ถาม : ความไม่ดีของเราที่ทำ ต้องลืมใช่ไหมคะ ?
ตอบ : ต้องลืม
ถาม : แต่เป็นสัญญาล่ะคะ ?
ตอบ : ตั้งหน้าตั้งตาทำความดีเฉพาะหน้าของเราไปเรื่อย ที่แล้ว ๆ มาตั้งใจอุทิศส่วนกุศลให้เขาไป คือถ้าสติสัมปชัญญะของเราสมบูรณ์รู้ผิดชอบอยู่เรืองนี้เราไม่ทำอยู่แล้ว ตอนนั้นยังไม่รู้ผิดชอบ คิดว่าดีก็ทำ เอาไปให้เขาก็มี แต่คนชมว่าเราเก่ง เออ...ใจดี มีของดีรู้จักมาแบ่งเขา เราจะไปรู้หรือ ตอนนั้นของดีซื้อด้วยชีวิตของเขาตั้งเท่าไร
ถาม : ช่วงนี้ผมอยากจะเจริญพุทธานุสตติ แต่ผมก็ไม่ได้มโนครับ คือเวลานึกภาพของพระพุทธเจ้า จะเอาอย่างไรดี จะเป็นพระพุทธรูปสวย ๆ หรือว่านึกถึงตอนท่านนั่งใต้ต้นโพธิ์ ?
ตอบ : ชอบอันไหนเอาอันนั้น อาตมาเองเคยจับภาพพระพุทธเจ้าที่นั่งใต้ต้นโพธิ์อยู่สามสี่ปีจนติดตา เสร็จแล้วพอตอนไปฝึกมโนมยิทธิเห็นภาพนั้น ครูฝึกบอกว่า “ลองขอให้ท่านยืนซิได้ไหม ?” ท่านก็ยืนขึ้นมาเป็นพุทธลีลา เราก็ติดใจในภาพนั้นก็จับภาพพุทธรูปปางลีลามาตลอด พอหลวงพ่อมาสร้างจุฬามณี มีพระวิสุทธิเทพ ก็ชอบใจจับภาพพระวิสุทธิเทพ เสร็จแล้วพอไปไหว้พระพุทธชินราช ชอบพระพุทธชินราชก็จับภาพพระพุทธชินราช แล้วแต่เรา ขอให้ได้องค์ใดองค์หนึ่งที่เรารักเราชอบ จะติดตาติดใจของเรา ชอบอันไหนก็อันนั้นแหละ ขอให้นึกถึงท่านอยู่ตลอดก็แล้วกัน จะองค์ไหนก็ได้ทั้งนั้นแหละจ้ะ เอาเลยจ้ะอย่างน้อยก็เป็นอนุสติอยู่ไม่พุทธานุสติ ก็สังฆานุสติอยู่แล้ว
ถาม : ….................
ตอบ : “พระอะระหัง สุคะโต ภะคะวา นะ เมตตาจิต” ว่าไปเรื่อย ๆ ใครไม่ชอบเรา นึกถึงหน้าเขาไว้ ว่าไปซักครึ่งชั่วโมงหรือชั่วโมง แล้วค่อยโผล่ไปให้เขาเห็น จะเปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังเท้าไปเลย
ถาม : กระแสกรรมชักจูงได้ด้วยหรือคะ ?
ตอบ : กำลังของความดีความชั่วอันไหนแรงกว่าก็ดึงไปทางนั้น ไม่อย่างนั้นคนเราก็ไม่ลงนรกไม่ขึ้นสวรรค์น่ะสิ
ถาม : ….......................
