สนทนากับพระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เดือนกรกฎาคม ๒๕๔๖(ต่อ)
ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ

      ถาม:  ...........................
      ตอบ :  ศีล ๒๒๗ ข้อ จะแบ่งออกเป็นอาบัติ คือการที่พระละเมิดศีลแล้ว ศีลขาด เรียกว่าต้องอาบัติจะมีเหตุของการต้องอาบัติ ต้องโดยไม่ละอาย รู้แล้วยังทำประเภทหน้าด้าน ต้องโดยไม่รู้ อ้างโดยไม่รู้ไม่ได้ คุณจะบวชคุณต้องศึกษามาก่อน ต้องด้วยสำคัญว่าควรในของที่ไม่ควร ต้องด้วยสำคัญว่าไม่ควรในของที่ควร ต้องด้วยสงสัยแล้วยังทำ ไม่รู้ว่าถูกหรือผิดแล้วยังทำ ต้องด้วยลืมสติ เขาปรับทุกรูปแบบ คุณเป็นพระแล้วบอกไม่รู้ศีลไม่ได้ ลืมก็ไม่ได้ ยังไม่ได้เรียนก็ไม่ได้ ทุกอย่างต้องได้หมด
              แล้วอาบัติเขาแบ่งเป็นหนักกับเบา อาบัติหนัก เรียกครุกาบัติ อาบัติเบา เรียกลหุกาบัติ ครุกาบัติ อาบัติหนักจะมีปาราชิกโดนแล้วขาดความเป็นพระเลย ๔ ข้อ สังฆาทิเสส โดนแล้วขาดความเป็นพระชั่วคราว ต้องอยู่กรรมชดใช้ตามระยะเวลา แล้วให้สงฆ์ ๒๐ รูปสวดคืนความเป็นพระให้ อันนี้มี ๑๓ ข้อ เรียกว่า อาบัติหนัก ครุกาบัติ ลหุกาบัติ คืออาบัติเบา เขาไล่ตั้งแต่ปาจิตตีย์ลงไปจนกระทั่งถึงทุพภาษิต
              คราวนี้อาบัติว่าโดยชื่อมี ๗ อย่างคือ ปาราชิก สังฆาทิเสส ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ ทุพภาษิต แล้วจะมีถุลลัจจัยที่จะเป็นอาบัติรองของปาราชิกกับสังฆาทิเสสด้วย แล้วจะแบ่งเป็นอุเทศ คือแต่ละหมวด จะขึ้นต้นด้วยนิทานุทเทส คือที่มา แล้วจะเป็นปาราชิกุเทส ประกาศถึงปาราชิก ๔ ข้อ สังฆาทิเสสสุทเทส เกี่ยวกับอาบัติ สังฆาทิเสส ๑๓ ข้อ อนิยตุทเทส เกี่ยวกับอาบัติที่ยังไม่แน่นอน ๒ ข้อ คือภิกษุอยู่ในที่ลับหูสองต่อสอง ไม่ได้ลับตา ลับหู หมายความว่าเห็นแต่พูดกันไม่ได้ยิน เขาอาจจะเกี้ยวกันก็ได้ เขาปรับตั้งแต่สังฆาทิเสส ปาจิตตีย์ แล้วแต่รับอันไหนก็ปรับอันนั้นถ้าหากว่าอยู่ในที่ลับตา เขาทำอะไรกันเราไม่เห็น พูดอะไรกันไม่ได้ยินอย่างนี้เขาปรับตั้งแต่ปาราชิก สังฆาทิเสส ปาจิตตีย์ แล้วแต่ว่ารับข้อไหนปรับข้อนั้น
              อย่างปาราชิกอาจจะมีการเสพเมถุน คือร่วมเพศกัน ปรับขาดความเป็นพระ สังฆาทิเสส พูดจาเกี้ยวกัน หรือจับต้องกายกันด้วยจิตกำหนัด ปรับสังฆาทิเสสหรือว่าถึงจะไม่มีอะไรเลยแต่ว่าอยู่ในที่ลับตาผู้หญิงสองต่อสอง โดนอาบัติปาจิตตีย์ เขาเรียกว่า อนิยตคือไม่แน่นอน
