สนทนากับพระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เดือนกรกฎาคม ๒๕๔๖(ต่อ)
ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ
ถาม: แล้วที่เขาสร้างให้ผีบ้านผีเรือนอยู่ ?
ตอบ : จริง ๆ ไม่ใช่ ผีบ้านผีเรือนเขาไม่กล้าอยู่หรอกจ้ะ เพราะว่าเรื่องของสี่เสา หกเสา แปดเสา จะเป็นของอากาศเทวดาที่เป็นเจ้านายพระภูมิอีกทีหนึ่ง อย่าไปตั้งส่งเดชนะจ๊ะ มีโทษเหมือนกัน ถ้าหากว่าคุมลูกน้องไม่ได้ หรือในบ้านเด็ก ๆ ขี่คอพ่อแม่เลยก็เจ๊ง สังเกตดูเถอะ ถ้าบ้านไหนเป็นอย่างนั้น ประเภทผู้ใหญ่คุมเด็กไม่อยู่หรอก การตั้งศาลพระภูมิจริง ๆ สำคัญตรงทิศด้วย ถ้าไปตั้งทิศใต้หรือทิศตะวันตกมีสิทธิ์เดี้ยง เพราะอันนั้นเป็นทิศอากาศเทวดาเขา ศาลพระภูมิที่เหมาะสมที่สุดให้อยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของตัวบ้าน ถ้าไม่ได้ก็ให้อยู่ทิศเหนือ ถ้าไม่ได้ให้อยู่ทิศตะวันออก ได้แค่ ๓ ทิศนี้เท่านี้น แล้วประเภทห้ามเงาบ้านทับไม่เกี่ยวนะ สำคัญอยู่อย่างเดียวว่า อย่าให้อยู่ข้างหน้าต่างหรือใกล้หน้าต่าง เพราะส่วนใหญ่คนเรามักง่าย บางครั้งจะเทของสกปรกลงไป อย่าให้อยู่ใกล้หน้าต่าง หรืออย่าให้อยู่หลังส้วมแค่นั้นพอ เทวดาท่านรักษาความสะอาด ท่านจะไม่ชอบเรื่องสกปรก ถ้าหากว่าไปตั้งเอาไว้ใกล้ ๆ หน้าต่าง แล้วคนมักง่ายทำสกปรก หรือไปตั้งอยู่หลังส้วมท่านก็แย่เหมือนกัน
ถาม : เขาบอกว่า "ไม่ให้ตั้งหิ้งพระไว้ในห้องนอน ?"
ตอบ : จริง ๆ แล้วไว้ได้จ้ะ ประเภทก่อนนอนไหว้พระ ตื่นนอนไหว้พระก็ดี ส่วนใหญ่แล้วกลัวจะโป๊ให้พระเห็น พระท่านไม่ดูหรอกจ้ะ
ถาม : ผีอำ คืออะไรคะ ?
ตอบ : เป็นอาการ ๒ อย่างด้วยกัน อย่างหนึ่งเกิดจากเลือดลมร่างกายของเราไม่ดี เวลาลมตีขึ้นจะเห็นเป็นเงาดำ ๆ เหมือนอย่างกับอะไรมาทับอยู่ จะอึดอัดหายใจไม่ค่อยออก ส่วนอีกอย่างหนึ่งก็ผีจริง ๆ เลยจ้ะ ไอ้พวกนี้ก็มาแกล้งบ้าง ถ้าเราเป็นนักปฏิบัติก็เพื่อนเราเองนั่นแหละ เป็นเทวดาบ้างเป็นอะไรบ้างมาแกล้ง ดูว่าเรายังกลัวตายไหม ถึงเวลาเจอสิ่งที่น่ากลัว เรานึกถึงความดี นึกถึงพระได้ไหม อันนี้ของแท้เลย มาเป็นตัว ๆ กันเลย
ถาม : เคยโดน ช่วงนั้นนอนเปิดประตูหน้าต่าง หลังจากที่เรานั่งสมาธิแล้ว ก็นอน แป๊บเดียวมาเลย สังเกตุดูว่ามาหลังจากนั่งสมาธิแล้ว
ตอบ : ถ้าลักษณะนั้น คือเขาทดสอบกำลังใจจ้ะ คืออุตส่าห์ทำความดีขนาดนั้น ดูซิมันกลัวตายไหม ? ถ้าหากว่าเรากลัวมากจนอาจจะเสียสติหรือว่านึกถึงความดีได้ เขาก็เลิก กลัวมากเขาไม่หลอกให้เสียเวลาหรอก ไม่มีรสชาด ประเภทครึ่งกล้าครึ่งกลัวเขาชอบ แล้วยิ่งประเภทคุย ว่ากูไม่กลัวเลยนั่นแหละ โดนแน่ ๆ
ถาม : พอหันทิศไม่ขวางประตูก็ไม่โดนอีกค่ะ
ตอบ : ทดสอบดูแล้วกัน บางครั้งเป็นทางที่เขาเข้าออกประจำอยู่ เท่ากับเราไปนอนขวางเขา ถึงเวลาเขาก็เขี่ยเราออก นี่เมตตาแล้วนะ ดีไม่ดีก็เหยียบเอาเลย (หัวเราะ)
ถาม : ................................