ตอบ : ของอาตมาเองปล่อยชีวิตสัตว์เป็นปกติ แรก ๆ สมัยโน้นเกือบ ๒๐ ปีมาแล้ว หลวงพ่อท่านบอกว่า “เล็กเอ้ย...แกเป็นทหารมาทุกชาติ ฆ่าเขาไว้เยอะ เพราะฉะนั้น...จะป่วยบ่อยเป็นปกติ ให้ไปปล่อยปลาที่เขาขายเพื่อฆ่า เดือนหนึ่งสักตัวสองตัวนะ ให้ทำสม่ำเสมอจะช่วยได้เยอะ” เราบอก “หลวงพ่อครับ ปล่อยปลาต่ออายุไม่ใช่หรือครับ ผมไม่อยากอายุยืนอยู่แล้ว ผมจะปล่อยไปทำไม ?” ท่านบอก “แกอย่าเพิ่งเข้าใจผิด การปล่อยชีวิตสัตว์จะเป็นการต่ออายุก็ต่อเมื่ออุปฆาตกรรมเข้ามาช่วงนั้น” หมายความว่ากรรมใหญ่ที่เราเคยฆ่าคนหรือฆ่าสัตว์แทรกมาช่วงนั้น เราจะถึงแก่ความตายได้ ทั้ง ๆ ที่ยังไม่หมดอายุนี่แหละ ถ้าหากว่าช่วงนั้นเป็นอุปฆาตกรรมมา การปล่อยชีวิตสัตว์จะเป็นการต่ออายุ แต่ถ้าไม่มีอุปฆาตกรรมการที่เราปล่อยเขาให้รอดชีวิต ให้ได้รับความสุขรับความสะดวกสบาย ต่อไปเราทำอะไรก็สบายไปหมด จะคล่องตัว สิ่งที่ครูบาอาจารย์สั่งเราต้องทำตลอดชีวิตอยู่แล้ว
ถาม : …...................
ตอบ : นึก ๆ แล้วก็ขำดี ไปธุดงค์แล้วเราไม่สบายมาลาเรียกำลังกิน พอไปถึงพระเณรเขาก็บอก “อาจารย์ไม่เป็นไรครับ เดี๋ยวผมกางกลดให้” คนโน้นก็ปัดที่ให้ คนนี้ก็กางกลดให้ เราไม่อยากอยู่เแย ๆ ก็เอาบาตรไปตักน้ำเตรียมจะมาต้ม พอไปตักน้ำก็ไปเจอขอนไม้ลอยน้ำมาท่อนหนึ่ง โตเกือบโอบได้ยาวสัก ๓-๔ เมตร เราก็เออ...ต้องไม้อย่างนี้แหละจะได้อยู่ได้ทั้งคืน ก็แบกมา มือนี้ก็ถือน้ำ มือนี้ก็แบกไม้มา พอลูกศิษย์เห็นก็วิ่งมาสองคนจะช่วย บอกเขาว่า “มาอีก มาแค่นี้ไม่พอหรอก” มันก็ยังไม่เชื่อ ก็เลยบอกมาอีกแค่นี้ไม่พอหรอกมาแค่สองคน พอถึงเวลาก็ไหวครับ ๆ เราก็ปล่อย วูบเดียวหัวโขกพื้นกันเลย
ถาม : หลวงพี่ใช้อภิญญาแน่เลย ?
ตอบ : ไม่ใช่หรอก เป็นกำลังปกติ กำลังตอนนี้แก่ ๆ นี่เหลืออยู่ประมาณ ๑ ใน ๑๐ ของสมัยหนุ่ม ๆ เท่านั้นเอง เหลือแค่ส่วนเดียว แล้วลองดูไอ้หนุ่มสมัยนี้สู้ไม่ได้ ไม่ต้องใครหรอกอีกตากอล์ฟ ท่านกอล์ฟอายุน้อยกว่าเกือบยี่สิบปีได้ ตอนนั้นแบกเสาปูนหน้า ๕ ที่เขาเรียกเสาตีนช้าง จะมีฐานใหญ่ ๆ ใช่ไหม นั่นแหละ เสาปูนต้นนั้นยาว ๕ เมตร เราก็เออ...สงสารเอ็ง ไปแบกปลาย ข้าแบกโคนใหญ่นี้ก็ได้ ก็นับหนึ่ง สองสามเหวี่ยงขึ้นไหล่พร้อมกันใช่ไหม พอเราเหวี่ยงปุ๊บมันทรุดฮวบเลย เราก็หันไปดู โน่น...