              แล้วก็มีนิสสัคคีย์ ปาจิตตีย์ ๓๐ ข้อ แบ่งออกเป็น ๓ วรรค คือจีวรวรรค เกี่ยวกวับการทำจีวร โกสิยวรรคเกี่ยวกับการทำเรื่องของสันถัตที่นั่ง ปัตตวรรค เกี่ยวกับเรื่องของบาตร นิสสัคคีย์ ปาจิตตีย์ แปลว่าของเสียต้องสละทิ้ง ถึงจะแสดงอาบัติตก หมายความว่าได้บาตรเกินมา ถ้าหากไม่วิกัปร่วมกับคนอื่นน ต้องสละทิ้งไป ถึงจะปลงอาบัติได้ ได้จีวรเกินมา หรือทำจีวรเกินประมาณ หรือว่าทำสันถัตโดยไม่ได้ตัดสันถัตเก่าลงไป หรือทำสันถัตก่อนที่อายุการใช้งานจะครบ ๖ ปี เขาเรียกว่า นิสสัคคีย์ แปลว่าของเสียต้องสละทิ้ง แล้วตัวเองเป็นอาบัติปาจิตตีย์
              ต่อไปก็เป็นอาบัติปาจิตตีย์ ๙๒ ข้อ แบ่งออกเป็น ๑๐ วรรค มุสาวาทวรรค เกี่ยวกับการโกหก สุราปานวรรค เกี่ยวกับการดื่มสุรา สัปปานวรรค เกี่ยวกับการฆ่าสัตว์ โอวาทวรรค เกี่ยวกับการให้โอวาท ภิกษุณี ไล่ไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งรัตนวรรค วรรคสุดท้ายจะมีอย่างละ ๑๐ มีอันเดียวที่ไม่เหมือนชาวบ้าน คือ สหธรรมิกวรรคที่ ๘ อันนี้จะมีอยู่ ๑๒ ข้อ รวมแล้วก็จะได้ ๙๒ ข้อ
              แล้วก็มีปาฏิเทสนียะ ๔ ข้อ ส่วนใหญ่กับเรื่องญาติโยมที่เป็นผู้หญิง โดยเฉพาะภิกษุณีหรือแม่ชีมาเจ้ากี้เจ้าการกับพระ ๔ ข้อ แล้วจะมีเสขียวัตร คือสิ่งที่พระภิกษุต้องปฏิบัติให้เป็นปกติ จะแบ่งเป็น ๔ หมวด สารูป คือเกี่ยวกับลักษณะการนั่ง การนอน การยืน การแต่งเนื้อแต่งตัว โภชนปฏิสังยุต เกี่ยวกับการฉันอาหาร เกี่ยวกับการบิณฑบาต ธรรมเทสนาปฏิสังยุต เกี่ยวกับการแสดงธรรม ปกิณกะ เบ็ดเตล็ด ๓ ข้อ รวมแล้วเสขิยวัตร มี ๗๕ ข้อ อันนี้ถ้าโดนทุกข้อ เขาถือว่าปรับเป็นอาบัติทุกกฎหมด
              ในตำราเขาไม่ได้บอกไว้ว่าปรับอะไร แล้วจะมีอธิกรณสมถะ คือการระงับอธิกรณ์ เรื่องที่เกิดขึ้นในหมู่พระ มี ๗ วิธีอยู่ด้วยกัน รวมแล้วทั้งหมดก็เป็น ๒๒๗ ข้อ อาบัตินอกจากจะแบ่งเป็นประเภทหนักเบาแล้ว ยังแบ่งเป็นประเภทแก้ได้ กับแก้ไม่ได้ แก้ได้เขาเรียก สเตกิจฉาอาบัติ เช่น พวกนิสสัคคีย์ พวกปาจิตตีย์ พวกทุกกฎ ทุพภาษิต พวกนี้แก้ได้ ตั้งแต่สังฆาทิเสสลงไปถือว่าแก้ได้ ถ้าหากว่าเป็นอเตกิจฉาอาบัติ คืออาบัติที่แก้ไม่ได้ คือปาราชิก ขาดแล้วขาดเลย ความเป็นพระไม่มีอีกแล้ว ยังมีอาบัติจะโดนด้วยตัวเองทำ หรือว่าโดนโดยสั่งคนอื่นทำ ยังแยกออกเป็นสาณัตติกะ ต้องเพราะสั่งคนอื่นทำ อาณัตติกะ ไม่สั่งคนอื่นทำ ทำเองก็โดน
      ถาม :  ........................