ตอบ : ตั้งใจอุทิศส่วนกุศลให้เขาจ้ะ ไม่ต้องทำใหม่หรอก ตั้งใจว่า "ผลบุญทั้งหมดที่เราสร้างตั้งแต่ต้นจนบัดนี้ ขออุทิศให้กับเธอ ขอให้เธอโมทนา เราจะได้รับประโยชน์ความสุขเท่าไร ขอให้เธอได้รับด้วย" แต่คราวนี้บางครั้งเขาแบบประเภทที่ว่าได้จากเราแล้ว แต่ไปเจอคนที่เขาจำได้ว่า เคยเป็นญาติ เป็นโยม มีความสัมพันธ์ในอดีตกันมาอย่างนี้ เขาก็ไปตื๊อขอกับคนนั้นเขาก็ไม่มากวนเราหรอก บางครั้งนอนอยู่ด้วยกัน มันปลุกไอ้นั่นขึ้นมาคนเดียว แต่ไอ้คนรอบข้างมันไม่ยุ่งด้วยเลย คนรอบข้างเหมือนโดนสะกดหลับเป็นตาย ชนิดกระทืบก็ไม่ตื่น แต่คนที่เขาต้องการเขาจะปลุกให้ตื่นอยู่คนเดียว
ถาม : ไม่ได้แปลว่าเราเป็นคนชั่วร้ายใช่ไหมคะ ?
ตอบ : ไม่ใช่จ้ะ ที่เขามาแสดงว่าความดีของเราพอ เขาต้องการความดีของเรา
ถาม : เป็นไปได้ไหมคะ ว่าเราเจอเพราะว่าเราเป็นคนไม่ดี ?
ตอบ : ถ้าเราไม่เคยทำความดีอะไรไว้เลย หรือไม่มีความสัมพันธ์กันมา เขาไม่มายุ่งหรอก เพราะว่าเรื่องขอส่วนกุศล เขาต้องดูอย่างเปรตญาติพระเจ้าพิมพิสาร นั่น ๙๑ กัป ผ่านพระพุทธเจ้าตั้งหลายองค์ ขนาดไปขอส่วนกุศลพระพุทธเจ้ายังไม่ได้เลย เพราะไม่เคยเป็นญาติกันมา ก็ต้องรอจนกระทั่งพระเจ้าพิมพิสารมาเกิด แล้วได้ถวายวัดเวฬุวันไว้ในพระพุทธศาสนา
คราวนี้ก็ไม่อุทิศส่วนกุศลเสียอีก แกเลยต้องมาทวงกัน พระเจ้าพิมพิสารได้ยินเสียงก็ตกใจ ตอนเช้าก็ไปกราบทูลพระพุทธเจ้า "เมื่อคืนโยมนอนไม่หลับเลย ไม่รู้เสียงอะไรน่ากลัวเหลือเกิน" พระพุทธเจ้าท่านบอกให้ฟังว่า "เป็นเปรตญาติที่ตายมา ๙๑ กัป เขารอผลบุญอยู่ คราวนี้มหาบพิตรถวายวัดไว้ในพระพุทธศาสนา แล้วไม่ได้อุทิศส่วนกุศลให้ เขาเลยมาทวง" พอได้ยินว่าอุทิศส่วนกุศล พระเจ้าพิมพิสารท่านเป็นพราหมณ์ รูปแบบของการอุทิศส่วนกุศลยังไม่มี ท่านถนัดตามแบบของพราหมณ์คือว่า ถ้าหากว่าให้ใคร ก็เอาน้ำรดมือคนนั้นเป็นสัญลักษณ์ว่าฉันให้สิ่งนั้นกับเธอแล้ว
แต่คราวนี้ผีไม่ยื่นมือมาให้รดเสียด้วย ท่านเลยรดมือตัวเองแล้วก็บอกว่า "อิทัง เม ญาตินัง โหตุ" ขอผลทานนี้จงสำเร็จแก่ญาติของข้าพเจ้า พวกเราก็ยึดถือรูปแบบเอาน้ำรดมือกันเรื่อย ๆ จริง ๆ ไม่ต้องหรอก แค่คิดให้เขา ๆ ก็ได้แล้ว