คอพับอยู่โน่นแล้ว บอก “กูจะโดนทับตายก็เพราะมึงนี่แหละ” เราต้องรีบปล่อยแล้ววิ่งไปยกออก เขาบอกว่า “ผมไม่นึกเลยครับ ว่าคนใกล้ตายจะคิดได้เยอะขนาดนั้น” ถามว่า “คุณคิดอะไร ?” บอกว่า “ผมคิดว่าทางด้านอาจารย์ก็แบกใหญ่กว่าตั้งเยอะ ถ้าอาจารย์โดนทับไปด้วยใครจะมาช่วยผม” ข้างของมันก็แค่ ๕ นิ้วนะ ของเราตีนเบ้อเร่อเลย แล้วแค่ห้านิ้วทับคอพับอยู่นั่น อย่างวันก่อนที่ผ่านมา เราก็ตัดหญ้าอยู่กลางฝนสองวันเต็ม ๆ ของคนอื่นเขาผลัดกันสามผลัดสี่ผลัด เราก็ยังตัดอยู่คนเดียว คือต่างกันนะ ของเราจะเรียกว่าเคยงานหนักมาก็ได้ แต่ว่าถ้าหากว่ากันตามความจริง คือเป็นกำลังบุญ ไม่ใช่กำลังร่างกายทั่ว ๆ ไป
ถาม : แต่กำลังของผู้หญิงที่เกิดมา สู้กำลังผู้ชายไม่ได้อยู่ดี ?
ตอบ : ถ้าหากว่ากำลังเหมือนนางวิสาขาก็เหลือเฟือ อย่าว่าแต่ผู้ชายเลย แม่เจ้าประคุณเอามือยันหน้าผากช้างก้นกระแทกไปเลย ต้องบอกว่ากำลังบุญ นั่นน่ะคุณย่าแก่ ๆ แล้วนะ แกมีลูก ๒๐ หลานอีก ๔๐๐ แล้วคราวนี้พระเจ้าปเสนทิโกศลสังเกตุไม่ออก เพราะว่าเบญจกัลยาณีเขามีกติกาว่า คลอดลูกคนแรกตอนอายุเท่าไร รูปร่างหน้าตาจะอยู่ลักษณะนั้นตลอดไป จะไม่มีการแก่อีก คราวนี้ท่านแต่งงานอายุสิบหก ก็คลอดตอนสิบเจ็ดก็แล้วกัน อย่างช้า ๆ ก็สิบแปด ก็อยู่อย่างนั้นตลอด แล้วลูกยี่สิบคน หลานอีก ๔๐๐ กี่ปีมาแล้วล่ะ คราวนี้ไปนั่งอยู่ในกลุ่มหลานสาว ๆ คนอื่นดูไม่ออกว่าคนไหนเป็นนางวิสาขา หน้าตาเหมือนกัน ๆ กันหมด พระเจ้าปเสนทิโกศลมองแล้วมองอีกหมายตาไว้ตอนฟังเทศน์จบ ว่าเออ...คนแก่ ๆ ถ้าลุกกำลังไม่ดี ต้องเอามือยันพื้น ก็สังเกตว่าเออ...คนนี้แน่ล่ะ เห็นเอามือค้ำพื้นอยู่คนเดียวใช่ไหม ก็ยังไม่ไว้ใจอีก ว่านางวิสาขามีกำลังตั้งเจ็บช้างสาร ไม่อย่างนั้นจะใช้เครื่องทรงมหาลดปสาธน์ไม่ได้ ท่านก็เลยปล่อยช้างไปให้นายควาญช้างปล่อยช้างลุยเข้าไปกลางวง คนอื่นวิ่งหนีกันหมด ท่านหันมามือผลักเบา ๆ เท่านั้นแหละ คือรู้ว่ากำลังสูงขนาดนั้นก็ไม่รู้ว่าจะหนีไปทำไม เลยยันเข้าไปทีเดียว ช้างก้นกระแทกไปเลย คนทั่ว ๆ ไป ถ้าพระพุทธเจ้าตามอรรถกถาท่านบอก มีกำลังเท่ากับช้างพันหนึ่งหนึ่ง นี่แค่เจ็ดเท่านั้น
ถาม : เจ้าพ่อหอกลองนี่คือ ?