      ตอบ :  ศีลพระเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากแล้วพะรพุทธเจ้าท่านจะมอบลักษณะของการตัดสินความให้มา อย่างเช่น บางคนหน้าด้าน ๆ อ้างว่าสมัยโน้นไม่มี สมัยนี้เลยทำได้อย่างนั้น พระพุทธเจ้าท่านให้ลักษณะการตัดสินธรรมวินัยไว้ในเรื่องมหาปเทส ๔ แปลว่าข้ออ้างใหญ่ ๔ ข้อ ท่านบอกว่า
              สิ่งใดที่ว่าไม่สมควร พิจารณาแล้วว่าไม่สมควร สิ่งนั้นไม่สมควร
              สิ่งใดที่ว่าไม่สมควร พิจารณาแล้วว่าสมควร สิ่งนั้นสมควร
              สิ่งใดที่่ว่าสมควร พิจารณาแล้วว่าสมควร สิ่งนั้นสมควร
              สิ่งใดที่ว่าสมควร พิจารณาแล้วว่าไม่สมควร สิ่งนั้นไม่สมควร
              หรือว่าใช่ พิจารณาว่าใช่ สิ่งนั้นใช่
              ใช่ พิจารณาแล้วไม่ใช่ สิ่งนั้นไม่ใช่
              ไม่ใช่ พิจารณาแล้วไม่ใช่ สิ่งนั้นไม่ใช่
              ไม่ใช่ พิจารณาแล้วใช่ สิ่งนั้นใช่
              ไม่อย่างนั้นสมัยนี้มันอ้างเล่นยาม้า เล่นเฮโรอีนกันให้ยุ่งไปหมด เพราะสมัยโน้นไม่ได้ห้าม ห้ามแต่เหล้า แต่อันนี้เราต้องนับว่าสิ่งนี้ไม่สมควร พิจารณาแล้วว่าไม่สมควร ย่อมไม่สมควร ลักษณะการตัดสินอะไรต่าง ๆ พระธรรมวินัยพระพุทธเจ้าท่านกันเอาไว้หมดทุกรูปแบบแล้ว คนหน้าด้านมันไปเรื่อย ศีล ๒๒๗ ข้อไม่ต้องบัญญัติเพิ่มเติม สิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ "เกวะละปะริปุณณัง ปะริสุทธัง" สมบูรณ์บริบูรณ์อยู่ในเนื้อหาแล้ว ต่อก็เกินตัดก็ขาด
              แต่ว่าสมัยนี้ต้องมีพระราชบัญญัติสงฆ์ ๒๔๘๕ พระราชบัญญัติสงฆ์ ๒๕๐๕ พระราชบัญญัติสงฆ์ ๒๕๓๕ แก้ไข ๒๕๐๕ แล้วนี่มา ๒๕๔๕ อีกแล้ว ถ้าคนประเภทรักดีเสียอย่างเดียว แค่ศีล ๒๒๗ ไม่ต้องมีอะไรก็อยู่เย็นเป็นสุข
              คราวนี้แหม...เรื่องของระเบียบจัดการได้แต่คนดี คนหน้าด้านจัดการไม่ได้ ท่านใช้คำว่า "ทุมมังกุนัง ปุคลานัง นิคคะหายะ" เพื่อสะกดข่มบุคคลผู้เก้อยาก เก้อยาก คือหน้าด้าน "เปสะลานัง ภิกขุนัง ผาสุวิหารายะ" คือเพื่อความอยู่เป็ฯสุขของบุคคลผู้ที่มีความละอาย รู้จักละอายก็อยู่เย็นเป็นสุข ลักษณะที่ว่าห้ามเอาไว้เพื่อให้รู้ว่าสิ่งนี้ผิด ศึกษาไว้เฉย ๆ ถ้าไม่คิดจะไปละเมิดก็หมดเรื่องแล้ว
      ถาม :  ......................