ส่วนเรื่องการกรวดน้ำไม่ต้องไปเถียงกัน ที่ไหนเขานิยมรูปแบบของการเอาน้ำรดมือ เราก็รดไปด้วย แต่ใจเราคิดให้ถูกแล้วกัน ว่าเราให้ใคร จะได้ไม่ต้องไปทะเลากันขัดกัน แต่ที่ไหนประเภทที่เรียกว่า เราไม่ต้องเกรงใจใคร เราก็ตั้งใจอุทิศส่วนกุศลให้ประเภทที่เขาเรียกว่า "กรวดแห้ง" อย่างไร แค่นึกให้เขามาโมทนาก็ใช้ได้แล้ว เปรตญาติพระเจ้าพิมพิสารให้แค่นั้นยังไม่พอนะ คืนนั้นแกมาใหม่ แก้ผ้ามา กลายเป็นเทวดาแล้วไม่มีผ้าจะนุ่ง ก็มาขออีก พระเจ้าพิมพิสารก็ไปถามพระพุทธเจ้าอีกว่า "คราวนี้จะทำอย่างไร ?" ท่านบอกว่า "ให้ถวายผ้าไตรจีวรไว้ เขาจะได้มีเครื่องประดับเป็นทิพย์ เพราะตั้งใจถวายผ้าอุทิศส่วนกุศลให้" ที่เป็นเปรตเพราะว่า เอาอาหารที่เหลือจากสงฆ์ แล้วตัวเองกินแล้วเหลือแล้ว เอาไปให้ญาติตัวเองที่บ้าน น่ากลัวมากเลย ขนาดเหลือแล้วนะ อาหารเหลือจากพระ เรียกว่า "วิสาโท" ญาติโยมกินได้ แต่กินแล้วอย่าเอาไปบ้าน กินแค่นั้นพอ ยกเว้นว่าวัดไหนมีการอุปโลกน์สังฆทาน แแล้วบอกอนุญาตให้ญาติโยมทุกคน หรือสรรพสัตว์ทั้งหลายใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ ถ้าพระทั้งหมดสาธุ ถือว่าอนุญาตโดยสิทธิ์ขาดแล้ว ถ้าอย่างนั้นจะขนไปเท่าไรก็เชิญเถอะ แต่ต้องเหลือจากพระแล้วนะ
อย่างที่อาตมาอยู่ที่วัดทองผาภูมิ วันแรกบิณฑบาต ลูกศิษย์วัดเอากระป๋องไป ๒ ใบ ปรากฏว่าทั้งแบกทั้งหามกลับมา เพราะมันเยอะจัด วันที่ ๒ ก็ไปกัน ๓ คน กระป๋อง ๖ ใบ ก็ยังใส่ไม่หมดอีก พอวันที่ ๓ เลยต้องเช่าสามล้อแดงเอาเข่งไปใส่กัน แล้วก็ไปกระดี๊กระด๊ากันว่า พออาจารย์มาอยู่แล้ว แหม...กับข้าวเยอะดีจัง นึกว่าจะโมทนาที่พระจะได้กินเยอะ เปล่าหรอก มันขอไปบ้านคนละถัง สองถัง อย่างนั้นซวยเลยนะ ของสงฆ์แท้ ๆ เลยนะ