ตอบ : จริง ๆ ลักษณะที่เราสมมติขึ้นมา เพราะว่าสมัยก่อนจะมีการตีกลองแจ้งเหตุ แจ้งเหตุไฟไหม้บ้าง แจ้งเหตุเพราะข้าศึกบุกบ้างอะไรบ้างอย่างนี้ เสร็จแล้วก็เออ...ในเมื่อลักษณะว่าเป็นผู้มีคุณแล้ว ก็สมมติเป็นเทวดาขึ้นมา คนเราถ้าสมมติเทวดาขึ้นมา เทวดาเดือดร้อนทุกทีแหละ เขาต้องหาเทวดที่ต้องมีความสามารถคล้าย ๆ กับที่สมมติขึ้นมารับหน้าที่นั้่นไป ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเทวดาชั้นจตุมหาราช หรือดาวดึงส์
ถาม : ….......................
ตอบ : จำเอาไว้ว่าโกรธก็ตาย ไม่โกรธก็ตาย เราจะโกรธเขา หรือไม่โกรธเขา เขาก็ทุกข์อยู่แล้ว เราจะโกรธเขาหรือไม่โกรธเขา เราก็ตายอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น...แล้วเราจะไปสร้างทุกข์สร้างโทษทำไม ถ้าหากว่าเราตายตอนนั้นใจกำลังโกรธเขาอยู่ ก็ลงอบายภูมิสิจ๊ะ สรุปแล้วเราทำร้ายตัวของเราเอง จะให้เราประเภทลงต่ำไปเพราะการกระทำของคนอื่นสมควรไหม คนอื่นอยากลงข้างล่างก็ให้มันลงไปสิ ถ้าเราไปโกรธเขาก็เท่ากับเรากระโดดลงไปกับเขาด้วย จะเอาอย่างนั้นหรือ ไม่เอาก็เลิกซะ
ถาม : แต่ฉันไม่พูดกับเขาได้ไหม ?
ตอบ : ได้ ไม่มีใครว่าอะไร ก็อย่าไปยุ่งกับเขาสิ โบราณเขาบอกว่า “อย่าเอาไม้สั้นไปรันขี้” ฟังออกไหม ? รัน คือตี ขี้กองอยู่ตรงนั้นเอาไม้สั้น ๆ ไปตี ก็กระเด็นมาเปรอะเราเหม็นเสียเปล่า ๆ เพราะฉะนั้น...อย่ายุ่งกับเขาได้น่ะเป็นดี
ถาม : บางครั้งเราก็ทำอารมณ์ได้ บางครั้งเราก็ทำไม่ได้ บางครั้งเจอต่อหน้าขณะทำอยู่ ยังมาสะกิดเราเลย บางครั้งเลยทำให้เราหงุดหงิดค่ะ
ตอบ : สรุปแล้วเราเลวจ้ะ ถ้าเราดีซะอย่างทุกอย่างก็ดีหมด
ถาม : บางครั้งก็ต้องเอาตัวหนีออกมา ให้อยู่ห่าง ๆจากจุดนั้น
ตอบ : จ้ะ ก็ไปก่อนสิ พ้นไปซะก่อน ถึงเวลาไหวแล้วค่อยไปลองชิมดูหน่อย ถ้ารู้ตัวว่าหัวจะแตกก็เผ่นอีก หลวงปู่หล้า วัดภูจ้อก้อ ท่านบอก “หัดเป็นนักหลบ อย่าเป็นนักรบ” เป็นนักรบรู้ว่ารบแล้วแพ้จะไปรบทำไม เพราะฉะนั้น....ถ้ารู้ว่ายังสู้ไม่ได้ กำลังไม่พอ จะต้องโกรธ ก็หลบไปซะก่อน ถึงเวลากำลังดีพอแล้วค่อยไปสู้กันใหม่
ถาม : อย่างคนที่เราเห็นหน้าเขาแล้วไม่ชอบ แล้วเราแผ่เมตตาให้เขาทุกวัน ๆ การที่เราทำไม่ดีกับเขาจะคลายตัวไหมเจ้าคะ ?