      ตอบ :  เรื่องของปาราชิก เขาใช้คำว่า ห้ามมรรคผล แต่ไม่ห้ามสุคติ ปาราชิก สังฆาทิเสส ห้ามมรรคผลคือชีวิตนี้ไม่มีทางเข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้าได้แน่ เพราะว่าศีลไม่บริสุทธิ์ แต่ไม่ได้ห้ามสุคติ หมายความว่าถ้าเราตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติจริง ทรงฌานทรงสมาบัติได้ มีสิทธิ์เป็นเทวดาเป็นพรหมได้ แต่ว่าอนันตริยกรรม ไม่ได้ปิดมรรคผลเฉย ๆ แต่ปิดสุคติด้วย ลงอเวจีอย่างเดียวจริง ๆ อนันตริยกรรม คือฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ ฆ่าพระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้าถึงห้อพระโลหิต ยุสงฆ์ให้แตกกัน อันนี้เรียบร้อยแน่ ไม่มีใครรอด
      ถาม :  คำภาวนา คำว่า "สมานัตตตา"
      ตอบ :  ตามรากศัพท์มาจาก สม=เสมอ และอัตตา=ตนเอง รวมแปลว่าเสมอด้วยตนเอง คือเอาใจเขามาใส่ใจเรา เราชอบอะไรเขาก็ชอบอย่างนั้น เราไม่ชอบอะไร เขาก็ไม่ชอบอย่างนั้น จึงให้ปฏิบัติต่อคนอื่น เหมือนกับปฏิบัติต่อตนเอง
      ถาม :  ............................
      ตอบตัวปฏิฆะ คืออารมณ์กระทบ ถ้าหกาว่าเราไม่รับเข้ามาจะไม่มีอันตรายกับเรา คราวนี้พอเราตาเห็น หูได้ยิน เราปล่อยให้เข้าไปในใจเลย แล้วเราก็ไปคิดว่า เอ๊ะ...มันทำไม่ดีกับเรา ไอ้นี่กวนตีนนี่หว่า ก็ไปกันใหญ่ แต่ถ้าเราเห็นสักแต่ว่าเห็น ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน มันทำอะไรเราไม่ได้
              เพราะฉะนั้น...หยุดความคิดให้ทัน เห็นก็เห็นเฉย ๆ อย่าไปคิดต่อว่าทำท่าไม่ดี พูดไม่ดีอะไรอย่างนั้น ไม่อย่างนั้นเราเป็นอันตรายอยู่คนเดียว มันเองไม่รู้เรื่องอะไรหรอก สบายใจตามปกติของมันนั่นแหละ ให้ฆ่าความชั่วในใจของเราซะ...!
      ถาม :  ถ้าหากว่ามีคนคิดร้ายกับเรา ?
      ตอบ :  จิตใจทำร้ายคนถึงไม่มี แต่จิตใจระวังคนห้ามละเลยจ้ะ อ่านกำลังภายในมาตั้งเยอะแล้ว จำไม่ได้หรืออย่างไร ห้ามคิดร้ายคนอื่น แต่ต้องคิดระวัง
      ถาม :  จริง ๆ ถ้าเราไม่ผูกใจโกรธ ไม่ผูกใจเจ็บ ก็หมดง่าย ?
      ตอบ :  หมดเยอะเลย โกรธให้โกรธได้ แต่ว่าโกรธแล้วถึงเวลาแล้วลืมไปเลย ไม่ต้องเสียเวลาไปผูกเจ็บใคร
      ถาม :  โกรธแค่แวบเดียว แล้วก็หมดไปเลย
      ตอบ :  จะโกรธสักสามวันสามคืนก็ได้ แต่อย่าไปผูกโกรธ
      ถาม :  หนูไม่โกรธ แต่หนูจะเอาคืน ?