ถ้าเรื่องของสงฆ์ถึงเวลาก็เป็นอันว่า จะต้องลงอเวจีทีเดียว แต่คราวนี้ของเราไปใหม่ ๆ เรายังแก้ไขตรงจุดนี้ไม่ได้ เพราะฝังรากลึกมาก ต้องดูทางหนีทีไล่ ดูว่าใครเป็นใครก่อน แล้วถึงเวลาค่อย ๆ ขยับไป วันก่อนไปกราบหลวงพ่อสมเด็จวัดสระเกศ ท่านบอกว่า "ค่อย ๆ ทำนะ รีบ ๆ เข้าไปถึงพลิกฟ้าแปลงดิน มีอยู่ ๒ อย่าง คือถ้าไม่เหลือตัวคนเดียว ก็อาจจะพาอันตรายถึงตัว" คือถ้าเขารู้แล้วก็ทนอยู่ไม่ได้ เพราะว่าไล่ตะเลิดเปิดเปิงไปหมด เราก็อยู่คนเดียวใช่ไหม แต่จริง ๆ เราอยู่คนเดียว เราอยู่ได้อยู่แล้ว แต่คราวนี้เข้าไปแล้วยังไม่รู้ทางหนีทีไล่ ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ไปแตะต้องเข้า แล้วอาจจะยุ่งกันใหญ่ เลยต้องปล่อยเลยตามเลยไปก่อน
ถาม : ...........................
ตอบ : จริง ๆแล้วพระพุทธเจ้าท่านตรัสอะไรไม่ผิด ยิ่งเจอยิ่ง แหม...ความอัจฉริยะรู้รอบของท่านจริง ๆ หาใครเสมอไม่ได้ ท่านบอกว่า
๑. การกิน
๒. การนอน
๓. การเสพกาม
๔. การเสวยอำนาจ
๔ อย่างนี้ ถ้าไม่ใช่บุคคลผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ตั้งใจจะละจริงๆ แล้ว ไม่มีใครละเลิกได้ ก็แค่นี้มันสู้กิเลสไม่ได้ มันเอานอนไว้ก่อน ความดีไม่ต้องทำ ตาเอกเขาก็มาอาจารย์ครับ "จริง ๆ นะครับ ขนาดหลวงปู่สายผมยังไม่นับถือเท่าอาจารย์เลย" บอกว่า "เฮ้ย ๆ เรื่องอะไรกัน ?" เขาบอกว่า "อาจารย์อายุมากกว่าผมแค่ ๒ ปี คือแก่พอกัน ผมพยายามจะสู้อาจารย์มาตลอด แต่ผมสู้ไม่ได้ พอถึงเวลาตี ๓ ผมตื่นจะไปทำวัตร อาจารย์นั่งอยู่ก่อนแล้ว ถึงเวลาทำวัตรเย็น ผมจะขึ้นไป อ้าว...อาจารย์ก็ไปนั่งอยู่ก่อนแล้ว" อาจารย์ทำได้อย่างไรครับ ? เราไม่รู้จะอธิบายให้เขาฟังอย่างไร คือตัวฉันทะความพอใจที่จะทำมันมี พอถึงเวลาก็มีวิริยะพากเพียรทำไปให้ดีที่สุด โดยเฉพาะเรื่องของการสวดมนต์ ทำวัตร บิณบาต กรรมฐาน จริง ๆ เป็นระเบียบ ระเบียบเป็นของหยาบ ถ้าของหยาบเรายังทำไม่ได้ การเข้าถึงธรรมที่เป็นส่วนละเอียดก็ไม่มีโอกาสเข้าถึง คนที่ปฏิบัติจริง ๆ จิตละเอียดพอ เรื่องระเบียบเรื่องเล็ก เพราะความละเอียดของจิตมากกว่าระเบียบไม่รู้กี่เท่า
ถาม : เวลานั่งกรรมฐานกำหนดใจพุท-โธ อย่างนี้ แล้วเหมือนทำได้สามอย่างพร้อมกัน คือ ท่องพุท-โธ แล้วก็รู้ลมหายใจ แล้วก็คิดฟุ้งซ่านด้วย ?