ตอบ : กรรที่เขาทำไม่ดีกับเรามากกว่า เราแผ่เมตตาให้เขาทำดีนี่หว่า...!
ถาม : หมายถึงอดีตที่เราทำไม่ดีกับเขา คือเจอหน้าเขาแล้วก็ไม่ชอบใจค่ะ
ตอบ : อย่างนั้นของเราเอง ถ้าหากว่าเราตั้งใจทำอย่างนั้นจริง ๆ จะกลายเป็นว่าเราไม่ถือโทษโกรธเคืองเขา สามารถแผ่เมตตาให้เขาได้ ต้องการให้เขาอยู่ดีมีสุขพ้นจากความทุกข์ ใจของเราคลายจากการผูกอาฆาตพยาบาทจองเวรนั้นแล้ว ก็เหลือแต่เขานั่นแหละ เราไม่จอง เขาอยากมาจองให้เขาตามมาฝ่ายเดียวก็แล้วกัน
ถาม : ต่อไปนี้หนูเจอที่เราไม่ชอบใจ หนูก็จะแผ่เมตตาไปเรื่อย ๆ
ตอบ : ดีจ้ะแผ่เมตตาให้กับคนที่เราไม่ชอบยากนะ ต้องให้คนที่เรารักก่อน แล้วให้คนที่เราไม่รักไม่เกลียด ให้คนที่เราเกลียดน้อย ให้คนที่เราเกลียดมาก ค่อย ๆ ขยับขึ้นไป
ถาม : ถวายบุญให้กับพระพุทธเจ้าทำได้ไหมคะ ?
ตอบ : ถวายได้จ้ะ บอกแล้วว่า “ถ้าพ่อเราเป็นมหาเศรษฐี เราซื้อขนมไปฝาก ถึงท่านไม่ต้องการท่านก็เต็มใจรับไว้ จะใช้หรือไม่ใช้เป็นอีกเรื่องหนึ่งของท่าน”
ถาม : เวลาที่เราเจอสัตว์ดุร้าย เราต้องแผ่เมตตาให้เขาก่อนหรือว่าอย่างไรคะ ?
ตอบ : ตอนนั้นไม่ทันแล้วจ้ะ ต้องแผ่เมตตาให้เป็นปกติ สภาพจิตของเราอย่าให้ย้อมด้วยความโกรธ เกลียด รัก ชอบ ชัง สามารถทำอย่างนั้นได้จนเป็นปกติกระแสเย็นจะมี สภาพจิตของสัตว์ถึงจะเร่าร้อนด้วย โลภะ โทสะ โมหะ ขนาดไหน ก็รับความเย็นนั้นได้
ถาม : การรักษาอารมณ์ อารมณ์แรกที่ควรรักษาคืออะไรคะ ?
ตอบ : รักเขาเสมอตัวเรา ปรารถนาให้เขาพ้นทุกข์ ยินดีเมื่อเขาอยู่ดีมีสุข
ถาม : ดูหนังสือพิมพ์อย่างไรถึงจะดูเป็นเจ้าคะ อย่างเช่น หนูดูข่าวบ้านเมืองเสร็จ หนูก็ไปดูข่าวดารา แต่ทำไมหนูจึงติดข่าวดารามากกว่าข่าวบ้านเมือง แล้วทำอย่างไรหนูถึงจะดูเป็น ?
ตอบ : รับรู้แต่ไม่รับทราบ เข้าใจไหม ? คือทุกสิ่งทุกอย่างรู้สักแต่วารู้ อย่าเอามาปรุงแต่งในใจ ทันที่เราไปนึกคิดปรุงแต่ง จะเป็นทุกข์เป็นโทษกับเราทัน เพราะว่าการปรุงแต่งจะแบ่งออกเป็นชอบ หรือไม่ชอบ หรือเฉย ๆ การปรุงแต่งไม่ว่าแง่ไหนก็ตาม จะทำให้รัก โลภ โกรธ หลง งอกงาม และถ้าจะอีกครั้งก็ให้เห็นว่า เออ...ทุกข์ขนาดไหน ทุกวันนี้เมียก็ด่า เจ้านายก็บ่น ชูวิทย์ก็แฉ (หัวเราะ)
ถาม : หลักการปฏิบัติที่คนจะไปอยู่ในวัด ควรจะทำอย่างไรบ้างเจ้าคะ ?