      ตอบ :  เอาคืนน่ะ อาฆาตพยาบาทแล้วจ้ะ (หัวเราะ)
      ถาม :  ในเรื่องของคำด่าโดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ตัวอย่างเวลาเขาด่ากัน เขาด่าว่า "Bull Shit" ที่แปลว่าขี้วัว และ Chicken แปลว่าลูกไก่ อย่างคนไทยเขาด่ากัน เขาด่าว่า "ไอ้สัตว์ หรือ Animal" สมมติว่าเราไปด่าฝรั่งว่า ไอ้ animal เขาก็จะขำ หรือคนไทยด่ากันว่า ไอ้ขี้วัว หรือว่าไอ้ลูกไก่ ก็ไม่โกรธ น่ารักดี ถ้ามีคนด่าเราว่า ไอ้ใฝ่สูง เราไม่โกรธ แต่ถ้าด่าเราว่า ไอ้ใฝ่ต่ำ ก็โกรธ เรื่องของคำด่าเป็นสมมติบัญญัติหรือไม่ และการรับคำด่าเป็นการรับอารมณ์ของอีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่ครับ ?
      ตอบ :  จริง ๆ กระทั่งไอ้ตัวคนด่า และไอ้ตัวคนถูกด่ายังเป็นสมมติบัญญัติเลย แล้วคำด่าจะไม่เป็นได้อย่างไร เพราะฉะนั้น...สิ่งที่ผ่านเข้ามาทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ถ้าเราไปรับเข้ามาสู่ใจเป็นการรับอารมณ์แน่ ๆ แน่นอน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เลย
              ส่วนเรื่องของคำด่า แล้วแต่ว่าในสายตาของคนเหล่านั้น หมู่นั้น เขาถือสาในเรื่องไหน ถ้าหากว่าไม่ตรงกับที่เขาถือสา บางครั้งเขาก็เห็นเป็นเรื่องตลกไป แต่จริง ๆ ของเขาถ้าด่าว่า ไอ้หมูสกปรก มันด่าหนักกว่าที่เราด่าเป็นหมาเป็นเหี้ยอีก ประเภทโกรธแทบจะฆ่ากันตายเลย อยู่ที่ว่าเขาถือสาตรงไหน แบบเดียวกับคนไทย้ถามาลองประเภทตบกะโหลกดูสิ ก็ได้วางมวยกันตรงนั้น แต่ของญี่ปุ่นเขกกบาลไม่ว่าแต่เองอย่าเตะตูดนะ เตะเมื่อไรเป็นเรื่องเมื่อนั้น ญี่ปุ่นเขาไปถือเรื่องตูดแทน
              เพราะฉะนั้น...เด็กญี่ปุ่นเวลาโดนลงโทษ เคยดูในการ์ตูนไหม แม่จะจับฟาดก้น นั่นถือว่าเป็นการลงโทษที่รุนแรงมาก อยู่ที่ว่าใครถือสาอย่างไร เพราะฉะนั้น...ทุกอย่างเป็นสมมติบัญญัติทั้งหมดนั่นแหละ
      ถาม :  เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก โรงเรียนเขาจัดงานต่อต้านการสูบบุหรี่และให้ผู้ใหญ่แต่งตัวเป็นรูปบุหรี่ ปรากฏว่าเด็กรุมตีรุมเตะบุหรี่ ผู้ใหญ่ผู้ปกครองก็ชื่นชม หรือการเกลียดชังดังกล่าว สรุปว่าเมื่อเราเป็นคนดีและคิดว่าตัวเองดีแล้ว หรือไม่ดีจริงก็ตาม การเกลียดชังต่อความเลว หรือความชั่วต่าง ๆ เราควรต่อต้านมากน้อยเพียงใด ?