ตอบ : นั่นเป็นลักษณะการแยกจิต ทำงานหลาย ๆ อย่าง ถ้าหากว่าในอดีตเคยได้พวกฤทธิ์ พวกอภิญญามาก่อน ถึงเวลาเผลอ ๆ จะเป็น อย่างพระอินทร์ท่านสามารถคิดเรื่องเป็นพัน ๆ อย่างได้พร้อมกัน ๆ เขาถึงเรียกสหัสนัยน์ หมายถึงผู้มีตาพันดวง
คราวนี้ถ้าหากว่าเราอยากจะให้นิ่งจริง ๆ คือพอรู้ตัวให้ดึงกลับมาอยู่กับลมหายใจ พักเดียวก็อยู่ แต่ถ้าหากว่าเราเผลอเดี๋ยวก็ออกไปอีก เหมือนกับว่าขณะที่เราภาวนาอารมณ์ทรงตัวแท้ ๆ แต่ฟุ้งซ่านได้ จริง ๆ เป็นความสามารถอย่างหนึ่ง แต่ถ้าเราต้องการความมั่นคงจริง ๆ ให้พยายามดึงกลับมาอยู่กับลมหายใจเข้า-ออกให้ได้ ดึงพักเดียวจ้ะ ความเคยชินของเราอาการที่สงบเดี๋ยวก็หยุดเอง
ถาม : เป็นโรคใจลอยค่ะ เป็นมาได้นานพอสมควรแล้ว ?
ตอบ : ถ้าใจลอย แปลว่าสติขาด แปลว่าเราไม่ได้อยู่ที่ลมหายใจเข้า-ออกเลย ก็นึกโน่นนึกนี่ไปเรื่อย พยายามจับคำภาวนาจนกระทั่งทรงตัว รู้ลมหายใจอัตโนมัติ แล้วประคับประคองอารมณ์ช่วงนั้นเอาไว้ แล้วจะไม่ลอยอีก รู้ลมหายใจอัตโนมัติ คือจะหายใจเข้าหายใจออก ภาวนาอย่างไร มันรู้ของมันเอง ทำหน้าที่ของมันเอง ถ้าเอาขนาดนั้นได้แล้ว เราก็รักษาอารมณ์ตรงนั้นเอาไว้ ก็จะไม่ต้องลอยไปไหน
ถาม : บางครั้งรู้สึกว่า การหลับตาไม่ดีเท่าการลืมตา ?
ตอบ : ใช้ได้จ้ะ แต่เพียงว่าหลับตาสำหรับคนฝึกใหม่ ๆ ลืมตาถ้าสายตาเห็นแล้วจิตจะไปพะวงกับสิ่งที่เห็น คราวนี้ถ่าหากว่าเราคล่องตัวแล้ว ลืมตาหรือหลับตาก็ได้เหมือนกัน เราถนัดอันไหนทำแล้วดีกับเราให้ทำอันนั้น เขาไม่ได้บังคับว่าต้องหลับตา เดินจงกรมอยู่ถ้าหลับตาก็พอดีเดินชนต้นไม้ ขนาดหลวงตาบัวลืมตาอยู่แท้ ๆ ยังเดินชนต้นไม้เลย รู้ไหมว่าทำไมหลวงตาถึงชน ? ตอนจิตพิจารณาธรรมจวนจะอยู่จวนจะไป ไม่รู้ว่ากิเลสจะขาดหรือเราจะเจ๊ง กำลังฟันกันนัวอยู่ ไม่รับรู้อาการภายนอกอย่างไร สนใจแต่ข้างใน ท่านบอกเดินชนต้นไม้โครมเลย ชนก็ชน แล้วก็เดินต่อ เดินจงกรมไปก็พิจารณาธรรรมไปเรื่อย ตอนที่จะขาดแหล่ไม่ขาดแหล่อย่างนี้ก็สนใจแต่ข้างใน กำลังฟันกันเอาเป็นเอาตายอยู่ ไม่ได้สนใจเรื่องข้างนอก เดี๋ยวก็โครมเข้าไปอีก เผลอเดินเลยทางจงกรมก็ชนต้นไม้เลย
ถาม : ทราบว่าอิริยาบถในการนอนเป็นกรรมฐานได้ ลูกลองทำดูแล้วหลับไปเลย ?