ตอบ : ทาน ศีล ภาวนา อย่างอื่นไม่ใช่ทั้งนั้นแหละ เราเข้าวัดเพื่ออะไร อย่าลืมจุดมุ่งหมายว่าเราไปเพื่ออะไร ตอนนี้เราไปตรงทางไหม หรือว่าเลี้ยวแล้วความเข้มแข็งของกำลังใจเท่ากับตอนเข้ามาใหม่ ๆ ไหม หรือว่ากระทบหน่อยก็ท้อถอยเสียแล้ว ถามตัวเองเอาไว้บ่อย ๆ ถามตัวเองเอาไว้ทุกวัน คิดอยู่เสมอว่า กาย วาจา ใจ ที่ดีกว่านี้ยังมีอยู่ เราต้องทำกาย วาจา ใจ ที่ดีกว่านี้ให้ได้ สร้างความก้าวหน้าให้กับตัวเองไว้ทุกวัน สร้างบุญสร้างกุศลให้กับตัวเองทุกวัน ๆ
ถาม : ขณะที่กำลังเราน้อย เราจะช่วยเหลือใคร เราก็ไม่ต้องไปทำใช่ไหมคะ ?
ตอบ : ช่วยแค่ไม่เกินกำลัง ไม่ใช่ไม่ไปทำเลย เป็นมดก็ช่วยแค่มด ไม่ใช่เป็นมดแล้วไปช่วยช้าง
ถาม : ทำไมเรายิ่งอยู่เรายิ่งทุกข์คะ ?
ตอบ : เป็นปกติธรรมดาของร่าง เราทุกข์อยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ารู้ตัวหรือเปล่าเท่านั้นเอง
ถาม : เพื่อนหนูเขาเป็นคล้าย ๆ โรคจิตฟุ้งซ่าน อยู่ ๆ ก็เกิดอการกลัวโน่นกลัวนี่ จนแบบว่าไม่อยากมีชีวิตอยู่ เขาถามหนูว่า “ทำบุญประเภทไหน กรรมตรงนี้ถึงจะคลายตัว ?”
ตอบ : ภาวนา
ถาม : เขาภาวนาไม่ได้เจ้าค่ะ พอเขาจะนั่งสมาธิเขาก็กลัว
ตอบ : แล้วจะช่วยอะไรได้ แก้ได้ด้วยการภาวนา เพราะการภาวนาจะเห็นสภาพตามความเป็นจริงของมัน พอจิตใจมั่นคงขึ้นจะเลิกกลัว คราวนี้ไปกลัวเสียแล้ว จะช่วยอะไรได้ แต่กลัวไม่จริงหรอก ถ้ากลัวจริงน่าจะกลัวนรกมากกว่า เห็นหรือยังว่าการดำรงชีวิตอยู่มีแต่ความทุกข์
ถาม : ท่องคาถาถ้าจิตของเรานิ่งอยู่อย่างนี้ตลอด ก็จะไม่มีอุปสรรคเข้ามาหาเราใช่ไหมคะ ?
ตอบ : ถ้ากลัวอุปสรรคก็เอาคาถาเงินล้านบทเดียว แต่ไม่ได้หมายความว่าบทเดียวของคาถาเงินล้าน ส่วนหนึ่งของคาถาเงินล้านก็คือบท “พรหมมา จะ มหาเทวา สัพเพยักขา ปะรายันติ” อันนั้นตัดอุปสรรคโดยตรงเลย
ถาม : แล้วถ้าท่องหมดเลยล่ะคะ ?