      ตอบ :  จริง ๆ เขาให้ละอายชั่วกลัวบาป ไมใช้ให้ไปโกรธเกลียดอาฆาตแค้น ลักษณะโกรธเกลียดอาฆาตแค้น กำลังใจของเราเสีย อยู่ในลักษณะพยาบาท หรือวิหิงสาวิตก คือคิดจะเบียดเบียนเขา ท่านให้ใช้เป็นหิริโอตัปปะ คือละอายแก่ความชั่ว กลัวผลของความชั่วจะส่งผลให้เราได้รับความเดือดร้อน ที่ว่ามาลักษณะนั้นผิด แต่คนเขาเห็นว่าดีเลยไปสนับสนุน
      ถาม :  การที่พระจับเงินผิดตรงไหน เพราะเขาบอกว่า "พระจับเงินเป็นนิสสัคคีย์ ปาจิตตีย์"
      ตอบ :  ถามว่า "ผิดตรงไหน ?" ต้องตอบว่าเป็นปัณณัตติกวัชชะ ผิดเพราะพระพุทธเข้าบัญญัติเอาไว้ แต่จริง ๆ ก็คือว่าเป็นโลกะวัชชะ สมัยก่อนโลกติเตียนด้วยเขาว่าพระเป็นผู้ซึ่งสละแล้วซึ่งกิเลส แล้วจะไปแตะต้องยุ่งเกี่ยวกับเงินทองทำไม พระพุทธเจ้าถึงได้บัญญัติขึ้นมา
              แต่คราวนี้ปัจจุบันนี้ทุกสิ่งทุกยอ่างไม่ได้ละเว้นให้พระฟรี ๆ เหมือนสมัยก่อน เพราะว่าเดี๋ยวนี้พระเยอะขึ้น และพวกรู้มากก็เยอะขึ้น ถ้าเจอไอ้พวกรู้มาก ๆ เยอ ะ ๆ เข้าอะไร ๆ ก็ฟรีเขาก็แย่เหมือนกัน เลยกลายเป็นว่าเงินทองเป็นของจำเป็น ถ้าหากว่าสำหรับทางด้านธรรมยุต เขาตัดปัญหาด้วยการให้มีเด็กวัดหรือเณรตามไปเป็นคนจ่าย จะไปหาเด็กวัดหาเณรตามพระเยอะขนาดนั้นก็ไม่ไหว เลยว่ากันซะเอง
              เพราะว่าสิกขาบทที่ ๘ ของนิสสัคคีย์ ปาจิตตีย์ เขาระบุไว้ว่า "ภิกษุรับเงินทอง หรือสิ่งของที่ใช้แทนเงินทอง ต้องนิสสัครีย์ ปาจิตตีย์" พอไปสิกขาบทที่ ๙ ท่านใช้คำว่า "ภิกษุรับเอง หรือใช้ผู้อื่นรับแทน ก็โดนเหมือนกัน" ตกลงโดนทั้งขึ้นทั้งล่อง พระมหานิกายอย่างอาตมาก็ค่อนข้างหน้าด้าน ในเมื่อจะโดนอยู่แล้วทั้งขึ้นทั้งล่องก็รับซะเอง เพียงแต่ว่าใช้จ่ายให้ถูกต้องตามสมณสารูป ทำให้เป็นบุญ เป็นกุศลให้มากที่สุด
              หลวงพ่อท่านให้ปฏิญาณตั้งแต่วันบวช งานวันที่อาตมาบวชขอบอกว่า "พระพุทธเจ้าเป็นประธาน" พูดให้คนฟังบ้าไปเลย เพราะว่ามันไม่เห็นใช่ไหม พระพุทธเจ้าท่านให้ปฏิญาณว่า "ข้าพเจ้าจะรับเงินและทองที่ผู้มีจิตศรัทธาถวาย แต่จะใช้เพียงสมควรแก่สมณสารูปเท่านั้น ที่เหลือให้ใช้ไปในกองบุญการกุศล เพื่อเพิ่มอานิสงส์ให้กับผู้ที่เขาถวาย"
              เพราะฉะนั้น...อาตมาจะจับเงินด้วยความสบายใจมาก เพราะถือว่าต้นตำรับท่านอนุญาตแล้วและอีกอย่างหนึ่งก่อนที่พระพุทธเจ้าท่านจะปรินิพพาน ได้ตรัสบอกพระอานนท์ว่า "อานันทะ ดูก่อนอานนท์ ต่อไปกาลข้างหน้าสิกขาบทเล็กน้อยอันไหนที่ไม่เหมาะสมกับยุคสมัย ขอให้สงฆ์ร่วมกันสวดเพิกถอนได้" หมายความว่าให้ยกเลิกศีลข้อนั้นได้