ตอบ : นั่นของเราสติยังไม่พอ ถ้าสติไม่พอจะตัดหลับไปเลย สมัยก่อนที่หัดอยู่กว่าจะทำจนกระทั่งหลับกับตื่นอารมณ์รู้เท่ากัน โอ้โฮ...ฟังเทปยืดไปไม่รู้กี่ม้วน คือต้องตั้งใจเงี่ยหูฟัง กำหนดสติรู้ตามตลอด ตั้งใจเลยว่าเราจะตั้งใจให้รู้ทุกคำจนกว่าจะจบ แล้วควบคำภาวนาไปเรื่อย ตอนที่ตัดหลับจิตจะเป็นปฐมฌานหยาบ ถ้าหากว่าสติสมาธิเราลึกเกินนั้นไปหน่อยเดียวจะไม่หลับ จะรู้ตลอด แค่ปฐมฌานละเอียดจะรู้ตลอดหลับกับตื่น อารมณ์ใจรู้เท่ากัน หลับอยู่ก็รู้ว่าตัวเองหลับ กรนก็ได้ยินเสียงตัวเองกรน แต่ในขณะเดียวกันจิตไม่หลับหรอก ทำหน้าที่ของมันไปเรื่อย ถ้าเกิดอะไรขึ้นอย่างเช่นว่า มีคนเคาะประตู มันรู้ตั้งแต่คนเดินมาแล้ว เออ...เขาเคาะประตู เขาเรียกเราอะไรอย่างนี้ ควรจะสนใจไหม ถ้าควรจะสนใจจิตจะคลายออกมาหน่อยหนึ่งไปรับรู้ อาจจะตอบคำถามเขาพอได้อยู่ เพราะในช่วงปฐมฌานละเอียด ปากไม่อยากจะขยับ ต้องคลายอารมณ์ออกมาหน่อย อย่างเช่น ถามว่าใคร ? มีธุระอะไร ? อย่างนี้ เสร็จธุระเราก็กลับเข้าที่ของเราว่ากันต่อไป หลับกับตื่นอารมณ์เท่ากัน
ถาม : แล้วต่างอย่างไรกับคนนอนไม่หลับเจ้าคะ ?
ตอบ : คนนอนไม่หลับ นอนไม่หลับเพราะฟุ้งซ่าน แต่นี่ไม่หลับเพราะสติสมบูรณ์พร้อม
ถาม : ตื่นมาจะไม่เหนื่อยใช่ไหมเจ้าคะ ?
ตอบ : ไม่เหนื่อยอะไรเลย เพราะจริง ๆ ร่างกายหลับอยู่แต่จิตไม่ได้หลับ ต้องทำให้ได้ถึงตรงนี้ ถ้าทำไม่ถึงตรงนี้ยังอาศัยไม่ได้ ถ้าทำถึงตรงนี้ได้ เมื่อไรพอจะรบกับกิเลสไหว เพราะว่ากิเลสถ้ากลางวันเราประคองตัวรบกับมันอยู่ สามารถยันเสมอมันได้ มันไปฟัดเราตอนกลางคืน บางคนห้องกว้าง ๆ เดินกระจายทั้งห้องเลย เพราะกลางวันกดมันเอาไว้มาก บางครั้งประเภทตัวเองรักษาศีลชนิดมดซักตัวก็ไม่อยากแตะ กลางคืนฝันว่าฆ่ามดเป็นกองทัพเลย คือลักษณะนั้นเอาเราตอนตื่นไม่ได้ มันมาเล่นเราตอนหลับ ถ้าสติดไม่สมบูรณ์ หลับกับตื่นไม่สามารถที่จะรบกับมันได้ในลักษณะเท่าเทียมกัน กลางคืนเสร็จมัน
ถาม : ถ้าให้ดีตอนหลับก็ห้ามพลาด ?