ตอบ : ถ้าท่องหมดเลย ผลก็จะได้รวมกัน แต่ถ้าจะเอาตัดอุปสรรคโดยตรงก็แงะมาบทเดียวแล้วก็ว่าไปเรื่อย
ถาม : หนูภาวนาฝึกมงกุฏพระพุทธเจ้า แล้วสติไปไหนไม่รู้ ฟุ้งซ่านไปแล้วพอกับมาก็ยังต่อที่เดิมได้ ?
ตอบ : ได้จ้ะ สภาพจิตมีความจำของมันอยู่ ในเมื่อจิตมีสภาพจำ ถึงเวลาดึงกลับมาก็ว่าต่อไป
ถาม : บางครั้งขณะที่คิดเรื่องอื่นอยู่ แล้วก็เหมือนจิตก็สวดอยู่ แล้วก็คิดอย่างอื่นด้วย ?
ตอบ : จ้ะ ลักษณะนั้นเหมือนกับแยกจิตทำงานหลาย ๆ อย่างพร้อม ๆ กัน เป็นเรื่องปกติ
ถาม : แล้วอย่างนี้จะให้ได้ผลทางกรรมฐานก็ช้าใช่ไหมคะ ?
ตอบ : ดึงมาอยู่กับลมหายใจเข้า-ออกจริง ๆ หยุดคิดเรื่องอื่นให้อยู่กับลมหายใจเข้า-ออกอย่างเดียว
ถาม : ….........................
ตอบ : เรื่องวัตถุมงคลครูบาอาจารย์ท่านศึกษามาอย่างไร มีความสามารถอย่างไร ท่านก็ทำของท่าน พระดีที่มีความสามารถจริง ๆ อย่างหลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบอย่างนี้ คนเคารพกันทั่วบ้านทั่วเมือง นั่นท่านดังเรื่องปลัดขิก หลวงพ่อยิด วัดหนองจอกก็เหมือนกันที่ประจวบคีรีขันธ์โน่น ปลัดขิกบินแข่งกับเครื่องบินเลย แล้วเป็นอย่างไร ไม่เห็นมีใครรังเกียจท่านเลย ถึงเวลารู้วาเป็นของหลวงพ่อยิดนี่โดดคว้าเลย อยู่ที่ว่าท่านทำได้แค่ไหน
ส่วนของปลัดขิกมาจากทางสายพราหมณ์ เขาถือว่าเป็นศิวลึงค์ คือเป็นอวัยวะของพระศิวะท่าน พูดง่าย ๆ คือว่า ถ้าเคารพกันจริง รักกันจริง อะไรก็ต้องเคารพกันได้ทุกส่วน เขาใช้คำว่า “เป็นองค์กำเนิด” คำว่า “องคชาต” คือเป็นต้นกำเนิดของผู้หญิงกับผู้ชาย ถ้าหากว่ารวมกันเข้าไปเมื่อไร การเกิดจะมีขึ้น เขาเลยนับถือ ในเมื่อนับถือแล้วก็มีวิชาการที่เขาสร้างขึ้นมาเพื่อบูชาตามหลักเขา สืบทอดกันมา เรียกว่าเป็นไสยศาสตร์ แต่เรื่องของไสยศาสตร์สำคัญตรงคนเอาไปใช้ ใช้ถูกต้องหรือเปล่า เขาถึงได้มีการแบ่งเป็นไสยขาวกับไสยดำ ฝ่ายไสยขาว คือเอาไปใช้ในทางถูกต้อง ช่วยเหลือคนอื่น แก้ไขความเดือดร้อนคนอื่น ถ้าเกิดไสยดำ คือเอาไปทำร้ายคนอื่น เบียดเบียนคนอื่น เพราะฉะนั้น...ของทุกอย่างมีคุณและโทษ อยู่ที่เราเอาไปใช้แบบไหน ใช้อย่างไร ถ้าใช้ผิดเป็นโทษขึ้นมา ก็กลายเป็นส่วนที่ไม่ดี ถ้าใช้ถูกเป็นคุณขึ้นมา ก็กลายเป็นส่วนที่ดีเท่านั้นเอง เรื่องพวกนี้แล้วแต่เขาเถอะ
|