              คราวนี้หลวงพ่อท่านบอกว่า "พิจารณาแล้วทั้ง ๒๒๗ ข้อ มีข้อนี้ข้อเดียวที่ควรยกเลิก" แต่คราวนี้ทางด้านเถรวาท คำว่า เถรวาท คือถือตามวาทะพระเถระ หมายความว่าของเราสังคายนาพระไตรปิฎกด้วยการรวมพระผู้ใหญ่ที่รู้ธรรมจริง ๆ มาประชุมรวมกัน ยืนยันว่าถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง แล้บันทึกขึ้นมาเป็นพระไตรปิฎก เขาเลยเรียกว่า เถรวาท เถรวาทของเราให้ความเคารพตามคำตามตัวหนังสือ ไม่มีใครกล้าเปลี่ยนแปลง อาบัติข้อนี้ก็เลยยังเป็นอาบัติ ถ้าหากว่าพระทำยังศีลขาดอยู่
              แต่คราวนี้เรามาดูว่าอย่างอาตมาเอาไปก็ไปใช้เป็นสังฆทาน วิหารทาน ธรรมทาน สังฆทานคือว่าใช้ในงานของสงฆ์ อย่าเช่นเป็นค่าอาหารพระบ้าง อำนวยความสะดวกให้กับพระเป็นค่ายารักษาโรคบ้าง วิหารทาน คือใช้ในการก่อสร้าง ธรรมทาน คือซื้อตำรับตำรา หรือว่าให้ทุนการศึกษา
              คราวนี้สิ่งที่เราทำเป็นบุญมากกว่าไหม การละเมิดสิ่งทีพระพุทธเจ้าพูด หรือพระพุทธเจ้าท่านสอนหรือพระพุทธเจ้าท่านห้าม ละเมิดสิ่งที่ท่านห้ามไม่ผิดไม่มีหรอก ผิดแหง ๆ แต่ละเมิดไปแล้วทำในสิ่งที่มีอานิสงส์มากกว่าไหม ถ้าหากว่าอยู่ในลักษณะนั้น คนหน้าด้านอย่างอาตมากล้าลงทุน เพราะเราถือว่าเราละเมิดแล้วเราทำในสิ่งที่มีบุญมากกว่า
              แบบเดียวกับในภูตคามวรรคของปาจิตตีย์กัณฑ์ ท่านบอกเอาไว้ว่า "ภิกษุพรากของเขียวที่เกิดขึ้นกับที ต้องอาบัติปาจิตตีย์" หมายความว่าศีลขาดอีกเหมือนกัน ของเขียวก็คือต้นไม้ใบหญ้าที่เกิดอยู่กับที่ หมายความว่ายังไม่หลุดออกมา เราไปดึงไปถอนไปตัดไปฟัน โดนแล้ว คนสมัยนั้นถือว่าต้นไม้มีชีวิต พระเป็นผู้ที่สละแล้วซึ่งกิเลสแล้วไปเบียดเบียนทำไม ทั้ง ๆ ที่ต้นไม้จริง ๆ มีแค่ประสาทของมันเท่านั้น ไม่ใช่จิต คือชีวิตจริง ๆ แต่ในเมื่อเขาถือเป็นโลกติเตียน พระพุทธเจ้าท่านก็บัญญัติห้ามขึ้นมา แล้วเราจะไปปล่อยให้วัดรกเป็นป่าก็ไม่ได้ คนจะเสื่อมศรัทธา ก็จำเป็นที่จะต้องตัดหญ้า จะต้องไปถอนไปแต่งต้นไม้ ถามว่าผิดไหม คือผิดแน่ ๆ แต่เราทำแล้ววัดวาอารามสวยงาม ร่มรื่นดูแล้วสบายตา สบายใจ คนอยากเข้าวัด อานิสงส์มากกว่าไหม ถ้ามากกว่า อย่างอาตมาถือว่าหน้าด้านก็ลงทุนทำ จนกระทั่งสมัยอยู่วัดท่าซุงพูดกันว่า "ถ้าใครพรากของเขียวไม่ถึงหนึ่งไร่ จะปรับอาบัติ" วัดท่าซุงที่เป็นร้อย ๆ ไร่ ถ้าขืนทำน้อย ๆ ก็ไม่เสร็จซะที เพราะฉะนั้น...ใครพรากของเขียวไม่ถึงหนึ่งไร่ปรับอาบัติ (หัวเราะ)
      ถาม :  การประกันชีวิต เขาประกันว่าตายไปแล้วคนข้างหลังจะได้รับเงิน สรุปว่าเราประกันว่าเราตายแล้วครอบครัวเราจะได้เงิน แต่เราประกันไมให้เราตายไม่ได้ นอกจากผู้มีอิทธิบาททั้งสี่แล้ว จะมีผู้ใดรอดพ้นจากความตายไปได้บ้าง ?