ตอบ : เหมือนกับว่าสภาพจิตจะรู้ตัวอยู่ ไม่ใช่ประเภทไม่ฆ่าด้วยอะไรด้วย หากแต่ว่าสภาพจิตเหมือนกับตื่นอยู่ทุกประการ ที่พูดถึงว่าฆ่าไปเป็นกองทัพ หมายถึงฝัน ขนาดในฝันยังเอาเลย เพราะฉะนั้น...เผลอไม่ได้ หลับกับตื่นสติให้เท่ากัน เขาถึงว่าพุทโธ คือผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จะตื่นอยู่ตลอด จิตไม่หลับหรอกถ้าถึงที่ของมันจริง ๆ
ถาม : เวลามีเรื่องดี ๆ ชอบมีเรื่องอกุศลขึ้นมาในใจแวบหนึ่งตลอด ?
ตอบ : อันนั้นเป็นเรื่องปกติจ้ะ โดยเฉพาะเรื่องของการปรามาสพระรัตนตรัย คือพอจิตของเริ่มเข้าสู่อุปจารสมาธิ มารเขารู้ว่าเราจะห่างมือเขาแล้ว เขาพยายามจะขวางเราทุกวิถีทาง เรื่องของกิเลสมารเขาพยายามดลใจให้เราคิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว ให้เยอะที่สุด เพื่อให้เราห่างจากความดีให้มากที่สุด ของเราก็ตั้งใจขอขมาพระรัตนตรัย แล้วพยายามหยุดเรื่องของความคิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว ให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้
ถาม : แต่อาจจะห้ามสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ใช่ไหมคะ ?
ตอบ : ห้ามไม่ได้ไม่เป็นไร พอเรารู้ตัวเราก็ขอขมาพระรัตนตรัย ตั้งใจว่าถ้าสติของเราสมบูรณ์พร้อม เรื่องน่าเกลียดอย่างนี้เราไม่ทำอยู่แล้ว แต่คราวนี้ถึงเป็นการดลใจของกิเลสตัณหาอุปาทาน อกุศลกรรมก็ตาม เราก็เต็มใจขอขมา ทำไปเรื่อย ๆ พวกนี้กลัวคนรู้ทัน ถ้ารู้ทันมันไม่หน้าด้านหรอก มันไปเลย
สมัยก่อนหลวงพี่ชัยศรียังบวชอยู่ ท่านบอก "เล็กเอ้ย พี่กราบพระไม่เต็มมือตั้งสามปี สักแต่แปะให้ครบสามครั้งเท่านั้นเอง บางครั้งกราบพระอยู่นึกเอาเท้าลูบหน้าพระเฉยเลย ขนาดนนั้นเลย บางครั้งก็ให้ของลับพระเฉยเลยอะไรอย่างนั้น" ไปของมันเรื่อยแหละ เพียงแต่ว่าถ้าเรารู้ทันเราขอขมาพระรัตนตรัย ตั้งหน้าทำความดีใหม พอมัเนห็นเรารู้ทันมันก็ไม่เอา
ตอนนี้หลวงพี่ชัยศรีสึกไปนานแล้วจ้ะ อาตมาบวชได้สองพรรษาหรือสามพรรษาไม่รู้ ท่านก็สึกแล้ว ตอนนั้นใคร ๆ หวังว่าท่านจะเป็นตัวแทนของหลวงพ่อ แต่แปลก ตัวแทนหลวงพ่อตั้งความหวังไว้กับใครเจ๊งทุกรายเลย อาถรรพ์อย่างไรไม่รู้ ความดีท่านสูงจริง ๆ ขนาดผมเป็นพระใหม่เพิ่งบวชเข้าไป บอก "หลวงพี่ครับ ขอยืมเงินสงฆ์สักแปดพันได้ไหมครับ ?" ท่านถามว่า "เอาไปทำอะไร ?" บอกว่า "โยมเขามา เขาเดือดร้อน เขาต้องการจะยืม เดี๋ยวพอสิ้นเดือนผมจะคืนให้" ท่านควักให้เดี๋ยวนั้นเลย ไม่ถามสักคำหนึ่งว่าจะคืนเมื่อไรด้วย คือท่านไว้ใจเราขนาดนั้น แล้วเราจะไม่ไว้ใจท่านได้อย่างไร โยมที่รู้จักกันไปเป็นหนี้เขา ถึงเวลาฉุกเฉินขึ้นมา อุตส่าห์นึกถึงพระ (หัวเราะ) พระไม่มีเสียด้วย ก็ต้องไปยืมเงินสงฆ์ให้เขาก่อน ถ้าหากว่าเราตายห่าไป เราก็เป็นหนี้สงฆ์อยู่คนเดียว
ถาม : น้องคนหนึ่งเขาไม่เชื่อเรื่องกรรม เป็นเด็กผู้ชายประมาณ ม.๖ เขานั่งอยู่โต๊ะเดียวกันกับเรา เขาจะตบแมลงหวี่ แมลงหวี่ก็มากวนเขาอยู่นั่น เขาก็ตบด้วยความสะใจ เราบอกว่า "อย่าตบเลย เพราะเป็นกรรมนะ" เขาก็ไม่เชื่อ เขาบอกว่า "ไม่ต้องมาพูดเลย ไม่เชื่อหรอก" เอ๊ะ...นี่เห็นไหมนั่งอยู่โต๊ะเดียวกัน เรายังไม่โดนซักนิดเดียว เขาโดนกวนอยู่นั่นแหละ เขาก็ไม่เชื่อ เขาบอก "ไม่เชื่อ"
อยู่มาวันหนึ่งอาจารย์ที่โรงเรียนบอกเขาว่า "จะเอ็นทรานซ์แล้ว ให้รีบทำบุญ" เขาเลยยอมไม่ตบยุง แล้วเขาก็บอกว่า "ในห้องน้ำมียุงเยอะ เขาก็ไม่ตบยุง" พักเดียวยุงก็หายไปหมด แล้วลูกน้ำในห้องน้ำก็ไม่มีแล้ว เขาเลยมาบอกเราว่า "เขาเชื่อแล้ว" อยากทราบว่า เดี๋ยวนี้เป็นอะไรที่เร็ว ๆ กันขนาดนี้เลยหรือคะ ?
ตอบ : เห็นใคร ๆ เขาใช้คำว่า "กรรมติดจรวด" ไม่ใช่หรือ แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่หรอกจ้ะ วาระบุญของเขาเข้ามาถึงพอดี ถ้าหากว่ามีเหตุอะไรบางอย่างจะสนับสนุนเพื่อให้เขาเข้าถึงได้ เหตุนั้นก็จะเกิดขึ้น จะไม่เกิดกับทุกคน ถ้ายิ่งของอาตมาละก็เจ๊งเลย คือบางวันสำหรับคนไม่เชื่อ จะมีเหตุให้เขาเชื่อ นั่งทาสีกันอยู่ ๒ คนกับท่านน้อย ท่านน้อยก็เกาเป็นลิงเลย ริ้นมันกิน ฝนตกพรำ ๆ อยู่ เราเห็นก็ขำ บอกว่า "ท่านน้อยดูสิ ผมเป็นไหม ?" เขามองดูว่า "อาจารย์ทำไมไม่โดนกินเลย ?" บอก "ผมแก่แล้วเลือดมันเย็น" ความจริงไม่ใช่ อธิบายให้เขาฟังว่า ถ้าคุณทรงอารมณ์เป็นปกติ สมาธิทรงตัว ชีพจรจะเต้นช้า ถ้าชีพจรเต้นช้าก็ลักษณะที่่ว่าเลือดเย็น พวกสัตว์กินเลือดส่วนใหญ่ใช้ระบบตามความร้อนของร่างกาย ถ้าหากว่าเรามาแล้วเราเลือดเย็นซะแล้ว ก็เหมือนก้อนหินหรือท่อนไม้ท่อนหนึ่ง มันจะไม่สนใจ มันก็ไปหาที่ร้อนกว่า คราวนี้ดันไปนั่งคู่กับท่าน ท่านร้อนกว่าก็เลยโดนเหมาอยู่คนเดียว เรานั่งทากันอยู่สองคน ก็กินท่านอยู่คนเดียว
ถาม : ร้อนกว่า คือใจร้อนหรือคะ ?
ตอบ : ไม่ใช่จ้ะ คือของเขาเองไม่ได้ทรงอารมณ์ภาวนาไว้ พอไม่ได้ทรงอารมณ์ภาวนาไว้ ระบบร่างกายทำงานตามปกติของมัน ความร้อนก็เกิดตามปกติ
|