      ตอบ :  ผู้มีอิทธิบาททั้งสี่ครบถ้วนสมบูรณ์ ก็ไม่สามาถจะรอดพ้นได้ เพียงแต่ว่าจะยืดชีวิตของตัวเองไปได้ในระยะเวลาที่ตนต้องการสูงสุดไม่เกิน ๑ กัป แล้วก็ตายเหมือนกัน ส่วนการประกันชีวิตอยู่ในลักษณะไม่ประมาท จะเรียกไปแล้วก็เป็นการปฏิบัติตามพระพุทธเจ้าสอน ท่านบอกว่า "ปะมาโท มัจจุโนปะทัง ความประมาทเป็นหนทางแห่งความตาย อัปปมาโท อะมะตังปะทัง ความไม่ประมาทเป็นหนทางไม่ตาย" กลัวคนอยู่ข้างหลังลำบาก เราทำประกันชีวิตไว้
              คราวนี้การทำประกันชีวิตมีข้อบังคับตามกฎหมายอยู่ ถ้าไม่จ่ายฟ้องร้องได้ แล้วบริษัทเขาก็ต้องรักษาชื่อเสียงของเขา เขาต้องจ่ายแน่อยู่แล้ว เพียงแต่ขั้นตอนในการพิสูจน์นี่ แหม...น่ารำคาญ แต่วาเป็นการเผื่อเหลือเผื่อขาด เป็นการไม่ลำบากลูกหลาน ไม่ลำบากมากก็ทำเอาไว้ แต่รับรองได้ว่าประกันแค่ไหนก็ตาย ผู้ที่คล่องตัวในอิทธิบาทสี่ สามารถอธิษฐานยืดชีวิตของตัวเองไปได้เรื่อย ๆ ก็ตาย เพราะว่ากติกาสูงสุดไม่เกิน ๑ กัป
      ถาม :  (ไม่ชัด)
      ตอบ :  นิพพานเป็น นิพพานตาย นิพพานดำ นิพพานขาว จะมีประเภทเรีกยกว่า พูดง่าย ๆ คือว่า ถ้าหากว่าทำแล้วได้ทิพจักขุญาณ จะมีรายการทดสอบ รายการทดสอบนี่ยุ่ง เขาพยายามที่จะสร้างอะไร ๆ ขึ้นมาเพื่อให้เราเข้าใจผิด และไปวุ่นวายกับจุดหมายนั้น จะได้ไม่เข้าถึงมรรคผล เพราะฉะนั้น...สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ถ้าเกินไปจากพระไตรปิฎกที่พระพุทธเจ้าท่านสอน ไม่ต้องไปใส่ใจ เพราะว่าตอนที่ท่านพรรษาที่ ๙ พระองค์ท่านจำพรรษาที่ป่าประดู่ลาย ท่านเดินถือใบประดู่ออกมา "ภิกขเว ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ใบประดูในกำมือของตถาคต กับใบประดูในป่าอันไหนมากกว่ากัน" พระทั้งหมดก็บอกใบประดู่ในป่ามากกว่าประมาณไม่ได้พระเจ้าข้า พระพุทธเจ้าบอกว่า "นั่นแหละภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่ตถาคตรู้เปรียบเหมือนใบประดู่ในป่า แต่สิ่งที่สอนเธอทั้งหลายก็คือใบประดูในกำมือนี้" เพราะว่าสิ่งที่เปรียบเหมือนใบประดูในป่านั้น ไม่ได้เป็นไปเพื่อความคลายกำหนด ไม่ได้เป็นไปเพื่อความหลุดพ้น ท่านก็เลยไม่สอน เพราะฉะนั้น...อะไรที่เกินพระไตรปิฎกก็อย่าไปใส่ใจ ยุ่งเสียเปล่า ๆ